แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเป็นสิ่งที่ควรศึกษา แต่ศึกษาอย่างเดียวไม่พอ ถ้าการศึกษานี่หมายถึง การฟัง การอ่าน ต้องปฏิบัติด้วย ธรรมจะมีคุณค่าได้ต้องปฏิบัติ แต่ต้องมีเงื่อนไขด้วยว่าต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย ถ้าปฏิบัติผิดก็จะเกิดโทษ มีคำ ๆ หนึ่งหรือเป็นวลี ซึ่งเราคงได้ฟังได้สวดมนต์มาหลายครั้ง เป็นพุทธภาษิตหนึ่งว่า ชนเหล่าใดเมื่อประพฤติสมควรแก่ธรรม ในธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่งเเห่งพระนิพพาน ข้ามพ้นบ่วงแห่งมัจจุที่ข้ามได้ยากนัก
เราเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า ประพฤติสมควรแก่ธรรมมีความหมายว่าอย่างไร ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องสมควรแก่ธรรมด้วย เพราะถ้าไม่สมควรแก่ธรรม ก็จะเกิดโทษได้ มีอีกประโยคหนึ่งที่อาจะเคยได้ยิน หรือว่าได้สวดอยู่บ่อยๆ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ แปลว่า ถ้าประพฤติไม่ดี ก็ไม่เกิดสุขหรืออาจจะเกิดทุกข์ก็ได้ เคยสงสัยบ้างไหมว่า ธรรมที่ประพฤติไม่ดีก็มี ประพฤติไม่สมควรแก่ธรรม หรือว่าประพฤติธรรมที่ไม่ดี มันก็ไม่เพียงแต่จะทำให้เราเนิ่นช้า แต่อาจจะเกิดโทษหรือเกิดทุกข์ขึ้นมาก็ได้
ธรรมเป็นของดีแต่ว่าก็ต้องปฏิบัติให้ถูก ปฏิบัติไม่ถูกก็เกิดผลเสีย อย่างที่พระพุทธเจ้าอุปมาว่า หญ้าคาถ้าจับไว้ไม่ดี มันก็บาดมือ ความเป็นบรรพชิต ความเป็นสมณะ ถ้าบรรพชิตปฏิบัติไม่ถูกก็ฉุดลงนรก ไม่ใช่แค่เสมอตัว หมายความว่าถ้าปฏิบัติไม่ถูก อย่าบวชดีกว่า ถ้าบวชเป็นสมณะแล้วปฏิบัติผิด มันก็ฉุดลงนรก เป็นการย้ำว่า ของดีคือธรรมต้องปฏิบัติให้ถูก หรือว่าปฏิบัติสมควรแก่ธรรม
ปฎิบัติสมควรแก่ธรรม ความหมายอย่างแรกคือ ปฏิบัติ โดยที่ไม่ใช้ในทางที่ผิด หรือว่าไม่ปฏิบัติธรรมในทางที่ผิด ถ้าเราปฏิบัติในทางที่ผิด มันก็เกิดโทษมากมาย เช่น ปฏิบัติธรรมเพื่อหาลาภสักการะ ทำตัวให้เคร่ง หรือว่ามีศีล ให้คนเขาชื่นชมสรรเสริญ หรือเพื่อที่จะให้คนเชิดชูแล้วก็จะได้มีลาภสักการะมา คนที่ประพฤติปฏิบัติแบบนี้ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังเตือนว่า การศึกษาธรรมถ้าศึกษาไม่ถูกก็เหมือนกับจับงูพิษไม่เป็น การศึกษาธรรมพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับการจับงูพิษ เงินไม่ใช่แค่งูพิษอย่างเดียว การศึกษาธรรมเนี่ยก็เปรียบเหมือนงูพิษ เมื่อจะจับงูพิษ ต้องจับให้เป็น ถ้าไม่เป็น จับไม่ถูก ก็ถูกงูพิษกัด
อันนี้พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่า คนที่ศึกษาธรรมแล้วไปยกตนข่มท่าน เพื่อไปแสวงหาลาภสักการะ หรือแม้แต่จะมีคนมากล่าวหาติเตียนเราก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ถูก เรียกว่า ปฏิบัติธรรมในทางที่ผิด เป็นการเอาธรรมเพื่อมาใช้สนองกิเลส ตัณหา รวมทั้งไปสร้างทิฐิมานะให้เพิ่มพูนมากขึ้น
ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ในความหมายที่สองคือ ไม่ปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์ ธรรมแต่ละข้อมีเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างเช่น ทาน วัตถุประสงค์เพื่อละความตระหนี่ แต่ถ้าไปเพิ่มพูนโลภะ ทำบุญเพื่อจะได้ร่ำรวย ถูกลอตเตอรี่ถูกหวย อย่างนี้เรียกว่า ปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์
ที่ปฏิบัติผิดบ่อยคือสันโดษ ซึ่งแปลว่า พอใจหรือยินดีในสิ่งที่มี สิ่งที่ได้ รวมถึงพอใจ หรือยินดี หาอะไรมาได้ก็พอใจ ไม่โลภ ไม่ต้องการมากไปกว่านั้น พอใจ ยินดี ในสิ่งที่เหมาะกับเรา ไม่เอาที่เกินความต้องการ ไม่เอาเกินความจำเป็น รวมถึงทั้งความพอใจในการแสวงหา ไม่ให้เกินความต้องการ ไม่เสพเกินความจำเป็น หรือเกินขีดที่เหมาะสม ฆราวาสมีระดับการเสพแบบหนึ่ง พระก็มีขอบเขตในการเสพอีกแบบหนึ่ง สันโดษที่พระพุทธเจ้าส่งเสริม แนะนำให้เราปฏิบัติก็เพื่อให้เราเป็นผู้อยู่ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาในการขวนขวายหาเงินหาทอง หาทรัพย์สมบัติมามากมายเกินความจำเป็น หรือเกินความต้องการ ได้เท่าไรก็ยินดี เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำในสิ่งที่มีประโยชน์ มีคุณค่า มากกว่าการหาเงินหาทอง รวมทั้งไม่เสียเวลากับการเสพ การบริโภคจนเกินความพอดี คนทุกวันนี้หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะไม่มีความสันโดษ จึงไม่มีเวลา หลายคนจะบอกว่าไม่มีเวลามาปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาไปเยี่ยมพ่อเยี่ยมแม่ ไม่มีเวลาคุยกับลูก เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่รู้จักสันโดษ
ถ้าเราสันโดษเป็น เราจะไม่เสียเวลา ไม่เสียกำลัง ไม่เสียพลังงานไปกับการหาสิ่งที่เกินจำเป็น แล้วก็ไม่เสียเวลาไปกับการเสพจนกลายเป็นหมกหมุ่น เราจะมีเวลาเหลือสำหรับการทำคุณงามความดี เช่น การปฏิบัติธรรม หรือว่าการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม บางคนทำผิดวัตถุประสงค์ ก็คือว่า พอสันโดษแล้วก็หยุดเฉย นิ่ง ต้องการหาร้อยบาท หามาได้ร้อยสิบก็พอใจแล้ว เสร็จแล้ว ไม่ทำอะไรต่อ นั่งเล่นนอนเล่น เวลาที่มีแทนที่จะเอาไปทำความดี ทำประโยชน์ตนเช่น ปฏิบัติธรรม หรือไปทำประโยชน์ท่าน เช่น ช่วยเหลือส่วนรวม เป็นจิตอาสา บำรุงพุทธศาสนา ช่วยเหลือเกื้อกูลพระสงฆ์ เป็นต้น ก็ไม่ทำ เอาแต่นั่งเล่นนอนเล่น กลายเป็นขี้เกียจไป อันนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติสันโดษแบบผิดวัตถุประสงค์ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่าเมื่อมีสันโดษแล้วต้องมีวิริยะคู่กันไปด้วย เพื่อกำกับไม่ให้สันโดษแล้วขี้เกียจ เพราะว่าคนเรามีโอกาสจะปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์ ใช้สันโดษไปในทางส่งเสริมความขี้เกียจ แทนที่จะทำให้มีเวลาแล้วก็มีกำลังในการที่จะทำสิ่งดีงาม เพื่อพัฒนาชีวิตจิตใจให้เจริญงอกงาม และทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
ยังมีการทำผิดวัตถุประสงค์อีกหลายอย่างเช่น คำสอนเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พระพุทธเจ้าสอนธรรมข้อนี้เพื่อให้เราไม่หวังพึ่งพาผู้อื่น รวมทั้งไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่บางทีคนเอาไปใช้ไม่ถูกเช่น เห็นคนกำลังเดือดร้อน เขากำลังต้องการความช่วยเหลือ ก็ไม่ช่วยเขา ไปสอนเขาว่าเราต้องพึ่งตน ฉันไม่ช่วยเธอนะ เธอต้องพึ่งตนเองนะ อันนี้ไม่ถูก เราใช้คำสอนนี้เพื่อไปเป็นข้ออ้างในการที่เราจะไม่ช่วยใคร หรืออาจจะหวังดีบอกเขาว่า ไม่ได้คิดรังเกียจรังงอนเขา แต่ฉันช่วยเธอไม่ได้ เธอต้องพึ่งตัวเอง อันนี้ไม่ถูก คำสอนเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เอาไว้สอนตัวเอง ไม่ได้เอาไว้สอนคนอื่น หรือเอาไว้เป็นข้ออ้างว่าช่วยเธอไม่ได้ เธอต้องช่วยตัวเอง บางทีก็อ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์
อุเบกขา ก็เหมือนกันที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือใช้ผิดกรณี คนเขาเดือดร้อน แทนที่เราจะช่วยเขา เราก็บอกให้เขาอุเบกขา ไฟกำลังไหม้วัด ไฟกำลังไหม้ป่า ก็บอกอุเบกขา ยังไม่ทันจะลงมือทำอะไรเลย ก็พูดอุเบกขาเสียแล้ว มันต้องลงมือช่วยเขาก่อน ช่วยแล้วมันไม่ได้ผล หรือว่าไม่ได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ต้องอุเบกขา ไฟไหม้วัด ไฟไฟม้ป่าก็พยายามดับ ดับแล้วไม่สำเร็จ มันไหม้ไปเยอะก็อุเบกขา เพราะทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ จึงปล่อยวาง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ เราเอาอุเบกขาไปใช้เพื่อจะเป็นข้ออ้างก็ได้ หรือใช้เพื่อในการที่จะไม่ช่วยเหลือผู้อื่น หรือไม่ไปรับผิดชอบส่วนรวม
ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม อีกความหมายหนึ่งคือ ปฏิบัติให้ถูกกรณี อย่างเช่น อุเบกขา ต้องใช้ให้มันถูกกรณี ถูกสถานการณ์ หรือตัวอย่างเช่น การทำสมาธิภาวนา การสวดมนต์ เป็นของดี แต่ก็ต้องใช้ให้ถูกเวลา ขณะที่กำลังขับรถจะไปสวดมนต์ มันก็คงไม่ถูก หรือจะไปตามลมหายใจ ก็ไม่ใช่ เพราะต้องมีสติกับการขับรถ ถ้าเอาจิตไปกำหนดที่ลมหายใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีรถมาทางข้างหน้า แล้วจะปลอดภัยไหม
หรือการครุ่นคิดธรรม เรียกว่าธรรมวิจย เราควรครุ่นคิดธรรมในเวลาที่ว่าง ในเวลาที่เราไม่ได้ทำอะไร ไม่ใช่ในเวลาขับรถ หรือกำลังเดินลงบันได ถ้าทำอย่างนั้นจะกลายเป็นความฟุ้งซ่าน หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ขณะที่ขับรถก็ให้มีสติกับการขับรถ ถึงจะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมถูกกรณี สมควรแก่ธรรม ไม่ใช่เอาเรื่องอะไรมาคิด หรือว่าปฏิบัติธรรมในเวลา ในกรณี ในสถานที่ ที่ไม่ถูก ถ้ามันเกิดอุบัติเหตุ ก็อย่าไปตัดพ้อว่า ทำไมคิดถึงธรรมแล้วเกิดอุบัติเหตุ ก็เพราะปฏิบัติผิดกรณีไม่ถูกกาละเทศะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนเราเวลาฟุ้งซ่าน สิ่งที่ควรจะใช้ให้น้อยก็คือ วิริยะ ปิติ แล้วก็ธรรมวิจย 3 ข้อนี้เป็นธรรมในโพชฌงค์ ๗ ซึ่งโพชฌงค์ ๗ ถือว่าเป็นธรรมสำหรับการตรัสรู้ แต่ว่าต้องใช้ให้ถูกกรณีด้วย เวลาฟุ้งซ่าน พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ธรรม 3 ข้อ วิริยะ ปิติ แล้วก็ธรรมวิจย ควรใช้ให้น้อย เหมือนกับว่า เวลาที่ไฟกำลังไหม้ มีกองไฟแล้วเราจะดับ เราควรจะโยน หญ้าสดลงไป ไม่ใช่โยนหญ้าแห้ง เพราะถ้าเราใส่หญ้าแห้ง ไฟกลับยิ่งลุกโชนเข้าไปใหญ่ หญ้าสดพระพุทธเจ้าเปรียบอุปมาเป็นโพชฌงค์ 7 อีกสามข้อคือ ปัสสัทธิ สมาธิ แล้วก็อุเบกขา ในทางตรงข้ามเวลาที่เราง่วงเหงาหาวนอน ซึม หรือว่าไม่ค่อยกระฉับกระเฉง ถ้าหากว่าเราเจริญธรรมสามข้อ คือ ปัสสัทธิ สมาธิ หรืออุเบกขา มันจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เหมือนไฟกำลังจะมอด เราอยากจะให้ไฟลุกโชน ก็ควรโยนหญ้าแห้งลงไป ไม่ใช่โยนหญ้าสด ถ้าโยนหญ้าสด ไฟที่มันจะดับอยู่แล้ว ยิ่งดับเข้าไปใหญ่ อันนี้เป็นคำสอนว่า โพชฌงค์ 7 ธรรมแต่ละข้อ ล้วนมีประโยชน์จริง แต่ว่าใช้ให้ถูกกรณี ในบางกรณีอาจจะไม่เหมาะ ในบางกรณีจึงจะเหมาะ
ยกเว้นสติ สติ ใช้ได้ในทุกกรณี ไม่ว่าจะในยามฟุ้งซ่าน ในยามที่เราง่วงเหงาหาวนอน สติ ใช้ได้ดีทุกกรณี ปฏิบัติสมควรแก่ธรรมยังมีความหมายอีกข้อหนึ่ง ก็คือว่า อย่าให้เกินพอดีไป อย่างเช่น ในสมัยพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งชื่อพระโสณเป็นคนที่ตั้งใจทำความเพียรมาก เดินจงกรมทั้งวันทั้งคืนก็ว่าได้ แต่เนื่องจากกว่าพระโสณเป็นผู้ที่มีผิวเท้าบาง เป็นสุขุมาลชาติ เดินจงกรมไปนาน ๆ เท้าก็แตก เลือดก็ไหล พระโสณก็ยังไม่ยอม ก็พยายามที่จะเดินจงกรมทั้งที่เท้าแตก เรียกได้ว่าประสพความทุกข์ทรมานมาก อยากจะบรรบลุธรรม พยายามระดมความเพียร แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นทุกขเวทนา จนเกิดความท้อแท้ ท้อถอย จนกระทั่งอยากเลิกปฏิบัติ อยากจะสิกขาลาเพศด้วยซ้ำ
พระพุทธเจ้าทราบ ก็มาสนทนากับพระโสณ พระโสณเคยเป็นนักดนตรีดีดพิณเก่ง จึงถามพระโสณว่า พิณนี้ ถ้าสายพิณขึงให้ตึง ดีดพิณไพเราะไหม พระโสณก็บอกว่าไม่ไพเราะ แล้วถ้าสายพิณหย่อน ดีดแล้วจะไพเราะไหม ก็ได้คำตอบว่าไม่ไพเราะ ถ้าอย่างนั้นทำอย่างไรถึงจะไพเราะ ต้องขึงให้พอดีๆ พระโสณก็ควรที่จะทำความเพียรแต่พอดี อย่าทำความเพียรมากไป เพราะว่าถ้าทำความเพียรมากไปก็ฟุ้งซ่าน แต่ถ้าหากทำความเพียรน้อยไปก็เกียจคร้าน หรือว่าย่อหย่อน พระพุทธเจ้าทรงแนะให้พระโสณทำความเพียรแต่พอดี ความเพียรเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำเกินพอดีไปก็เกิดโทษ หรือไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ ในกรณีพระโสณเรียกว่า ท่านประพฤติไม่สมควรแก่ธรรม คือทำความเพียรมากไป ต้องทำความพอดีให้เกิดขึ้นในการทำความเพียร อันนี้ไม่ใช่ทางสายกลาง มันมีคำเรียกอีกคำนึงว่า วิริยสมตา คือทำความเพียรแต่พอดี
พอดี ๆ กับทางสายกลาง ไม่เหมือนกัน คนไทยหรือเราชาวพุทธไปเข้าใจว่า ทางสายกลางแปลว่าพอดี อันนี้คนละความหมาย พอดีคือไม่มากไม่น้อย มันเป็นเรื่องของปริมาณ เหมือนกับคนที่สูงพอดี พอดีคือไม่เตี้ยแล้วก็ไม่สูง ไม่เตี้ยเกินไปไม่สูงเกินไป เขาเรียกว่าสูงพอดี ๆ ทางสายกลางมีความหมายอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นความเพียรแม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ต้องทำให้พอดีด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำความเพียรมากไป มีแต่ทำน้อยไป เพราะฉะนั้นเวลาพูดว่าทำความเพียรแต่พอดี ก็อย่าเอามาใช้เป็นข้ออ้างว่าต่อไปนี้เราต้องทำความเพียรให้น้อยลงหน่อย แต่ควรจะเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น มีน้อยคนที่ทำความเพียรมากไป แล้วควรจะลด อันนี้คือความหมายของคำว่าปฏิบัติสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติโดยไม่ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ปฏิบัติไปในทางที่ผิด ปฏิบัติให้มันไม่ผิดกรณี แล้วก็ไม่ปฏิบัติน้อยเกินไปหรือมากเกินไป
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิบัติสมควรแก่ธรรม คือ ปฏิบัติให้ถูกกรณี ให้ถูกวัตถุประสงค์ แล้วก็เป็นไปเพื่อพัฒนาจิตใจ ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลส ปฏิบัติในทางที่ถูก แล้วก็ปฏิบัติแบบพอดี พอดีอันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราเมื่อตั้งใจจะมาปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจ ต้องใช้ปัญญาด้วย เพราะถ้าเราไม่ใช้ปัญญา เราอาจจะปฏิบัติผิด กลายเป็นการปรนเปรอกิเลสก็ได้ หรือปฏิบัติผิดวัตถุประสงค์ ก็ทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ หลายคนมาปฏิบัติด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเอา เวลาปฏิบัติก็ทำด้วยอาการหน้าดำคร่ำเครียด อันนี้ก็เรียกปฏิบัติผิด ปฏิบัติธรรมก็จริงแต่ว่าปฏิบัติผิด มันก็นำทุกข์มาให้
ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำสุขมาให้ ส่วนธรรมที่ประพฤติไม่ดีก็นำทุกข์มาให้ เมื่อมีความทุกข์ เช่น ปวดหัว เครียด ท้อแท้ ทุกข์ทรมาน ก็อย่าไปโทษธรรม ธรรมดีแล้วแต่เราปฏิบัติผิด ฉะนั้นการปฏิบัติถูกอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำด้วยใจที่สบาย ปล่อยวางความคาดหวังทั้งหลาย โดยเฉพาะการเจริญสติ ถ้าเรามาเจริญสติ ทันทีที่เรายกมือสร้างจังหวะ เดินจงกรม ความคาดหวังทั้งหลายก็ให้วางลง อย่าไปสนใจผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะนั่นเป็นเรื่องอนาคต ใจอยู่กับปัจจุบัน สร้างเหตุให้ดี ผลมันจะเกิดขึ้นอย่างไร ก็ไม่ต้องไปวิตก
เหมือนกับเราจะเดินทาง จุดหมายปลายทางมีอยู่แล้ว สิ่งที่เราควรทำก็คือว่า เลือกเส้นทางให้ถูก เลือกรถ เลือกพาหนะให้ถูก ถ้าเราเลือกรถไฟก็ดี รถประจำทางก็ดี ถ้าเราเลือกถูกแล้วก็ไม่ต้องห่วงเป้าหมายหรือจุดหมายปลายทาง เราจะหลับก็ได้ หรือว่าเราจะชมทัศนียภาพสองข้างทางก็ได้ อย่าไปวิตกกังวลว่า เมื่อไรจะถึง ๆ ถ้าขึ้นรถถูกคันหรือว่าเดินถูกเส้นทาง มันถึงแน่ ไม่ช้าก็เร็ว จะหลับบ้างก็ได้ แต่อย่าหลับนาน เพราะว่าพอมันถึงป้ายแล้ว ถึงจุดหมายแล้ว เราไม่ลงมันก็เลย รถก็พาเลยไป ฉะนั้นเราต้องแน่ใจว่านี่คือจุดหมายปลายทางที่เราต้องการ และก็แน่ใจว่าเส้นทางนี้หรือว่ารถคันนี้พาเราไปถึงจุดหมายได้ เมื่อเราทำสิ่งที่สมควรทำแล้ว เดี๋ยวก็ถึงจุดหมายปลายทางเอง ไม่ต้องเครียดวิตกกังวล
การปฏิบัติก็เหมือนกัน เรามีจุดหมาย เราจึงพาตัวเรามาที่นี่ เมื่อเราเริ่มปฏิบัติแล้วก็ทำให้ใจสบาย จิตอยู่กับปัจจุบัน วางอดีตวางอนาคตลง ทำความเพียรแต่พอดี แล้วปฏิบัติก็ให้มีสติ รวมทั้งมีการไตร่ตรองพิจารณาอยู่เสมอว่าที่เรากำลังทำอยู่นี้มันเป็นการตามใจกิเลสหรือเปล่า เพระาบางครั้งเรามาด้วยความโลภ มาด้วยความอยากได้ แม้จะไม่ใช่อยากได้เงินได้ทอง แต่ว่าการอยากได้คุณวิเศษ แม้แต่ความสงบมันก็เป็นความโลภ เป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ถ้าทำด้วยจิตที่มีตัณหา มีกิเลสแบบนี้ ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ เพราะว่าทำด้วยความเครียด ทำด้วยจิตที่เป็นอกุศล ยิ่งไม่ได้อย่างที่ต้องการก็จะยิ่งทุกข์ หลายคนทำแล้วสักพักก็จะบ่นว่าทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย บางคนบอกว่าฉันทำมาเป็นปีแล้ว ไม่เห็นได้อะไรเลย มีคนไปถามหลวงพ่อเฟื่องว่าผมภาวนามานานแล้วยังไม่เห็นได้อะไรเลย หลวงพ่อท่านตอบว่าที่ภาวนานี้เพื่อจะละไม่ใช่เพื่อจะเอา ให้ถามใจเราว่า เราภาวนาเพื่อจะเอาหรือเพื่อจะละ เวลาเราทำบุญ ให้ทาน รักษาศีลก็ตาม เราทำเพื่อเอาหรือเพื่อละ ถ้าคิดจะเอาก็เรียกว่าปฏิบัติผิดแล้ว วางจิตวางใจผิด เรียกว่าปฏิบัติไม่สมควรแก่ธรรม อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ประพฤติธรรมในทางที่ถูกที่ควร ต้องสำรวจใจของเราอยู่เสมอ ตรวจสอบใคร่ครวญว่าเราเข้าใจการปฏิบัติธรรมจริง ๆหรือเปล่า เราปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร อะไรคือวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ
วิธีการปฏิบัติมีหลายวิธีในพระพุทธศาสนา อรรถกถาจารย์จำแนกไว้ว่ามีถึง 40 วิธี แต่ละวิธีมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป เฉพาะอนุสสติ ๑๐ แต่ละข้อก็มีวัตถุประสงค์แตกต่าง เช่น พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ เพื่อปลุกศรัทธาให้เรามีในพระรัตนตรัย แต่ถ้าเราเจริญมรณสติ ก็ทำให้เราไม่เกิดไม่ประมาท เราเจริญอุปสมานุสติ ก็ทำให้จิตใจเราระลึกถึงพระนิพพานอยู่เสมอ ก็ทำให้เป็นเครื่องเตือนใจเวลาเจออุปสรรคต่างๆ เรามีพระนิพพานเป็นที่หมาย เราก็ไม่ท้อแท้ ท้อถอยง่าย เวลาเราเจริญสีลานุสสติ จาคานุสสติ เราก็เกิดปิติว่าเราได้ทำความดี เราได้เสียสละ บริจาคทาน แต่ละวิธีก็มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป แต่ว่าพอไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ ก็อาจจะไปทะเลาะกันว่า เธอปฏิบัติผิดวิธี ปฏิบัติถูกวิธีต้องแบบนี้ ที่จริงเขาอาจจะปฏิบัติถูกก็ได้ แต่เขาไม่ได้ปฏิบัติเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันกับเรา เขาปฏิบัติเพื่อต้องการให้เจริญเมตตาให้เกิดขึ้น เขาจึงเจริญเมตตาภาวนา
เขาอาจจะเจริญมรณสติ โดยการนึกถึงอนาคตในวันข้างหน้าว่าเมื่อจะต้องตาย ทำใจได้หรือเปล่า หลายคนบอกว่าการเจริญมรณสติ เป็นการนึกถึงอนาคต เราต้องอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบัน เอาไว้ใช้เจริญสติปัฏฐาน 4 ส่วนมรณสติมันเป็นการมองไปในอนาคตว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย ถามใจตัวเราว่า เมื่อถึงวันที่ต้องตาย เราพร้อมไหม เราพร้อมที่จะปล่อยวางทุกอย่างหรือเปล่า ในการปฏิบัติแบบนี้อาจจะต้องจินตนาการว่าร่างกายเราเป็นซากศพ หรือว่าร่างกายที่เคยอุ่นมันก็เริ่มเย็น และมันก็เริ่มขึ้นอืด ส่งกลิ่น บางคนมองว่า อันนี้เป็นจินตนาการ ไม่ใช่เป็นการอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่อยู่กับของจริง ก็จริง แต่ว่าวัตถุประสงค์ก็เพื่อเตือนใจเราไม่ให้ประมาท การเจริญสติ เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องจินตนาการ วางความคิด วางการปรุงแต่งทั้งปวง จะอยู่กับลมหายใจ จะอยู่กับท้องพองยุบ กับมือที่สร้างจังหวะ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจุบันทั้งสิ้น เวลาเราเจริญสติ โดยเฉพาะสติปัฏฐาน เราวางเรื่องจินตนาการ เราวางเรื่องอนาคต อยู่กับปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า การที่จะไปจินตนาการ หรือการไปอยู่กับอนาคต หรือการนึกภาพอนาคต อยู่ที่ว่าทำไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อทำให้เราไม่ประมาทในชีวิต เพื่อเตือนใจเราอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็วเราต้องตาย การเจริญมรณสติ ต้องอาศัยจินตนาการเข้าช่วยเพื่อให้เราตระหนักถึงความจริงว่า ชีวิตเราในที่สุดมันก็ต้องตาย แล้วร่างกายก็จะกลายเป็นศพที่เน่าเหม็น ไม่ควรยึดติดถือมั่น
ฉะนั้น อย่าไปเถียงกันว่าการเจริญมรณสติแบบนี้ มันไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน อันนี้เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า เจริญมรณสติทำเพื่ออะไร เขาทำเพื่อให้เราไม่ประมาท ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์การปฏิบัติแต่ละกรณี แต่ละอย่างเนี่ย การทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไม่มี การจะไปตำหนิว่าฉันถูก เธอผิดมันก็ไม่ใช่ และมันทำให้เรารู้จักใช้วิธีการต่างๆเพื่อพัฒนาจิตใจเราให้มากขึ้น ขณะที่เราเจริญสติปัฏฐาน 4 เราก็รู้จักใช้วิธีอื่น เช่น เจริญพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ในระหว่างที่ทำวัตรสวดมนต์ เพื่อจะได้ปลุกศรัทธาให้มั่นคง
บางครั้งเราก็เจริญมรณสติ อย่างบทสวดหนึ่งที่พูดถึงว่าเมื่อเราตาย อะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา หรือยังไม่ทันจะตายเลย ร่างกายมันก็แก่ชรา เหี่ยวย่น บางคนตอนนี้อาจจะยังไม่เป็น แต่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน การคิดถึงอนาคตแบบนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย ไม่ใช่ว่าไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน อันนั้นไม่ใช่ ตรงข้าม การที่เรานึกถึงอนาคตแบบนี้จะทำให้เราเห็นความสำคัญของการอยู่กับปัจจุบัน เห็นคุณค่าของการมีชีวิตแต่ละขณะ ๆ และใช้ให้มีประโยชน์มากที่สุด เพราะว่าความไม่ประมาท มันเป็นธรรมสำคัญที่ครอบคลุมธรรมทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าได้สอนเอาไว้ เมื่อคนเรามีความไม่ประมาทเเล้ว มันก็จะมีความกระตือรือล้นในการปฏิบัติธรรม ในการให้ทาน การรักษาศีล ในการภาวนา