แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เราทุกคน ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีแค่กายกับใจ เกิดมาก็มาพร้อมกันกายกับใจ ที่เหลือนั้นก็มาทีหลัง กายกับใจ มันเป็นสิ่งที่ต้องฝึก ศึกษาอย่างเดียวไม่พอมันต้องฝึกด้วย ฝึกทั้งกายและฝึกทั้งใจ จึงจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้
ที่เรียกว่ามนุษย์คือเวไนยสัตว์ เวไนยะคือความสามารถที่จะฝึกได้ มาจากคำว่าวินัย วินัยกับเวไนยะก็อันเดียวกัน เป็นเรื่องของการฝึกฝน วินัยของพระก็เพื่อฝึกฝนให้ชีวิตเจริญงอกงาม แต่ว่าการฝึกฝนไม่ว่าพระหรือฆราวาสก็มากกว่าสิ่งที่เรียกว่าวินัย
การฝึกกายกับใจ ดูดี ๆ มันไปกันคนละทางเลย สำหรับกาย เราฝึกเพื่อให้กายเคลื่อนไหว ขยับเขยื้อน ธรรมชาติของกาย ชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยอยากขยับเขยื้อนเท่าไหร่ ถ้าไม่ปวดไม่เมื่อย มันก็ไม่ขยับ เช่น เวลาเรานั่ง ถ้าเรานั่งแล้วไม่ปวดไม่เมื่อย เราก็อยากจะนั่งไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยอยากจะลุกเลย แต่ที่ลุก แล้วก็บิดตัวไปบิดตัวมาก็เพราะว่ามันเมื่อย เวลานอน เราก็อยากจะนอนอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งไปนาน ๆ แต่มันก็นอนไม่ได้ในท่านั้นนาน ๆ เพราะว่าปวดเมื่อยก็ต้องขยับ ธรรมชาติของกายชอบอยู่นิ่ง ๆ แต่ถ้าปล่อยให้อยู่นิ่ง ๆ ไปก็ไม่เกิดผลดีกับร่างกาย โดยเฉพาะสมัยนี้เรากินอาหารอะไรต่ออะไรเข้าไป เหมือนกับว่าเราเติมพลังงานเข้าไป แต่ไม่ได้ใช้เลย แล้วถ้าเอาแต่นั่ง ๆ นอน ๆ กลายเป็นอันตราย สิ่งที่เราเติมเข้าไปในร่างกาย แม้มันจะเป็นอาหารก็ตาม แต่พอมันกลายเป็นไขมันแล้วไม่ได้เอาไปใช้ ก็ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน แล้วก็โรคมะเร็งด้วย
ฉะนั้น ถ้าต้องการใช้ชีวิตที่ผาสุกเราก็ต้องฝึกกายให้เขยื้อนขยับ จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ เราเรียกว่าออกกำลังกาย ทำให้กายเขยื้อนขยับ เดินบ้าง วิ่งบ้าง ขี่จักรยานบ้าง หรือไม่ก็ยกน้ำหนัก ซึ่งกายไม่ค่อยชอบ เพราะธรรมชาติของกายชอบอยู่นิ่ง ๆ ถ้าไม่หิวก็ไม่ออกไปหากิน ยิ่งสมัยนี้ ไม่ต้องออกไปหากินก็ได้ เราเรียกให้เขามาส่ง แบบเดลิเวอรี่ ยิ่งสบายเข้าไปใหญ่ เด็กบางทีนั่งทั้งวันโดยที่ไม่ต้องออกไปไหนเลย หิวก็สั่งพิซซ่ามาส่งถึงบ้าน ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน วิถีชีวิตเช่นนี้กลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย เพราะฉะนั้นเขาจึงมีการรณรงค์ให้ออกกำลังกายกันให้มากขึ้น เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ กายไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ชอบเขยื้อนขยับ ก็ต้องลุ้น ต้องมีการชักชวน ฉะนั้นการฝึกกายพูดรวม ๆ โดยสรุปก็คือ ต้องทำให้กายเขยื้อนขยับ
