แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีพุทธพจน์สั้น ๆ อยู่บทหนึ่ง ซึ่งฟังแล้วคล้าย ๆ กับเซ็น นั่นก็คือ “ตัดแต่ป่า แต่อย่าตัดต้นไม้” ถ้าเอาง่าย ๆ ก็ดูเหมือนยาก ตัดป่าต้นไม้ก็ต้องโดนตัดไปด้วย แต่ที่จริงประโยคนี้มีความหมายที่ลึกซึ้ง แต่ถ้าเราจะเอาความหมายง่าย ๆ ก็ได้ คือให้กำจัดทุกข์ แต่อย่ากำจัดชีวิต ให้กำจัดทุกข์แต่ว่าไม่ทำลายชีวิต หรือว่าให้ทำลายกิเลส แต่ไม่ทำลายชีวิต อันนี้เป็นความหมายง่าย ๆ ถ้าจะกรองให้ลึกไปอีกสักหน่อย คำว่า “ป่า” เป็นคำสมมติที่ใช้เรียกต้นไม้หลาย ๆ ต้น ต้นไม้หลาย ๆ ต้น เราเรียกรวม ๆ กันว่าป่า คำว่า “ป่า” เป็นเพียงแค่คำสมมติ เวลาเรียกว่าป่าก็เหมือนกับว่าเรามีภาพที่สร้างขึ้นมาในใจซ้อนต้นไม้ที่เห็น ก็เหมือนกับรูปกับนาม กายกับใจที่จริงก็มีเท่านี้แหละ แต่เราสร้างภาพที่ซ้อนขึ้นมา หรือสมมติเรียกว่านี่คือคนนี่คือเรา คำว่า “เรา” หรือ “ตัวเรา” หรือ “ตัวกู” เป็นสิ่งที่เรียกว่าปรุงขึ้นมา เป็นภาพที่สร้างขึ้นมาในใจซ้อนกับสิ่งที่เรียกว่า รูปกับนาม กายกับใจ
คำว่า “ตัวเรา”ความรู้สึกว่าตัวเรามันเป็นสมมติ เหมือนกับคำว่า “ป่า” ก็เป็นคำสมมติที่ใช้เรียกต้นไม้หลาย ๆ ต้น ฉะนั้นคำว่า “ตัดป่า แต่ว่าอย่าตัดต้นไม้” ความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้น คือการตัด หรือทำลายตัวเรา หรือทำลายภาพปรุงแต่งว่าตัวเราตัวกู แต่ว่าไม่ไปทำลายรูปกับนาม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ให้ทำลายความคิดว่าเป็นคน หรือตัวคน แต่ว่าไม่ทำลายขันธ์ 5 ให้เรานึกภาพ หรือลองคิดพิจารณาดู ในคนทุกคนก็ประกอบไปด้วยขันธ์ 5 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เราสมมติเรียกขันธ์ 5 ว่าคน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งเนื้อทั้งตัวของคนเราก็มีแค่นี้แหละ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือเรียกสั้น ๆ ว่ารูปกับนาม กายกับใจ แต่เราเรียกขันธ์ 5 กองนี้ว่านาย ก. ขันธ์ 5 กองนี้ว่านาย ข. ขันธ์ 5 กองนี้ว่านาง ง.
คำว่า ก. ข. ง. หรือว่า สมชาย สมทรง สมศรี พวกนี้เป็นแค่คำเรียกคำสมมติ แต่บางทีเราเผลอไปคิดว่ามันมีจริงอันที่จริงแล้วที่มีจริงก็มีแค่ขันธ์ 5 รูปกับนาม ซอยลงไปหน่อยก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กองนี้เราก็เรียกว่าคน อีกกองหนึ่งเราก็เรียกว่าหมา อีกกองหนึ่งเราก็เรียกว่าแมว มันเป็นคำสมมติ ที่มีจริงคือขันธ์ 5 รูปกับนาม กายกับใจ ส่วนที่เรียกว่าคน เรียกว่าสัตว์ คำว่า “เรียกว่า” ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสมมติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความหมายลึกลงไปของพุทธพจน์ที่ว่า “ตัดแต่ป่า แต่อย่าตัดต้นไม้” หมายถึงให้ทำลายความเป็นตัวเรา แต่ไม่ทำลายขันธ์ 5 หรือว่าให้ทำลายความเป็นคน ความเป็นสัตว์ แต่ไม่ทำลายขันธ์ 5 เป็นเรื่องที่อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย แต่อธิบายแปลง่าย ๆ ก็อย่างที่ว่า ให้กำจัดกิเลส แต่อย่าทำลายชีวิต ให้กำจัดความทุกข์ก็ได้ แต่ว่าอย่าทำลาย หรือกำจัดชีวิต แต่ว่ายังไม่ถึงความหมายที่แท้ของพุทธวจนะนี้ เท่ากับความหมายที่ให้ทำลายความเป็นตัวเรา แต่ไม่ทำลายรูปนาม ไม่ทำลายขันธ์ 5
คำว่าทำลายความเป็นตัวเรา เป็นแค่ความหมายอันหนึ่ง คือทำลายความยึดถือว่ามีตัวเรา เป็นเรื่องของการสร้างภาพในใจที่ปรุงแต่งขึ้นมาซ้อนทับความจริง ต้นไม้คือความจริง แต่ว่าป่าเป็นแค่สมมติ เป็นคำที่ใช้เรียกต้นไม้หลาย ๆ ต้น เป็นพุทธพจน์ที่ชวนให้เรานึกถึงความแตกต่างระหว่างสมมติสิ่งปรุงแต่ง กับสิ่งที่มันเป็นจริง ที่จริง “ต้นไม้” ก็ยังเป็นคำสมมติ เป็นคำสมมติใช้เรียกธาตุต่าง ๆ ที่มาประกอบกัน เราก็เรียกว่าต้นไม้ ถึงที่สุดแล้ว ถ้าลึกลงไปก็คือธาตุ ลึกลงไปก็เป็นอะตอม แต่ว่ามันจะลึกไปไกล การทำลาย “ตัวเรา” แต่ไม่ทำลายขันธ์ 5 หรือว่ารูปนาม เราจะทำได้อย่างไร? สิ่งที่ช่วยทำให้เราได้เห็นความจริงว่ามีแต่ต้นไม้ ไม่มีป่า หรือว่ามีแต่รูปกับนาม มีแต่ขันธ์ 5 ไม่มีตัวเรา ก็คือ “สติ”
สติเป็นเครื่องมืออย่างแรกเลยที่ใช้ สติปัฏฐาน 4 เป็นวิธีการสลายอัตตา เป็นวิธีการที่ท่านสอนให้เรามาดูรูป มาดูเวทนา มาดูจิต มาดูธรรม รูปก็คือกายนั่นแหละ กาย เวทนา จิต ธรรม เช่น พิจารณาหรือเห็นกายในกาย ความหมายคือเห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา พิจารณาเวทนา หรือดูเวทนาว่าเป็นเวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา พิจารณาจิต หรือเห็นว่าจิตเป็นจิต ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา และตรงนั้นแหละจะทำให้เห็นธรรม เห็นธรรมในธรรม พิจารณาหรือเห็นกายว่าเป็นกาย ก็เริ่มต้นตั้งแต่เวลาเราเดิน หรือเวลาเรายกมือสร้างจังหวะ ยกมือเคลื่อนไปมา ถ้าสติมี สติมา จะเห็นว่าที่เดินที่ยกนี่มันเป็นรูป ไม่ใช่เราเดิน ไม่ใช่เรายกมือ
