แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ลองสำรวจตัวเราในขณะนี้ เชื่อว่าความรู้สึกที่โดดเด่นเห็นชัดในขณะนี้ คือความรู้สึกหนาว มีความรู้สึกหนาวแล้วพยายามให้มีความรู้สึกตัวไปด้วย หลายคนความรู้สึกหนาวชัด แต่ความรู้สึกตัวอาจจะกระพร่องกระแพร่ง เลือนราง เพราะว่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจมาเบียดขับเอาความรู้สึกตัวออกไป ให้รู้สึกหนาวกับรู้สึกตัวอยู่ด้วยกันได้ แต่พอเราปล่อยให้ความทุกข์ที่เกิดจากความหนาวเข้ามาครอบงำกลายเป็นความทุกข์ใจตามมาด้วย ความทุกข์ใจที่เป็นปัญหาทำให้ความรู้สึกตัวเลือนหายไป ที่จริงน่าจะพูดกลับกันว่า เป็นเพราะเมื่อความรู้สึกตัวหายไป ความทุกข์ใจจึงโดดเด่นขึ้นมา
ความรู้สึกตัวหายไปเพราะอะไร ความรู้สึกตัวหายไปเพราะว่ามีความขุ่นเคืองใจ เรียกว่า ปฏิฆะ หรือว่า พยาบาท พยาบาทในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขั้นว่า จะกินเลือดกินเนื้อ แค่ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ซึ่งเรียกว่าเป็นพยาบาทได้ บางทีเรียกว่าปฏิฆะ เป็นนิวรณ์ตัวหนึ่ง ที่จริงนิวรณ์ทุกตัวล้วนแล้วแต่เป็นปฏิปักษ์กับความรู้สึกตัว นั่งสมาธิหรือว่าเจริญสติอยู่ เสร็จแล้วง่วงขึ้นมา พอง่วงความรู้สึกตัวเลือนหายไป หรือบางเบา หลายคน มักจะถามว่า ความรู้สึกตัวเป็นยังไง จะตอบได้ต้องรู้ว่า ความไม่รู้สึกตัวคืออะไร ความไม่รู้สึกตัว เกิดขึ้นเมื่อ ตัวอย่างเช่น เวลามีความง่วงเกิดขึ้นมา ความรู้สึกตัวจะเบาบาง ยิ่งถ้าหลับไป หมดไปแล้วความรู้สึกตัว เวลาที่เราง่วง ให้เรารับรู้ได้ว่า นั่นแหละความไม่รู้สึกตัว เกิดขึ้นกับเราแล้ว สุดแท้แต่ว่า จะง่วงมาก หรือง่วงน้อย ง่วงมากความไม่รู้สึกตัวมากไปด้วย ตัวพยาบาท หรือปฏิฆะ เหมือนกัน พอเกิดขึ้น ความรู้สึกตัวหายไป ยิ่งถ้าเป็นความโกรธ โกรธมากๆ ความรู้สึกตัวหายไป ถึงตอนนั้นลืมตัว ทำอะไรได้ ด่าเขา ทำลายข้าวของ ทำร้ายผู้คน แต่ก่อนที่จะไปทำความทุกข์ให้แก่ใคร ก็ทำความทุกข์ให้แก่ตัวเอง พอไม่รู้สึกตัวขึ้นมา พอถูกความโกรธครอบงำ ความทุกข์เกิดขึ้นกับเราแล้ว
ความไม่พอใจในความหนาวที่เกิดขึ้น ที่มาสัมผัสตัวเราจนกระทั่งเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาทางกาย เป็นตัวที่เบียดขับความรู้สึกตัวให้หายไป เหลือน้อยลง แต่พอเรากลับมารู้สึกตัวขึ้นมาปุ๊บ ความทุกข์ใจจะเบาบางลง มีแต่ความทุกข์กาย เพราะอากาศหนาวสัมผัสกับร่างนี้ เกิดทุกขเวทนาขึ้น ความรู้สึกตัวกับทุกขเวทนา อยู่ด้วยกันได้ แต่เป็นเพราะเราไม่มีสติ ทุกขเวทนาทางกายขยายเป็นทุกขเวทนาทางใจ เราเกิดความขัดเคืองใจขึ้นมา ความรู้สึกตัวหายไป ให้เราศึกษาตรงนี้ อากาศหนาวๆเป็นโอกาสดีให้เราได้ศึกษา ให้เห็นถึงอาการของใจที่สืบเนื่องกับความทุกข์กาย ทุกขเวทนาส่งผลต่อจิตใจของเราอย่างไร ทำให้ใจบ่น โอดโอย ตีโพยตีพาย ไม่พอใจ ขัดเคือง ยิ่งถ้าไม่มีความรู้สึกตัวครอบงำใจ เรียกว่าครอบไปทั้งใจ บางทีเรียกว่า หมดเนื้อหมดตัว ในที่ไม่ได้หมายถึงร่างกาย แต่หมายถึงจิตใจ หนาวไปบ่นไป แต่การบ่นบางทีไม่ได้บ่นแบบเอะอะโวยวายอะไรมาก เป็นอาการน้อยๆ ไม่ถึงขั้นเป็นความโกรธ แต่ที่จริงคือโทสะชนิดหนึ่ง เพราะมีอาการของการผลักไส ไม่ชอบ มีอาการของการขัดเคือง
ถ้าเรามีความสังเกตที่ไวพอ ที่จะเห็นอาการเหล่านี้ในจิตใจ อาจจะเห็นไม่เด่นชัดเท่ากับเวลาเราโกรธ โกรธเพื่อน โกรธคนนั้นคนนี้ แต่จะว่าไปถ้าโกรธแล้วไม่เห็นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นไม่ได้เห็นหรอก เป็นผู้โกรธไปแล้ว แต่ว่าความเข้มข้นจะชัดเจนกว่าอาการของจิตเวลาที่ผลักไสไม่ชอบความหนาว อันนี้ละเอียดกว่า คนที่ไม่ใช่เป็นคนมักโกรธ เป็นคนที่พูดจาเรียบร้อย อาจจะเผลอคิดไว้ว่าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ในใจ ที่จริงมี แต่ไม่ได้แสดงอาการออกมาในรูปของการไปต่อว่าคนนี้ ติเตียนคนนั้น แต่แสดงอาการออกมาเป็นการที่ขุ่นเคืองไม่พอใจ หรือว่าปฏิเสธอาการ ปฏิเสธความหนาวที่เกิดขึ้น เราต้องมีความสังเกตที่ไวพอ ละเอียดพอ
ตัวที่สังเกตคืออะไร คือสติ สติทำหน้าที่สองอย่าง อันที่หนึ่งคือ ระลึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ เช่นระลึกได้ว่าเราสวดอะไร อาการสามสิบสอง เราระลึกได้ขึ้นมาว่า สวดอาการสามสิบสอง แล้วสวดเขมาเขมสรณทีปิกคาถา นั่นคืองานของสติ ทำหน้าที่เข้าไปสืบค้นสิ่งที่ผ่านไปแล้วอยู่ในความทรงจำของเรา อีกส่วนหนึ่งคือ ทำหน้าที่รู้ทันปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับกายและใจ สติทำให้เราสามารถจะสังเกตเห็นความไม่พอใจลึกๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่อากาศหนาวมาต้องเนื้อ ถูกเนื้อต้องตัว เท่ากับว่ามีสติสามารถที่จะรับรู้สังเกตในความไม่พอใจที่เกิดขึ้น เรียกว่าปฏิฆะ หรือพยาบาท พอเห็นคลายไป ตัวปฏิฆะ ตัวพยาบาท คลายไป ใจกลับมาเป็นปกติ ปกติเกิดขึ้นเพราะตอนนั้นความรู้สึกตัวมาแล้ว
มีนิวรณ์อีก 3 ตัวที่เป็นอริ เป็นปฏิปักษ์กับความรู้สึกตัว กามฉันทะ ความชอบ ถ้ากลายเป็นกามราคะ หรือว่าถ้ากามราคะ เข้าไปครอบงำจิต หมดเนื้อหมดตัวอาจจะทำในสิ่งที่เลวร้าย เช่น ไปขโมยเขา ไปกระทำชำเราผู้อื่น อันนี้เราหมดเนื้อหมดตัว ลืมตัว ลืมตัวเองสนิท ยังพูดภาษาคนได้ ยังฟังภาษาคนรู้เรื่อง ยังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่สลบไสล