แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราสวดมนต์ ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้ศึกษาธรรมไปในตัวด้วย เราไม่ได้สวดเพียงแค่เอาความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์หรือเพื่อความสงบในจิตใจ ยิ่งถ้าเรารู้ความหมายของบทสวดนี้ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ธรรมะไปในตัวด้วย คนเราเรียนรู้ธรรมะได้หลายอย่าง เรียนรู้ธรรมะจากการฟังนี่ก็ใช่ ที่สำคัญก็คือเรียนรู้ธรรมะจากตัวเราเองจากประสบการณ์ที่เราประสบในแต่ละขณะ เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ ขณะนี้ เราก็ศึกษาธรรมได้ เป็นการศึกษาจากตัวเราเอง อย่างเช่นตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร หลายคนก็คงจะรู้สึกหนาว แล้วรู้สึกอะไรอีก รู้สึกทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร
ทุกข์เพราะว่าอากาศหนาว พูดอีกอย่างก็คือทุกข์เพราะกายหนาว แต่จริง ๆ ถ้าดูให้ดี ขณะนี้เราไม่ใช่แค่ทุกข์กาย ส่วนใหญ่จะมีความทุกข์ใจควบคู่ไปด้วย เวลาบอกว่าหนาวคือหนาวกาย จริง ๆ ใจเราก็หนาวด้วย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียวแต่ทุกข์ใจด้วย ทุกข์ที่ว่าคือทุกขเวทนา เป็นเรื่องความรู้สึกสุข ทุกข์นี่คือเวทนา เวลามีอากาศหนาวเรามักจะรู้สึกได้หรือคิดว่ากายมันหนาวก็เลยเป็นทุกข์ แต่ที่จริงถ้าดูดี ๆ มีความทุกข์อีกตัวซ้อนขึ้นมา ก็คือความทุกข์ใจ ลองสังเกตบ้าง สังเกตเห็นหรือเปล่า ทุกข์ใจเพราะอะไร หลายคนก็จะตอบว่าทุกข์ใจเพราะอากาศหนาว นั่นยังตอบไม่ถูกทีเดียว ดูดี ๆ ทุกข์ใจเพราะว่าใจรู้สึกยินร้าย ไม่พอใจกับอากาศที่หนาว ไม่พอใจที่กายหนาวและมีความทุกข์ขึ้นมา มีความรู้สึกพยายามผลักไสความรู้สึกหนาวที่เกิดขึ้นกับกาย ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้ทุกข์ใจ ไม่ใช่เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่เพราะกายหนาว แต่ว่าใจไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตัวเราในขณะนี้ ลองสังเกตดูใจบ้างว่า ใจรู้สึกอย่างไรกับความหนาว รู้สึกอย่างไรเมื่อกายเป็นทุกข์ ความรู้สึกที่เป็นลบ ความรู้สึกยินร้าย ความรู้สึกอยากจะผลักไสอากาศหนาวที่เกิดขึ้นกับตัวเราเกิดขึ้นกับกายของเรา ตรงนี้ล่ะที่ทำให้เป็นทุกข์
