แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เหมือนอย่างที่พูดไว้เมื่อเช้าก่อนฉันว่า พวกเราในที่นี้บางคนก็เคยเคยสูญเสียพ่อแม่ ส่วนใหญ่เคยสูญเสียญาติผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่าตายาย แต่แทบจะไม่มีเลยสักคนที่เคยสูญเสียในหลวงมาก่อน จนกระทั่งเมื่อวานนี้
ตอนที่รัชกาลที่ 8 สวรรคต ก็ 70 ปี มาแล้ว คนที่อายุ 80 ปีขึ้นไป ถึงจะจำความได้ แล้วก็อาจจะยังเด็กอยู่นะ อาจยังไม่รู้สึกอะไร ต้องอายุ 85-90 ขึ้นไปถึงจะจำความได้ว่าเคยสูญเสียในหลวงมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เมื่อวาน แต่คนที่อายุ 85-90 ปัจจุบันก็มีน้อยมาก เรียกได้ว่าคนส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศเพิ่งได้พบกับความสูญเสียในหลวงเมื่อวานนี้
คนส่วนใหญ่คนในชาติเกิดมาก็มีในหลวงแล้ว อยู่ใต้บารมีของในหลวง แม้พ่อแม่จะเสียชีวิตไป ก็ยังมีในหลวง เป็นประมุขของชาติ หลายคนรู้สึกว่าในหลวงจะอยู่กับเราไปจนตลอด เพราะว่าตั้งแต่เกิดมาในชีวิตของเราก็มีในหลวงแล้วญาติผู้ใหญ่ตายไป พ่อแม่ตายไป ก็ยังมีในหลวง เพราะฉะนั้นเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคต คนจำนวนไม่น้อย จะเรียกว่าคนทั่วไปทั้งประเทศจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นกำพร้า
การเป็นกำพร้านี่ถ้ากำพร้าพ่อกำพร้าแม่ ก็ผลัดกันเป็นนะ ไม่ได้เป็นกันทั้งประเทศ แต่ถ้าหากสูญเสียใน
หลวงครั้งนี้ เรียกว่าเป็นกำพร้ากันทั้งประเทศเลย รู้สึกได้ว่าอะไรบางอย่างหายไปจากชีวิต ความรู้สึกเคว้งคว้าง ขาดที่พึ่ง ก็เป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะเป็นเรื่องที่พวกเราไม่เคยประสบมาก่อน คนที่สูญเสียพ่ออาจจะเศร้าโศกเสียใจมากนะ แต่พอผ่านประสบการณ์นี้แล้ว พอถึงวันที่สูญเสียแม่เขาก็ทำใจได้ หรือบางคนสูญเสียแม่มาก่อนนะก็เสียใจ แต่ทำให้พอมีประสบการณ์อยู่บ้าง พอมาสูญเสียพ่อก็ทำใจได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เป็นความสูญเสียที่พวกเราหรือคนทั้งชาติไม่เคยผ่านพบมาก่อน อันนี้พูดถึงส่วนใหญ่นะ 99% ก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นก็ย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจ หรืออาลัยอาวรณ์เป็นธรรมดา ไม่ต้องมาสงสัยว่าทำไมเรามีความเสียใจอาลัยอาวรณ์ ทั้งๆ ที่ในหลวงของเราก็ประชวรมาเป็นเวลาหลายปีนะ การประชวรกับการที่พระองค์เสด็จสวรรคตก็ต่างกันเยอะทีเดียว เหมือนกับที่เราเคยมีประสบการณ์นะ พ่อแม่ป่วย แม้ป่วยหนักยังไง ถึงขั้นเข้าห้อง ICU ก็เป็นทุกข์อยู่นะ แต่ว่ามันแตกต่างกันมากนะกับตอนที่เวลาท่านสิ้นลม ตอนที่ท่านยังมีลมหายใจอยู่ เราก็ยังรู้สึกอบอุ่น ยังรู้สึกว่ายังมีที่พึ่ง ยังมีคนรักอยู่ใกล้ๆ มีคนที่เราจะพูดคุยได้ แต่พอพ่อแม่ของเราซึ่งป่วยหนักแล้วก็สิ้นลมไป ความรู้สึกต่างกันเยอะเลยนะ เกิดความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ เพียงแต่ว่าความโศกเศร้าเกิดขึ้นกับคนไม่กี่คน แล้วก็ผลัดกันเป็น ผลัดกันโศกเศร้าจากการสูญเสีย ไม่เคยที่จะมีคนทั้งประเทศสูญเสียพร้อมๆกันแบบนี้นะ บางคนก็ทำใจได้นะ คนที่ทำใจได้นะ ไม่โศกเศร้าไม่ร้องห่มร้องไห้เนี่ยก็ดีแล้ว