แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่นี่เช้า ๆ คนเฒ่าคนแก่เวลาจะใส่บาตรมักจะชวนหลานตัวเล็ก ๆ มาใส่บาตรด้วย มียายกับหลานคู่หนึ่งก็มารอใส่บาตร ยายก็พยายามพูดให้หลานได้รู้ว่าการใส่บาตรนี่เป็นบุญนะ เพื่อเด็กจะได้มีฉันทะในการใส่บาตร ใส่บาตรแล้วจะได้บุญ เด็กก็มารอใส่บาตรทุกเช้า มีวันหนึ่งของที่ใส่บาตรมันเยอะ อย่างที่เราสังเกตเวลาไปตามพระไปบิณฑบาตจะเห็น บางทีก็ถวายกล้วยเป็นหวีเลย ยายเห็นว่าของมันหนักก็เลยจะใส่บาตรเอง หลานก็ไม่พอใจนะ รบเร้าจะใส่บาตรเอง ยายก็ไม่ยอมเพราะรู้ว่าหลานทำไม่ได้แน่ หลานก็เลยโกรธ โกรธที่ยายไม่ให้ใส่บาตร เลยเอามือตียาย สุดท้ายยายต้องยอมให้ใส่บ้าง นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เราอาจคงเคยเห็นนะ หลายคนเห็นแล้วอาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่มันก็น่าคิดเหมือนกัน หลานอยากได้บุญเลยทำบาปด้วยการตียาย ถึงแม้ว่ามันเป็นบาปเล็ก ๆ แต่มันก็เป็นสิ่งไม่ดี
อันนี้มันก็สะท้อนถึงธรรมชาติของคนเราหรือธรรมชาติของจิตใจเรา เวลายึดมั่นถือมั่นกับอะไรสักอย่าง แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความดี แต่ว่าบ่อยครั้งก็ลงเอยด้วยการทำสิ่งตรงข้าม อยากได้บุญนะ แต่ก็ลงเอยด้วยการทำบาป อันนี้เพราะอะไรนะ เพราะความอยากนั่นแหละ ความอยากก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่ง แล้วพอไม่ได้อย่างที่อยากก็เกิดความไม่พอใจ ถ้าไม่รู้ตัวก็ทำอย่างที่หลานทำกับยาย ก็คือตีมือยาย อย่าว่าแต่เด็กเลยนะ ผู้ใหญ่เวลาอยากจะทำบุญเนี่ย อยากจะทำบุญกับพระเกจิอาจารย์สักรูปหนึ่ง แต่คนมาทำบุญกันเยอะต้องเข้าแถวต้องออกัน หลายคนอยากได้บุญมาก ๆ เลยนะ อยากถวายของกับมือท่าน อยากจะให้ท่านเคาะหัว แต่คนมันเยอะ พอมีใครบางคนมาแซงตัวเองก็โกรธ โกรธก็ว่าเขา เกิดการทะเลาะกัน หรือบางทีตัวเองก็แซงซะเอง ก็ทำให้อีกคนไม่พอใจ เลยทะเลาะกัน อยากได้บุญนะแต่ว่ากลับได้ความทุกข์ กลับได้ความเดือดเนื้อร้อนใจแทน อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะความอยากความยึดมั่น ยึดมั่นกับอะไรสักอย่าง บางทีก็ทำให้ได้สิ่งตรงข้าม อยากได้บุญก็เลยได้บาป อยากได้ความสงบก็เลยได้ความเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะยึดมั่นถือมั่น มันก็เรียกว่าเกิดกิเลสขึ้นมาทันที แล้วที่สำคัญก็คือว่ามันเกิดความหลง