แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงเคยได้ยินชื่อ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หลวงพ่อปานเคยเล่าว่าสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก 3-4ขวบ วันหนึ่งยายใกล้จะตาย คนสมัยก่อนตายที่บ้าน เขาไม่ได้ตายที่โรงพยาบาล ลูกหลานก็มาพูดเพื่อนำทางผู้ตาย ประเพณีคือมาบอก อะระหัง กับผู้ที่กำลังจะตายคือยายว่า “อะระหัง อะระหัง นะแม่ ภาวนา อะระหัง ไว้นะ เดี๋ยวพระอรหันต์จะมาช่วย” ก็พูด อะระหัง อะระหัง อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งยายสิ้นลม ต่อมาหลังจากนั้นไม่กี่วัน ขณะที่กำลังกินข้าวอยู่ คนไทยสมัยก่อนกินข้าวเป็นวงพร้อมกันพร้อมหน้า เด็กชายปานอารมณ์ดีครึ้มอกครึ้มใจอาหารอร่อยเลยพูดขึ้นมาว่า อะระหัง อะระหัง ปรากฏว่าแม่โกรธมากเลย บอกว่า “มึงจะไปตายก็ไปตายคนเดียว จะมาพูด อะระหัง ที่นี่ได้ยังไง คำว่า อะระหัง คนจะตายเขาถึงจะพูดกัน แล้วมึงมาพูด อะระหัง เนี่ยนะ เป็นลางร้ายจะแช่งให้คนอื่นพลอยตายไปด้วย” เด็กงงเลย ที่จริงก็น่าจะงงนะ ถ้าอาตมาอยู่ตรงนั้นคงงงเหมือนกัน เพราะว่า อะระหัง เป็นคำดี อย่างเมื่อกี้เราก็สวด สัมมาอะระหัง ดีเพราะอะไร เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า อะระหัง แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส เป็นคุณนาม หรือคุณสมบัติอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ แปลว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
คำว่า อรหันต์ หรือพระอรหันต์ ก็มาจาก อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส แล้วที่นำจิตผู้ใกล้ตายด้วยการพูดว่า อะระหัง อะระหัง ก็เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ทำให้จิตใจเป็นกุศล ทำให้หายกลัว จะตายแล้วก็หายกลัว นึกถึงพระพุทธเจ้า จิตใจก็เกิดปีติ ปราโมทย์ แต่คนจำนวนมากสมัยก่อน อาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย ไปเข้าใจว่าคำว่า อะระหัง เอาไว้พูดกับคนตาย หรือคนใกล้ตาย เพราะฉะนั้นเวลาเด็กชายปานพูดขึ้นมาว่า อะระหัง อะระหัง กลางวงข้าว แม่เลยโมโหหาว่าแช่ง เขาไม่เข้าใจ ไปติดอยู่กับประเพณีจนเข้าใจว่าคำว่า อะระหัง ใช้พูดเฉพาะเวลาคนใกล้ตาย ถ้ามาพูดในเวลาปกติจะเป็นลางร้าย ก็เป็นเวลานานนะที่แม่ของหลวงพ่อปานเข้าใจผิดมาตลอด ก็คงจะรวมถึงคนอื่นๆด้วย จนกระทั่งตอนหลังเด็กชายปานมาบวชพระจนได้เข้าใจว่า อะระหัง เป็นคำดี เป็นสุดยอดเลย คำว่า ไกลจากกิเลส หรือพ้นกิเลส พ้นทุกข์ เป็นของดี ของวิเศษทีเดียว ตอนหลังก็มาแนะนำให้โยมแม่เข้าใจว่า อะระหัง แปลว่าอะไร แล้วก็ไม่ได้ใช้เฉพาะเวลาพูดกับคนตาย เวลาถวายสังฆทาน เวลาจะทำความดี เวลาจะรักษาศีล สมาทานศีล เราก็อ้างถึงคุณพระรัตนตรัย
เพราะฉะนั้นให้เข้าใจคำว่า อะระหัง ก็ดี หรือ คำว่า สัมมาสัมพุทโธ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ทั้งนั้น เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงคนที่ไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เข้าใจความหมาย พอทำตามประเพณีมากๆ เลยเข้าใจผิดพลาด ไม่เข้าใจผิดเรื่องนี้อย่างเดียว เข้าใจผิดเรื่องอื่นด้วย เพราะไปติดที่ประเพณี พิธีกรรม หรือติดที่รูปแบบ เช่น จะสมาทานศีลได้ก็ต้องมีการกล่าว มีพิธี มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง หรือต้องมีพระมาให้ศีล จริงๆ สมาทานศีลทำที่บ้านก็ได้ แค่ตั้งใจทำ เจตนาที่จะสมาทานก็ถือว่าสำเร็จแล้ว บางคนไปเข้าใจว่าต้องมาสมาทานศีลที่วัด ถ้าไม่มีพระก็สมาทานไม่ได้ อันนี้เข้าใจผิด เพราะไปติดที่รูปแบบ เพราะเห็นว่าเขาสมาทานศีลกันในวัด เลยคิดว่าต้องทำที่วัดเท่านั้น หรือจะถวายสังฆทานก็ต้องมีคำกล่าว อิมานิ มะยัง ภันเต บางคนกล่าวไม่ได้ ท่องไม่เป็น เลยไม่กล้าจะถวายสังฆทาน บางคนหนักกว่านั้นไม่รู้ธรรมเนียมพระ ไม่รู้ว่าจะพูดกับพระว่ายังไง เลยไม่กล้าเข้าวัด เสียโอกาส เรื่องพวกนี้เป็นประเพณี รูปแบบ อย่าไปยึดติดกับมัน ยึดติดแล้วจะกลายเป็นผลเสียได้ เกิดความเข้าใจผิดอย่างที่โยมแม่ของหลวงพ่อปานเข้าใจว่า อะระหัง พูดไม่ได้ในวงข้าว หรือพูดไม่ได้ในยามปกติ
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นสิ่งที่ลึกไปกว่านั้นอีก คือไปเกิดความเข้าใจว่าธรรมะจะเอามาใช้ก็ต่อเมื่อในยามที่ประสบทุกข์ หรือว่าจะนึกถึงธรรมะก็ในยามที่เจ็บป่วยใกล้ตาย จะใกล้ตายแล้วค่อยมาเอ่ยถึง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ หรือว่านึกถึงพระพุทธเจ้า นึกถึงพระอรหันต์ แต่ในเวลาปกตินึกถึงก็ดีพูดถึงก็ดี กลายเป็นไม่ดีไป กลายเป็นแช่งไป หรือว่าเวลาปกติแล้วก็ไม่นึกถึงพระธรรม ไม่นึกถึงคำสอนของพระเจ้าเลย ก็ไม่ถูกนะ เพราะยิ่งเวลาปกติ ยิ่งเวลามีความสุข มีความสำเร็จ มีความเจริญ ยิ่งต้องนึกถึงธรรมะให้มากๆ เพราะว่าความสุข ความเจริญ ความสำเร็จ ยังไงก็ไม่เที่ยง สักวันหนึ่งต้องเสื่อมต้องสลายไป สุขภาพที่เราดีวันนี้ สักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นเจ็บต้องป่วย ที่ยังหนุ่มยังสาวต่อไปก็ต้องแก่ต้องเหี่ยวย่น ที่ร่ำรวยก็อาจจะกลายเป็นตกอับยากจนก็ได้ นักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกบางคนได้เงินมา 40 ล้านบาท วันดีคืนคืนดีผ่านไป 7-8ปี กลายเป็นหนี้ซะแล้ว เป็นหนี้เป็นล้านเลย แถมบางคนติดเหล้าซะอีก เพราะอะไร เพราะว่าไม่ได้เฉลียวใจ ไม่ได้คิดว่าความสำเร็จ ความร่ำรวยเป็นของไม่เที่ยง ถ้าเกิดตอนที่เราสำเร็จ มีความสุข ระลึกถึงธรรมะเอาไว้ จะได้เตือนใจว่าถึงเวลาเสื่อม ถึงเวลาขาลง จะได้ไม่ทุกข์ อย่าไปคิดว่าธรรมะเอาไว้ใช้หรือนึกถึงเฉพาะตอนที่มีทุกข์ หลายคนพออกหัก ตกงาน เจ็บป่วยถึงค่อยนึกถึงพระ นึกถึงวัด ก็ดีอยู่นะ ดีกว่าไปนึกถึงเหล้า ไปนึกถึงอบายมุข หรือคิดฆ่าตัวตาย แต่ว่าถ้าจะให้ดีในยามสุขก็ต้องคิดถึงธรรมะ คิดถึงวัด คิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ด้วย ไม่ใช่คิดถึงอย่างเดียว ปฏิบัติด้วย จะทำให้ได้รับประโยชน์ในฐานะที่เป็นชาวพุทธอย่างเต็มที่ หรือว่าได้รับประโยชน์แห่งความเป็นมนุษย์ เพราะคนเราเป็นมนุษย์ถ้าปราศจากธรรมะ ก็อาจจะกลายเป็นสัตว์หรือกลายเป็นเดรัจฉานได้ หรือถึงแม้ไม่ได้เป็นแบบนั้นก็อาจจะตกนรกเพราะความทุกข์ เพราะฉะนั้น อะระหัง ก็ดี หรือว่า ธรรมะ โดยรวมก็ดี ไม่ใช่ว่าจะมาใช้ในเวลาทุกข์ ในเวลาใกล้ตาย ในเวลาปกติสุขก็ต้องใช้ พูดถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึง เวลาคนเจ็บคนป่วยแล้วเห็นพระ บางทีนึกว่ากำลังจะตาย เพราะในระยะหลังคนจะไปเจอพระก็เวลาที่มีงานศพ จะไปวัดก็ตอนที่มีคนตาย แล้วตอนหลังพระก็สวดศพซะเยอะ พิธีที่พระทำมากที่สุด ทำรายได้ให้กับพระมากที่สุดคืองานศพ พระวัดไหนที่มีงานศพเยอะจะมีฐานะดีทีเดียว ใครจะย้ายมาอยู่วัดนั้นก็ต้องมีการเซ้งกัน จะไปอยู่วัดอื่นแล้วมีคนอื่นมาอยู่แทนก็ต้องเซ้งกัน อันนี้วัดในเมืองนะ ทีนี้บทบาทพระในเมืองระยะหลังก็เป็นเรื่องของการสวดศพ คนแก่ คนเจ็บ คนใกล้ตาย บางคนเจอพระใจเสียนึกว่าตัวเองกำลังจะตาย เหมือนในญี่ปุ่นเลยนะ ในญี่ปุ่นคนป่วยเวลาเจอพระญี่ปุ่นใจเขาเสียเลย เพราะว่าพระญี่ปุ่นทำแต่เรื่องสวดศพอย่างเดียว อย่างอื่นไม่มีเลย
อาตมาเคยไปประเทศญี่ปุ่น และมีเพื่อนเป็นพระชาวญี่ปุ่น เวลาท่านจะไปเยี่ยมเพื่อน เยี่ยมญาติโยม เยี่ยมคนที่อยู่ในบริเวณ เขาเรียก อุบาสก อุบาสิกา ที่เป็นสมาชิกวัด วัดแต่ละวัดต้องมีสมาชิก ไม่ใช่ใครๆจะเป็นได้ ต้องเข้าสมัครเป็นสมาชิก พอสมาชิกวัดป่วยในโรงพยาบาลท่านจะไปเยี่ยมนี่ท่านเพิ่งเสร็จจากพิธีนะ เพิ่งเสร็จจากพิธีที่โน่นที่นี่ เสร็จงานศพ จะเข้ามาโรงพยาบาลไปเยี่ยมต้องถอดพวกเครื่องแต่งกาย จีวร เครื่องแบบพระออกก่อน แต่งตัวเป็นคนปกติ ถึงจะไปเยี่ยมได้ อาตมาก็ถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ท่านบอกว่าคนญี่ปุ่นจะเห็นพระเป็นลางร้ายถ้ามาเยี่ยมแล้วก็แต่งชุดพระ เพราะพระในญี่ปุ่นมีแต่จัดงานศพหรือสวดให้คนตาย งานศพก็เป็นรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้กับวัดและพระมาก ถ้าไม่สวดงานศพก็สวดทำบุญให้กับคนตาย เมื่อครบ 1 ปี เมื่อครบ 3 ปี เมื่อครบ 7 ปี คนที่จะมาใช้สิทธินี้ได้ต้องเป็นสมาชิกวัด ถ้าไม่ใช่สมาชิกวัดจะไปขอให้พระมาสวดโน่นสวดนี่ไม่ได้ แต่ถ้าสมาชิกวัดน้อย พระก็แย่งกัน นี่พูดถึงประเทศญี่ปุ่น แต่ที่อยากจะพูดคือว่าในญี่ปุ่น พระเป็นเครื่องหมายของคนตายไปเสียแล้ว บางทีเรียกศาสนาพุทธในญี่ปุ่นว่าเป็นศาสนาแห่งงานศพ ศาสนาพิธีศพ Funeral Buddhism เป็นคำที่ใช้เรียกศาสนาพุทธในญี่ปุ่น Funeral แปลว่างานศพ พิธีศพ พอเจอพระที่แต่งกายเต็มยศในโรงพยาบาล คนก็นึกว่าจะมาแช่งซะแบบนั้น
ต่อไปเมืองไทยก็อาจจะเป็นแบบนั้น เจอพระในพุทธศาสนามาในโรงพยาบาล คนก็จะนึกว่ามาทำบุญให้คนใกล้ตาย จะมานำทางคนใกล้ตาย ก็ใจเสีย เพราะคิดว่ายังอยู่ได้อีกนาน แต่ก็ดีนะเดี๋ยวนี้มีพระมาเยี่ยมคนป่วยที่โรงพยาบาลมากขึ้น ไม่เฉพาะคนที่ใกล้ตาย พระมาทำบทบาทนี้ทำให้คนรู้สึกว่า พระเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตากรุณา ไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์ของความตายหรือพิธีศพ ก็มีพระที่ไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาลมากขึ้น ไม่ใช่รอให้ตายแล้วค่อยถึงทำพิธีศพ อันนั้นมันไม่ถูกต้อง