แต่ก็ต้องให้เข้าใจคนที่เขาเศร้าโศกเสียใจ บางทีก็ร้องห่มร้องไห้ ต้องเข้าใจเขา เห็นอกเห็นใจเขา อย่าไปตำหนิหรือต่อว่าเขาว่า ทำไมถึงเศร้าโศกเสียใจ ไม่รู้หรือว่ามันเป็นธรรมดาของโลกนะ อันนี้อาจจะมีบางคนที่คิดแบบนั้น ก็อยากจะให้เขามีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่เขามีความเศร้าโศก อย่าไปสำคัญตอนนี้ฉันมีธรรมะสูงนะ ฉันทำใจได้ พวกเธอนี้เป็นชาวพุทธหรือเปล่า หรือว่าเข้าวัดเสียเปล่า ยังอดกลั้นหรือว่าข่มใจไม่ได้นะ ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่เป็นอกุศล เพราะแสดงถึงความไม่เข้าใจนะ ไม่เข้าใจคนอื่น
ในยามที่ถ้าเราไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะทำใจได้ ก็อย่าไปคิดว่าเออกูเก่งกูแน่ ให้เราเปิดใจในลักษณะที่เห็นอกเห็นใจคนอื่นว่า เขายังทำใจไม่ได้นะ เราก็มีความปรารถนาดีต่อเขา เข้าใจเขานะ ไม่ไปต่อว่าเขา ในทางตรงข้ามก็น่าจะให้กำลังใจเขา ให้สามารถที่จะผ่านพ้นความเศร้าโศกไปได้ ทีนี้คนที่เศร้าโศกเสียใจแล้ว ก็ให้รับรู้ว่าเรามีความเศร้า ไม่ต้องไปปฏิเสธ ผลักไสความรู้สึกนั้น จริงๆ มันก็มีประโยชน์เหมือนกัน เวลาเราเศร้าโศกแล้วคนอื่นก็เศร้าโศกกับเรา เราจะรู้สึกว่าเป็นเพื่อนทุกข์ ที่เคยกินแหนงแคลงใจกัน ที่เคยขุ่นข้องหมองใจกัน บางทีความเศร้าที่มีร่วมกันมันจะเชื่อมให้เราเข้ามาใกล้กันนะ เพราะว่าเรามีความรู้สึกเดียวกัน มีหัวอกหัวใจเดียวกัน ความกินแหนงแคลงใจ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ก็จะบรรเทาเบาบางลง เพราะว่าเราเป็นเพื่อนทุกข์ อยากให้ใช้ความรู้สึกนี้ให้เป็นประโยชน์ คนที่เคยเกลียดชังกัน อย่างเช่นคนที่เคยยกพวกตีกัน หรือคนที่ผิวสีต่างกัน อย่างเช่น ในอเมริกาผิวขาวกับผิวเหลืองผิวขาวกับผิวดำ นักเรียนห้องเดียวกันแต่ว่ากลั่นแกล้งกัน บางทีถึงกับทำร้ายกัน พออาจารย์หรือครูทำกิจกรรมเพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองล้วนแล้วแต่เคยผ่านความสูญเสีย เช่น บางคนสูญเสียพ่อ บางคนสูญเสียแม่ บางคนสูญเสียคนรักจากการทำร้ายกัน อย่างที่พวกอาชีวะทำร้ายกัน พอรู้สึกว่าเราสูญเสียเขาก็สูญเสีย เรียกว่าหัวอกเดียวกัน แล้วเราจะโกรธจะเกลียดกันไปทำไม ก็เกิดรักกันขึ้นมา ก็เป็นประโยชน์ของความเศร้าโศกที่เกิดจากความสูญเสีย มันสามารถที่จะช่วยทำให้เรารู้สึกเป็นเพื่อนทุกข์กันได้นะ ถ้าหากว่าสูญเสียเหมือนกันแล้วยังทะเลาะเบาะแว้งกัน แสดงว่าใช้ไม่ได้แล้วนะ เพราะว่าความเศร้าโศกนี้ควรจะทำให้เรารับรู้ หรือว่ารู้สึกเป็นหัวอกเดียวกันหัวใจเดียวกัน
ความเศร้าโศกมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือทำให้เราตัวเล็กลง อันนี้มีประโยชน์มากสำหรับคนที่มีอัตตาพองโต คนหลายคนรู้สึกกูเก่งกูแน่ มันจะมีอัตตาพองโตขึ้นมา โดยเฉพาะคนเก่งหรือคนที่ถือว่าฉันเรียนมาสูงหรือว่ารวยกว่า แต่เมื่อไรก็ตามที่คนเราเกิดความเศร้าโศกขึ้นมาในใจ จะทำให้เราตัวเล็กลง ทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น ไม่อวดเก่ง ไม่วางก้าม อันนี้ก็เป็นประโยชน์ คนเราถ้ามีความอ่อนน้อมถ่อมตนบ้างก็ดี เพราะฉะนั้นเมื่อเราเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ให้มองว่ามันก็มีข้อดีเหมือนกัน