ส่วนการฝึกใจ ธรรมชาติของใจ ชอบเที่ยว ชอบเล่น ชอบวิ่ง ไปโน่นไปนี่ ไม่ชอบอยู่นิ่ง จะออกไปข้างนอก จินตนาการไปร้อยแปด ซึ่งส่วนใหญ่ก็ถ้าไม่ไหลไปอดีตก็ลอยไปอนาคต ท่องเที่ยวอยู่ในสองโลกนี้แหละ โลกของอดีตกับโลกของอนาคต และไม่ท่องไปเปล่า ๆ เอาความทุกข์กลับมาให้เราด้วย พอท่องไปในอดีตก็นึกถึงความสูญเสีย ความพลัดพรากที่เกิดขึ้น นึกถึงความล้มเหลว นึกถึงคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าการคดโกง การทำร้ายที่ผู้อื่นกระทำกับเรา เจ็บแค้น บางทีก็นึกถึงความผิดพลาดที่ได้กระทำกับผู้มีพระคุณ ขึ้นเสียง ตวาดใส่ท่านหรือว่าไม่ได้ดูแลท่านในวาระสุดท้ายในบั้นปลายชีวิต พอท่านจากไปก็มานึกเสียใจ บางทีก็นึกตำหนิตัวเองที่ไปทำไม่ดีกับลูก ละเลยลูก หรือว่าบีบบังคับลูก จนบางทีลูกเพี้ยนไปเลย หรือว่ากลายเป็นโรคซึมเศร้า สารพัดเรื่องราวในอดีต พอนึกถึง พอท่องเที่ยวจนลืมเนื้อลืมตัวก็เกิดความเศร้า เกิดความเสียใจ หรือไม่ก็เกิดความโกรธแค้น
พอใจท่องไปในโลกของอนาคตก็วิตกกังวล งานการมากมายยังไม่ได้ทำ วิตกกังวลเรื่องลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนี้ยังไม่มีที่เรียน บางทีก็นึกไปถึงหนี้สินที่ยังไม่ได้ชำระกองโต แต่ว่าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะชำระสะสางได้หมด คิดไปแล้วบางทีก็ท้อ อยากจะฆ่าตัวตาย จิตที่ชอบท่องเที่ยว ก็นำพาความทุกข์มาให้ แม้แต่อยู่ที่นี่ ที่จริงมันก็ไม่ค่อยลำบากอะไรอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากเดินกับนั่ง แต่ว่าพอไปนึกถึงความสนุกสนานที่เคยมีเคยเสพ ถ้าอยู่บ้านป่านนี้ก็ได้นอนสบาย ได้ฟังเพลง ได้กินของอร่อย ได้อยู่กับคนรัก พอนึกแบบนี้เข้ามันก็เกิดความรู้สึกอึดอัดกับการปฏิบัติ จิตมันดิ้น อยากจะหนีออกไป กลายเป็นความทุกข์ แม้ว่าบางครั้งมันจะทำให้เกิดความเพลิดเพลินอย่างที่เขาเรียกว่าฝันกลางวัน อันนั้นก็มีอยู่ แต่บ่อยครั้งมันก็เอาความทุกข์มาให้
เราจึงต้องฝึกจิตให้รู้จักนิ่งๆก่อนเป็นการฝึกจิตที่สำคัญ ไม่ใช่ท่องเที่ยวเตลิดเปิดเปิงจนกระทั่งระหกระเหิน แล้วก็กระเซอะกระเซิงกลับมาด้วยความเหนื่อยล้า แต่กลับมาอยู่เดี๋ยวเดียวก็ไปอีกแล้ว ถ้าเราฝึกจิตให้รู้จักนิ่ง มันจะมีความสุขมาก จิตที่นิ่งเขาเรียกว่าเป็นจิตที่สงบสุข แต่ว่าจิตไม่ค่อยอยากจะนิ่งสักเท่าไหร่ มันจะดิ้นรนขัดขืนที่จะท่องเที่ยว เราก็ต้องรู้จักตะล่อมให้นิ่ง ให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่จิตนิ่งเพราะว่าพึงพอใจในการอยู่กับปัจจุบัน