แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีพุทธภาษิตประโยคหนึ่งซึ่งเราควรให้ความสนใจ เป็นพุทธภาษิตซึ่งพวกเราคงเคยได้ยินผ่านหูมาหลายครั้ง สาธยายด้วยกันที่หอไตรด้วยกันก็บ่อย พุทธภาษิตนั้นก็คือ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยใจหรือว่าสำเร็จแล้วที่ใจ
ข้อความนี้มันมีความหมายหลายแง่หลายมุม ซึ่งถ้าเราระลึกถึงอยู่เสมอแล้วเราเข้าใจอย่างแจ่มชัด มันก็จะช่วยในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติในความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น รวมทั้งในการเข้าใจตัวเองด้วย
คำว่าธรรมทั้งหลาย ที่ว่ามีใจเป็นใหญ่ ธรรมะในที่นี้หมายถึงทุกสิ่ง ยกตัวอย่างเช่น การพูดดี การทำดี ก็ต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน คนเรานี่ถ้าหากว่าใจเป็นอกุศลแล้ว จะให้พูดดีทำดี พูดเป็นกุศลทำเป็นกุศลก็ยาก ก็เป็นความหมายหนึ่งซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า การกระทำหรือพฤติกรรมของเราก็มีที่มาอยู่ที่ใจ แต่ความหมายมีมากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น สุขหรือทุกข์อยู่ที่ใจ สุขกายยังไงไม่สำคัญเท่าสุขใจ เราเคยได้ยินคำว่า คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก คนที่ติดคุกอยู่ในที่คับแคบ แต่ใจเขาเป็นอิสระ ก็สามารถจะมีความสุขและพึงพอใจกับสภาพที่ว่าได้ ในทางตรงข้ามถ้าหากคนที่แม้จะอยู่ในบ้านหลังใหญ่ เป็นคฤหาสน์ แต่ว่าจิตใจเป็นทุกข์ ถูกบีบคั้นกดดัน จะเป็นเพราะสาเหตุใดก็แล้วแต่ เรียกว่าทุกข์ทรมานมาก คนที่ติดคุกแต่ว่าใจเขาเป็นอิสระ ไม่มีความคิดจะฆ่าตัวตาย ไม่มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง เอาหัวโขกศาลา เอาหัวโขกกำแพง หรือโขกเสา แต่คนที่แม้จะมีบ้านหรือคฤหาสน์หลังใหญ่ แต่จิตใจถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ ความรู้สึกผิด หรือว่าความซึมเศร้า ก็อาจจะทำร้ายตัวเองถึงขั้นฆ่าตัวตายก็ได้ หลายคนที่ฆ่าตัวตาย ทั้งที่มีชื่อเสียงร่ำรวย มีรถหลายคัน มีบ้านหลังใหญ่ มีทุกอย่างในชีวิต แต่ว่าไม่สามารถจะหลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้าได้ ก็เหมือนกับว่าอยู่ในที่ที่คับแคบ หรือว่าอยู่ในถังน้ำ ซึ่งหายใจไม่ค่อยได้ อึดอัด คนพวกนี้ก็คิดฆ่าตัวตายกันทั้งนั้น เพราะมันทรมานเหลือเกิน อันนี้ก็เรียกว่า คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก แสดงว่าทุกข์กายไม่เท่าไหร่ แต่ทุกข์ใจต่างหากที่หนักหนาสาหัสมาก
หลายคนที่เป็นมะเร็ง หลายคนที่เป็นโรคหัวใจ หลายคนที่พิกลพิการ นอนติดเตียง แต่ใจไม่ป่วย เขาก็สามารถจะมีความสุขกับภาวะเช่นนั้นได้ เป็นสุขตามอัตภาพ บางทีสีหน้าอาจจะแจ่มใสด้วยซ้ำ ในทางตรงข้ามถ้าหากว่ากายไม่ป่วยแต่ใจป่วย อันนี้แย่เลย ทนไม่ไหว ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ อยากจะตายให้ได้ กายป่วยก็ไม่เท่ากับใจป่วย
