แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าทุกเย็นเราสวดมนต์ทำวัตรร่วมกัน วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการทำวัตรสวดมนต์คือ เพื่อตอกย้ำ หรือปลูกศรัทธาในพระรัตนตรัยให้มั่นคงยิ่งขึ้น ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ไปถึงจุดหมายดีงามตามที่เราปรารถนา ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลัง โดยเฉพาะด้านจิตใจไม่ให้ขาดหายไป ศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของอินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 พละหมายถึงกำลัง กำลังใจของเราเป็นสิ่งสำคัญในการประพฤติปฏิบัติ และศรัทธาจะเพิ่มพลังให้กับจิตใจของเราได้ แต่ศรัทธานี่แม้จะเป็นศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็ต้องเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง เพราะศรัทธาอาจจะเพี้ยน หรืออาจคลาดเคลื่อนได้ ศรัทธาที่เพี้ยนหรือผิดพลาดที่เราเห็นอยู่บ่อย ๆ คือ ศรัทธาที่นำไปสู่ความงมงาย
ศรัทธาที่งมงาย อาจเป็นเพราะว่าไปเชื่อแบบศิโรราบ โดยเฉพาะกับบุคคลคนใดคนหนึ่ง เชื่อแบบไม่ได้ใช้สติ ไม่ได้ใช้ปัญญา เขาจะพาไหนก็ไป แม้กระทั่งจะพาไปตายก็ยอม มีอยู่บ่อยๆ ศรัทธาในตัวบุคคลจนกระทั่งยอมตายเพื่อเขา อย่างเมื่อสัก 30 กว่าปีก่อน มีกลุ่มที่เรียกว่าลัทธิหนึ่งไปตั้งเมืองใหม่อยู่แถวอเมริกากลาง พวกนี้เป็นคนอเมริกัน ศาสดาของเขาชื่อ จิม โจนส์ ผู้คนที่เป็นสานุศิษย์ก็คลั่งไคล้ใหลหลงมาก จนกระทั่งวันดีคืนดีศาสดาของเขาก็ชวนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ไปตาย กินยาฆ่าตัวตาย คนพวกนี้ก็ยอม เรียกว่าตายหมู่เป็นร้อยเป็นพัน นี่เป็นผลของศรัทธาที่งมงายแบบหนึ่ง หรือบางทีศาสดาก็สั่งให้สาวกไปพลีชีพเพื่อลัทธิอุดมการณ์ของตัว ไปฆ่าคนอื่น ไปก่อการร้าย ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ก็ไปกัน ยอมตายโดยที่ไม่ได้มีวิจารณญาณว่า สิ่งที่สั่งไปนั้นถูกหรือผิด เรียกว่า ศรัทธาแบบงมงาย แต่บางทีก็ไม่ถึงขั้นยอมตายถวายชีวิต แต่อาจจะเป็นการหลงแบบไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี เพียงเพราะมีศรัทธา เขาสั่งให้ทำอะไรก็ทำ บางทีถูกเขาหลอกใช้ หลอกเอาเงินไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับผู้ที่ประกาศตัวเป็นศาสดา แบบนี้ก็เห็นกันอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งในวงการสงฆ์ วงการพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นศรัทธาแบบงมงาย เป็นการไปผูกติดอยู่กับตัวบุคคลโดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าอะไรถูกอะไรผิด ศรัทธาที่ดีต้องเป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา หรือเรียกว่าศรัทธาญาณสัมปยุต ไม่ใช่เป็นการเชื่อตะพึดตะพือ แต่ว่ารู้จักใช้ปัญญา
ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งเป็นคหบดี ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ท่านมีดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน และมีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม พระสงฆ์ เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระโสดาบัน เป็นศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน พอพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ มารเห็นว่าคหบดีคนนี้กำลังจะหลุดจากอำนาจของมาร มารก็ไม่ยอม พยายามดึงหรือล่อหลอกให้อยู่ในอำนาจ วิธีการก็คือ ปลอมตัวเป็นพระพุทธเจ้า มารมีฤทธิ์สามารถที่จะแปลงกายได้ แปลงกายเป็นพระพุทธเจ้าและมาหาคหบดีคนนี้ คหบดีก็รู้สึกแปลกใจ เพราะพระพุทธเจ้าเพิ่งเสด็จไปเมื่อกี้ มีธุระอะไรถึงเสด็จกลับมา มารที่แปลงกายเป็นพระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อกี้สอนผิด ที่จริงแล้วไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา มีบางอย่างที่ไม่ใช่แค่เที่ยงเป็นสุขเท่านั้น ยังเป็นอัตตาด้วย เรียกว่า มาลวงให้เกิดมิจฉาทิฎฐิ คหบดีท่านนี้แม้จะมีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า ตอนแรกเชื่อเลยว่าผู้ที่อยู่ข้างหน้าคือพระพุทธเจ้า แต่ว่ามาไตร่ตรองดูก็ฉุกคิดว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยเปลี่ยนคำ พระองค์สอนอย่างไรก็สอนอย่างนั้นไม่เคยเปลี่ยน เลยสงสัยว่าที่ปรากฏข้างหน้าคือพระพุทธเจ้าไหม และที่สำคัญท่านเองก็เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่มีตัวตน ท่านเห็นด้วยปัญญา เลยแน่ใจว่าคนที่มาสอน มาบอกข้างหน้านี้ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนต้องเป็นธรรมะ เป็นความจริง แต่สิ่งที่ผู้ที่อยู่ข้างหน้ามาบอกเราไม่ใช่ จึงคิดต่อไปว่าคงเป็นมาร ก็เลยพูดท้วงไป กลายเป็นว่ามารจะมาหลอกไม่สำเร็จ อันนี้เป็นสิ่งที่น่าคิด ขนาดมารแปลงกายเป็นพระพุทธเจ้า พระโสดาบัน หรือ คหบดีท่านนี้ยังไม่เชื่อเลย ไม่ใช่เพียงแค่เห็นรูปร่างหน้าตาเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจะเชื่อทุกอย่าง
วิสัยชาวพุทธเป็นแบบนี้ ศรัทธาประกอบไปด้วยปัญญา แม้จะอ้างว่าเป็นพระพุทธเจ้ามาบอกก็ไม่เชื่อ เพราะว่าไม่ตรงกับความจริง เป็นวิสัยของชาวพุทธ คือเป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่ใช่เชื่อตะพึดตะพือ เพียงแค่ว่าท่านนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา พูดอะไรก็เชื่อไปหมด มีคราวหนึ่งพระพุทธเจ้าสนทนากับพระสาวก และก็มีพระสารีบุตรอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าท่านตรัสถามพระสารีบุตรว่า เชื่อไหมคนที่มีอินทรีย์ห้า หากทำให้มากก็จะบรรลุมรรคผลได้ พระสารีบุตรตอบว่าไม่เชื่อ และให้เหตุผลว่า ผู้นั้นจะต้องบำเพ็ญวิปัสสนาจึงจะบรรลุมรรคผล ตราบใดที่ไม่ได้บำเพ็ญวิปัสสนา หรือทำปัญญาให้แจ้ง ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้ พระรูปอื่นได้ยินเช่นนั้นก็ต่อว่าพระสารีบุตรว่าเป็นผู้ที่ขัดขืน ปฏิเสธไม่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า กล้าที่จะไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าสรรเสริญพระสารีบุตรว่าพูดถูกแล้ว ไม่ใช่ว่าเป็นคนเชื่ออะไรง่ายๆ เป็นธรรมดาของพระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคล ท่านมีศรัทธาก็จริง แต่เป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา และยิ่งมีปัญญามากเท่าไหร่ ความเชื่อโดยไม่เห็นไม่รู้ก็จะน้อยลง แต่ถ้าคนที่มีศรัทธาไม่ถูก ก็เชื่อแบบตะพึดตะพือ ไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง อาจจะหลงผิดได้
ที่จริงศรัทธาหลงผิดมีอีกแบบ อาตมาเรียกว่า ศรัทธาที่สนองตัวกู อันนี้ตรงข้ามศรัทธาที่งมงาย ศรัทธาแบบงมงายที่มอบกายถวายชีวิต ให้กับผู้ที่ตนเองศรัทธา เขาจะพาไปไหน พาไปนรกหรือไปตายก็ไป ส่วนศรัทธาอีกประเภทหนึ่งคือ ศรัทธาที่มีตัวกูเป็นศูนย์กลาง หมายความว่าที่ศรัทธาท่านนี้เพราะพูดถูกใจเรา สนองกิเลสของเรา สนองกิเลสของกู ถ้าหากตราบใดที่ยังทำอะไรถูกใจเรา เราก็ยังศรัทธาอยู่ รักเคารพอยู่ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามพูดไม่ถูกใจเรา พูดไม่ถูกใจกู หรือว่ากระทบตัวกู ก็จะโกธร แบบนี้มีอยู่ อย่างที่เคยเล่า พระสารีบุตรจะบำเพ็ญธรรม จะหลีกเร้นไปที่ไกล ก็จะลาเพื่อนสหธรรมิก ตามธรรมเนียมพระทั้งหลายจะมายืนรอเพื่ออำลาเป็นแถวยาวเลย พระสารีบุตรท่านเป็นคนที่มีมารยาท ท่านจะทักทายทุกคน ถามชื่อถามวงศ์ตระกูลต่างๆ ทุกคนเลย แต่มีคนหนึ่งที่ท่านไม่ได้ถาม ไม่ได้ทัก เพราะคนเยอะมาก พระรูปนั้นพอเห็นพระสารีบุตรเดินผ่านโดยไม่ทักทาย ก็โกธรเลยว่าทำไมพระสารีบุตรมองข้ามเรา เลยหาเรื่องใส่ร้ายพระสารีบุตร เผอิญในช่วงนั้นชายจีวรพระสารีบุตรไปถูกตัวพระรูปนี้ พระรูปนี้ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระสารีบุตรทำร้าย ขนาดนี้เลย จากคนที่ศรัทธาเปลี่ยนกลายเป็นโกธรเกลียดได้อย่างไร เพราะว่าเป็นศรัทธามีตัวกูเป็นที่ตั้ง ยังเคารพและศรัทธาถ้าหากว่าเขาหรือคนผู้นั้นทำอะไรที่ถูกใจเรา เช่น อาจสอนถูกใจเรา หรือให้ความสำคัญกับตัวเรา ถ้าเมื่อใดก็ตามไม่ให้ความสำคัญกับตัวเราเมือไหร่ ก็จะเกลียดทันที คนที่ศรัทธาแบบนี้ก็มีเยอะ ศรัทธากับครูบาอาจารย์ แต่พอครูบาอาจารย์ตำหนิต่อว่า โกธรเลย จากโกธรเป็นเกลียด บางทีครูบาอาจารย์ไม่ทักไม่ทายก็กลายเป็นเกลียดไปเลย
อาตมาก็เคยเจอ โยมบางคนมาที่วัด อาตมาทักทายหลายคนเลย แต่มีคนหนึ่งไม่ได้ทักทาย โยมโกธรมาก พอกลับไปบ้าน ไปบอกลูกหลานว่าต่อไปไม่มาวัดนี้แล้ว เพราะเจ้าอาวาสไม่ทักทาย อันนี้ก็มีอยู่ ครูบาอาจารย์ต่อว่า หรือว่าไม่ให้ความสำคัญ ก็เปลี่ยนจากศรัทธาเป็นความไม่พอใจ หรืออาจจะทำไม่ถูกใจ อย่างเช่น เคยนับถือครูบาอาจารย์ท่านนี้ แล้ววันดีคืนดีท่านสึกหาลาเพศไป โกธรมากเลย อันนี้เป็นศรัทธาที่เรียกกว่าเอาตัวกูเป็นศูนย์กลาง แตกต่างจากศรัทธาแบบงมงาย ประเภทงมงายเอาบุคคลเป็นศูนย์กลาง จนกระทั่งไม่สนใจเรื่องผิดชอบชั่วดี ไม่สนใจเรื่องเหตุผล ไม่สนใจเรื่องความถูกต้อง เขาจะพูดอะไร สั่งอะไร เขาจะพาสั่งให้ไปตาย ก็ไป เรียกว่าตัวกูมันกลืนหายไปกับบุคคลผู้นั้น แต่ศรัทธาประเภทที่สองนี้ มันมีตัวกู ตราบใดที่ตัวกูยังได้รับการตอบสนองก็ยังนับถืออยู่ แต่ศรัทธาแบบนี้อาจพาไปสู่ความงมงายได้ เพราะถ้าเกิดคนที่ตัวเองศรัทธานับถือเป็นครูบาอาจารย์เขาสนองกิเลสเราได้ เช่น เขาอาจจะมีเครื่องรางของขลังที่สนองความโลภของเรา หรือให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าเคารพเขานับถือเขาจะร่ำรวย จะเป็นเศรษฐี ก็จะหลงเชื่อหัวปักหัวปำ สั่งให้ทำอะไรก็ทำ เพราะว่าเชื่อว่าถ้าทำแล้วจะได้รับประโยชน์ อันนี้ก็เห็นอยู่ บางทีก็เป็นพระที่ทำตัวเหมือนกับเป็นผู้วิเศษ ทั้งที่จริงๆ ไม่มีอะไร หลอกว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้วิเศษ คนก็หลงเชื่อ เขาทำตัวยังไงไม่ถูกต้องก็ยอมปล่อย เขาจะหลอกไปไหนก็ไป หรือเขาจะหลอกเอาเงินเป็นล้านเป็นสิบล้านก็ยอม โดยไม่ได้ใช้ปัญญาไตร่ตรอง บางทีมันก็เหวี่ยงกันไปเหวี่ยงกันมา ระหว่างศรัทธาแบบงมงายกับศรัทธาแบบสนองตัวกู บางทีก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แต่นั่นไม่ใช่ศรัทธาที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องต้องประกอบไปด้วยปัญญา ไม่ใช่ผูกติดกับตัวบุคคล แม้นบุคคลนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้า ก็ยังฝากศรัทธาไว้กับผู้นั้นไม่ได้
ในพรรษาสุดท้ายเราคงทราบดีว่าพระพุทธเจ้าทรงประชวร อาพาธ มีคราหนึ่งอาพาธหนัก แต่พระองค์ก็ทรงใช้ธรรมะสะกดเวทนา แล้วกลับมาเป็นปกติ พระอานนท์ดูแลอุปถัมภ์พระพุทธเจ้าอยู่ตลอด พอเห็นพระพุทธเจ้ามีอาการดีขึ้น ก็มาเล่าให้พระพุทธเจ้าฟังว่า ตอนที่พระองค์อาพาธหนัก ตนเองเป็นทุกข์มาก ถึงขั้นหน้ามืด เศร้าโศกเสียใจ นึกอะไรไม่ออกเลย แต่พอพระองค์กลับมามีอาการดีขึ้นก็ดีใจ โล่งอก และยิ่งดีใจที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ปลงอายุสังขาร พระพุทธเจ้าได้ยินเช่นนั้นก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า ภิกษุทั้งหลายจะหวังอะไรจากเราอีก ที่ผ่านมาเราก็แสดงธรรมโดยไม่ปิดบัง ไม่เก็บงำ เหมือนกับหงายขันที่คว่ำให้หงายออก โดยไม่มีอะไรปิดบังอำพรางแล้ว จะหวังพึ่งอะไรเรา ตอนนี้เราก็อายุ 80 แล้ว เหมือนกับเกวียนเก่าแก่ที่คร่ำคร่า ที่ยังเคลื่อนไหว ยังไปได้เพราะว่ามีการแซมมีการขัดด้วยไม่ไผ่เอาไว้ แล้วมีการตรัสว่า อย่าหวังพึ่งพระองค์ ให้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกราะ และพระองค์ก็อธิบายต่อไปว่า มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกราะ หมายถึงมีธรรมะเป็นเกราะ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง แล้วก็แจกแจง คือการเจริญสติปัฏฐาน4 ให้รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่แหละเรียกว่ามีตนเป็นเกราะ มีตนเป็นที่พึ่งได้ คือสอนให้หันมาปฏิบัติธรรม ไม่ต้องฝากความหวังหรือศรัทธาไว้กับตัวบุคคล ให้มีตนเป็นที่พึ่งให้ได้ คำว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความหมายจริงๆ คืออันนี้ คือปฏิบัติจนกระทั่งเห็นแจ้งในธรรม จึงจะเรียกว่า มีตนเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็คือเข้าถึงธรรมนั้นเอง ขนาดพระพุทธเจ้าพระองค์ยังบอกว่าอย่ามาศรัทธา อย่ามาหวังอะไรกับพระองค์ ชาวพุทธเวลาศรัทธา แม้เราจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ก็ไม่ได้แปลว่าไปพึ่งพาในอำนาจในอานุภาพของพระองค์ บางคนศรัทธาในพระพุทธเจ้า ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แต่ว่าถือเอาแบบต้องการให้พระองค์มาสนองกิเลสของตัว หรือศรัทธานับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะแบบมีอวิชชา คือ งมงาย ไปให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมาก ถ้าใครศรัทธานับถือพระพุทธเจ้าแบบนี้ พระองค์ก็ตำหนิ อย่าง พระวักกลิ เวลาพระองค์ไปไหนพระวักกลิก็เดินตาม เพราะว่าศรัทธาในพระองค์มาก แต่ไม่ได้สนใจปฏิบัติธรรมเลย สนใจแต่กายเนื้อกายหยาบ พระองค์เสด็จไปไหนก็เดินตาม จนกระทั่งพระองค์ตำหนิว่า ตราบใดที่ยังไม่เห็นธรรมก็ยังอยู่ไกลจากพระองค์ แม้สัมผัสตัวหรือจับชายจีวรก็ตาม ตัวบุคคลซึ่งประกอบด้วยกายเนื้อ ไม่อาจเป็นที่พึ่งที่หวังได้ เพราะว่าต้องแก่ชราไปในที่สุด และเสื่อมดับแตกดับไป ถ้าศรัทธาหรือมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ คือการเห็นธรรม เห็นธรรมที่พระองค์แสดง อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระวักกลิว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจะเห็นเราตถาคต ไม่ใช่เห็นกายเนื้อ เห็นกายเนื้อไม่เห็นธรรมก็ไม่เห็นพระองค์ ก็ไม่ใช่เป็นศรัทธาที่แท้จริง
พวกเรานับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ต้องนับถือให้เป็น นับถือให้ถูก ไม่ได้หวังพึ่งอิทธิปาฏิหาริย์ หรืออานุภาพจากพระองค์ หลายคนยังเชื่อว่า พระพุทธเจ้าแม้เสด็จดับขันธ์พระปรินิพานไปแล้ว ก็สามารถอำนวยอวยผลให้กับตนเองได้ ถ้าหากว่าทำบุญเยอะๆ มีศรัทธามากๆ หล่อพระพุทธรูป ไม่สนใจว่าพระองค์สอนอะไร อันนี้เป็นศรัทธาที่ไม่ถูกต้อง การมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ต้องปฏิบัติให้ถูก คือนับถือเพื่อที่จะให้เราจิตใจสูงขึ้น กิเลสน้อยลง ความเห็นแก่ตัวน้อยลง อวิชชาน้อยลง การนับถือเพื่อยกจิตเราให้สูงขึ้น
ไม่ใช่นับถือแบบยึดติดแล้วดึงให้พระรัตนตรัยต่ำลง มี 2 อย่าง คือ การยึดถือ และการนับถือ นับถือทำให้จิตใจเราสูงขึ้น เพราะท่านเป็นของสูง ยิ่งเรานับถือ กาย วาจา ใจเราก็งดงาม กิเลสก็เบาบาง อันนี้เรียกว่านับถือแล้วจิตใจสูงขึ้น แต่นับถือไม่ถูกทำให้พระรัตนตรัยถูกฉุดลงมาต่ำลง มาสนองกิเลสของเรา เดี๋ยวนี้เราก็เห็นว่า การนับถือของชาวพุทธจำนวนมากทำให้พระรัตนตรัยต่ำลง เห็นพระพุทธเจ้าเป็นเพียงแค่ผู้วิเศษ ที่จะมาสนองกิเลสของเรา เจอพระพุทธรูปแทนที่จะทำให้จิตใจมีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ กลับนึกถึงว่าพระพุทธรูปจะบอกหวยให้เลขอะไรกับเราบ้าง กลายเป็นว่า พระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สนองกิเลสของเรา แต่ไม่ใช่เป็นตัวแทนแห่งธรรมะ ที่ทำให้จิตใจเราสูงขึ้นหรืออย่างน้อยสงบจากกิเลส หายเร่าร้อนเพราะความทุกข์ ถามใจเราเองว่าเวลาศรัทธาในพระรัตนตรัย เห็นธรรมบางไหม ธรรมะในใจเราสูงขึ้นบางไหม เราก็สวดอยู่บ่อยๆ บทที่เรียกว่า อริยธนคาถา ผู้ใดมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ต้องเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่ว่ายังไม่เข้าใจอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นธรรมที่ถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถือว่ายังไม่ได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้จะถือเอาอย่างอื่นเป็นสรณะแทน แม้ปากจะบอกว่ามีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่จิตใจอาจถือเอาเงินเป็นสรณะ หรือ เอาภูเขา ป่าไม้ เจดีย์ เอาของแปลกๆ เป็นสรณะก็ได้ ทำความเข้าใจให้ดี
การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หรือเป็นสรณะ ควรตรวจสอบศรัทธาของเราว่าเป็นแบบไหน ไม่ว่าศรัทธาในพระรัตนตรัย ศรัทธาในครูบาอาจารย์ เป็นศรัทธาแบบงมงาย หรือเป็นศรัทธาประกอบไปด้วยปัญญา เป็นศรัทธาที่มุ่งสนองตัวกู หรือเอาธรรมะเป็นใหญ่ ถ้าเรามีศรัทธาที่ถูกต้อง เป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยปัญญา ทำความเพียร มุ่งลดละกิเลส ถือเป็นศรัทธาที่ทำให้ชีวิตจิตใจเจริญงอกงาม และเป็นการผดุงเชิดชูพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง