แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า มีเรื่องขัดแย้งกับคนในครอบครัวเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ก็เลยมีปากเสียงกัน พอเถียงกันไปเถียงกันมา น้องชายก็พูดขึ้นมาว่า เป็นนักปฏิบัติธรรมยังไง ทำไมถึงยังโกรธอยู่ ปรากฏว่ามันไปจี้จุดทำให้เธอปรี๊ดขึ้นมาเลย แล้วคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็ออกอาการหนักขึ้นโวยวายใหญ่ พอโวยวายไปแล้วก็ค่อยมารู้สึกตัว ค่อยมามีสติในภายหลัง โอ้! เราทำอย่างนั้นได้ยังไง อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมา ทำไมคุมอารมณ์ไม่อยู่เก็บอาการไม่ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก หรือคนที่เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติธรรม
เวลาใครมาพูดอะไรอาจจะไม่ค่อยรู้สึกถูกกระทบเท่าไร แต่พอมาอ้างอิงมาพูดกระทบความเป็นนักปฏิบัติธรรมของตัวนี่จะโกรธมาก อันนี้เรียกว่าเป็นจุดอ่อนก็ได้ของคนที่เป็นนักปฏิบัติธรรม หรือว่าเรียกตัวเองว่านักปฏิบัติธรรม มันเป็นเพราะอะไร ก็อาจจะเป็นเพราะว่าพอปฏิบัติธรรมไปนานๆ มันก็เกิดภาพตัวตนขึ้นมาว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ภาษาพระเรียกว่าเกิดภพชาติขึ้นมา ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม คำว่าชาติแปลว่าเกิด ไม่ได้แปลว่าเกิดจากท้องแม่อย่างเดียว แต่ว่ามันเป็นการเกิดในทางจิตใจก็ได้ ไม่ใช่แค่การเกิดในทางร่างกาย เกิดในทางจิตใจว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ฉันเป็นนักภาวนา ซึ่งมันให้ความรู้สึกที่ดี มันให้ความรู้สึกที่ดีเพราะว่าการเป็นนักปฏิบัติธรรมมันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็ชื่นชมสรรเสริญ ใครๆ เมื่อรู้ก็อนุโมทนาด้วย
พอเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม หรือถ้าพูดให้มันตรงๆ ก็คือเกิดความรู้สึกกูเป็นนักปฏิบัติธรรม มันก็เกิดความสุขความปลาบปลื้ม อะไรก็ตามที่มันให้ความสุขกับเรา พอมันถูกกระทบหรือมันแปรเปลี่ยนไป ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันทีเลย ตัวอย่างง่ายๆ ข้าวของ รถยนต์ โทรศัพท์ เสื้อผ้า มันให้ความสุขกับเรา แต่พอสิ่งนั้นถูกกระทบ ถูกกระทบในที่นี้ก็อาจจะได้แก่ มันเสื่อมเสีย เสียหายไป หรือว่ามีคนมาทำให้มันเสียรูป เราก็จะรู้สึกโกรธทันที บางทีไม่ได้ทำให้เสียในทางรูปธรรม แต่ว่าเป็นการกล่าว เป็นการพูดกระทบ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ เสื้อตัวนี้ มันไม่สวยเลย หรือว่ารถคันนี้ มันเก่า โทรศัพท์นี้ มันตกรุ่นแล้วนี่ คำพูดแบบนี้เรียกว่าเป็นการกระทบกับสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา ยังไม่ทันเสียไม่ทันหายอะไรเลย เราก็ทุกข์เสียแล้ว เพราะมันมีความยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
ความเป็นนักปฏิบัติธรรม มันให้ความสุขกับผู้ที่ยึดถือ ทีแรกก็ไม่ยึดถือหรอก แต่ว่าพอมันให้ความสุขเข้า ธรรมดาที่จะยึด ยึดแล้วก็อยากจะรักษาเอาไว้ แต่พอมีใครมาพูดกระทบ มันทำให้รู้สึกว่าเรายังเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ไม่ดีพอ อันนี้ในด้านหนึ่งก็เกิดความเสียใจ แล้วก็เกิดความโกรธ เพราะว่ามันกระทบภาพตัวตน ภาพตัวตนของนักปฏิบัติธรรม ในภาวะนั้นนี่ถ้าพูดให้ละเอียดหน่อยก็จะเรียกว่า ภพชาติที่มันเกิดขึ้นนี้ มันเกิดความดับ เกิดความแปรปรวนขึ้น แม้ว่าจะเป็นชั่วขณะก็ทำให้เกิดทุกข์โทมนัส แต่ถ้าพูดง่ายๆ รวมๆ กว้างๆ พอมันกระทบในความเป็นตัวกู ตัวกูถูกกระทบขึ้นมา ก็โกรธขึ้นมา ก่อนที่จะโกรธมัน ทุกข์ก่อน พอทุกข์แล้วก็เกิดโทสะขึ้นมา ในแง่หนึ่ง มันก็เป็นความอ่อนแอของนักปฏิบัติธรรมด้วย เพราะว่าเขาก็ไม่ได้ว่าอะไรเราเสียหาย ไม่ได้ว่าเราลักขโมย ไม่ได้ว่าเราเป็นคนชั่วร้าย ไม่ได้ด่าพ่อล่อแม่เรา เพียงแต่พูดแล้วกระทบความเป็นนักปฏิบัติธรรมของเรา เราก็โกรธแล้ว อันนี้เป็นจุดอ่อนแอของนักปฏิบัติธรรมที่เกิดขึ้นทั่วไป ที่จริงถ้ามีสติสักหน่อย มันก็ไม่ทุกข์
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอนที่ท่านยังหนุ่มท่านไปบิณฑบาตในเมือง ท่านจำพรรษาอยู่ที่อุบลฯ ภายหลังท่านไปสร้างวัดป่าสาลวันที่โคราช ขณะที่ท่านไปบิณฑบาต ก็มีผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกชายตัวเล็ก ๆ 4-5 ขวบ ยืนรอใส่บาตรอยู่ ท่านก็เดินเข้าไปหา ใกล้จะถึงแล้ว เด็กก็พูดขึ้นมาว่า มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก พอได้ยินอย่างนั้นท่านโกรธเลย แต่สักพักก็มีสติรู้ รู้ทัน ความคิดหนึ่งผุดขึ้นมาว่า เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระ ถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ เท่านั้นแหล่ะความโกรธมันวูบไปเลย แล้วท่านก็ไปรับบาตรจากแม่ของเด็กอย่างปกติ ไม่ได้รู้สึกโกรธโมโหเด็ก หรือว่าโกรธแม่ของเด็กว่าทำไมไม่สอนไม่สั่งเด็ก ถ้ามีสติรู้
นักปฏิบัติธรรม พอรู้ว่าโกรธ แล้วก็คิดว่า เออใช่ เรายังไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมเราก็ไม่โกรธ ความโกรธก็ทำอะไรเราไม่ได้ ก็ยอมรับไป แต่ว่าเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นที่เหนียวแน่น หรือว่าเป็นเพราะอัตตามันใหญ่ พอมันไม่ยอมรับ ตัวอัตตายังไม่ยอมรับว่าฉันยังปฏิบัติธรรมไม่ดีพอ ฉันไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น มันก็เลยเรียกว่าถูกกระทบอย่างจัง พอถูกกระทบอย่างจัง ก็ทุกข์แล้วก็โกรธ แล้วก็ระบายความโกรธใส่ผู้อื่น ที่จริงนักปฏิบัติธรรม เวลาเกิดความโกรธ ความโกรธจะพยายามดึงจิตของเราส่งออกนอก พุ่งไปยังคนข้างนอก คนที่พูดอย่างนั้นกับเรา ถ้าเรามีสติ เราจะกลับมาดูใจของเรา เราวางใจไม่ถูกแล้ว แต่ในยามนั้นที่เราไม่มีสติ มันก็จะไปเพ่งโทษที่คนอื่น ยิ่งคนอื่นทำไม่ดีด้วยแล้วนี่ มันยิ่งมีเหตุมีผลที่จะต้องไปเล่นงานเขา จนลืมดูใจว่า เอ๊ะ! ใจเราก็ไม่ถูกเหมือนกัน ใจเราก็โกรธเกลียดเขา เรียกว่าวางใจไม่ถูก เวลาใครทำอะไรไม่ถูก มันง่ายมากที่เราจะลืมตัว เพราะว่าอยากจะไปสั่งสอนเขาว่าแกทำไม่ถูก ต้องจัดการ แต่ก็ลืมมองตัวเองว่าตัวเองก็ไม่ถูกเหมือนกัน ไม่ใช่แค่วางใจไม่ถูก
และบางทีทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วย อย่างเช่นที่เป็นข่าวว่า มินิคูเปอร์ถูกเฉี่ยวชนท้ายด้วยรถมอเตอร์ไซค์ เจ้าของไปคว้าคอคนขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่ใช่แค่ด่า แต่ว่าต่อยด้วยตบด้วย คนขี่มอเตอร์ไซค์ทีแรกชนแล้วก็หนี แต่ตอนหลังเขาสำนึกผิดก็หันกลับจะมาขอโทษขอโพย หรือจะมารับผิดชอบ แต่เจ้าของรถไปเห็นว่าเขาหนีก็เกิดความโกรธอย่างแรง ชนแล้วหนีมันแย่มาก มันเลวมากต้องสั่งสอน ความโกรธมันพุ่งออกไปที่ผู้ชายคนนั้น ถึงขั้นไม่ใช่แค่ด่า แต่ว่าทำร้ายเลย กลายเป็นว่าตัวเองทำสิ่งที่แย่ ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ชั่วร้ายมากกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งเขาเพียงแค่ชนท้ายรถแล้วก็หนีเท่านั้นเอง
ยิ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมยิ่งต้องระวังจุดอ่อนของตัวเองตรงนี้คือ จุดอ่อนที่หวง แล้วก็ยึดติดในความเป็นนักปฏิบัติธรรม และก็ขยายความรวมไปถึงการเป็นคนดีด้วย ภูมิใจในความเป็นคนดี ภูมิใจในความเป็นคนมีศีล แต่พอมีอะไรมากระทบภาพลักษณ์ตรงนี้ บางทีโกรธแล้วลืมตัว
มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักปฏิบัติธรรม แกเป็นคนมีศีล เคร่งครัดในเรื่องศีลมาก แม้แต่ยุงก็ไม่ตบ แล้ววันหนึ่งพบว่าลูกสาวท้อง ยังเรียนอยู่เลย แกโกรธมาก ทั้งโกรธทั้งทุกข์ รู้สึกว่าเสียหายมาก เราเป็นนักปฏิบัติธรรมอยู่ในศีล แต่มีลูกไม่รู้จักรักตัวสงวนตัว ทำผิดประเพณี ถ้าคนรู้เขาจะพูดอย่างไร จะว่าอย่างไร เราเป็นแม่เลี้ยงดูยังไง เป็นนักปฏิบัติธรรมมีศีลแต่ลูกไม่มีศีล ไปมั่วจนท้องไม่มีพ่อ พอคิดแบบนี้เข้ายิ่งโกรธ บังคับลูกให้ทำแท้ง ยังดีที่มาระลึกได้ว่า เราทำอย่างนี้ได้อย่างไร ยุงเราไม่ตบเลย แต่ว่าไปบังคับลูกให้ฆ่าลูกในท้อง อันนี้ก็เรื่องเดียวกันคือความยึดติดในภาพลักษณ์ ภาพลักษณ์การเป็นคนมีศีล การเป็นนักปฏิบัติธรรม พอภาพลักษณ์นี้มันทำท่าถูกกระทบเพราะพฤติกรรมของลูก ก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาภาพลักษณ์ แม้กระทั่งจะไปหว่านล้อมเกลี้ยกล่อมบังคับให้ลูกฆ่าเด็กในท้อง อันนี้มันเกิดขึ้นได้กับพวกที่เรียกว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่ด่ากลับอย่างเดียว แต่สามารถจะทำอย่างอื่นก็ได้ ทำร้ายหรือว่าทำสิ่งที่เลวร้ายที่มันตรงข้ามกับความเชื่อของตัวเองก็ได้ เป็นเพราะความลืมตัว คนเราพอลืมตัวแล้ว มันก็ทำได้ทุกอย่างแม้กระทั่งสิ่งที่สวนทางกับความเชื่อของตัว แล้วที่ลืมตัวก็เพราะความยึดติดถือมั่นนี่แหล่ะ ยึดติดถือมั่นในภาพลักษณ์หรือยึดติดถือมั่นในความดีของตัว หรือในความดีที่ตัวเองยึดถือ
ผู้ชายคนหนึ่ง แกมีปัญหากับลูก ลูกวัยรุ่นแล้ว ไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อเท่าไร พ่อเป็นคนธรรมะธัมโม เข้าวัดเป็นประจำ เรื่องทำบุญเรื่องการปฏิบัติแกก็ใส่ใจ ลูกก็ไม่ได้เกกมะเหรกเกเร เพียงแต่ว่าเป็นตัวของตัวเองตามประสาวัยรุ่น มีเรื่องระหองระแหง มีเรื่องปากเสียงกันเรื่อยมา ลูกไม่อยากจะเรียนต่อ อยากจะลาออกมาทำเกี่ยวกับขายสินค้าออนไลน์ พ่อไม่เห็นด้วยก็ทะเลาะกันในเรื่องนี้ พ่ออยากจะให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยจะได้มีอนาคต แต่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ พ่อก็เสียใจว่าคนดีมันควรจะเชื่อฟังพ่อแม่ มีวันหนึ่งลูกก็เอารถ จริงๆ ก็เป็นรถที่พ่อซื้อให้ลูก แต่ว่าก็มีการควบคุมมีเงื่อนไขบางอย่าง ลูกจะเอาไปใช้งานก็ต้องขอพ่อ ลูกจะไปขออนุญาตเอารถไปบ้านเพื่อน ตอนนั้นก็ค่ำแล้วพ่อไม่ยอม ลูกไม่สนใจลูกก็ไป พ่อรู้ก็โกรธไปตามลูกกลับมา แล้วก็ทะเลาะกันที่บ้าน