ความหลงที่สามารถจะเป็นเชื้อให้ทำอะไรที่ไม่ดีได้ หรือไปเชิญชวนความทุกข์เข้ามา เด็กก็อยากได้บุญ อยากใส่บาตรพระ แต่พอไม่ได้ใส่ก็เกิดความโกรธนะ ความโกรธมันเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะว่าตอนนั้นมันหลงไปแล้ว และพอโกรธแล้วมันก็ยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ สิ่งที่ไม่ควรทำก็ทำ สิ่งที่ควรทำก็ไม่ทำ อันนี้เพราะความหลง
ความยึดมั่นถือมั่นกับความหลงมันคู่กันนะ เป็นเพราะหลงก็เลยยึดมั่น และเป็นเพราะยึดมั่นแล้วไม่ได้อย่างที่ยึด อย่างที่อยากก็ยิ่งหลงเข้าไปใหญ่ เราสังเกตดูนะเวลาที่ยึดมั่นถือมั่นอะไรสักอย่าง บางทีหรือบ่อยครั้งก็ลงเอยด้วยสิ่งตรงข้าม อย่างคนที่มาภาวนาอยากจะได้ความสงบ เวลาภาวนาตั้งใจมากอยากได้ความสงบ แต่มักจะลงเอยด้วยความไม่สงบ เพราะพออยากได้ความสงบแล้ว มันก็พยายามไปทำทุกอย่างเพื่อให้จิตไม่คิด ทำให้จิตไม่ฟุ้ง เช่น ไปบังคับจิต ไปควบคุมจิต หรือไปดักเฝ้า ดักเฝ้าเลยว่าจิตมันจะคิดหรือเปล่า เพราะว่าถ้าจิตคิดเมื่อไหร่ก็เบรกมันห้ามมัน การทำอย่างนี้คือการเชื้อเชิญให้ความไม่สงบเกิดขึ้นในใจ ความอยากพอเกิดขึ้นมันก็ไม่สงบแล้วล่ะ หลายคนพอตั้งท่าหรือตั้งจิตแบบนี้ อยากจะได้ความสงบ สุดท้ายก็ลงเอยด้วยอาการว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ปวดหัว แน่นหน้าอก อันนี้เป็นเพราะว่าวางใจผิด วางใจผิดตั้งแต่แรก ก็คืออยากได้ความสงบ ยิ่งอยากได้มันก็ยิ่งไม่ได้นะ หรือว่าได้สิ่งที่ตรงข้าม
ในชีวิตประจำวันคนเราก็คงจะเป็นอย่างนี้บ่อย เวลาเดินทางอยากถึงที่หมายเร็ว ๆ เมื่อไรก็ตามที่เราอยากถึงที่หมายเร็ว ๆ มันกลับถึงช้า ถึงช้าทั้งในแง่ของความเป็นจริงและในแง่ของความรู้สึก อย่างเช่น อยากถึงที่หมายเร็ว ๆ ก็เลยเหยียบนะ ร้อย ร้อยยี่สิบ สุดท้ายกลายเป็นว่าเกิดอุบัติเหตุ เฉี่ยวชนมั่ง แหกโค้งมั่ง หรือว่ายางแตกมั่ง กลายเป็นว่ากลับถึงช้า ใครที่ขับสบาย ๆ ไม่ได้อยากให้ถึงไว ๆ เขาก็ขับไปตามสบายไม่ได้เหยียบอะไร ก็ถึงที่หมายโดยปลอดภัยถึงเร็วกว่าคนที่อยากถึงไว ๆ นะ แต่บางครั้งความที่ถึงช้ามันอาจจะเป็นเรื่องความรู้สึกก็ได้ ความรู้สึกว่ามันถึงช้า เพราะว่ามันมีความอยากจะให้ถึงไว ๆ ไม่ว่าใช้เวลานานเท่าไหร่ ก็ยังรู้สึกว่าใช้เวลานานไป ระหว่างที่ขับก็มีความรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะถึงสักที เมื่อไหร่จะถึงสักที