แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่อยู่ที่นี่แม้ว่าจะต่างเพศ ต่างวัย ต่างสถานะ ต่างประสบการณ์และต่างอะไรอีกมากมาย แต่ว่ามีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือว่าเราทุกคนล้วนแต่เป็นคนที่โชคดี เพียงแค่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วมีชีวิตมาถึงวันนี้ ไม่ใช่ง่าย พวกเราไม่ใช่คนอายุแค่สิบขวบยี่สิบขวบ สามสิบสี่สิบ บางคนเจ็ดสิบแปดสิบแล้ว มีชีวิตมาถึงปูนนี้ ต้องเรียกว่ามีโชค แล้วยังได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรมที่นี่ ถึงแม้ไม่ได้ปฏิบัติ เพียงแค่เรามีกิน มีปัจจัยสี่ ไม่ต้องดิ้นรนหาอาหาร ไม่ต้องหิวโหย ไม่ต้องไปหลบแดดหลบฝนตามที่ต่างๆ แบบนี้ถือว่าโชคแล้ว มีคนที่ยังเดือดร้อนยังหิวโหยมากมาย พวกที่พลัดที่นาคาที่อยู่นับไม่ถ้วน ไม่ใช่เฉพาะที่ประเทศต่างๆ ทวีปต่างๆ เท่านั้น แม้กระทั่งประเทศของเราคนที่พลัดที่นาคาที่อยู่มีมาก ถ้าเรามองดูดีๆ เรานี่นับว่าโชคดีจริงๆ นอกจากจะมีอาหารการกินแล้วไม่ต้องถึงกับดิ้นรน บางคนเขามีกินจริง แต่เขาต้องดิ้นรนมากทำงานวันละสิบกว่าชั่วโมงบางทียี่สิบชั่วโมงมี ปากกัดตีนถีบ เรานี่มีกินแม้จะไม่ครบสามมื้อแต่ว่าไม่หิวโหย ไม่ใช่เพราะว่าขาดแคลนถึงไม่มีกินครบสามมื้อ แต่เพราะว่าเราต้องการขัดเกลาฝึกฝนตน หลายคนไม่ต้องทำอาหาร ไม่ต้องไปทำงานในโรงครัวเพื่อมีอาหารมาเลี้ยงตัว เราแค่อยู่ปฏิบัติหรือว่าอยู่เฉยๆ มีกินแล้ว อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าโชคแล้วจะเรียกว่าอะไร
แต่ว่าโชคของเรามีอายุ มีวันหมดอายุ เรียกว่า Expire ถ้าเป็นยาเรียกว่า Expire ถ้าเป็นนมเปรี้ยวเหมือนกัน โชคของเราเหมือนกันจะมีวันหมดอายุ หมดอายุยังไงคือตาย แบบนั้นเขาเรียกว่าสิ้นบุญ จริงๆแล้วเรามีชีวิตมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดจากที่เราสร้างบุญสร้างกุศลมา ถ้าเชื่อเรื่องชาติที่แล้วนั่นหมายความว่าเราได้ทำความดีสร้างบุญสร้างกุศลมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว เรียกว่ามีปุพเพกตปุญญตา มีบุญที่ทำไว้ก่อนทำให้ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้มีชีวิตยืนยาวมาถึงวันนี้ไม่ใช่มาเกิดเป็นมนุษย์แค่สี่ห้าวันแล้วตายหรือว่าเกิดเป็นมนุษย์ได้เจ็ดแปดปีแล้วเสียชีวิต นี่เราได้เติบโตแล้วได้ผ่านโลกมาแล้ว ได้เห็นอะไรมามาก จนกระทั่งได้รู้จักพุทธศาสนา ได้เห็นธรรมะ แล้วยังมีโอกาสที่จะมาปฏิบัติธรรมได้ เพียงแค่สังขารร่างกายเอื้อให้เราได้มาถึงจุดนี้ได้ นี่เป็นโชคอีกอย่างหนึ่ง หลายคนอยากจะมาแต่มาไม่ได้เพราะว่าสังขารไม่อำนวย เจ็บป่วยบ้างหรือบางทีมีภาระ มีภาระเรื่องลูก มีภาระเรื่องพ่อแม่ แบบนี้ถือว่าเราโชคดีกว่าเขา
แต่อย่างที่บอกว่าโชคที่มี จะมีวันหมดอายุ จะมีวันสิ้นสุด เพราะว่าถึงวันหนึ่งต้องเจ็บต้องป่วย เดินเหินลำบาก แล้วในที่สุดจะต้องหมดลมคือตาย ก่อนที่จะถึงตรงนั้นจะมีความสูญเสียพลัดพรากเกิดขึ้นกับเราเป็นระยะๆ ทีละอย่างสองอย่าง ทีละคนสองคน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้โชคของเราหมดไปเรื่อยๆ ถือว่าเสียประโยชน์ปล่อยโอกาสทองให้หลุดมือไป ในขณะที่เรามีโชคพาตัวเรามาถึงที่นี่ แล้วมีกำลังวังชาที่จะทำความดี รวมทั้งการปฏิบัติธรรม ให้ใช้โอกาสดีๆ อย่างนี้ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า นั่นคือการฝึกฝนตนปฏิบัติธรรม ในแง่หนึ่งเป็นการต่อบุญต่อกุศลหรือเป็นการสร้างบุญกุศลเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งจะมีอานิสงค์ในภายภาคหน้า ไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า จะมีผลในชาตินี้ด้วย แต่ว่าถ้าทำความดีเพียงแค่ทำบุญอย่างทั่วๆ ไป ไม่พอ ต้องรวมถึงขั้นที่ฝึกฝนจิตใจให้มีสติ ให้มีปัญญาด้วย เพราะว่าสติและปัญญานี่แหละที่จะช่วยเราได้ในยามที่เจอปัญหาเจออุปสรรค ในยามที่โชคเลือนหายมีเคราะห์มาแทนที่
บางครั้งบางช่วงไม่ใช่จะมีโชคไปตลอด มีเคราะห์ตามมาหรือว่าตามทัน ต้องเจอ แต่ถ้าเกิดว่าถ้าเรามีสติ เรามีปัญญา เรามีคุณธรรม สามารถจะทำให้เราผ่านพ้นเคราะห์เหล่านั้นได้ด้วยดี ผ่านพ้นไม่ได้แปลว่าเคราะห์หมด บางทีไม่หมด หรือว่ายังตามติดเราไป อย่างเช่นความเจ็บป่วยบางโรคไม่หาย หรือว่าความพิการที่เกิดขึ้นเพราะอุบัติเหตุดี หรือเพราะโรคหรือเพราะวัยดี บางอย่างยังอยู่กับเราติดตัวเราไป แต่ว่าในแง่จิตใจเราไม่ทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะอะไรส่วนหนึ่งเพราะปรับตัวได้หรือว่ายอมรับสภาพได้ คนที่ตาบอดทีแรกเขาทุกข์ แต่พออยู่ไปๆ เป็นปีสองปีเขาปรับตัวได้ เพราะธรรมชาติของคนเราจิตใจปรับตัวได้เก่งมาก ร่างกายเหมือนกัน แต่ยิ่งถ้าเรามีสติ เรามีปัญญาจะช่วยเร่งให้สามารถจะข้ามพ้นความทุกข์ไปได้
แม้มีเคราะห์หรือว่าอุปสรรคยังมีอยู่ยังไม่ได้หายไปไหน แต่ใจเราไม่ได้ทุกข์ไปกับ อย่างอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่มยังพิการอยู่จนทุกวันนี้ แล้วเจ็บป่วยหนักขึ้น แต่ว่านั่นเป็นเรื่องของกาย แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ด้วย เพราะว่าท่านได้ใช้ช่วงเวลาที่ยังทำอะไรได้แม้พิการยังพลิกมือได้ พลิกมือไปมา พอได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อคำเขียน ทำด้วยความตั้งใจ ไม่ถึงเดือนเห็นผล สามารถที่จะเห็นความจริงว่า อ้อ ที่ทุกข์นี่ เป็นกายทุกข์ ไม่ใช่เราทุกข์ ไม่ใช่เราพิการ ที่พิการกายพิการ ใจเราไม่ได้พิการด้วย จิตลาออกจากความทุกข์ไปได้เลย การที่คนเราจะพ้นทุกข์ได้ไม่ได้แปลว่าไม่เจอทุกข์หรือไม่ใช่ว่าทุกข์หายไป ที่จริงแล้วต้องเจอทุกข์ถึงจะพ้นทุกข์ได้ เพระว่าทุกข์ทำให้เราเกิดปัญญาได้เหมือนกัน หรือว่าถึงแม้ยังมีทุกข์อยู่แต่ว่าทุกข์กาย ใจไม่ทุกข์แล้ว แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียวแต่ใจทุกข์ด้วยเพราะว่าใจหลง วางใจไม่เป็นเช่นยึดติดถือมั่นหรือว่าตีโพยตีพาย ปฏิเสธผลักไสทำให้ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ
ทุกข์กายบางทีไม่เท่าไรแต่ทุกข์ใจต่างหากที่ทำให้แย่ คนบางคนร่างกายไม่เป็นอะไรแต่ว่าป่วย ป่วยโน่นป่วยนี่ ความดันขึ้น ปวดท้อง ปวดหัว หาสาเหตุยังไงหาไม่เจอ สาเหตุทางกาย วัดตรวจเลือดยังไง วัดความดันยังไง ไม่มีอะไรผิดปกติทางกายภาพแต่ปัญหาคือใจต่างหาก ใจเครียด ใจทุกข์หรือใจวิตกกังวล หรือว่าโกรธ พวกนี้แหละที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ในขณะที่เราไม่มีความเจ็บความป่วยมาคุกคามรบกวนมาก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาปฏิบัติธรรมเพื่อตระเตรียมเอาไว้ เป็นการตระเตรียมเพื่อพร้อมเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี อย่าไปคิดว่าบุญกุศลที่เราทำด้วยการให้ทาน ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน จะทำให้เราไม่มีความเจ็บความป่วย ไม่มีเคราะห์มารบกวนรังควาน ของพวกนี้ไม่แน่หรอก ส่วนใหญ่ต้องเจอทั้งนั้นแหละ แต่เจอแล้วทำยังไงเราถึงจะผ่านไปได้ ผ่านไปได้คือว่าใจไม่ทุกข์ไปกับ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ยังหาสุขพบ ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ยังหาสุขพบ สุขอยู่ในทุกข์นั่นแหละ สุขอยู่ในทุกข์ หรือว่าทุกข์นั่นแหละเปิดโอกาสให้เห็นความสุขที่มีอยู่กับเราแล้ว ที่จริงเวลาเราป่วยตอนนั้นแหละที่เราตระหนักว่าที่จริงความสุขอยู่กับเราแต่เราไม่รู้ เราไม่เห็นไม่ตระหนัก นั่นคือการที่เรามีสุขภาพดี ถึงเวลาป่วยเราค่อยรู้ว่าอ้อเราปล่อยให้ของดีหลุดมือไปแต่ยังไม่สาย เพราะว่าคนที่เขาเจ็บป่วยแต่เขาทำให้ใจเป็นสุขได้ ความป่วยที่เกิดขึ้นเขารู้จักจำกัดครอบคลุม จำกัดวงให้ทุกข์แต่กาย แต่ว่าใจเป็นสุข อาจจะเป็นเพราะความทุกข์สอนให้เขาเห็นว่า อ้อ ที่ทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเราไปแบกเอาไว้ เพราะเราไปบ่นตีโพยตีพาย หรือมิฉะนั้นความทุกข์ผลักไสให้เขาได้เข้าหาธรรมะ ได้ศึกษาได้ปฏิบัติธรรม เวลาปกติธรรมดาสุขภาพดี มีโชคมีลาภไม่เคยนึกถึงเรื่องธรรมะ เพราะคิดว่าฉันสบายดีอยู่แล้ว จะปฏิบัติธรรมไปทำไม ฉันไม่ได้เป็นคนอกหัก ฉันไม่ได้เจ็บป่วย แบบนี้เราประมาท ประมาทโดยแท้ เพราะคิดว่าจะสุขสบายไปเรื่อยๆ
