แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของสามเณรและศีลจาริณี ที่ได้มาบวชที่วัดป่าสุคะโตในปีนี้ ถามว่าดีใจไหม หลายคนตอบว่า ดีใจเพราะได้กลับบ้าน เรียกว่าเป็นความดีใจขั้นธรรมดา ความดีใจที่สูงกว่านั้นคือ ดีใจว่าเราทำได้ เราทำสำเร็จ สำเร็จอย่างไรรู้ไหม สำเร็จที่เราบวชมาจนถึงวันนี้ได้ ถึงแม้จะมีความยากลำบากแค่ไหน ต้องตื่นเช้า บางครั้งอาหารไม่ถูกปาก กลางวันอากาศก็ร้อน กลางคืนบางทีก็เย็น พระพี่เลี้ยง หลวงพี่ หลวงพ่อก็เคี่ยวเข็ญให้เราทำอะไรอีกตั้งหลายอย่าง แต่สุดท้ายเราก็ทำสำเร็จไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย สู้มาจนถึงวันนี้ โดยไม่คิดสึกหรือไม่โยนผ้าขาว ถ้าเรายืนยันแบบนี้ถือว่าเป็นความดีใจที่สูงขึ้น ลองนึกถึงคืนวันแรกที่เรามานอนค้างที่นี่ เรารู้สึกยังไง หลายคนไม่มั่นใจ หลายคนวิตกคิดถึงบ้าน ไม่อยากจะมาเลย แต่พ่อแม่ขอให้มาหรือบังคับให้มา วันที่สองยังไม่เท่าไหร่ วันที่สามเป็นไง พอพ่อแม่กลับบ้าน เหงาสิ บางคนอยากจะสึกใช่ไหม แต่เราก็ไม่สึก พยายามสู้กับอุปสรรค สู้กับความอยากสึก แล้วเราก็ผ่านมาได้ ความคิดอยากสึกก็ไม่มี แล้วก็ต้องเจออะไรหลายๆ อย่าง แต่เราทำได้ เช่น ให้เราไปเดินฝ่าความมืด แต่นี่แหละเป็นกิจกรรมที่เราจะจดจำไว้อีกนานแสนนาน และการที่เราทำได้ถือเป็นความสำเร็จต้องภูมิใจ ต้องยกนิ้วให้กับตัวเอง นี่แหละคือเหตุผลที่เราควรดีใจว่า เราทำได้จนสำเร็จ ลองถามตัวเองว่าควรดีใจไหม มันเป็นความสำเร็จที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของเรา
คนเราจะมีความรู้มากมายแค่ไหนหรือมีโชควาสนาเพียงใด แต่ถ้าเราไม่มีความเพียร ไม่มีความพยายาม ก็ไม่มีทางสำเร็จ ไม่มีทางเจริญ สมัยนี้เขาเน้นสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ให้รู้จักคิดนอกกรอบ ก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าจะเก่งแค่ไหนถ้าไม่มีความเพียรพยายาม ถ้าไม่กล้าสู้ความยากลำบาก จะทำอะไรก็ไม่สำเร็จหรอก เมื่อเราทำสำเร็จได้จึงเป็นสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ อย่าไปภาคภูมิใจว่าเรามีกระเป๋าราคาแพง อย่าไปภาคภูมิใจว่าเรามีโทรศัพท์เครื่องพิเศษรุ่นใหม่ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะน่าภาคภูมิใจ เพราะใครมีเงินก็หาซื้อได้ แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือการที่เราทำความเพียร ใช้ความขยันหมั่นเพียรไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ไม่สำคัญ ขอให้เพียรพยายามเอาไว้ เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความท้อแท้ท้อถอย ให้มานึกถึงวันที่เรามาบวชเณรบวชศีลจาริณี แล้วเราก็ท้อแท้หลายครั้ง เรายอมแพ้หลายครั้ง แต่สุดท้ายแล้วก็ฮึดสู้จนกระทั่งมาถึงวันนี้ได้ เวลา 20 กว่าวันของการบวชนี่ไม่ใช่น้อยๆ คราวนี้ก็ต้องถามใจเราเองก่อนที่จะสิกขาลาเพศไปวันพรุ่งนี้ ลองมองตัวเองสักหน่อยว่าผ่านมา 3 อาทิตย์กว่า เราทำอะไรได้ดีบ้าง มีสิ่งใดที่ภาคภูมิใจบ้าง นอกจากการที่เราฟันฝ่ามาจนกระทั่งถึงวันนี้ มีอย่างอื่นที่เราภาคภูมิใจอีกหรือเปล่า เช่น การที่เราเสียสละเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเพื่อนร่วมกลุ่ม หรือเสียสละเพื่อหมู่คณะ หรือได้เรียนรู้วิธีการอยู่แบบง่ายๆ มากขึ้น แต่ก่อนจะกินอะไรก็เลือกกิน กินยาก พอมาที่นี่แล้วกลับกินง่ายขึ้น อยู่ง่ายขึ้น เราต้องให้คะแนนตัวเองสักหน่อยว่า 3-4 อาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เรามีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง
คนเราต้องมีอะไรที่ดีขึ้น เมื่อเรามีประสบการณ์แบบนี้แล้ว เราจะต้องเป็นคนใหม่กว่าเดิม จากวันแรกที่มาบวชจนถึงวันนี้ เราต้องเป็นคนใหม่กว่าเดิม ใหม่กว่าเมื่อ 3 อาทิตย์ที่แล้ว เป็นคนที่ดีกว่า 3 อาทิตย์ที่แล้ว ดีกว่ายังไง เช่น รักพ่อแม่มากขึ้น รักธรรมชาติมากขึ้น แต่ก่อนเห็นต้นไม้ก็อยากจะตัด ถ้ามีมีดก็เหวี่ยง บางทีเห็นสิงสาราสัตว์ เราก็ไม่สนใจ แต่มาคราวนี้เรารักธรรมชาติมากขึ้น รักต้นไม้มากขึ้น เห็นคุณค่าธรรมชาติมากขึ้น ถือว่าให้คะแนนตัวเองได้ เราเสียสละมากขึ้น แต่ก่อนกินข้าวจะนึกถึงตัวเองก่อน แต่ตอนหลังก็นึกถึงเพื่อน แบ่งปันให้เพื่อนบ้าง ถ้าเรามีตรงนี้ก็ให้คะแนนกับตัวเองได้ อดทนมากขึ้นตื่นเช้าได้ดีขึ้น นี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้เราเป็นคนใหม่ แล้วถามตัวเองว่า มาถึงวันนี้เราเป็นคนที่ใหม่กว่าเดิมไหม เป็นคนที่ดีกว่าเดิมไหม หรือเป็นคนที่เข้มแข็งกว่าเดิมไหม ถ้าหากว่าเรากลัวความมืดน้อยลง กลัวผีน้อยลง ก็ถือว่าให้คะแนนตัวเองได้ กลัวความมืดน้อยลงหรือเปล่า กลัวตุ๊กแกน้อยลงหรือเปล่า ถ้ากลัวน้อยลงถือว่าเก่งแล้ว อย่างน้อยต้องมีอะไรดีขึ้นสักอย่าง 2 อย่างใน 3 อาทิตย์ที่บวชเรียน เช่น กลัวความมืดน้อยลง กลัวตุ๊กแกน้อยลง แล้วก็อยู่ง่ายกินง่ายมากขึ้น รู้จักช่วยตัวเอง แต่ก่อนนี้จะทำอะไรก็ชี้นิ้ว ยกให้แม่ทำให้พ่อทำให้ หรือไม่ก็ให้คนที่บ้านหรือคนใช้ทำให้ ตอนนี้เราต้องรู้จักทำเอง เก็บที่นอนเป็น ซักเสื้อผ้าก็ซักเป็น แล้วก็อย่างที่บอกคือถ้าหากเรามาที่นี่แล้ว เรามีความขยันหมั่นเพียรมากขึ้น มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แต่ก่อนจะทำอะไรก็ไม่กล้า ทำอะไรก็กลัว เช่น กลัวความมืด หรือกลัวความลำบาก แต่ตอนนี้เราเห็นว่า เราก็เก่งกว่าที่คิด แต่ก่อนคิดว่าคงไม่ไหวหรอก 3-4 อาทิตย์นี้จะไหวหรือเปล่า แต่ตอนนี้เราไหวแล้ว จะให้อยู่นานมากกว่านี้ก็ได้ อย่างนี้ต้องเรียกว่า มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
เราทุกคนมีของดีอยู่ในตัว เช่น ความเพียรพยายาม ความอดทนเข้มแข็ง เรามีสิ่งเหล่านี้ แต่เราไม่เอามาใช้ เพราะคิดว่าเราไม่มีอะไร เราไม่เก่ง และที่อยากจะให้เราจดจำเอาไว้ก็คือ การปฏิบัติ การฝึกสติ การเจริญสติให้เห็นว่า เวลามีความทุกข์ก็กลับมาดูใจเจ้าของ กลับมาฝึกใจเจ้าของ ให้เป็นอย่างเด็กคนหนึ่งชื่อน้องไอซ์ น้องไอซ์อายุ 3-4 ขวบเท่านั้น วันหนึ่งวิ่งเร็วจี๋เลย ปรากฏไปชนประตูที่เป็นกระจก เพราะคิดว่ามันเป็นที่โล่งๆ เลยวิ่งชนประตูกระจก แม่อยู่ในครัวได้ยินเสียงน้องร้องโอ๊ย! แม่ตกใจรีบมา ทีแรกจะมาอุ้มน้องไอซ์ น้องบอกแม่ไม่ต้อง ยกมือห้าม เดี๋ยวน้องไอซ์นั่งสมาธิก่อน น้องไอซ์รู้ว่าเวลาปวดถ้าทำสมาธิแล้ว มันจะปวดน้อยลง เพราะน้องไอซ์เคยมีประสบการณ์นั่งสมาธิมา เวลาทำสมาธิแล้ว ความปวดความเมื่อยมันก็รบกวนจิตใจได้น้อยลง น้องไอซ์เวลาปวดเพราะชนประตูกระจกเขาก็รู้ว่า ต้องฝึกจิตให้มีสมาธิ เพราะสมาธิจะไปช่วยรักษาความปวดทางกายได้ ที่จริงน้องไอซ์อาจจะรู้ด้วยว่าคนเราเวลาปวด ไม่ได้ปวดแต่กาย มันปวดใจด้วย อันนี้ธรรมชาติซึ่งน้องไอซ์อาจจะเล็ก ไม่รู้จัก แต่น้องไอซ์ก็รู้ว่าเวลาปวด ถ้าทำสมาธิแล้วความปวดจะน้อยลง เมื่อปวดใจน้อยลงแล้วความปวดกายก็น้อยลงไปด้วย อีกคนชื่อปลาวาฬ ปลาวาฬอายุ 5 ขวบ ชื่อเล่นเขาชื่อวาฬ วันหนึ่งวาฬโดนคุณแม่ต่อว่า ปกติเขาจะเถียงแม่ แต่คราวนี้ไม่เถียง หน้าบึ้งนิดหน่อย พ่อแม่พูดจบวาฬก็เดินออกไปเลย แม่สงสัยว่าวาฬเดินไปไหน เลยถาม วาฬบอกไปสงบสติอารมณ์ครับ วาฬรู้ว่าตอนนั้นจิตใจมีความขุ่นเคือง มีความไม่พอใจ ปกติคนเราเวลามีความโกรธนี่ไม่รู้ตัว เด็กที่เวลาถูกพ่อแม่ว่า จะตอบโต้เลย เพราะความโกรธ ไม่รู้ทันความโกรธ ความโกรธสั่งให้เถียงพ่อเถียงแม่ แต่วาฬนี่สังเกต เวลาโกรธจิตใจรุ่มร้อน จะทำอย่างไร ร้อนที่ใจก็แก้ที่ใจ เพราะฉะนั้น วาฬก็เลยอยากจะไปนั่งสมาธิ ไปสงบสติอารมณ์
พวกเราได้มีโอกาสมาเจริญสติกัน ทั้งรู้วิธียกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม แล้วก็ฝึกให้ดูใจเจ้าของด้วย เวลาเราสึกไป เจออะไรต่ออะไรที่มากระทบที่ทำให้จิตใจขุ่นมัว อาจจะมีคนพูดไม่ถูกใจเรา อาจจะมีเพื่อนต่อว่านินทาเรา หรือบางทีก็ถูกพ่อแม่ต่อว่า มันมีความทุกข์ ความทุกข์เกิดจากความโกรธ คนฉลาดจะกลับมาดูใจเจ้าของ เขารู้ว่ามันทุกข์ที่ใจก็ต้องไปแก้ที่ใจ ไม่ใช่ไปแก้ที่พ่อแม่ ไม่ใช่ไปทะเลาะกับพ่อแม่ กลับมาอยู่ที่ใจของเรา พวกเราเมื่อโตขึ้น เวลามีความทุกข์ขอให้นึกถึงคุณค่าของสติ ขอให้นึกถึงพลังของสมาธิว่าเคยช่วยเราได้ ใครที่มีประสบการณ์ดีๆ ระหว่างที่บวชไม่ว่าจะนุ่งเหลืองห่มขาวก็ตาม ถ้าตอนที่นั่งสมาธิเจริญสติ ใจเราสบาย จดจำเอาไว้ ถึงเวลามีความทุกข์เพราะเรื่องเรียน เรื่องการงาน เรื่องสุขภาพร่างกาย เรื่องคนรอบข้าง ความรู้สึกดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่เราได้รับมาตอนบวช โดยเฉพาะตอนที่เราได้มานั่งสมาธิเจริญสติแล้วใจสงบ มันจะช่วยเตือนใจให้เราหันมาหาสมาธิ คนเราเวลาทุกข์ถ้าไม่ระบายใส่คนอื่น เช่น บ่นโวยวายตีโพยตีพาย หรือต่อว่าด่าทอ เราก็อาจจะไปหาสิ่งเสพติด เช่น เหล้าบุหรี่ หรือแม้กระทั่งอบายมุข เพื่อจะได้ลืมทุกข์ไป แต่พวกนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา วิธีแก้ปัญหาต้องมาแก้ที่ใจเรา อาศัยสติสมาธิ เพราะฉะนั้นอย่าลืมประสบการณ์นี้ จดจำเอาไว้ ดีๆ ถึงเวลาที่เราทุกข์ เวลาที่เกิดวิกฤตในชีวิต เราจะนึกถึงสติ นึกถึงสมาธิ มันจะหุนหันพลันแล่นยังไง ก็กลับมาตั้งสติได้ ถ้าเรามีตรงนี้ จำเอาไว้ดี ๆ
เหมือนสมัยที่พระพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะตอน 7 ขวบ เคยไปนั่งใต้ต้นไม้ แล้วนั่งสมาธิ ปรากฏว่าจิตใจสงบมาก เพราะท่านเข้าถึงภาวะที่เป็นฌาน ฌานเป็นสมาธิขั้นสูง อย่างที่เราทราบเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช แล้วก็ไปหาทางพ้นทุกข์อยู่หลายสำนัก หลายอาจารย์หลายวิธีก็ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นอาฬารดาบส อุทกดาบส ไม่ว่าจะเป็นการทรมานตน คนที่พยายาม แต่ไม่เจอทางออกก็เคว้ง อย่างเจ้าชายสิทธัตถะก็เคว้ง แต่พอระลึกได้ถึงเหตุการณ์ที่เคยได้ฌาน ได้สมาธิจากการนั่งใต้ต้นไม้ ก็ทำให้ท่านหวนคิดวิธีนี้แหละ สุดท้ายท่านก็เอามาใช้จนกระทั่งสามารถค้นพบหนทางแห่งความพ้นทุกข์ได้ เกิดความรู้แจ้งในสัจธรรม ก็เพราะอาศัยประสบการณ์ความทรงจำดีๆในวัยเด็ก พวกเรามาบวชก็ขอเก็บความรู้สึก ความทรงจำดีๆ เอาไว้ จะมีประโยชน์ในวันที่เราอาจจะนึกไม่ถึงก็ได้ ในวันที่เราลืมไปแล้ว ในวันที่เราเหนื่อย ในวันที่เราทุกข์ยาก แล้วเราพบว่าครั้งหนึ่งเคยได้พบกับความสงบ เพราะเจริญสติเพราะทำสมาธิ ถึงตอนนั้นแหละที่มันจะทำให้เราหันมาใช้สมาธิแก้ปัญหา ที่จริงเวลาเราเรียนหนังสือ มันติดขัดยังไง ก็ใช้สมาธิได้ เคยดูการ์ตูนอิคคิวซังหรือเปล่า อิคคิวซังเขาทำยังไง นั่งสมาธิใช่ไหม เขามีปัญหาเขานั่งสมาธิ แล้วทำยังไง ไปลองทำดู ยกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรมก็ได้ ทำได้หลายแบบ