แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน มีพระเซ็นรูปหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือมากของชาวบ้าน ทุกวันนี้ยังมีคนเคารพมากมาย ท่านชื่อฮากุอิน เรื่องราวของท่านก็เป็นที่เล่ากล่าวขานกันมา มีเรื่องหนึ่งซี่งบางคนบางท่านอาจจะเคย ได้ยินในที่นี้มาแล้ว แต่ว่าหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยิน คือวันหนึ่งมีผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นหญิงสาวยังไม่ทันได้แต่งงาน แกเกิดท้องขึ้นมา พ่อแม่ก็คาดคั้นว่าใครเป็นพ่อของเด็ก เธอก็ไม่ยอมตอบ แต่หลังจากที่ถูกคาดคั้นถูกขู่ เธอเลยตอบไปว่า ท่านฮากุอินเป็นพ่อของลูกในท้อง พ่อแม่ของหญิงสาวโกรธมากตรงไปที่วัดทันที แล้วก็ด่าท่าน ด่าเสีย ๆ หาย ๆ ว่าเป็นคนเลว เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เป็นพวกที่มากในราคะคนอย่างนี้ไม่ควรจะบวชอยู่ต่อไปว่าสารพัด
ท่านฮากุอินก็เพียงแต่พูดคำเดียวว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรือ” ท่านไม่พูดอะไรมากกว่านั้น ต่อมาหญิงสาวคลอดลูก พ่อแม่ของหญิงสาวก็นำทารกไปให้ท่านฮากุอินเลี้ยง บอกว่า “ต้องรับผิดชอบลูกของตัว ตัวเองต้องรับผิดชอบ อย่ามาโยนภาระให้ฉันเป็นเด็ดขาด” พ่อแม่ของหญิงสาวพูดอย่างนั้น ท่านฮากุอินก็ไม่ปฏิเสธ ท่านก็ดูแลเด็กทารก ไม่มีความรู้อะไร ก็สอบถามจากชาวบ้าน ซึ่งมีบางคนที่ยังศรัทธานับถือท่านอยู่ ก็ลำบาก สมัยก่อนไม่มีผ้าอ้อม แล้วนมแม่อีก ท่านต้องไปขวนขวายหามา ป้อนนมให้เด็กทารกเหมือนกับเป็นลูกตัวเอง เรียกว่าเพิ่มงานให้ท่านมากมายทีเดียว กลางค่ำกลางคืน ก็ไม่ได้นอน เพราะว่าเด็กร้องไม่เป็นเวลา แต่ท่านก็ดูแลเด็กโดยไม่ปริปากบ่น ตรงข้ามกับชาวบ้านในหมู่บ้านจำนวนมาก ลือกันสะพัด แล้วต่อว่าด่าทอท่าน ว่าสิ่งที่ท่านทำตามคำกล่าวหาของพ่อแม่ของหญิงสาวมันแย่มาก ชาวบ้านก็เสื่อมศรัทธาไปเยอะ
แต่ท่านตั้งหน้าตั้งตาทำกิจของท่านต่อไป รวมทั้งเลี้ยงดูเด็กทารกเป็นมาอย่างนี้หลายเดือน จนกระทั่งในที่สุดหญิงสาวที่เป็นแม่ของเด็กทำใจไม่ได้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอยากได้ลูกกลับมา หรือเพราะว่าสงสารท่านฮากุอิน หรือทั้งสองอย่าง เลยสารภาพกับพ่อแม่ว่าที่จริงพ่อของเด็กในท้อง คือหนุ่มที่ขายปลาอยู่ในร้านใกล้ ๆ กัน พอพ่อแม่ของหญิงสาวรู้ความจริง ก็ตกใจว่าได้ไปสร้างบาปให้กับท่านฮากุอิน รู้สึกผิดจึงรีบตรงไปที่วัด กล่าวขอโทษขอโพยท่าน แล้วชมท่านด้วย ว่าท่านเป็นพระที่ประเสริฐมาก ยอมเสียสละเพื่อผู้อื่น ยอมทุกข์ยากยอมลำบาก ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ท่านเป็นพระที่ประเสริฐมาก ประเสริฐจริง ๆ ท่านฮากุอินก็พูดประโยคเดียว ที่จริงแค่คำเดียวว่า “อย่างนั้นหรือ” แล้วก็คืนทารกให้กับแม่ของเด็ก
