แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อ 5 ปีก่อนได้ไปประชุมที่ประเทศอินเดีย เป็นการประชุมกลุ่มเล็กๆในหมู่ชาวพุทธจากหลายประเทศ พม่า อินเดีย อินโดนีเซีย อเมริกา อังกฤษ สถานที่ประชุมเป็นวัดทิเก็บต ผู้ก่อตั้งหรือผู้สร้างเป็นพระชาวภูฏานที่มีชื่อ เคยสร้างหนังเกี่ยวกับสามเณรที่เล่นฟุตบอลกัน แต่ว่าไม่ได้เจอตัวผู้ก่อตั้งวัดนั้นเพราะว่าท่านมีกิจเยอะ
ช่วงที่ไปประชุมมีเวลาว่าง แวะไปเยี่ยมสำนักสามเณรีนิกายทิเก็บตอีกเหมือนกัน อยู่อีกเมืองหนึ่งใกล้ๆ เจ้าสำนักเป็นสามเณรีชาวอังกฤษ แต่อายุมากแล้ว ประมาณ 70 ปีแล้ว ท่านบวชเป็นสามเณรีมา 40-50 ปีได้ ชื่อว่า Tenzin Palmo ชื่อนี้ฝรั่งที่สนใจพุทธศาสนาแนวทิเก็บตหลายคนจะรู้จัก เพราะว่าท่านไปแสดงธรรม แล้วมีผลงานเขียนเกี่ยวกับธรรมะเป็นหนังสือหลายเล่ม การปฏิบัติของท่านน่าสนใจซึ่งเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง
ที่จริงชีวิตของท่านน่าสนใจตั้งแต่ยังสาว เป็นชาวอังกฤษ ไม่เคยรู้จักพุทธศาสนา เพราะอังกฤษเมื่อสัก 50 ปีก่อนพุทธศาสนาไม่ว่าแนวไหนยังไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไร แต่ว่าในใจท่านตั้งแต่ยังเป็นสาวอายุ 20 เหมือนกับว่าโหยหาอะไรบางอย่าง มีวันหนึ่งมีคนแนะนำให้ไปพบกับอาจารย์ทิเก็บตท่านหนึ่ง ท่านมาจากประเทศอินเดีย พอมีคนเอ่ยชื่อท่านนี้เท่านั้นแหละว่าชื่อ Khamtrul Rinpoche พอได้ยินคำนี้เหมือนกับมีกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านทั่วร่างกาย เหมือนกับว่าเคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน หรือจะว่าไปแล้วอาจจะเคยได้เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์กันมาก่อนตั้งแต่ชาติที่แล้วได้ ความรู้สึกเป็นขนาดนั้น
ตัวอย่างที่ว่าพอได้ยินชื่อครูบาอาจารย์แล้วสว่างโพลงหรือว่าเกิดอาการบางอย่างในร่างกายนี้มีในสมัยพุทธกาล อนาถบิณฑิกเศรษฐีตอนที่ไปเยี่ยมเพื่อนซึ่งเป็นเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าเพิ่งเสด็จอยู่ที่เวฬุวันได้ไม่กี่พรรษา เศรษฐีที่เป็นเพื่อนแล้วเป็นญาติพอเอ่ยชื่อพระพุทธเจ้าขึ้นมา อนาถบิณฑิกเศรษฐีรู้สึกสว่างวาบคล้ายกับมีไฟฟ้าแล่นผ่านทั้งที่ไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน ทำให้เกิดความสนใจ วันรุ่งขึ้นพอไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่เวฬุวันบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน คล้ายเหมือนกับว่ามีอะไรผูกพันกันมาก่อน เพียงแค่ได้ยินเชื่อเท่านั้น จะเรียกปิ๊งวาบไม่ใช่ แต่วาบไปทั้งตัว Diane นี้เหมือนกัน แล้วพอได้เจอท่าน Khamtrul Rinpoche ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที มอบตัวเป็นศิษย์ แล้วพอรู้จักกันได้ไม่กี่วัน Diane ขอบวชเป็นสามเณรี เหมือนกับว่าเคยผูกพันกันมาก่อน ถ้าพูดแบบชาวพุทธเคยผูกพันกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว
อายุ 20 ปีกว่าบวชเป็นสามเณรีแล้วตั้งใจในการปฏิบัติมาก บวชไปได้สัก 10ปี อายุ 33 ปีบำเพ็ญธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ขึ้นภูเขาไปปลีกวิเวกอยู่ในถ้ำ ถ้ำไม่ได้ใหญ่ ขนาด 6x10 ฟุต เล็กกว่ากุฏิพระเสียอีก ไปอยู่คนเดียว เขาสูงประมาณ 3,000 กว่าเมตร เกือบ 4,000 เมตร สูงกว่าดอยอินทนนท์ตั้งกิโลกว่า ดอยอินทนนท์แค่ 2,000 กว่าเมตร แต่ว่าสถานที่ปลีกวิเวกของ Tenzin Palmo สูงกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นหน้าหนาวจะเต็มไปด้วยหิมะ เก็บตัวอยู่ในถ้ำคนเดียว อาหารมีคนเอามาส่งเป็นครั้งคราว เป็นข้าวบ้างหรือเป็นพวกคล้ายๆขนมปังทำจากข้าว คล้ายข้าวเหนียว แห้ง เวลาจะกินต้องเติมน้ำเข้าไป ทีแรกคนห้าม จะอยู่ได้อย่างไร เป็นฝรั่ง เป็นผู้หญิงด้วย ไปอยู่คนเดียวเปลี่ยว อันตราย แต่ว่าเธอไม่กลัว ปลีกวิเวกนี้ทำความเพียรขั้นอุกฤษฏ์มาก ตื่นตี 3 ทำสมาธิ 3 ชั่วโมงจนถึง 6 โมง แล้วทำต่ออีก 8 โมงถึง 11 โมง เที่ยงถึงค่อยฉัน ฉันมื้อเดียว บ่าย 2 สมาธิต่ออีก 3 ชั่วโมง เสร็จแล้ว 2 ทุ่มต่ออีก 3 ชั่วโมงจนถึง 5 ทุ่ม วันหนึ่งปฏิบัติในรูปแบบถึง 12 ชั่วโมง มีเวลานอนแค่ 4 ชั่วโมง แล้วไม่ได้นอนราบกับพื้นเพราะไม่มีที่จะนอน ต้องนั่งหลับ เรียกเนสัชชิก ลองนึกภาพคนที่อยู่ในถ้ำแทบจะไม่ออกไปไหน มีออกไปบ้างไปหาน้ำมาดื่ม มาต้ม ยังต้องทนหนาวอีกเพราะเชื้อเพลิงไม่ค่อยมาก ตอนนั้นอยู่อินเดียภูเขาสูงอย่างนั้นไม่ค่อยมีต้นไม้แล้ว มีแต่พุ่มไม้ เมื่อกลางปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปอินเดีย ได้จาริกไปต้นน้ำคงคา ได้ไปเห็น ขึ้นไปเขาสูงพอสูงสัก 3,000 กว่าเมตรต้นไม้ใหญ่ๆไม่มีแล้ว มีแต่พุ่มไม้ ถ้าไปถึง ๔,๐๐๐ เมตรไม่มีต้นไม้แล้ว มีแต่หญ้า Tenzin Palmo อยู่อย่างนั้น ไม่ใช่อยู่ 3 เดือน ไม่ใช่อยู่ 3 ปี อยู่ถึง 12 ปี เชื่อว่าขนาดพวกเราไปอยู่สักอาทิตย์หนึ่งอาจจะเป็นบ้าแล้วได้เพราะว่าไม่มีอะไร ไม่มีผู้คน การกินลำบากขัดสน นอนไม่ได้นอนเต็มที่
ช่วง 9 ปีแรก Tenzin Palmo บอกว่ายังได้ออกไปบ้าง ออกไปหาอาจารย์บ้าง พบปะผู้คนบ้าง ๓ ปีสุดท้ายบำเพ็ญธรรมขั้นอุกฤษฏ์กำลังสองคือว่าไม่ออกไปไหน ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน อันนี้เป็นตัวเลขที่คนทิเก็บตนิยม ปฏิบัติธรรม ๙ ปีแล้วยังไม่พอ ยังรู้สึกว่าไม่อุกฤษฏ์พอ สามปีสุดท้ายอุกฤษฏ์ยิ่งกว่านั้นอีก เรียกว่าเก็บอารมณ์ในเก็บอารมณ์ เก็บอารมณ์ซ้อนเก็บอารมณ์ การปฏิบัติอย่างพวกเรานี่ดูเด็กไปเลย