แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้มีผู้สูงวัยมาสวดมนต์แล้วฟังธรรมกันมาก ผู้สูงวัยกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ได้ผ่านอะไรมามากมาย ได้ทำอะไรต่าง ๆ มากมายในชีวิต ทั้งการเลี้ยงชีพ การทำงาน การสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างบ้าน บางคนเคยผ่านการทำไร่ทำนาทำสวนมาแล้ว แต่ตอนนี้อาจจะกำลังเลี้ยงหลาน หลังจากที่ได้เลี้ยงลูกมาจนโต เราทำอะไรมาเยอะแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ หรือยังทำไม่พอ คือการทำใจ
ชีวิตของเรา เกิดมาทั้งชีวิตนี่ ทำงานๆๆ รวมทั้งทำนั่นทำนี่ แต่ว่าเรื่องทำใจอาจจะไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ ที่จริงพูดถึงประสบการณ์ของพวกเรานี่เป็นต้นทุนที่อุดม เป็นต้นทุนที่มากมายที่สะสมไว้ตลอดวันเวลาที่ผ่านมา ประสบการณ์เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ดีมากสำหรับการทำใจ เพราะเราได้ผ่านโลก ผ่านอะไรต่ออะไรมามากมาย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความไม่เที่ยงของชีวิต เห็นความไม่เที่ยงของผู้คน จากจนแล้วรวย จากรวยแล้วจน หรือว่า จากเด็กเป็นหนุ่ม สาว แล้วแก่ บางคนไม่ทันได้แก่ ไม่ทันได้หนุ่มด้วยซ้ำตาย เราได้ผ่านทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ได้ผ่านทั้งชีวิตขาขึ้น แล้วขาลง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่เอื้อต่อการทำใจ โดยเฉพาะการทำใจปล่อยวาง อันที่จริงทำใจมีความหมายมากกว่านั้น
พวกเรา ถ้าพูดถึงวัยเรียกว่า “สูงวัย” แต่มองในอีกแง่หนึ่ง ถือว่าเป็นวัยขาลง อายุมากขึ้น แต่อย่างอื่นลดน้อยถอยลงไปหมด เช่น กำลังวังชา ทรัพย์สมบัติ บางอย่างที่เคยมี เช่น ตำแหน่ง บริษัท บริวาร ตอนนี้ไม่มี หรือลดน้อยถอยลง เขาเรียกเราอย่างยกย่องว่าสูงวัย แต่ในความเป็นจริงเป็นวัยขาลง ยิ่งจำเป็นที่จะต้องทำใจให้มากขึ้น เพราะว่า กำลังวังชาเราลดน้อยถอยลง เงินทองน้อยลง ไม่พรั่งพร้อมบริบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน ถ้าหากว่าไม่รู้จักทำใจจะเป็นทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น
เมื่ออาทิตย์สองอาทิตย์ก่อน ช่วงวันตรุษจีนมีลูกหลานพาญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมา อายุ 70 กว่า เรียกว่าเป็นคหบดีหรือเศรษฐีนีได้ คือร่ำรวย ทุกวันนี้ยังทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านจัดสรร ต้องเรียกว่าประสบความสำเร็จ ชีวิตนี้เขาเรียกว่า พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไปแทบทุกเรื่อง การงานเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ลูกเป็นคนดี