แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราคงได้ยินคำอุปมาว่า ชีวิตเหมือนการเดินทาง คำอุปมานี้ต้องขยายความหรือว่าเพิ่มเติมด้วยว่า เดินทางในที่นี้หมายถึงเดินเท้า ไม่ใช่นั่งรถ เพราะว่าถ้าชีวิตเหมือนกับการนั่งรถ ดูเหมือนว่าจะง่ายไป หมายความว่าคนที่ไม่มีรถหรือคนยากคนจนก็จะลำบากกว่า ซึ่งที่จริงมันไม่ใช่ ชีวิตคือการเดินทางด้วยเท้า และการที่เราจะเดินทางด้วยเท้าได้ ต้องอาศัยขาสองข้างที่ช่วยพยุงให้เราอยู่ในสภาวะที่สมดุล ถ้าขาสองข้างมันไม่เท่ากัน การเดินก็จะลำบาก ขาสองข้างที่เท่ากันช่วยทำให้เราอยู่ในสภาวะที่สมดุลที่จะทำให้สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและไม่ทุลักทุเล นั้นก็หมายความว่าชีวิตเป็นเรื่องของการประคับประคองตนให้อยู่ในภาวะที่สมดุล
ถ้าพูดถึงคำว่าสมดุลจะหมายถึงอะไร การดำเนินชีวิตเราจะต้องมีความสมดุลระหว่างกายกับใจ อันนี้เป็นคู่ที่สำคัญมาก เพราะชีวิตเรา จริงๆแล้ว ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีอยู่เท่านี้ เกิดมาก็มีกายกับใจเป็นหลัก ชีวิตของคนสมัยนี้จะเทน้ำหนักไปที่กายมาก ส่วนใจ ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่ วันๆหนึ่ง 24 ชั่วโมง เราให้เวลาไปกับเรื่องของกายเย่อะทีเดียว ถ้าไม่นับเรื่องการนอนซึ่งก็เป็นเรื่องการพักกายส่วนใหญ่ 8 ชั่วโมง แต่ว่าใจอาจจะไม่ได้พักเลยก็ได้ 8 ชั่วโมงหรือ 7 ชั่วโมงที่เรานอน แค่กายที่พัก แต่ว่าใจไม่ได้พัก ใจก็ฝัน บางคนนอนหลับ ตื่นขึ้นมาก็รู้สึกว่าไม่ได้พักใจเท่าไร แต่สมมุติว่าเราตัดเรื่องการนอนทิ้งไป เอาแค่ว่า 16 ชั่วโมงที่เราตื่นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทำงาน มันก็เป็นเรื่องของการหาสิ่งมาบำรุงเลี้ยงร่างกายทั้งสิ้น เราใช้เวลาไปกับการกินอาหารวันหนึ่งก็ 2-3 ชั่วโมง อันนี้รวมถึงเวลาที่ใช้ไปกับการหาของมากินด้วย หรือว่าการปรุงอาหารเราใช้เวลาเป็นชั่วโมงในแต่ละวัน สำหรับการเข้าห้องน้ำก็เป็นการชำระกาย
แต่ว่าเราให้เวลากี่มากน้อยสำหรับการชำระใจ แม้แต่การถ่ายหนักถ่ายเบาก็เป็นเรื่องของการเอาของเสียจากร่างกายออกไป แต่ว่าเราให้เวลากับการชำระสิ่งที่เป็นพิษในจิตใจออกไปกี่มากน้อย เดี๋ยวนี้เราก็ให้เวลากับงานการเยอะมาก 8-9 ชั่วโมงหรือบางทีก็ 10 ชั่วโมงด้วยซ้ำ เราทำงานเพื่อจะได้มีเงิน แต่เงินที่ได้มา เราใช้ไปกับเรื่องอะไร ก็เป็นเรื่องของการบำรุงกายหรือบางทีก็เป็นการปรนเปรอกายด้วยซ้ำ อาหาร เสื้อผ้า บ้านเรือน รถยนต์ โทรทัศน์ หรือว่าเทคโนโลยีเพื่อใช้ในความบันเทิง มันก็เป็นเรื่องของการปรนเปรอกายมาก แต่ว่าเรื่องของการบำรุงจิตใจก็เรียกว่ามีน้อย ความบันเทิงที่เราทุ่มเทเงินทองและเวลาไป บ่อยครั้งมันก็เป็นการปรนเปรอไปตามหู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่าปรนเปรอใจอยู่ก็ในสัดส่วนที่น้อยกว่าเรื่องของกายมาก