การเห็นตรงนี้เป็นการเห็นความจริงแท้ ๆ ไม่มีการปรุงแต่งซ้อนทับ ธรรมดาเวลาคนเราเดิน จะคิดว่าฉันเดิน ฉันยกมือ มันมีกูมันมีความรู้สึกว่าตัวกูเป็นผู้กระทำต่าง ๆ แต่พอพิจารณา หรือเดินด้วยสติ จะเห็นว่าที่เดินนี่มันเป็นรูป มันเป็นกายที่เดินไม่ใช่เราเดิน ในทำนองเดียวกันเวลาเจ็บเวลาปวด จะเห็นว่ามันมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้นกับรูป แต่ไม่ใช่เราเจ็บ ธรรมดาคนเราถ้าไม่มีสติรู้สึกตัว พอเจ็บปุ๊บมันจะรู้สึกเลยว่ากูเจ็บ แต่ถ้าเรามีสติ เราจะเห็นว่าที่เจ็บนี่คือกายเจ็บ หรือว่าความเจ็บมันเกิดกับกาย แต่ไม่ใช่เราเจ็บ ไม่มีผู้เจ็บเกิดขึ้น ไม่มีผู้เดิน ทำนองเดียวกันเวลาโกรธ ก็เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้นกับใจเกิดขึ้นที่ใจ ไม่ใช่เราโกรธ มีแต่ความโกรธไม่มีผู้โกรธ มีแต่การเดินไม่มีผู้เดิน หรือว่ากายเดิน มันมีแต่ความปวดไม่มีผู้ปวด มันมีแต่ความโกรธไม่มีผู้โกรธ อันนี้เรียกว่า “ถอน”
ถอนความเป็นตัวกูออกมา ฉะนั้นถ้าเราจะทำ หรือเจออะไรก็ตาม ถ้ามีสติเข้าไปกำกับก็จะเห็นแต่กายกับใจ รูปกับนาม มันไม่มีตัวกูขึ้นมาเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ทำนั่นทำนี่ หรือเป็นนั่นเป็นนี่ อันนี้เป็นบันไดขั้นต้นที่จะตัดป่า แต่ว่าไม่ตัดต้นไม้ คือทำลายความเป็นตัวเรากำจัดตัวเราออกไป คงเหลือแต่เพียงรูปนาม หรือขันธ์ 5 นี่เป็นหน้าที่ของเรา อย่างหนึ่งในฐานะชาวพุทธที่จริงจังกับการกำจัดทุกข์ คือต้องพยายามกำจัดตัวเรา หรือความคิดว่ามีตัวเราออกไป คงเหลือแต่ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่กับเราตลอดเวลา แต่ว่าเรามองไม่เห็น เพราะว่าความเป็นตัวเรามันบังเอาไว้ หรือความคิดว่ามีตัวเรามันบังมันซ้อนเอาไว้
เหมือนกับที่เขามีคำพูดว่า “มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง” จริง ๆ เสื้อก็มาจากผ้า แต่พอเราตัดผ้าให้เป็นเสื้อ คำว่า “เสื้อ” ก็บดบังเนื้อผ้า เสื้อนี่คือสมมติ เวลาตัดผ้ากลายเป็นเสื้อ คำว่า “เสื้อ” เป็นสมมติ แต่สมมตินี่บางครั้งก็บังตาบังใจเรา จนกระทั่งเห็นเสื้อไม่เห็นผ้า ทั้ง ๆ ที่ผ้าก็ปรากฏอยู่ทนโท่ แต่สมมติคำว่า “เสื้อ” มันบัง ตุ๊กตาก็ทำจากยาง คือพลาสติก เวลามีตุ๊กตาวางอยู่ข้างหน้ามันก็เห็นยาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็น เพราะคำว่า “ตุ๊กตา” ซึ่งเป็นสมมติมันบังเอาไว้
“มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง” มองคน ไม่เห็นขันธ์ 5 ก็ได้ หรือมองคนไม่เห็นกายกับใจ มองคน ไม่เห็นรูปนาม มันก็อยู่ข้างหน้านี่แหละ จริงอยู่คำว่า “นาม” หรือว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่เห็นด้วยตา ในที่นี้หมายถึงการรับรู้ด้วยใจ มองคนไม่เห็นรูปนาม มองคนไม่เห็นขันธ์ 5 ถ้าเรามีสติมาเมื่อไหร่ มันก็ทะลุทะลวงภาพคนลงไปเห็นขันธ์ 5 เหมือนกับฟิลม์เอ็กซ์เรย์เครื่องเอ็กซ์เรย์ ถ้าไม่เอ็กซ์เรย์ก็เห็นคนเป็นดุ้นเป็นก้อน พอเอ็กซ์เรย์ลงไปมันเห็นข้างในเลย เห็นข้างในแบบทะลุปรุโปร่งเรียกว่าทะลุหนัง เครื่องเอ็กซ์เรย์มันทะลุหนัง ไปเห็นอวัยวะต่าง ๆ สติก็คล้ายกับเครื่องเอ็กซ์เรย์ มันมองทะลุสมมติ หรือความเป็นคน ความเป็นตัวกู เห็นความจริงพื้นฐาน รูปกับนาม กายกับใจ ความรู้สึกว่าคน หรือเรามันเป็นสมมติ เป็นสิ่งปรุงแต่งที่จิตสร้างขึ้นมาซ้อนของจริง คือขันธ์ 5 หรือรูปนาม หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า “ถลุง” การเจริญสติคือการถลุง เราใช้คำนี้กับแร่ สมมติว่ามีก้อนแร่ก้อนหนึ่ง เราถลุงจนกระทั่งได้แร่ที่มีค่าแยกออกมา
การเจริญสติเป็นการถลุง หรือเป็นการทำให้เห็นความจริงพื้นฐาน คือรูปกับนาม มองทะลุตัวกู หรือภาพสมมติว่าตัวกู ความจริงนี่สำคัญ ถามว่ารู้ไปทำไม การรู้รูปนามทำให้เราหรือจิต มันเพิกถอนความคิดว่าเป็นตัวกูได้ เพราะที่จริงแล้วความทุกข์ของคนเรา โดยเฉพาะความทุกข์ใจมีศูนย์กลาง หรือรากเหง้าอยู่ที่ความคิดว่าเป็นตัวกู ของกู เวลาเสียงด่ากระทบหู ทำไมทุกข์ใจ กายไม่ทุกข์เสียหน่อย แต่ทำไมมาทุกข์ใจ เพราะมีความรู้สึกว่าเขาด่ากู ๆ มันมีตัวกูออกไปรับ ทำไมเวลาปวดขาเมื่อยขา จึงทุกข์มาก เพราะว่ามันมีตัวกูไปออกรับความเจ็บ เป็นกูเจ็บ ๆ กูเจ็บนี่มันมากกว่าความรู้สึกว่าขาเจ็บหรือว่าปวดเท้า อาจารย์พุทธทาสท่านเคยเปรียบเทียบว่า เวลาโดนมีดบาด คนที่รู้สึกว่ามีดบาดกู จะรู้สึกเจ็บกว่าคนที่เขาเห็นหรือรู้สึกว่าบาดนิ้ว ระหว่างกูเจ็บกับนิ้วเจ็บมันต่างกัน ความรู้สึกว่ามีดบาดกู ให้ความรู้สึกเจ็บมากกว่าการที่เห็นว่ามีดบาดนิ้ว เพราะว่ามีดบาดนิ้วก็แค่นิ้วเจ็บ แต่ว่ามีดบาดกูไม่ใช่กายเจ็บอย่างเดียว ใจมันทุกข์ไปด้วย