เรื่องนี้สะท้อนถึงคุณลักษณะประการหนึ่งของท่านฮากุอิน คือเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหว ทั้งในยามที่ถูกด่า และไม่หวั่นไหวทั้งในยามที่ได้รับคำชม พ่อแม่ของหญิงสาวมาด่าท่านยังไง ๆ ท่านบอกเพียงแค่ว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรือ” ท่านไม่แสดงอาการยินร้าย หรือว่าโกรธ หรือว่าด่าตอบ ธรรมดาคนถูกใส่ร้ายก็ต้องโกรธ แล้วก็ต้องตอบโต้ แต่ท่านฮากุอินพูดแค่คำเดียวว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรือ” ครั้นความจริงปรากฏ เขามาชมท่าน ใจท่านก็ไม่ได้ฟู เพียงแต่พูดสั้น ๆ ว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรือ” อันนี้คือลักษณะของผู้ที่เข้าถึงธรรม จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวใจกระเพื่อม ไม่ว่ายามที่เจออิฏฐารมณ์ อิฏฐารมณ์คือคำสรรเสิญ หรือได้ลาภได้ยศ เวลาเจออนิฏฐารมณ์ เสื่อมลาภเสื่อมยศถูกนินทา จิตใจก็มั่นคง อันนี้เป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นสำคัญประการหนึ่งของท่านฮากุอิน ซึ่งเป็นแบบอย่างให้กับพวกเราชาวพุทธด้วย
ที่จริงมันมีเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน แต่แรงกว่า อันนี้เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าเอง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ตอนที่พระองค์ประทับอยู่ที่เชตวัน มีนักบวชกลุ่มหนึ่งเขาเรียกว่าปริพาชก พวกนี้ก็อิจฉา ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระพุทธเจ้า มีปริพาชกผู้หญิง เขาเรียกปริพาชิกาชื่อนางสุนทรี วางแผนจะทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า เลยทำตัวเหมือนกับว่าคุ้นเคยกับพระองค์ แกล้งหลอกให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ตัวเองไปค้างคืนที่เชตวันทุกคืน วิธีการก็คือว่า เวลาตกเย็นชาวบ้านที่เดินออกจากเชตวัน มาเจอนางสุนทรีกำลังเดินออกจากเมือง ตรงมายังทางเชตวัน ชาวบ้านก็ถามว่าไปไหน แกก็บอกว่า คืนนี้จะไปค้างที่เชตวัน พอเช้าตรู่ก็เดินออกมา ทำทีเหมือนกับว่าเดินออกมาจากเชตวัน ที่จริงไปนอนค้างในสำนักของตัว ทำทีเหมือนกับเดินออกมาจากเชตวันเช้าตรู่ ชาวบ้านที่เดินผ่าน ถามว่ามาจากไหน ก็บอกว่ามาจากเชตวัน ทำอย่างนี้อยู่หลายวัน คล้าย ๆ ทำนองว่า ตัวเองมีอะไรกับพระพุทธเจ้า ที่จริงแผนของนางสุนทรีก็คงมีแค่นี้ คือจะใส่ร้ายพระพุทธองค์ว่า มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง
แต่ปรากฏว่ากลุ่มปริพาชกมีแผนเลวร้ายกว่านั้น หักหลังนางสุนทรี คือฆ่านางสุนทรี แล้วเอาศพไปฝังไว้ใกล้ ๆ กับกุฏิของพระพุทธเจ้า ใกล้เท่าไหร่ก็ไม่ทราบ เพราะว่าขุดหลุมฝังศพนี่ใช้เวลานาน คงจะไม่ใกล้ทีเดียว ฝังศพเอาไว้ เสร็จแล้วทำทีเหมือนกับว่านางสุนทรีหาย มีการตามหา ปรากฏว่าไปพบศพอยู่ที่บริเวณใกล้กับกุฏิพระพุทธเจ้า เรียกว่าคันธกุฎี มีการแห่ศพนางสุนทรีเข้าไปในเมืองสาวัตถี แล้วป่าวร้องว่าพระพุทธเจ้าฆ่านางสุนทรีเพื่อปิดปาก คนสาวัตถีเชื่อทันทีเลย พากันโจษจัน ต่อว่าด่าทอพระพุทธเจ้าอย่างเสีย ๆ หาย ๆ และไม่มีการใส่บาตรพระ เหมือนกับว่าบอยคอต คว่ำบาตร ไม่ใส่บาตรพระภิกษุทุกรูปจากเชตวันเป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียว พระอานนท์พอทราบข่าวรู้สถานการณ์ก็ทูลเชิญพระพุทธเจ้าว่าให้เสด็จไปที่อื่นเถิด คนในเมืองนี้เขาไม่ต้อนรับเราแล้ว พระองค์ก็ไม่ไป ยังประทับอยู่ที่เชตวัน
จนกระทั่งในที่สุดความจริงก็ปรากฏ เจ็ดวันหลังจากนั้น ฆาตกรไปพูดคุยโม้กับเพื่อนในวงเหล้า สายของพระเจ้า ปเสนทิโกศลก็มาทูลให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบ พระเจ้าปเสนทิโกศลเลยสั่งจับ ฆาตกรก็สารภาพ พอสารภาพข่าวลือ ก็ยุติ คนกลับมาเคารพศรัทธาพระพุทธเจ้าเหมือนเดิม พระมาบิณฑบาตก็ใส่บาตรกันเหมือนเดิม เรื่องนี้คล้าย ๆ กับเรื่องท่านฮากุอิน คือเรื่องการถูกใส่ร้าย แต่หนักกว่าเยอะเลย ใส่ร้ายว่าฆ่าผู้หญิง
สิ่งที่น่าสนใจคล้ายคลึงกันระหว่างสองเรื่องนี้ ในด้านหนึ่งก็คือการใส่ร้าย การโจษจัน การปล่อยข่าวลือเป็นสิ่งที่ธรรมดา มันเกิดขึ้นแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านฮากุอินก็เรียบร้อยทำเพื่อชาวบ้าน พระพุทธเจ้ายิ่งไม่ต้องพูดถึง พระองค์ประทับอยู่ที่เชตวันมาหลายปี แต่ก็ยังมีคนปล่อยข่าวลือกล่าวร้ายใส่ร้ายพระองค์ อันนี้เป็นธรรมดาของมนุษย์ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นคนดี แม้จะเป็นคนดีแค่ไหน ก็หนีคำต่อว่าด่าทอ หรือการใส่ร้ายไม่พ้น พวกเรานี่หากว่าใครมีความทุกข์เรื่องนี้ มีคนเข้าใจผิดมีคนมาติฉินนินทา หรือต่อว่าด่าทอ หรือถึงขั้นใส่ร้าย บางทีอาจเป็นคนคุ้นเคย อาจเป็นคนที่เราเคยช่วย ก็ให้ระลึกถึงสองเรื่องนี้เอาไว้ว่ามันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดาของมนุษย์ แม้แต่พระพุทธเจ้า บางทีเจอหนักกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่พระองค์ดีประเสริฐกว่าเรามาก
แล้วยังสอนว่า คนเราเชื่ออะไรง่าย แม้กระทั่งคนที่ทำคุณงามความดีมา พอมีใครใส่ร้ายปล่อยข่าวลือก็เชื่อทันที แต่สิ่งที่น่าคิดอยู่อีกประการหนึ่ง คือทั้งสองกรณีนี้ ไม่ว่าท่านฮากุอิน หรือพระพุทธเจ้า เมื่อถูกใส่ร้ายท่านไม่พยายามอธิบาย ไม่พยายามชี้แจง ท่านฮากุอินก็ตอบเพียงแค่ว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรือ” ทำไมท่านไม่อธิบาย ทำไมท่านไม่พูด ความจริง เมื่อพระพุทธเจ้าถูกใส่ร้ายว่าฆ่านางสุนทรี ทำไมพระองค์ไม่อธิบาย ทำไมพระองค์นิ่งเงียบ ประทับอยู่ที่เชตวันตลอด ทั้งที่มีข่าวลือแพร่สะพัด เราเคยสงสัยบ้างไหม ?
เพราะธรรมดาของคนเราพอถูกใส่ร้าย ถ้าไม่โกรธ หรือถึงโกรธก็ต้องพยายามชี้แจงว่าฉันไม่ผิด ฉันไม่ได้ทำ แต่ทำไมท่านฮากุอินตอบเพียงแค่ว่า “อย่างนั้นหรือ” สำหรับพระพุทธเจ้าท่านเงียบเลย ก็เพราะว่าทั้งสองท่านคงเห็นว่า ในสถานการณ์ในบรรยากาศแบบนั้นพูดไปไม่มีประโยชน์ พูดไปเขาก็ไม่ฟัง ท่านฮากุอินท่านอธิบายให้พ่อแม่ผู้หญิงสาวฟัง คิดว่าพ่อแม่จะฟังไหม กลับโกรธหาว่าท่านแก้ตัว การพูดความจริงในเวลานั้นต่อหน้าคนที่โกรธ มันไม่มีประโยขน์ มีแต่จะเพิ่มความโกรธให้ ท่านฮากุอินเข้าใจมนุษย์ดีท่านจึงเงียบ พูดเพียงแค่ว่า “อย่างนั้นหรือ” พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าคงเห็นว่าคนในกรุงสาวัตถีเชื่อข่าวลือมาก พูดไปแม้จะพูดความจริงเขาก็ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นไม่พูดดีกว่า นี่เป็นวิธีการที่พวกเราน่าจะไตร่ตรองดู เพราะเราต้องเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ โดยเฉพาะคนที่มาต่อว่าด่าทอด้วยความเข้าใจผิด เพราะเชื่อข่าวลือ หรือเพราะว่าอะไรก็แล้วแต่
ธรรมชาติของอัตตา มันก็อยากจะอธิบาย เพื่อปกป้องตัวเองว่า ฉันไม่ได้เป็นอย่างที่เธอว่า ฉันเป็นคนดี ฉันทำถูก ฉันไม่ได้ผิดอย่างนั้น อัตตานี่มันก็อยากจะให้คนชม อยากจะให้คนยอมรับ พอมีคนไม่ยอมรับ มันก็อดรนทนไม่ได้ ถ้าไม่ด่ากลับไป ก็ต้องพยายามชี้แจง แต่ยิ่งชี้แจงไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะใจเขายังไม่รับ แต่ทั้งสองกรณีคลี่คลายก็เพราะ ความจริงปรากฏ โดยที่ท่านฮากุอินเอง พระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้ทำอะไร แต่บางครั้งเราอาจต้องชี้แจง แต่ต้องรอเวลา ต้องรอเวลาว่าใจเขาสงบแล้ว คนเราถ้าหากมีความโกรธ จิตมันปิด มันไม่รับ แม้สิ่งที่ได้ยินจะเป็นความจริง มันก็ปฏิเสธผลักไส เพราะว่าความโกรธมันพยายามเลี้ยงตัวเองเอาไว้ มันพยายามไม่ยอมรับสิ่งที่จะทำให้มันจางคลายหายไป เช่นเดียวกันความยึดติดถือมั่นในความคิดใด เมื่อคิดเรื่องใดสรุปเรื่องใด มันก็พยายามไม่ยอมรับความคิด หรือข้อเท็จจริงอื่นที่ตรงข้ามกับมัน ปัดปฏิเสธไปเลยมันไม่ฟัง คนที่อยู่ในอารมณ์นี้ก็ไม่ฟัง
ที่จริงการที่ใจไม่เปิดรับ ไม่ใช่เพราะความโกรธอย่างเดียว ไม่ใช่เพราะความยึดติดถือมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งเท่านั้น อารมณ์อื่นก็เหมือนกัน เช่น ความเศร้า เวลาเศร้าใจมันไม่ยอมเปิดรับฟังอะไร ฟังยากเพราะว่าจิตใจเหมือนกับแก้วที่มีน้ำเต็ม และเป็นน้ำขุ่นด้วย ในสมัยพุทธกาลมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนางกีสาโคตรมี ชีวิตเธอราบรื่นมาตลอดอาจจะลำบากบ้างตอนวัยเด็ก แต่หลังจากนั้นพอได้แต่งงาน