ถ้าเราพิจารณาดูในชีวิตของเราแต่ละวัน หรือตลอดทั้งปี หรือตลอดทั้งชีวิตเลยก็จะพบว่า เราให้น้ำหนัก ให้ความสำคัญกับเรื่องของกายมาก เงินทอง ข้าวของที่หามาได้ มันก็เป็นเรื่องของการบำรุงกาย ทำให้เกิดความสะดวกสบายทางกาย แต่ว่าจิตใจถูกละเลยไปไม่น้อยทีเดียว อาหารกายเราเสพเยอะมาก แต่อาหารใจเรามีน้อย เราพักกายวันหนึ่งหลายชั่วโมง แล้วพักใจมีบ้างหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นความไม่สมดุลระหว่างกายกับใจซึ่งมันก็ทำให้เกิดปัญหากับผู้คน เพราะว่า พอไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจ คนก็เลยมีความทุกข์ มีความเครียด มีความวิตกกังวล มีความกลัดกลุ้มใจมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ในบ้านหรู มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีเสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพงสวมใส่ แต่ว่าข้างในใจอ่อนล้าหรือว่าพร่องความสุข รวมทั้งพร่องความสงบด้วย
เพราะฉะนั้นการสร้างความสมดุลระหว่างกายกับใจ มันเป็นเรื่องพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ถ้าเราพิจารณาต่อไป เมื่อเราจะให้ความสำคัญกับจิตใจมากขึ้น เราก็ต้องคำนึงถึงความสมดุลอีกคู่หนึ่ง ใจประกอบไปด้วยเหตุผลหรือความคิดส่วนหนึ่ง กับอารมณ์และความรู้สึกอีกส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความสมดุลกัน ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ระหว่างความคิดกับความรู้สึก คนสมัยนี้ เรื่องของเหตุผลเรียกว่ามีความฉลาดมากในการคิด ในการไตร่ตรอง ในการหาเหตุผล มีความรู้มากขึ้น รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี แต่บ่อยครั้งไม่สามารถจะทำในสิ่งที่เรารู้ว่าดีได้ เพราะอะไร เพราะใจไม่คล้อยตาม หรือว่าใจไม่มีพลังพอที่จะทำตามอย่างที่เหตุผลหรือความคิดบอกเรา
หลายคนรู้ว่าเหล้าไม่ดี บุหรี่ไม่ดี แต่ว่าจิตใจก็อ่อนแอ ไม่สามารถที่จะบังคับจิตให้ห่างไกลจากบุหรี่ ยาเสพติดได้ จิตใจอ่อนแอ ทั้งๆที่ถ้าจะให้แจกแจงว่าบุหรี่มีโทษอย่างไร เหล้ามีโทษอย่างไร ก็พูดได้ รวมถึงอบายมุขอย่างอื่นด้วย เช่น เล่นหวย หลายคนติดหวย ทั้งๆที่รู้ว่า หวยมันสิ้นเปลืองมาก แทงหวยไปกับที่จะได้กลับมานี่ มันน้อยกว่าที่เสียไปมาก หรือว่าเล่นการพนัน ก็สร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง แล้วก็สร้างปัญหาให้กับครอบครัวเพราะว่าหมดเงินไปเพราะการพนัน เป็นหนี้เป็นสิน จนกระทั่งบางทีต้องเอาข้าวของในบ้านไปจำนำไปขายเพื่อที่จะได้มีเงินมาเล่น รู้ก็รู้ว่ามันไม่ดีแต่ก็ห้ามใจไม่ได้
เมื่อเร็วๆนี้ มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟัง น้องสาวอยู่เมืองนอก ทำมาค้าขาย ทำได้เจริญมาก ได้เงินมาสะสมเป็นร้อยล้าน แต่ว่าภายในเวลาสองสามปีก็หมด เพราะว่าติดพนัน เป็นผู้หญิงด้วย ติดพนัน เจ้าตัวก็รู้ว่ามันไม่ดี เล่นแล้วก็มีแต่เสีย แต่ว่าก็ห้ามใจไม่ได้ มีคำพูดว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้ “รู้” คือรู้ด้วยความคิด ใช้เหตุใช้ผล จำแนกแยกแยะได้ว่าอบายมุขมีโทษมากกว่าคุณ จะไปแนะนำลูกก็แนะนำได้ แนะนำเพื่อนก็แนะนำได้ แต่ว่าห้ามใจตัวเองไม่ได้ เรียกว่าจิตใจอ่อนแอ เลยพ่ายแพ้ต่อกิเลส บางคนก็รู้ว่าติดเกมออนไลน์ มันไม่ดี เพราะว่าเสียเวลาไปกับมัน จนไม่เป็นอันทำงาน มีบางคนเล่นจนถูกไล่ออกจากงาน แต่เสียใจประเดี๋ยวเดียวก็กลับมาเล่นใหม่ กลับบอกว่าเออดีเหมือนกัน เล่นทั้งวันทั้งคืน รู้ทั้งรู้ว่ามันเสียสุขภาพ ถ้าไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่ทว่าห้ามใจไม่ได้
ในประเทศเกาหลี มีอยู่คนหนึ่งถูกไล่ออกจากงาน แทนที่จะเสียใจกลับดีใจ กลับบ้านมาเล่น Non stop เลย 36 ชั่วโมง เล่นเกมจนตายคาเครื่องเลย หัวใจวายเพราะไม่ได้พัก กินก็กินหน้าเครื่อง แล้วก็ไม่ได้นอน ที่ตายเพราะว่าติดเกมนี่มีเยอะ
ไม่ใช่ว่าเสียหายเพราะว่างานการไม่ทำ หรือว่าบ้านเรือนไม่รับผิดชอบ มีบางรายติดเกมจนกระทั่งปล่อยให้ลูกตาย เพราะว่าไม่ได้ให้อาหาร ไม่ได้ให้นมลูก ศาลตัดสินจำคุกเลยทั้งพ่อทั้งแม่ อันนี้เรียกว่าเหตุผลกับอารมณ์ หรือความคิดความรู้สึก มันไม่ได้ไปด้วยกัน เรียกว่าไม่สมดุล มองในอีกแง่หนึ่งก็คือจิตใจอ่อนแอ ขณะที่ความรู้ความคิดไปไกล มีพลังในการคิดมาก แต่ว่าจิตใจอ่อนแอ หรือบางทีเราอาจจะพูดอีกแง่หนึ่งก็ได้ว่า จิตใจถูกอารมณ์ครอบงำ โดยเฉพาะความโลภ ความหลง มันครอบงำจนกระทั่งบางทีมันกลับมาครอบงำเหตุผล ความคิด ทำให้คิดผิดเพี้ยนไปก็มี แบบนี้ก็เป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง
มีเพื่อนคนหนึ่งเขาเล่าให้ฟัง แม่อายุราว 85 ส่วนเพื่อนก็ 60 เข้าไปแล้ว แม่เขามีสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว เริ่มเป็นเบาหวาน ลูกก็พยายามควบคุมอาหารของแม่ ขอร้องว่าแม่อย่ากินอาหารประเภทหวานมาก เคยห้ามไม่ให้แม่กินข้าวเหนียวทุเรียน ขนมทองหยิบทองหยอด แม่ก็ขอร้องลูกว่า ให้แม่กินเถิด อีกไม่นานแม่ก็ตายแล้ว ลูกก็ใจอ่อนให้แม่กิน เพราะสงสารแม่ ต่อมาลูกอยากชวนแม่เข้าวัด ไปปฏิบัติธรรมเพราะว่าอายุแม่ก็มากแล้วถ้าได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรม เวลาจะตายจะได้ไม่ทุรนทุราย ทำใจได้ หรือว่าวางใจถูก ถึงเวลาจะตายก็จะได้ตายสงบ ก็ชวนแม่ไปวัด แม่ก็ผัดผ่อนโดยให้เหตุผลว่า เอาไว้วันหลังเถิด แม่ยังอยู่ได้อีกนาน พอจะกินของที่ชอบก็อ้างว่าอีกไม่นานแม่ก็ตายแล้ว แต่พอลูกชวนเข้าวัดปฏิบัติธรรม กิเลสมันไม่ชอบ ก็สรรหาเหตุผลว่าอีกนานน่ะกว่าแม่จะตาย เอาไว้วันหลังเถิด
อันนี้เรียกว่าอารมณ์ครอบงำ จนกระทั่งบิดพลิ้ว สรรหาเหตุผลสารพัดมาเพื่อที่จะตอบสนองกิเลส แสดงว่าเหตุผลหรือว่าความคิดไม่สามารถต้านทานกิเลสได้ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รู้คุณรู้โทษ พ่ายแพ้ต่ออำนาจของกิเลส กิเลสสามารถที่จะสรรหาเหตุผลมาจนกกระทั่งเราหลงเชื่อ ยอมทำตาม เกิดเป็นความไม่สมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ความคิดกับความรู้สึก มักจะเป็นปัญหากับทุกคนไม่มากก็น้อย ความคิดอย่างหนึ่ง ความรู้สึกก็ไปอีกอย่างหนึ่ง และบางครั้งอารมณ์ ความรู้สึกแรงจนความคิดต้านทานหรือเอาไม่อยู่
หรือบางครั้งคิดว่าจะทำสิ่งดีๆแต่ว่าใจไม่มีพลัง ใจมันอ่อนแอ บางทีเราก็เห็นปรากฏการณ์นี้กับลูกของเรา อยากจะให้ลูกขยันเรียน อยากให้ลูกไม่ติดเกม แต่ว่าลูกก็ทำไม่ได้ อันนี้เรียกว่าจิตใจอ่อนแอ เพราะว่าพ่ายแพ้ต่ออำนาจกิเลส คนเราถ้าไม่สามารถทำให้เกิดความสมดุลได้ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ หรือว่าความคิดกับความรู้สึก มันก็จะเป๋ ชีวิตเราก็จะเป๋ จะเอียงกระเท่เร่ไปในทางด้านของการสนองหรือปรนเปรอกิเลส ความสมดุลอย่างนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่าสมดุลระหว่างสมองกับหัวใจ รวมถึงว่า บางคนคิดดี มีความคิดฉลาดหลักแหลม แต่ว่าบางทีหัวใจแห้งแล้ง ขาดเมตตาก็มี อาจพบได้ในหมู่คนที่มีวิชาความรู้มาก คนที่เป็นหมอ คนที่เป็นวิศวกร คนที่เรียนเก่ง สมองเขามีพลังมากแล้วก็เข้มแข็งแต่หัวใจเขาอ่อนแอ ไม่มีความเมตตากรุณาหรือว่าความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ อันนี้เป็นความไม่สมดุลอีกแบบหนึ่งของสมองกับหัวใจ หรือว่าเหตุผลกับอารมณ์
อารมณ์ที่ดีก็มี ไม่ใช่ว่าอารมณ์จะเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป ความเมตตากรุณา ความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือว่าความใจเย็น หรือว่าแม้กระทั่งความสงบ ก็เป็นเรื่องของอารมณ์เหมือนกัน ที่เขาเรียกว่าอีคิว อีคิวคือการพัฒนาอารมณ์ให้มันพอฟัดพอเหวี่ยง ทัดเทียมกับเหตุผลหรือว่าความรู้ สมัยนี้เราเน้นเรื่องการพัฒนาไอคิวมาก ในโรงเรียนก็สอนแต่เรื่องของการใช้เหตุผล การคิดไวคิดเก่ง เน้นแต่ในเรื่องของการคิด แต่ว่าไม่ได้พัฒนาเรื่องของอารมณ์ ดังนั้นเด็กก็มีปัญหา พ่ายแพ้ต่อกิเลส หรือว่าไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตให้มีความสมดุลได้ แต่สมัยนี้ก็เน้นเรื่องของอีคิวมากขึ้น แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว ในโรงเรียนก็ยังเน้นแต่เรื่องของไอคิว เน้นเรื่องของการเรียนให้เก่ง โดยอาศัยการใช้ความคิด การท่อง การจำ เดี๋ยวนี้เด็กของเราเรียนกันมาก ปีละ 1,200 ชั่วโมง ก็ไม่ได้มีความสุขขึ้นเลย เอาเข้าจริงๆก็ไม่ได้มีความฉลาดขึ้น เพราะสิ่งที่เรียนไปเน้นแต่เรื่องของสมอง แต่ว่าไม่ได้พัฒนาเรื่องของหัวใจ เรื่องของอารมณ์
เรื่องความสมดุล อาจพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า สมัยนี้เน้นเรื่องการคิดเก่ง คิดเร็ว คิดไว คิดได้ทน คิดได้นาน อ่านหนังสือหนักๆได้เป็นชั่วโมงๆ หรือว่าทำงานที่ใช้ความคิดได้เป็นวันๆ แต่ว่าไม่รู้จักวิธีวางความคิดหรือว่าหยุดความคิด คิดเก่งนี่ดี แต่ว่าจะต้องมีอีกอย่างหนึ่งที่คู่กันเรียกว่ารู้จักหยุดคิด วางความคิดได้ เพราะว่าถ้าคิดเก่ง บางทีมันคิดไม่หยุด คนเดี๋ยวนี้เลยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ จิตใจฟุ้งซ่าน เพราะสมองคิดไปเรื่อย ไม่หยุด คิดสารพัด บางทีคิดหลายๆเรื่องพร้อมๆกัน แต่ว่าไม่สามารถที่จะหยุดความคิดได้ เหมือนกับรถยนต์ที่เครื่องแรง ขับเคลื่อนได้เร็ว แต่มันไม่มีเบรก รถยนต์ ไม่ว่าคันไหน ยี่ห้อไหน ราคาแพงแค่ไหน ถ้ามันมีแต่คันเร่ง แต่ไม่มีเบรก ก็คงไม่มีใครนั่ง จะนิมนต์เกจิอาจารย์ หลวงพ่อคูนมานั่ง ท่านก็คงไม่เอาเหมือนกัน ถ้ารถที่ท่านนั่งไม่มีเบรก จิตใจเราก็เป็นอย่างนั้น ก็คือว่าจิตใจเราคิดเก่ง คิดไว คิดได้นาน แต่ว่ามันหยุดคิดไม่ได้ เปรียบเหมือนกับเครื่องบิน นักบินสามารถที่จะพาเครื่องบินเหินขึ้นฟ้าได้ แต่ไม่รู้วิธีที่จะเอาเครื่องลง มันก็จะลงเอยอย่างเดียวคือ เครื่องตกแบบ crash landing ภาษาฝรั่ง ก็คือกระแทก ดังนั้นนักบินที่เก่งจะต้องเรียนรู้ทั้งวิธีเอาเครื่องบินขึ้นแล้วก็เอาเครื่องบินลง เวลาลงจะได้ลงแบบนิ่ม เรียกว่า soft landing
คนจำนวนไม่น้อยหยุดคิดไม่ได้ จนกระทั่งบ้าก็มี หรือจนกระทั่งซึมเศร้าไปเลยก็มี แล้วคนเหล่านี้ วิธีเดียวที่จะหยุดคิดได้ ก็คือฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายก็เพราะสมองมันคิดๆๆๆ คิดไม่หยุด หลับก็คิด แล้วเรื่องที่คิดมีแต่เรื่องที่แย่ๆ ร้ายๆ คิดสับสนปนเป คิดแต่เรื่องที่ทำให้เศร้าซึม พวกนี้ทรมาน กินยานอนหลับก็ไม่ได้ช่วย สุดท้ายก็มีทางเลือกทางเดียว หรือทางออกทางเดียวที่เขาคิดได้ ก็คือจบชีวิตตัวเอง มันจะได้หยุดคิด อันนี้ก็เหมือนกับเครื่องบินที่บินขึ้นฟ้าได้แต่ว่าลงไม่เป็น เพราะฉะนั้นพอจะลงก็ลงอย่างเดียว ก็คือรอจนกระทั่งน้ำมันหมด หรือปล่อยให้เครื่องโหม่ง โหม่งดิน อันนี้เรียกว่า crash landing แต่ถ้าคนที่เขาฝึกใจ ฝึกจิตไว้ดี เขาไม่เพียงแต่รู้ว่าวิธีคิด คิดอย่างไร มีวิธีคิดกี่แบบ คิดแบบสังเคราะห์ คิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ คิดแบบมีตรรกะ แต่เขารู้วิธีที่จะวางความคิดได้ ซึ่งก็จะทำให้ชีวิต มันไม่กลายเป็นทาสของความคิด เพราะความคิดพอคิดไปนานๆ มันไม่ใช่ว่าเราคิด แต่มันใช้เรา เราไม่ได้ใช้ความคิดแล้ว มันใช้เรา ถ้าเราไม่รู้จักรู้เท่าทันหรือว่ารู้จักวางความคิด หรือว่าเป็นนายความคิด อันนี้ก็เป็นความสมดุลอย่างหนึ่งที่คนสมัยนี้ขาดไป
เป็นเพราะการศึกษาก็ดี การร่ำเรียน หรือแม้แต่แรงกดดันในการทำงาน รวมทั้งวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ มันกระตุ้นให้เราเห็นความสำคัญของการคิด นอกจากคิดเก่งแล้ว ก็จะเรียนเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีๆ คณะที่มีโอกาสจะหางานทำได้ง่าย แล้วก็ได้เลือกเรียน ได้อาชีพที่ดี มีความเจริญก้าวหน้าในทางทรัพย์สินเงินทอง สถานะ ตำแหน่ง แต่ว่า เรื่องการวางความคิดให้เป็น ไม่ค่อยให้ความสำคัญกันเท่าไร ทั้งๆที่มันเป็นพื้นฐานของการมีชีวิตที่ผาสุก สงบเย็น แล้วที่จริงแล้ว มันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถจะคิดได้ดี คิดได้อย่างมีทิศทาง เพราะถ้าเราวางความคิดไม่เป็น มันคิดมั่วไปหมด คิดวกวน เพราะวางความคิดไม่ได้ แล้วก็สมองก็จะล้าเพราะคิดไม่หยุดสักที นอนก็นอนไม่หลับ ตื่นขึ้นมาความคิดจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เพราะว่าฝันตลอด อันนี้เป็นความสมดุลที่เราต้องทำให้มีขึ้นกับจิตใจของเราด้วย
ยังมีความสมดุลอีกหลายอย่างที่มีความสำคัญ เช่นเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจ เห็นว่าการพัฒนาอารมณ์ เป็นเรื่องสำคัญ เราก็เลยมาวัด มาปฏิบัติธรรม เอาธรรมมาเป็นเครื่องช่วยควบคุมจิต พัฒนาอารมณ์ แต่ธรรมก็ต้องมีความสมดุลเหมือนกัน เช่น ต้องมีความสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา ความสมดุลระหว่างวิริยะกับสมาธิ สี่ตัวนี้ เขาเรียกว่าอินทรีย์ อินทรีย์มี 5 แบ่งเป็น 2 คู่ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ถ้าศรัทธามากไปแม้จะเป็นศรัทธาที่ดี ก็อาจจะงมงาย หรือว่าลุ่มหลงได้ ต้องมีปัญญา แต่ถ้าปัญญามากไป ก็จะกลายเป็นขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน หรือว่าเกิดการหลงตัวลืมตนได้ง่าย ต้องมีศรัทธา เช่น อย่างน้อยศรัทธาในครูบาอาจารย์ก็ทำให้เชื่อฟัง ช่วยทำให้ไม่หลงติดในอัตตา ตัวตนมาก หรือหลงติดในความเก่งของตัว เพราะมีครูบาอาจารย์ มีกัลยาณมิตร คอยตักคอยเตือน ถ้าศรัทธาก็จะทำให้ฟัง รับฟัง แม้จะยังไม่เห็น แต่ก็ฟังเอาไว้ ก็ช่วยทำให้ไม่หลงทิศหลงทางได้
วิริยะกับสมาธิก็เหมือนกัน ถ้ามีวิริยะมากไป ใจก็ฟุ้งซ่านง่าย แต่ถ้าสมาธิมากไป มันก็ไม่อยากทำอะไร อยากจะสงบอย่างเดียว แม้ว่าธรรมะเป็นของดีแต่ว่ามันก็ต้องมีความพอดีเหมือนกัน หรือว่าเวลาเราทำงาน เราใช้ชีวิต มันก็ต้องมีสมดุลระหว่างการทำงานกับการพักผ่อน ทำแต่งาน ไม่พักเลย มันก็ไม่ได้ หรือว่าพักอย่างเดียวเลยไม่ทำ ก็ไม่ได้เหมือนกัน มีความสมดุลระหว่างงานกับสิ่งอื่น ๆอีก เช่นงาน ครอบครัวและสุขภาพ อันนี้เป็นสามสมดุล ไม่ได้มีแค่สอง บางทีต้องมีความพอดีระหว่างสิ่งสามสิ่งที่สำคัญทั้งนั้น งานก็สำคัญ ครอบครัวก็สำคัญ ทำงานจนลืมครอบครัวก็ไม่ได้ หรือว่าทำงาน คำนึงถึงครอบครัวแต่ว่าไม่คำนึงถึงสุขภาพก็ไม่ได้
สุขภาพ ก็ต้องมีความพอดีระหว่างสุขภาพกายกับสุขภาพใจ ในชีวิตเรามีสมดุลที่ต้องคำนึงหลายอย่าง แต่อย่างน้อยๆที่เป็นพื้นฐานคือ ความสมดุลระหว่างกายกับใจ แล้วใจเองก็ต้องมีความสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ความคิดกับความรู้สึก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คิดเก่ง คิดไวก็ดีแล้ว แต่ต้องมีความสามารถในการวางความคิดได้ หยุดความคิดได้ ซึ่งเป็นเรื่องของสติ เรื่องของสมาธิ ที่จริงเรื่องของกายก็ยังมีสมดุลที่ต้องคำนึงนะ ระหว่างการกินกับการออกกำลังกาย การเสพ การกิน เป็นเรื่องการสร้างพลังงานให้เกิดขึ้นในร่างกาย มีพลังงานมาก แต่ไม่ใช้ ไม่ออกกำลังกาย มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน กินมากแต่ไม่ออกกำลังกาย สร้างความทุกข์ให้กับผู้คนมากมาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บ โรคอ้วน โรคหัวใจ เพราะว่ากินมากแต่ว่าไม่ได้ใช้พลังงานที่มี ในทางตรงข้าม ถ้าใช้พลังงานมาก แต่ว่าไม่กินเลย หรือว่ากินน้อย มันก็มีปัญหาเหมือนกันคือผอม คนสมัยก่อนมีปัญหาคือใช้พลังงานมาก แต่ว่าการกินน้อย คนสมัยนี้เป็นอีกแบบหนึ่งคือกินมาก แต่ว่าใช้พลังงานน้อย ทำให้อายุสั้นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพิจารณาดูดี ๆว่าร่างกายของเรา จิตใจของเรา มันต้องการความสมดุล
ชีวิตของเราเป็นเรื่องของการคำนึงถึงความสมดุล ซึ่งมันมีหลายคู่ที่เราจะต้องให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นการมีสติ การมีเวลาที่จะพิจารณา รวมทั้งการมีสิ่งแวดล้อมและกัลยาณมิตรที่เกื้อกูล มันก็ช่วยให้เราสามารถที่จะรักษาความสมดุล หรือสร้างความสมดุลที่เกื้อกูลต่อชีวิต ในที่สุดก็จะพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้