เวลาเราโดนหนามแทง โดนหินทิ่มเท้า เรารู้สึกปวด แล้วดูใจของเรา ใจก็จะทุกข์ไปด้วย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนั้นไม่ได้มีแค่ความปวดเท้า แต่มีความปวดใจซ้อนไปพร้อม ๆ กันด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่สังเกต ถ้าถามว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไรก็จะบอกว่าปวดเท้า แต่พอถามว่ามีอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่รู้สึกก็อาจจะบอกว่าไม่มี แต่ถ้าดูดี ๆ มีความรู้สึกไม่พอใจ มีความรู้สึกโกรธควบคู่ไปด้วย เหมือนกับเราตอนนี้ก็ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกหนาว ไม่ได้มีแค่ความรู้สึกทุกข์กาย แต่มีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้น แต่ว่าอาจจะไม่ชัดเจน ไม่รุนแรงเหมือนกับเวลามีคนมาด่าเราหรือเวลามีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ตรงนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกดู ดูกาย ฝึกดูเวทนา ฝึกดูใจ สติปัฏฐานสี่ เราสามารถจะเห็นอย่างน้อย ๆ ก็สาม เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในขณะนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ณ เวลานี้
เป็นประสบการณ์ที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้ ได้เห็นกายรู้สึกอย่างไรเวลาที่มีความหนาวเกิดขึ้น มีอาการอย่างไร เช่น อาจจะเกร็งหรือขนอาจจะลุกหรือร่างกายจะมีอาการหดตัว เวทนาเป็นอย่างไร ตอนนี้อาการที่เกิดขึ้น เวทนาที่เกิดขึ้น นี่ล่ะคือทุกขเวทนา แม้มันจะอ่อน ๆ ได้ดูกาย ได้ดูเวทนาและได้ดูใจ ตรงนี้สำคัญมาก ใจรู้สึกอย่างไร ไม่พอใจ ยินร้าย เกิดโทสะขึ้นมาเล็ก ๆ ยิ่งถ้าเราเห็นใจที่ยินร้ายกับความหนาวหรือพูดอีกอย่างคือ เห็นใจหนาว จะช่วยลดความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราในขณะนี้ได้เลย ที่บอกว่าในขณะนี้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรา ที่เรารู้สึกได้ ไม่ใช่แค่ความทุกข์กายแต่เป็นความทุกข์ใจด้วย ใจบ่น ใจโอดครวญ ใจโวยวาย ใจยินร้าย อาการที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นเพราะเราเผลอ เราไม่มีสติ ใจก็เลยไม่เป็นปกติ แล้วพอใจบ่น ใจโวยวาย ใจพยายามผลักไสทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับกายหรือผลักไสความหนาว ก็เลยเป็นการซ้ำเติมตัวเรา จึงไม่ใช่แค่กายหนาวอย่างเดียว ใจก็หนาว ใจก็เป็นทุกข์ด้วย ลองมาดูใจ ลองทำใจให้เป็นปกติ พอใจเป็นปกติได้ ความทุกข์จะลดลงไปเยอะ
