แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อสัก 20 ปีก่อน ได้เคยจาริกไปทางภาคเหนือแล้วก็ไปเยือนตามหมู่บ้านชาวเขาบนดอยแม่สลอง ไปครั้งนั้นผู้จัดเรียกว่าธรรมยาตรา น่าจะชื่อธรรมยาตราสู่ป่าเขา มีทั้งพระทั้งโยม คนไทยก็มี ฝรั่งก็หลายคน ประมาณสัก 30-40 คนได้ การจาริกแบบนี้ต้องขึ้นเขาอยู่แล้ว ขึ้นเขาตั้งแต่วันสองวันแรกเลย แต่ละคนต้องแบกสัมภาระไปเอง คือมีเป้ติดหลัง พระก็ต้องเอาบาตรไปด้วย ตอนก่อนจะเดินขึ้นเขา พวกคนแข็งแรงคนหนุ่มคนสาวโดยเฉพาะฝรั่งเดินแซงไป เราก็เดินตามหลัง ยิ่งตอนขึ้นเขาด้วยแล้วก็ทิ้งห่างกัน ตอนที่เดินขึ้นเขาก็เหนื่อย สัมภาระหนักด้วย ยิ่งเดินยิ่งหนัก เขาก็ชัน เดินไปได้สัก 10 นาที 15 นาที เหนื่อยแล้ว หอบแล้ว ต้องนั่งพัก บังเอิญมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นชาวเขาพูดแนะนำวิธีการเดินขึ้นเขาว่า ให้เดินช้าๆ แล้วก็อย่าหยุด
อย่าหยุดคืออย่าพัก เดินไปเรื่อยๆ ข้อแรกนี่พอจะไหว แต่ข้อสองทำได้หรือเดินไม่หยุด นี่ขนาดเราเดินแค่ 10 นาทีก็เหนื่อยแล้ว แต่ก็เอาที่เขาแนะนำมาคิด แล้วลองทำตามดู ก็พบว่าเดินอย่างปกติของเรายังเรียกว่าเดินเร็วอยู่ จะเดินช้าๆ โดยไม่หยุดพักมันก็ต้องเดินให้ช้ากว่านั้น ก็พยายามเดินแบบที่เรียกว่าค่อยๆ ย่างเลย คล้ายๆ สโลว์โมชั่นก็ว่าได้ เหมือนกับภาพหนังที่หน่วงสปีดให้ช้าลง พยายามเดินให้ช้ากว่าที่เคยเดิน แต่พอทำไปสักพัก ก็เผลอเดินเร็วขึ้น เดินเหมือนกับที่เดินตามปกติ ก็รู้สึกเหนื่อยขึ้นมาทันที ต้องคอยเตือนตัวให้เดินช้ากว่านี้ ในขณะเดียวกันก็ตามลมหายใจไปด้วย เพราะถ้าไม่ตามลมหายใจ หรือไม่ควบคุมลมหายใจ จะหายใจแบบถี่สั้น เวลาเดินขึ้นเขา ลมหายใจสำคัญมาก เพราะจิตมาอยู่ที่ลมหายใจ เพื่อควบคุมลมหายใจให้ผสานไปกับการเดิน เผลอสักพักจิตก็หลุดไปข้างหน้าแล้ว ใจไปพะวงถึงจุดหมายข้างหน้า คือต้องไปพักพิงที่หมู่บ้านชาวเขา ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกสุดที่เราจะไปถึง ตอนที่เริ่มเดินก็ประมาณสายๆ ประมาณ 8 โมงครึ่ง เดินไปสักพัก ก้าวไปไม่กี่ก้าว ใจก็ไปข้างหน้าอีกแล้ว ต้องดึงมันกลับมา เพราะพอใจเราไปข้างหน้าแล้ว เท้าจะสาวเร็วขึ้น ซึ่งทำให้เหนื่อย จะเดินให้ช้า ใจต้องอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน จะทำอย่างนั้นได้ต้องให้ใจผสานกับลมหายใจ มากำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ให้ลมหายใจผสานกับเท้าแต่ละก้าวที่เดิน มันก็เริ่มเดินช้าลง แต่ว่าความเคยชินเดิมๆ ยังมีอยู่ พอเผลอเมื่อไหร่จะสาวเท้าเร็วขึ้น ซึ่งก็จะเหนื่อย