นั่นล่ะเป็นทุกข์แล้ว ทั้งที่ไปเที่ยวนะ ไปเที่ยวก็ควรจะทำใจให้สบาย เครียดกับงานมามากแล้ว หลายคนมักจะพูดนะ อยากจะไปเที่ยวบ้างแต่เวลาไปเที่ยวก็ยังเครียด เครียดตั้งแต่ยังไม่ทันถึงที่เลย เครียดตั้งแต่เดินทางแล้ว บางทีเครียดตั้งแต่ก่อนออกเดินทางด้วย เพราะคนที่ร่วมทางอาจจะเป็นเพื่อนร่วมทาง อาจจะเป็นเพื่อนหรือว่าคนในครอบครัวตื่นสาย หรือว่าผิดนัด หรือว่าออกช้า ไอ้เราพร้อมแล้วแต่คนอื่นยังไม่พร้อม ได้เวลาออกแต่ไม่ออกสักที ล้อไม่หมุนสักที เครียดเลยนะ อยากจะไปเที่ยวอยากจะไปหาความผ่อนคลาย ยิ่งอยากเท่าไหร่ก็ยิ่งเครียดมากเท่านั้นแหละ เพราะว่ามันไม่ได้อย่างที่อยาก ยิ่งยึดมากเท่าไหร่พอไม่ได้อย่างที่อยากมันก็ยิ่งทุกข์นะ ไม่ว่าสิ่งที่ยึดสิ่งที่อยากมันจะเป็นเรื่องบุญกุศล เรื่องเที่ยว เรื่องดี ๆ ทั้งนั้นนะ แต่ลงเอยด้วยความทุกข์ หรือว่าลงเอยด้วยการทำสิ่งตรงข้าม หรือได้สิ่งตรงข้าม
เพราะฉะนั้นเวลาภาวนา ถ้าเราเริ่มต้นด้วยว่าอยากได้ความสงบนะ ก็เตรียมตัวทุกข์ได้เลย เพราะยิ่งอยากได้ความสงบ เราก็ยิ่งไปทำสิ่งที่มันสวนทางกับความสงบ ไปควบคุม ไปบังคับจิต จิตมันไม่ยอมอยู่แล้วนะ มันก็ต่อสู้ขัดขืน ยิ่งไปกดข่มความคิด ความคิดมันก็ยิ่งหลบนะ แต่ว่าเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่ มึงมาข้ามุดนะ มึงหยุดข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม อันนี้เป็นยุทธวิธีของพวกนักรบสงคราม นักรบกองโจร แต่ก็เป็นยุทธวิธีเดียวกันกับพวกความคิดเรานี้แหละ รวมทั้งอารมณ์ ฉะนั้นเวลาเราภาวนาจะเจริญสติก็ให้วางใจให้ดี ๆ ให้วางความอยากทั้งหลาย โดยเฉพาะอยากได้ วางให้หมด แต่ถ้ามันยังวางไม่ได้ก็ให้รู้ทัน จะไปบังคับมันให้วางมันก็ไม่ได้นะ ให้รู้ทันว่ามันมีความอยากอันนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความอยากสงบนะ ความอยากจะผลักไสบางอย่าง ระหว่างที่ปฏิบัติบางทีมันอยากจะหยุดเพ่งสักที มันชอบเพ่งก็อยากจะหยุด ไม่ชอบอาการเพ่ง หรือว่ามันมีความคิดผุดโผล่ขึ้นมา ไม่ชอบมัน อยากจะผลักมันออกไป ยิ่งอยากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ อยากจะผลักไอ้ความคิดฟุ้งซ่านออกไป มันก็ยิ่งมา อยากจะให้มันหยุดเพ่งนะ มันก็ยิ่งเพ่งเข้าไปใหญ่ เหมือนกับเวลามีความโกรธ เราอยากจะกดข่มผลักไสความโกรธ มันก็ยิ่งโกรธ ยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่ แล้วพอมันเกิดขึ้นก็ยิ่งไม่พอใจ พอไม่พอใจก็ยิ่งต่อสู้กับมัน พยายามเอาชนะมันให้ได้ แต่เอาชนะมันไม่ได้ก็ยิ่งหงุดหงิด พอหงุดหงิดปุ๊บลืมตัวเลย
