แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สวัสดีสามเณรและศีลจาริณีได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง พวกเราบวชจำได้ไหมว่าเราบวชวันไหน วันที่ 19 แล้ววันนี้วันที่เท่าไหร่แล้ว เราบวชวันอาทิตย์ วันนี้คือวันศุกร์ อีก 2 วันก็จะครบ 3 อาทิตย์ใช่ไหม เราบวชมาแล้ว 19 วัน หรือถ้านับวันบวชเป็นวันแรกก็ 20 แล้ว พวกเรายังไม่มีใครสึกเลยใช่ไหม รุ่นนี้ก็ถือว่าเป็นรุ่นที่อดทนตั้งใจมาก เพราะว่ารุ่นก่อนหน้านี้กว่าจะมาถึงอาทิตย์ที่ 3 ก็สึกกันไปบ้างแล้ว เพราะว่าคิดถึงบ้านบ้าง ทนความลำบากไม่ไหวบ้าง อดมื้อเย็นไม่ได้ก็มี แต่พวกเราก็ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็อยู่กันพร้อมหน้า อันนี้ก็ถือว่ามีความอดทนและมีความตั้งใจ เหลืออีกไม่กี่วัน ก็ขอให้บวชจนครบกำหนดสึก วันที่ 12 เมษา หรือว่าใครจะบวชต่อก็ยิ่งดี พวกเรามาที่ทุ่งกะมังก็คงได้เห็นบรรยากาศแล้วว่าป่าที่เกือบจะสมบูรณ์หน้าตาเป็นอย่างไร บางคนได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยเห็นป่าจริง ๆ ตั้งแต่เมื่อวานเราก็ได้มาเห็นป่าแล้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวมีชื่อมาก พวกเราอาจจะเคยไปเที่ยวป่าที่เรียกว่าอุทยานแห่งชาติ เช่น เขาใหญ่ บางคนอาจจะเคยไปตาดโตน แต่อุทยานกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านี่ต่างกัน ไม่รู้มีใครบอกหรือยัง อุทยานเขาให้คนมาเที่ยว แต่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะสงวนเอาไว้ เขาจะไม่ค่อยส่งเสริมการท่องเที่ยวไหร่ จะเข้าจะออกก็ต้องมีการตรวจตรา ไม่ใช่ง่ายที่เราจะมาพักแรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะที่ภูเขียว หาได้ยาก พวกเรานับว่าโชคดี เราก็ได้มาเห็น ได้มารู้จัก ได้มาสัมผัสป่าจริง ๆ มันเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไร ที่จริงที่เราเห็นนี้ก็ยังส่วนน้อย ยังมีประเภท อันซีน (Unseen) อีกเยอะ อะเมซิ่ง (Amazing) ก็มากมาย unseen ก็เช่น ช้าง หรือว่ากระซู่ นกเงือก เสือ พวกนี้ก็เป็นทั้ง unseen และ amazing แต่ถ้าเราโชคดีก็อาจจะได้เห็นแวบ ๆ ก็ได้ เราก็ได้เห็น หลายคนก็ได้เห็นขี้ช้างแล้ว ใกล้ความจริง
พวกเราจะเชื่อหรือเปล่า วัดป่าสุคะโตที่พวกเราไปอยู่ สองสามอาทิตย์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันก็ประมาณนี้ แถวป่าสุคะโตก็ไม่ต่างจากทุ่งกะมังที่เราเห็นเท่าไหร่ เราเห็นวันนี้อย่างไร เมื่อ 50 ปีที่แล้วสุคะโตก็อย่างนั้น เต็มไปด้วยต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ แล้วก็มีสิงสาราสัตว์มากมาย หลวงพ่อคำเขียน รู้จักไหม ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านมาใหม่ ๆ ก็คือประมาณสัก 40 ปีที่แล้ว