การเดินจริงๆ พอจะเดินให้ช้าลง เรารู้เลยว่าต้องมีสติอยู่กับการเดิน จะปล่อยใจลอยไม่ได้ เพราะปล่อยใจลอยเมื่อไหร่มันจะไปอยู่ข้างหน้าแล้ว จะไปสนใจจุดหมาย ความอยากจะไปให้ถึงเร็วๆ จะทำให้เราสาวเท้าเร็วขึ้น รู้เลยว่าถ้าจะเดินช้า ต้องวางเป้าหมายข้างหน้าลง ความคิดว่าต้องถึงเร็วๆ ให้ไวๆ ให้ทันเพล ต้องวางลง แต่จะทำอย่างนั้นได้ ต้องให้จิตมาอยู่ที่ลมหายใจ และพยายามบังคับตัวเองให้เดินช้า ซึ่งไม่ใช่เป็นสปีดปกติของเรา เพราะฉะนั้นต้องกำกับให้จิตอยู่กับการเดินตลอดเวลา ปรากฏว่าเดินได้ เดินขึ้นเขาได้ทีละนิดๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่าไม่เหนื่อย หนุ่มๆ คนแข็งแรงเขาเดินแซงไป ก็ปล่อยเขาไป ตัวเองก็ค่อยๆ เดินเคลื่อนเหมือนกับรถที่ค่อยๆ เคลื่อนขึ้นเขาไป ความรู้สึกเหนื่อยก็ไม่ค่อยมีแล้ว กลายเป็นว่าเดินไปสักพักหนึ่ง ก็แซงคนที่เคยเดินไปข้างหน้า คนที่เคยเดินแซงเราตอนนี้ก็นั่งพักแล้ว ส่วนเรายังเดินไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องหยุดพัก เพราะเหมือนกับได้พักอยู่ทุกก้าว เพราะว่าเราเดินช้าลง แล้วหายใจเข้าลึกๆ หายใจยาวๆ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมาพักแบบเหนื่อยหอบ ก็พบว่าพอเราเดินช้า ไม่ต้องหยุดพักอย่างที่มัคคุเทศก์ชาวเขาแนะนำ ค่อยๆ เดินไป กลับแซงคนที่เคยเดินขึ้นหน้าไปทีละคนสองคนสามคนเดินไปเรื่อยๆ แซงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่คนที่เดินเร็วสุดท้ายต้องพักกลางทาง ตอนพักนี่ล่ะที่ทำให้เสียเวลา คนที่อยากจะเดินเร็วแล้วเขาก็เดินก้าวเท้าไวๆ ปรากฏว่าเขาต้องเสียเวลาในการพัก ส่วนเราเนื่องจากเดินช้า แต่ละก้าวก็เหมือนกับพักไปในตัว เลยไม่ต้องหยุดพัก เดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพอถึงพื้นราบหรือพื้นที่ที่มันลาดชันน้อยก็ยังเดินได้สบาย
ปรากฏว่าสองชั่วโมงเดินโดยไม่หยุดเลย สุดท้ายไปถึงหมู่บ้านชาวเขาซึ่งเป็นจุดพักเพลเป็นคนแรก ทั้งๆ ที่ตอนเริ่มเดินถูกทิ้งเรียกว่ารั้งท้าย ก็แปลกใจว่าเราเดินช้า แต่ทำไมถึงเร็วหรือถึงก่อนใคร เห็นเลยว่าคนที่เดินเร็วในที่สุดกลับถึงช้า จึงได้แง่คิดว่าการเดินขึ้นเขา ถ้าเดินช้าจะถึงเร็ว แต่ถ้าเดินเร็วจะถึงช้า และได้เรียนรู้ว่าถ้าจะเดินให้ช้าต้องวางจุดหมายปลายทางข้างหน้าเอาไว้ก่อน เพราะถ้านึกเมื่อไหร่ วิสัยคนเมืองก็อยากจะไปให้ถึงเร็วๆ ได้เรียนรู้ว่าการเดินไม่ได้อาศัยเท้าอาศัยแรงอย่างเดียวต้องอาศัยใจด้วย และใจไม่ได้หมายถึงใจที่อึด ใจที่อดทนอย่างเดียว แต่หมายถึงใจที่มีสติ ใจที่มีสมาธิ มีสติช่วยทำให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปคิดถึงเป้าหมายข้างหน้า เพราะถ้าคิดแล้วจะเป็นทุกข์ เพราะจะนึกขึ้นมาในใจว่า เมื่อไหร่จะถึงๆ อีกตั้งนานกว่าจะถึง พอคิดแบบนี้เข้า จะรีบเดินให้เร็วขึ้น มันเป็นอัตโนมัติเลย แต่พอใจเราวางจุดหมายข้างหน้า มาอยู่กับปัจจุบัน ก็เหนื่อยแต่กายแต่ใจไม่ทุกข์แล้ว ยิ่งเอาใจมามีสมาธิกับลมหายใจด้วยแล้ว