หลายคนกายไม่เป็นอะไร แต่ใจป่วยแล้ว ก็ทำให้กายพลอยป่วยไปด้วย มีคนที่ร่างกายไม่เป็นอะไร ตรวจหาความผิดปกติทางกายไม่พบ แต่ว่าเป็นโรคชัก ปวดหัวปวดท้องเรื้อรัง ความดันสูงเป็นประจำ บางคนถึงขั้นพิการ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือตาบอด ในอังกฤษพบว่าคนที่ไปหาหมอ 1ใน3ป่วยด้วยอาการต่างๆอย่างที่ว่ามา เป็นอาการทางกายทั้งนั้น แต่หาความผิดปกติทางกายไม่พบ ตรวจดูกลไกต่างๆในร่างกายก็ปกติ ความดันสูง ปวดหัวปวดท้อง แต่หาความผิดปกติทางกายไม่พบ เขาก็เชื่อว่าเป็นเพราะว่าความทุกข์ทางใจ ความโกรธ ความแค้น ความเจ็บปวด เพราะถูกกระทำย่ำยี ความสูญเสียพลัดพราก ทำให้เศร้าโศกเสียใจ พวกนี้ก็ทำให้ป่วยกาย พอป่วยกายแล้วก็แย่
ความสุขหรือความทุกข์ ใจสำคัญที่สุด แม้ว่าจะยากจน แม้จะอยู่ในที่ที่ลำบาก อยู่ในทะเลทราย อยู่ในที่ที่กันดาร แต่ว่าใจมีความสุข อาจจะเป็นเพราะมีศรัทธาในศาสนา ก็มีรอยยิ้มแย้มเบิกบาน พวกที่อยู่ในทะเลทราย พวกบุชแมน หรือพวกที่อยู่ในภูเขาสูง อย่างชาวธิเบต กันดาร ต้นไม้สักต้นก็ไม่เห็น เพราะมันขึ้นไม่ได้ มันที่สูงมาก พวกนี้ยากจน แต่ว่าใจเขามีความสุขเพราะเขามีศรัทธา ศรัทธาในศาสนา เขาสวดมนต์ทำสมาธิก็สุขได้ ตรงข้ามกับคนที่อยู่ในเมือง ร่ำรวย กายสะดวก กายสบาย แต่ใจว่างเปล่า วิตกกังวล พวกนี้ก็ย่ำแย่ทีเดียว
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ก็อาจยังรวมหมายถึงว่า เวลาเราให้ทาน รักษาศีล หรือภาวนาก็ตาม มันไม่สำคัญที่รูปแบบ ไม่สำคัญที่ของที่จะถวาย ถวายเงินเป็นล้าน แต่ใจไม่ได้มุ่งจะสละ ไม่ได้มุ่งที่จะให้ แต่คิดที่จะเอา เช่น สร้างภาพ หรือว่าต้องการผลประโยชน์ต่อยอด อย่างนี้เรียกว่าได้บุญน้อย ตรงข้ามคนที่ยากจน มีแต่ข้าวเหนียว ข้าวจี่ แต่ให้ด้วยศรัทธา ไม่ได้คิดจะเอาอะไรเข้าตัวเลย อันนี้กลับได้บุญมาก หรือแม้จะไม่มีอะไรให้ แค่อนุโมทนาที่เพื่อนหรือที่คนอื่นทำบุญ เราไม่มีอะไรให้แต่เราก็อนุโมทนาเสมือนกับว่าเราทำด้วยตัวเอง อันนี้ก็ได้บุญมาก มากกว่าการให้เงินเป็นล้าน สิบล้าน แต่ว่าจิตใจไม่ได้มุ่งจะสละหรือจะให้
บุญก็ขึ้นอยู่กับใจ ศีลนี่ จะผิดศีลหรือไม่ก็อยู่ที่ใจอยู่ที่เจตนา เหยียบมดถ้าไม่เจตนาก็ไม่บาป พระอรหันต์สมัยพุทธกาลบางท่าน พระจักขุบาลท่านตาบอด ท่านทำความเพียรจนตาบอด เวลาเดิน เดินเหยียบมด พระก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระพระจักขุบาลผิดศีล พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระพระจักขุบาลท่านไม่ได้เจตนาเพราะตาบอด การจะผิดศีลหรือไม่อยู่ที่เจตนา อยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่การกระทำ การกระทำอาจจะทำให้สัตว์บางตัวมันตาย แต่ว่าใจไม่มีเจตนา อย่างนี้ไม่เรียกว่าบาป อันนี้ก็เป็นอีกความหมายหนึ่งของพุทธภาษิตที่ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่
