แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทำเป็นอย่างๆ อย่าง เช่น เวลาอาบน้ำ ใจก็รับรู้อยู่กับการอาบน้ำ ให้เราใส่ใจกับการอาบน้ำ ไม่ต้องไปหาเรื่องอื่นมาคิด เวลากินข้าวก็เหมือนกัน มีงานการอะไรที่จะต้องคิดก็เก็บเอาไว้ก่อน ใจเราก็อยู่กับการกิน เวลาเดินเราก็เดิน ใจอยู่กับการเดิน อย่าเพิ่งไปหาเรื่องมาคิด ถึงแม้ว่ามีงานสำคัญที่จะต้องทำ เวลาสวดมนต์เราก็สวดมนต์ให้เสร็จก่อนแล้วจะทำอะไรก็ค่อยว่ากัน เวลาฟังธรรม ใจรับรู้กับการฟังธรรม มีงานการอะไรต้องทำเก็บเอาไว้ก่อน มีเรื่องที่ต้องวางแผน ค่อยหาเวลามาคิดวางแผน รวมถึงเวลานอนด้วยนะ เวลานอนก็ให้นอน ไม่ต้องมาคิดเรื่องงานเรื่องการให้มันยุ่งยาก ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เท่ากับว่าเราได้เจริญสติ
แต่เดี๋ยวนี้ผู้คนทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น กินข้าวก็คิดเรื่องงานเรื่องการไปด้วย อาบน้ำก็คิดถึงเรื่องหนี้สิน ว่าจะชำระ จะผ่อนส่งอย่างไร เพราะสมัยนี้เขาถือว่า เวลาเป็นของมีค่า ต้องทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่ทำไปๆ กลายเป็นนิสัย แม้ไม่อยากจะคิดก็คิด เวลาจะนอนก็นอนไม่ได้ เพราะคิดถึงเรื่องการกู้เงิน คิดถึงเรื่องการผัดผ่อน เรื่องหนี้สิน เสร็จแล้วเป็นอย่างไร นอนไม่หลับ พยายามสร้างนิสัยนะ ให้ทำเป็นอย่างๆ มีคำพูดว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” เป็นวิธีการง่ายๆ ในการดำเนินชีวิต บางคนเดินหลายก้าวพร้อมกันก็มี คือ ก้าวแรกยังไม่ทันเสร็จเลย ต่อก้าวที่สองแล้ว อันนี้เรียกว่า รน
สมัยที่หลวงพ่อสุเมโธบวชใหม่ๆ ท่านเป็นพระอเมริกัน คนอเมริกันก็ทำอะไรรีบๆ ตอนที่มาบวชได้ไม่กี่เดือน เป็นพระฝรั่งรูปเดียว เป็นชาวต่างชาติรูปเดียวที่วัดหนองป่าพง คราวหนึ่งมีโยมมาบอก มานิมนต์ให้ไปที่ศาลา อาจารย์สุเมโธก็รีบเดินเลย เดินแบบรนๆ โยมเลยพูดขึ้นมาว่า ท่านเดินไม่เหมือนหลวงพ่อชาเลยนะ หลวงพ่อชาท่านเดินทีละก้าว ได้ฟังเท่านี้ท่านก็ได้คิดขึ้นมาทันที
เดินทีละก้าว ปกติทุกคนก็เหมือนกับว่าเดินทีละก้าวอยู่แล้ว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ก้าวแรกยังไม่ทันเสร็จเลย เดินก้าวที่สองอีกแล้ว นี่เรียกว่า เพราะรีบเพราะรน เพราะอะไร เพราะว่าใจไปอยู่ข้างหน้าแล้ว ใจคิดเรื่องอื่นไปด้วย เดินทีละก้าว ก็คือ ทำทีละอย่างนั่นแหละ เดินก็เดินนะ ไม่ต้องเอาเรื่องอะไรมาคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ไปให้ถึงจุดหมายไวๆ หรือว่าคิดเรื่องงานเรื่องการ หรือว่าคิดเรื่องคนโน้นคนนี้
คนสมัยนี้ทำงานก็ไม่มีความสุข เพราะไม่ได้ทำทีละอย่าง เวลาทำงานใจก็นึกห่วงคนที่บ้าน นึกห่วงลูก นึกห่วงพ่อแม่ คิดเรื่องหนี้สิน เราทำหลายอย่างพร้อมกัน แล้วทำไม่ได้ดีนะ เพราะพอคิดแบบนี้เข้าก็เกิดความกังวล ไม่มีสมาธิกับงาน ห่วงลูกก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะว่าตัวอยู่ที่ทำงาน ลูกอยู่บ้าน ห่วงไปไม่มีประโยชน์ หนี้สินที่จะต้องผัด ต้องผ่อน ต้องชำระ เอามาคิดในระหว่างทำงาน ก็ไม่ได้ช่วยอะไร กลับทำให้หนักใจ แทนที่จะทำงานให้ได้ดี งานก็ทำไม่ได้เต็มที่ บางทีเสียงานก็มี งานก็ไม่สำเร็จ ใจก็เป็นทุกข์ เพราะมีความกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้
ทำทีละอย่างเป็นวิธีการที่ทำให้เรามีสมาธิกับงาน งานก็ได้ผล ใจก็เป็นสุข เป็นประโยชน์ทั้งทางโลก ไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ในทางธรรม ถึงเวลานอนก็นอน ถึงเวลากินก็กิน ถึงเวลาอาบน้ำก็อาบน้ำ ถึงเวลาทำงาน ใจเราก็อยู่กับงานที่ทำ ไม่ต้องคิดถึงงานอีกกี่ชิ้นที่ค้างคาอยู่ ทำงานตอนเช้าไปคิดถึงงานตอนบ่าย เรียกว่า ทำหลายอย่างพร้อมกัน และไม่ดีสักอย่าง ทำทีละอย่าง และคิดทีละเรื่อง อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะ บางทีคิดเรื่องงาน เดี๋ยวเผลอไปคิดเรื่องลูกเป็นตุเป็นตะ คิดเรื่องลูกแล้วก็เผลอคิดเรื่องงาน คิดหลายเรื่องพร้อมกัน ไม่มีสมาธิกับเรื่องที่คิดเลยสักอย่าง เพราะสร้างนิสัยทำหลายอย่างพร้อมกัน คิดหลายเรื่องพร้อมกัน ทีแรกก็เจตนาคิด ตั้งใจคิดนะ หรือเจตนาทำหลายอย่างพร้อมกัน เสร็จแล้วพอเป็นนิสัย ก็ห้ามไม่อยู่แล้ว จะคิดเรื่อยเปื่อย ถึงเวลานอนก็นอนไม่หลับ เพราะมันจะคิดเรื่องงาน ที่จริงต้องรู้จัก ทำทีละอย่าง คิดทีละเรื่อง
ใจเราเหมือนกับตู้หรือโต๊ะที่มีหลายลิ้นชัก ลองนึกภาพถ้าตู้หรือว่าโต๊ะทุกลิ้นชักเปิดมาหมด คงวุ่นวายน่าดู เวลาเราคิดอะไรเหมือนเปิดลิ้นชักทีละอัน ใจเราทำได้นะ เปิดลิ้นชักทีละอัน เปิดอันนี้ ส่วนอันอื่นปิดเอาไว้ ไม่ใช่เปิดอันนี้ยังคาอยู่เลย แล้วไปเปิดอีกอันหนึ่ง มั่วไปหมด คิดหลายเรื่อง ถ้าทำทีละอย่างนะ มันก็มาใช้กับการปฏิบัติในรูปแบบได้ เวลายกมือสร้างจังหวะก็ให้ใจอยู่กับการยกมือ รับรู้การยกมือสร้างจังหวะ เวลาเดินจงกรมทำแค่เดินจงกรมก็พอ ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นซ้อนขึ้นอีก เช่น เดินจงกรมไปก็คิดเรื่องงาน เดินจงกรมไปก็คิดเรื่องคนที่บ้าน หรือสร้างจังหวะไปก็คิด กลับไปถึงบ้าน จะไปเที่ยวที่ไหน จะไปซื้ออะไร บางทีวางแผนเรื่องกฐินเรื่องผ้าป่า การปฏิบัติในรูปแบบอาศัยการทำทีละอย่างเหมือนกัน ยกมือใจก็อยู่กับการยกมือนะ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น เดินก็ใจก็รับรู้กับการเดินนะ ไม่ต้องไปห่วงกังวลเรื่องอื่น มันง่ายๆ แต่ว่าเราพยายามทำให้เป็นเรื่องยาก