ฉะนั้นถ้าเราสามารถมองเห็นว่าที่เจ็บนี่ เป็นกายเจ็บ ไม่ใช่กูเจ็บ ความทุกข์จะเบาบางมาก มีเรื่องเล่าว่าตอนที่หลวงปู่บุดดาท่านไปผ่าเอานิ่วออก เรื่องนี้ประมาณสัก 50-60 ปีมาแล้ว เพราะว่าหลวงปู่บุดดาก็มรณภาพไป 25 ปี ตอนมรณภาพก็อายุ 100 ปี ผ่าเสร็จไม่ถึง 15 นาที ท่านบอกหมอว่า ไม่เป็นไรแล้ว ค่อยยังชั่วแล้ว ท่านจะกลับวัด หมอกับพยาบาลก็แปลกใจ หลวงปู่ไม่เจ็บเหรอ คนที่ผ่าน้อยกว่าท่านยังบอกว่าเจ็บเลย บ่นโอดครวญว่าเจ็บ หลวงปู่ทำไมไม่เจ็บ ท่านตอบว่าเจ็บสิทำไมไม่เจ็บ ร่างกายหลวงปู่ก็เหมือนกับคนธรรมดานั่นแหละ แต่ใจไม่ได้เจ็บไปกับกายด้วย ที่ใจไม่เจ็บไปกับกาย เพราะท่านเห็นว่าที่เจ็บนี่ เป็นกายเจ็บหรือความเจ็บมันเกิดกับกาย มันไม่ใช่กูเจ็บ กายเจ็บไม่ใช่กูเจ็บ เพราะฉะนั้นใจเลยไม่ทุกข์มาก นี่มันก็ช่วยนะ ช่วยลดความทุกข์ไปได้ ถ้าเราเพิกถอนหรือกำจัดความรู้สึกว่าตัวกูออกไป เหลือแต่กายกับใจ รูปกับนาม ความทุกข์ไม่ว่าทุกข์กาย หรือทุกข์ใจจะลดลงไปเยอะเลย ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่ามีอะไรมากระทบก็ตาม
อย่างที่ว่าคนเดี๋ยวนี้ทุกข์กายไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้ทุกข์ใจมาก ทุกข์ใจเพราะไม่ว่ามีอะไรมากระทบก็ตาม ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ดีไป อิฏฐารมณ์ก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งธรรมารมณ์ที่น่าพอใจ แต่ถ้าเจออนิฏฐารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ หรือเหตุการณ์ร้าย ๆ อย่างที่เขามักจะแปลเป็นสูตรว่า เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา แล้วก็ทุกข์ คราวนี้ล่ะก็ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ ถึงแม้ไม่มีอะไรมาสัมผัสกายเลยด้วยซ้ำ มีแต่รูป รส กลิ่น เสียง แม้กายจะไม่ทุกข์แต่ใจมันทุกข์ แม้ว่าสัมผัสที่มากระทบ แม้ว่าโผฏฐัพพะหรือสัมผัสทางกาย ไม่ค่อยมีอะไรที่มาบีบคั้น หรือว่าเสียดแทงร่างกาย ก็ยังทุกข์เพราะรูป รส กลิ่น เสียง หรือว่าธรรมารมณ์ หรือภาพที่คิดนึกในใจ เช่น นึกย้อนไปถึงอดีตที่ถูกเขาโกงถูกเขาหักหลังทรยศ ก็เจ็บเลยคือทุกข์ใจ เกิดความโกรธเกิดความแค้น นึกถึงสิ่งที่สูญเสียไปคนรักของเราที่สูญเสียไปก็เศร้าเสียใจ อันนี้ก็ทุกข์ใจ กายสบายดีแต่ใจมันทุกข์ เจอภาพที่ไม่น่าพอใจ เจอหน้าคนที่ไม่ชอบ กายมัน เฉย ๆ นะทีแรก แต่ใจมันทุกข์เลย คือโกรธ
หรือเห็นภาพอุบัติเหตุภาพคนตาย กายแรก ๆ ไม่มีอะไร แต่ใจมันสะดุ้งมันหวาดเสียว แล้วส่งผลต่อกายในเวลาต่อมา หรือทันทีก็คือหัวใจเต้นความดันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียว หรือความโกรธก็ตาม ทั้งหมดนี้โยงไปถึงเรื่องตัวกู เวลาเห็นคนตายเห็นอุบัติเหตุ มันไปกระแทกความรู้สึกว่า ถ้ากูเป็นแบบนี้กูแย่แน่ ๆ เลย หรือว่ามันไปเตือนให้ระลึกว่า สักวันหนึ่งเราต้องตาย สักวันหนึ่งกูต้องตาย เหมือนคนที่นอนอยู่ข้างหน้านี่ ตราบใดที่ใจของเรายังมีความยึดในตัวกูก็จะยังทุกข์ ทุกข์ไม่เลิก ใจมันทุกข์ แม้ว่ากายมันจะสบายก็ตาม