แต่เรียกว่าไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวแบบพุทธต่างจากไม่รู้สึกตัวทางการแพทย์ ไม่รู้สึกตัวทางการแพทย์คือ ไม่รู้อะไร ไม่เห็น พูดไม่รู้เรื่อง คุยไม่ได้ยิน เพราะว่าสลบไสล แต่ว่าความไม่รู้สึกตัวในที่เราพูดถึง ในทางธรรมยังทำอะไรได้ แต่ว่าทำโดยลืมตัว เช่น ไปกระทำชำเราเขา หรือไปขโมย ตอนนั้นลืมตัว โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่เป็นขโมย ทำแต่สิ่งที่ตัวเองต้องเสียใจในภายหลัง อันนี้เรียกว่า กามฉันทะ หรือกามราคะ ความฟุ้งซ่าน อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมาเหมือนกัน เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน ถ้าเราจมหายเข้าไปในความคิด ลืมตัว อันนี้เป็นตัวที่ทำให้สูญเสียความรู้สึกตัวไปได้บ่อยๆ จมอยู่ในความคิด อาจจะคิดเรื่องเหตุร้ายในอดีตที่ยังฝังใจ เสียใจ เศร้าใจ โกรธแค้น หรือว่าคิดจมอยู่ในงานการ
พวกนักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์บางคนเขาจมอยู่ในความคิด หัวเขาคิด คิดจนลืมไปว่ากำลังทำอะไร บางคนเดินสะดุดหกล้ม นอนอยู่บนพื้น ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ยังคิดต่อไป คนมาช่วยพยุงกลับไปว่าเขาว่า มายุ่มย่ามอะไรกับฉัน ไม่รู้หรือว่าฉันยังไม่ว่าง เขาไม่รู้ตัวว่ากำลังนอนกองอยู่บนถนน ฉะนั้นเวลาคนมาช่วย แทนที่จะขอบคุณเขา กลับไปว่าเขาว่ามาวุ่นวายอะไรกับตัวเอง อันนี้เรียกว่าไม่รู้สึกตัว ไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าจะเดิน เดิน เดินตามทางได้ เดินจากบ้านไปที่ทำงานได้ถูกต้อง แต่นั่นไม่ใช่เพราะความรู้สึกตัว แต่เป็นเพราะความเคยชิน เหมือนกับที่เราขับรถไปใจลอยไป ขับรถไปคุยโทรศัพท์ไป ตอนนั้นเรียกว่าอาจจะไม่รู้สึกตัวได้ เพราะกำลังหัวเสียในระหว่างคุยโทรศัพท์ หรือว่ากำลังเพลินกับการคุยโทรศัพท์ จะเรียกว่ารู้สึกตัวไม่ได้ แต่ขับรถไปได้ เพราะว่าเป็นความเคยชิน เป็นอัตโนมัติ เป็นเรื่องของวงจรในสมองที่ก่อรูปจนกระทั่งเป็นอัตโนมัติไปแล้ว เมื่อทำอะไรไปได้ ขับรถไปได้ตามความเคยชิน
และเราต้องมีความไวในการที่จะสังเกตเห็นว่าความคิดกำลังครอบงำใจอยู่ เวลาเราเผลอคิดไปนั่นแหละ เรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ ปรากฏแล้ว ถ้าเรามีสติหมั่นสังเกตว่าใจเรา เรากำลังใจลอยแล้ว ใจกำลังไหลไปอดีตแล้ว ลอยไปอนาคตแล้ว มีสติรู้ทันอาการดังกล่าวกลับมามีสติใหม่ มีความรู้สึกตัว เหมือนกับว่า ขโมยแอบเข้ามาในบ้าน ถ้าหากว่าเราเผลอ มุดเข้ามาในบ้านได้ คว้าของ คว้าอะไรไปได้มากมาย เพราะอะไร เพราะว่าเราเผลอ ขโมยแอบดอดเข้ามาในบ้าน ยิ่งเผลอนานเท่าไหร่เข้าไปถึงชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ชั้นสาม