ที่จริงคนเราเมื่อสบายเมื่อไร นั่นหมายความว่าเอื้อเป็นโอกาสที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม คำว่าสบายเป็นภาษาบาลี คือสัปปายะ สบายเป็นภาษาไทยมาจากภาษาบาลีว่าสัปปายะ สัปปายะหมายถึงว่าสิ่งที่เกื้อกูลสำหรับการปฏิบัติ คนส่วนใหญ่เวลาสบายเพลิดเพลินในความสบายนั้นเรียกว่านั่งเล่นนอนเล่น คนไทยเวลาพูดถึงสบายจะหมายถึงอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องขวนขวายอะไร แต่ว่าสัปปายะในภาษาบาลีแปลว่าสิ่งที่เกื้อหนุนสำหรับการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ทำอะไรเลยไม่เรียกว่าสัปปายะ สัปปายะที่นี่มีอยู่ไม่น้อย และถึงแม้จะไม่อยู่ที่นี่ที่อื่นมีสัปปายะที่จะเอื้อให้เราได้ปฏิบัติธรรมผสมกับโชคที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะเป็นวัยดี สุขภาพดี หรือว่าโอกาสเช่น ไม่มีภาระในการที่ต้องดูแลลูกหลาน พ่อแม่ ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการทำมาหากิน แบบนี้เรียกเป็นโชคที่ทำให้เราสามารถจะปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมทำได้หลายอย่าง แต่สิ่งที่จำเป็นมากคือการฝึกให้รู้กายรู้ใจไม่ลืมกายไม่ลืมใจ
จุดหมายของสติหรือหน้าที่ของสติคือแบบนี้แหละ คนเราถ้าหากว่าลืมกายลืมใจหรือว่าไม่รู้จักตัวเอง ไม่หมั่นมองตนแล้ว ทำความดีต่างๆ ได้ยาก เพราะคนเราถ้าหากว่าไม่หมั่นมองตนปล่อยให้อกุศล ความโกรธ ความเกลียดหรือความประมาทครอบงำใจ จะทำความดีทำความดีได้ลำบาก สิ่งที่ทำไม่ใช่ความดีที่สมบูรณ์ ตั้งใจทำความดีอยากจะทำอาหารถวายพระแต่ว่าใจลอย ปรุงอาหารแทนที่จะใส่น้ำตาลไปหยิบเอาขวดเกลือมาเทลงไปหรือมาเหยาะลงไปอาหารไม่อร่อยสิ อาหารรสชาติแย่ อยากจะถวายของประณีตถวายพระ แต่ว่ากลับได้ผลงานที่ย่ำแย่ กลายเป็นว่าได้บุญไม่เต็มที่แม้เจตนาจะดีตามแต่ว่าวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นบกพร่องไป เรียกว่าเพราะไม่รู้สึกตัวเพราะว่าเพลินจมอยู่ในอารมณ์
คนเราจะปฏิบัติธรรมอะไรตามต้องกลับมารู้เท่าทันตัวเอง แล้วหมั่นฝึกฝนตนอยู่เสมอ หมั่นพินิจมองตนอย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ผู้มีปกติเพ่งพินิจย่อมพ้นบ่วงแห่งมาร ผู้มีปกติเพ่งพินิจหมายความว่าผู้ที่หมั่นพินิจตนเองอยู่เสมอ หมั่นมองตนอยู่เสมอ คนเราถ้าไม่มีนิสัยตรงนี้เกิดทุกข์ได้ง่ายและเวลาเกิดทุกข์แล้วมักจะโทษคนอื่น คนเราจะมองเพ่งโทษคนอื่นได้ง่ายมากแต่ว่ามองไม่เห็นตัวเองทั้งๆ ที่อาจจะทำอย่างเดียวกันแต่เวลาคนอื่นทำเห็นชัดส่วนตัวเองทำมองไม่เห็น แบบนี้เพราะไม่หมั่นมองตน
ในชาดกมีเรื่องหนึ่งสมัยที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์คือผู้ที่ยังไม่ตรัสรู้ยังเป็นหนุ่มชื่อว่าสุชาตะ สุชาตะหรือสุชาติ มีช่วงหนึ่งพ่อสูญเสียผู้บังเกิดเกล้าคือปู่ของสุชาตะ พ่อผูกพันกับผู้เป็นบิดามาก พอตายเศร้าโศกเสียใจ แม้กระทั่งเผาเสร็จแล้วทำสถูปให้เสร็จแล้วยังเสียใจ คร่ำครวญร้องห่มร้องไห้ไม่เป็นแบบทำงาน สุชาตะซึ่งเป็นผู้ลูกพยายามเตือนให้พ่อทำใจแต่เตือนอย่างไรๆ ไม่เกิดผล พ่อยังคร่ำครวญกินไม่ได้นอนไม่หลับ ผ่านไปเป็นอาทิตย์หรือใกล้จะเป็นเดือนแล้ว สุชาตะไม่รู้จะทำยังไง บังเอิญวันหนึ่ง วัวที่เลี้ยงเอาไว้ตัวหนึ่งเป็นวัวแก่ตาย ตายแทนที่จะเอาไปฝังสุชาตะปล่อยให้นอนอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วตอนเช้าไปเกี่ยวหญ้า เกี่ยวหญ้ามาเพื่อให้วัวที่ตายกิน วัวตายไม่กิน สุชาตะบอกว่ากินสิ กินสิ ทำไมไม่กิน เกี่ยวหญ้ามาให้แล้วทำไมไม่กิน พ่อเห็นอยู่อยู่ข้างๆ พูดกับสุชาตะว่าวัวตายแล้วจะกินหญ้าได้ยังไง หาหญ้ามาให้เท่าไรไม่มีวันฟื้นตายแล้ว ทำไมเจ้าเป็นคนสิ้นคิดแบบนี้ พอพ่อพูดเช่นนี้สุชาตะเลยพูดขึ้นมาเลยว่า พ่อวัวยังมีหัวให้เห็นยังมีตัวแขนขายังมี ถ้าหากว่าไม่สามารถจะกินหญ้าได้ แล้วปู่หล่ะ ปู่นี่ไม่เหลือแม้กระทั่งร่างแล้วอยู่ในสถูปเรียบร้อยแล้ว แล้วทำไมพ่อถึงคร่ำครวญเหมือนกับว่าอยากจะให้เขาฟื้นคืนขึ้นมา อย่างนี้ไม่ใช่คนสิ้นคิดเหรอ ยิ่งกว่าสิ้นคิดอีก พูดแรงมาก พ่อได้ยินได้สติเลย โอ้ใช่ เราไปว่าลูกว่าสิ้นคิดไม่ได้มองดูตัวเราเองว่าเราสิ้นคิดเหมือนกัน พ่อตายไปแล้วยังคร่ำครวญเหมือนอย่างว่าจะให้พ่อฟื้นคืนขึ้นมา เราไปว่าลูกว่าสิ้นคิด เรานี่ยิ่งกว่าลูกอีก พอได้คิดแบบนี้เข้าหายคร่ำครวญเลย
นี่เป็นธรรมดาของมนุษย์เวลาเราทำผิดทำพลาดเราไม่ค่อยเห็นหรอก แต่ถ้าคนอื่นทำอย่างเดียวกันเราเห็นชัดแล้วเราต่อว่าเขา คนหลายคนเป็นอย่างนี้ อย่างบางคนเป็นคนที่ชอบต่อว่าคนอื่นชอบใช้อารมณ์กับผู้อื่น มองไม่เห็น แต่เห็นคนอื่นว่าคนนั้นคนนี้นี่ปากร้ายชอบใช้อารมณ์ คอยเพ่งโทษว่าเขาว่าเป็นคนชอบใช้อารมณ์ชอบดุด่าว่ากล่าวปากไม่ดี แต่ไม่ค่อยได้เฉลียวใจว่าเราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หลายคนเป็นอย่างนั้นไปว่าคนนั้นคนนี้ว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ แต่ไม่ได้กลับมามองตนว่าเราเองเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คนเราถ้าไม่มีสติไม่หมั่นมองตนจะอยู่ในอีหรอบนี้แหละ การเห็นโทษของคนอื่นไม่ใช่ว่าเฉพาะคนธรรมดาถึงจะมองเห็น คนเมาคนบ้านี่เห็น
มีอาจารย์คนหนึ่งแกเล่าว่าชอบพาลูกชายไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ มีช่วงหนึ่งพาลูกชายไปบ้านสงเคราะห์คนชรา บ้านสงเคราะห์คนชรามีคนแก่ประเภทหงำเหงือกเยอะเลย บางคนป่วย บางคนความจำเสื่อม บางคนวิกลจริต มีคราวหนึ่งเห็นลุงคนหนึ่งกำลังแบกเก้าอี้เดินออกไปที่สนามหญ้า อาจารย์ถามว่าลุงจะไปไหน แกตอบว่าจะเอาต้นไม้ไปปลูก ต้นไม้ที่เห็นๆ ฉันปลูกมากับมือทั้งนั้นแหละ ว่าแล้วแกแบกเก้าอี้เดินไปที่สนามหญ้า อาจารย์คนนี้ต้องการที่จะกลมกลืนไปกับลุงคนนี้เลยแบกเก้าอี้ตามไปด้วย เดินตามหลังติดๆ เลย ลุงแกรู้แกเลยหันหลังกลับมาถามว่านี่จะทำอะไร