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ว่าเราจะให้ทานแค่ไหน รักษาศีลเพียงใด มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากมาย สิ่งที่ทิ้งไม่ได้คือการภาวนา หรือว่าการทำวิปัสสนา เพื่อเพิกถอนตัวกู คงเหลือแต่รูปนามหรือว่าขันธ์ 5 ไปไหน ๆ ก็ไม่ต้องพ่วงเอาตัวกูไปด้วย รู้เพียงแค่ว่ามันเป็นสมมติ เช่นเดียวกับความเป็นนาย ก. นาง ข. หรือเป็นพระเป็นโยม เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูก พวกนี้มันก็สมมติ ที่มันไม่ได้เกิดมายืนพื้นตั้งแต่แรก ความเป็นพ่อเป็นแม่เกิดขึ้นเมื่อมีลูก พอลูกเกิดความเป็นพ่อเป็นแม่ก็ตามมา พ่อแม่เกิดทีหลังลูก ในที่นี้หมายถึงความเป็นพ่อเป็นแม่ คือต้องรอให้ลูกเกิดก่อน จึงเรียกสามีว่าพ่อเรียกภรรยาว่าแม่ ถ้ายังไม่มีลูกก็เรียกแค่สามี และภรรยา อันนี้เป็นคำสมมติที่เกิดขึ้นมาใช้เรียก ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก ความเป็นชาวพุทธ ความเป็นคนไทยก็เหมือนกัน มาทีหลังความเป็นคนความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่เราใช้เรียกขันธ์ 5 อย่างนี้เรียกว่ามนุษย์ ถ้าขันธ์ 5 กองนี้เราเรียกว่าหมา เราเรียกว่าแมว เป็นความจริงที่เข้าใจยาก แต่เราปฏิบัติได้ด้วยการเจริญสติ หลายคนมาภาวนามาปฏิบัติธรรมเจริญสติ ก็หวังความสงบอยากให้ใจมันสงบ แต่สงบที่ว่าเป็นสงบชั่วคราวไม่เพียงพอหรอก จนกว่าจะเห็นหรือเกิดปัญญา คือเห็นสัจธรรม ไม่ว่าจะเป็นความจริงที่เราเรียกว่าไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือความจริงที่เราเรียกว่าขันธ์ 5
การเจริญสติไม่ว่าจะรู้กายหรือรู้ใจ ทีแรกมันทำให้ใจสงบ แต่ก่อนเป็นคนหงุดหงิดง่าย เป็นคนขี้กังวลเป็นคนขี้โมโห แต่พอเรามีสติไวขึ้นเห็นอารมณ์ มันก็รู้ทันอารมณ์ ความโกรธเกิดขึ้นเห็นปุ๊บมันสงบเลย ความวิตกเกิดขึ้นพอมีสติมันสงบเลย อารมณ์พวกนี้เกิดขึ้นตอนเราเผลอ เผลอฟุ้งเผลอคิดไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่พอเรามารู้สึกตัวหรือรู้เนื้อรู้ตัว ในชั่วขณะนั้นความโกรธก็ดับไป ความวิตกกังวลก็ดับไป ความเศร้าก็ดับไปมีความสงบเกิดขึ้นแทนที่ แค่นี้ก็มีประโยชน์แล้ว ความรู้เนื้อรู้ตัวสำคัญมาก ที่คนเฒ่าคนแก่เขาให้พรลูกหลานว่า ให้รู้เนื้อรู้ตัว อันนี้เป็นพรที่วิเศษมาก