ไม่ว่าจะเทียบในแง่ของเวลา การทำความเพียร หลายคนแค่บวชในพรรษา ๓ เดือนทำท่าจะแย่แล้ว นับถอยหลังรอวันสึก Tenzin Palmo ปฏิบัติถึง ๑๒ ปี แต่ว่าปฏิบัติได้ไม่ครบ อุกฤษฏ์ ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วันไม่ครบเพราะว่าตำรวจอินเดียมาตาม บอกว่าวีซ่าหมดอายุแล้ว จะไม่หมดอายุได้อย่างไร อยู่ในถ้ำมา ๑๒ ปีไม่ไปต่อวีซ่าแม้แต่ครั้งเดียว ตำรวจต้องมาตาม อุตส่าห์ปีนเขาขึ้นมา ล้มเลิกความตั้งใจ แต่ยังบำเพ็ญภาวนาอยู่
ประสบการณ์การเก็บอารมณ์ปลีกวิเวก 12 ปีเป็นเรื่องที่อย่าว่าแต่คนฝรั่งด้วยกัน แม้กระทั่งคนทิเก็บตทึ่งมาก แล้วแถมเป็นผู้หญิงชาวต่างชาติด้วย มีคนถามเธอว่าเป็นอย่างไร อยู่ในถ้ำคนเดียว 12 ปีได้เห็นสีเห็นแสงมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรไหม เธอไม่พูดอะไรมาก พูดเพียงคำเดียวว่าไม่เคยรู้สึกเบื่อ ไม่เคยรู้สึกเบื่อแม้แต่วันเดียว อันนี้น่าทึ่ง เรียกว่าทั้งปีทั้งชาติอยู่ในถ้ำ ไม่เจอผู้คน วันแล้ววันเล่าเหมือนเดิม ตื่นตี 3 นอน 5 ทุ่ม แล้วตื่นตี 3 นอน 5 ทุ่ม กิจวัตรแทบจะไม่แตกต่างจากเดิม นั่งสมาธิ 4 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมง แล้วทำโน่นทำนี่ คัดลอกคัมภีร์ช่วงเวลาว่าง ที่เหลือเล่นโยคะบริหารกายไป
เวลาพวกเรารู้สึกท้อแท้กับการปฏิบัติ รู้สึกเบื่อหน่าย ลองนึกถึงคนอย่าง Tenzin Palmo บ้าง เรียกว่าความลำบากของเราเป็นขี้ผงของเขา แต่นั่นเขาทำด้วยความศรัทธาแล้วมีฉันทะ พอมีฉันทะทำให้เกิดความเพียร คนเราพอมีฉันทะแล้วแม้จะทำสิ่งเดียวซ้ำกันทุกวันๆไม่ได้เป็นความทุกข์ทรมาน คนสมัยนี้จะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรคนรุ่นใหม่ เพราะว่าชอบของใหม่ ชอบอะไรที่ใหม่ไม่ซ้ำเดิม แค่อยู่นิ่งๆคนเดียวชั่วโมงเดียวกระสับกระส่ายแล้วทุรนทุรายแล้ว บางคนอยู่แค่ครึ่งชั่วโมงไม่ไหวแล้ว ให้สร้างจังหวะ 5 นาทีง่วงแล้ว อันนี้เป็นกันแทบทุกคนที่มาปฏิบัติใหม่ๆ ให้ยกมือสร้างจังหวะ ทำไปได้ 5 นาทีง่วงแล้ว พอบอกว่าจะปฏิบัติต่ออีกสัก 20 นาทีร้องโฮกัน อีก 20 นาทีเชียวหรือ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราอยู่เฉยไม่เป็น จะให้อยู่เฉยสัก 5 นาทีไม่ไหว ให้ทำอะไรซ้ำๆ 20 นาทีกลายเป็นทรมาน แต่พอทำไปๆทำได้ ทำได้ทั้งวันได้ แต่ต้องเริ่มต้นจากใจ ใจที่มีความเพียร และความเพียรเกิดขึ้นได้เพราะมีฉันทะ