สมัยนั้นสุคะโตยังไม่มีฝาย ที่เราเห็นสระเนี่ยมันเป็นฝาย มันไม่ใช่สระธรรมชาติ แต่ก่อนนี้มันเป็นลำห้วย ตอนหลังเขาก็สร้างฝายขึ้นมากักน้ำ มันก็เลยกลายเป็นสระ แต่สมัยก่อนนี่ยังไม่มีฝาย มันก็เป็นลำห้วยไหลผ่าน หลวงพ่อท่านเล่าว่าสมัยนั้น สุตะโตก็มีพระแค่รูปสองรูปเท่านั้นแหละ ประมาณ 3-4 โมงเย็นก็ต้องมาสรงน้ำตรงห้วยที่เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นสระน้ำ น้ำก็เย็น และก็มีช่วงหนึ่งก็จะมีกวาง กวางมันก็จะมาดูหลวงพ่ออาบน้ำ สรงน้ำ มันเห็นอยู่ทุกวัน ๆ จนกระทั่งมันคุ้นกับคน คล้าย ๆ เก้งกวางที่เราเห็นที่นี่แหละ มันก็เข้ามาใกล้ สุคะโตมีเก้งมีกวางเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มันไม่เคยเห็นคน อย่าว่าแต่เก้งกวาง ช้างยังมีเลย
ประมาณสักปี 20 เล่าว่าคนเก่าคนแก่ หลวงพ่อคำเขียนเล่าว่ามันเคยมีฝูงช้างอยู่ฝูงหนึ่งมันก็ไม่ได้ไปหากินไกล มันก็มาหากินแถวไร่ชาวบ้าน สมัยนั้นตรงศาลาหอไตร รู้จักไหมหอไตร บริเวณนั้นทั้งบริเวณแต่ก่อนนั้นมันเป็นไร่ข้าวโพดชาวบ้านเริ่มมากัน แต่ก่อนเป็นไร่ชาวบ้านไม่ใช่เป็นที่วัด ปลูกข้าวโพด ช้างมันก็มาหักข้าวโพดกิน บางทีหักจนไม่เหลือเลยชาวบ้านก็ไม่พอใจ มีคราหนึ่งก็ยิงช้างตัวหนึ่งบาดเจ็บ ช้างตัวที่เหลือก็เลยพยุงหรือ ประคองเพื่อนที่บาดเจ็บหนีไป เราสงสัยไหมว่าประคองอย่างไร ช้างไม่มีมือ ช้างมีแต่ขาประคองอย่างไร ตัวที่เจ็บก็อยู่ตรงกลาง 2 ตัว ตัวที่แข็งแรงก็หนีบเอาไว้ ประคองเหมือนกับแซนวิช หนีบเอาไว้ ตัวที่มันถูกยิงก็อยู่ตรงกลาง อีก 2 ตัวอยู่ข้าง ๆ ก็หนีบเอาไว้แล้วก็ค่อยประคอง หลังจากนั้นมาช้างที่สุคะโตก็ไม่มีแล้ว เป็นภาพสุดท้ายที่คนเห็น ช้างหนีไปเพราะคนมา คนมารุกรานเขา ช้างเขาอยู่มานาน คนมารุกราน แล้วก็ไปจับจองที่ว่านี่ที่ของฉัน ส่วนช้างก็คิดว่านี่ก็ที่ของฉัน เรียกว่าหาอยู่หากินแถวนี้มานาน ช้างกลุ่มนี้เขาว่าอพยพลงมา นับแต่นั้นมาลงเขาเลย มันหนีคน และก็เดาว่ามันคงจะรอนแรมเรื่อยมาจนกระทั่งคงจะมาอยู่ที่ทุ่งกะมังเนี่ยแหละ เรียกว่ามันเป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่แบบเดียวกัน ภูมิศาสตร์แบบเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะนั่งรถห่างกัน 3 ชั่วโมง แต่ว่าสมัยนั้นป่ามันเป็นผืนเดียวกัน ป่า ทุ่งกะมัง อุทยานน้ำหนาว ไปจนถึงสุคะโตเขาเรียกว่าภูแลนคา มันเป็นป่าผืนเดียวกันหมด สมัยก่อนป่ามันผืนใหญ่มากมันต่อกันเป็นล้าน ๆ ไร่ ก็คิดว่าช้างสุคะโตก็คงอพยพมา เสร็จแล้วคงจะลงเอยมาที่นี่เพราะว่ามันปลอดภัย ตอนที่หลวงพ่อมาสุคะโตใหม่ ๆ ปี 26 ตรงหอไตรเดิม ที่เราเห็นตรงนี้เป็นที่ใหม่ ของเดิมอยู่บนเขา แต่ก่อนหลวงพ่อก็ไปนอนตรงนั้นแหละ นอนบนเขาตรงหน้าหอไตรเดิมยังมีกะโหลกช้างอยู่เลย เสียดายไม่ได้เก็บเอาไว้เพราะรู้สึกว่ามันธรรมดา ถ้าเก็บไว้ก็ดี มันเป็นหลักฐานว่าสมัยหนึ่ง สุคะโตก็เคยเป็นบ้านช้าง มีช้างอาศัยอยู่ ไม่น่าเชื่อสุคะโตเคยมีช้าง