เข้าไปได้ลึก แต่ถ้าเกิดเราไม่เผลอ เพียงแค่โผล่ข้ามธรณีประตูเข้ามา หรือว่าเดินผ่านรั้ว ประตูรั้ว เราเห็นหันหลัง แต่ก่อนหันหลังให้ พอเราหันหน้ามาเจอ สบตา หนีไป หัวขโมยคือความคิดที่แอบเข้ามา รวมทั้งอารมณ์ด้วยเพราะว่าทีแรกความคิดมาก่อน ตอนหลังจะพาอารมณ์ตามมาด้วย แต่พอเราเหลียวไปเจอ ถึงแม้ก่อนหน้านั้นเราอาจจะกำลังทำอะไรอยู่ อ่านหนังสืออยู่ กำลังทำครัวอยู่ กำลังเย็บผ้าอยู่ กำลังล้างจานอยู่ หรือจัดห้อง จัดบ้านอยู่ พอขโมยเข้ามา เราหันหน้าไปเจอ พอรู้ว่าเราเห็นแล้ว รีบหนีไปทันที ความคิดและอารมณ์เป็นอย่างนั้น ดอดเข้ามาในใจเรา ถ้าเรามีสติรู้ทัน อารมณ์หายไป ไม่ต้องไปเอาไม้ เอาปืนไปยิงไล่ เพียงแค่รู้ทันเฉยๆ ลองสังเกตดู ความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ที่แอบดอดเข้ามาครอบงำใจแล้วขับไล่ความรู้สึกตัวให้ออกไป
เคยมีคนถาม หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า หลวงปู่ทำยังไงถึงจะตัดความโกรธให้ขาด ความโกรธเป็นตัวที่สร้างความทุกข์ใจมาก นักปฏิบัติอยากจะจัดการกับความโกรธ และหลายคนนึกถึงการตัดความโกรธให้ขาดหรือการกดข่ม หลวงปู่ตอบว่าไม่มีใครตัดความโกรธให้ขาดได้หรอกเพียงแต่รู้ทัน รู้ทันหายไป หายไปเพราะอะไร เพราะคือขโมยที่แอบเข้ามาในใจเรา ไม่ต้องไปทำอะไรกับความโกรธ เพียงแค่รู้ทันหรือว่าไปทักทาย การเจริญสติคือทักทายกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเอง เวลาสอนเด็กเรื่องการเจริญสติครูสอนง่ายๆว่า ทักทายกับ การทักทายบอกในตัวว่าเพียงแค่ทักทายเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไร เวลาเด็กเขาเล่นซ่อนหา เพียงแค่รู้ว่าเจอ เพียงแค่เจอ จบแล้ว ไม่ต้องทำอะไรต่อ แค่ทักทาย ความคิด ความฟุ้งซ่านอารมณ์ที่แอบขโมยเข้ามา ไปทันที ไม่ต้องไปกดข่ม ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องผลักไสแค่ทักทายพอ
หลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อเทียนท่านใช้คำว่า รู้ซื่อๆ รู้ซื่อๆ คือรู้เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น ไม่ต้องไปขับไล่ไสส่ง กดข่ม ขณะเดียวกันถ้าเป็นอารมณ์ที่น่าพึงพอใจ อารมณ์ฝ่ายบวก หรือว่าคิดดี ไม่ใช่คล้อยตาม เพลินกับเขา แค่รู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ เขาไป เมื่อเขาไป ความรู้สึกตัวกลับมา จิตจะลอยไปไหน เมื่อจิตลอยไปโน่นไป เรียกว่าไม่รู้สึกตัว พอจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น จิตมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ไง เพราะมีสติ มีสติรู้ว่าใจกำลังลอย เพียงแค่อาการรู้เท่านั้นจิตกลับมา กลับมาจากอดีต