ชีวิตก็สบาย มีลูก ๆ ก็น่ารัก ปรากฏว่าลูกตายตั้งแต่ยังเล็ก เธอทำใจไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องฟื้น พยายามไปให้ใครช่วยทำให้ลูกเธอฟื้นขึ้นมา อุ้มศพลูกไปหาคนนั้นคนนี้ เขาก็บอกว่า ลูกเธอตายแล้ว เธอไม่ฟังเพราะว่าใจยังยอมรับไม่ได้ ไปหาพระพุทธเจ้า เพราะมีคนแนะนำว่า พระพุทธองค์จะช่วยเธอได้ เธอก็ดีใจไปหาพระองค์ที่เชตวัน พระพุทธองค์เห็นนางอุ้มศพลูกมาก็รู้ว่าสภาวะจิตของเธอตอนนั้น ไม่พร้อมที่จะฟังธรรม
พระองค์แทนที่จะแสดงธรรมว่าความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครที่จะหนีพ้นความตายได้ ความพลัดพรากคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน พระองค์สามารถแสดงธรรมทำให้คนบรรลุธรรมได้มากมายเป็นร้อย ๆ แต่พอเจอนางกีสาโคตมีที่อุ้มศพลูกมา พระองค์ไม่แสดงธรรมเลยอันนี้เป็นที่น่าสังเกต พระองค์กลับพูดว่า พระองค์ช่วยได้ ถ้าหากนางสามารถหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้ เดี๋ยวเราจะช่วยเธอให้ลูกเธอฟื้นขึ้นมา นางก็ดีใจ เข้าไปในสาวัตถี เข้าไปถามชาวบ้านว่าใครมีเมล็ดผักกาดไหม ทุกคนก็บอกว่ามี แต่พอถามว่ามีคนตายไหม ก็ได้คำตอบว่ามีเหมือนกัน มีเช่นกัน เพราะคนสมัยก่อนตายที่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ และคนที่ตายก็มีหลากหลายวัยหลายเพศ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก แม้กระทั่งหลาน ทีละน้อย ๆ นางเริ่มยอมรับได้ว่าความตายมันเป็นธรรมดา เพราะว่าคนอื่นเขาก็เสีย คนอื่นเขาก็สูญ คนรักไม่ใช่เราคนเดียว พอรู้ความจริงเช่นนี้ ใจก็ค่อย ๆ เปิดรับยอมรับความจริงว่าลูกตายแล้ว ก็เอาลูกไปฝัง เสร็จแล้วมาที่เชตวัน มากราบพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเห็นว่านางพร้อมจะฟังธรรมแล้ว ใจเปิดแล้วจึงแสดงธรรมว่า น้ำป่าย่อมพัดพาผู้ที่หลับใหลฉันใด มฤตยูก็ย่อมพัดพาผู้ที่หลงใหลในรูปในทรัพย์สมบัติฉันนั้น พระองค์แสดงธรรมสั้น ๆ นางกีสาโคตมีพิจารณาตาม ใจเริ่มมีสมาธิ พิจารณาตามก็เห็นจริงว่า มันจริงแท้ทีเดียว เพราะเพิ่งผ่านประสบการณ์ความสูญเสียมา เพิ่งเจอความตาย ของลูกมา ปัญญาก็เกิดกลายเป็นพระโสดาบัน เมื่อชั่วโมงสองชั่วโมงที่แล้วยังเหมือนกับคนคลุ้มคลั่ง แต่ตอนนี้กลายเป็นพระอริยบุคคลแล้ว อันนี้น่าคิดว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่แสดงธรรมคราวแรกตอนที่นางอุ้มศพลูกมา เพราะพระองค์รู้ว่าคนที่เศร้าโศกเสียใจแบบนี้ แสดงธรรมไปก็คงไม่ฟัง เป็นข้อคิดที่เอามาใช้กับพวกเราได้ เวลาเราไปเจอคนรู้จักที่เขาสูญเสียลูก สูญเสียพ่อแม่ เขากำลังเศร้าโศก หรือคนที่กำลังทุกข์ เพราะตัวเองกำลังเจ็บป่วย เช่นไปเยี่ยมคนที่เขากำลังป่วย ด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย หลายคนจะเอาธรรมะไปบอกเขา ธรรมะเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา ธรรมะเรื่องการปล่อยวาง หรือบางทีอยากบอกให้เขาทำใจเข้มแข็งเอาไว้ ความตายเป็นของธรรมดา ความเจ็บป่วยมันเกิดขึ้นกับทุกคน หลายคนอยากจะไปบอก แต่ว่ามันไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าเขาไม่ฟัง มันยากที่เขาจะฟัง
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนเขาบอกว่าสิ่งหนึ่งที่เขาไม่ชอบ ก็คือคนที่มาแนะนำสั่งสอน รวมทั้งเอาธรรมะมา ยัดเยียด เขาไม่ชอบเพราะตอนนั้นเขาต้องการเพื่อนมากกว่า ต้องการคนที่เข้าใจเขา เข้าใจความรู้สึกของเขา ไม่ใช่คนที่มาสอน แม้แต่บอกเขาว่าสู้ ๆ เขาก็ไม่ชอบ คนที่กำลังจะตายบอกให้เขาสู้ ๆ ใจเขายังไม่เปิดรับธรรมะ แม้เรามีความปรารถนาดีอยากจะพูดอยากจะบอกเขาก็ตาม จะดีกว่าถ้าเราแค่นิ่งเงียบ นั่งอยู่กับเขานิ่ง ๆ เป็นเพื่อนเขา อาจจะกอด ถ้าเป็นผู้หญิงด้วยกัน หรืออาจจะกุมมือเขาเอาไว้ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว สำหรับคนที่กำลังเศร้าโศกเพราะสูญเสีย หรือเพราะเจ็บป่วยก็ตาม ความนิ่งบางทีมีประโยชน์ ไม่ว่าในยามที่ถูกใส่ร้ายต่อว่าด่าทอ หรือในยามที่ต้องการไปช่วย คนอื่นที่เขากำลังประสบทุกข์ ความนิ่งมันช่วย
กลับมาที่กรณีของพระพุทธเจ้า และท่านฮากุอิน อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน แม่ของหญิงสาวพอได้ทราบ หรือพอได้ยินว่า พ่อของทารกคือท่านฮากุอินก็ตรงเข้าไปด่าเลย แทนที่จะถามว่าจริงหรือเปล่า ? จริงไหม ? ที่ได้ข่าวมาแบบนี้ ไม่มีเลย ตรงเข้าไปด่าเลย คนสาวัตถีก็เหมือนกัน พอได้ข่าวว่าพระพุทธเจ้าฆ่านางสุนทรี ก็เชื่อแล้วก็ด่าเลยไม่ใส่บาตรด้วย ไม่มีใครสักคนไปถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าพเจ้าได้ยินข่าวนี้มาจริงหรือเปล่า ? ทั้งสองกรณีมีความคล้ายกัน คนเราพอได้เชื่ออะไรขึ้นมา ได้ยินอะไรขึ้นมามันเชื่อทันที เชื่อว่าเป็นความจริงทันที ไม่เคยคิดจะถาม ไม่เคยคิดตรวจสอบว่าสิ่งที่ได้ยินเป็นความจริงหรือเปล่า ? พวกเราเคยเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ? พอมีใครพูดอะไรมาในทางที่ลบในทางที่ร้ายเกี่ยวกับบุคคลที่สาม แล้วเราเชื่อทันทีเลย ตรงเข้าไปด่า ถ้าไม่ด่าด้วยวาจา ก็ด่าทางไลน์ทางโซเชียลมีเดีย เคยคิดจะถามบ้างไหมว่า ที่ได้ยินมาจริงหรือเปล่า ? น้อยนะ แม้กระทั่งคนที่ปฏิบัติธรรมเองก็เชื่อง่าย