หลวงพ่อคำเขียนท่านเล่าว่า พระบางรูปภาวนานั่งสร้างจังหวะไป ทีแรกก็นั่งดี ๆ อยู่ แต่สังเกตดูหน้าดำคร่ำเคร่ง พอเดินผ่านแอบเห็นพระท่านเอารองเท้าแตะฟาดหัวตัวเอง แล้วก็พูดบ่นว่าทำไมมันคิดมากแบบนี้ ๆ ยิ่งไม่อยากจะให้มันคิด มันยิ่งคิดนะ ยิ่งอยากได้ความรู้สึกตัวกลับหลงเข้าไปใหญ่เลย ลืมตัวจนกระทั่งเอารองเท้าแตะฟาดหัว คนที่เขาไม่ปฏิบัติยังไม่ทำขนาดนั้นเลย แต่คนที่ปฏิบัติทำได้ทุกอย่างนะ ถ้าหากว่าทำด้วยความยึดมั่นถือมั่น ฉะนั้นปฏิบัติเนี่ยไม่ใช่ว่าทำแล้วดีเสมอไปนะ บางคนยิ่งทำยิ่งทุกข์ บางคนยิ่งทำยิ่งหลง ยิ่งลืมตัว ทั้ง ๆ ที่มาทำเพื่อที่จะอยากได้ความรู้สึกตัว อยากจะได้สติ ยิ่งทำกลับยิ่งขาดสติ อันนี้เรียกว่า เป็นเพราะทำไม่ถูกวางใจไม่เป็น จะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เป็นการทำผิดในสิ่งที่ถูกนะ คือการภาวนานี่เป็นของดี แต่พอวางใจผิดนี่มันเกิดผลเสีย บางทีเกิดผลเสียมากกว่าไม่ภาวนาด้วยซ้ำ ไม่ใช่ภาวนาไม่ดีนะ ภาวนาดีแต่ว่าทำไม่ถูก เรียกว่าทำผิดในสิ่งที่ถูก มันก็เหมือนกับขับรถ ขับรถนี่มีประโยชน์ดี ระหว่างคนที่ขับรถเป็นกับคนที่ขับรถไม่เป็นนี่ คนที่ขับรถเป็นนี่ทำอะไรได้เยอะ ขับรถนี่มีประโยชน์แต่ถ้าขับไม่เป็นนะมันเกิดโทษยิ่งกว่า ยิ่งกว่าคนที่ไม่ขับซะอีก ขับรถเป็นของดีนะ แต่ถ้าขับไม่เป็นนี่มันเกิดโทษ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้นี่ไม่ขับดีกว่า ภาวนาเป็นของดีนะแต่ถ้าทำไม่ถูกบางทีการไม่ภาวนากลับดีกว่า เพราะทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า เพราะฉะนั้นของดีไม่ใช่ว่าทำแล้วมันจะดีเสมอไปนะ อยู่ที่การวางใจด้วย มันไม่ใช่แค่รูปแบบที่ยกมือ ไม่ใช่แค่รูปแบบที่หลับตานะ แต่สิ่งสำคัญคือใจ ต้องวางใจให้ถูก วางความยึดความอยากลง ไม่ว่าอยากจะได้อะไรหรืออยากจะผลักอะไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยรับมือกับอารมณ์ที่เราไม่ปรารถนา หรืออาการบางอย่างที่เราไม่ชอบ ก็คือแค่ดูมันเฉย ๆ หรือว่าจะไม่สนใจมันเลยก็ได้ แค่รู้เฉย ๆ แต่ไม่สนใจมัน เช่น มันมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นเยอะแยะ อย่าไปสนใจมัน ไม่ต้องผลักไสมัน แค่รู้ว่ามันมีอยู่ในหัวเรา แต่ก็ไม่ไปผลักไสมัน