กลับมาจากอนาคต กลับมาจากอาการส่งออกนอก กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น บางทีเขาไม่ได้ไปไหน แต่จม อย่างเช่น อากาศหนาวๆ จิตปักตรึงอยู่กับความหนาว แล้วจมอยู่ในความรู้สึกทุกข์ ทุกข์ ทีแรกทุกข์กาย ตอนหลัง สักพักทุกข์ใจ พอทุกข์ใจเกิดความขัดเคืองขึ้นมา เกิดปฏิฆะ เราต้องมีสติที่ไวพอที่จะเห็นว่า มีความปฏิฆะเกิดขึ้น ปฏิฆะน้อยๆ เราต้องมีสติที่ไวพอ หรือว่ามีความสังเกตที่ถี่ถ้วนละเอียดลออ
การภาวนาหลายอย่าง ไม่ได้ฝึกให้เรามีสติ อาจจะฝึกให้เรามีเมตตา อาจจะฝึกให้เรามีสมาธิ แน่วแน่ แต่ว่าไม่มีความละเอียดลออไวพอที่จะรู้ทันนิวรณ์ต่างๆ หรือว่ากิเลสที่เข้ามาในจิตใจ โดยเฉพาะตัวความทุกข์ หลายคนแยกไม่ออกว่า ระหว่างที่ทุกข์กายมีความทุกข์ใจซ้อนไปด้วย คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น แยกไม่ออกพูดรวมๆ ว่า ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ แต่ถามว่า ทุกข์กาย หรือทุกข์ใจ ตอบไม่ได้ หรือบางทีตอบว่า ทุกข์กาย ทุกข์กายล้วนๆ ถ้าทุกข์กายล้วนๆ เขาไม่บ่นหรอกว่า ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ที่บ่นว่า ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ หรือว่า ปวด ปวด ปวด ปวด เพราะว่ามีความทุกข์ใจซ้อนไปด้วย บางทีไม่ใช่ซ้อนแบบ แบบซ้อนบางๆ ซ้อนแบบหนาๆ เรียกว่ากดทับลงมา ทุกข์กายแค่ 1 ใน 3 ทุกข์ใจ 2 ใน 3 เข้าไปแล้ว
แม้แต่เวลาที่เราทุกข์เพราะหนาว เรายังไม่สังเกตว่า ทุกข์ ทุกข์กายอันหนึ่ง และทุกข์ใจส่วนหนึ่ง ทุกข์ใจส่วนใหญ่ด้วย ไม่ใช่น้อยๆ เพราะเราไม่มีความไวในการสังเกต เห็นอาการของใจ แม้กระทั่งความทุกข์ซึ่งเราไม่ชอบ เรายังเห็นแบบหยาบๆ ถ้าไม่เห็น ถ้าแยกไม่ออกว่า อันไหนทุกข์ใจ อันไหนทุกข์กาย จะดึงความรู้สึกตัวกลับมาได้ยาก ให้ลองสังเกตสำรวจดู สำรวจ อากาศหนาวๆ ถือว่าเป็นของดีให้เราได้มาสำรวจว่า ทุกข์กายทุกข์ใจเป็นอย่างไร ที่คิดว่าเราทุกข์กายบางทีทุกข์ใจเข้ามาด้วย ทุกข์ใจไม่ใช่ทุกข์ใจน้อยๆ มากมายทีเดียว จริงๆ เราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่รู้ทันว่า ใจทุกข์ เพราะเผลอไปแบกเอาความทุกข์ของกายมาเป็นความทุกข์ของใจ พอใจรู้วาง เหลือแต่ความทุกข์กายที่ลดน้อยถอยลง
ให้เราฉลาดในการมองแยกแยะ ทีแรกจะฉลาดในการแยกแยะ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ฉลาดในการที่จะบอกได้ว่า อารมณ์ไหน เวลาที่ใครกำลังทุกข์ใจมีอารมณ์ เช่นมีความโกรธ มีความเศร้า มีความอาลัยอาวรณ์ มีความเบื่อ ไม่ใช่เพราะว่าทุกข์กาย บางคนนั่งอยู่ในห้องแอร์สบายๆ แต่ทุกข์เหลือเกิน นั่นเรียกว่าทุกข์ใจ แต่หลายคนตอบไม่ได้ว่าทุกข์ใจเพราะอะไร อารมณ์อะไรที่เกิดขึ้นกับตัวตนนั้น เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ คือไม่สามารถที่จะแยกแยะอารมณ์ได้ ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอารมณ์ไหน ไม่จำเป็นต้องบอกด้วยคำพูดได้ แต่บอกด้วยความรู้สึก คนที่ใช้ความคิดมากๆ แล้วส่งจิตออกนอกตลอดเวลา จะไม่รู้สึก
