แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรม เปรียบเหมือนยา จึงมีคำอีกอย่างหนึ่งที่เราคุ้นกันว่า ธรรมโอสถ โอสถคือธรรม ที่ว่าธรรมเป็นยา ก็เพราะว่าช่วยบรรเทาความทุกข์ แต่ไม่ใช่ทุกข์กายเหมือนยาทั่วไป บรรเทาความทุกข์ใจ ธรรมโอสถก็เช่นเดียวกับยาที่รักษากาย เหมือนกันอย่างหนึ่งอีกอย่างก็คือว่าต้องรู้จักใช้ ยาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อรู้จักใช้ให้เหมาะกับโรค ให้เหมาะกับบุคคล ไม่ใช่ว่ายาดีแล้วจะใช้ได้กับทุกคน ทุกกรณี ทุกโรค ถ้าไม่เหมาะกับบางกรณี นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วก็อาจจะเกิดโทษได้ อย่างเช่นยากระตุ้น ถ้าเอามาใช้กับคนที่มีความดันสูง มันก็เป็นอันตราย จะใช้ประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อใช้กับคนที่ความดันต่ำ ใช้กระตุ้น หรือยาลดความดันก็เหมือนกัน ถ้ามาใช้กับคนที่ความดันต่ำ มันก็เป็นโทษเป็นอันตราย เหมาะสำหรับคนที่มีความดันสูง
ธรรมะในพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน แม้จะเรียกว่าธรรมโอสถ แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกกรณี หรือว่าทุกโรคเสมอไป อย่างเช่น เวลาจิตฟุ้งซ่าน ถ้าเกิดว่าเราเอาธรรมบางข้อมาใช้ มันก็จะเกิดปัญหาได้ มีธรรมหมวดหนึ่งชื่อว่าโพชฌงค์ โพชฌงค์มี 7 ประการ โพชฌงค์อันนี้คนไทยรู้จักกันมากขึ้นเพราะว่าได้มีการรณรงค์ให้สวดโพชฌงค์พระปริตรถวายให้กับพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยให้หายจากความเจ็บป่วย หลายคนไม่รู้ว่าโพชฌงค์หมายถึงอะไร ความหมายจริงๆคือว่าองค์ธรรมสำหรับการตรัสรู้ซึ่งมี 7 ประการ เริ่มต้นด้วย สติ ตามมาด้วย ธัมมวิจยะ ธัมมวิจยะแปลว่าสอดส่องธรรม จัดว่าเป็นปัญญาอย่างหนึ่ง เพราะเราสอดส่องธรรมก็ใช้ปัญญาในการเลือกเฟ้นธรรม จากธัมมวิจยะ ก็เป็น วิริยะ ความเพียร แล้วก็ ปิติ ความอิ่มใจ อิ่มเอิบ ตามด้วย ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นทั้งกายและใจ แล้วก็ สมาธิ และอุเบกขา
โพชฌงค์พระปริตรที่สวดกันทั้งประเทศถวายในหลวงคือ พระสูตรที่พูดถึงคุณธรรม 7 ประการ ซึ่งชาวพุทธเราเชื่อว่า สามารถจะช่วยบรรเทาโรคได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์อาพาธ พระจุนทะก็ได้สวดโพชฌงค์ พูดถึงอานิสงส์ของธรรม 7 ประการที่ว่าทำให้พระองค์หายจากอาพาธได้ คนก็เลยเชื่อว่าโพชฌงค์พระปริตรมีฤทธิ์ มีอานิสงส์ในทางทำให้หายเจ็บหายป่วย จึงนิยมสวดให้กับคนไข้ แต่ที่จริงแล้วอานิสงส์จริงๆ ก็คือ ช่วยทำให้หายจากความทุกข์ใจ หายจากความป่วยใจ ก็คือว่า พอรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ความทุกข์ใจทั้งมวลก็จะหายไป จิตก็เป็นอิสระ ไกลจากความทุกข์
ในโพชฌงค์เจ็ด ถ้าเราไม่นับตัวแรกคือสติ จะแบ่งที่เหลือออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมี ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ กลุ่มที่สองคือที่เหลือก็จะมี ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ที่แยกเป็นกลุ่ม เพื่อเวลาเอาไปใช้ ลองดูว่าถ้าคนที่กำลังฟุ้งซ่าน หากจะใช้ธรรมกลุ่มแรกก็มี ธัมมวิจยะ วิริยะ หรือปิติ จะยิ่งฟุ้งซ่านเข้าไปใหญ่ แม้ว่าธรรมเหล่านี้จะเป็นของดี ช่วยให้ตรัสรู้ได้ แต่ว่าใครที่ฟุ้งซ่านแล้วก็ไปใช้ธัมมวิจยะ หรือว่าไปเติมความเพียรให้มากขึ้น หรือว่าเกิดปิติขึ้นมา ยิ่งฟุ้งเข้าไปใหญ่เลย พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับว่ากองไฟที่ลุกโพลง ถ้าอยากจะดับมัน แต่ขืนเอาหญ้าแห้งใส่เข้าไป เอาโคมัย โคมัยก็คือมูลสัตว์ มูลวัว ใส่เข้าไป มันยิ่งลุกโพลงเข้าไปใหญ่เลย พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องใช้หญ้าสด โยนเข้าไปในกองเพลิงนั่นแหละ มันถึงจะค่อยๆมอด หมายความว่าเวลาฟุ้งซ่าน อย่าใช้ธรรมโพชฌงค์กลุ่มแรก ต้องใช้โพชฌงค์กลุ่มหลัง ก็มี ปัสสัทธิ สมาธิ แล้วก็อุเบกขา
ในทางตรงข้าม ใครที่กำลังเบื่อหน่าย หรือว่าละเหี่ยใจ หรือว่าเซ็ง ถ้าเกิดว่าไปใช้ธรรมกลุ่มหลัง เช่น ปัสสัทธิ สงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ หรือว่าสมาธิ หรือว่าอุเบกขา ยิ่งเฉื่อยเข้าไปใหญ่เลย พระพุทธเจ้าก็ไม่แนะนำ พระพุทธเจ้าบอกว่า เปรียบเหมือนกับว่า ไฟกองที่กำลังจะดับ เราต้องการทำให้มันลุกโพลงขึ้นมา แล้วดันไปใส่หญ้าสดใส่เข้าไป มันก็ยิ่งดับเข้าไปใหญ่ ไม่ถูก ไฟที่กำลังจะมอดแล้ว เราต้องการทำให้มันลุกโพลง ต้องเติมหญ้าแห้ง มูลวัว มูลสัตว์ที่แห้งใส่เข้าไป ก็คือต้องเติมเอาธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ใส่เข้าไป
เพราะฉะนั้นเวลาเราศึกษาธรรม แล้วเราปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมแต่ละข้อแม้จะดี เราก็ต้องรู้ว่าเขามีจุดแข็ง - จุดอ่อนอย่างไรบ้าง เหมาะกับโรคอะไร เหมาะกับกรณีอะไร ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะใช้ถูก เหมือนกับเราใช้ยารักษาคนป่วย ไม่ใช่ว่าเห็นว่าธรรมอันไหนดีก็เอามาใช้ โดยที่ไม่ได้ดูเหตุดูปัจจัย หรือว่าดูกรณี