เรียกว่าไม่สนใจมันเลยก็ได้ มันจะมามันจะไปก็ช่างมัน ฉันไม่สนใจแก ก็รู้ว่ามานะแต่ฉันไม่สนใจ พอเราไม่สนใจ มันก็จะไม่ชอบนะ เพราะถ้าเราไม่สนใจ มันจะไม่มีอำนาจเหนือเรา มันต้องการชนะเราก็ต้องพยายามยั่วยุให้เราสนใจมันให้ได้ เพราะถ้าเราสนใจมัน เราไปผลักไสมัน มันจะมีกำลัง ให้ลองสังเกตดูนะ เวลาเราไม่สนใจมัน มันก็ค่อย ๆ ฝ่อลงไป มันอาจจะพยายามโผล่มาอีกครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง เพื่อจะยั่วเพื่อจะยุให้เราไปต่อล้อต่อเถียงหรือไปโรมรันพันตูกับมัน บางครั้งมันก็ทำสำเร็จนะ เราก็ทนอดห้ามใจไม่ได้ ก็ไปสู้รบตบมือกับมันนะ มันยิ่งชอบ เพราะการที่เราไม่ชอบมัน ทำให้มันมีอำนาจเหนือเรานะ ไอ้สิ่งที่ไม่ชอบที่มันโผล่ขึ้นมาในใจหรือการกระทำพฤติกรรมบางอย่างในใจ เช่น การเพ่ง หรือมีเสียงอยู่ในหัว คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ ก็ให้รู้ทันความไม่ชอบนั้น เพราะถ้ารู้ทัน มันก็จะเฉย ๆ ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ทันความไม่ชอบ เลยเผลอไปสู้รบตบมือกับมัน ไปบ่นโวยวายไปด่าใส่มันนะ เช่น ตะโกนใส่ว่าหยุดคิดสักทีโว้ย หยุดก่อกวนสักทีโว้ย หยุดเพ่งสักที อย่างนี้เสร็จมันเลย เราเพียงแค่หันหลังมาไม่สนใจมัน
มีหนังเรื่องหนึ่งเขาทำได้ดีนะชื่อ Beautiful mind เป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งฉลาดมาก ภายหลังก็ได้รางวัลโนเบล เป็นนักคณิตศาสตร์ที่หัวไวมากคิดเลขในใจได้อย่างรวดเร็ว เลขกี่หลักกี่หลักเนี่ย สี่-ห้าหลักเอามาคูณกันนี่หาคำตอบได้ทันที เรียกว่าเร็วพอ ๆ กับเครื่องคิดเลขชื่อจอห์น แนช แต่ตอนหลังเกิดอาการเพี้ยน เกิดภาพหลอน มีภาพหลอน เข้าใจว่ามีพวกซีไอเอมาจ้างให้ตัวเองไปหาร่องรอยของพวกรัสเซียที่แกล้งฝังโค้ดไว้ตามที่ต่าง ๆ ตามตัวเลขต่าง ๆ ในความเป็นจริงเขาไม่มีภาพนะ แต่มันเป็นแค่เสียง แล้วตอนหลังจอห์น แนช เขาก็บ้านะ แต่ตอนหลังได้รับการเยียวยาด้วยวิธีการที่หมอจิตแพทย์แนะนำว่าอย่าไปสนใจเสียงที่มันดังขึ้นมา แต่ในหนังเขาก็พยายามทำเป็นภาพของเป็นคนที่มายั่วยวน มาหลอก สายลับที่มาหลอก ตอนหลังเขารู้ว่านี่มันภาพหลอนเขาก็ไม่สนใจ สายลับนั่นก็พยายามจะมายั่วยวนชักชวน พอชักชวนไม่ได้ก็เริ่มด่าเริ่มสบประมาทเพื่อที่จะทำให้จอห์น แนช ไปสนใจ หันไปพูดคุยด้วย แนชก็ไม่สนใจ คราวนี้มันก็ด่าดัง ๆ เลย ด่าพ่อล่อแม่ จอห์น