ภาวนาก็เหมือนกัน เจริญสติไม่ได้อยู่ที่รูปแบบว่าจะต้องยกมือ บางคนยกมือแต่ใจลอยคิดนู่นคิดนี่ สู้คนที่นอนแต่ว่าดูใจ รักษาใจไม่ให้ฟุ้ง อย่างนี้เรียกว่าทำความเพียรเหมือนกัน เวลาจิตเกิดอกุศล แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในท่านั่งหลับตาหรือว่ายกมือ แม้จะกำลังนอนอยู่ แต่ว่าไม่ปล่อยให้อกุศลครอบงำ เพราะมีสติรู้ทัน เวลากินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน ก็มีสติ ทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ก็เรียกว่าการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมหรือภาวนา อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่รูปแบบ บางคนไปติดที่รูปแบบมาก เห็นเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ ไม่ยกมือเวลาฟังธรรมหรือเวลาอยู่บนหอไตร ก็ไปมองหรือไปเขม่นว่า เธอไม่ปฏิบัติธรรม อุตส่าห์มาวัดไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความคิดที่เกิดกับหลายคน ซึ่งแสดงว่ายังไม่ได้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า เขาอาจจะกำลังปฏิบัติอยู่ก็ได้ เช่น มีสติอยู่กับการฟัง เวลาใจฟุ้งใจลอยก็รู้ทัน ดึงจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เขาอาจจะไม่ได้ยกมือ แต่สิ่งที่เขาทำคือการเจริญสติหรือการมีสติอยู่กับปัจจุบัน ไปมองว่าเขาไม่ยกมือ แล้วไปสรุปว่าเขาไม่ปฏิบัติ นี่แสดงว่าเจ้าตัวก็ไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติอยู่ที่ใจไม่ใช่ที่รูปแบบ และคนที่คิดอย่างนั้นอาจจะเรียกว่ากำลังไม่ปฏิบัติอยู่ก็ได้ เพราะว่าไปมองคนอื่น หรือมองดูใจตัวเองว่ากำลังมีอาการยกตนข่มท่านหรือเปล่า ไปเขม่นเขาไหม ตัวเองยกมือแต่ว่าใจไปเขม่นเพื่อนอยู่ที่นั่งอยู่ข้างๆ ว่าไม่ปฏิบัติ เกิดความหลงตัวว่าฉันกำลังปฏิบัติอยู่ ยกมือแต่มีความรู้สึกแบบนี้อยู่ในใจไม่เรียกว่าปฏิบัติแล้ว เพราะว่าไม่เห็นกิเลสหรือตัวทิฐิ ตัวมานะ ที่มันเกิดขึ้นหรือครองใจอยู่ ยกมือแต่ว่าไม่ดูใจตัวเอง ก็เรียกว่าไมได้ภาวนาแล้ว เราต้องเข้าใจว่าเวลาภาวนา หรือการรักษาศีล การให้ทาน รวมทั้งการเจริญไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจ
ท่านทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ ยังรวมหมายถึงว่า การรับรู้ของคนเราด้วย รับรู้ทาง ตา หู จมูก หรือลิ้นไก่ หรือทางใจ ตัวการสำคัญคือใจ เช่น เจตนา หรือความรู้สึก ซึ่งอาจจะหมายถึงความหยาบ ความโกรธความเกลียดก็ได้ สภาวะของใจคุณภาพของใจก็ส่งผลต่อความรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
คนที่กำลังหิวโหยเวลามองต้นไม้ สิ่งที่เขาเห็นสิ่งที่เขารับรู้ จะต่างจากคนที่เป็นช่างตัดไม้ก็ได้ หรือคนที่กำลังหาฟืน มองต้นไม้เดียวกันแต่มองเห็นไม่เหมือนกัน คนที่กำลังหิวอาจจะมองไปที่ผลไม้ที่กำลังห้อยแขวนอยู่ในต้นไม้ ส่วนคนที่เป็นคนตัดฟืนก็ไม่ได้มองไปที่ผลไม้ แต่เขามองไปที่ลำต้น โคนต้น ว่ามันใหญ่หรือเล็ก หรือมองไปที่กิ่งว่าจะเอาไปทำฟืนได้ไหม คนที่เป็นชาวไร่ก็มองอีกแบบ เขาต้องการจะตัดต้นไม้ ก็จะดูว่าต้นไม้นี่ใหญ่หรือเล็ก โคนต้นมันตัดได้ง่ายหรือยาก คนที่กำลังมีความรัก มองไปที่ต้นไม้ก็อาจจะเห็นดอกไม้ ดอกไม้สวย อยากจะเก็บไปให้แฟน มองต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่เห็นไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่อยู่ในใจต่างกัน ทางพุทธศาสนาเรียกว่า สังขารเป็นปัจจัยให้กับวิญญาณ เราอาจจะเคยได้ฟัง ปฏิจจสมุปบาทจะมีอวิชชาเป็นปัจจัยให้กับสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้กับวิญญาณ ปัจจัยในที่นี้หมายถึงปรุงแต่ง สังขารในที่นี้หมายถึงความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ ความอยากที่เกิดขึ้นในใจ
คนหิวก็จะมองเห็นสิ่งๆ เดียวกันแตกต่างจากคนที่ไม่หิว มีการค้นพบว่าคนที่กำลังหิวน้ำ เวลามองแก้วน้ำ จะเห็นแก้วน้ำใหญ่กว่าคนที่ไม่หิวน้ำ เด็กที่กำลังหิวโหย เวลาให้วาดรูปเหรียญ จะวาดรูปเหรียญใหญ่ว่าเด็กที่ไม่หิว เพราะอะไร เพราะว่าเด็กหิวก็อยากกินอาหาร แล้วอาหารจะได้มาก็จากการที่มีเงินไปซื้อ เด็กก็จะอยากได้เงิน เพราะหิว ก็จะวาดรูปเหรียญใหญ่กว่า อันนี้เป็นเรื่องการกระทำ แต่ว่าการรับรู้อย่างที่บอก คนที่หิวน้ำจะเห็นแก้วน้ำใหญ่กว่าคนที่ไม่หิวน้ำ ทั้งที่ก็เป็นแก้วเดียวกัน เราก็เคยสังเกต เวลาสนใจเรื่องอะไร เช่นอาจจะกำลังคุยกับเพื่อน ตอนที่คุยกับเพื่อน แม้จะมีเสียงระฆังมากระทบหู แต่เราก็ไม่ได้ยิน การที่ไม่ได้ยินแปลว่า โสตวิญญาณไม่เกิด เพราะตอนนั้นใจจดจ่ออยู่กับการพูดคุย บางทีมีอะไรผ่านหน้าแต่ไม่เห็น เพราะตอนนั้นกำลังใจลอย กำลังกังวลถึงพ่อ กำลังห่วงลูก อันนี้เรียกว่าเกิดสังขารปรุงแต่งขึ้นมาในใจ เพราะฉะนั้นมีคนเดินผ่านมาก็ไม่เห็น บางทีเป็นเพื่อนด้วยซ้ำ ทั้งๆที่ภาพมันมากระทบตาแล้ว แต่ใจไม่ไปรับรู้ เรียกว่าจักขุวิญญาณไม่เกิด คุยกับเพื่อนแต่ว่าเสียงระฆังทำวัตรไม่ได้ยิน หรือว่าอาจจะกำลังเช็คไลน์ ดูข้อความเล่นเฟซบุ๊ก เสียงระฆังกระทบหูแต่ไม่ได้ยิน จะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็อยู่ที่ใจด้วย ว่าตอนนั้นใจกำลังสนใจอะไร กำลังอยู่ในภาวะแบบไหน ความสนใจของคนเราจะรับรู้เรื่องอะไรมันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ
เคยมีการทดลองเอาอาสาสมัครมา แล้วบอกว่าจะตรวจสุขภาพ จะตรวจหามะเร็ง มะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจได้โดยใช้น้ำลาย เอาน้ำลายไปสัมผัสกับวัสดุบางอย่าง กลุ่มหนึ่งบอกว่า ถ้าวัสดุนั้นเปลี่ยนสีแสดงว่าไม่เป็นอะไร อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าถ้าวัสดุเปลี่ยนสีแสดงว่าเป็นมะเร็ง อาจจะเป็นมะเร็งทรวงอกหรืออะไรก็แล้วแต่ว่าไป นี่มันเป็นการทดลอง เค้าพบว่าคนที่ได้รับการบอกเล่าว่าถ้าแถบทดลองเปลี่ยนสีแสดงว่าปกติ คนกลุ่มนี้เวลาเอาน้ำลายไปสัมผัสกับแถบนี้ เค้าจะจ้องนานเลย นานมากกว่ากลุ่มที่สอง กลุ่มที่สองได้รับการบอกเล่าว่าถ้าวัสดุมันเปลี่ยนสีแสดงว่าป่วย แสดงว่าเป็นมะเร็ง กลุ่มนี้จะไม่อยากเห็น ไม่อยากเห็นแถบสี เพราะฉะนั้นเค้าจะดูแถบนั้นเพียงประเดี๋ยวประด๋าว แต่ที่จริงแล้วแถบนี่ มันก็ไม่เปลี่ยนสีอะไร แต่คล้ายๆเขาหลอก แล้วก็พบว่าคนที่อยากจะมีสุขภาพดี จะจ้องมองแถบสีนั้นนาน ถ้าได้รับการบอกเล่าว่าถ้ามันเปลี่ยนสีแสดงว่าไม่เป็นอะไร คนที่ได้รับการบอกเล่าว่าถ้ามันเปลี่ยนสีแสดงว่าป่วย ก็จะดูแบบผ่านๆ ไม่อยากเห็น ความไม่อยากเห็นในใจก็ทำให้ความสนใจที่จะดูการเปลี่ยนสีมันน้อย
ความสนใจของคนเราขึ้นอยู่กับความอยากความไม่อยากด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเราสนใจเรื่องอะไร เราจะมีสมาธิกับสิ่งนั้นเป็นพิเศษ ถ้าไม่สนใจเรื่องอะไรหรือเราไม่อยากได้ยิน ก็จะเหมือนกับพยายามผลักไส มีการทดลองอีกแบบหนึ่ง ให้คนที่สูบบุหรี่เป็นนิสัยเป็นประจำ พูดง่ายๆ ติดบุหรี่ ให้ฟังคำบรรยายเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ เป็นเทปจากเครื่องเล่นเทป ในคำบรรยายจะมีเสียงรบกวน ซึ่งเสียงรบกวนนั้นเราสามารถจะหรี่ให้เบาลงได้ ก็พบว่าคนที่ติดบุหรี่เวลาฟังคำบรรยาย ก็จะไม่แตะ จะไม่ลดเสียงรบกวนเลย เสียงรบกวนดังไปฉันไม่ทำอะไรกับมัน ตรงข้ามกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ เขาอยากจะฟังมากเลยว่าคำบรรยายเกี่ยวกับโทษบุหรี่เป็นยังไงบ้าง พอมีเสียงรบกวนก็พยายามลด พยายามหรี่เสียงรบกวนนั้นให้มันเบา เพื่อจะได้ได้ยินคำบรรยายถึงโทษของบุหรี่ นี่เป็นตัวอย่างว่าคนที่ติดบุหรี่ไม่อยากฟังใครที่พูดถึงโทษของบุหรี่ เพราะฉะนั้นถ้ามีเสียงรบกวนก็ให้มันรบกวนไป ฉันจะได้ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ตรงข้ามกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็อยากจะฟังว่าการสูบบุหรี่มีโทษยังไง มีเสียงรบกวนก็พยายามที่จะลดเสียงรบกวนนั้นเพื่อฟังได้ชัดเจนมากขึ้น
ใจคนเราถ้าไม่ชอบอะไร ก็พยายามที่จะผลักไส ปฏิเสธ เวลาเราฟังข่าวสาร ถ้าเกิดว่ามีการพูดถึงข้อดีหรือความดีของคนที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่ฟังเลย คล้ายๆว่าจิต การรับรู้ จะปฏิเสธสิ่งที่เราไม่ชอบ เราจะฟังแต่สิ่งที่เราชอบ จะฟังแต่สิ่งที่ยืนยันความเห็นของเรา อะไรที่ไม่ชอบก็จะผลักไส ให้เราสังเกตดู คนเราจะฟังจะได้ยินแต่สิ่งที่สอดคล้องกับความเชื่อ ความเห็นของเรา เคยมีการทดลองเอาคนที่กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต กับอีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตมาอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ละคนก็ได้รับข้อมูลว่าโทษประหารชีวิตมีข้อดีอย่างไรบ้าง มีข้อเสียอย่างไรบ้าง คนทดลองคิดว่าถ้าคนสองกลุ่มซึ่งความเห็นตรงข้าม ถ้าได้ฟังข้อมูลทั้งที่ลบและบวก ก็จะมีความเห็นใกล้เคียงกัน คุยกันรู้เรื่อง เพราะได้เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ปรากฏว่าหลังจากอ่านข้อมูลไปแล้ว ทั้งสองกลุ่มกลับความเห็นตรงข้ามกัน ห่างกันมากขึ้น เพราะอะไร เพราะว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตก็จะรับรู้หรืออ่านแต่เฉพาะข้อดีของโทษประหารชีวิต ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตก็จะอ่านแต่เฉพาะข้อเสียของโทษประหารชีวิต ข้อดีไม่อ่าน เพราะฉะนั้นความเห็นก็จะยิ่งแตกกันไปคนละขั้วมากขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าคนเราจะได้ยิน จะรับรู้ เฉพาะกับสิ่งที่ยืนยันความเชื่อของเรา เวลาเราเกลียดใครเราก็จะเห็นแต่ข้อเสียของเขา ไม่ค่อยเห็นข้อดีของเขา แต่เวลาเราชอบใครเราจะเห็นแต่ข้อดีของเขา ข้อเสียเราก็จะพยายามไม่มอง เรียกว่าการรับรู้ของคนเราอยู่ที่ใจ คนเราแม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แม้จะรับรู้สิ่งเดียวกัน แต่สิ่งที่เข้าไปในใจมันแตกต่างกัน จิตใจเรามีกลไกบางอย่างที่มันผลักไส ไม่อยากจะได้ยินได้ฟัง ได้รับรู้สิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดความเชื่อของตัว หรือสิ่งที่ทำให้ใจไม่สบาย
เมื่อสักสามสิบสี่สิบปีก่อน มีชาวเขมรที่อพยพหนีภัยจากรัฐบาลที่เป็นคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพอล พต ยึดครองประเทศสามสี่ปี คนตายไปล้านสองล้านคน ที่ตายไปเพราะถูกฆ่าก็มี ฆ่านี่ก็ฆ่าแบบโหดร้าย ใช้จอบฟาดหัว บางทีเอาฝังดิน บางทีก็เอามีดปาดคอ บางทีเอาไม้ตีจนตาย โหดร้ายมาก ก็เพราะว่าคนเขมรที่อพยพหนีภัยมาเมืองไทย มีจำนวนมากเลยที่ตาบอด ตาบอดมากผิดปกติ เค้าก็สงสัยเป็นเพราะอะไร ข้อสันนิษฐานคือว่าเสียใจ เห็นคนที่ตนเองรักถูกฆ่า ก็ร้องห่มร้องไห้จนตาบวม จนกระทั่งตามันบอดไป แต่หลายคนพบว่าตาไม่ผิดปกติ แต่มองไม่เห็น ก็สงสัยว่าทำไมตาไม่ผิดปกติ แต่ทำไมมองไม่เห็น ก็พบว่าเป็นเรื่องของใจ ใจทนไม่ได้ที่จะเห็นการทารุณ การทรมาน โดยเฉพาะกับคนรัก จิตใจเลยสั่งให้ตาบอดซะเลย จะได้ไม่ต้องรับรู้ ความจริงบางอย่างหนีไม่พ้น มันต้องเจอ เพราะว่ามันเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง จะหนีก็หนีไม่ได้ ใจเลยสั่งให้ตามันบอดซะเลย จะไม่ได้ต้องไปรับรู้สิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานในจิตใจ
อันนี้แสดงว่าจิตใจเราสำคัญมาก มีผลต่อกายมาก อะไรก็ตามที่ฉันไม่อยากรับรู้ ฉันไม่อยากได้ยิน ถ้าตาไม่บอด บางทีก็เป็นลมไปเลย ประเภทช็อกไปเลย เพราะทนที่จะเห็นต่อไปไม่ได้แล้ว เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เราน่าจะรับรู้เอาไว้ว่า การรับรู้หรือการกระทำคนเราก็อยู่ที่ใจ ถ้าใจเรามีอคติ หรือใจเรามีสภาวะบางอย่าง เช่น เป็นอกุศล โกรธ เกลียด กลัว มันจะไม่ใช่แค่ส่งผลต่อการกระทำของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการรับรู้ของคนเราด้วย ส่วนใหญ่สิ่งที่เรารับรู้มันไม่ตรงกับความเป็นจริงหรอก แต่ตรงกับความต้องการของเรา สอดคล้องกับความต้องการของเรา หรือว่าถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ในจิตใจของเรา คนที่จิตใจสบายตอนเช้าจะรู้สึกว่าอากาศแจ่มใสมาก คนที่จิตใจหม่นหมองวิตกกังวลจะรู้สึกว่าอากาศตอนเช้าทำไมมันหมองๆมัวๆแบบนั้น เราจะเห็นสิ่งเดียวกันแต่เราเห็นต่างกัน
เพราะฉะนั้นมันเป็นเหตุผลทำให้เราไม่สามารถจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงได้ ยิ่งจิตมีอวิชชา เช่น จิตมีความคิดความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน เวลามองเห็นอะไรก็มองเห็นว่าทุกอย่างเป็นตัวเป็นต้นไปหมด จิตของคนที่มีวิชา เห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ก็จะมองเห็นโลกต่างจากคนทั่วไปมาก พระพุทธเจ้าจะเน้นอยู่เสมอว่าให้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง หลายคนคิดว่าก็เห็นอยู่แล้วตามความเป็นจริง ที่จริงไม่หรอก สิ่งที่เราเห็นเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ได้เห็นตามความเป็นจริง แต่เห็นตามสภาวะอารมณ์ ในแต่ละขณะๆ หรือว่าเห็นตามสิ่งที่ใจอยากจะเห็น เราจะเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้เราก็ต้องรู้เท่าทันอคติ หรืออารมณ์ที่เกาะกุมใจด้วย พวกนี้เหมือนกับแว่น เราคิดว่าเรามองเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง แต่ว่าจริงๆแล้วเราใส่แว่น แว่นบางคนบางครั้งเป็นสีเขียว บางครั้งก็เปลี่ยนสีเหลือง บางครั้งก็เป็นสีแดง บางครั้งเป็นสีดำ สีคล้ำ เราไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยตาเปล่า อันนี้เป็นอุปมาอุปไมย เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ผ่านแว่น แว่นก็มีสีต่างๆกันแล้วแต่สภาวะอารมณ์
จำเป็นมากที่เราต้องเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ถ้าเราเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงเมื่อไหร่ เราจะเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ ว่าสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน แต่ที่เราเห็นไม่ได้แบบนั้น เพราะใจเรายังมีความคิดความอยาก อยากจะให้เที่ยง อยากให้เป็นสุข เห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นตัวเป็นตนด้วยอำนาจของอวิชชา แต่ว่าเราก็สามารถจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงได้ เริ่มจากการที่เราพยายามฝึกสติ สติเป็นตาในที่จะทำให้เราเห็น ตอนแรก ๆ อาจจะไม่เห็น อาจจะไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ภายนอก แต่สติทำให้เราเห็นกายและใจตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเรามีสติ หมั่นมาดูกายดูใจเสมอ จะเริ่มเห็น เห็นกายและใจตามความเป็นจริง แต่ก่อนเห็นว่ากายเป็นกู เป็นของกู เห็นใจนี่เป็นตัวกู หรือบางทีไม่เห็นกายไม่เห็นใจเลย เห็นแต่ตัวกูล้วน ๆ เป็นดุ้น ๆ แต่พอเจริญสติแล้วก็เห็น อ๋อ.. ที่เดินนี่เป็นรูปเดิน มันไม่ใช่กูเดิน มันเป็นรูปเดิน อ๋อ.. ที่คิดนี่เป็นใจคิด ไม่ใช่เราคิด นี่เริ่มเห็นความเป็นจริงแล้ว และถ้ามีสติจะเริ่มเห็นอคติที่มันอยู่ในใจ เห็นความกลัว เห็นความอยาก เห็นความโลภ
การที่เราจะเห็นอคติในใจไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าเกิดเรามีสติบ่อยๆ จะเห็นความกลัว เช่น ตอนที่ไปดูแถบที่เขาบอกว่าถ้าเปลี่ยนสีก็แสดงว่าเราป่วยเป็นมะเร็ง ถ้าเราไม่มีสติ ไม่เห็นหรอกว่าตอนนั้นใจมันไม่อยากจะเห็น ไม่อยากจะเห็นสี ไม่อยากจะเห็นการเปลี่ยนสี เพราะถ้าสีมันเปลี่ยนแสดงว่าเราเป็นมะเร็ง มันกลัว แต่ถ้าเรามีสติ เราจะเห็นใจที่มันกลัว ทำให้ไม่อยากจะมองแถบสี พอเราเห็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจ ความกลัวก็หายไป แล้วเราก็พบว่า จริงๆแล้วเราก็สามารถจะมองเห็นสิ่งที่ไม่อยากจะมองได้ เรากลัวไม่อยากเห็น แต่พอเราไม่มีความกลัว เราก็สามารถจะมองด้วยสายตาที่เป็นกลาง ถ้าเรามองด้วยใจที่เป็นกลาง เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้น แล้วก็อาจจะรู้เลยว่า จริง ๆ แล้วความอยากของเราที่อยากจะให้มันเปลี่ยนสี เพราะถ้าเปลี่ยนสีแสดงว่าเราปกติ เราไม่เป็นอะไร เราไม่เป็นมะเร็ง ตัวนี้เราก็รู้ว่า จริงๆ แล้วมันมีความอยากจะเห็น มันไม่ได้เปลี่ยนสีซักหน่อย แต่ก็ยังอยากจะเห็นว่ามันเปลี่ยนสี บางคนก็เห็นมันเปลี่ยนสีจริงๆ สำหรับคนที่ได้รับการบอกเล่าว่าถ้าเปลี่ยนสีแสดงว่าไม่ป่วย ก็พาลจะเห็นว่ามันมีสีเปลี่ยน อันนี้เพราะว่าใจอยากจะเห็น เพราะว่าใจอยากจะได้รับการยืนยันว่าฉันไม่เป็นอะไร ไม่เป็นมะเร็ง แต่พอมีสติรู้ความอยาก จะเห็นว่าจริงๆแล้ว มันก็ยังเป็นสีเดิม ไม่ได้เปลี่ยนสีอะไร ที่จริงการทดลองนี่คนทดลองแค่หลอกอาสาสมัคร เพราะที่จริงแล้วมันไม่มีทางเปลี่ยนสีได้เลย เพราะเป็นกระดาษปกติ ไม่ได้เป็นว่าถ้าเจอน้ำลายแล้วจะเปลี่ยนสี แต่คนที่อยากจะเห็นตัวเองสุขภาพดีก็จะเห็นสีเปลี่ยน นี่เรียกว่ามันหลอก ตามันหลอก เราถูกตาหลอก เราถูกหูหลอก เราถูกจมูกหลอก เพราะอะไร เพราะใจ เพราะเราไม่รู้ทันใจของเรา ฉะนั้นกลับมามีสติรู้ทันใจของเรา ก็ทำให้เรามองสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงมากขึ้น เริ่มจากการเห็นกายและใจตามความเป็นจริง ต่อไปก็จะเห็นโลกตามความเป็นจริง เป็นส่วนของการปฏิบัติที่สำคัญมาก