ให้การหายใจประสานกับเท้าแต่ละก้าวที่เดิน ปรากฏว่าร่างกายได้พัก ร่างกายได้อากาศ ไม่จำเป็นต้องหยุดพักแล้วก็หายใจเหนื่อยหอบ เพราะแต่ละก้าวๆ เราก็หายใจ เราได้อากาศมาหล่อเลี้ยงกายอยู่แล้ว ส่วนใจที่มีสติ มันก็ไม่ทุกข์ และพลอยเป็นสมาธิ แล้วเดินไปๆ แบบนี้ ใจเป็นสมาธิได้เร็วมาก ใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าใจล่องลอย ใจคิดนู่นคิดนี่ มันทุกข์โดยเฉพาะคิดไปถึงจุดหมาย
ตอนหลังได้นำวิธีนี้ไปใช้กับการเดินขึ้นเขา ไม่ว่าเขาสูงแค่ไหน ไม่ว่าเป็นที่เวียดนามหรือว่าที่ศรีลังกา จุดหมายที่เคยเดินขึ้นเขาที่ศรีลังกาคือศรีปาทะ หรือ ศรีบาทา ซึ่งเป็นที่ที่คนศรีลังกานับถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งของชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวฮินดู หรือแม้กระทั่งกับของชาวมุสลิม แล้วเขายังมีประเพณีเดินขึ้นเขาศรีปาทะ ในช่วงประมาณต้นปีมกราคม กุมภาพันธ์ เพราะอากาศกำลังดีฝนไม่ตก แล้วก็ไม่ร้อน เคยตื่นประมาณเที่ยงคืนแล้วเดินขึ้นไปถึงที่เชิงเขาประมาณตีหนึ่ง แล้วเดินขึ้นต่อไปอีก ข้ามเขาประมาณสองลูก กว่าจะถึงยอดเขาซึ่งสูงประมาณ 2,000 เมตร สูงกว่าดอยอินทนนท์ เป็นเขาที่ชัน มองไกลๆ ตอนแรกท้อเลย คือตอนมองตอนกลางวัน เพราะว่าเป็นเหมือนกับสามเหลี่ยมแบบปีระมิด โดดเด่นเป็นสง่ามาก ก็ใช้วิธีการเดินอย่างที่ได้เรียนรู้มาที่ดอยแม่สลอง เดินช้าๆ ไม่สนใจจุดหมายข้างหน้า ใจอยู่กับปัจจุบัน มองไปที่พื้นข้างหน้า แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ ซึ่งที่จริงง่ายกว่าเดินขึ้นดอยแม่สลอง เพราะว่าชันน้อยกว่า แล้วก็มีบันได แถมไม่ต้องแบกสัมภาระ ไม่ต้องแบกเป้ ไม่ต้องแบกบาตร เดินไปเรื่อยๆ แต่ละก้าวก็เหมือนกับว่าได้พักไปในตัว ปรากฏว่าสามารถเดินได้โดยไม่หยุด กลางทางก็มีที่พักนะ พวกหนุ่มๆ สาวๆ รีบเดินจ้ำๆ ไปเสร็จแล้วก็ไปพักกันตรงกลางทาง แต่เราเดินไปเรื่อยๆ เหมือนเต่า กระต่ายก็แซงไปๆ ก็ยังเดินไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่หยุด ไปถึงยอดเขาประมาณตีห้า ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง เป็น 3 ชั่วโมงที่ไม่ได้หยุดพัก แล้วก็สามารถจะไปถึงทันเห็นพระอาทิตย์ขึ้น เป็นประสบการณ์การเดินขึ้นเขาซึ่งก็เป็นบทเรียน หรือเป็นแง่คิดให้กับการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมบางทีก็ไม่ต่างจากการเดินขึ้นเขา ถ้าวางใจไม่เป็นก็จะรีบ ไม่ว่าจุดหมายจะเป็นความสงบ ความรู้สึกตัว หรือว่าการเห็นรูปนาม หรือการเห็นไตรลักษณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ความหลุดพ้น หลายคนเวลาปฏิบัติไม่ว่าจะสร้างจังหวะ เดินจงกรม ตามลมหายใจ ใจมันไปอยู่ที่จุดหมายแล้ว แล้วก็จะเอาให้ได้ บางทีปฏิบัติไปก็เร่งจังหวะการเดินก็มี เร่งจังหวะการยกมือก็มี