เดี๋ยวนี้นักจิตวิทยาอเมริกันจำนวนมาก ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร แยกไม่ออก รู้แต่ว่าทุกข์แล้วกัน แต่บอกไม่ได้ว่า เหงา เศร้า เบื่อ โกรธ อาลัยอาวรณ์ หรือว่าน้อยเนื้อต่ำใจ รู้แต่ว่าเป็นทุกข์ ทีนี้ความรู้สึก สติดื้อ ด้านขนาดนั้น เราต้องฝึกสติให้คม สามารถที่จะแยกแยะได้ เหมือนกับแม่ครัวที่เขาเพียงแค่ชิมรู้แล้วว่า ในเครื่องปรุงมีอะไรบ้าง บางคนเก่งขนาดที่เรียกว่าแค่ดมเท่านั้น แม่ครัวที่สุดยอดขอแค่ดมรู้ว่าในอาหารมีอะไรบ้าง แล้วยังขาดอะไรอยู่บ้าง เรียกว่าจมูกหรือว่าลิ้นเขาดีมากแยกแยะได้ ถ้าเราเอาความสามารถเข้ามาใช้กับสติจะวิเศษมาก ทีแรกแยกแยะ แยกแยะได้ว่าทุกข์กาย ทุกข์ใจ หรืออารมณ์ใด
ต่อไปจะเห็นได้ลึกมากกว่านั้น ช่วยทำให้เห็นโดยที่ไม่เข้าไปยึด เข้าไปติด เห็นแต่ไม่เป็น สติแต่ก่อนยังไม่ไวพอ เห็นได้ปุ๊บเดียวเข้าไปเป็นแล้ว อย่างเช่นเห็นความหนาว เห็นปุ๊บเดียวไปเป็นผู้หนาวแล้ว อันนี้เรียกว่าไม่ใช่รู้ซื่อๆ รู้แล้วเข้าไปยึด ตอนที่เข้าไปยึดไม่รู้แล้วเป็นไปเสียแล้ว คำว่ารู้ซื่อๆ เห็นอย่าเข้าไปเป็น อันเดียวกัน หรือเป็นการมองคนละด้าน เป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญแต่ว่าเน้นคนละด้าน แต่ถ้ารู้ซื่อๆ แล้วเห็นไม่เข้าไปเป็น หรือถ้าเรารู้จักเห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น ทำให้รู้ซื่อๆ ได้ ถึงตอนนั้น แม้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น มีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ แต่ว่าไม่ทำให้ทุกข์แล้ว เพราะว่าไม่เข้าไปเป็น การปฏิบัติธรรมทำให้เราไม่โกรธ โกรธได้แต่อย่าเข้าไปเป็น มีความอิจฉา มีความโลภ เกิดขึ้นได้ตามวิสัยปุถุชน แต่ว่าไม่เข้าไปเป็น หรือแม้กระทั่งผู้ที่ปฏิบัติธรรมขั้นสูงท่านรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่ทำอะไรจิตใจไม่ได้
มีคนถามหลวงปู่ดูลย์ครั้งหนึ่งว่า หลวงปู่มีโกรธไหม คนที่ถามคงคนละคนกับคนแรก แต่ถามเรื่องโกรธเหมือนกัน เพราะเขาลือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านตอบดี ท่านตอบว่ามี แต่ไม่เอา พอไม่เอาใจเป็นปกติ สงบเย็น พวกเราสามารถที่จะฝึกอย่างนั้นได้ ทีแรกเราไม่เอาเพราะมีสติ สติช่วยทำให้รู้สึกตัว ไม่ลืมตัว พอไม่ลืมตัวไม่แบกความโกรธไว้ ไม่เอาความโกรธ มีใครจะเอาความโกรธบ้างในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะ ทุกคนบอกว่าไม่เอาทั้งนั้น แต่จะเอาอย่างอื่น เอาเงินเอาทอง หรือเอาที่ประณีตหน่อย เอาความสงบ เอาความปิติ เอาความเย็นใจ