เคยเล่าให้ฟังแล้ว ชาวญี่ปุ่นที่ทำเทมปุระจนกระทั่งคนยกย่องว่าเป็นเซียนหรือเป็นเทพเจ้าเทมปุระ ทำเทมปุระวันหนึ่งตั้งแต่เช้าจรดเย็นทอดเทมปุระอยู่นั่นแหละ ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่น ทำมา 30-40 ปีตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งอายุ 60 ยังมีความสุขกับการทำการทอด แล้วพยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆไม่หยุดนิ่ง ทั้งๆที่ชีวิตเขาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตื่นเช้ามาไปทำงานทอดเทมปุระเช้ากลางวันเย็น ค่ำกลับบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมาทำงานต่อ ชีวิตดูเหมือนเครื่องจักรแต่ว่าข้างในมีความสุขเพราะว่ามีฉันทะ อย่าง Tenzin Palmo เหมือนกัน อยู่ 12 ปีเธอมีความสุขมาก บอกว่าปีสุดท้ายรู้สึกเร็วเหมือนกับแค่เดือนเดียวเองทั้งที่ซ้ำซากกัน 365 วัน แต่ว่าข้างในใจไม่ได้ซ้ำหรอก เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจใหม่อยู่เสมอ จิตเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา จิตแต่ละขณะๆไม่ใช่ซ้ำเก่า แต่ใหม่ตลอดเวลา และใหม่ถี่มาก ที่จริงตัวเรานี่ใหม่ตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าตัวเราเก่า คำว่าแก่เป็นคำเรียกโดยสมมติแต่ที่จริงใหม่ตลอดเวลา ตัวเราเมื่อวานกับวันนี้คนละอันกันคนละร่าง มีบางอย่างที่ตายไป มีบางอย่างที่สร้างขึ้นใหม่ ผมงอกขึ้นตลอดเวลา ขนงอกขึ้นตลอดเวลา ที่ตายตายไป มีเซลล์ในร่างกายตายวันหนึ่งห้าหมื่นถึงแสนล้านเซลล์ ชั่วโมงหนึ่งเป็นพันๆล้านเซลล์ เซลล์ใหม่เกิดขึ้นพอๆกันเป็นพันหรือหมื่นล้านเซลล์ อย่างนี้จะเป็นร่างเก่าได้อย่างไร เป็นร่างใหม่ตลอดเวลา ยิ่งจิตนี่เกิดดับๆแสนโกฏิ แสนโกฏิคือล้านล้านครั้งต่อวินาที เพราะฉะนั้น อะไรที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละวันๆไม่เคยซ้ำ แม้กิจวัตรจะเหมือนเดิม
Tenzin Palmo พอใจอยู่กับการปฏิบัติปลีกวิเวก แต่ตอนหลัง Dalai Lama ชวนและแนะนำให้ออกไปสู่โลกภายนอกสู่โลกกว้าง สำหรับหลายคนการที่ออกไปสู่โลกกว้างเป็นเรื่องสนุกสนาน แต่ Tenzin Palmo ไม่เอา อยากจะเก็บตัวปลีกวิเวก แต่ Dalai Lama บอกว่าแค่นั้นไม่พอ ต้องออกไปเจอโลกกว้างเพราะว่าในโลกกว้างเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน แต่สำหรับ Tenzin Palmo แล้วเป็นการปฏิบัติธรรมที่ยากกว่าด้วย การกเก็บอารมณ์การเก็บตัวเป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ยาก ที่ยากกว่าคือการออกไปข้างนอก ออกไปแล้วปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ออกไปแล้วปล่อยตัวปล่อยใจ
ที่ผ่านมาได้บอกไปแล้วว่าพวกเราไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นแม่ชี หรือเป็นนักปฏิบัติที่อยู่ที่นี่มาตลอดพรรษาหรือหลายเดือน สิ่งแวดล้อมหรืออารมณ์ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กายใจของเราไม่ใช่เป็นอารมณ์ที่ร้อนแรงเผ็ดแสบหรือว่าคุกคามเป็นอันตรายเป็นโทษ แต่ข้างนอกมีอารมณ์ที่สามารถจะกระตุ้นให้เราหลงให้เราลืมตัว ทั้งเย้ายวนให้อยากได้ ทั้งยั่วยุให้โกรธขัดเคืองใจหงุดหงิด หากว่าเราอยู่ที่นี่มีความหงุดหงิดมีความขัดเคืองใจ 1 ส่วน ข้างนอกจะมีสิ่งกระตุ้นเร้าให้เกิดความหงุดหงิดขัดเคืองใจเป็นทุกข์แส่ส่ายฟุ้งซ่าน 10 เท่าว่าได้ เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่ตรงนี้ไปนานๆอาจจะไม่ดีเสมอไปเพราะว่าเราจะไม่คุ้นเคยกับการที่ไปเจอกับอารมณ์ที่รุนแรงมากระทบ ต้องออกไปเจอบ้าง ออกไปเพื่ออะไร เพื่อไปเรียนรู้ที่จะใช้วิชาเจริญสติ ซึ่งเปรียบเหมือนกับวิทยายุทธ จะใช้วิทยายุทธอยู่แต่ในสำนักไม่พอ ต้องออกไป แต่ว่าวิทยายุทธนี้เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร แต่เป็นการรักษาใจตัวเองให้เป็นปกติ สงบเย็นด้วยแล้วเป็นประโยชน์ด้วย ข้างนอกมีสิ่งที่จะสามารถทำให้เราสติแตกได้ง่ายๆ สติแตกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความโกรธความขุ่นเคืองใจเท่านั้น แต่หมายถึงความโลภด้วย ความโลภ ความอยากได้ อยากได้จนลืมเนื้อลืมตัว เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้ ออกไปเจอโลกกว้างโดนเล่นงาน แต่ถ้าหากถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าทำอย่างไรเราจะรักษาใจให้เป็นปกติได้แม้ว่าจะมีสิ่งมากระทบมากมายมาระดมใส่ กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วปรุงทางใจเยอะแยะไปหมด
คนที่อยู่วัดนานๆพอออกไปบางทีพลาดท่าเสียที อย่างพวกเราจะสังเกตได้ อาจจะประสบด้วยตัวเอง พออยู่วัดไปสักเดือนสองเดือน พอออกไปข้างนอกไปทำวัตรเจ้าคณะจังหวัด หรือว่ามีกิจข้างนอกไปโรงพยาบาล หรือว่าล่าสุดไปปาติโมกข์ที่อรุณธรรมสถาน สังเกตจิตใจตัวเองบ้างหรือเปล่าว่าหลงตัวลืมตนบ้างไหม สติแตกบ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะออกไปที่แก้งคร้อ บางคนไปสอบ พอไปเจอสิ่งแวดล้อม เจอร้านค้า เจอรถ เจอเสียง บางคนลืมตัว มีของกินของอร่อยเต็มไปหมด หวนคิดถึงวันคืนเก่าๆสมัยเป็นฆราวาส บางคนหงุดหงิดรำคาญอากาศร้อนเสียงดัง อันนี้เขาเรียกว่าลืมตัวทั้งนั้น ซึ่งดีถ้าเรารู้ว่าเราลืมตัวแล้วกลับมาตั้งหลักใหม่ สอบตกแล้วรู้ว่าสอบตกยังดี ดีกว่าไม่รู้ว่าสอบตกแล้วยังคิดประมาทว่าเดี๋ยวเราสึกไปเอาอยู่ อย่างตอนนี้หลายคนคิดนับถอยหลังแล้ววันออกพรรษา วันรับกฐิน แล้ววันสึก บางคนใจไปที่บ้าน ไปวาดฝันว่าสึกแล้วจะทำอะไรบ้าง จะกินอะไร จะไปเที่ยวที่ไหน ใจลอยไปแล้ว อันนี้เรียกสอบตกเหมือนกัน ขนาดยังไม่ทันจะออกไปสติแตกแล้ว เพราะว่ากิเลสได้ช่องอยู่แล้ว หาสิ่งเร้ามาล่อ ชวนให้เราคิดถึงแผนการที่จะทำเมื่อสึกหาลาเพศไป
ให้รู้เท่าทันกิเลสที่จะหลอกล่อเราให้หลง พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันให้ได้ เพราะถ้าเราไม่รู้จักฝึกใจให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่รู้จักต้านทานอำนาจของกิเลสบ้าง ปล่อยให้พาจิตพาใจกระเจิดกระเจิงไป วันนี้พาใจเราไปจมอยู่กับสิ่งที่น่าชื่นชมน่าพอใจ ความเอร็ดอร่อย แต่วันหน้าจะพาเราไปจมอยู่กับความทุกข์ ไปจมอยู่กับสิ่งที่ขัดเคืองใจทำให้วิตกกังวลกระวนกระวาย เวลาเราเพลินในความสุขมากเท่าไร จะหลงจมอยู่ในความทุกข์ได้ง่ายเท่านั้น จิตที่ขึ้นเร็วลงเร็วเหมือนกัน ในตอนเดียวกันเรานึกถึงอดีต มีอดีตที่หอมหวานเราอยากจะนึกถึงเพื่อมีความสุขหล่อเลี้ยงใจ พอบอกว่าให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันจะรู้สึกขัดเคืองใจว่าทำไม ไม่เห็นเสียหายจะคิดถึงวันเก่าๆวันวานอันหวานชื่น ปัญหาคือว่าถ้าเราเพลินไปกับอดีตที่หอมหวานง่ายที่จะจมลงไปอยู่กับกับดักอันเจ็บปวดของอดีตได้เหมือนกัน คนที่หัวเราะง่ายร้องไห้ง่ายเหมือนกัน หรือว่าคนที่หัวเราะง่ายกราดเกรี้ยวง่ายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยใจให้จมอยู่กับความสุขไม่ว่าในอดีตหรือที่คาดหวังในอนาคตง่ายที่จะจมอยู่กับความทุกข์เพราะอดีตหรือเพราะการที่คิดถึงอนาคตเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าไปยอมให้กิเลสหลอกล่อจูงใจเราไปง่ายๆ ให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อาจจะต้องใช้ความใจแข็งบ้าง ใจอยากจะโหยหานึกถึงวันคืนอันหวานชื่นหรือใจอยากจะนึกถึงความสนุกสนานเอร็ดอร่อยที่รอคอยอยู่ อย่าไปหลงเชื่อมาก ต้องใจแข็ง พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อาจจะต้องใช้ความตั้งใจมากสักหน่อยตอนใหม่ๆ แต่ถ้าเกิดว่าเราฝึกสติดีจะรู้ทันได้เร็ว ถึงตอนนั้นไม่ต้องใช้ความตั้งใจหรือไม่ต้องใช้การฝืนใจแล้ว จะรู้ว่าไปอยู่กับอนาคตอาจจะสุข อาจจะเพลินประเดี๋ยวเดียวแต่ว่าทุกข์ยาวนาน
เพราะฉะนั้น ในช่วงเวลาที่เราเหลืออยู่ไม่กี่วันก่อนจะออกพรรษาก่อนจะสิกขาลาเพศไป พยายามฝึกใจให้อยู่กับปัจจุบันให้ดี การฝึกให้ใจเราอยู่กับปัจจุบัน รู้ทันความคิดรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความคิดที่สุขหรือทุกข์ในอดีตหรือน่ายินดีหรือน่าวิตกกังวลที่รออยู่ข้างหน้า ถ้าเราฝึกบ่อยๆทำให้เรามีความพร้อม ถึงเวลาออกไปข้างนอกเจออารมณ์ที่กระหน่ำเข้ามาหรืออารมณ์ที่เผ็ดแสบเราสามารถจะรับมือกับได้ เหมือนว่าอยู่ในที่โล่งแม้แดดจะร้อนแต่เรามีร่ม แดดร้อนร้อนไปแต่ว่าภายในร่มนั้นเย็นสบาย ร่มที่ว่านี้คือร่มธรรม ร่มแห่งสติที่จะรักษาใจเราให้เย็นได้ ถึงแม้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา กับตัวเรา กับกายเราที่ไม่น่าพอใจแต่ว่าใจเป็นปกติได้