ในสมัยพุทธกาลก็มีพระปฏิบัติเพื่อมุ่งความพ้นทุกข์ และบางท่านทำความเพียรมากไป ทำความเพียรเป็นของดี แต่ถ้ามากไป จิตฟุ้งซ่าน อย่างพระโสณโกฬิวิสทำความเพียรมาก ไม่หลับไม่นอน จะเอาให้ได้ ท่านเดินจงกรมจนกระทั่งเท้าเป็นแผลเพราะว่า เท้าท่านมีผิวที่อ่อนนุ่ม เรียกว่าเป็นสุขุมาลชาติ สุขุมาลชาติคือมีผิวอ่อนนุ่ม ผิวสวย แต่ว่าพอเดินจงกรมมาก ๆ ผิวก็แตก เลือดไหลซิบ ๆเป็นทางเลย ท่านเดินไม่ได้ ท่านก็คลานเอา ก็ดูว่าเป็นเรื่องดี แต่ว่าบางทีก็ไม่ดี เพราะว่าเพียรมากไป ขึ้่นชื่อว่าความเพียรก็เป็นของดี แต่ถ้าเพียรมากไปก็กลายเป็นไม่ดีได้ ท่านทำเท่าไรก็ไม่เห็นธรรม จนกระทั่งเกิดความท้อ
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วก็เตือนให้ท่านตระหนักว่า ความเพียรที่มากไปมันทำให้ฟุ้งซ่าน โดยเปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนกับการดีดพิณ พระโสณะท่านเคยเป็นนักดนตรี โดยเฉพาะเชี่ยวชาญเรื่องการดีดพิณ พระพุทธเจ้าก็เลยเอาเรื่องพิณมาสอนว่า พิณถ้าหากว่าสายขึงตึง ดีดมัน เพราะไหม ถ้าขึงตึงไปดีดก็ไม่เพราะ ถ้าหย่อนไปก็ไม่เพราะ ต้องขึงสายพิณพอดีๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าความเพียรถ้ามากไปก็ทำให้จิตฟุ้งซ่าน ถ้าความเพียรน้อยไปก็ทำให้เฉื่อยชาขึ้เกียจ พระโสณะได้ฟังอย่างนี้แล้ว ได้สติเลย ท่านก็ทำความเพียรให้หย่อนลงมา ไม่ใช่ว่าวิริยะเป็นหนึ่งในโพชฌงค์แล้วยิ่งทำมากยิ่งดี มันขึ้นอยู่กับกรณีด้วย ถ้าฟุ้งซ่านมากและทำความเพียรมากไปก็ยิ่งฟุ้งซ่านเข้าไปใหญ่ ปรากฎว่าพอท่านหย่อนความเพียรลงมาหน่อย ในที่สุดก็บรรลุธรรมได้
พระอานนท์ก็เหมือนกัน ท่านได้รับมอบหมายให้ไปร่วมสังคายนาครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน แต่ว่าท่านมีข้อติดขัดอยู่ตรงที่ผู้ที่จะเข้าร่วมสังคายจะต้องเป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีแล้ว 499 รูป ขาดอีก 1 รูป รูปที่ 500 คือพระอานนท์ แต่ว่าติดขัดที่ว่าท่านยังเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นท่านจะเข้ามาร่วมสังคายนาได้ ท่านต้องปฏิบัติจนได้เป็นพระอรหันต์ก่อน แล้วท่านก็เป็นคนสำคัญด้วย เพราะท่านทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้เยอะมาก ความจำดีมาก เป็นเอตทัคคะด้านพหูสูต ท่านก็เลยทำความเพียร จนถึงวันก่อนสังคายนา ท่านก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย จนกระทั่งตกดึกกลางคืน ท่านก็ยังไม่เห็นธรรมที่เรียกว่าอรหัตตผลเลย แล้วท่านก็มาไตร่ตรองดู อันนี้คงเป็นธัมมวิจยะ หรือการพิจารณาใคร่ครวญ ท่านก็คิดว่า คงเป็นเพราะเราทำความเพียรมากไป จิตจึงฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้นก็น่าจะพักสักหน่อย ท่านจึงไปพักกำลังจะเอนกาย ขณะที่ศีรษะยังไม่ถึง ยังไม่ทันแตะถึงหมอน เท้าก็ยกขึ้นมายังลอยอยู่ ยังไม่ทันที่จะนอนบนเตียง ปรากฎว่าจิตที่ผ่อนคลายของท่าน ทำให้ท่านเห็นธรรมขึ้นมา บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในอิริยาบถที่เรียกว่าไม่ใช่ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่ทั้งสี่ ตรงกลางๆ ระหว่างที่กำลังจะนอน แต่ไม่ทันได้นอน ศีรษะยังไม่ทันแตะหมอน เท้าก็ไม่ได้แตะพื้น ยังลอยอยู่
อันนี้เป็นตัวอย่างว่า แม้ความเพียรเป็นของดี จัดว่าเป็นหนึ่งในโพชฌงค์ 7 แต่ว่ามีข้อจำกัด ในกรณีที่ปฏิบัติแล้วฟุ้งซ่านมากๆ ก็ต้องใช้ธรรมข้ออื่นเข้ามา เพราะฉะนั้นขึ้นชื่อว่ายาหรือว่าธรรมโอสถ เราต้องฉลาดในการใช้ รู้ว่ายาหรือโอสถ มันจะเหมาะกับกรณีใด ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทั่วไปหมด อันนี้รวมไปถึงคำแนะนำของครูบาอาจารย์ เวลาแนะนำให้กับศิษย์แต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน บางคนไม่เข้าใจ ก็สงสัยว่า อาจารย์ ทำไมสอนไม่เหมือนกัน คนนี้สอนอย่างหนึ่ง คนนั้นสอนอีกอย่างหนึ่ง
สมัยที่หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านเป็นพระหนุ่ม (หลวงพ่อเฟื่องท่านมรณภาพไป 30 ปีแล้ว) ท่านเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี วัดอโศการาม เคยจาริกธุดงค์ไปหาหลวงปู่มั่น (ประมาณสัก 60-70 ปีมาแล้ว) ก็ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น ในช่วงปลายๆของหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้เรียนรู้ธรรมจากหลวงปู่มั่นมาก แต่มีคราวหนึ่ง ท่านสงสัยว่าหลวงปู่มั่นสอนยังไง ก็คือมีพระรูปหนึ่งป่วยแล้วจะขอยา หลวงปู่มั่นพอรู้เข้าก็เอ็ดว่า เอาอะไรเป็นสรณะ เอาพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือเอายาเป็นสรณะ นับถือศาสนาพุทธหรือนับถือศาสนายา ตกลงก็ไม่ให้ฉันยา ส่วนอีกรูปหนึ่งป่วย อาพาธ ท่านไม่ยอมกินยาเลย เอาแต่ใช้สมาธิ หลวงปู่มั่นพอรู้เข้าก็เอ็ดเลยว่า ยามีทำไมไม่กิน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยากแบบนี้ ลูกศิษย์งงเลย หลวงพ่อเฟื่่องงง องค์หนึ่งบอกอย่ากินยา อีกองค์บอกให้กินยา ที่จริงหลวงปู่มั่น ท่านไม่ใช่ว่าไม่คงเส่้นคงวา ยาดีก็จริงแต่ว่า มันเหมาะกับคนบางคน ไม่ใช่เหมาะกับทุกคน บางคนอ่อนแอ เอะอะอะไรก็จะกินยา ท่านก็บอกอย่ากิน แต่บางคนป่วยแล้ว แล้วก็ดื้อไม่ยอมกินยา คนที่ดื้อท่านก็จะดุว่าให้กินยา ส่วนคนที่อ่อนแอจะกินยาตะพึดตะพือ ท่านก็ห้ามเอาไว้ว่าอย่ากิน ไม่ใช่ว่าท่านสอนไม่คงเส้นคงวา หรือว่าท่านไม่แน่นอน ที่จริงเป็นเพราะว่าท่านรู้ว่ายาเหมาะกับใคร แล้วก็ไม่เหมาะกับใคร เวลาเราฟังครูบาอาจารย์ เห็นคำแนะนำของท่านแล้วท่านสอนไม่เหมือนกัน ไม่ใช่เพราะว่าท่านเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ไม่ใช่ แต่เพราะท่านรู้ว่าคำแนะนำบางอย่างเหมาะกับใคร บางคนสุดโต่งไปทางหนึ่ง สุดโต่งไปทางว่าไม่สนใจเรื่องสมาธิ จะเอาแต่ยาอย่างเดียว ท่านก็ห้าม ให้ลองใช้สมาธิดู ให้ลองใช้จิตเยียวยา ใช้ธรรมโอสถเยียวยาความป่วย แต่คนอีกคนหนึ่งก็สุดโต่งไปอีกทางหนึ่งคือว่าไม่เอายาเลย ท่านก็สอนเพื่อให้เขามาอยู่ทางสายกลาง
ฉะนั้นพวกเราเวลาศึกษาธรรมต้องใช้สติปัญญา ต้องใช้ความฉลาดว่าธรรมแต่ละข้อๆ เขามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร เหมาะกับใคร เหมาะกับกรณีไหน คนที่เฉื่อยก็ต้องกระตุ้นด้วยวิริยะ ธัมมวิจยะ ปิติ ส่วนคนที่เรียกว่าไฮเปอร์ หรือว่าฟุ้งซ่านมาก หรือขยันมากไป ก็ต้องใช้สมาธิ หรือว่าปัสสัทธิ อุเบกขามั่ง อุเบกขาก็จำเป็น เพราะว่าบางคนเจออะไรก็จะอยู่ไม่สุข ต้องเจอปัญหา ต้องพยายามดิ้นรนขวนขวายที่จะแก้มัน โดยที่บางทียิ่งทำก็ยิ่งแย่ การอยู่นิ่งๆ กลับจะดีเสียกว่า
ก็เหมือนคนไข้ระยะสุดท้าย ยิ่งรักษาไปบางทียิ่งแย่ คือเขาจะตายอยู่แล้ว ยังไปเจาะคอ ไปใส่ท่อ ไปปั๊ม ผ่าตัดเข้าไปอีก ยิ่งทำก็ยิ่งแย่ ยิ่งรักษาก็ยิ่งทุกข์ทรมาน ในกรณีแบบนี้ต้องอุเบกขา คือเรื่องทางกายก็คงต้องหยุดเท่านั้น เว้นแต่ว่าดูแลบรรเทาความทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ หรือว่าความทุกข์เช่น การหายใจหอบ อันนี้ก็รักษาด้วยยาได้ หรือว่าเจ็บปวดตรงไหน เช่น แผลกดทับก็รักษาไป คือใช้ยาเพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมาน แต่ประเภทว่าจะทำอะไรต่ออะไรมากมายเพื่อให้ยื้อชีวิตอยู่ไปได้นานๆ มันยิ่งสร้างความทุกข์ทรมาน ในกรณีนี้ต้องอุเบกขา ถ้าจะทำก็ทำเรื่องของการเยียวยาจิตใจ ให้คำแนะนำทางจิตใจ เพื่อให้ปล่อยวาง
กรณีโพชฌงค์ เห็นได้ชัดเลยว่า ข้อที่มีลักษณะที่ใช้ได้ในบางกรณี แล้วในบางกรณีไม่ควรใช้ เวลาเรามีปัญหา เวลาเราเกิดนิวรณ์ขึ้นมา นิวรณ์มีทั้งนิวรณ์ฝ่ายเฉื่อย นิวรณ์ฝ่ายฟุ้ง ฝ่ายเฉื่อยก็เช่น ถีนมิทธะ ง่วงนอน ฝ่ายฟุ้งก็เช่น อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านแล้วก็เดือดร้อนรำคาญใจ แล้วก็วิจิกิจฉา สงสัยอยู่นั่นแหละ เอาแต่คิด อันนี้เราก็ต้องรู้ว่า เมื่อเราเกิดอารมณ์แบบนี้ เกิดปัญหาแบบนี้เราจะใช้ธรรมตัวไหน