แนชทนไม่ได้ก็ไปโรมรันพันตู เสร็จเลยนะ บ้าใหม่ ตอนหลังก็หักห้ามใจว่ามันจะมาล่อมาหลอก มาพูดยังไง กูไม่สน ไอ้นั่นก็พยายามดิ้นรนเหลือเกินนะ แต่ทำเท่าไหร่ แนชก็ไม่สน มันก็ค่อย ๆ หายไป หายไป หายไป มันมีคนบางคนนะที่จะมีเสียงจ้วงจาบพระรัตนไตรเวลาสวดมนต์ เสียงด่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าเสียงด่าพ่อแม่ เวลาเห็นพ่อแม่หันหลังเหลียวหลังให้ แล้วก็ทุกข์มากเลยว่าพยายามทำยังไงเสียงนี้ก็ไม่หายไป รู้สึกแย่มาก บางคนอยากจะฆ่าตัวตาย เขียนมาปรึกษา ก็แนะนำเขาไปว่าอย่าไปสนใจ มันจะโวยวายยังไง จะมาจ้วงจาบก็อย่าไปสนใจ เดี๋ยวมันไปเอง อธิบายยาวกว่านี้นะ แต่สรุปก็คืออย่าไปสนใจมัน แต่ก่อนที่มันจะไปมันก็พยายามที่จะยั่ว พยายามด่าให้เจ็บให้แสบมากขึ้น เพื่อที่จะได้ยั่วยวนให้เราไปสู้รบตบมือกับมัน แต่ถ้าใจแข็งนะ ซึ่งในที่นี้ก็คือมีสติ สุดท้ายมันก็หายไป
ก็เหมือนกันเวลาเราปฏิบัติ ให้วางใจเป็นกลาง ๆ กับสิ่งที่มันเกิดขึ้น แม้จะไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือเป็นอารมณ์ หรือเป็นพฤติกรรมบางอย่างของใจ เช่น การเพ่ง ความฟุ้งซ่าน ความโกรธ หรือแม้แต่เสียงจ้วงจาบ เสียงมาชวนให้เขว หรือมาตั้งคำถามให้เราคลายการปฏิบัติ อย่าไปสนใจ ทำอย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านว่า รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ ไอ้คำว่ารู้เฉย ๆ เป็นสูตรที่เรียกว่าประเสริฐมากเลย ใช้ได้ทุกเรื่องเลย โดยเฉพาะกับการภาวนา ส่วนใหญ่รู้นะแต่ไม่เฉยนะ รู้แล้วอย่าไปไล่มัน ไปโวยวายใส่มัน ส่วนใหญ่รู้แต่ไม่เฉย เช่น รู้ว่าโกรธนะ แต่ว่าพอรู้ว่าโกรธก็พยายามไปกดข่มความโกรธ เพราะว่ามีความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ซ้อนขึ้นมาควบคู่ไปกับการรู้ว่าโกรธ ก็คือขณะที่รู้ว่าโกรธมันก็มีตัวหนึ่งเกิดขึ้นมา คือความรู้สึกไม่ชอบความโกรธ พอไม่ชอบความโกรธหรือความรู้สึกลบต่อความโกรธมันก็เลยเข้าไปพยายามกดข่ม พยายามไปสู้กับมัน อันนั้นแหละเป็นอาหารอย่างดีของความโกรธ เพราะมันชอบนะให้เราไปสู้รบตบมือกับมัน มันยิ่งมีกำลัง ดูเหมือนทีแรกดูเหมือนชนะนะเพราะมันหลบ มันหายไป มันไม่ได้หายไปหรอก มันหลบ แต่เราเผลอเมื่อไหร่มันก็โผล่ขึ้นมา เหมือนเวลานักรบกองโจรเจอทหารรัฐบาล ถ้าหากทหารรัฐบาลมีอำนาจมากกว่ามีกำลังมากกว่ามันก็หลบซุกซ่อนอยู่ พอทหารตำรวจเผลอ มันก็โจมตีทันที อันเรียกว่า มึงมาข้ามุด มึงหยุดข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม เราก็ให้รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ รู้ว่าโกรธ รู้ว่ามันเพ่ง รู้ว่ามีความคิดก่อกวน ก็แค่รู้ แต่ว่าไม่รู้สึกลบกับมัน เฉย ๆ กับมัน เขาเรียกว่าวางใจเป็นกลางกับมัน