อาจารย์บอกว่าจะแบกต้นไม้ไปปลูกตามลุงไง ลุงแกพูดขึ้นมาว่าจะบ้าหรือไงไอ้ที่เธอแบกเป็นต้นไม้ที่ไหนเป็นเก้าอี้ ตัวเองแบกเก้าอี้แต่ไม่รู้ตัวแต่ไปว่าอาจารย์ว่าบ้าเพราะแบกเก้าอี้ แบบนี้แปลว่าอะไร แปลว่าไม่รู้ตัวเอง เห็นว่าคนอื่นประหลาดที่แบกเก้าอี้เหมือนกับว่าจะไปปลูกต้นไม้ แต่ตัวเองแบกเก้าอี้แท้ๆ แต่บอกจะไปปลูกต้นไม้กลับมองไม่เห็น คนบ้าเขารู้เรื่องแต่เขารู้เรื่องเฉพาะไอ้สิ่งรอบตัวเขา เขารู้ว่าใครทำอะไรผิดปกติ แต่เขาไม่สังเกตหรือไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองผิดปกติอย่างไรบ้าง คนที่เห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่นแต่ไม่เห็นตัวเอง แบบนั้นเรียกว่าค่อนไปทางบ้า หรือว่าถ้าพูดให้คลุมๆ คือว่าหลง
คนเราถ้าไม่รู้จักตัวเองเรียกว่าหลง ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเป็นอย่างไรบุคลิกตัวเองเป็นอย่างไร แบบนี้เรียกว่าหลง คนโกรธเขาไม่ค่อยรู้ตัวว่าตัวเองโกรธเพราะตอนนั้นเขากำลังหลง เขาเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่น และเพราะหลงนี่แหละเวลาทุกข์เลยโทษคนอื่นว่าทำให้ตัวเองทุกข์ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นที่ใจของตัวหรือเปล่าหรือเป็นเพราะว่าตัวเอง คนเราทุกข์เพราะเหตุนี้เยอะ คือมองไม่เห็นว่าสาเหตุมาจากใจของตัวเอง ไปแบกทุกข์เอาไว้แต่ไปโทษว่าคนนั้นคนนี้ทำให้เราทุกข์ ที่จริงแม้กระทั่งคนที่แบกก้อนหินแล้วบอกว่าเหนื่อยๆๆ แล้วด่าก้อนหินว่าทำไมหนัก ทำไมใหญ่อย่างนั้น แบบนี้ไม่ต่างจากคนหลง เพราะว่าถ้าหนักจริงไปแบกทำไม ที่ผู้คนต่างๆ ทุกข์ ทุกข์เพราะว่าปัญหาเยอะ บ่นว่าปัญหาเยอะ ภาระมาก แบบนี้ไม่ต่างจากคนแบกก้อนหินแล้วด่าก้อนหินว่าทำไมมึงหนักอย่างนี้ แต่ไม่ถามตัวเองว่าแล้วทำไมเราไม่วางลง ก้อนหินหนักแบบนี้เป็นธรรมดาของอยู่แล้ว จะไปบอกให้าเหมือนนุ่นไม่มีทางเป็นไปได้
สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่ว่าด่าบ่นหรือว่าขอร้องให้าลงกลายเป็นนุ่น ถ้าเราทำอย่างนั้นเราโง่ สิ่งที่เราควรทำคือวางลงซะ แต่เพราะว่าเราไม่รู้ตัว อย่างที่หลวงพ่อชาพูดเวลาเจอหลุมแล้วเราเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้าหากว่ามือล้วงไม่ถึงก้นหลุมร้อยทั้งร้อยจะพูดว่าหลุมลึก แต่ไม่มีใครสักคนบอกว่าแขนเราสั้น คือเรามีแนวโน้มที่จะโทษสิ่งภายนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มองกลับมาที่ตัวเอง เห็นความผิดของคนข้างนอกชัดเจนแต่ว่ามองไม่เห็นความผิดของตัวเองทั้งๆ ที่ ถ้าหมั่นมองสักหน่อยจะเห็นว่าชัดเจนมาก การมองตนนั้นสำคัญมากทีเดียว แบบนี้เป็นวิสัยของบัณฑิต บัณฑิตย่อมหมั่นมองตนอยู่เสมอ และเมื่อหมั่นมองตนมีปกติเพ่งพินิจจักพ้นบ่วงแห่งมาร คือพ้นทุกข์นั่นแหละ แต่ว่าการมองตนบางทีต้องอาศัยการมองคนอื่นด้วย การมองคนอื่นจะช่วยทำให้มองเห็นตัวเองได้ง่ายเหมือนกัน เช่นเวลาเราพูด เราพูดไปๆ คนฟังนี่หลับหมดเลย แบบนี้เป็นสัญญาณบอกว่าเราอาจจะพูดไม่ได้เรื่อง พูดน่าเบื่อ บางทีการที่เราเห็นสีหน้าหรือปฏิกิริยาของคนอื่นทำให้เราเห็นตัวเอง เวลาเราพูดไปแล้วคนส่ายหัวแสดงว่าสิ่งที่เราพูดไม่เข้าท่า