ลองนึกย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สุคะโตก็แบบนี้แหละ ไม่ใช่วัดสุคะโตที่หมู่บ้านกุดโง้ง ที่เราไปบิณฑบาต ท่ามะไฟก็เป็นป่าทึบ 50 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนแปลงไป นึกภาพไม่ออกเลยว่าสุคะโตมันเคยเป็นป่าทึบมาก่อน ป่ามันหายไปไหนก็คนนั่นแหละ คนขึ้นมาหักร้างถางพง เรื่องหักร้างถางป่าแต่ก่อนมันไม่มีพง มันมีแต่ป่า หญ้าพงมันไม่ค่อยขึ้นหรอก หักร้างถางป่า มันเริ่มจากการทำไม้ก่อน พวกเราเดี๋ยวนี้นึกภาพไม่ออกว่าคนไทยมีการทำไม้ด้วยเหรอ เดี๋ยวนี้เขาห้ามทำไม้แล้วทั้งประเทศ เขาประกาศตั้งแต่ปี 30 ก่อนพวกเราเกิดอีก เพราะฉะนั้นพวกเราเดี๋ยวนี้มีการทำไม้ในเมืองไทยนึกภาพไม่ออก ว่าทำไม้เขาทำอย่างไร ทำไม้ ไม่ใช่เอาไม้มาทำ แต่หมายถึงว่าตัดไม้คำว่า “ทำไม้” มันแปลว่าตัดไม้ ประมาณสัก 40-50 ปีที่แล้วมันมีบริษัททำไม้ มาตัดไม้ แถวตั้งแต่ตาดโตน ท่าหินโงม ไล่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงตาดรินทอง ที่วัดป่ามหาวันนี่แหละ แต่ก่อนนี้ไม่มีใครขึ้นมาหรอก เพราะว่ามันเป็นป่าดงดิบ เป็นป่าดิบแล้งทึบมาก ไม่มีใครขึ้นมาทำมาหากินบนหลังเขาที่สุคะโต บริษัททำไม้เขามาก่อน ทำไม้เขาก็มาตัดไม้ เส้นทางที่เป็นถนนที่เราบิณฑบาตที่กุดโง้ง ท่ามะไฟ มันก็เป็นเส้นทางชักลากไม้ รู้จักไหมชักลากไม้ ก็คือขนไม้นั่นแหละ แต่ก่อนเขาลากไม้ด้วยช้าง แต่ตอนหลังเขาไม่ลากแล้ว ขนขึ้นรถไปเลย นั่นแหละเป็นเส้นทางขนไม้ พอตัดไม้ทำไม้เสร็จชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ ก็ขึ้นมา ถ้าไม่มีการทำไม้ชาวบ้านขึ้นมายาก เพราะว่าไม่มีถนนไม่มีเส้นทาง ชาวบ้านไม่มีปัญญาจะขึ้นมาทำทางมาหักร้างถางป่า พอมีทางชาวบ้านก็ขึ้นมาตามทาง แล้วก็เริ่มมาหักร้างถางป่ามาทำไร่
คนเฒ่าคนแก่เขาเล่าว่าขนาดนี้ป่าถูกตัดไม้ไปแล้ว ป่าก็ยังมีต้นไม้เยอะอยู่ เวลาเขาจะหักร้างถางป่า เขาทำอย่างไรรู้ไหม เขาไม่มีเลื่อยยนต์ เขาใช้วิธีเลื่อยต้นไม้ทีละต้นทีละต้น ถาวว่าทำไมเลื่อยทำไมไม่เผา เผาไม่ได้มันชื้นมาก จุดไฟเผาอย่างไรมันก็ดับ ฉะนั้นต้องตัดอย่างเดียวเลย ตัดด้วยมือ แต่เขาไม่ตัดให้ขาด เขาตัดพอให้มันเกือบจะขาด ต้นแล้วต้นเล่าเขาก็เลื่อยพอให้เกือบจะขาด ทำอย่างนี้สักเป็นเดือน เสร็จแล้วเขาก็จะเลือกต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ ต้นหนึ่ง ต้นที่มันสูง ๆ ที่สุด แล้วเขาก็จะเลื่อยให้ขาดเลย เพื่ออะไร ก็เพื่อให้มันโค่นลงมา มันก็จะกวาดเอาไม้ต้นอื่น ๆ ให้พังครืนลงมาด้วย ต้นอื่นมันถูกเลื่อยจนเกือบจะขาดอยู่แล้ว พอโดนไม้ใหญ่โค่นลงมา มันก็กวาดเอา ไม้ใหญ่ก็โค่นเอาต้นไม้อื่นโค่นลงมาด้วย