เช่นเดียวกับเวลาเราป่วย มีทุกขเวทนาทางกายเกิดขึ้น ตัวร้อน ปวดหัว ปวดท้อง แล้วคนก็คิดว่ามีแค่นั้น ที่จริงไม่ใช่ มีความทุกข์ใจเกิดขึ้นด้วย ความทุกข์ใจที่เป็นเดือดเป็นร้อนไม่พอใจกับความทุกข์กายที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความกังวล ความวิตกว่าเราเป็นโรคร้ายหรือเปล่า มีความกลัว เกิดความกังวลขึ้นมา นี่ก็ทุกข์ใจเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น รู้สึกแต่ว่าทุกข์ รู้สึกทุกข์และไปเหมารวมว่าเป็นความทุกข์กาย แต่ที่จริง 60% 70% ของความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นความทุกข์ใจ ความยินร้าย ความไม่พอใจ ความวิตก ความกลัว ความกังวล รวม ๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น แล้วปล่อยใจปรุงแต่ง แล้วก็กลัว โกรธ กังวล เพิ่มเติมเข้ามารุนแรงขึ้น ถ้าเราเพียงแต่มีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ เห็นความวิตก เห็นความกังวล เห็นความยินร้ายที่เกิดขึ้น เท่านี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว เพราะอารมณ์พวกนี้พอถูกรู้ถูกเห็นก็ค่อยๆเลือนหายไป จิตที่ว้าวุ่นกระสับกระส่ายก็กลับมาเป็นปกติ ความทุกข์ใจหายไป เหลือแต่ความทุกข์กาย ความทุกข์กายเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ของความทุกข์ที่เรารู้สึก พอความทุกข์จาก 100 เหลือแค่ 20-30 จะรู้สึกสบาย จะรู้สึกโปร่ง
เคยพาคนเดินจงกรม ถอดรองเท้า แล้วพาเขาไปเดินเหยียบย่ำตรงถนนที่มีกรวดบ้างหรือถนนลาดยางที่ยางเลือนหายไปเยอะมีกรวดมีหินโผล่ขึ้นมา หลายคนบอกว่า “ปวด ๆ” บางคนเพียงแค่เห็นถนนข้างหน้าเท่านั้นก็หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก ขนลุก กลัว กลัวว่าจะเจอเจ็บอีก ถามเขาว่า “รู้สึกอย่างไร” “ปวดเท้า ปวดมากเลย” ก็บอกเขาว่า “แค่นั้นหรือ แค่ปวดเท้าเท่านั้นหรือ” มาดูอีกทีใจก็ทุกข์ด้วย ใจทุกข์ ใจกลัว ที่จริงมีมากกว่านั้น ใจพยายามผลักไส ไม่ยอมรับอาการที่เกิดขึ้น ก็บอกเขาว่านี่เป็นเพราะใจบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย เป็นเพราะใจไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ใจบ่นว่าทำไมต้องมาเดินตรงนี้ ไม่เอาแล้ว ไม่ไหว ๆ มาเดินตรงนี้ทำไม ไปเดินที่อื่น มีเสียงร้องอย่างนี้อยู่ในใจ ซึ่งนี่เท่ากับเป็นการซ้ำเติมตัวเองเข้าไปใหญ่ ก็บอกเขาว่า ลองดู ลองสังเกตใจที่บ่นโวยวาย เวลาเท้าเหยียบหิน อย่าไปจดจ่ออยู่ที่เท้าหรืออยู่ที่ทุกขเวทนาทางกาย อยู่ตรงจุดที่มันปวด ให้มาสังเกตดูใจ เท้าเหยียบหินแต่มีสติดูใจ แล้วจะเห็นเองว่าใจบ่น ใจโวยวาย เห็นความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น แค่เห็นก็เพียงพอแล้ว เพียงพอที่ใจจะกลับมาเป็นปกติ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต้องผลักไสมัน เป็นไงเป็นกัน พอใจยอมรับได้ เราจะเห็นเลยว่า ความทุกข์ลดลง ความปวดไม่ได้ลดลง แต่ความทุกข์ลดลง หลายคนก็พบว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