วิเศษกว่าการบอกว่าขอให้รวย ขอให้มั่งมีศรีสุข ขอให้ประสบความสำเร็จ ขอให้เป็นเจ้าคนนายคน เพราะถึงแม้พรที่ว่าจะเป็นจริง ก็ไม่ได้แปลว่าจะหมดทุกข์ คนที่ร่ำรวยคนที่เป็นเจ้าคนนายคนที่ฆ่าตัวตายก็มีเยอะ อันนี้เป็นเพราะอะไร เพราะเขาลืมตัวเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เพราะฉะนั้นการรู้เนื้อรู้ตัวสำคัญมาก มันประเสริฐมาก คนสมัยก่อนเขาให้พรที่เรียกว่าประเสริฐอย่างยิ่ง สั้น ๆ ดูไม่หวือหวา แต่มีความหมายมาก ถ้าสามารถจะเกิดขึ้นกับเราได้ การเจริญสติทำให้เรากลับมารู้เนื้อรู้ตัวเร็ว พอกลับมา รู้เนื้อรู้ตัวเร็ว ก็หลุดจากอารมณ์หรืออารมณ์ที่ทำให้ทุกข์ก็ดับไป เกิดความสงบ แต่ว่าความทุกข์ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังยึดในตัวกูอยู่ เช่น พอมีคนมาด่าเข้า โกรธเลย แต่อาศัยมีสติไว สติก็ช่วยดับ ดับทุกข์เป็นคราว ๆ ไป แต่ว่าทุกข์ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้ายังมีความยึดในตัวกูอยู่ ของหายไปก็โกรธก็เสียใจ เพราะมันยึดว่าของกู ๆ ไม่ใช่ของกูที่เป็นสิ่งของ บางทีก็ลูกของกู ลูกป่วยลูกไม่สบาย พ่อแม่ก็ทุกข์มาก เพราะความที่ว่านี่ลูกของกู แต่พอมีสติรู้ก็วางความกังวลความเครียดได้ แต่ความเศร้า ความเสียใจ ความวิตกก็ยังโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ จนนอนไม่หลับ แต่ถ้าเกิดเห็นความจริงขั้นพื้นฐานว่า มันไม่มีตัวกู ของกูจะมีได้อย่างไร
ตรงนี้แหละทำให้ทุกข์ไม่ว่าจะเป็นเศร้า โกรธ วิตกกังวล ถูกถอนรากถอนโคนไป เป็นการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่การดับทุกข์เป็นคราว ๆ ด้วยสติ การที่จะถอนหรือดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ต้องอาศัยปัญญาที่เห็นความจริงนี้แหละ เพราะฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ให้ตัดแต่ป่า อย่าตัดต้นไม้” มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ให้ทำลายความเป็นตัวเรา คงเหลือแต่กายกับใจ คงเหลือแต่ขันธ์ 5 อันเป็นความหมายที่ลึกที่สุดของพุทธพจน์นี้ แต่ถ้ายังเข้าใจยาก เอาเป็นว่า ให้กำจัดกิเลส แต่ว่าไม่กำจัดชีวิต ให้กำจัดทุกข์ แต่ว่ายังมีกายกับใจอยู่ ความหมายเท่านี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว แต่ยังไม่ทำให้เราได้เห็นรากเหง้าของทุกข์ที่แท้จริงนั่นคือความยึดในตัวกูของกู จะเรียกว่าเป็นรากเหง้าของกิเลสก็ได้ เพราะพอยึดว่าตัวกูของกู กิเลสก็เกิดขึ้นทันที ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฐิ