แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีพุทธภาษิตบทสั้นๆ บทหนึ่งซึ่งเราคุ้นเคย เรียนกันมาตั้งแต่เด็กถ้ายังจำความได้ ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน มีคนเข้าใจกันไปต่างๆ นานาหลายอย่าง เช่น ให้รู้จักช่วยตัวเองได้ ให้รู้จักทำอะไรเองได้ ให้รู้จักทำมาหากินด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งจมูกใครหายใจ มีปัญหาอะไรให้รู้จักแก้ด้วยตัวเองก่อนไม่ใช่ไปอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พึ่งพาอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อันนั้นมันก็ถูกอยู่ แต่ว่ามันมีความหมายที่ลึกไปกว่านั้น
เมื่อครั้งที่พระสารีบุตรเสด็จปรินิพพาน พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพานแล้วนั้น ทั้งสอง 2 เหตุการณ์ ส่งผลให้พระสาวกต่างมีความเศร้าโศกเสียใจมาก แม้แต่พระอานนท์ ตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย พระสงฆ์เศร้าโศก ด้วยความอาลัยมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงตักเตือน ตรัสถึงความไม่เที่ยง ความพลัดพราก ความแปรปรวน ความเป็นอื่น ว่าเป็นธรรมดา คือให้เห็นสัจธรรม และเข้าใจสัจธรรม รู้จักวางท่าทีให้ถูก คือให้รู้จักพึ่งตนเอง
ท่านใช้คำว่า จงมีตนเป็นเกราะ จงมีตนเป็นที่พึ่ง เกราะในที่นี้หมายถึงเกาะกลางทะเล ทะเลที่เวิ้งวางยังมีที่ปลอดภัยอยู่ ก็คือเกาะนั้นแหละ หมายความว่ามีตนเป็นที่พึ่ง ไม่ต้องไปฝากจิตฝากใจไว้กับใคร ฝากจิตฝากใจไว้พระสารีบุตรก็ไม่ได้ ฝากจิตฝากใจไว้กับพระองค์เองก็ไม่ได้ มีตนเป็นเกราะ มีตนเป็นที่พึ่งหมายความว่าอย่างไร พระองค์อธิบายว่า ก็คือให้มีสติ ให้รู้จักฝีกตนด้วยสติปัฏฐาน 4 แล้วก็จะมีตนเป็นที่พึ่ง
พระองค์อธิบายต่อว่าการฝึกสติมีอย่างไร ทำอย่างไร ข้อแรกคือให้รู้กาย พิจารณากาย หรือเห็นกายภายในกาย ข้อสองคือให้รู้เวทนา เห็นเวทนาในเวทนา ข้อสามคือเห็นจิตในจิต ข้อสี่เห็นธรรมในธรรม อธิบายง่ายๆ ว่า เห็นกายว่าเป็นกาย เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนา เห็นจิตว่าเป็นจิต และเห็นธรรมว่าเป็นธรรม
ทำไมพระองค์ทรงตรัสเช่นนั้น เพราะคนส่วนใหญ่เห็นกายว่าเป็นเรา เห็นเวทนาว่าเป็นเรา เห็นจิตว่าเป็นเรา และเห็นธรรมว่าเป็นเรา เป็นเรา เป็นของเรา กายนี้คือเรา เวลากายทำอะไรไม่ได้เห็นว่ากายทำแต่ไปคิดว่าเราทำ เวลามีเวทนาก็เห็นว่ามีความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย แค่นี้ แต่พอเห็นเวทนาว่าเป็นเรา เราเจ็บ เราปวด เราเมื่อย เวลาเห็นจิตมันมีอาการ เช่นคิด โกธร โมโห สุข ดีใจ เสียใจ ก็ไปสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา เราคิด เราโกธร เราเศร้า เราดีใจ เราเสียใจ ไม่ได้เห็นสักแต่ว่าจิต ธรรมะก็เหมือนกัน เห็นตรงนี้หมายถึงเห็นด้วยสติ ที่ว่าเห็นนั้นมีหลายอย่าง เห็นด้วยตาก็อย่างหนึ่ง เห็นด้วยสติก็อย่างหนึ่ง เห็นด้วยปัญญาก็อย่างหนึ่ง อย่างที่เราสวดมนต์ว่า เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา อันนี้เห็นด้วยปัญญา