คล้าย ๆ เป็นโดมิโน หลวงพ่อบอกว่าเสียงดังเพราะไม้ล้มดังเป็นชั่วโมง ๆ เลย แปลว่าต้นไม้เยอะมากเลย ขนาดทำไม้ไปแล้ว ตัดไม้ไปเยอะแล้ว ต้นไม้ก็ยังเยอะอยู่ ต้นไม้ก็พังครืนลงมามันก็กวาดเอาต้นไม้ต้นอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ ให้โค่นลงมาด้วย นึกภาพนะมันคงเป็นภาพที่ต้นไม้มันโค่นล้มระเกะระกะกองอยู่บนพื้นเป็นซุงทั้งนั้นเลย ไม้ราคาแพง ไม้พยุง ไม้ยาง ตะเคียน ตะแบก มะค่า พวกนี้มันพังลงมาหมดเลย ชาวบ้านบอกว่าเวลาเดินเท้าไม่เหยียบพื้นเลย เท้าเหยียบแต่กองซุง และมันมีช่องว่างตรงไหน เขาก็จะหยอดถั่ว หยอดข้าวโพดลงไปตรงช่องที่มันว่าง ช่องว่างระหว่างซุง เพราะว่าพื้นที่นี้ต้นไม้มันกองระเกะระกะแน่นไปหมดเลย จะมีช่องว่างพอให้หยอดพวกพืชผลพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด หรือว่าลูกเดือย สมัยก่อนเขาปลูกเดือยกันเยอะ แล้วพอโตขึ้นมาก็ค่อยเก็บเกี่ยว พอถึงหน้าแล้งก็เริ่มเผา เงินทั้งนั้น ต้นแต่ละต้นราคาเป็นหมื่นเป็นแสน เพราะมันเป็นไม้มีค่ามาก แต่ว่าชาวบ้านนี้เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร มันเยอะมากเขาก็เผานั่นแหละ จะเลื่อยก็ไม่มีปัญญาเลื่อย ต้นมันใหญ่ เผา หน้าแล้งจะได้ให้ที่มันเตียนจะได้ปลูกข้าวโพดปลูกเดือย ตอนหลังก็เริ่มปลูกมัน แต่ก่อนไม่ได้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพดก่อน สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เราเห็น ป่าก็หายไปหมด ต้นไม้ที่เขาตัดเขาตัดไปทำอะไร ที่บริษัททำไม้เขาตัดไปขายส่งออกนอก
เมืองไทยสมัยก่อนเรามีรายได้จากต่างชาติก็จากการขายไม้ ไม้สัก ไม้สารพัด เพราะเมืองไทยแต่ก่อนมันมีแต่ต้นไม้ ป่าทั้งประเทศเลยเหมือนกับพม่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ต้นไม้ที่เราตัดก็เอาไปขาย ขายก็ได้เงินมาเอามาพัฒนาประเทศ สร้างถนน สร้างเขื่อน ผลิตโรงงานไฟฟ้า ข้าวโพดเอย มันเอย ที่ปลูกจากการตัดไม้ก็เอามาขายส่งออก โดยเฉพาะมันสำปะหลังส่งออกรายได้ดีมากรายได้มากกว่าข้าว สมัยก่อน 50 ปีที่แล้วรายได้ของประเทศได้มาจากการส่งออกข้าว ขายข้าว ขายไม้ ขายดีบุก ยางพารา แต่ข้าวเป็นอันดับ 1 รายได้หลักของประเทศ รองลงมาคือไม้ ตอนหลังก็เป็นมันสำปะหลัง มันสำปะหลังก็แซงข้าว เราได้เงินตราต่างประเทศมา ก็เอามาพัฒนาประเทศสร้างถนนสร้างตึก กรุงเทพฯ ที่มีถนนเยอะ ๆ มีตึกมาก ๆ รวมทั้งตามเมืองต่าง ๆ พวกนี้มันได้มาจากป่า ป่าที่เราเคยมีมากมายมันแปรสภาพกลายเป็นปูน กลายเป็นถนน กลายเป็นตึกรามบ้านช่อง กลายเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า พวกเราเป็นคนเมืองใครที่อยู่กรุงเทพฯ ใครที่อยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ที่เราสุขสบายเพราะป่า เราทำลายป่าเพื่อจะได้มีเงินมาพัฒนาประเทศ แต่ทุกวันนี้เรายังพัฒนาไม่พอ เรายังคิดว่าเรายังพัฒนาไม่พอ ก็เลยต้องทำลายป่าอีก ตอนนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราต้องรักษาป่าเอาไว้