การรู้จักมองผู้อื่นมองภายนอกมีประโยชน์เหมือนกันที่ทำให้เราเห็นตัวเอง ที่จริงในสติปัฏฐานสี่ที่บอกว่าให้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เห็นเวทนาในเวทนาเป็นประจำ เห็นจิตในจิตเป็นประจำ เห็นธรรมในธรรมเป็นประจำ ยังมีการต่อเติมตอนท้ายๆ ของทุกสติปัฏฐานว่า อย่างเช่นถ้าในเรื่องเห็นกายในกายท่านพูดว่าเห็นกายในกายภายในอยู่เนืองๆ แล้วต่อมาบอกเห็นกายในกายภายนอกอยู่เนืองๆ กายในกายภายในคือเรานั่นแหละ คือกายของเรานั่นแหละ ส่วนกายในกายภายนอกคือกายของคนที่อยู่รอบตัวเรา การที่เราเห็นสังเกตร่างกายอากัปกิริยาของคนที่อยู่ข้างนอกหรือคนที่อยู่รอบตัวเราทำให้เราเห็นตัวเราเองได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันถ้าเรารู้เวทนาหรือเข้าใจเวทนาของคนที่อยู่รอบตัวเรา ทำให้เราเห็นเวทนาหรือรู้เวทนาในตัวเราได้เหมือนกัน
ถ้าเรามองภายนอก ถ้าเรามองให้เป็นทำให้เราเห็นตัวเองได้เพราะว่าคนข้างนอกหรือคนที่อยู่รอบตัวเราเหมือนกับกระจกที่สะท้อนให้เราเห็นตัวเอง บางคนไม่สังเกตเลยว่าผู้คนรอบข้างเขาเบื่อหน่ายเราอย่างไรบ้าง บางทีเราพูดเสียงดัง บางทีเราเห็นแก่ตัว เพียงแค่สังเกตอากัปกิริยาของคนที่อยู่รอบข้างจะรู้ว่า เราทำตัวไม่น่ารัก แต่คนหลายคนไม่สังเกตนึกถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา พอไม่สังเกตปฏิกิริยาของคนรอบตัวเลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีพฤติกรรมน่าเบื่อน่าระอาอย่างไรบ้าง แบบนี้ไม่ถูก การมองข้างนอกถ้ามองเป็นไม่ใช่ส่งจิตออกนอกหรือว่าเพ่งโทษผู้อื่น แต่มองเพื่อจะเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวเอง แบบนี้เป็นวิสัยของบัณฑิต รวมถึงการเปิดใจรับฟังคำตำหนิหรือว่าคำวิจารณ์ด้วย ถ้าได้ฟังและมองว่าเขากำลังชี้ขุมทรัพย์ โอกาสที่เราจะเป็นบัณฑิต โอกาสที่เราจะได้พัฒนาตน จะมีมากขึ้น
การปฏิบัติธรรมแม้กระทั่งการเจริญสติไม่ใช่จำกัดเพียงแค่ว่าให้มารู้กายรู้ใจของตัวเท่านั้น หรือว่าให้กลับมามองตน แบบเรียกว่าไม่มองคนอื่นเลยนั่นไม่ใช่ ต้องหมั่นมองคนอื่นด้วย หมั่นสังเกตปฏิกิริยาของคนอื่น เพื่อจะได้มาช่วยให้รู้เท่าทันตัวเอง ถ้ามองไม่เป็นกลายเป็นการเพ่งโทษ ทั้งที่ตัวเองทำผิดทำพลาดแต่มองไม่เห็น แต่ถ้ามองเป็นทำให้เราเห็นว่าเรามีข้อที่ควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไรบ้าง อย่างนี้เป็นวิสัยของบัณฑิตที่ต้องฝึกตนอยู่เสมอ