แต่ว่าถ้าเป็นนักปฏิบัติจริงๆแม้กระทั่งความสงบไม่เอา ความปิติไม่เอา แค่รู้ว่ามีเท่านั้นเอง รู้ว่าเกิดขึ้นในใจ แต่ไม่เอา เพราะถ้าไปเอาเมื่อไหร่เตรียมใจทุกข์ได้ เพราะเมื่อเราไปยึดแล้วถึงเวลาที่จางคลายไปทุกข์ นักปฏิบัติธรรมหลายคนปิติมาก ทำภาวนาแล้วดีเหลือเกินวันนี้ เมื่อวานนี้ดีเหลือเกินสงบมาก ดิ่ง เย็น คนที่พูดแบบนี้คิดแบบนี้พอวันรุ่งขึ้นมาปฏิบัติจะหัวทิ่มบ่อ หรือว่าจะเครียดมากเพราะว่าความสงบหายไปแล้ว ความสงบแบบเมื่อวานหายไปแล้ว ความปิติความเย็นใจแบบเมื่อวานหายไปแล้ว ที่หายไปเป็นธรรมดา แต่สำหรับนักปฏิบัติแบบนี้ ไม่ธรรมดาเพราะไปยึดติด ไปยึดติดทำให้อยากได้อีก เค้าเรียกว่าติดใจ พอติดใจอยากได้อีก พอไม่ได้ทุกข์ และเพราะความอยากได้ทำให้ไปบังคับจิต พอไปบังคับจิตยิ่งทำให้จิตไม่ปกติ พอไม่ปกติจะมีความสงบเย็นเกิดขึ้นได้อย่างไร ยิ่งอยากได้ยิ่งไม่ได้ และยิ่งอยากได้เพราะอะไรเพราะยึดติด เพราะคิดจะเอา คิดจะเอา เอา เอา เอา มีคนถามหลวงพ่อเฟื่อง โชติโกว่า ผมภาวนามาหลายปีแล้ว ยังไม่ได้อะไร อันนี้ถามแทนใจหลายคน
ภาวนามาหลายปีแล้วไม่ได้อะไร หลวงพ่อเฟื่องท่านบอกว่า ภาวนาเพื่อละไม่ใช่เพื่อเอา พูดอีกอย่างหนึ่งภาวนาเพื่อไม่เอา เพราะฉะนั้นไม่ใช่แต่ความโกรธที่ไม่เอา ความปิติ ความยินดี ไม่เอาเหมือนกัน ทีแรกไม่เอาด้วยสติ ตอนหลังไม่เอาเพราะมีปัญญาเห็นว่าพวกนี้ทุกข์ทั้งนั้น เป็นพวกที่ไม่จีรัง เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ อันนี้เห็นด้วยปัญญาว่าไม่น่าเอาอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าโกรธหรือว่ายินดี ลิงโลด ปิติ ใหม่ๆ เราปฏิบัติให้สติเราเจริญ ฉับไว ละเอียดลออจนไม่เอา แค่เห็นเฉยๆ แต่ไม่เอา ไม่เป็น
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียน ว่าไม่เป็นอะไรกับอะไร ความหมายนั้นคืออันนี้แหละ ไม่เป็นอะไรกับไม่เอาอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่กายและใจทั้งนั้น พอไม่เอาไม่เป็น เป็นเพราะเอาความโกรธและเป็นผู้โกรธ พอไม่เอาไม่เป็น ไม่เป็นอะไรกับอะไร ไม่เป็นอะไรกับอะไรคือไม่เป็นอะไรกับไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ ที่เราไม่เป็นอะไรกับอะไรเพราะเรามีสติ ต่อไปสติทำให้เกิดปัญญา เพราะสติช่วยทำให้เราดู ทำให้เราเห็น เห็นความจริงของกายและใจ พอเห็นความจริงของกายและใจเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นว่ากายและใจล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันไม่เอาแล้ว ไม่เอาเพราะไม่รู้ ไม่เห็นว่าดีตรงไหน อันนี้เพราะมีปัญญา ทั้งหมดเริ่มต้นจากการความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัว
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดไว้ดีบอกว่า ถ้าตั้งต้นที่ความรู้สึกตัวแล้ว อย่างอื่นดีไปเอง ทำอะไรขอให้ตั้งต้นที่ความรู้สึกตัว ขับรถขับด้วยความรู้สึกตัว กินข้าวกินด้วยความรู้สึกตัว ขับรถถ้าไม่ขับรถด้วยความรู้สึกตัวอาจจะตายได้ หรือไม่ทำให้คนอื่นตาย ถ้าไม่ใช่คนตายหมาตาย ขับรถไปชนทับหมา แม้กระทั่งทำบุญให้ทาน ต้องเริ่มต้นด้วยความรู้สึกตัว บางคนจะไปกราบหลวงพ่อโสธร จะไปกราบพระพุทธชินราช ไปกราบพระเขี้ยวแก้ว พอเห็นคนมากมากเกิดความขัดเคืองใจ แล้วใครมาแซงไม่ชอบ เผลอๆ ไปแซงเขาอีก พอไปแซงเขาว่า เขาว่าด่าเขา กลายเป็นทะเลาะกัน ไปทำบุญแต่ว่าลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะอะไร เพราะไม่รู้สึกตัว คนจะแน่นแค่ไหน แถวจะยาวแค่ไหน ถ้ามีความรู้สึกตัวใจปกติได้ แต่ถ้าปล่อยให้ปฏิฆะ ให้ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจเกิดขึ้น พอความรู้สึกตัวเลือนหายไป คราวนี้ความโกรธเข้ามาเล่นงาน หรือไม่ความเห็นแก่ตัวเข้ามา ไปแซงคิวเขา หลายคนมาทำบุญแต่ว่ากลับได้บาป เพราะว่าไม่รู้สึกตัว เพราะว่าไม่มีสติ
ถ้าเกิดว่าเริ่มต้นด้วยความรู้สึกตัว เริ่มต้นด้วยการมีสติ มีสติครองใจ แม้แต่จะไปทำบุญ ให้ทาน ใส่บาตร ต้องเริ่มต้นที่ตรงนี้ก่อน เพราะถ้าไม่มีความรู้สึกตัวแล้ว บุญที่ทำกลายเป็นบาปไปได้ จะให้ทานแต่ว่ากลายเป็นทะเลาะกัน ตีกันมี หรือว่าให้ทานแทนที่จะเป็นการสละกลายเป็นการคิดแต่จะเอา จะเอาโน่นเอา ขอให้รวย ขอให้มั่งมี คิดแต่จะเอาทั้งนั้น หรือแม้กระทั่งการรักษาศีล ศีล ถ้าไม่มีความรู้สึกตัวยกตนข่มท่าน ว่าฉันศีลมากกว่า กลายเป็นสีลัพพตปรามาสแบบหนึ่ง คือ การเป็นศีลที่แปดเปื้อนไปด้วยมา ตัณหา ทิฐิ ไม่ใช่ศีลบริสุทธิ์ เพราะไม่มีความรู้สึกตัวเกิดอาการยกตนข่มท่าน ปล่อยให้มาฟูฟ่องหรือว่าขี่คอ ทำอะไรตามไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม ต้องเริ่มต้นด้วยความรู้สึกตัว ทำให้เกิดความดีและไม่ทุกข์ด้วย ไม่ใช่ดีอย่างเดียว ดีแล้วทุกข์ไม่ถูก ดีแล้วไม่ทุกข์ด้วย เรามาสวดมนต์ ใจเราเป็นกุศล อากาศจะหนาวอะไรอย่างไร ใจเราเป็นปกติ ไม่ใช่สวดไปทุกข์ไป อันนี้เรียกว่า อานิสงค์จากการสวดบกพร่องไป เพราะว่าสวดไปทุกข์ไป สวดไปบ่นไปว่าหนาว สวดไปโวยวายตีโพยตีพาย ปฏิฆะ พยาบาทครอบงำ ได้บุญน้อย สวดไป กายจะเป็นอย่างไรแต่ใจสงบเย็น เปิดรับ ได้รับอานิสงค์ของการสวดเข้าไปเต็มๆ