พวกเรามาที่นี่ อยากให้มาระลึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณป่า ทั้งป่าที่มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ป่าที่มันเคยปกคลุมแถวสุคะโต หรือว่าแถวหลังเขา แล้วก็อีกมากมายหลายแห่ง เราเป็นหนี้บุญคุณป่าเหล่านี้ที่มันเป็นอดีตไปแล้ว รวมทั้งป่าที่ยังอยู่ด้วย พวกเราได้ฟังว่าที่หลวงพ่อเล่าว่าป่าเขาอยู่มานานก่อนเราเกิดอีก อยู่มานานก่อนพ่อแม่ของเราเกิด อยู่มานานก่อนปู่ย่าตายายของเราเกิด อยู่มานานก่อนมีประเทศไทย อยู่มานานก่อนจะมีมนุษย์เสียอีก มนุษย์เราเพิ่งมีขึ้นประมาณแค่ 200,000 ปีเท่านั้น หมายถึงมนุษย์สมัยใหม่ ถ้ามนุษย์ลิงก็สัก 2-3 ล้านปี แต่ป่าเขาอยู่มานานแล้ว หลายร้อยล้านปี ป่าเขามาก่อนเรา แต่พอมนุษย์เราเกิดมา เราก็พากันทำลายป่า เพราะบอกว่านี่เป็นที่ดินของเรา เราไปจับจองที่ดิน ที่ดินของฉัน ต้นไม้ก็ถูกตัด สัตว์ก็ถูกฆ่า ป่าก็ถูกทำลาย เพราะมันเป็นที่ของฉัน ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวและโง่เขลาด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้วโลกนี้เป็นของธรรมชาติเป็นของป่า เขาอยู่มานาน มนุษย์เราเพิ่งมาทีหลัง มาทีหลังก็มาจับจองโลกว่านี่ป่าของฉัน เรามาที่นี่ก็ให้เราสำนึกว่าจริง ๆ แล้วที่นี่เราเป็นผู้อาศัย ที่นี่มันเป็นบ้าน เป็นบ้านของต้นไม้ เป็นบ้านของป่า เป็นบ้านของช้าง เป็นบ้านของนกเงือก ของเก้ง ของกวาง เวลาเรามา เราไปบ้านใครก็ต้องรู้จักมารยาทเราเป็นแค่ผู้มาอาศัยหรือผู้เยี่ยมเยือนเราก็ต้องรู้จักเคารพสถานที่ เรามาให้เราเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเราเป็นแค่ผู้มาอาศัย เวลาเราเข้าไปในป่าก็ให้ระลึกว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านเราต้องเคารพเขา เวลาเราจะไปไหนเข้าไปในป่า ขยะก็อย่าไปทิ้ง เมื่อตอนกลางวันก็บอกแล้วว่าเมื่อตอนเข้าป่าก็เตือนตัวเองว่าเราจะไม่ทิ้งอะไรนอกจากทิ้งรอยเท้าเอาไว้ เราจะไม่เก็บอะไรนอกจากเก็บภาพหรือเก็บความทรงจำ อันนี้เป็นมารยาทเวลาเราไปป่า ไม่ใช่เฉพาะป่าที่นี่ที่เดียว ไปป่าที่ไหน เขาใหญ่ ตาดโตน เราก็เป็นผู้อาศัยเราเป็นผู้อาคันตุกะ เราก็ทิ้งแต่รอยเท้า เราไม่ทิ้งขยะ เราไม่ทิ้งพลาสติก จะเก็บอะไรก็เก็บแต่ความทรงจำดี ๆ ไว้ หรือถ้ากลัวว่าจะเก็บไม่ดีก็เก็บเป็นภาพไว้ อันนี้ได้ แต่อย่าเก็บอย่างอื่น ยิ่งไปตัด ยิ่งไปทำลายยิ่งไม่ควรใหญ่ มานี่ก็ให้เรามาเรียนรู้ ในเมื่อเรามาป่าก็ให้เรามาเรียนรู้ เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้คุณค่าของธรรมชาติ