แต่ว่าเห็นด้วยสติก็อีกแบบหนึ่ง เห็นว่ามันมีอยู่ เช่นเห็นว่าความโกธรมันมีอยู่ มีอยู๋ในใจ เห็นว่าความปวดความเมื่อยมันมีอยู่มันเกิดกับกาย ที่เจริญสติปัฏฐาน 4 คือให้พิจารณาเห็นกายเป็นกาย อันนี้เกิดจากการที่เห็นด้วยสติก่อน ซึ่งบางทีเราใช้คำว่ารู้ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม เป็นการเรียกย่อสั้นๆ เริ่มต้นตั้งแต่ว่า การขยับเขยื้อนก็รู้ ให้รู้สึก รู้ตรงนี้คือรู้ด้วยสติ บางครั้งกายทำอะไรเราก็ไม่รู้ คือทำไปตามสัญชาตญาณ เช่น บางคนชอบกระดิกนิ้วแบบไม่รู้ตัว หรือว่าชอบกระดิกขาทำจนชิน ระหว่างกินข้าวไปคุยกับใครก็ทำไปด้วยกระดิกไปด้วย ทำแบบไม่ได้รู้ตัวหรือไม่ได้รู้กาย บ่อยครั้งเรากินข้าว อาบน้ำ ถูฟัน มือมันขยับตักข้าวใส่ปาก แต่ว่าไม่ได้รู้สึกด้วย ไม่ได้รู้ด้วย เพราะกำลังคุยกับเพื่อนบ้าง กำลังคิดนึกว่า จะทำอะไรต่อไปหลังจากอาบน้ำเสร็จ บางทีคิดเรื่องงานเรื่องการ บางทีคิดไปไม่พอ วิตกกังวลเมื่อนึกถึงงานก็กังวล งานคาอยู่เยอะแยะ หรือว่านึกถึงลูก นึกถึงพ่อแม่ โอ้ยหนักใจลูกเกเร หรือว่าพ่อแม่ป่วย ไม่รู้จะรับมืออย่างไร พ่อเป็นมะเร็ง แม่เป็นอัลไซเมอร์ อาบน้ำไปใจก็คิดเรื่องนี้ หรือบางทีก็คิดเรื่องจะไปเที่ยว อันนี้เรียกว่าใจลอย ตอนนั้นไม่รู้กาย อันนี้คือไม่มีสติ
และที่มันเกิดคู่กันไปคือไม่รู้ใจ ใจลอย หรือว่ามีความหนักอกหนักใจขึ้นมาก็ไม่รู้ มันก็เลยจมอยู่ในเรื่องราว ในความคิดนั้น คิดจมดิ่งลงไปในเรื่องนั้น ก็เลยจมเข้าไปในอารมณ์ ทั้งๆที่ทุกข์ เศร้า โกธร หนักอกหนักใจ วิตกกังวล แต่ว่าจิตไม่ยอมถอนออกมา แต่ถ้าเกิดว่าทันทีที่เรารู้ใจ รู้ว่ากำลังคิดเรื่องนี้ รู้ว่ามีอารมณ์นี้อารมณ์นั้นเกิดขึ้น จิตมันกลับมาเป็นปกติเลย เพียงแค่รู้ทันเท่านั้นมันก็กลับมาเป็นปกติ เพียงแค่รู้ทันเท่านั้นอารมณ์ความคิดนั้นก็ดับวูบไป
การเจริญสติปัฏฐาน 4 สำหรับผู้เริ่มต้นคือ รู้กาย รู้ใจ ยังไม่ต้องถึงขั้นว่าเห็นว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต แต่พอปฏิบัติไปสติเราไวมากขึ้น เรารู้กายได้ต่อเนื่อง ยกมือก็รู้ว่ายก เดินก็รู้ว่าเดินอย่างต่อเนื่อง และก็รู้ใจ คือว่าคิดอะไรไปไม่กี่เรื่องก็จบ แต่ก่อนคิดเป็น 7-8 เรื่อง แต่ก่อนคิดยาว แต่ตอนหลังรู้ได้ไวขึ้น รู้ว่ามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น รู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น ตอนนี้รู้ด้วยสติ พอรู้ไว ๆ จิตก็กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวได้อย่างต่อเนื่อง แล้วยังได้ไปถึงจุดหมายเลย ก็คือ เห็นกายก็คือกาย ไม่ใช่เรา ความคิดก็คือความคิด ไม่ใช่เรา อารมณ์ก็คืออารมณ์ ไม่ใช่เรา อย่างเวลาเดิน พอมีสติเราก็เห็นว่าที่เดิน หรือยกมือ นั้นคือรูป ส่วนที่คิดนั้นเป็นนาม หรือพูดภาษาเข้าใจง่าย ที่เดินมันคือกาย กายมันเดินไม่ใช่เราเดิน ที่คิดนั้นใจมันคิดไม่ใช่เราคิด ที่โกธรใจมันโกธรไม่ใช่เราโกธร อันนี้มันเริ่มจะเป็นการรู้ด้วยปัญญาแล้ว เพราะว่ามันเห็นความจริงแล้ว ไม่ถูกลวงด้วยความสำคัญมั่นหมายที่ผิด คือถ้ายังเห็นว่ากายเป็นเรา จิตเป็นเรา แปลว่ายังหลงอยู่คือ ไม่รู้ความจริง
แต่เราต้องเริ่มต้นจาก การที่เวลากายเคลื่อนไหวก็รู้สึก ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ก่อน ความรู้สึกนี้สำคัญ ความรู้สึกในที่นี้หมายถึง Sensation ไม่ใช่ Feeling ถ้า Feeling คือเวทนา รู้สึกว่ามือเคลื่อน ความรู้สึกมันเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าใจลอย หรือว่าใจคิดนั้นคิดนี้ ความรู้สึกว่ามือเคลื่อน เท้าที่ขยับมันก็หายไปเลยทั้งๆที่กำลังยกมือ ทั้งๆที่กำลังสร้างจังหวะอยู่ ทั้งๆที่กำลังเดินจงกรมอยู่ ทั้งๆที่กำลังหายใจ ทั้งๆที่กำลังกินข้าว อาบน้ำ ความรู้สึกมันหายไป ความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว
แต่พอมีสติปุ๊บมันวางความคิดลงเลย หรือว่าความคิดมันดับวูปไปเลย สติกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัว พอมีความรู้สึกปุ๊บก็รู้ว่ามือเขยื้อน เท้าขยับ ปรากฏแก่ใจ ทีแรกมีสติก่อน ปฏิบัติใหม่ๆมีสติก่อน มีสติรู้ว่าเผลอไป จึงจะรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหว เท้าขยับ แต่พอฝึกไปๆ ความรู้สึกนั้นจะไปเตือนให้สติ ให้ใจกลับมามีสติ ที่แรกมีสติมาก่อน ความรู้สึกมาทีหลัง แต่ตอนหลังความรู้สึกมาก่อน สติจึงเกิดทีหลัง
คล้ายๆกับเราใจลอย คิดโน้นคิดนี้ อยู่ๆ ก็มีคนมาแตะมือแตะไหล่ เพื่อนมาทัก ความรู้สึกที่เกิดจากเพื่อนมาแตะตัว มันก็ไปเรียกไปสะกิดจิตให้กลับมามีสติ จิตที่ลอยอยู่ไหลไปในอดีตลอยไปกับอนาคต หรือจมอยู่ในอารมณ์ หนักอกหนักใจ พอรู้สึกว่ามีเพื่อนมาแตะที่ไหล่ที่แขน ได้สติเลย จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันเลย กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้เรียกว่ารู้สึกตัวรู้สึกที่กายก่อน จึงได้สติ แต่ความรู้สึกในกรณีนี้เกิดจากเพื่อนมาแตะมือแตะไหล่ แต่ถ้าไม่มีเพื่อนมาแตะ เราจะรู้สึกได้อย่างไร ว่าได้สติกลับมาก็คือ การที่เรายกมือ เดิน พอมันมีความรู้สึก ก็มีสติ เช่นพอรู้สึกว่ามือเคลื่อน สติก็เกิดทันที ลองสังเกตดู เรายกมือสร้างจังหวะไปเรื่อยๆ ช่วงหนึ่งใจลอย สักพักมันมีความรู้สึกเกิดขึ้นกับใจว่ากำลังยกมือ กำลังเดิน ตรงนั้นแหละที่มันจะเตือนใจให้เกิดมีสติกลับเข้ามา จะเรียกว่ากายมันส่งความรู้สึกไปสะกิดใจให้กลับมามีสติก็ได้ กายนี้แหละ ความรู้สึกนี้แหละ มันจะไปเรียกหรือไปสะกิดใจให้มามีสติ
อาจารย์ปราโมทย์ เพ็งจันทร์ เคยเล่าว่าสมัยที่ปฏิบัติเป็นโยม ท่านก็ปฏิบัติให้มีความรู้สึกตัว เวลาทำงาน ไปห้องน้ำ เวลาดื่มน้ำ เวลาเดิน กลับบ้านก็ให้มีความรู้สึกตัว วันหนึ่งเดินอยู่บนถนนก็เห็นเพื่อน เพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานทีเดียว อยู่อีกฟากหนึ่งของถนนก็ดีใจ แล้วก็รีบสาวเท้าเพื่อที่จะข้ามถนนไปหาเพื่อน แต่มามีช่วงหนึ่ง พอรู้สึกตัวว่าเท้ากำลังขยับ ได้สติเลย ที่ลืมตัวจะข้ามถนนด้วยความดีใจ ก็กลับมารู้สึกตัว ความดีใจก็วูบลงกลับมาเป็นปกติ อันนี้เพราะว่า ฝึกทำความรู้สึกตัว ฝึกเจริญสติให้รู้กายบ่อยๆ คือรู้สึกๆ ในเวลาที่ใจมันลืม หรือว่าลืมตัว ใจถูกอารมณ์เข้ามาครอบงำ ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ โกธร ลุ่มหลง ความรู้สึกที่กายจะไปเตือนใจให้กลับมามีสติ เพราะฉะนั้นเรื่องการรู้กายสำคัญ เป็นการเจริญสติที่ดี
ถ้าต่อไปเรารู้กายบ่อยๆ เข้า เวลาเครียด หงุดหงิด การรู้กายจะเข้าไปช่วยได้ แต่ไม่ใช่รู้กายในลักษณะความรู้สึกที่มือเคลื่อนไหว เพราะบางครั้งเราก็อยู่นิ่งๆ แต่ตอนนั้นเราโกธร หรือว่าเรากำลังเครียด หรือกลัว คนที่ฝึกสติรู้กายบ่อยๆ ก็จะเริ่มสังเกตุได้ว่า ตอนนั้นหัวใจเป็นอย่างไร เต้นแรง ตอนนั้นลมหายใจเป็นอย่างไร เช่นหายใจสั้น หายใจถี่ หรือว่า หน้านิ่วคิ้วขมวด มือเท้าเกร็ง อันนั้นก็เป็นการรู้กายอีกแบบหนึ่ง คือไม่ใช่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว แต่มันรู้อาการของกาย การที่รู้ตรงนั้นช่วยทำให้กลับมามีสติได้ คนที่รู้ขณะที่กำลังโกธร รู้เลยว่ารู้สึกหัวใจมันเต้นเร็ว เท้าเกร็ง หน้านิ่วคิ้วขมวด จะหลุดจากความโกธรได้เร็ว ความกลัวได้เร็ว อันนี้คือการรู้กาย มันจะช่วยได้ ทำให้ถอนจิตออกจากอารมณ์ได้
มีคนถามว่า ทำอย่างไรจึงจะรับมือกับความโกธรได้ นอกจากจะใช้ลมหายใจเข้าออกลึกๆ หายใจยาวๆช่วยแล้ว การมารู้ว่ากายเป็นอย่างไรในขณะโกธร ก็ช่วยได้ทีเดียว ไม่ว่าจะโกรธหรือกลัวก็แล้วแต่ ฉะนั้น ให้เราฝึกรู้กายบ่อย ๆ และสิ่งที่ควบคู่กันไป อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระสงฆ์ในช่วงที่ใกล้ปรินิพพานคือให้อยู่กับสติสัมปชัญญะ นอกจากจะสอนเรื่องสติปัฏฐาน 4 แล้ว ยังย้ำเตือนให้ทำความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้าถอยไปข้างหลัง ให้ทำความรูสึกตัวเวลาเหลียวซ้ายมองขวา ทำความรู้สึกตัว เวลาคู้ขาเหยียดขา หรือคู้แขนเหยียดแขน