หรือถึงจะยังทำช้าๆ แต่ว่าใจมันรน แล้วความที่จะเอาให้ได้ๆ เลยเกิดอาการเกร็ง พยายามไปบังคับจิตให้ได้ความสงบอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าหากเปลี่ยนมาเป็นการทำแบบสบายๆ เหมือนกับเวลาเดินขึ้นเขาเดินสบายๆ ไม่ต้องรีบให้ไปให้ถึง ใจก็จดจ่ออยู่กับบันไดขั้นสองขั้นที่อยู่ข้างหน้า หลายคนพอมองไปที่ยอดเขาหรือมองไปที่จุดหมายขณะที่เดินขึ้นเขา มันก็ล้าก็เหนื่อย พอเรากำหนดการมองให้อยู่แค่บันไดสองบันไดข้างหน้า ไม่ต้องสนใจว่าจะต้องเดินอีกกี่ร้อยอีกกี่พันขั้น ใจมันสงบได้ง่าย ใจเป็นสมาธิ และไม่รู้สึกเหนื่อย
การเดินขึ้นเขาไม่ได้อาศัยกาย ไม่ได้อาศัยเท้า ไม่ได้อาศัยแรงอย่างเดียว ต้องอาศัยใจ ต้องเดินด้วยใจ ไม่ได้เดินด้วยเท้า ยิ่งการปฏิบัติธรรมด้วยแล้วเป็นเรื่องของการวางใจ เรียกว่าแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ การยกมือ การเดิน รูปแบบการเดินการยกมือ การสร้างจังหวะเป็นเรื่องรองหรือว่าเป็นแค่วิธีการเท่านั้น ถ้าวางใจไม่เป็น คิดแต่จะเอาๆ ให้ได้ ในที่สุดก็อาจจะทำไม่ได้ อาจจะท้อ เหมือนกับคนที่เดินเขา หลายคนพอเดินเร็วแล้วมันเหนื่อย ก็ไม่ยอมหยุด ก็จะเดินให้ได้จะให้ถึงยอดเขา หรือให้ถึงจุดหมายปลายทางไวๆ ร่างกายมันไม่ไหวแล้วก็ยังไม่ยอม จะเอาให้ได้ จะไปให้ถึงไวๆ ให้ถึงในที่สุด ปรากฏว่าเท้าเดี้ยง เท้าแพลง กลายเป็นว่ายิ่งอยากให้ถึงไวๆ กลับไปไม่ถึง เพราะร่างกายไม่ไหว เท้าพลิกเส้น เส้นพลิกเท้าแพลง นักปฏิบัติหลายคนเป็นอย่างนั้นนะ พอใจคิดแต่จะเอาๆ ให้ได้ก็พยายามเร่งมือ พยายามทำเต็มที่ ร่างกายไม่ไหว ก็ยังไม่ยอมหยุดจะเอาให้ได้ สุดท้ายอาจจะเกิดความท้อขึ้นมา หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำให้เนิ่นช้า
ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระโสณะ พระโสณะมีหลายรูป องค์นี้เรียกพระโสณโกฬิวิสะ เดิมเป็นคนดีดพิณในราชสำนัก ตอนหลังมีศรัทธามาบวช และมีศรัทธามากในการปฏิบัติ อิริยาบถที่ใช้เป็นประจำคือการเดิน จงกรม ก็เดินอย่างเรียกว่าไม่ท้อถอย ทำความเพียรอย่างยิ่งยวด แต่เนื่องจากเป็นคนที่หนังเท้าอ่อน เพราะว่าเป็นพวกสุขุมาลชาติ สุขุมาลชาติหนังจะบาง เดินจงกรมต้องเดินถอดรองเท้า สมัยก่อนพระไม่มีรองเท้า รองเท้าเพิ่งมามีช่วงไม่กี่สิบปีหลังนี่เอง เดินจงกรมไปเดินมาเท้าก็แตก เท้าแตกก็ยังไม่ยอมหยุดเดิน ปรากฎว่าเดินจนเลือดไหลซิบๆ เปื้อนตามทางเดิน ก็ยังไม่ยอมหยุดจะเดินต่อไป สุดท้ายเรียกว่าแทบจะคลานเลยนะ ก็ยังไม่บรรลุธรรมอย่างที่ต้องการ จนกระทั่งเกิดความท้อ จากคนที่ทำความเพียรอย่างมากมีความตั้งอกตั้งใจอย่างมาก ในที่สุดก็สวิงไปอีกทางคือว่าท้อแล้วไม่อยากจะปฏิบัติแล้ว
พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาพอดีแล้วถามพระโสณะว่า ท่านเคยดีดพิณใช่ไหม พิณมีสามสาย ถ้าสายแรกเป็นสายที่หย่อน ถ้าขึงแล้วมันหย่อน ดีดแล้วเพราะไหม พระโสณะบอกว่า ไม่เพราะ แล้วถ้าสายที่ตึง ตึงมากๆ ดีดแล้วเพราะไหมก็ไม่เพราะ อาจจะขาดด้วยซ้ำ สายพิณต้องขึงพอดีๆ ถึงจะดีดได้เพราะ การทำความเพียรก็เช่นเดียวกัน ต้องทำความเพียรแต่พอดี เพราะว่าถ้าทำความเพียรมากไปใจฟุ้งซ่าน ถ้าเพียรน้อยไปก็เกิดความขี้เกียจ พอพูดอย่างนี้พระโสณะก็ได้สติ แล้วก็ทำความเพียรให้พอดี ทำความเพียรให้พอดีไม่ได้เรียกว่าทางสายกลาง ทางสายกลางเป็นเรื่องของสัมมา เรื่องของการปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าส่วนความพอดีเป็นเรื่องของไม่มากไม่น้อย คนที่สูงพอดีคือคนที่ไม่สูงมาก แล้วก็ไม่เตี้ย ความพอดีเป็นเรื่องของปริมาณ ไม่มากไม่น้อย ส่วนทางสายกลางเป็นเรื่องของคุณภาพ อันนี้พูดแบบให้เห็นภาพชัดๆ ไม่เกี่ยวกับปริมาณ ทางสายกลางคืออยู่ตรงกลางระหว่างความหมกมุ่นในกามกับการทรมานตน ไม่เกี่ยวกับการสูงน้อยกว่าหรือว่าเตี้ยมากกว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องปริมาณ ความเพียรก็เหมือนกัน ความเพียรมีทั้งเพียรมากเพียรน้อยและเพียรพอดี คำว่า ความเพียรแต่พอดี เรียกว่าวิริยะสัมมัตตา คราวนี้พอพระพุทธเจ้าแนะนำให้พระโสณะเพียรแต่พอดี ซึ่งที่จริงหมายถึงการวางใจให้พอดีๆ คือใจไม่ต้องคิดจะเอาๆ ทำใจให้สบายให้ผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ใช่หย่อน ถ้าทำใจให้เครียดให้ตึง ก็จะเพียรเกินความพอดีไป แต่ถ้าทำใจให้ผ่อนคลายแต่ไม่ถึงกับหย่อนมาก ก็ทำให้ความเพียรเป็นไปแบบพอดี พอทำอย่างที่พระพุทธเจ้าแนะนำคือทำความเพียรแต่พอดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าทำน้อยกว่าเดิม แต่หมายถึงทำใจให้พอดีๆ ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด คือเมื่อทำด้วยใจที่ผ่อนคลาย โอกาสที่จะเห็นธรรมก็เป็นไปได้
คล้ายๆ กับเรื่องตรงข้ามกับพระโสณะคือเรื่องของพระอานนท์ พระอานนท์ที่จริงก็คล้ายกันในบางส่วน คือพระอานนท์ท่านเป็นโสดาบันก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็มีการตกลงว่าจะทำสังคายนา ประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งธรรมและวินัย ก็ตกลงว่าจะมีพระมาร่วมสังคายนา 500 รูป และต้องเป็นพระอรหันต์ พระมหากัสสปะท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดสังคายนา ท่านกำหนดพระอรหันต์ 499 รูป เหลือไว้อีกรูปหนึ่งสำหรับพระอานนท์ ที่ต้องเหลือสำหรับพระอานนท์เพราะท่านเป็นพระอุปัฏฐากที่เป็นพหูสูตร ทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ละเอียดตลอดยี่สิบกว่าพรรษาที่ได้อุปัฏฐาก แต่พระอานนท์ติดขัดตรงที่ว่ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ให้เวลาท่านในการทำความเพียรเพื่อว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์จะได้มาร่วมสังคายนา