พึงพอใจกับการอยู่กับเนื้อกับตัว อันนั้นคือความสุข แล้วมันก็จะตัดที่มาแห่งความทุกข์ต่าง ๆ นานาไปได้เยอะ ไม่ว่าความโกธร ความเศร้า ความรู้สึกผิด ความวิตกกังวล หรือว่าความโลภที่คอยนึกอยากได้สิ่งที่ยังไม่มี เห็นคนอื่นเขามีกันก็อยากได้ จิตมันไปแล้ว การฝึกจิตให้นิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
สมัยนี้เรามัวแต่ฝึกจิตให้คิดเก่ง คิดได้สารพัด จินตนาการต่างๆซึ่งอันนี้ก็มีประโยชน์ แต่ว่า พอส่งเสริมให้มันคิด ๆๆ ปรากฎว่ามันคิดไม่หยุด มันท่องเที่ยวไปเรื่อย ถึงเวลาจะนอนก็นอนไม่หลับเพราะมันเอาแต่คิด ถึงเวลาจะพักผ่อนก็พักผ่อนไม่ได้เพราะยังคิดไปถึงงาน คิดไปถึงอะไรต่ออะไรมากมาย
การภาวนาคือการฝึกจิตให้รู้จักนิ่ง ซึ่งมันเป็นการสวนกับธรรมชาติของจิต ธรรมชาติที่เราก็ไปช่วยสร้างไปช่วยเสริมให้มันเป็นหนักขึ้นจนกระทั่งเป็นนิสัยที่แก้ได้ยาก แต่ก็ยังเป็นนิสัยที่แก้ได้ เราจะทำให้จิตนิ่งทำให้จิตอยู่กับเนื้อกับตัวได้อย่างไร หลายคน พอถึงเวลาจะทำจิตให้นิ่งก็พยายามบังคับจิต เช่น บังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจบ้าง บังคับจิตให้อยู่กับมือที่กำลังยก บังคับจิตให้อยู่กับเท้าที่กำลังเดินบ้าง การทำอย่างนั้นยิ่งทำให้จิตต่อต้าน ขัดขืน เพราะเขาจะรู้สึกว่ากายกลายเป็นคุก พอเขารู้สึกว่ากายกลายเป็นคุกเพราะถูกบังคับให้อยู่ เขาก็จะต่อสู้ เขาก็จะขัดขืน ก็เหมือนกับเด็กวัยรุ่น ถ้าพ่อแม่บังคับเขาให้อยู่บ้าน เขาจะรู้สึกทันทีว่าบ้านคือคุก แล้วพอคิดว่าบ้านคือคุกแล้วเขาก็พยายามหนี เด็กวัยรุ่นที่ใจแตกที่ชอบเที่ยว ไม่อยู่ติดที่ แล้วพ่อแม่ก็กลุ้มใจว่าทำไมลูกไม่ค่อยอยู่บ้าน พยายามบังคับลูกให้อยู่บ้าน ลูกก็ยิ่งเตลิด เหตุผลหนึ่งก็เพราะเขารู้สึกว่าบ้านคือคุก มีแต่การบังคับ
จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไปบังคับเขา บังคับให้อยู่กับกาย เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นคุก แล้วเขาก็จะพยายามหนี แล้วพอเห็นจิตหนี ก็ยิ่งบังคับเข้าไปใหญ่ คราวนี้จิตอาละวาดเลย หลายคนพอพยายามบังคับจิตให้อยู่นิ่ง ๆ ไม่ให้ฟุ้ง ไม่ให้คิด จะเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก ปวดหัว หรือว่าหายใจไม่ค่อยสะดวก บางทีก็ปวดหลัง ถ้าเดินมาก ๆ ก็ปวดขา อาการพวกนี้ อาจจะไม่ใช่เพราะว่าใช้กายมาก แต่เป็นเพราะว่าไปบังคับจิต จิตก็เลยต่อสู้ขัดขืน มันก็เลยพยศ บางทีบังคับให้มันหยุดคิด ก็พอได้ กลางวันแทบจะไม่ค่อยได้คิดเท่าไรเพราะเราพยายามบังคับมัน แต่พอเราเผลอเมื่อไหร่ เช่น เวลากลางคืนจะนอนมันก็พรั่งพรูออกมาจนนอนไม่หลับ หรืออาจจะหลับ มันก็มาโผล่ในความฝัน ฝันร้อยแปด เหมือนกับว่ามันพยายามต่อสู้ขัดขืน ยิ่งบังคับไม่ให้มันคิด มันก็ยิ่งคิดเข้าไปใหญ่