การเจริญสติมีหลักว่า ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น เหมือนกันนะ ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น กับทำทีละอย่างคิดทีละเรื่อง อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน อย่าคิดหลายเรื่องพร้อมๆ กัน หรือว่าติดๆ กัน คิดให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ก่อน เหมือนกับเปิดลิ้นชักก็เปิดทีละลิ้นชัก พอจัดการข้าวของในลิ้นชักนั้นแล้วก็ปิด แล้วค่อยเปิดลิ้นชักใหม่ ไม่ใช่เปิดทุกลิ้นชักเลย หรือเปิดหลายลิ้นชักแล้วไม่เสร็จสักเรื่อง ถ้าทำอย่างนี้จะมีสมาธิ ถึงเวลานอนจะคิดเรื่องงานเรื่องการอะไร มันเผลอ ลิ้นชักเผลอเปิดขึ้นมาก็ปิดมัน บางคนนอนอยู่ดีๆ ตีสองตาสว่าง คิดถึงเรื่องงานเอามือก่ายหน้าผาก เรื่องหนี้สิน เรื่องลูก เรื่องครอบครัว ให้รู้จักปิดลิ้นชัก เปิดทีละลิ้นชัก ถ้าเกิดมีลิ้นชักอันอื่นทะลึ่งโผล่ขึ้นมา เปิดขึ้นเอง เราก็ต้องรู้จักปิดมัน ให้เหลือแค่ลิ้นชักเดียวคือ เรื่องที่เรากำลังคิด หรือว่างานที่เรากำลังทำ สติมันทำหน้าที่ คือ ทำหน้าที่ปิดลิ้นชักอื่นๆ
ตัวหลงจะคอยเปิดลิ้นชัก เปิดลิ้นชักนั้น แล้วก็เปิดลิ้นชักนี้ สติทำหน้าที่ปิดลิ้นชักทีละอันๆ มันเผลอเปิดขึ้นมาก็ปิด กำลังนอนอยู่คิดเรื่องงานเรื่องการก็ช่างมัน อาจจะเรียกว่าผัดผ่อนไปก่อน ผัดไปไว้ค่อยไปคิดเอาตอนเช้า ตอนนี้เป็นเวลานอน ปิดลิ้นชักที่เป็นเรื่องงานเรื่องการ บางทีมันเผลอเปิดลิ้นชักเรื่องหนี้สิน ให้รู้ตัวแล้วก็รีบปิดมัน เป็นการเจริญสติด้วยวิธีการง่ายๆ แต่แน่ล่ะ เวลาทำมันยาก เพราะว่านิสัยที่ไม่ดี นิสัยประเภทว่า ทำหลายอย่างพร้อม คิดหลายเรื่องติดๆกัน ไม่เสร็จสักเรื่อง คาราคาซัง มันสะสมมานาน
พูดถึงการเจริญสติอย่างเป็นรูปแบบ หรือเป็นระบบ ที่เราสวดเมื่อสักครู่ เป็นขั้นตอนที่ชัดเจนอยู่แล้ว มันอธิบายให้ความหมายแม้คำว่า สติปัฏฐาน ได้ชัดเจน สติธรรมดาเป็นแค่ความระลึกได้ว่า บ้านเราอยู่ถนนไหน ซอยไหน ระลึกได้ว่า กุฏิเราเบอร์อะไร ระลึกได้ว่า วางรองเท้าไว้ตรงไหน ไว้บนชั้นหรือว่าไว้ตรงหน้าหอไตร แต่ว่าสติปัฏฐาน หรือว่า สัมมาสติ จะมีความพิเศษ คือ ไม่ใช่แค่สติลอยๆ จะมีอีกสองอย่างประกอบกันขึ้นมา อย่างที่เราสวดเมื่อกี้นี้ อาตาปี สัมปชาโน สติมา อาตาปี คือ ความเพียร สัมปชาโน คือ ความรู้สึกตัว สัมมาสติ หรือว่าสติปัฏฐาน ก็คือว่า เป็นการระลึกได้ที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว และทำให้เกิดความเพียร ความระลึกได้บางอย่างทำให้หลงก็มี เช่น ไประลึกได้ถึงคำต่อว่าด่าทอของคนนั้นคนนี้ ระลึกได้ถึงคนรักที่จากไป แล้วทำให้โศกเศร้าเสียใจ การระลึกแบบนี้ไม่ทำให้รู้สึกตัว มันทำให้หลง ระลึกถึงความผิดพลาดในอดีตก็ทำให้เสียใจ ไม่ใช่ว่าสติทุกอย่างจะเป็นสัมมาสติ สัมมาสติ สติปัฏฐานต้องเมื่อการระลึกทำให้เกิดความรู้ตัวนำไปสู่ความเพียร เช่น ใจลอย ระหว่างที่ฟังคำบรรยายก็ใจลอย หรือว่า เผลอง่วงเผลอหลับ เสร็จแล้วระลึกขึ้นมาได้ว่า เรากำลังนั่งฟังคำบรรยายอยู่ หรือว่า ยกมือสร้างจังหวะแล้วใจลอย เสร็จแล้วระลึกได้ว่า กำลังทำอะไรอยู่ กำลังเจริญสติอยู่ กำลังสร้างจังหวะอยู่ ความระลึกแบบนี้ทำให้เกิดความรู้สึกตัว และก็ทำให้ความเพียรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สติบางอย่างหรือความระลึกได้บางอย่างทำให้โกรธก็มี ทำให้เศร้าก็มี เพราะไประลึกได้ถึงเรื่องราวในอดีต ที่ทำให้เจ็บปวด ทำให้โกรธเคือง เสร็จแล้วใจก็หลุดเข้าไปในอารมณ์นั้น อันนี้หลงเลยนะ เราเรียกว่า มิจฉาสติ ต้องเข้าใจว่า สติมีหลายลักษณะมีหลายประเภท สติที่เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ใจเราเป็นกุศล คือ สัมมาสติ หรือสติปัฏฐาน ประกอบด้วย สัมปชาโน ความรู้สึกตัว แล้วก็ อาตาปี คือ ความเพียร ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม หรือที่เขาเรียกว่า ไม่ยินดียินร้ายในโลก ใครชมแล้วใจมันลอย ก็รู้ทัน กลับมาเป็นปกติ มีคนมาว่า มีคนมาตำหนิ ใจมันตก ขุ่นมัว รู้ทัน ความยินร้ายก็หายไป เป็นปกติ และสติปัฏฐานใช้ในการมาดูกายดูใจ หรือพูดให้เต็ม คือ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม เป็นสติที่เอามาใช้ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ เรื่องกายเรื่องใจ
สติที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะเป็นเรื่องอื่น โจรก็มีสติเหมือนกัน โจรมีสติในการเปิดตู้เซฟ เขาต้องมีสมาธิ ใจไม่วอกแวก หรือว่าจำรหัสได้ จิตก็ต้องจดจ่อ หรือระลึกได้ว่า รหัสเบอร์อะไร สิ่งที่ทำให้ระลึกได้ว่า รหัสตู้เซฟเบอร์อะไร หมายเลขอะไร คือ สติ แต่เป็นสติที่ถูกกำกับด้วยความโลภ ความหลง คือ ความโลภอยากจะปล้นทรัพย์เขา ขโมยสมบัติของเขา โจรผู้ร้ายก็มีสตินะ พวกฆาตกรก็มีสติ จะยิงเขาก็ต้องมีใจจดจ่ออยู่กับเป้า แต่ว่ามันถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความเกลียด หรือความโลภก็ได้ ถ้าเกิดว่าถูกจ้างมา ใครจะตายกูไม่สนนะ สนแต่ว่าจะได้ค่าจ้างเท่าไหร่ เขาต้องใช้สติ ในการทำงานให้สำเร็จ เสียงดังยังไง ใจก็ไม่วอกแวก ใจกำหนดรู้อยู่กับงานที่ทำ นี่เรียกว่าทำทีละอย่างเหมือนกัน แต่สติที่ใช้ไม่ใช่สัมมาสติ สัมมาสติก็คือ สติที่ประกอบด้วยความรู้สึกตัว และมีความเพียร และใช้เพื่อการดูกาย ดูใจ ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ไม่ได้ไปรู้อย่างอื่น
คนที่เป็นนักดาราศาสตร์ ก็ต้องอาศัยสติในการที่จะศึกษาดาวต่างๆ ในจักรวาล นอกจากมีปัญญา มีความรู้และต้องใช้สติ ก็ทำให้งานสำเร็จได้ อย่างล่าสุดพบว่า มีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งอยู่รอบดวงอาทิตย์ที่ใกล้สุริยะจักรวาลมากที่สุด เป็นเรื่องตื่นเต้นมาก เป็นดาวที่เชื่อว่า อาจจะมีบรรยากาศเหมือนโลก ซึ่งหมายความว่า อาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ อยู่ไม่ห่างเท่าไหร่นะ ก็ประมาณสี่ปีแสง แสงเดินทางสี่ปีกว่าจะถึง ถือว่าใกล้สุดแล้ว ใช้สตินะ แต่ว่าเป็นสติที่ทำให้รู้เรื่องโลกภายนอก ไม่ใช่ทำให้รู้เรื่องกายเรื่องใจ รู้เรื่องกายเรื่องใจสำคัญยังไง ก็ทำให้ใจปลดเปลื้องจากความทุกข์ได้ ทำให้ความหลงไม่มาครอบงำ ทำให้เกิดปัญญา เพียงแค่มีสติดูกาย แล้วระลึกได้ว่า กายมีอยู่ แค่นี้ก็เป็นประโยชน์มากแล้ว
ตอนท้ายของบทสวดที่เราสาธยายเมื่อสักครู่ มีประโยคหนึ่งบอกว่า สติตั้งมั่นว่า กายมีอยู่ ขอให้สังเกตว่า สติตั้งมั่น หรือว่าการระลึกว่า กายมีอยู่ ไม่ใช่ระลึกว่า เรามีอยู่นะ ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่ จะมีความสำคัญมั่นหมายว่า เรามีอยู่ หรือว่าตัวฉันมีอยู่ หรือว่ากูมีอยู่ แต่ว่าสติ สติปัฏฐานนี่แหละ ที่ทำให้ระลึกได้ว่า ไม่ใช่กู ไม่ใช่เรา แต่มันแค่กายมีอยู่ ตรงนี้แหละที่ทำให้ความสำคัญมั่นหมายว่า กูก็ดี เราก็ดี มันเจือจางไป ตรงนี้เป็นปัญญาชนิดหนึ่ง คือ ทำให้เข้าใจ ทำให้มีปัญญาเห็นเรื่องรูปนาม เรื่องกายเรื่องใจ เพราะถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัวเมื่อไร จะไปปรุงว่า มีกูมีเรา เวลากายทำอะไรก็ไปคิดว่า ฉันทำ กูทำ เวลากายเดินก็คิดว่า ฉันเดิน กูเดิน เวลากายมันกิน เวลากายมันเคี้ยวก็ไปคิด สำคัญมั่นหมายว่า กูกิน กูเคี้ยว คือ มีกูมีเราตลอดเวลา พอเราใช้สติปัฏฐาน มาดูกาย เวลาทำอะไรก็ทำด้วยความรู้สึกตัว จะเห็นเลยหรือจะระลึกว่า แค่กายมีอยู่ไม่ใช่เรามีอยู่ จิตก็เหมือนกัน พอเอาสติปัฏฐานมาดูเวทนา ดูจิต ก็จะเห็นว่า แค่สักแต่ว่าเวทนามีอยู่ จิตมีอยู่ ไม่ใช่กูมีอยู่ จิตก็ไม่ใช่เรา จิตมันคิดอะไรนะ เป็นเรื่องของอาการ ไม่ใช่เราคิด โกรธก็เป็นความโกรธเกิดกับใจ ไม่ใช่เราโกรธ ราคะเกิดขึ้นกับใจ ก็ไม่ใช่ว่าเรามีราคะ หรือว่าเราเป็นราคะ หรือว่าเราอยาก เป็นสติที่จะช่วยทำให้เกิดปัญญา เห็นความจริงของกายและใจ
เวลาพูดคำว่า สติปัฏฐานหรือสัมมาสติ ให้เรารู้จักแยกแยะนะว่าต่างจากสติธรรมดาอย่างไรบ้าง หรือสติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง คือ มันเป็นสติที่ควบคู่ หรือว่าทำให้เกิดความรู้สึกตัว ประกอบไปด้วยความเพียร และมีผลทำให้ไม่ยินดียินร้ายในโลก หรือว่าไม่ยึดติดอะไร ไม่ยึดติดสิ่งใดๆ เลย อย่างที่เราสาธยายตอนท้ายๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะสติ เอาสติปัฏฐานมาใช้เพื่อพิจารณา เพื่อตามดูรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราเข้าใจว่า สติปัฏฐานหรือสัมมาสติแตกต่างจากสติธรรมดาอย่างไร เราจะได้ไม่หลง ไม่สับสน และพยายามเติมความรู้สึกตัวเข้าไปให้คู่กับสติ ก็เป็นสัมมาสติ ไม่อย่างนั้นอาจใช้สติไปในทางทำชั่วก็ได้ ใช้สติไปในทางเพิ่มทุกข์เพิ่มความหลงก็ได้ ถ้าเป็นสติธรรมดา