แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อเร็วๆนี้ มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งมาหาอาตมาแล้วก็ได้สนทนากันอยู่พักใหญ่ อาตมาดูจากหน้าตาก็คิดว่าน่าจะอายุมาก ก็เลยถามเขาว่าเมื่อไหร่เกษียณ ก็ได้คำตอบว่าจะเกษียณปีนี้ แล้วก็มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า พอเกษียณแล้วก็จะวาง วางในที่นี้ก็คงจะหมายถึงวางภารกิจการงาน อาตมาก็เลยพูดเสริมไปเป็นการเตือนมากกว่าว่า ระวังนะที่ว่าวาง แล้วจะไปยึดอันอื่นแทน เช่น วางเรื่องงานเรื่องการแล้วก็ไปยึดเอาหลาน ไปติดหลาน คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ วางเรื่องหนึ่ง แล้วก็ไปยึดอีกอันหนึ่ง หรือไปแบกอีกอย่างหนึ่ง หรือไปแบกหลายอย่าง อย่างเช่น ตอนเด็กๆไปยึดติดถือมั่นกับของเล่น หวงแหนของเล่น พอโตขึ้นเราก็วางของเล่น แล้วเป็นอย่างไร ก็ไปยึดอย่างอื่นแทน เช่น ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ไปยึดมือถือ หรือไปยึดเสื้อผ้าหน้าผม กระเป๋า หรือว่าโตขึ้นมาหน่อยก็ไปยึดรถยนต์ บ้าน ทรัพย์สินศฤงคาร ธรรมดาคนก็เป็นอย่างนี้ วางอย่างหนึ่งแล้วก็ไปยึดอีกอย่างหนึ่ง หรือไปยึดหลายอย่าง
พระอริยเจ้าโดยเฉพาะพระอรหันต์ ท่านวางของหนักลงแล้ว ก็ไม่เอาอะไรขึ้นมาแบกอีก อย่างที่เราสวดกัน นิกขิปิตวา คะรุง ภารัง, อัญญัง ภารัง อะนาทิยะ พระอริยเจ้าสลัดทิ้งของหนักลงเสียแล้ว ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก แต่ปุถุชนคนส่วนใหญ่แบกอะไรก็ตาม พอวางแล้วก็ไปยึดอีกอย่างแทน แล้วที่วางเพราะอะไร เพราะว่าเบื่อ หรือเพราะเห็นว่ามันไม่มีเสน่ห์แล้ว อย่างเด็กหวงแหนของเล่น หวงแหนผ้าห่ม พอโตขึ้น ก็รู้สึกว่ามันไม่มีอะไร ไปเอาอย่างอื่นดีกว่า
อันนี้ผู้สูงวัยอย่างพวกเราหลายคนก็เกษียณไปนานแล้ว ถามใจตัวเองว่า ที่วางอะไรต่ออะไรหลายอย่าง แล้วไปหยิบไปฉวยไปแบกอย่างอื่นขึ้นมาอีกหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นเรื่องหลาน ตอนที่เป็นพ่อแม่ก็ห่วงลูก ยังทำอะไรไม่ได้ห่วงลูก กลัวลูกเรียนไม่จบ พอลูกเรียนจบก็ห่วงลูก ห่วงว่าลูกเมื่อไหร่จะแต่งงาน พอลูกแต่งงานก็ห่วงอยู่นั่นว่าเมื่อไหร่ลูกจะมีหลานให้ตาให้ยายให้พ่อให้แม่สักที พอมีหลานก็ห่วงอีก ห่วงหลานเรื่องการเรียน บางทีอาจจะพูดว่า ถ้าหลานเรียนจบแล้วก็หมดห่วงแล้ว พอหลานเรียนจบ อ้าว เมื่อไหร่หลานจะแต่งงานมีฝั่งมีฝาสักที ยึดไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น
ที่จริงยิ่งอายุมากยิ่งมีประสบการณ์มากยิ่งต้องวาง วางเยอะขึ้นๆ สิ่งที่มันจะเป็นเครื่องชี้วัดวุฒิภาวะหรือความเจริญงอกงามทางจิตใจทางปัญญาก็คือดูว่า วางได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าอายุมากแต่ว่ายังยึดติดถือมั่นกับอะไรต่ออะไรมากมาย ห่วงลูกห่วงหลานห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงงานการ อย่างนี้เรียกว่าจิตใจยังไม่โตเท่าไร ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตไม่ได้สอนให้รู้เลยว่า ไม่มีอะไรที่มันยึดมั่นถือมั่นได้ ประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตไม่ได้สอนเลยว่า ยิ่งไปยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น
เรื่องนี้บางทีมันไม่ขึ้นอยู่กับวัย มันขึ้นอยู่กับสติปัญญา อย่างหนุ่มสาวหลายคนแม้ว่าจะผ่านโลกมาไม่มากแต่ก็วางอะไรต่ออะไรได้มาก ที่จริงไม่ใช่ว่าต้องรอให้เกษียณถึงจะวางเรื่องงานเรื่องการ บางคนวางแค่ภายนอกแต่ใจก็ยังยึดอยู่ พอไม่มีงานทำก็กระสับกระส่าย หลายคนทำงานไปจนตายเพราะว่าวางไม่ได้ หรือว่าถึงวางได้ภายนอกแต่ข้างในก็โหยหา ที่จริงระหว่างที่ทำงานยังหนุ่มยังสาวยังไม่เกษียณ ทำงานไปก็วางได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องวางเมื่อเกษียณแล้ว ระหว่างที่ทำงาน ตัวทำงานแต่ใจไม่ได้ยึดอะไร
ที่พูดถึงวาง เราหมายถึงการปล่อยวางที่ใจ ส่วนงานการหรือภารกิจหน้าที่ยังทำอยู่ ต้องแยกให้ออก ปล่อยวางไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลย ไม่ใช่ไม่ทำหน้าที่ มีหน้าที่ก็ยังทำอยู่แต่ใจมันวาง ก็เหมือนกับร่างกาย ร่างกายมันไม่ใช่ของเรา คนที่มีสติปัญญาก็รู้ว่ามันไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราได้ เราต้องรู้จักปล่อยวางร่างกายนี้ แต่ว่าไม่ใช่ปล่อยปละละเลย เวลาหิวเราก็ต้องหาอาหารมาใส่ท้อง เวลาป่วยก็ต้องดูแลรักษา เวลาปวดท้องก็ต้องเข้าห้องน้ำ พระอริยเจ้าพระอรหันต์ท่านวางแล้ว แต่ว่าหิวท่านก็ฉัน ป่วยท่านก็ดูแลรักษา กุฏิพังก็ต้องซ่อม ถึงแม้ว่าไม่ได้ยึดว่าอะไรเป็นของเราแล้วก็ตาม ข้างในปล่อยวาง แต่ว่าข้างนอกก็ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆอยู่ ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ทรัพย์สมบัติ แต่ก็ยังมีสิ่งต่างๆที่เอามาใช้สอยเป็นประโยชน์ได้ ไม่ใช่ละทิ้งหมด
อย่างลัทธิเชน มีความคิดแบบนั้นว่า ถ้าจะปล่อยวางที่แท้จริงก็คือไม่มีอะไรเลย ที่เราเห็นเขาเดินเปลือย ไม่ใส่เสื้อไม่ใส่กางเกง เดินขออาหารบิณฑบาต เพราะเขามีความเชื่อว่าการปล่อยวาง คือการที่ไม่มีอะไรเลย เราจะเอาอย่างนั้นไหม ปล่อยวางทรัพย์สมบัติก็เลยไม่ต้องใส่เสื้อผ้า แต่พุทธศาสนาไม่เป็นอย่างนั้น มีใครสงสัยไหมว่า ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าปล่อยวางๆแล้วทำไมยังห่มจีวรอยู่ พระอรหันต์บอกว่าปล่อยวางแล้วทำไมท่านก็ยังใส่เสื้อหรือนุ่งห่มจีวรอยู่ ก็คือปล่อยวางที่ใจ นึกออกไหม แต่ว่าการเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ เป็นแบบเจ้านาย ไม่ได้เป็นเจ้าของ เพราะว่าถ้ายึดเป็นเจ้าของแล้วเราก็กลายเป็นของมันทันที เจ้านายหมายถึงว่าใช้มันให้เกิดประโยชน์ แต่ว่าก็ไม่ได้เป็นทาสของมัน ถึงแม้ว่าเราเป็นหนุ่มเป็นสาว เราก็ปล่อยวางได้ ไม่ใช่ว่าเราต้องรอให้เกษียณก่อนถึงจะปล่อยวาง วางหน้าที่การงานวางที่ใจ แต่ว่าความรับผิดชอบก็ยังมีอยู่
มีอาจารย์เซนท่านหนึ่ง ไปสร้างวัดที่ประเทศอเมริกาเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว เป็นวัดเซนแห่งแรกในอเมริกา ท่านก็อายุมากแล้วราว 60 ชื่อซุนยู ซูซูกิ เป็นคนญี่ปุ่น สมัยก่อนตัวเล็ก ตอนที่สร้างวัด ท่านก็ต้องลงมือเอง แต่ว่าก็ยังโชคดีมีลูกศิษย์ลูกหาชาวอเมริกัน เป็นคนหนุ่มสาว แข็งแรง ร่างใหญ่ มาช่วยกันขนหินขนไม้ หนุ่มสาวเหล่านี้ทำงานไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อยแล้ว แต่อาจารย์ซุนยูยังทำงาน แล้วก็ทำทั้งวัน ลูกศิษย์ทึ่งมาก คนตัวเล็กอายุก็มาก ลูกศิษย์คนหนึ่งถามอาจารย์ว่าทำได้ยังไงทำทั้งวัน อาจารย์ตอบว่าก็ผมพักตลอดเวลาไง แต่ลูกศิษย์เห็นว่าทำทั้งวันเลย อาจารย์โกหกหรือเปล่า ไม่ได้โกหกที่อาจารย์บอกว่าพักทั้งวันก็คือใจมันพัก ใจไม่ได้แบก ส่วนที่แบกคือตัวแบกหิน แต่ว่าใจไม่ได้แบกหินด้วย อันนี้เรียกว่าปล่อยวาง ไม่ต้องรอให้เกษียณก่อน เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ทำได้ ทำงานทำทั้งวันแต่ว่าใจวาง พอใจวางมันจึงทำได้ทั้งวัน
วัยรุ่นหนุ่มสาวหลายคน ทำไปก็บ่นไป ๆ ตัวแบกหินแต่ใจแบกทุกข์ ไปคาดหวังว่ามันจะต้องเสร็จไวๆ เมื่อไหร่จะเสร็จๆ อย่างนี้เรียกว่าแบก แบกความทุกข์ จึงให้เข้าใจว่า เวลาที่บอกว่าปล่อยวาง คือการปล่อยวางที่ใจ แล้วก็เหตุอย่างนั้นเมื่อทำงานอยู่ก็ปล่อยวางได้ ถ้ามีพระจีนถามว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวาง แต่ทำไมเคี่ยวเข็ญให้ปฏิบัติกันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ อย่างนี้มันก็ไม่ได้ปล่อยวางจริงไหม อันนี้ก็ต้องอธิบายว่าปล่อยวางนี้คือ การปล่อยวางที่ใจ แต่ว่าการปฏิบัติหรือการทำกิจก็ยังทำอยู่ ก็ทำตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ใจปล่อยวาง เหมือนกับอาจารย์ซุนยูแบกหินทั้งวัน แต่ว่าท่านบอกว่าท่านพักตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น พวกเราซึ่งเป็นผู้สูงวัย เราต้องเข้าใจเรื่องว่าการปล่อยวางมันคืออะไร แล้วมันสำคัญอย่างไร ได้เวลาที่จะต้องปล่อยได้แล้ว แต่ว่าหน้าที่การงานก็ยังต้องทำอยู่ แต่ว่าใจนี้เบาสบาย ไม่ใช่แบกนั่นแบกนี่ ถ้าเรายังแบกเยอะก็แสดงว่า สติปัญญาเรายังไม่ได้เจริญตามอายุตามวัย มันสูงแต่วัยแต่ว่าสติปัญญาไม่ได้สูงตาม อันนี้ก็ต้องเร่งทำ เร่งฝึก