ธรรมชาติของจิตก็แปลก ยิ่งบังคับยิ่งต่อต้าน ยิ่งบังคับไม่ให้คิดยิ่งคิด ยิ่งบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ ยิ่งวิ่ง ยิ่งเตลิด ยิ่งเที่ยว ยิ่งวิ่งหนีเข้าไปใหญ่ ต้องทำให้กายนี้เป็นบ้านที่ทำให้จิตอยากจะมาอยู่ วิธีการก็คืออย่าไปบังคับเขา อนุญาตให้เขาให้จิตมีอิสระที่จะมาแล้วก็ไปก็ได้ แม้เราจะไม่ชอบให้จิตมันไป ไม่อยากให้จิตออกจากเนื้อจากตัว แต่ถ้าไปบังคับเขาก็ยิ่งเกิดผลเสีย
บ้านคือที่ ๆ เรามีอิสระที่จะเข้าจะออก มีลูกมีหลาน อยากให้ลูกเรามีความรู้สึกว่านี้คือบ้าน ก็หมายความว่าต้องให้เขามีอิสระที่เขาจะมา แล้วจะไปก็ได้ เป็นที่ ๆ เขาได้รับความรัก ได้รับความอบอุ่น ได้รับความเข้าใจ ไม่ใช่อยู่บ้านมีแต่ถูกดุถูกด่า ถูกบังคับให้ฟัง บางทีเราก็ทำแบบนั้นกับจิตใจของเรา บังคับจิต พอจิตฟุ้งก็ไปต่อว่าเขา มีความรู้สึกโมโหเวลาจิตฟุ้ง ต้องทำใจเย็น ๆ จิตมันจะฟุ้งไป คิดไปกี่เรื่องกี่ราว เราก็อย่าไปโกธรเขา อย่าไปหงุดหงิดใส่เขา รู้ตัวเมื่อไหร่ก็กลับมา จะฟุ้งไปกี่เรื่องกี่ราวก็ไม่ไปโกธรไม่หงุดหงิดใส่เขา เราต้องใช้วิธีที่นุ่มนวล ถ้าเราทำอย่างนั้น เขาก็จะรู้สึกว่ากายนี้คือบ้านที่เขาอยากจะกลับมา เขาก็จะกลับมาบ่อย ๆ แต่เราก็ต้องมีการชักชวนเขาให้กลับมา
บางทีการฝึกจิตนี้เปรียบได้อีกอย่างหนึ่งเหมือนกับการฝึกหมา ฝึกลูกหมา เราอยากจะให้มันอยู่บ้าน แต่ว่าลูกหมาก็ชอบวิ่งออกไปเที่ยวนอกบ้าน เราก็ห่วงเพราะนอกบ้านอาจจะมีรถมาชน หรือไปแล้วจะไม่กลับมาเพราะหลง หรือว่ามีคนเห็นว่าเป็นหมาน่ารักก็ขโมยไปเลย เราอยากให้เขาอยู่ที่บ้านแต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยชอบอยู่ เขาชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยเฉพาะเวลามีเสียงหมาเห่าข้างนอกเขาก็อยากจะไป บางทีก็เดินตาม มีคนเดินผ่านหน้าบ้านหมาน้อยก็เดินตาม วิ่งตาม เพราะเห็นเป็นเรื่องแปลก หรือเพราะว่าคนนั้นดูท่าทางเป็นมิตร ทีนี้เราซึ่งเป็นเจ้าของ เราทำยังไงถึงจะให้เขาอยู่บ้าน บางคนก็ใช้วิธีมัด ใช้วิธีล่าม ใช้วิธีขังเอาไว้ ก็ได้ผลเร็ว เพราะว่าพอทำปุ๊บ มันก็ไปไหนไม่ได้ แต่ว่าปัญหาก็จะตามมา เช่น พอขังบ่อย ๆ ล่ามนาน ๆ หมาก็จะหงุดหงิด หัวเสีย ถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ โตขึ้นก็เป็นหมาก้าวร้าว เอาแต่เห่าอยู่นั่นแหละ หรือไม่เช่นนั้นพอเชือกหลุด โซ่หลุด มันก็ไปเลย เรียกว่าได้ผลระยะสั้น แต่ระยะยาวก็มีปัญหา
อีกวิธีหนึ่งก็คือปล่อยมัน ปล่อยให้มันอยู่บ้านก็ได้ มันจะวิ่งก็ได้ ออกไปข้างนอกก็ได้ แต่ว่าหน้าที่เราคือเรียกมัน คอยเรียกมันบ่อย ๆ มันวิ่งไปก็เรียกมัน วิ่งไปไกลแค่ไหนก็เรียกมัน ใหม่ ๆ ก็ใช้เวลานานกว่าจะเรียกมันกลับมา เพราะว่ายังไม่คุ้นไม่เคย แต่ว่าพอเราเรียกบ่อย ๆ เราไม่เบื่อที่จะเรียก เขาก็จะรู้ว่าที่ทางของเขาคือบ้าน เขาก็จะค่อย ๆ กลับมา กลับมาบ่อย ๆ เขาก็จะรู้ว่านี่คือที่ ๆ เขาควรจะอยู่ แล้วต่อไปเขาก็จะเริ่มเชื่อง แล้วก็จะเริ่มอยู่ติดที่ มีบางครั้งบางคราวอาจจะเผลอวิ่งออกไปข้างนอก ได้ยินเสียงหมาเห่า อยากไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ไปประเดี๋ยวเดียวก็กลับมาเพราะว่านึกขึ้นมาได้ว่าเราต้องอยู่บ้าน อยู่บ้านสบายกว่า สุดท้ายหมาน้อยก็จะกลายเป็นหมาที่เชื่อง พอใจที่จะอยู่บ้าน มีอิสระที่จะไป แต่เลือกที่จะอยู่
ในการฝึกจิตของเราก็คล้าย ๆ แบบนี้ โดยเฉพาะการฝึกแบบหลวงพ่อเทียน ซึ่งไม่มีการบริกรรม ไม่มีการนับ ไม่มีการบริกรรมหรือการนับหรือกำหนดเป็นคำพูด ซึ่งเป็นอุบายในการที่จะดึงจิตให้อยู่กับที่ คล้าย ๆ กับเป็นการล่ามเอาไว้เหมือนกัน แต่ว่าของหลวงพ่อเทียน การปฏิบัติท่านไม่มีการบริกรรม ไม่มีการกำหนดเป็นคำพูดอะไรทั้งสิ้น แล้วก็ไม่มีการบังคับด้วย เป็นการเปิดอนุญาตให้จิต ทำอะไรได้อิสระ แต่ถ้าเกิดจิตเผลอ คิดไปโน่นคิดไปนี่ก็พยายามเรียกกลับมา
ใหม่ ๆ ก็มีวิธีการเชิญชวนให้อยู่กับกายด้วยการให้รู้สึกอยู่กับกายก่อน เวลายกมือก็ให้รู้สึก เวลาเดินก็ให้รู้สึก คำว่ารู้สึกหมายถึงรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว รู้สึกว่ามือกำลังยก เท้ากำลังย่าง แต่ไม่ต้องรู้ละเอียด รู้ว่ากายเคลื่อนไหวก็พอ ให้รู้แค่กายก่อน อย่าเพิ่งไปดูจิต ถึงแม้ว่านั่นคือสิ่งสำคัญ แต่ว่าถ้าไปเผลอไปดูจิตตั้งแต่แรก ไปเห็นอารมณ์ ไปเห็นความโกธร ไปเห็นความรู้สึกผิด ไปเห็นความวิตกกังวล มันจะไม่ใช่แค่เห็น มันกระโจนเข้าไปเลย เพราะว่าอารมณ์เหล่านี้รวมทั้งความคิดด้วย มันมีแรงดึงดูดมาก มันดูดเข้าไปเลย ดูดจิตเข้าไปเลย
เพราะฉะนั้น ใหม่ ๆ อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด อย่าเพิ่งไปสนใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น ให้แค่มารู้กายก่อน ให้รู้กาย และก็เป็นการรู้แบบอิสระ หมายความว่าไม่ใช่บังคับให้รู้ แต่ให้รู้เอง ที่จริงการเคลื่อนไหวของกาย หรือความรู้สึก เมื่อมือเคลื่อนไหว เมื่อเท้าหรือขากำลังเขยื้อนขยับ เวลาเราเดินจงกรมสร้างจังหวะใจลอย คิดไปสี่ห้าเรื่องแล้ว สักพักก็จะรู้สึกว่ามือเคลื่อนไหวหรือว่าขากำลังเขยื้อนขยับ ตรงนี้แหละเป็นเหมือนเสียงเรียกที่ทำให้จิตได้สติกลับมารู้สึกตัว กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว เราไม่ได้เรียกด้วยคำพูด แต่ใช้ความรู้สึกของกาย เป็นเสมือนเสียงเรียกให้จิตที่เผลอกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ลองสังเกตดูใจ มันคิดไปกี่เรื่องกี่ราว พอรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว รู้สึกว่ามือเขยื้อนขยับ รู้สึกว่าตัวกำลังเดิน เขาจะเริ่มได้สติ แล้วจิตก็จะกลับมาอยู่กับกาย อยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา อันนี้เราเรียกว่าใช้วิธีที่นุ่มนวล เป็นการเชิญชวนให้เขากลับมาอยู่นิ่ง ๆ กลับมาอยู่กับกาย เอากายเป็นบ้าน ซึ่งก็คือเอาปัจจุบันเป็นบ้านนั่นเอง
เพราะว่าการฝึกเจริญสติก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันอาจจะเป็นกายที่กำลังเคลื่อนไหว อาจจะเป็นกายที่กำลังทำงาน เช่น ถึงแม้เราไม่ได้สร้างจังหวะ ไม่ได้เดินจงกรม เรากำลังถูฟัน ล้างหน้า ตอนนั้นคือปัจจุบัน ใจก็อยู่กับปัจจุบัน ตัวอยู่ไหนใจอยู่นั่น นี่คือหลักการเจริญสติง่าย ๆ ทำอะไรก็ตามถ้าตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น นั่นแหละเป็นความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ถือหลักง่าย ๆ แบบนี้
ตัวอยู่ห้องนอน ใจก็อยู่ที่ห้องนอนด้วย ตัวอยู่วัด ใจก็อยู่วัด เวลาทำงาน ขับรถไปทำงาน ตัวอยู่ที่รถ ใจก็อยู่ที่รถด้วย ไม่ใช่ไปอยู่ที่ทำงาน ไม่ใช่ใจไปอยู่ที่สัญญาณไฟจราจร บางคนพอไปจดจ่อที่สัญญาณไฟ มันก็เลยหงุดหงิดว่าเมื่อไหร่มันจะเปลี่ยนจากแดงเป็นเขียวสักที อีกตั้งนานตั้ง 120 วินาที อีกตั้ง 110 วินาที ถ้าเราดึงจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว พอพาใจมาอยู่ที่รถ กายอยู่ที่รถ เราก็พบความหงุดหงิด มันก็คลี่คลายลงไป อย่าไปคิดว่าการเจริญสติมันมีแค่ยกมือสร้างจังหวะ มีแค่เดินจงกรม เวลาเราอาบน้ำเราก็เจริญสติได้ เวลาเราล้างจานเราก็ล้างจานอย่างมีสติได้ เวลาเรากินข้าวเรากินข้าวอย่างมีสติได้ ก็คือใจอยู่กับปัจจุบัน ใจอยู่กับเนื้อกับตัว
การฝึกเจริญสติ เราไม่ได้ดูความก้าวหน้า วัดว่าใจมันฟุ้งแค่ไหน แต่เราดูว่าเรารู้ทันเพียงใดต่างหาก มันจะฟุ้งไปกี่ครั้งก็รู้ทันทุกครั้ง แล้วก็รู้ทันไวขึ้น ๆ บางคนไปเข้าใจว่าการเจริญสติ ความก้าวหน้าวัดตรงที่ว่าใจมันฟุ้งน้อยลง หรือใจไม่คิดเลย อันนั้นไม่ใช่ เพราะว่าบางทีใจไม่คิดก็เพราะไปบังคับมันเอาไว้ แต่เราวัดกันตรงที่ว่า เมื่อมันเผลอแล้วรู้ทันไว รู้ทันเร็วแค่ไหน เพราะสติแปลว่าความระลึกได้ ความระลึกได้ ระลึกได้ในที่นี้หมายถึงว่าระลึกได้ไว ใจลอยก็เพราะลืมตัว แต่พอนึกขึ้นมาได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ กำลังสวดมนต์อยู่ กำลังยกมือสร้างจังหวะอยู่ กำลังเดินจงกรมอยู่ กำลังถูฟันอยู่ กำลังกินข้าวอยู่ ความระลึกได้ก็คืออย่างนี้ ที่ถ้าเราทำบ่อย ๆ จะทำให้สติมีกำลัง แล้วสติก็จะช่วยทำให้ใจอยู่เป็นที่เป็นทาง ถึงเวลาคิดก็คิดอย่างมีสติ ไม่คิดวกวน มีทิศทางในการคิด เหมือนกับเรือที่มีหางเสือ ถ้าเรือไม่มีหางเสือบางทีเรือมันก็วนไปวนมา