ต้องใช้ให้ถูก ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าปฏิบัติธรรมแต่ว่าไม่สมควรแก่ธรรม ถือว่า ผิด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตน ธรรมที่ประพฤติไม่ดีแล้ว มันก็ทำความทุกข์ให้กับตน ขึ้นชื่อว่าธรรมแล้วต้องประพฤติให้ดีด้วย ประพฤติให้สมควรด้วย แม้จะเป็นธรรม แต่ประพฤติไม่ดี เอามาใช้ไม่ถูกต้อง มันก่อทุกข์ มันก่อปัญหา
สิ่งที่ในโพชฌงค์ 7 ไม่ได้พูดถึงคือสติ สติมีลักษณะพิเศษ คือว่ายิ่งมากยิ่งดี ไม่ต้องมีอะไร ไม่ต้องมีตัวไหนมากำกับ ไม่เหมือนกับศรัทธา ศรัทธาต้องมีปัญญามากำกับ หรือว่าธัมมวิจยะก็ต้องมีอุเบกขามากำกับ มีปิติก็ต้องมีปัสสัทธิมาคอยกำกับ มีวิริยะถ้ามากไป ไม่ดี ต้องมีสมาธิมากำกับ ในทางตรงข้ามสมาธิมากไปไม่ดีต้องมีวิริยะมากำกับ มีสมาธิ แต่ว่าเฉื่อยเนือย ไม่ค่อยขยันขันแข็งต้องเติมวิริยะเข้าไป แต่สติ ซึ่งเป็นตัวแรกในโพชฌงค์ 7 ยิ่งมากยิ่งดี เพราะว่าสติทำหน้าที่สองอย่างคือเป็นทั้งตัวเบรคและตัวกระตุ้น ถ้าเปรียบกับรถก็เป็นทั้งเบรคแล้วก็คันเร่ง ขณะที่ในโพชฌงค์ 7 กลุ่มแรก เป็นตัวเร่ง เป็นคันเร่ง ธัมมวิจยะ วิริยะ แล้วก็ปิติ ส่วนสามตัวหลัง ปัสสัทธิ สมาธิ แล้วก็อุเบกขา เรียกว่าเป็นตัวเบรค แต่ว่าสติ เป็นทั้งคันเร่งแล้วก็ตัวเบรคพร้อมๆกันไปเลย ตัวอย่างเช่นเราตื่นขึ้นมา ง่วงนอน ถ้าเรามีสติปุ๊บ มันจะสลัดความง่วงทิ้ง เกิดความกระฉับกระเฉงขึ้นมาทันที มันทำให้เรากระตือรือร้นขึ้นมา แต่ในเวลาที่เราโกรธ รุ่มร้อน สติ มันทำให้เราเย็นลง เวลาเราโกรธ เราอยากจะทำโน่นทำนี่ อยากจะด่า อยากจะลงไม้ลงมือ
สติเป็นตัวเบรคว่าเพลาๆหน่อย เบาๆหน่อย สติมีลักษณะพิเศษที่ยิ่งมากยินดี ไม่เหมือนธรรมข้ออื่น ๆ ในโพชฌงค์ 7 คือ เป็นทั้งคันเร่งแล้วก็เป็นทั้งตัวเบรค มีความเป็นทั้งหญ้าแห้งแล้วก็หญ้าสดในเวลาพร้อม ๆกัน เพราะฉะนั้นการมีสติถ้าเราสร้างให้มาก โดยเฉพาะสัมมาสติจะช่วยมากเลย เพราะฉะนั้น ในโพชฌงค์ 7 สติมาเป็นตัวแรก เป็นพระเอก เพื่อที่จะช่วยทำให้รู้จักใช้โพชฌงค์ตัวที่เหลือให้ถูกต้อง ถูกกรณี ไม่มีสติ ก็ใช้ผิดใช้พลาด หรือว่าเกิดอาการที่เรียกว่าสุดโต่ง เกินเลยไป สติมันทำให้เกิดความพอดี เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้สติเป็น ก็ทำให้สติเพิ่มพูนมากๆ มันจะช่วยทำให้เราเจริญงอกงาม โพชฌงค์ 7 ก็จะถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง จนกระทั่งเกิดความสุขความเจริญ ทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางไป แล้วทำให้เกิดการตรัสรู้หรือว่าการเห็นแจ้งในสัจธรรมได้