พระอานนท์ก็ทำความเพียรมาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงวันสุดท้ายก่อนจะถึงวันสังคายนา ท่านทำความเพียรจนกระทั่งถึงกลางคืนแล้วก็เกือบจะเช้าของวันที่ทำสังคายนา ท่านก็ยังไม่บรรลุธรรม พอเวลาใกล้เข้ามาๆ ท่านก็ทำความเพียรมากขึ้น แต่ยิ่งทำเท่าไหร่ก็ยังไม่ประสบผลสักที จนกระทั่งท่านรู้สึกล้า ท่านคิดว่าควรต้องพักสักหน่อย ช่วงที่ท่านจะเอนตัวลงนอน คือเท้าลอยจากพื้นแล้ว แต่ศีรษะยังไม่ได้ถึงหมอน ด้วยความที่ใจท่านผ่อนคลาย จิตที่เคยตึงก็เริ่มกลับมาสู่ความพอดี ในภาวะเช่นนั้นแหละที่ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นการบรรลุธรรมในอิริยาบถที่จะเรียกว่านั่งก็ไม่ใช่นอนก็ไม่เชิง เป็นรูปเดียวในสมัยพุทธกาลที่บรรลุธรรมในภาวะนั้น และเป็นการบรรลุธรรมในขณะที่กำลังจะพักผ่อน ตรงข้ามขณะที่ทำความเพียรอย่างหนัก ไม่ได้มีความก้าวหน้าอะไรเลย อันนี้ก็คล้ายๆ พระโสณะตรงที่ว่ามาบรรลุธรรมได้ต่อเมื่อทำความเพียรแต่พอดี ถ้าทำความเพียรมากไปก็ไม่ดีนะ เพราะว่าทำให้ฟุ้งซ่าน สมาธิมากไปก็ไม่ดีเพราะทำให้เกิดถีนมิทธะ อินทรีย์ 5 ประกอบด้วยคู่สองคู่ คู่หนึ่งก็คือสมาธิกับวิริยะต้องพอดีๆ และตัวที่ทำให้พอดีได้คือสติ สติไม่มีคำว่ามากเกินไป ไม่มีคำว่าเกินพอดี มากเท่าไหร่ก็ดีเท่านั้น แต่ว่าวิริยะกับสมาธิต้องพอดีกัน ถ้าวิริยะมากเกินไป สมาธิก็แย่ ถ้าสมาธิมากเกินไป วิริยะก็คลาย เรียกว่าคลายความเพียร
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของพวกเราให้ระลึกอยู่เสมอว่า จะเร่งจะรีบไม่ได้ คิดแต่จะเอาๆ ให้ได้มันก็ไม่ถูก ทำความเพียรนั้นดีแล้ว แต่ว่าทำความเพียรพอดี เวลาทำความเพียรก็ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปคิดถึงเป้าหมายว่าจะต้องเอาให้ได้ ยิ่งถ้าจะรีบทำให้ถึงจุดหมายไวๆ มีเดดไลน์มีเป้าหมายต้องไปให้ถึงวันนี้วันนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ ยิ่งกลับกลายเป็นการเนิ่นช้า ต้องวางจุดหมายแล้วก็ทำสบายๆ ให้ถือคติว่า “ ทำช้าจะถึงเร็ว แต่ถ้าทำเร็วหรืออยากให้ถึงเร็วกลับถึงช้า” เดินช้าๆ ไม่สนใจเป้าหมายกลับถึงเป้าหมายเร็ว ไม่ว่าจะเดินเขาหรือเดินทางไกลก็ตาม ถ้าเดินอยากให้ถึงไวๆ กลับถึงช้า หลวงพ่อเทียนท่านยังสอนนักปฏิบัติใหม่ๆ ว่า ให้ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆ คือว่าทำโดยที่ไม่สนใจจุดหมาย ไม่คิดจะเอา จะผิดจะพลาดอย่างไรก็ไม่เป็นไร มันจะหลงไม่เป็นไรเอาใหม่ ฟุ้งไม่เป็นไรเอาใหม่ แต่ว่าทำจริงๆ ก็คือทำไม่หยุด เหมือนกับคนที่เดินช้าๆ แต่ว่าต้องเดินไม่หยุด มันจะถึงเร็ว แต่ถ้าเดินช้าแล้วขี้เกียจ ไม่เดินบ้าง หยุดบ้าง ถึงช้า เดินช้าๆ แต่ว่าเดินไม่หยุดเดินเรื่อยๆ จะถึงเร็ว