ความคิดเราบางทีมันก็วนไปวนมา ถึงแม้ว่าจะคิด ๆ ๆ แต่ว่าเป็นการคิดที่ไม่มีคุณภาพเลย เพราะมันคิดวกไปวนมา แต่ถ้าเราคิดอย่างมีสติ มันก็จะคิดอย่างมีทิศทาง แล้วถึงเวลาที่จะหยุดคิดเราก็วางความคิดได้ง่าย เวลาเผลอตัวเพราะมีอารมณ์เกิดขึ้น เช่น ความโกธร ความเศร้า ทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นเพราะเราเผลอ เพราะเราลืมตัว ให้สังเกตหรือว่าให้ตระหนักเอาไว้ แต่พอเรารู้ตัวเมื่อไหร่หรือว่าเกิดความระลึกได้ขึ้นมาเมื่อไหร่ อารมณ์ที่มารบกวนจิตใจก็จะหายไป เพียงแค่ความระลึกได้ เพียงแค่ความรู้ทัน ก็ทำให้อารมณ์เหล่านี้มันจางหายไป ไม่ต้องไปทำอะไรกับอารมณ์ ไม่ต้องไปกดข่มมัน
เคยมีคนถามหลวงปู่ดุลย์ อตุโลว่า หลวงปู่ทำยังไงถึงจะตัดความโกธรให้ขาด หลวงปู่ตอบว่า ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน รู้ทันแล้วก็ดับไปเอง มันดับไปเองเพราะอะไร เพราะว่ามีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น เป็นเพราะความไม่รู้สึกตัว ความลืมตัว มันจึงได้ช่องให้อารมณ์เข้ามาครองใจ แต่พอรู้ตัวพอรู้ทัน มันก็หายไป เหมือนกับฟืน เหมือนกับกองไฟ มันไม่ยอมดับเพราะว่าเราไปเติมฟืนให้มันอยู่บ่อย ๆ การที่หลงเข้าไปในอารมณ์หรือว่าครุ่นคิดถึงแต่เรื่องที่ทำให้เราโกธร ก็คือการเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน แต่พอเรามีสติ วางความคิด ไม่พลัดเข้าไปในอดีต ไม่ไปนึกถึงเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ก็เหมือนกับว่าไฟกองนั้นไม่มีคนเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน แล้วมันก็จะดับไปเอง ไฟมันดับไปเองทุกครั้งถ้าเราไม่ไปเติมอะไรให้มัน แต่ที่มันลุกเพราะเราไปเติมอยู่บ่อย ๆ ก็คือการที่นึกถึงมันบ่อย ๆ การนึกถึงอะไรก็ตามก็คือการเติมเชื้อเติมฟืนให้มัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ทำให้เศร้า ทำให้โกธร ทำให้โมโห ทำให้เจ็บปวด ทำให้ท้อแท้ก็ตาม แล้วที่นึกถึงมันเพราะอะไร เพราะลืมตัว เพราะไม่มีสติ เพียงแค่รู้ตัว รู้ทัน หรือว่ามีความรู้สึกตัวขึ้นมา จิตก็กลับมาเป็นปกติได้ เป็นการรู้แบบรู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อเทียน ท่านเน้นให้รู้ซื่อ ๆ รู้ว่าคิดก็แค่รู้ว่าคิด ไม่ต้องทำอะไรกับมัน