อย่างไรก็ตามอย่าจมอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจนาน เพราะในเมื่อเราเศร้าโศก เพราะว่าเรารักในหลวง ก็อย่าให้ความเศร้าโศกนั้นทำให้เราหลงลืมหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือการเป็นพสกนิกรที่ดีของในหลวง พสกนิกรที่ดีคือทำหน้าที่ทำประโยชน์ สร้างสรรค์คุณงามความดีทั้งกับตัวเองกับครอบครัวและกับชุมชนของเรา ถ้าเรามัวแต่เศร้าโศกแล้วก็ซึม ถ้าทำเป็นสักวันสองวันก็ไม่เป็นไร ธรรมดาของมนุษย์นะ แต่ถ้าเป็นนานกว่านั้น หมายความว่าเราละเลยหน้าที่ของเราแล้ว เรากำลังทำตัวให้เป็นภาระกับคนอื่น เราต้องสลัดความเศร้าโศกออกไป เพื่อที่เราจะได้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ซึ่งหมายถึงการดูแลครอบครัว การทำหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อประเทศชาติ ถึงจะเรียกว่าเรารักในหลวงจริง คือว่าเราไม่ใช่แค่รักแต่ปาก หรือว่าสักแต่ว่ารัก แต่ว่าเราพยายามทำตัวให้เป็นพสกนิกรที่ดี สืบสานปณิธานของพระองค์ตามกำลังที่เรามี อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องยากนะ เพราะว่าคนเราเวลาเศร้าโศกเพราะความสูญเสีย ปกติก็ใช้เวลา ปกติแล้วมันก็จะมีคนหนึ่งคอยมาช่วยเรา เช่น คนที่สูญเสียลูก คนที่สูญเสียพ่อแม่ ช่วงแรกๆ อาจจะทำอะไรไม่ได้เลย ก็ซึมเศร้าเจ่าจุกนะ อาหารก็ไม่กินหรือไม่มีเรี่ยวมีแรงจะทำ แต่ก็มักจะได้เพื่อนบ้าน หรือว่าได้มิตรสหายมาช่วย เขาไม่ได้สูญเสีย เขาก็มีความเข้มแข็ง มีเมตตากรุณาเข้ามาให้กำลังใจ ก็มาช่วยจัดบ้านช่วยหาอาหารมาให้ อันนี้น่าจะเป็นประสบการณ์ที่เราเคยพบนะ เวลาเราสูญเสียพ่อ สูญเสียลูก ก็มีเพื่อนบ้านคนนั้นคนนี้มาช่วยเรา ทำให้เราดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่ว่าตอนนี้อย่างที่ว่านะ กำพร้าทั้งประเทศ คนที่อยู่รอบข้างก็ล้วนแต่สูญเสียทั้งนั้น จะหวังพึ่งให้คนอื่นที่จะมาช่วยเรามันไม่ได้ ต้องรู้จักพึ่งตัวเองนะ ช่วยตัวเองให้ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปเศร้าโศกเสียใจนาน ถึงแม้ว่าเป็นธรรมดานะ เป็นธรรมดา เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องมีความอาลัยอาวรณ์
ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระปิยมหาราช ท่านเสด็จสวรรคต ตอนนี้ก็ 106 ปี มหาราช 2 พระองค์เสด็จสวรรคตห่างกันร้อย 106 ปี พระปิยมหาราชเสด็จสวรรคตปี 2453 ตอนนั้นอย่าว่าแต่ฆราวาสเลยนะ แม้แต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก็เศร้าโศกเสียใจ รัชกาลที่ 6 ท่านเล่าว่าวันที่นิมนต์พระมาสวดสดับปกรณ์คืนแรกที่พระบรมมหาราชวัง อย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ตอนนี้ แม้แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เสียงสั่นเครือและสะอื้นในบางครั้ง กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็สวดไม่ค่อยได้นะ เพราะว่าด้วยความเศร้า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์สวดไปก็ร้องไป ยิ่งพระธรรมวโรดม วัดเบญจมบพิตรก็ร้องไห้เหมือนฆราวาส สมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ ก็สวดด้วยเสียงสั่นเครือ นี่คือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่นะ ท่านก็มีความเศร้าโศกเสียใจ นับประสาอะไรกับพวกเราฆราวาส ถ้าจะเศร้าโศกเสียใจบ้าง จะมีน้ำตาไหล หรือว่าร้องไห้มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างที่บอกว่า อย่าเศร้าโศกนาน เพราะจะทำให้เราลืมสิ่งที่เราควรจะทำ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกการดูแลพ่อแม่ การดูแลตัวเอง การทำงานการทำหน้าที่ บางคนมัวแต่เจ่าจุกอยู่หน้าคอมนะ หรือดูโทรศัพท์มือถือ ก็อ่านเรื่องราวของผู้คนที่บันทึกเกี่ยวกับความรู้สึกในยามสูญเสีย มันก็ดีนะ แต่ว่าถ้าเราอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้จมอยู่ในอารมณ์ความเศร้าโศกมากขึ้น จนไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงทำงานทำการ
จริงๆ การลุกขึ้นมาทำงานนี่ช่วยนะ มีเพื่อนเป็นหมอแกก็เศร้าโศกเสียใจมากนะตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ตื่นขึ้นมาก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวไม่มีแรง แต่ว่าต้องมีหน้าที่นำไปสอนนักศึกษาแพทย์ในชั้นเรียน ก็ไม่รู้จะไปสอนได้หรือเปล่านะ เรี่ยวแรงไม่ค่อยมี คือกายมีแรงแต่ว่าใจเหนื่อย แต่พอไปสอนเข้านะ ทีแรกก็ฝืน แต่พอสอนไปสอนไปเรี่ยวแรงก็กลับมา แล้วเกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นมา ความเศร้าความอาลัยก็หายไป เกิดความเกิดความกระตือรือร้นในการสอน แล้วก็เรียกว่าเกิดความสนุกในการสอน แต่ว่าพอสอนเสร็จกลับไปหน้าคอมพิวเตอร์เศร้าใหม่ ก็ต้องรู้จักสลัดความเศร้าไป อย่าไปเจ่าจุกอยู่หน้าคอมพิวเตอร์มากเกินไป ต้องลุกขึ้นมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านที่เราเคยทำ กิจวัตรที่เราเคยปฏิบัติ รวมทั้งงานการที่ต้องใช้ความคิดใช้สติปัญญาก็ต้องทำ อย่าละเลยนะ ไม่งั้นเราก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ในหลวงของเราพระองค์เหนื่อยยังไง เหนื่อยกายแต่ใจไม่ยอมเหนื่อย พวกเรานี้ก็พยายามรักษาใจอย่าให้เหนื่อย จะมีความอาลัยอาวรณ์ถึงความสูญเสีย ก็อย่าให้จมอยู่ในอารมณ์นี้นาน พวกเราซึ่งเป็นนักปฏิบัติที่นี่ อันนี้ก็ถือว่าความเศร้าโศกความอาลัยอาวรณ์เป็นแบบฝึกหัดของเรา เขามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้วิธีที่จะมีสติรู้ทัน ถือว่าเป็นการบ้านที่เข้ามา แต่อาจเป็นการบ้านที่อาจจะยาก แล้วก็เป็นเหมือนกับพายุใหญ่ๆ ลูกหนึ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในจิตใจของเรา แต่เราก็อย่าไปท้อแท้ ให้ถือว่าเราจะรับมือกับความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์อย่างไร นี่เป็นการบ้านให้เรา เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน เพราะแม้กระทั่งพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างที่ว่ามา ท่านก็ยังมีความเศร้า แต่ว่าเราจะไม่ยอมให้มันมาเล่นงานเราเฉยๆ หรือมาครอบงำในจิตใจ เราก็ถือว่านี่เป็นโอกาสในการฝึกสตินะ เพื่อให้มีความรู้สึกตัว
ความเศร้าไปกดข่มมันไม่ได้ไม่ได้ผลนะ สิ่งที่เราต้องทำคือรู้ทันมัน เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ซึ่งเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ หลวงปู่มั่น แต่ไม่ได้ถามเรื่องความเศร้า แต่ถามเรื่องความโกรธ ว่าทำยังไงถึงสามารถตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ก็บอกว่าไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไป ความโกรธฉันใดความเศร้าก็ฉันนั้น มันมาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ ได้ฝึกสติ เพื่อให้เราได้รู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไร หลวงพ่อคำเขียนเคยพูดว่า ในความทุกข์ก็มีความไม่ทุกข์นะ ฉันใดก็ฉันนั้น ในความเศร้ามันก็มีความไม่เศร้า เป็นการบ้านให้เราลองเฉลยดูว่า ทำอย่างไรเมื่อมีความเศร้าเกิดขึ้น เราจะไม่พบความเศร้า ซึ่งที่จริงสติก็ช่วยได้นะ เพราะเมื่อมีความเศร้าแล้วเราไม่เห็นมัน เข้าไปเป็นนะ มันก็เป็นผู้เศร้าเลย แต่ถ้ามีความเศร้าเกิดขึ้น และเราไม่เข้าไปเป็น เราเห็น ไอ้ความเศร้าก็หายไป ความไม่เศร้ามาแทนที่ มันอยู่ที่เรานะ อารมณ์มันเกิดขึ้นแล้ว อยู่ที่เราว่าเราจะจัดการกับมันยังไง เราจะรับมือกับมันอย่างไร ถ้าเราไปกดข่มมัน ก็จะกลายเป็นผู้เศร้าไปโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้นแล้วนะ และเราเกี่ยวข้องกับมันถูก ก็คือว่าเห็นมัน การเห็นนี้ก็เป็นวิธีที่ทำให้ความเศร้ามันกลายเป็นความไม่เศร้า หรือทำให้เราได้พบ ในความเศร้านั้นมันมีความไม่เศร้าอยู่ อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ไม่ว่าภายนอกหรือจิตใจเรา มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราจะวางใจอย่างไร มีความเจ็บความปวด แม้เป็นความเจ็บความปวดที่กายนะ แต่ถ้าหากว่าเรามีสติรู้ทันมันนะ มันก็มีแต่ความปวดกายแต่ใจไม่ปวด เราก็สามารถจะเปลี่ยนความปวดให้กลายเป็นความไม่ปวดได้ คือว่ามันปวดแต่กายแต่ใจไม่ปวด ความเศร้าก็เช่นเดียวกัน ให้เราถือว่านี่เป็นการบ้านที่เราจะต้องเรียนรู้ และใช้มันให้เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ใช้โอกาสนี้พิจารณาถึงความจริง ที่เรียกว่าอนิจจัง หรือพระอนิจจลักษณะ คนไทยสมัยก่อนจะเรียกธรรมะ โดยเฉพาะไตรลักษณ์ เรียกแบบยกย่องเรียกว่าพระอนิจจา เรียกว่าพระอนัตตา เรียกเพื่อให้รู้ว่า มันมีประโยชน์นะ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ถ้าเราเกี่ยวข้องกับอนิจจังหรือพระอนิจจาถูกนะ มันก็ทำให้เราไม่ทุกข์ อนิจจาเนี่ยบางครั้งนี้มันทำให้เกิดความเจ็บปวดนะ มันหมายถึงความพลัดพราก หมายถึงความสูญเสีย หมายถึงความเสื่อมสลาย หมายถึงความวิบัติ ไม่ต้องพูดถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย แต่ว่าถ้าเราเข้าใจพระอนิจจาก็สามารถช่วยทำให้เราพ้นทุกข์ได้ หรือถ้าเราเข้าใจพระอนัตตาก็ช่วยทำให้เราพ้นทุกข์ได้ คนโบราณถึงเรียกความจริงว่าเป็นพระนะ เป็นพระอนิจจา เป็นพระอนัตตา เพราะก็คือธรรมะเหมือนกัน และเป็นธรรมะที่แสดงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแสดงให้เราเห็นเมื่อวานนี้ แล้วก็จะแสดงให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราใคร่ครวญพิจารณา มันก็จะทำให้จิตใจของเราอยู่เหนือความทุกข์ได้ ความทุกข์ที่เกิดจากอนิจจัง ความทุกข์ที่เกิดจากทุกขัง ความทุกข์ที่เกิดจากอนัตตาก็สามารถทำให้เราพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้าหากว่าเราใคร่ครวญจนเกิดปัญญา