พอวันรุ่งขึ้นพอมาเดินใหม่วางใจเป็น ให้มีสติ ดูใจ เท้าเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเท้าแต่ให้มาดูใจ มีคนแก่อายุเจ็ดสิบคนหนึ่งบอกว่า “ตอนที่เดิน ใจโล่งเลย โล่งที่ใจ” ความปวดยังมีอยู่แต่ใจโล่งก็ยังเดินได้เป็นปกติ ความปวดยังมีอยู่ แต่พอความทุกข์ใจลดลงก็กลายเป็นเรื่องที่ทนได้ แล้วก็จะเห็นด้วยตัวเองว่าจริง ๆ แล้วความทุกข์กายมีนิดเดียว แต่ความทุกข์ใจต่างหากที่เป็นปัญหาและความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นจากการที่ไม่มีสติ หลง ไม่รู้ตัว แล้วก็ชี้ให้เขาเห็นว่า ความปวดที่จริงส่วนใหญ่เกิดจากการที่จิตไปปักอยู่ที่บริเวณที่ปวด ใคร ๆ ก็ไม่ชอบความปวด แต่ว่าใจจะไปปักอยู่ตรงที่ปวด ปวดตรงไหน เจ็บตรงไหน ใจก็จะไปจดจ่อตรงนั้น นี่ก็แปลก ไม่ชอบแต่ว่ากลับจดจ่อ ไม่ชอบอะไรก็จดจ่อตรงนั้น
ก็เหมือนกับเราไม่ชอบความหนาว แต่ตรงไหนที่หนาว ใจเราจะไปจดจ่อ ร่างกายเรามีเสื้อผ้าห่มคลุม 70-80% หรืออาจจะเป็น 90% มีแค่ 10% ที่ไม่มีอะไรคลุมก็จะรู้สึกหนาว ถ้าถามว่าใจเราไปอยู่ตรงไหน ไปจดจ่ออะไร มันก็ไปจดจ่อกับตรงที่หนาว จะเป็นที่หัว จะเป็นที่มือก็แล้วแต่ แล้วก็บ่นว่า หนาว ๆในเมื่อหนาวทำไมไม่เอาใจไปจดจ่ออยู่ที่บริเวณที่อุ่นแทน สังเกตไหมทำไมใจเราไม่ไปอยู่ตรงบริเวณที่อุ่น หน้าอกหรือว่าในร่มผ้าตรงนั้นอุ่นแต่ทำไมใจไม่ไปอยู่ ทำไมใจไปจดจ่ออยู่ตรงที่หนาวซึ่งเป็นเพียงแค่ 10% ของร่างกาย คนไม่ค่อยสังเกตและไม่ค่อยตั้งคำถามว่าทำไมที่มันสุขไม่ไปอยู่ ทำไมไปอยู่ตรงที่ทุกข์
มันก็เหมือนกับชีวิตของคนเรามีทั้งสุขและทุกข์ บางทีสุขมากกว่าทุกข์ด้วย แต่ว่าเวลาเรานึกถึงอดีต เราจะไปนึกถึงแต่อดีตที่เจ็บปวดประสบการณ์ที่เลวร้าย ความผิดหวัง หรือความล้มเหลว การถูกต่อว่าด่าทอ ส่วนที่ดีไม่สน ส่วนที่ผิดพลาดก็กลับจดจ่ออยู่ตรงนั้น นี่เป็นเพราะอะไร เวลาเดินเหยียบหินหรือมือโดนหนามทิ่มหรือถูกไฟ น้ำร้อนลวก มันก็เป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในร่างกายที่เป็นทุกข์ อีก 99% ไม่ทุกข์เลย สบายเป็นปกติ แต่ถามว่าใจไปอยู่ไหน ใจก็ไปอยู่ตรงจุดที่เป็นทุกข์ จดจ่อแล้วก็ไม่รู้ตัว บ่นร้อน เจ็บ หนาว ไม่ไหวแล้ว ก็ในเมื่อตรงนั้นเจ็บตรงนั้นปวด แล้วไปจดจ่อทำไม พูดอีกอย่างก็คือใจชอบซ้ำเติมตัวเอง มันไวต่อความทุกข์มาก ที่จริงควรจะไวต่อความสุข แต่ที่ใจเราไปจดจ่ออยู่ตรงนั้นเพราะอะไร เพราะอยากจะไปผลักไส