เพราะว่าอารมณ์ พอได้ยินปุ๊บเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ธรรมดาของมนุษย์พอได้ยินเรื่องที่เป็นลบ มันเกิดอารมณ์ขึ้นมาเลย พอเกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่มีสติไม่มีความคิดที่จะผุดขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! ทำไมเราไม่สอบถามเสียก่อนว่ามันจริง หรือเปล่า ? ทำไมไม่ไปถามเขาดู มันไม่มีตรงนี้มาทักท้วง เพราะว่าตอนนั้นอารมณ์มันครอบงำแล้ว พวกเราหลายคน บางทีก็ทำบาป ไปกล่าวหาคนนั้นคนนี้ โดยที่ไม่ทันได้สอบถามเขาว่าจริงไหม ? เพราะฉะนั้นถ้าเกิดว่าเราฟังเรื่องราว แบบนี้ ซึ่งหลายคนคงได้ฟังมาแล้ว เรื่องนางสุนทรีก็คงจะได้ฟังมาแล้ว เคยได้ข้อสรุป หรือข้อคิดแบบนี้บ้างหรือเปล่าว่า เมื่อได้ฟังข่าวอะไรมาก็ตาม ไม่เชื่อทันที ไม่เหมือนปลาที่ฮุบเหยื่อทันที ต้องฟังเสียก่อนแล้วต้องสอบถาม ไม่ใช่ฟังได้ยินเรื่องราวแบบนี้มา ก็เพียงแต่รู้ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์นี้จิตใจมั่นคง แต่ไม่ได้มองในมุมกลับว่าแล้วทำไมคนสาวัตถีจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ทั้งที่พระองค์ก็ประทับอยู่ที่เชตวันใกล้กรุงสาวัตถีมาหลายปี คุณธรรมความดีงามก็แสดงให้คนเห็น แต่พอวันหนึ่งมีคนปล่อยข่าวลือเท่านั้น เชื่อทันทีเลย เราเคยเป็นอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า เชื่อแล้วไม่พอ แทนที่จะไปหาความจริงไปสอบถาม ก็ทำยิ่งกว่านั้นคือด่า
อันนี้คือสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้เป็นบทเรียน จากเรื่องราวอย่างนี้ว่าสอนอะไรเราได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนให้เห็นธรรมชาติของคน ไม่ว่าจะดีหรือชั่วหนีคำติฉินนินทาไม่พ้น คำต่อว่าด่าทอเป็นเรื่องธรรมดาเกิดขึ้นได้ กับทุกคนไม่ว่าดีหรือชั่ว ไม่ว่าปุถุชนหรืออริยบุคคล หรือพระอรหันต์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำก็คือใจที่นิ่ง ไม่ฟูไม่แฟบ และรู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูด เมื่อไหร่ควรอธิบาย เมื่อไหร่ที่ควรนิ่งเงียบ รวมทั้งนำมาเป็นข้อคิดว่า คนเรามันเชื่ออะไรง่าย ๆ ถ้าเพียงแต่ถามสักหน่อย เช่น ถ้ามีคนมาถามท่านฮากุอินว่าจริงไหมว่าท่านเป็นพ่อของลูกในท้อง หรือเป็นพ่อของทารก ท่านฮากุอินก็อาจจะตอบว่าไม่ใช่ แต่ไม่เคยมีใครถาม ถ้ามีคนมาถามพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าฆ่านางสุนทรีจริงไหม ? พระองค์คงจะไม่เงียบ พระองค์คงปฏิเสธไป แต่ไม่มีใครถามสักคน เชื่อไปเสียแล้ว หากพวกเราไม่มีสติก็จะเป็นคล้าย ๆ กับพ่อแม่ของหญิงสาวคนนั้น หรือเป็นคล้าย ๆ กับคนในกรุงสาวัตถี ที่ต่อว่าด่าทอธเจ้าไปแล้ว ทั้งที่สิ่งที่ได้ยินเป็นข่าวลือข่าวเท็จทั้งนั้น เพียงเพราะไม่รู้จักสอบถาม หรือหาความจริง