แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ชีวิตคือการต่อสู้ การต่อสู้ในที่นี่คนส่วนใหญ่ก็อาจจะนึกถึงการต่อสู้กับความยากจน ต่อสู้กับอุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้า ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ แต่ที่จริงแล้วการต่อสู้ที่สำคัญมันอยู่ข้างในใจ หลายคนจะรู้สึกได้ว่า ในใจเรามีการต่อสู้ยื้อแย่งกันระหว่าง ความดีกับความชั่ว ความใฝ่สูงกับความใฝ่ต่ำ ความโลภ ความอยากกับความเมตตากรุณา
ใจหนึ่งก็อยากจะเอา อยากจะลักขโมย อยากจะชักดาบไม่จ่ายหนี้ แต่อีกใจหนึ่งก็ทักท้วงว่า ทำอย่างนั้นไม่ดี ไม่ถูก ใจหนึ่งอยากเล่นหวย อยากเล่นการพนัน แต่อีกใจหนึ่งก็บอกว่า ทำอย่างนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เกิดความฉิบหายกับตัวเองและครอบครัว เป็นต้น อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของทุกคน แม้แต่จะมาปฏิบัติธรรม ใจหนึ่งก็บอกว่าเอาไว้วันหลังเถิด หรือมาที่ปฏิบัติธรรม มาถึงวัด ก็ยังมีการต่อสู้ข้างในใจว่ากลับบ้านเถิด สองสามวันก็พอแล้ว บางทีก็มีข้ออ้างว่าแม่ไม่สบาย ลูกป่วย กลับไปดูแม่ กลับไปดูลูกก่อน วันหลังค่อยมาก็แล้วกัน อันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่าง ความดีกับความชั่ว ระหว่างจิตใจใฝ่สูงและจิตใจใฝ่ต่ำ ซึ่งเราก็คงจะรับรู้หรือว่ามองเห็นอยู่
แต่ที่จริงแล้ว พูดอย่างนั้นยังแคบเกินไป ต้องพูดว่าจิตใจเราเป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้ระหว่าง ความรู้กับความหลง มันต่อสู้แย่งชิงกันภายในใจของเรา หากพูดอย่างนี้จะกว้างกว่าคำพูดที่ว่า มันเป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วภายในใจ แม้กระทั่งเราทำความดี ความหลงก็อาจจะเข้ามาครอบงำจิตใจเป็นครั้งเป็นคราวหรือว่าอยู่บ่อยๆ อย่างเรามาสวดมนต์ สวดมนต์ก็เป็นการทำความดี แต่สังเกตไหมว่าเราสวดมนต์ไปบางครั้งก็หลงไปลอยไปที่อื่น ไม่รู้ตัว เวลาเราไปวัดทำบุญ การทำบุญก็เป็นการทำความดี แต่บางครั้งใจเราก็ลอย หลงไป ไม่รู้ตัว ความหลงสามารถมาครอบงำใจเราได้ แม้กระทั่งในตอนที่เรากำลังทำความดี บางคนก็ทำดีจนติดดี ติดดีก็เป็นความหลงอย่างหนึ่ง เพราะว่าตอนนั้นมีความยึดมั่นถือมั่น เป็นความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู หรือว่าความหลงในชนิดที่ว่าไม่รู้ กลายเป็นงมงายไป
หลายคนทำบุญมากๆ จนเมาบุญ ก็คือทำด้วยความงมงาย ทำโดยไม่รู้ตัว ทุ่มสุดตัวจนกระทั่งไม่มีเงินเหลือ หรือว่าครอบครัวเดือดร้อน อันนี้มันก็น้องๆ การเมาเหล้า กินเหล้าจนไม่เป็นอันทำงาน หรือว่าเงินทองที่เก็บไว้ก็หมด ครอบครัวก็เดือดร้อน การทำบุญถ้าเราไม่ระวังรักษาใจให้ดีก็เมาบุญเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งในเวลาเราทำความดี มันก็อาจจะมีความหลงมาครอบงำใจเราก็ได้ จึงน่าจะพูดใหม่ว่า ชีวิตเราเป็นการต่อสู้ระหว่าง รู้กับหลง และสมรภูมิที่ขับเคี่ยวกันมากก็คือใจของเรา ความหลงพยายามที่จะครอบงำหรือว่าแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของเรา คนเราก็มีหลับกับตื่น หลับนั้นก็หลงอยู่แล้ว แต่ว่าตื่นก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้ตัวไปเสียหมด ส่วนใหญ่ก็หลง โดยปกติเราหลงมากกว่ารู้
เคยมีการศึกษาว่า คนๆหนึ่งเวลาทำงาน เขามีความรู้ตัวนานเท่าไหร่ ในเวลาทำงาน 7 ชั่วโมงครึ่ง ใจลอยไป 6 ชั่วโมง หรือประมาณ 80% ทำงานจริง ๆ แค่ 20% ที่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย นอกนั้นใจลอย ใจลอยไปเรื่องอื่น หรือไม่ บางทีก็ไปคิดฟุ้งปรุงแต่ง บางทีเจอข้อความหรืออีเมลเข้าไป ใจก็ลอย หลุดออกจากงานแล้ว อันนี้เรียกว่า หลงมันแย่งชิงจิตใจเรา จนกระทั่งมีพื้นที่ที่ให้กับความรู้ หรือตัวรู้ไม่เท่าไร
รู้ ในที่นี้มีสองอย่างคือ รู้ตัวกับรู้ความจริงหรือว่ารู้สัจธรรม รู้ตัวเป็นพื้นฐานของการที่เราจะรู้ความจริง เห็นสัจธรรม ถ้าไม่รู้ตัวแล้ว การที่จะไปรู้ความจริง จนกระทั่งหมดอวิชชาก็ยาก แต่ว่าเรารู้ตัวก็รู้ตัวลำบาก เพราะความหลงก็พยายามแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของเรา แย่งชิงพื้นที่ต่าง ๆ ในชีวิตของเรา ถ้าเราปล่อยให้ตัวหลงครอบงำชีวิตของเรา ชีวิตเราก็หาความสุขความเจริญได้ยาก เพราะใจเอาแต่จะคิด หลงลอยไปกับอดีตบ้าง หลงลอยไปอยู่กับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เสร็จแล้วก็จมอยู่ในความทุกข์
ทุกครั้งคนเราที่มีความทุกข์ เป็นเพราะหลง ให้ขีดเส้นใต้ตรงนี้เลยว่า ทุกครั้งที่คนเราทุกข์ใจเพราะตกอยู่ในความหลง ตอนนั้นไม่รู้ตัวหรอก ตอนนั้นใจไหลไปในอดีต ลอยไปในอนาคต จมอยู่ในอารมณ์ แบกเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ มันผ่านไปแล้วก็ยังแบกเอาไว้ คำพูดคำด่าคำต่อว่าด่าทอที่คนพูดก็ลืมไปแล้วว่าพูดอะไรไป แต่เราก็ยังแบกเอาไว้ แบกเอาเรื่องของลูก แบกเอาเรื่องของญาติพี่น้อง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เวล่ำเวลาก็แบกเอาไว้ แม้กระทั่งความเจ็บป่วยของพ่อแม่ เรามาอยู่นี่ เราทำอะไรไม่ได้ ช่วยอะไรท่านไม่ได้ ก็ยังแบกเอาไว้ เวลาจะนอนก็ยังแบกเอาไว้จนนอนไม่หลับ แล้วก็พักผ่อนไม่เพียงพอ สุดท้ายก็ไปดูแลท่านได้ไม่ดี แถมอารมณ์เสียใส่ท่านอีก เพราะว่านอนไม่พอ เลยอารมณ์เสีย ที่เราแบกเพราะว่าเราไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ทุกข์เพราะแบก ก็ยังแบกอยู่ เพราะความไม่รู้นี่แหละ ถ้ารู้ตัวเมื่อไรนี่มันวางเลย อารมณ์ต่างๆ ที่มันครอบงำใจเพราะความหลง แต่ทันทีที่หลงเปลี่ยนเป็นรู้ มันหลุด มันวางเลย
มีนักศึกษาคนหนึ่งเรียนปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ปีสุดท้าย ทางมหาวิทยาลัยให้ไปฝึกงาน ปกตินักศึกษาส่วนใหญ่ก็อยากไปฝึกงาน หรือถูกมอบหมายให้ไปฝึกงานกับหน่วยราชการ แต่ว่านักศึกษคนนี้อยากจะไปฝึกงานช่วยองค์กรชาวบ้านในภาคอีสาน เพราะตัวเองเป็นคนอีสาน แต่อาจารย์ที่ปรึกษาก็ไม่ยอม คุยไปคุยมา งั้นก็ไปภาคเหนือก็แล้วกัน ไปช่วยองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือชาวเขา ทีแรกก็ตกลงว่าจะไปช่วยทำงานกับองค์กรของชาวเขา NGO ที่ทำงานช่วยชาวเขา แต่พอไปถึงเชียงใหม่ ปรากฏว่าอาจารย์จัดแจงให้ไปทำงานกับกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งก็ทำงานช่วยชาวเขาเหมือนกัน นักศึกษามารู้ความจริงเมื่อไปถึงเชียงใหม่แล้ว ก็ไม่พอใจ โมโหมาก คืนนั้นก็นอนไม่หลับเลย ครุ่นคิดแต่เรื่องนี้ ใจหนึ่งก็ไม่พอใจเพราะตกลงกันแล้วแต่ไม่ทำตาม วันรุ่งขึ้นอาจารย์ที่ปรึกษามาเยี่ยม แต่เป็นคนละคนกับคนที่ได้คุยกัน อาจารย์ที่ปรึกษามีหลายคน พอเห็นนักศึกษาก็ต่อว่า ระบายใส่อาจารย์เลย แต่อาจารย์ก็ดี เป็นผู้ใหญ่ ก็ฟัง พยายามชี้แจงด้วยเหตุด้วยผล นักศึกษาก็ยังไม่พอใจ ก็ยังต่อว่า ระบายความไม่พอใจ จู่ๆ อาจารย์ก็เรียกชื่อขึ้นมา ทักนักศึกษาแล้วก็บอกว่า คิ้วเธอตอนนี้มันโก่งเป็นรูปธนูเลย โก่งเป็นโบว์เลย พอได้ยินนักศึกษาก็รู้ตัวเลยว่าโกรธ พอรู้ตัวว่าโกรธ มันหายโกรธเลย ความโกรธมันหายไปเลย
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วินาทียังโกรธอยู่เลย พอถูกทักว่าคิ้วเธอมันผูกเป็นโบว์ รู้ตัวทันทีว่าโกรธ ตอนนั้นสติทำงาน พอสติทำงาน ความรู้ตัวก็เกิดขึ้น ความโกรธก็หายไป ไม่ต้องไปกดข่มความโกรธ เพียงแค่รู้ตัวเท่านั้นแหละ มันวางทันที ตอนโกรธนั้นมันไม่รู้ตัว มันหลง แล้วก็แบกเอาไว้ แล้วก็ยิ่งแบกหนักขึ้น ๆ จนกระทั่งแสดงออกทางสีหน้าทางร่างกาย ที่จริงไม่แค่หน้าตาสีหน้าที่โกรธเท่านั้น หัวใจก็เต้นเร็วลมหายใจก็ถี่สั้น ตัวก็อาจจะเกร็ง แต่คนเราไม่รู้หรอก เพราะตอนนั้นมันหลง มันลืมตัว แต่พอรู้ตัวขึ้นมา ความโกรธมันหายไป ความทุกข์จางคลายไปเลย
เพราะฉะนั้น ตัวรู้มีอานิสงส์มาก มีพลังมาก มันสามารถที่จะปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระจากความทุกข์ได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามันทำให้ใจปล่อย ทำให้ใจวางความทุกข์หรืออารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ที่เป็นอกุศล ความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ ความหงุดหงิด ความรู้สึกผิด ถ้าเกิดกับใครก็ทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีใครชอบ แต่สังเกตไหมว่า เรามักจะแบกมันเอาไว้ ไม่ใช่แค่แบกไว้อย่างเดียว เราหวงแหน พยายามปกป้องมันด้วย เวลาเราโกรธ เราก็พยายามหาเหตุผลมาเพื่อสนับสนุนความโกรธ ใครจะมาแนะนำว่าให้อภัยเถิด เราก็จะไม่ยอม แถมยังไม่พอใจคนที่แนะนำอย่างนั้นด้วย เวลาเศร้า เราก็หวงแหนความเศร้ามาก ใครชวนให้ไปไหนก็ไม่ไป จะนั่งเจ่าจุกเพื่อให้ได้จมอยู่กับความเศร้า ความรู้สึกผิดถ้าเกิดขึ้นกับใครก็พยายามเก็บ พยายามหวงแหนเอาไว้ เอามากรีดแทงตัวเอง แทงจิตใจตัวเอง โบยตีตัวเอง ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เพราะอะไร เพราะหลง อันนี้มันเป็นเรื่องที่เกินเลยกับเรื่องความดีความชั่วไปแล้ว
คนดีก็จมอยู่ในความทุกข์ได้บ่อยๆ เพราะอะไร เพราะลืม เพราะหลง ลืมในที่นี้คือลืมตัว ไม่ใช่ลืมโทรศัพท์ ลืมกระเป๋าเงิน แต่มันลืมตัว การลืมโทรศัพท์ ลืมกระเป๋ายังเบากว่าการลืมตัว เพราะลืมตัวสามารถที่จะทำให้เราเจ็บป่วย หรือว่าอาจจะถึงกับทำร้ายตัวเอง ความหลงพยายามที่จะเข้ามาครอบงำจิตใจของเรา พยายามแย่งชิงพื้นที่ในชีวิตของเรา ถ้าเรารู้ว่าหลง_ไม่ดี และ รู้_จะช่วยทำให้ใจเป็นสุขเป็นอิสระจากความทุกข์ เราจึงต้องพยายามสร้างตัวรู้ให้มากขึ้น พยายามขยายพื้นที่ของตัวรู้ให้มันกระจายออกไป แต่ตัวหลงก็พยายามแย่งชิงพื้นที่ในจิตใจของเรา
ถ้าเราจะสู้ จะต้านทานกับตัวหลงได้ มันจะต้องมีพื้นที่ มีฐานที่มั่น ลองนึกถึงเวลาทำศึกสงคราม ฝ่ายหนึ่งมีแสนยานุภาพมากกว่า มีกองกำลังมากกว่า เราจะสู้ได้ก็ต้องหาชัยภูมิ เรามีคนน้อยแต่ถ้าชัยภูมิดีก็พอจะสู้ได้ ถ้าเป็นศึกสงครามก็ต้องอาศัยอยู่บนที่สูง ก็จะมองเห็นศัตรู หรือว่าสามารถต้านทานโดยอาศัยภูมิประเทศที่ได้เปรียบ การที่จะให้ชีวิตจิตใจของเราเป็นชีวิตจิตใจแห่งความรู้ ทั้งรู้ตัวและรู้ความจริง เราก็ต้องมีฐานที่มั่น อย่างเช่น ช่วงเวลาที่เรามาสวดมนต์ มันจะเป็นช่วงเวลาของการที่เราจะมาเติมตัวรู้ให้กับจิตใจ เติมกุศลธรรมให้กับจิตใจของเรา ก็พยายามใช้ช่วงเวลานี้ อย่างการมาสวดมนต์ก็ดี การมาฟังธรรมก็ดี เป็นช่วงเวลาของความรู้สึกตัว เป็นช่วงเวลาที่เราตื่น ไม่ใช่ตื่นทางกายอย่างเดียว ตื่นทางใจด้วย เราเริ่มต้นอาศัยช่วงเวลาอย่างนี้ ไม่ปล่อยให้ความหลงเข้ามาครอบงำจิตใจมากเกินไป เวลาง่วงก็พยายามสลัดความง่วงออกไป เวลาลืมตัวคิดไปโน่นคิดไปนี่ คิดไปเรื่องงาน คิดไปถึงที่บ้าน ก็กลับมา ให้ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นฐานที่มั่นของความรู้ตัว
ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ต่อไปเวลาเราทำกิจกรรมอื่น เราก็ให้เวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความรู้ตัว เช่น ตื่นเช้าขึ้นมา ล้างหน้า แปรงฟัน ก็พยายามทำให้ช่วงเวลานี้มีความรู้ตัว จะมีงานการอะไรรอเราอยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นทำครัวให้ลูก พาลูกไปโรงเรียน หรือว่าการงานที่สำนักงาน ก็วางไว้ก่อน อย่าปล่อยใจให้หลงไปกับสิ่งนั้น พยายามขยายพื้นที่แห่งความรู้ตัวให้กว้างออกไปเรื่อย ๆ ถ้าอยู่ที่วัด เริ่มต้นจากการทำวัตรสวดมนต์
แต่ถ้าอยู่ที่บ้านก็ใช้กิจกรรมบางอย่าง เช่น การเจริญสติ เราตั้งใจว่ากลับไปบ้านเราจะพยายามเจริญสติ พยายามทำสมาธิวันละอย่างน้อย 5-10 นาที ก็ให้ช่วงเวลาเหล่านั้นเป็นฐานที่มั่นของความรู้ตัว จะไม่ยอม ไม่อนุญาตให้ความหลงเข้ามาแย่งชิงพื้นที่แย่งชิงเวลาของเราไป ให้เป็นช่วงเวลาของการอยู่กับปัจจุบัน ใหม่ๆ ตัวหลงก็จะไม่ยอม ก็พยายามเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ ดึงจิตดึงใจของเราให้ไปอยู่กับอดีตบ้าง ให้ไปอยู่กับอนาคตบ้าง ให้ไปผจญอยู่กับความทุกข์บ้าง เราก็ต้องไม่ยอม ถ้าเราทำได้ใน 5 นาที ใน 5 นาทีนั้นเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นช่วงเวลาที่เราจะอยู่กับความรู้สึกตัว จะไม่ปล่อยให้ความหลงเข้ามาครอบงำใจ ต่อไปโอกาสที่พื้นที่แห่งการรู้ตัวขยายไปสู่ช่วงเวลาอื่นก็จะมีมากขึ้น
แต่ถ้าเราปล่อยให้ช่วงเวลาเหล่านั้นถูกยึดครองด้วยความหลง ก็แปลว่าเราไม่มีฐานที่มั่นให้กับความรู้ตัว แล้วก็จะกลายเป็นว่า ทั้งวันเราจะอยู่กับความหลง และต่อไปทั้งชีวิตเลยก็จะอยู่กับความหลง ดังนั้น ถ้าหากว่าเรารักตัวเองอย่างแท้จริงก็ต้องพยายามไม่ให้ความหลงเข้าไปขยายพื้นที่ ขยายพรมแดนในจิตใจของเรา ขยายพรมแดนเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ของชีวิตของเรา อาบน้ำ ถูฟัน ต่อไปกินข้าวเราก็มีความรู้สึกตัว เวลาจะทำอะไรก็ขอให้มีความรู้ตัวไว้ เมื่อไรก็ตามที่เรามีความรู้ตัว ความยึดมั่นในตัวกูของกูมันก็จะคลายลง ความรู้สึกยึดมั่นในตัวกูเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราหลง ทุกครั้งที่เราไม่มีสติ จิตก็จะหลงปรุงแต่งตัวกูขึ้นมา เป็นเจ้าของนั่นเป็นเจ้าของนี่ เป็นคนทำโน่นทำนี่
เวลาเราเดิน ถ้าเราไม่รู้ตัวจะรู้สึกว่าเราเดินฉันเดิน เวลากินก็ฉันกิน เวลามีความโกรธเกิดขึ้นก็ฉันโกรธ เวลามีความเศร้าเกิดขึ้นก็ฉันเศร้า มันมีตัวฉันที่เป็นเจ้าของกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา และเราคงทราบว่าความทุกข์ของคนเรา ถึงที่สุดแล้วมันก็เกิดขึ้นจากความยึดมั่นถือมั่น ตัวกูของกู เงินใครหายเราไม่ทุกข์ แต่ถ้าเงินกูหายก็ทุกข์เลย ใครจะเจ็บจะปวด ญาติหรือเพื่อนปวดมากเพราะเป็นมะเร็ง เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไรเท่าไหร่ แต่เพียงแค่รู้สึกว่ากูปวดฟันเท่านั้นแหละ หรือปวดหัวเท่านั้นแหละ กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเลย หรือว่าแค่ปวดนิ้วเท้าถ้ารู้สึกว่ากูปวดเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที ความรู้สึกตัวกูของกูมันเป็นที่มาของความทุกข์ เวลาถูกด่าแล้วเราเจ็บเราปวดเพราะรู้สึกว่ากูถูกด่า เอาตัวกูขึ้นหน้า
เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้ความยึดมั่นในตัวกูมันครอบงำจิตใจ ก็จะหาความสุขได้ยาก จริงอยู่บางช่วงรู้สึกว่ากูสุขกูสบาย แต่ว่าประเดี๋ยวเดียวกูทุกข์อีกแล้ว แต่ถ้าเราพยายามสร้างความรู้สึกตัว ทำอะไรก็ทำอย่างมีสติ เดินก็เดินอย่างมีสติ ตอนนั้นมันไม่ใช่กูเดิน จะเห็นว่ามันเป็นกายที่เดิน เวลาโกรธถ้าเรามีสติรู้ตัว เห็นความโกรธ มันไม่ใช่เราโกรธ ความโกรธไม่ใช่เรา อะไรก็ตามที่ถูกเห็น มันไม่ใช่เรา
การเจริญสติ ทำให้เราคลายจากความยึดมั่นในตัวกูของกู เดินก็ไม่ใช่เป็นเราเดิน มันเป็นรูปที่เดิน ปวดไม่ใช่เราปวด มันเป็นกายที่ปวด จะเป็นที่มือหรือที่ขาอะไรก็แล้วแต่ ในการเจริญสติ สิ่งสำคัญก็คือการรู้และการเห็น ไม่เข้าไปเป็น ความปวดยังมีอยู่ แต่ถ้าเราเห็นความปวดแล้ว มันไม่มีผู้ปวดเกิดขึ้น การที่เราเห็นอย่างนี้เห็นกายเห็นใจที่เกิดขึ้นบ่อยๆ มันไม่เพียงแต่ช่วยให้ใจสงบลงได้เร็ว การที่เรารู้เราเห็นมันจะวางได้ไว เห็นความโกรธมันก็วางความโกรธได้ เห็นความเศร้ามันก็วางความเศร้าได้ สิ่งที่ตามมาคือความสงบ สงบเพราะรู้ สงบส่วนใหญ่เรานึกถึงการที่ไม่รู้ ใช้วิธีไม่รู้ เช่น ปิดตา ปิดหู เก็บตัวอยู่ในบ้าน ปิดโทรศัพท์ พอไม่รู้ข่าวสาร พอไม่รู้เรื่องอะไรต่างๆ ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ใจก็สงบได้ ความสงบแบบนี้ดีก็จริง แต่ชั่วคราว เราต้องรู้จักสงบเพราะรู้ ไม่ใช่แค่ทางตา ทางหู ที่สำคัญคือรู้ทางใจ คือว่าเวลามีความโกรธเกิดขึ้น รู้แล้ววาง พอใจมันฟุ้งคิดไป รู้ วาง มันจะฟุ้งไปทางไหน คิดเรื่องอะไร ถ้าไม่ใช่เวลา ถ้าไม่ใช่ความตั้งใจคิด ก็วาง เมื่อวางก็เกิดความสงบ เป็นความสงบที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้คน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ถ้าทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันจะไม่ใช่ความสงบเท่านั้น แต่มันจะเกิดเป็นปัญญา ซึ่งเป็นความรู้อีกชนิดหนึ่ง คือรู้ความจริง รู้ว่ามันไม่มีเรา มันมีแต่กายกับใจ มันมีแต่รูปกับนาม
การเจริญสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู เพราะเห็นความจริงว่ามันไม่มีกู ไม่มีเรา ไม่มีของเรา เวลาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่องสติปัฏฐาน 4 พระพุทธเจ้าก็จะแนะนำขั้นตอน ให้ดูกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ให้ดูพิจารณาจนเห็นว่าเวทนามันเป็นเวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา พิจารณาว่าจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา พิจารณาว่าธรรมว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ส่วนใหญ่เวลาเราเห็นกาย มันก็คิดว่าเป็นเราเป็นของเรา เวลามีอารมณ์เกิดขึ้นก็คิดว่าเป็นเรา อารมณ์ของเรา ความโกรธของเรา หรือว่าเราเป็นผู้โกรธ มันเต็มไปด้วยความยึดมั่น สำคัญมั่นหมายในตัวเรา ของเรา แต่ถ้าเราเจริญสติเห็นอยู่บ่อยๆ จากเดิมที่มีความสงบเพราะรู้ทัน ต่อไปมันจะเกิดความสว่างเพราะมีปัญญาเห็นความจริง เริ่มจากการเห็นของจริง และต่อไปก็จะเห็นความจริง เห็นความจริงว่ามันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม มันมีแต่กายกับใจ
เราก็ฝึกได้จากการที่เราเห็นอาการทางกายเกิดขึ้น เช่น ความปวด ความเมื่อย ถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้ตัว เราก็จะหลงเข้าไปในความปวด เป็นผู้ปวด แต่พอเรามีสติรู้ตัวขึ้นมา มันจะเห็นเลยว่าความปวดไม่ใช่เรา ความปวดเกิดขึ้นกับกายกับใจ ไม่ใช่เรา เห็นได้ตั้งแต่ตอนนี้เลย ที่เราเมื่อย เห็นความเมื่อยว่ามันเกิดกับกาย ไม่ใช่เราเมื่อย เห็นอย่างนี้ได้เพราะสติ เพราะตัวรู้ คือความรู้ตัว และตรงนี้จะทำให้เราเกิดปัญญาเพราะเห็นความจริง และมันก็ช่วยทำให้ใจเราสงบได้แม้ยังมีความปวดอยู่
หลวงปู่บุดดา ถาวโร ตอนที่ท่านอายุสัก 80 ท่านก็ไปผ่าเอานิ่วออก สมัยนั้นยังไม่มีอัลตราซาวน์ ต้องผ่าออก พอผ่าเสร็จ ไม่ถึง 15 นาที ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร ค่อยยังชั่วแล้ว คือท่านจะกลับวัดแล้ว หมอพยาบาลก็แปลกใจ แล้วก็ถามว่าท่านว่า หลวงปู่ไม่เจ็บเหรอ คนที่ผ่าน้อยกว่าท่านยังโอดครวญว่าเจ็บ หลวงปู่บอกว่าเจ็บสิทำไมจะไม่เจ็บ ร่างกายของฉันก็เหมือนคนอื่น แต่ว่าใจไม่ได้เจ็บด้วย คือกายเจ็บ แต่ใจไม่ได้เจ็บ ท่านเห็นว่าความเจ็บเป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องกาย แต่คนส่วนใหญ่พอเจ็บ จะรู้สึกว่ากูเจ็บ ไม่ได้เห็นว่ากายเจ็บ รู้สึกว่ากูเจ็บคือความหลง พอกูเจ็บแล้วเป็นอย่างไร ใจก็เป็นทุกข์ อาจจะบ่นโอดครวญทุรนทุราย แต่ถ้าหลุดจากความหลงก็เห็นความจริงว่ามันไม่ใช่กูเจ็บ มันเป็นกายที่เจ็บ หรือเป็นความเจ็บที่เกิดขึ้นกับกาย นี่เป็นความจริงพื้นฐาน เป็นความจริงที่เรียกว่าสามัญมาก แต่ว่าเพราะความหลงจึงมองไม่เห็น ก็จะคิดแต่ว่ากูเจ็บ ๆตลอดเวลา แต่ตัวกูไม่มีจริง มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาในยามที่ไม่รู้ตัว ในยามที่หลง และเพราะว่าไม่มีปัญญาด้วย แต่พอรู้ตัวหรือรู้ความจริงว่ามันไม่มีกู มันก็จะเห็นเลยว่าเป็นกายที่เจ็บ ตรงนี้แหละที่ใจมันจะไม่เจ็บด้วย เพราะฉะนั้นจิตใจก็จะสงบได้ แม้ยังมีความเจ็บความปวดเกิดขึ้น แม้จะไม่สบายหรือแม้แต่จะมีเสียงดัง ใจก็ยังสงบ
สิ่งที่เราเจอไม่สำคัญเท่าใจเราเป็นอย่างไร เจอความปวด แต่ถ้าใจเรามีสติ มีปัญญา ก็สงบได้ เป็นปกติได้ หรือว่าเป็นสุขอยู่ได้ คนเราจะหนีความเจ็บความปวด มันหนีได้ไม่ตลอดหรอก ในที่สุดก็ต้องเจอ แต่เจอก็ไม่หวั่น เพราะใจถูกฝึกไว้ดีแล้ว เพราะใจถูกฝึกให้มีความรู้ตัวอยู่บ่อยๆ กิจกรรมต่างๆ ในชีวิต ในแต่ละวันๆ ก็ทำด้วยความรู้เนื้อรู้ตัว และเมื่อรู้ตัวไปเรื่อยๆ สักวันในที่สุดก็จะรู้ความจริง รู้ความจริงว่ามันไม่มีตัวเรา ที่จริงในขณะรู้ตัว มันไม่มีตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ทุกครั้งที่มีความรู้ตัว ตัวกูจะไม่ปรากฏ เพราะตอนนั้นมันไม่หลงแล้ว ตัวกูเกิดขึ้นเพราะหลง แต่เมื่อรู้ตัวแล้วมันก็ไม่มีตัวกู ก็แปลก พอรู้ตัวปุ๊บตัวกูไม่เกิด แต่พอไม่รู้ตัว ตัวกูเกิด ถ้าเมื่อรู้ตัวบ่อยๆ มันจะเห็นความจริงของกายและใจ และความจริงของกายและใจจะบอกให้รู้ว่า แท้จริงแล้วมันไม่มีตัวกู ตัวกูของกูเป็นความหลง ที่พื้นฐานมาก ที่ลึกซึ้งมาก เมื่อเห็นเช่นนี้มันก็วาง ไม่มีตัวกูของกู ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ยาก มันก็มีแต่ความทุกข์กาย แต่ว่าไม่ทุกข์ใจ
คนเรานั้นถึงที่สุดแล้วมีความทุกข์ใจเพราะว่า เรายึดมั่นสำคัญหมายในตัวกูของกู เพราะยังหลงอยู่ เพราะไม่เห็นความจริง เพราะไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติจนถึงที่สุด มันไม่ใช่เพื่อให้เรารู้ตัวเท่านั้น แต่มันยังนำไปสู่การรู้ความจริง ทำให้เป็นอิสระจากการยึดมั่นตัวกูของกู ซึ่งก็คือเป็นความอิสระจากความทุกข์นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าพยายามทำให้ตัวรู้ชนะความหลงให้ได้ ให้การใช้ชีวิตของเราเป็นการสร้างตัวรู้ และขยายตัวรู้ขึ้นไปในชีวิตของเรา ในจิตใจของเรา ขยายไปสู่ทุกพื้นที่ของชีวิต ทุกกิจกรรม ไม่ใช่เฉพาะเวลาสวดมนต์ ไม่ใช่เฉพาะเวลาเจริญสติ แต่ในเวลาอาบน้ำ ถูฟัน ล้างหน้า เวลาทำงาน ขับรถ ขึ้นบันได เวลาล้างจาน ให้พรมแดนแห่งตัวรู้มันขยายไป จนกระทั่งตัวหลงไม่มีที่มั่นคือไม่มีที่ตั้ง ซึ่งถึงตอนนั้นก็เรียกว่าเป็นอิสระจากความคิดอย่างสิ้นเชิง แต่ถึงแม้ว่าเรายังไม่มีอิสระจากความคิดอย่างสิ้นเชิงได้ ก็ให้มันลดน้อยเบาบางด้วยการที่เห็นความจริงรู้ความจริง