ปวดและไม่ชอบก็ยิ่งพยายามผลักไส แต่ก็กลายเป็นยึดติดไป ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด พอยิ่งติดหรือจดจ่อก็ปวด ทุกข์ โวยวาย บ่น ไปแบกความปวดของกายมาเป็นความปวดของใจ เราทุกข์เพราะเราเอาใจไปแบกไว้ไปแบกไปยึดเอาไว้ ก็ในเมื่อของไม่ชอบจะไปแบกมันทำไม ในเมื่อหนามแหลม จะเอามือไปทิ่มแล้วทิ่มอีกทำไม แต่ว่าใจเราจะเป็นอย่างนั้น ร้อนตรงไหนก็ยิ่งต้องพยายามหนีห่าง แต่ว่าใจกลับเข้าไปจดจ่อคลอเคลีย แล้วก็บ่นว่าร้อน บ่นว่าร้อน บ่นว่าร้อน ทำไมมันร้อนอย่างนี้ แต่ก็ไม่เคยถามว่าแล้วทำไมใจไปจดจ่ออยู่ตรงนั้น ทำไมใจไปแบกไปยึดเอาไว้ เคยถามบ้างไหม เคยสังเกตบ้างหรือเปล่า ถ้าเราสังเกตเราก็จะพบว่าใจหลงไม่มีสติก็เลยไปจดจ่ออยู่ตรงที่หนาวไปจดจ่ออยู่ตรงที่ปวด ทั้ง ๆ ที่ตรงอื่นอีกตั้งเยอะแยะที่ไม่หนาวไม่ปวด จริง ๆ แล้วเป็นเพราะเราไม่มีสติเป็นเพราะความหลงที่ทำให้เราซ้ำเติมตัวเอง ทำให้ใจหาเรื่องมาใส่ตัว ไม่ต้องทำอะไรมาก ยังไม่ต้องทำอะไรกับความร้อนความหนาว เพราะบางอย่างบางทีก็ทำอะไรไม่ได้ แต่แค่ทำใจของเราแค่ดึงจิตของเราออกมาแทนที่จะจดจ่ออยู่กับตรงที่มันหนาวที่มันปวด แทนที่จะจดจ่อหรือไปยึดกับความปวด ความหนาว ก็แค่วางมันลงเสีย มารับรู้ตรงบริเวณที่สบาย ๆ หรือไม่เช่นนั้นก็มาดูใจ ใจที่บ่นโวยวาย เราไม่ได้ทุกข์ใจเพราะอากาศหนาวแต่ทุกข์ใจเพราะไปยึดในความหนาวของกาย ในความทุกข์ของกายไว้ ที่ยึดเพราะพยายามผลักไส พยายามผลักไส พยายามผลัก ๆ มันไม่ไปก็เลยจดจ่ออยู่ตรงนี้ ยิ่งผลักก็ยิ่งจดจ่อ
ลองทำใจเป็นกลาง ๆ ดู ทำใจเป็นกลาง ๆ แค่ดูเฉย ๆ แค่รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปทำอะไรกับความร้อน ความหนาว ความปวดที่เกิดกับกาย แค่รู้เฉย ๆ เห็นความปวด ไม่เป็นผู้ปวด อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” อากาศหนาว ๆ เป็นโอกาสที่เราจะได้ฝึกดูใจว่าเราเห็นหรือเข้าไปเป็นแล้ว ถ้าไม่เห็นเมื่อไรก็เข้าไปไปเป็นเมื่อนั้น และพอเป็นเมื่อนั้นก็ทุกข์ใจเลย โอ๊ย หนาว ๆ ๆ ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าเรามีสติเห็นเมื่อไรก็จะรู้เลยว่าความหนาวไม่ใช่ตัวการที่ทำให้เราทุกข์ แต่เพราะการเข้าไปเป็นต่างหากหรือการเข้าไปยึดต่างหากที่ทำให้ทุกข์ ความเจ็บ ความปวดของกายก็เหมือนกัน ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่ทุกข์โดยเฉพาะทุกข์ใจก็เพราะเข้าไปเป็น ใจเข้าไปแบกไปยึดเอาไว้ มีตัวกู ปรุงตัวกูขึ้นมาเป็นผู้ปวด เหมือนกับตอนนี้ที่มีตัวกูขึ้นมาเป็นผู้หนาว ตัวกูไม่มีจริง แต่ถูกปรุงขึ้นมา เพราะใจ ใจที่ไม่มีสติจะปรุงตัวกูขึ้นมาเพราะหนาว
ลองฝึกดู ฝึกว่าเราจะเห็นความหนาวได้อย่างไรโดยที่ไม่เป็นผู้หนาว เห็นความทุกข์ได้อย่างไรโดยที่ไม่เป็นผู้ทุกข์ ความทุกข์มี แต่ผู้ทุกข์หามีไม่ ลองเรียนตรงนี้ดู การเจริญสติช่วยได้มาก ช่วยทำให้เราอยู่กับทุกข์ได้ กายทุกข์ไปแต่ใจไม่ทุกข์ กายหนาวไปแต่ใจไม่หนาว ตรงนี้ล่ะที่เราจะได้เห็นว่าความทุกข์ใจไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอก ไม่ได้เกิดจากอากาศหนาว แดดร้อนหรือว่ากรวดหิน แต่เป็นเพราะใจที่ไม่มีสติ ใจที่ไปยึดเอาความปวดของกายมาเป็นความปวดของกู พอปรุงตัวกูขึ้นมาแล้วไปเป็นเจ้าของความปวดก็เลยเกิดความทุกข์ใจ เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เห็นใจตัวเองไหมเวลามันโวยวายมีกูขึ้นมามีกูซ้อนขึ้นมา กูปวด กูร้อน กูหนาว ไม่ไหวแล้ว ๆ ให้ใช้ประสบการณ์ของเราในขณะนี้เป็นแบบฝึกหัดในการดู ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต แล้วต่อไปก็จะเห็นธรรม คนเราถ้าจะดูให้ดี จะดูตัวเองให้ดี จะศึกษาธรรมให้ดี ก็ศึกษาตอนที่มีทุกข์ จะเห็นตัวเองชัด จะได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเองชัดมาก
มีผู้หญิงคนหนึ่งแกเป็นโรคที่หาได้ยาก กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ปลายประสาท กล้ามเนื้อไม่ทำงาน นอกจากเดินไม่ได้ เขยื้อนขยับแขนก็ลำบากแล้ว บางคนถ้าเป็นหนัก ๆ การกลืนก็จะมีปัญหา การหายใจก็จะเริ่มติดขัด พี่คนนี้การหายใจ หายใจได้แค่ 10% นอนแบบเรียกว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนป้อนข้าวให้ หมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกินอายุ 20 ตอนนี้ก็จะ 30 แล้ว ที่แกอยู่ได้ยืนเพราะแกทำใจถูก วางใจเป็น แต่ก่อนก็มีความทุกข์มากกับอาการนี้ แต่ตอนหลังก็ยอมรับมันได้ ก็มันเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร เลิกบ่น เลิกโวยวาย พยายามใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ ไม่ใช่แค่ปล่อยให้อยู่ไปวัน ๆ ไม่ใช่แค่คิดว่าเพื่อใช้กรรม ทีแรกคงคิดแบบนั้น อยู่ไปก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นฉัน แต่ตอนหลังก็ไม่ปล่อยชีวิตให้มันล่องลอยไปเปล่า ๆ ก็พยายามหาอะไรทำ ก็ยากนะ คนที่ยิ่งกว่าพิการเสียอีก
แต่สุดท้ายก็ได้ทำสิ่งที่ชอบ มีคนอ่านนิยายให้ฟัง ก็เกิดไฟขึ้นมา ทำไมเราไม่เขียนนิยายเองบ้าง แกก็เขียนนิยายโดยใช้นิ้วงอแล้วกระแทกกดแป้นพิมพ์โทรศัพท์ มือถือ กว่าจะได้เป็นตัวยากมาก ไม่ได้ใช้นิ้วกดแต่ใช้ข้อนิ้วกดตรงแป้นพิมพ์ทีละตัว ๆ จนเขียนเป็นนิยายได้หนึ่งเล่ม แล้วขายได้ด้วย ได้เงินมาเลี้ยงครอบครัว จนบัดนี้เขียนไปแล้ว 14 เล่ม กลายเป็นกำลังหลักของครอบครัว จากคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะกินข้าวต้องมีคนป้อน จะไปห้องน้ำก็ต้องมีคนอุ้ม แต่ไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเสาหลักของครอบครัว รายได้ของครอบครัวก็มาจากนิยายของเธอ แม่ตกงานก็ได้อาศัยรายได้ของเธอมาช่วยเลี้ยง ดูแล ผ่อนส่งบ้าน น้องสาวไปเรียนหนังสือก็อาศัยเงินที่เธอหามาได้ น่าทึ่งมาก
คนบางคนมีมือไม้ทุกอย่างแต่เป็นภาระเอาแต่เกาะพ่อแม่ มีหนุ่มคนหนึ่งอายุ 20 กว่า ติดยาบ้า วัน ๆ ไม่ทำอะไรเอาแต่นั่งขอเงินพ่อแม่ ขายของก็เอาเงินที่ได้เก็บไปซื้อยา แม่จะพาไปเลิกยาก็บอกว่าจะมาวัดขอมาวัดแทน พอแม่พาลูกชายมาวัดก็ปฏิเสธ แม่กลุ้มใจร้องห่มร้องไห้กลัวว่าลูกจะอยู่อย่างไร พ่อก็ป่วยไตวาย ลูกก็ทำตัวเป็นภาระ ตรงข้ามกับผู้หญิงคนที่ว่า ชื่อแพรว พิการแต่ว่ากลายเป็นเสาหลักของครอบครัว เธอพูดไว้ดีเธอพูดว่า “ความทุกข์ดีกว่าความสุข ความทุกข์ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ได้อยู่กับความเป็นจริง ไม่เหมือนความสุขที่ทำให้ใจล่องลอยเรื่อยเปื่อย ความทุกข์ทำให้เราได้รู้จักตัวเอง ได้เข้าใจโลก”
เธอเรียนจากความทุกข์ได้ประโยชน์จากความทุกข์ พวกเรานักปฏิบัติก็เหมือนกัน ขนาดคนที่ชื่อแพรวไม่ได้เป็นนักปฏิบัติอาชีพไม่ได้เข้าคอร์สอะไร แต่พวกเราเป็นนักปฏิบัติบางคนก็ปฏิบัติเป็นอาชีพมาเข้าคอร์สปีหนึ่งหลายคอร์สหรือบางทีก็มาบวช การบวชเป็นพระหรือแม่ชีก็ถือว่าเป็นนักปฏิบัติอาชีพ คืออาชีพปฏิบัติ แต่พอเจอทุกข์กลับเสียท่า พอเจอความหนาวนี่ป่วนเลย อันนี้เรียกว่าเรายังวางใจไม่ถูก ก็ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองเวลาทุกข์ ไม่ว่าหนาว ร้อน ป่วย เราได้เรียนรู้ เราได้เห็น ได้เห็นใจที่รู้สึกลบต่อความหนาว ความปวดหรือความทุกข์ทางกาย ได้เห็นได้รู้ทันเวลาบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย เราก็ได้เห็นชัด ที่ทุกข์ใจไปยึดเอาความปวดของกายมาเป็นความปวดของกู แทนที่จะเห็นกลับเข้าไปเป็น การที่เราจะรู้เราจะเห็นเรื่องเหล่านี้ได้ก็จากความทุกข์หรือจากประสบการณ์ของเราเวลาเจอทุกข์ ให้เราใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ ไม่ใช่เอาแต่บ่น เอาแต่โวยวาย ก่นด่าดินฟ้าอากาศ ทำไมมันหนาว ไม่น่ามาช่วงนี้เลย อะไรต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า ซ้ำเติมตัวเอง นอกจากจะไม่ได้ธรรมะ ยังซ้ำเติมตัวเองอีก แต่ถ้าเราใช้โอกาสนี้มาดูใจ ใจเรารู้สึกอย่างไรกับความหนาว ใจบ่น ใจโวยวาย ใจไปยึดเอาความหนาว ความทุกข์ของกายมาซ้ำเติมตัวเอง ถ้ารู้อย่างนี้ถึงจะเห็นทางออก ก็คือการมีสติ แค่รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ แต่ไม่เข้าไปเป็น แค่เห็นก็พอแล้ว