คำว่า รู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ เป็นภาษาชาวบ้านแต่ว่าลึกซึ้งมาก เพราะส่วนใหญ่รู้แล้วไม่เฉยนะ รู้แล้วจะไปกดไปข่ม ไปเอาชนะ พูดง่าย ๆ อันนี้เป็นอีกขั้นหนึ่งของการปฏิบัตินะ คือทีแรกก็รู้ ให้รู้ว่ามันมีความคิด มีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ รู้ตรงนี้ก็ยากอยู่แล้วนะ เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้หรอก โกรธก็ไม่รู้ว่าโกรธ ฟุ้งก็ไม่รู้ว่าฟุ้ง ความคิดมันก็ลากพาไป พอปฏิบัติก็เริ่มรู้แล้ว เริ่มรู้ มันมา รู้ว่าโกรธ รู้ว่าหงุดหงิด รู้ว่าอารมณ์เสีย แต่ก็รู้แบบไม่ได้รู้จริงนะ เพราะว่าพอรู้แล้วมันก็หลงเลย ทันทีที่รู้ก็หลงเลย หลงยังไงหลงไปสู้กับมัน รู้แป๊บแล้วก็หลง เพราะถ้าไม่หลงไม่ไปสู้กับมันหรอก ไปสู้กับมันเพราะโดนมันหลอก ถึงเรียกว่าหลง แต่ถ้าเรานอกจากรู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้นแล้วนะ ก็ยังรู้ว่ามันมีความรู้สึกลบกับความโกรธ ไอ้ตรงเนี่ยอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาไม่ถึงนะ เพราะฉะนั้นหลายคนบอกทำไมรู้ว่าโกรธแต่ยังโกรธอยู่ ก็เพราะว่าทันทีที่รู้ว่าโกรธ ก็เข้าไปกดข่มความโกรธ มันมีความรู้สึกลบ อะไรที่เรารู้สึกลบกับมัน อะไรที่เราพยายาม ก็นำไปสู่การผลักไสกดข่ม พอเราผลักไสกดข่มนะมันยิ่งมีกำลัง อย่างที่มีคนพูดว่า อะไรที่เราผลักไสจะคงอยู่ อะไรที่เราแค่ตระหนักรู้จะหายไป ตระหนักรู้คือรู้ซื่อ ๆ นี่แหละ ส่วนใหญ่อย่างที่บอกนะ รู้ว่ามันโผล่มาแล้ว แต่ว่าไม่ได้รู้ซื่อ ๆ เพราะเหตุนั้นแหละ พอรู้ปั๊บก็หลง หลงไปกดมันเพราะว่ารู้สึกลบกับมัน มันรู้ทันนะเวลาใจมันรู้สึกลบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น พอรู้ว่าโกรธและก็เห็นความรู้สึกลบกับความโกรธ พอเห็นความรู้สึกลบกับความโกรธน่ะ จิตมันกลับมาเป็นปรกติเลยนะ มันไม่ไปลุยความโกรธ ความโกรธพอไม่มีใครไปลุยมัน ก็เหมือนกับว่าไม่มีการเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน มันก็ค่อย ๆ ฟุบฝ่อลงไป เหมือนกับนักเลงที่มาตะโกนด่าว่าเราอยู่หน้าบ้าน เพื่อให้เราออกไปสู้รบโรมรันพันตูกับมัน แต่เราไม่สนใจ มันก็ด่าๆ แต่เราไม่สนใจ ด่าไปสักพักมันก็เบื่อ มันก็หายไปเอง เราไม่ได้ไปไล่มัน