ทำความรู้สึกตัว เวลาครองจีวร สะพายบาตร พาดสังฆาฏิ ทำความรู้สึกตัว เวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม ทำความรู้สึกตัว เวลาถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ทำความรู้สึกตัว เวลายืน เดินนั่ง ทำความรู้สึกตัว แม้กระทั่งเวลาหลับตื่น หรือพูดแล้วก็นิ่ง เวลาพูดก็ทำความรู้สึกตัวได้ ก็คือว่าพูดอย่างมีสตินั้นเอง หรือว่าเวลาที่พูดไม่ถูกอารมณ์ครอบงำจนหลงจนลืมตัว บางคนพูดแล้วมันส์ หยุดไม่ได้ ยิ่งพูดยิ่งมันส์ ยิ่งมันส์ยิ่งพูด ก็เลยฟุ้งใหญ่เลย เรียกว่าพูดโดยไม่รู้สึกตัว หรือบางทีก็โกธร ก็เลยพูดไปด่าไป หรือว่าสาดอารมณ์ใส่เข้าไป อันนี้เรียกว่าพูดแบบไม่รู้สึกตัว ก็คือไม่มีสติ
เพราะฉะนั้น ให้ทำความรู้สึกตัว ทำได้ตลอด ไม่ต้องอาศัยสถานที่ ไม่จำกัดเวลา การปฏิบัติบางคนนั้นรู้สึกว่าต้องมีเงื่อนไขมาก ต้องได้ที่ๆ สงบ ต้องเป็นเวลาที่ปลอดโปร่ง ถ้าไม่ใช่วัดก็ปฏิบัติไม่ได้ หลายๆ คนก็อ้างว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะว่าเวลาปฏิบัติของเขาต้องเป็นเวลาเฉพาะว่างๆ คนเวลาบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ ต้องถามเขาว่ามีเวลาอาบน้ำหรือเปล่า มีเวลาถูฟันหรือเปล่า มีเวลากินข้าวหรือเปล่า มีเวลาขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะหรือเปล่า ถ้ามีเวลาทำสิ่งเหล่านี้ก็แปลว่ามีเวลาปฏิบัติ เวลาทำสิ่งเหล่านี้ก็เจริญสติไป ทำความรู้สึกตัวไป ไม่จำเป็นต้องยกมือสร้างจังหวะก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินจงกรมก็ได้ ทำความรู้สึกตัว ซึ่งก็คือการเจริญสตินั้นเอง
การรู้สึกตัวมีอีกคำหนึ่งเรียกว่าสัมปชัญญะ ไม่เหมือนกับสติ แต่ก็ใกล้กันมาก สติสัมปชัญญะ ใกล้กันมาก เหมือนกับเป็นพี่น้องเป็นฝาแผดก็ได้ คือมีสติจึงเกิดสัมปชัญญะ มีสติรู้ทันความคิด จึงเกิดความรู้สึกตัว และเมื่อเกิดความรู้สึกตัวก็จะทำให้มีสติต่อเนื่อง ที่เรายกมือ เรารู้สึกว่ามือกำลังยกแปลว่าตอนนั้นเรารู้สึกตัว แต่สักพักความรู้สึกตัวหาย ใจลอยแล้ว ตอนที่ใจลอยนั้น มีสติรู้ เห็นความคิด รู้ทันว่าใจคิดฟุ้งปรุงแต่ง สติก็พาจิตกลับมาสู่เนื้อสู่ตัว ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้น แต่เราไม่ต้องไปแยกแยะว่าตรงไหนสติตรงไหนสัมปชัญญะ อย่าไปเสียเวลาแยกแยะ เวลาปฏิบัติเราไม่เอารายละเอียด แต่ก็รู้ว่ามันเกื้อกูลกัน
ความรู้สึกตัว กับความรู้สึก มันใกล้กัน รู้สึกในทีนี้คือ Sensation รู้สึกว่ามือยก มือขยับ หรือว่ากลืนน้ำลาย กระพริบตา มือกำลังตักอาหารใส่ปาก รู้สึกมันเกิดขึ้นได้เพราะรู้สึกตัว คือถ้าไม่รู้สึกตัว ทำอะไรไปไม่รู้สึกหรอก เพราะตอนนั้นใจไปอยู่กับความคิด เรื่องที่คิด แม้กระทั่งยุงกัดก็ไม่รู้ เวทนาเกิดขึ้นยังไม่รู้เลย ถ้าเรารู้กายรู้ใจ ต่อไปมันก็จะรู้เวทนา บางคนบอกว่ารู้เวทนามันยากอะไร รู้ว่าตอนนี้ปวด ตอนนี้เมื่อย มันอาจจะไม่ใช่รู้ มันอาจจะหลงมากกว่า แทนที่จะเห็นมันก็เข้าไปเป็น คำว่า รู้ หลวงพ่อคำเขียนอธิบายได้ดีว่า รู้ว่าเห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น รู้ว่าโกธร แต่ว่าทำไมยังโกธร นั้นแสดงว่าไม่รู้จริงเพราะว่าเข้าไปเป็น ไม่ได้เห็น รู้ว่าเจ็บ รู้ว่าโอ๊ยปวดๆ มันเป็นแล้วไม่ใช่เห็น เห็นความปวดไม่ใช่เป็นผู้ปวด ตอนนั้นที่เราบ่นว่าปวดๆ กูปวด อันนั้นแหล่ะเป็นผู้ปวดแล้ว ไม่ใช่รู้เวทนา มันหลงมากกว่า หลงในเวทนา มันเข้าไปในเวทนาแล้ว
คำว่าหลงมี 2 ความหมายคือ ไม่รู้ตัวกับไม่รู้ความจริง บางทีก็พูดคลุมๆไป เช่นระหว่างที่ยกมือสร้างจังหวะแต่ว่าใจเผลอคิดไป ตอนนั้นก็หลงแล้ว หลงเข้าไปในความคิด แล้วก็ไม่รู้สึกตัว ยกมือแต่ไม่รู้สึก เวลามีเวทนาเกิดขึ้น ปวดเมื่อยแล้วก็ร้องว่าปวดๆ เมื่อไหร่จะหยุดพูดเสียที่ จะได้เขยื้อนขยับ อันนั้นเรียกว่าเป็นผู้ปวด มันไม่ใช่เห็นความปวด ถ้าเห็นความปวดแล้ว ใจจะปกติ ธรรมดา กายปวดใจไม่ปวดเพราะว่าใจมันไม่รู้สึก ไม่ได้ยึดความปวดนั้นมาเป็นของตน กายปวดแต่ใจไม่ได้ยึดความปวด เพราะว่าใจเห็นความปวดไม่ใช่เป็นผู้ปวด ผู้ปวดคือเข้าไปยึดว่าเป็นกู เป็นของกู ความปวดเป็นกู ความปวดเป็นของกู ความโกธรความเศร้าเป็นกู ความโกธรความเศร้าเป็นของกู อันนี้เรียกว่าผู้เป็น ไม่ใช่ผู้เห็น ถ้าเห็น จะปวดแต่กาย ใจไม่ปวด เพราะกายไม่ไปยึดความปวดมาเป็นกู เป็นของกู คนส่วนใหญ่เวลาปวด ไม่ได้ปวดแต่กายปวดใจปวดด้วย เพราะใจไปยึดมา จึงเกิดอาการกูปวดๆขึ้นมา
คำว่า เห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น ก็เป็นอีกคำหนึ่ง หรือเป็นอีกหลักหนึ่งที่สำคัญ อย่างคำว่า รู้ซื่อ ๆ กับ เห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น จริงๆเป็นคำเดียวกัน เพราะว่าถ้าไม่รู้เฉยๆ พยายามเข้าไปผลักไส มันจะเข้าไปเป็นทันที พอผลักไสความโกธรก็กลายเป็นผู้โกธรทันที ผลักไสความเกลียดก็จะเป็นผู้เกลียดทันที ผลักไสความปวดก็จะเป็นผู้ปวดทันที รู้ซื่อๆ กับเห็นแต่ไม่เข้าไปเป็น จำไว้เลยว่า เป็นวิธีปฏิบัติที่ใช้ได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ผู้เริ่มต้นจนถึงผู้ที่เรียกว่าเชี่ยวชาญ
เพราะฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติไม่ว่าจะทำอะไร ไม่ว่าเราจะภาวนาหรือปฏิบัติทำได้ทั้งนั้น ด้วยการเจริญสติ ด้วยการทำความรู้สึกตัว พระพุทธเจ้าอธิบายไว้ละเอียดมาก ไม่ว่าจะทำอะไรแม้กระทั่งเวลาอุจจาระ ปัสสาวะก็ทำความรู้สึกตัวได้ ปฏิบัติเหมือนกันแม้อยู่ในห้องน้ำ ไม่ต้องมาวัดหรือต้องมาเข้าคอร์สถึงจะปฏิบัติได้