มีฐานะที่มั่นคง เป็นหมอสองคน เป็นนายกเทศมนตรีอีกคนหนึ่ง ไม่มีลูกคนไหนที่น่าเป็นห่วง เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพ่อแม่ เพียงแต่ว่า ผู้ใหญ่ท่านนี้ท่านป่วย เป็นโรคพาร์กินสัน ตอนที่มาหาอาตมาที่วัดป่ามหาวัน ต้องนั่งรถเข็นมา พาร์กินสันเป็นโรคที่เกี่ยวกับประสาท โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ พูดไม่ชัดในบางครั้ง มือไม้จะสั่นในบางที เดินไม่สะดวก สนทนาไปสนทนามา ผู้ใหญ่ท่านนี้ตัดพ้อขึ้นมาว่า ทำไมถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ ฉันทำผิดอะไร จึงต้องมาป่วยแบบนี้
อาตมาตอบทันทีว่า ทำผิดแน่นอน ไม่ได้หมายถึงทำผิดในชาติที่แล้ว ชาติที่แล้วเป็นยังไงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะไม่เกี่ยวกันได้ แล้วทำผิดอะไร ทำผิดตรงที่ว่า ร่างกายเคยเตือนแล้ว เคยเตือนว่า ทำงานหนักไป ต้องพักผ่อนหน่อย เตือนมาหลายปีแล้ว อาจจะตั้งแต่ตอนอายุ 60 เพราะว่าเศรษฐีนีท่านนี้ท่านทำงานเยอะ คิดดูสิ ขนาด 70 กว่าป่วยแล้วยังไม่ยอมวาง ยังทำงานอยู่ แล้วยิ่งถ้าตอนอายุ 60 ย้อนถอยหลังไป 10 ปี 15 ปีคงจะทำหนักยิ่งกว่านี้ คงจะไม่ได้พักผ่อน ร่างกายบอก ร่างกายเตือน ร่างกายวิงวอนว่าพักซักที พักซักที ไม่ยอมฟัง ผลสุดท้ายเป็นอย่างนี้ ป่วย แต่ป่วยเป็นการวิงวอนร้องขอและส่งสัญญาณอีกครั้งหนึ่งของร่างกายว่า พักได้แล้วๆ ขนาดป่วยยังไม่ยอมพัก แบบนี้เรียกว่า ทำผิด คือไม่ยอมฟังเสียงร่ำร้อง เสียงวิงวอน หรือสัญญาณเตือนของร่างกายอาจจะเป็นเพราะว่าจิตใจมุ่งหวังความสำเร็จหรือว่าเอาเงินเอาทองเป็นสรณะหรือเปล่าไม่รู้ อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องโชคชะตาหรือว่าปีชงอะไร เป็นเรื่องเพราะว่าไม่ฟังคำเตือนคำขอร้องของร่างกายจนกระทั่งเป็นพาร์กินสัน และเป็นคำเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า หยุดได้แล้ว ถึงเวลาพักผ่อน ถึงเวลามีความสุขกับครอบครัวได้แล้ว ยังไม่หยุด อาตมาพูดให้ได้คิด และผิดอีกข้อหนึ่งคือ ไปยึดมั่นถือมั่นกับร่างกายนี้ ร่างกายนี้เช่นเดียวกับสิ่งอื่น ทั้งหลายทั้งปวงคือไม่เที่ยง ย่อมมีวันเสื่อมสลาย ไปคิดไปยึดในสิ่งที่สวนทางกับความเป็นจริง ความเป็นจริงคือทุกอย่างไม่จีรัง ทุกอย่างไม่เที่ยง แต่ไปยึดไปอยากให้ร่างกายเที่ยง คราวนี้พอป่วยเข้าเป็นทุกข์ อันนี้ผิดอีกข้อหนึ่ง คือวางใจผิด
ผิดข้อแรกคือ ไม่ฟังเสียงร้องเสียงเตือนของร่างกาย ผิดข้อที่สองคือวางใจผิดไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่ไม่เที่ยง อย่างนี้เป็นการพูดตรง ๆ ให้โยมเขาคงจะได้คิดเหมือนกัน ไม่เกี่ยวกับทำกรรมชาติที่แล้ว เกี่ยวกับกรรมในชาตินี้ที่ไม่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง คือเอาแต่ทำงาน แต่ว่าวางใจไม่เป็น ทำใจไม่ถูก ฟังดูเศรษฐีนีท่านนี้มีความทุกข์ รู้สึกว่าชีวิตของเราย่ำแย่ อาตมาบอกว่า ไหนโยมลองมองให้ดีซิว่าชีวิตในทุกวันนี้ ตอนนี้ โยมมีโชคยังไงบ้าง โยมนึกมาได้แค่อย่างเดียวคือว่า งานการธุรกิจประสบความสำเร็จ อาตมาเติมไปอีกข้อหนึ่งว่า เราโชคดีที่ลูกได้ดิบได้ดีกันทุกคน ถามหน่อยว่าลูกมีใครตาย ไม่มีใครตายยังอยู่กันทุกคน ป่วยไหม ไม่มีใครป่วยเป็นมะเร็งไม่มีใครป่วยเป็นโรคร้าย นี่โชคอีก ถามว่า สามีตายหรือยัง ยังไม่ตาย อ้าวนี่โชคอีก โยมมีอายุยืนมาถึงนี้ 70 กว่านี่ถือว่าเป็นโชคไหม โชคเหมือนกัน บอกว่า ถ้าหากว่ามานับดู โยมมีโชคอยู่ 9 อย่าง แต่ไม่มีโชคอย่างเดียว คือ สุขภาพ ถ้าเป็นนักเรียนสอบได้ 90% ใน 100 % อย่างนี้น่าพอใจไหม เวลาเรียนหนังสือ สอบ กี่คนที่จะได้ 90% ได้ 80% เก่งแล้ว นี่โยม ถ้าสอบได้ 90% ทำไมถึงไม่พอใจ ทำไมถึงมาบ่นโวยวาย ตัดพ้อ มองไม่เป็น เขาเรียกว่าไม่รู้จักทำใจ ทำใจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการปล่อยวาง แต่รวมถึงการรู้จักมองด้วย ในสิ่งดี ๆ ที่มีมองไม่เห็น มองเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดี เช่น ความเจ็บ ความป่วย พวกเราเป็นอย่างนี้กันรึป่าว
ถึงบอกว่าในวัยนี้ของพวกเรา สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ ทำใจ ทำอะไรมาเยอะแยะดีแล้ว เรียกว่า ทำกิจ แต่ว่าอย่าลืมว่าต้อง ทำจิตหรือทำใจด้วย เพราะว่าเราอยู่ในวัยขาลง อะไร ๆ ไม่เหมือนเก่า ทั้งสังขารร่างกาย ทั้งความคิดความจำ โรคภัยไข้เจ็บถามหา แต่ถ้าเราทำใจเป็น ไม่ทุกข์ ร่างกายเสื่อมอยู่ในช่วงขาลง แต่ใจอาจจะอยู่ในช่วงขาขึ้นได้ คือว่า แม้ร่างกายจะแก่ แม้ร่างกายจะป่วย แต่ว่าใจ กลับดีแช่มชื่น เบิกบาน สวนกระแสของร่างกายได้ ร่างกายลงแต่ใจขึ้น โยมทำได้และควรต้องทำด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะอยู่ร้อนนอนทุกข์ ทั้ง ๆ ที่แม้จะมีอะไรที่ยังดีอยู่ ยังประสบความสำเร็จเยอะอยู่ แต่ว่าวางใจไม่เป็นทุกข์ อย่างโยมผู้ใหญ่ท่านนี้
การที่พวกเรามาวัดให้ถือว่า เป็นการมาฝึกทำใจ หลายคนไม่เคยได้มาวัด หลวงพ่อพยอมกัลยาโณ ท่านพูดไว้สองสามประโยคน่าสนใจว่า เราจะเข้าวัดเองหรือจะให้คนหามเข้าวัด ถ้าคนหามเข้าวัดแปลว่าอะไร เราจะสวดมนต์เองหรือจะให้พระสวดให้เราฟัง สวดกุสะลาให้เราฟัง เราจะพนมมือเองหรือจะให้สัปเหร่อจับมือพนม ให้ลองคิดแบบนี้บ้าง แต่อย่างไรตาม เข้าวัดแล้วต้องหาประโยชน์จากการมาวัดให้ถูก บางคนมาวัดแค่มาทำบุญ บางคนหนักกว่านั้น มาเพื่อจะขอหวย เอาวัตถุมงคล อันนี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมได้ความโง่ ความหลงเข้าไปอีก แล้วคนพวกนี้ ถ้ามาด้วยความคิดแบบนี้ มักจะเป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อถูกหลอก มาเอาวัตถุมงคลโดนพระ โดนโยม หลอก เสียเงินไปเป็นหมื่น บางทีเป็นแสน คิดว่าได้วัตถุมงคลของดีมาปกป้อง กลับได้อะไรไม่รู้ เสียเงินอีกต่างหาก บางคนมาเพื่อทำบุญ แต่ทำบุญต้องมีสติมีปัญญา เพราะถ้ามาด้วยศรัทธาอย่างเดียวอาจจะถูกเขาหลอกได้ง่าย เพราะเป็นศรัทธาที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีหลายคนที่มาวัดหรือว่ามาสำนักปฏิบัติธรรม แล้วถูกหลอกไป ถูกหลอกไปเป็นล้าน หลายล้าน เจ้าสำนักจะเป็นพระดี จะเป็นแม่ชีหรือว่าผู้หญิงดี เดี๋ยวนี้มีหลายแบบ มาหลอกว่า ถ้ามาบริจาคเงินเท่านั้นเท่านี้จะได้บุญ ความศรัทธาผสมกับความโลภ อยากรวย เชื่อว่าถ้าได้บุญเยอะ ๆ จะรวย ยอมจ่าย ยอมเสีย บางทีกลัว ยอมจ่ายเพราะความกลัว เขาทักว่า ตอนนี้สามี ดวงไม่ดี จะป่วย ภรรยานี่รักสามีมาก ยอมทุ่มเททุกอย่าง เพื่อให้ดวงหรือเคราะห์ของสามีดีขึ้น เสียเงินไป เป็นแสนเป็นล้าน อันนี้เรียกว่า มาวัดถ้าจะมาเอาวัตถุมงคลดีหรือแม้แต่มาทำบุญอยากได้บุญดี ยังเรียกว่าเป็นการหาประโยชน์จากวัดหรือจากศาสนาน้อยอยู่ แต่เผลอ ๆ เสียด้วย เสียเงินเสียทอง หมดเนื้อหมดตัวไปมี
มาวัดทั้งทีมาเพื่อจะได้ฝึกจิตของเรา ฝึกจิตคือ การทำใจให้ถูก ทำใจให้ถูกคือว่า มองถูก วางใจเป็น มองถูกหมายความว่า คือมองเห็นว่าทุกอย่างนี่ไม่เที่ยง อะไร ๆ ไม่จีรัง ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามใจเราได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะไปยึดมั่นถือมั่นกับไม่ได้ อย่างเช่น ร่างกายของเรา ถึงเวลาค่อย ๆ ชรา ค่อย ๆ เสื่อมไป บางครั้งเจ็บป่วย อันนี้คือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้นอย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะละเว้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะละเว้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา จะละเว้นความตายไปไม่ได้ เราจะพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งนั้น นี่คือความจริงที่เราต้องมองให้เห็น
มาวัดอย่ามัวแต่ทำบุญ หรือว่าทำความดี เช่น รักษาศีลเท่านั้น ทำบุญรักษาศีล ทำความดีนี่ดีแล้ว แต่ยังไม่พอที่จะช่วยปกป้องใจไม่ให้ทุกข์ ต้องเห็นความจริงอย่างนี้ด้วย ถ้าเห็นความจริงอย่างนี้แล้ว เวลาเจ็บเวลาป่วยจะไม่บ่นโวยวายทำไมต้องเป็นฉัน ทำไมต้องเป็นฉัน มีหลายคนพอเจ็บป่วยเป็นมะเร็งตัดพ้อต่อว่า ว่าทำไม ฉันทำดีมาตั้งเยอะ ทำบุญให้ทานมามาก ทอดกฐิน ผ้าป่า ฉันไม่เคยละเว้น ทำไมต้องมาเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องมาป่วย อันนี้เราซ้ำเติมตัวเอง ทุกครั้งที่บ่น โวยวาย ตีโพยตีพายแบบนี้ เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง คือว่า แทนที่จะป่วยแต่กายกลายเป็นว่าใจเป็นทุกข์ด้วย ทำไมถึงซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าไม่เห็นความจริง มองไม่เห็นความจริงว่า เป็นธรรมดา แม้แต่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย แล้วต้องตายไปตามธรรมชาติ แล้วเราเป็นใคร แค่มีศีลห้า แค่ทำบุญ แล้วทำไมถึงคิดว่าจะไม่ป่วย หรือว่า อาจจะนึกไปถึงขั้นว่า ไม่มีวันตายด้วย หลายคนไม่ป่วย แต่ว่ากลัวตาย ยิ่งชรา ยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ความกลัวตายเกิดขึ้นกับจิตใจของหลายคน ทำดีเยอะแล้ว ทำบุญมากแล้ว แต่ว่าพออายุมากกลัวตายเหมือนกัน เพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่ได้ฝึกทำใจ
ฝึกทำใจคือมองเห็นความจริงว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ระลึกอยู่บ่อย ๆ ระลึกอยู่บ่อย ๆ จะยอมรับได้ ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย จะคุ้นกับความตายมากขึ้น อันนี้เราเจริญมรณะสติอยู่เป็นนิจ ระลึกถึงความตายอยู่เป็นประจำ เป็นการฝึกทำใจอีกอย่างหนึ่ง ฝึกให้เรายอมรับความจริง ที่แม้จะไม่พึงประสงค์ แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยอมรับจนกระทั่งเห็นว่าเป็นธรรมดา ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ถึงเวลาตายไม่ทุกข์ แต่ก่อนที่จะตายมีความเจ็บความป่วยไม่ทุรนทุราย กายทุกข์แต่ใจไม่เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะฝึกทำใจไว้แล้ว
บางทีเป็นทุกข์เพราะลูกหลาน ลูกหลานเขามีปัญหาธุรกิจ บางคนตกงาน หลานสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ความที่เป็นผู้สูงวัยจะมีคนที่อยู่ในอุปการะหรือว่าคนที่เราห่วงใยเยอะ แล้วแต่ละคนไม่ใช่ว่าจะดีอย่างที่เราปรารถนาหรือว่าดีดั่งใจเรา มีคนบางคนไปดีบางคนลุ่ม ๆ ดอน ๆ บางคนแย่ ถ้าเราวางใจไม่เป็นทุกข์ นี่ขนาดลูกดีหลานดีกันทุกคน อย่างตัวอย่างที่อาตมาพูดนี่ยังทุกข์ ห่วงลูกห่วงหลาน
ลูกบางคนมาพาแม่อายุมากกว่า 70 ปีมาหาอาตมา บอกว่าช่วยบอกแม่ทีว่า อย่าห่วงลูกมากนัก เวลาลูกไปไหนต้องให้ลูกคอยโทรศัพท์มารายงานว่าไปทำอะไรบ้าง เวลาลูกไปต่างจังหวัดแม่ทุกข์ กังวล อันนี้เรียกว่าไม่รู้จักทำใจ ลูกโตจนอายุ 40 – 50 ยังสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเลี้ยงลูกมาดี สอนลูกมาดี อันนี้เรียกว่าทำกิจ ทำกิจทำเต็มที่แล้ว ลูกดีแล้วแต่ว่าไม่ฝึกทำใจ เป็นทุกข์แม้กระทั่งใกล้จะตายแล้ว เวลาที่มีอยู่ในโลกนี้เหลือน้อยถอยลงไปทุกที แทนที่จะใช้เวลาแต่ละนาทีให้มีคุณค่าให้มีความสุข กลับเอาความทุกข์มายัดใส่ใจ เพราะอะไร เพราะวางใจไม่เป็น เพราะไม่รู้จักฝึกทำใจ อย่างเช่น อุเบกขา เราเลี้ยงลูกมาดี แต่ถึงเวลาเราปล่อยเขาไป เพราะว่าเขาต้องอยู่ได้โดยที่ไม่มีเรา อันที่จริงเขาอยู่ได้ ถ้าไม่มีเรา แต่บางทีเพราะมีเรานี่ที่ทำให้เขาอยู่ลำบาก เพราะว่าเขาคอยเป็นทุกข์เพราะเรา เราเอาแต่ห่วงใย เรียกร้องเขา ให้ต้องมารายงานทุกวัน จะไปไหนไปไม่ได้ ไปไกล ๆ ไปไม่ได้ จะมาวัดปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องให้แม่เห็นหน้าทุกคืน อันนี้เรียกว่า สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองและกับลูกหลาน เพราะความที่ตัวเองทำใจไม่เป็น แทนที่จะให้ความรักของเรากลายเป็นสิ่งที่เชิดชู หล่อเลี้ยงจิตใจลูกให้มีความสุข แต่กลับเป็นตัวรัดรึงพัฒนาการทำให้ลูกเป็นทุกข์ ไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงขั้นต้องพาแม่มาหาพระ ให้พระพูด ไม่รู้ว่าพูดแล้วจะฟังรึป่าว ได้เวลาแล้วที่จะต้องทำใจ ปล่อยวาง เป็นต้น
แล้วทำใจอย่างหนึ่งคือการที่เรารู้จักวางใจให้อยู่กับปัจจุบัน อดีตผ่านไปแล้ว ปล่อยไป บางคนยังจิตใจหม่นมัว มองหวนคิดถึงแต่ว่าตอนเด็กพ่อแม่ไม่รักเรา เราเป็นผู้หญิงลูกผู้หญิง พ่อแม่รักแต่ลูกผู้ชาย ปล่อยให้เราตกระกำลำบาก ปากกัดตีนถีบ ทั้ง ๆ ที่อายุ 70 แล้ว ครอบครัวดี ร่ำรวย สามีดี ลูกดี เป็นคนธรรมะธรรมโมหน้าตายังหม่นหมอง นี่เพราะอะไร เพราะว่ายังไม่ปล่อยอดีต ให้ผ่านไป บางคนหนักกว่านั้น พื้นเพเป็นคนนิสัยดี มีเมตตา จิตใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อกรุณา แต่เวลาพ่อพูดหรือนึกถึงใครคนใดคนหนึ่ง จะโกรธ กราดเกรี้ยว เพราะว่าเคยอุปถัมภ์ค้ำชูเขา แต่ว่าเขาไม่เห็นความดีของเรา เขาไม่สำนึกในบุญคุณของเรา หรือว่าเขากลับทำร้ายเราคือไม่กตัญญู ทรยศหักหลัง โกรธ นึกถึงคนนี้ทีไรโกรธ โกรธจนกระทั่งกลายเป็นคนละคน ถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 30 ปีมาแล้ว บางคนโกรธสามี สามีไปมีเมียน้อย เอาเงินของตัวเองไปให้เมียน้อย ปรนเปรอเมียน้อย แค้นสามี ถามว่าเหตุเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 30 ปีมาแล้ว ยังหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องเหล่านี้ หาความสงบเย็นในจิตใจไม่ได้ ทั้งที่กำลังจะตายอยู่แล้ว ควรจะใช้เวลาที่มีเหลืออยู่น้อยนิด เพื่อการทำใจให้มีความสุข แต่กลับหาเรื่องทุกข์มาใส่ใจ เพราะในใจไปหมกมุ่นอยู่กับอดีต ลูกสงสารแม่ เป็นห่วงแม่ ถ้าแม่เป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดตายขึ้นมาตอนที่ยังโกรธ ตอนที่มีจิตคิดพยาบาท แม่คงไปอบาย พยายามให้แม่ให้อภัย แม่ไปโกรธลูกอีก หาว่าลูกไปเข้าข้างอีกฝ่าย ไม่เข้าข้างแม่ อันนี้วางใจผิดอีกเหมือนกัน มองผิด พอมองผิดเข้าเกลียดคนอื่นไปทั่ว ทั้ง ๆ ที่เขาปรารถนาดี
เพราะฉะนั้นคนที่มีวัยอย่างเรา ที่จริงต้องทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงวัย ถึงแม้จะเป็นหนุ่มเป็นสาวต้องรู้จักทำใจด้วยแต่ว่า สำหรับคนที่เป็นผู้สูงวัยอย่างเรา เรามีต้นทุนที่ดีกว่า ประสบการณ์ที่มากกว่า ผ่านโลกมามากกว่า อันนี้ควรจะทำให้เรารู้จักทำใจได้ดีกว่าวัยอื่น และอาจจะเป็นความจำเป็นด้วย เพราะว่ากำลังวังชา สังขารร่างกายเสื่อมลงไปทุกที ทุกอย่างอยู่ในภาวะขาลงหมด มีแต่ใจที่ยังอยู่ในภาวะที่จะขึ้นได้ และใจนี่ที่จะช่วยดึงเหนี่ยว กายไม่ให้ย่ำแย่ ถ้าใจดี 70 – 80 ยังสุขภาพดี เพราะว่า พอใจดีแล้ว ความเสื่อมของร่างกายชะลอลง ถ้าใจไม่โกรธเกรี้ยว ไม่เอาแต่เจ้าอารมณ์ หัวใจดี ความดันยังดี หรือว่าไม่เสื่อมเร็ว แต่ถ้าอย่างคนที่ขี้โกรธ ขี้โมโห ความดันดี หัวใจดี ตับดี ไตดีแย่ไปหมด บางทีปวดโน่น ปวดนั่น ปวดนี่ ปวดหลัง ปวดข้อ ถ้าเป็นเก๊าท์ หนักไปอีก ไอ้พวกนี้มีพื้นฐานมาจากจิตใจทั้งนั้น คือพอเครียดแล้ว ไอ้ร่างกายรวนไปหมด ยิ่งพอแก่ตัวนี่ร่างกายรวนง่ายด้วย แต่ถ้าใจดี ใจดีเพราะรู้จักปล่อย รู้จักวาง มีเมตตา กรุณา รู้จักให้อภัย รู้จักมองบวก ไม่มีเรื่องที่จะทุกข์ร้อนมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างช้าๆยังสามารถที่จะอยู่ได้อย่างปกติสุข
ให้เราถือโอกาสนี้มาวัด บางคนอาจจะไม่ค่อยมีเวลา มาวัดมาแล้ว อย่าคิดแต่ว่ามาสวดมนต์ มาทำบุญอย่างเดียว ให้มาฝึกทำใจด้วย โดยเฉพาะการเห็นความจริงชีวิต เรามีความแก่เป็นธรรมดา เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา เรามีความตายเป็นธรรมดา เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น ประสบการณ์ของเราเจอความพลัดพรากมามากแล้ว น่าจะมีภูมิคุ้มกันความทุกข์เวลาเกิดความพลัดพรากสูญเสีย อย่างนั้นถ้าหากว่าไม่รู้จักทำใจ เรายิ่งเจอความพลัดพรากมากขึ้น อายุมากขึ้นเจอความสูญเสีย เจอความตายจากคนรู้จักมากขึ้น แล้วจะมีแต่แย่ลง ๆ แต่ถ้าเราผ่านโลกมาเยอะแล้วเห็นว่าความพลัดพรากเป็นธรรมดา ความสูญเสียเป็นธรรมดา เราปล่อยวางได้ รู้ว่าเป็นเช่นนั้นเอง อันนี้เป็นการทำใจอย่างหนึ่ง คือการมองเห็นโลกตามความเป็นจริง ไม่มองสวน ไม่มองขัดแย้งกับความเป็นจริงของโลกหรือว่าของชีวิต แล้วจะทำให้ใจสบาย