ก็เหมือนกับที่มีคนถามหลวงปู่ดุลย์ว่า ทำยังไงจะตัดความโกรธให้ขาด ท่านตอบไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมันและก็ดับไปเอง รู้ทันมันก็คือรู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ ไม่ไปสู้รบตบมือกับมัน เดี๋ยวมันเบื่อไปเองแหละ ที่จริงมันไม่เบื่อหรอก แต่ว่ามันเหมือนกับไฟที่ไม่มีเชื้อก็ดับไปเอง ฉะนั้นอาการต่าง ๆ ที่มันรบกวนจิตใจเราในเรื่องของการปฏิบัติที่พูดเมื่อวาน มันก็แก้ด้วยการที่เรารู้ซื่อ ๆ รู้เฉย ๆ นะ ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน มันจะเพ่งก็เพ่งไป รู้ตัวเมื่อไหร่เดี๋ยวมันกลับมาหยุดเพ่งเอง เสร็จแล้วพอลืมตัวสักพักก็ไปเพ่งใหม่ ไม่เป็นไรช่างมัน ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันลืมเพ่งไปล่ะ สักพักมันเพ่งใหม่ เอ้า..ไม่เป็นไร ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวมันก็ค่อย ๆ กลับมารู้ตัวมาขึ้น รู้ตัวมากขึ้น อันนี้เป็นเทคนิคของการภาวนานะที่จำเป็นจะต้องมีมาก ต้องฝึกให้ได้ ไม่ใช่แค่รู้ทันอย่างเดียว แต่ต้องรู้ซื่อ ๆ ด้วย ก็คือวางใจเป็นกลาง ไม่โกรธ ไม่เกลียดมัน อันนี้หมายถึงอารมณ์ที่เป็นลบนะ ส่วนอารมณ์ที่เป็นบวกก็ไม่ได้ยินดีกับมัน ไม่ได้ชอบมัน เป็นกลางคือไม่บวกไม่ลบนะ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่พอใจ แล้วก็ไม่รังเกียจ ตรงนี้ยาก เพราะว่าปกติการปฏิบัติของเราในชีวิตประจำวัน เราสั่งสมนิสัยที่ชอบผลักไสอะไรที่ไม่ชอบ ก็รู้สึกลบ ลบก็ผลักไส เสียงดังก็ผลักไสมัน แดดร้อนก็ไม่ชอบ จิตที่บ่นตีโพยตีพายโวยวายตลอดเวลา คนไม่ค่อยสังเกตนะ จิตที่มันบ่นเวลามีอะไรที่ไม่ดีไม่ถูกใจมากระทบ เราสะสมนิสัยช่างบ่นช่างวิจารณ์ แล้วก็นำไปสู่การที่พยายามไปต่อสู้ผลักไสมัน สะสมมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว เวลาภาวนาก็เอานิสัยเดิมมาใช้ บ่นโน่นบ่นนี่ ไม่พอใจ บางทีก็ไปโทษเสียงไปโทษคนที่อยู่รอบข้าง ไปโทษเสียงโทษดินฟ้าอากาศ จิตที่บ่นเป็นอุปสรรคมากสำหรับการปฏิบัติ และยิ่งติดดีมากเท่าไหร่ มันยิ่งบ่นมากเท่านั้นนะ ยิ่งติดดีมันก็ยิ่งบ่นเวลาไม่ดีอย่างที่คิด ต้องฉลาดในการรู้เท่าทันอาการนี้