คำว่าเฉย ๆ หรือซื่อ ๆ หมายความว่าไม่ต้องไปกดข่มมัน ไม่ต้องไปผลักไสมัน หรือไม่ต้องไปเคลิ้มคล้อยหลงใหลไปกับมัน ถ้าเป็นอารมณ์สุขก็แค่ดูมันเฉย ๆ แค่รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปร่วมวงกับมัน ถ้าเป็นความโกธร เป็นความโมโห เป็นความเศร้า ก็รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปกดข่มมัน ไม่ต้องไปทะเลาะกับมันด้วยซ้ำ มีเสียงดัง เราก็รู้เฉย ๆ ไม่ต้องไปทะเลาะกับมัน หลวงพ่อชาท่านบอก โยมไปคิดว่าเสียงมารบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากไปรบกวนเสียง คือเราไปทะเลาะกับมัน ไม่ใช่แค่ได้ยินเฉย ๆ แต่ว่าไปทะเลาะกับมัน ไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน เสียงดังเราก็แค่รู้เฉย ๆ สักแต่ว่ารู้ มันก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความโกธร
จิตแค่อยู่นิ่ง ๆ แค่รับรู้เฉย ๆ ทุกอย่างก็จะราบรื่น แต่จิตไม่ชอบอยู่เฉย ๆ มันชอบไปโรมรันพันตู ชอบไปต่อล้อต่อเถียงกับเสียงที่ได้ยิน กับความร้อนที่มากระทบกาย กับความเจ็บที่เกิดขึ้นที่ขาที่เท้า มันชอบไปทะเลาะ มันชอบไปผลักไส เสร็จแล้วมันก็ถูกเวทนา ถูกความปวด ความเมื่อยดูดกลืนเข้าไป แทนที่จะรู้เฉย ๆ แทนที่จะเห็นเฉย ๆ ก็เข้าไปเป็นผู้เป็น หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดเสมอว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น เห็นเวทนา เห็นความปวดความเมื่อย อย่าเข้าไปเป็นผู้ปวดผู้เมื่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเห็น เข้าไปเป็นเลย แทนที่จะเห็นความโกธร อ้าวเป็นผู้โกธรไปซะแล้ว ที่เป็นผู้โกธรเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะจิตมันอยากจะเข้าไปผลักไสความโกธร จะเข้าไปกดข่ม ก็เลยถูกมันดูดไปเลย ถ้าจิตอยู่เฉย ๆ อยู่นิ่ง ๆ อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับตัวรู้เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรมัน แค่ดูเฉย ๆ ก็ไม่มีอะไร ทุกอย่างก็จะกลับมาเป็นปกติ
ฉะนั้น การรู้เฉย ๆ สำคัญมากที่จะต้องฝึกอยู่บ่อย ๆ ฝึกให้มันเป็นนิสัย ใจมันฟุ้งก็รู้เฉย ๆ ไม่ต้องหงุดหงิดกับความฟุ้ง ถ้าไปหงุดหงิดกับมัน มันก็จะฟุ้งไม่เลิก เพราะว่าพอหงุดหงิดกับมัน ก็จะเผลอไปกดข่มมัน พอเผลอไปกดข่มมันก็ถูกมันเล่นงานเลย มีคนหนึ่งพูดไว้ดีว่า อะไรที่ผลักไสจะคงอยู่ อะไรที่ตระหนักรู้จะหายไป ยิ่งผลักไสยิ่งกดข่มมันก็ยิ่งอยู่ก็ยิ่งดื้อยิ่งด้านยิ่งรบกวนรังควาญหนักขึ้น แต่ถ้าเพียงแค่ตระหนักรู้ มันก็จะหายไป ให้ใช้โอกาสนี้แหละฝึก ฝึกดู รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