พ่อเสียใจ ลูกไม่เชื่อฟังพ่อ ประพฤติตัวก็ไม่เรียบร้อย ชอบเถียงพ่อ เถียงกันไปเถียงกันมาก็รุนแรง จากความเสียใจกลายเป็นความโกรธ จากความโกรธกลายเป็นความเกลียด มึงไม่ดีอย่างที่กูอยากเห็น สุดท้ายแล้วก็เกิดการใช้กำลัง เห็นปืนอยู่ใกล้ๆ พ่อก็คว้าปืนมายิงลูกตาย พอพ่อรู้เข้าตกใจ คือคนเราพอระบายความโกรธเสร็จ จะกลับมารู้สึกตัว พอรู้สึกตัวสักพักก็รู้ว่าตัวเองผิด ก็รู้สึกผิด ความรู้สึกผิดมันก็ท่วมท้นใจ เพราะเราเป็นคนมีธรรม ยุงไม่ตบแต่ทำไมฆ่าลูก มันเสียใจมาก ยอมรับตัวเองไม่ได้ มันโทษตัวเอง ตอนนี้ความรู้สึกผิดมันท่วมท้น จนลืมตัวคว้าปืนยิงตัวเองตาย เรียกว่ายิ่งยึดติดในความดีมากเท่าไร มันก็อาจจะทำไม่ดีก็ได้ ทำตรงข้าม
เด็กน้อยอยากจะได้บุญ จึงอยากจะใส่บาตรพระ ยายเห็นว่าของหนัก ยายจะใส่เอง หลานไม่ยอม หลานก็ไม่พอใจยาย ก็ตีมือยาย หลานอยากได้บุญแต่ว่าทำบาปด้วยการตียาย พ่อคนนี้ก็อยากให้ลูกเป็นคนดี ดีเหมือนตนหรือดีอย่างที่ตัวเองคิด แต่พอลูกไม่ดีอย่างที่ตัวเองคิดก็โกรธ ก็เลยทำร้าย ฆ่าจนตายคามือในที่สุด เป็นเรื่องของความยึดติดถือมั่นในภาพลักษณ์ของตน ในความดีที่ตัวเองยึดถือ อะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่ายึดติดถือมั่นแล้ว ก็ทำให้ทุกข์ทั้งนั้นแหล่ะ แม้ว่าสิ่งที่ยึดติดมันจะเป็นความดี หรือว่ามันจะให้ความสุขกับเรา เพราะพอยึดแล้วมันก็สามารถจะกลับมาทำร้ายตัวเราเองได้
สิ่งที่ช่วยทำให้เราคลายความยึดติดถือมั่นคือ การมีสติแล้วก็มีปัญญา มีสติคือ รู้ เวลาโกรธ เวลามีอะไรมากระทบตัวกู รู้ทันอาการของตัวกู แล้วก็รู้ว่าตัวกูนี้กำลังจะโกรธ แล้วกำลังจะครอบงำจิต มีปัญญาคือ มีปัญญาเห็นโทษของความยึดติดถือมั่น ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้ายึดติดมันเมื่อไร มันก็กลายมาเป็นนายเรา ยึดติดในเงินว่าเงินเป็นของเรา เงินมันก็เป็นนายเราทันที ยึดติดในรถว่ารถเป็นของเรา เราก็เป็นของมันทันที อะไรก็ตามที่ดีนี่มันดีตราบใดที่เราใช้มัน แต่ถ้ามันใช้เราเมื่อไร ก็แย่แล้ว และที่มันใช้เราได้เพราะความยึดติดนั้น
ยึดติดในความสงบ ปฏิบัติธรรมแล้วสงบ ก็ยึดติด ที่มันยึดติดเพราะมันเพลิน พอเพลินแล้วก็อยากจะได้มากๆ อยากจะให้มันเกิดขึ้นบ่อยๆ พอมันไม่เกิดขึ้นอย่างที่ใจหวัง ก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความทุกข์ เกิดความโกรธในที่สุด ภาวนาแทนที่ใจสงบกลับฟุ้งมากเข้าไปใหญ่ อาจจะฟุ้งหนักกว่าคนที่เขาไม่ภาวนาด้วย หรือบางทีก็ถึงกับเพี้ยนไปเลยก็มี คนไม่ภาวนายังไม่ถึงกับเพี้ยน แต่พอภาวนา ภาวนาผิดก็เพี้ยนไปเลย หลวงพ่อเฟื่องท่านพูดไว้ดี ท่านบอกว่าแม้ความคิดเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดมันก็ผิด มันผิดเพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะยึดได้ แล้วก็มันผิดเนื่องจากพอยึดไปแล้ว มันก็เกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา ตัวกูของกู มันก็เป็นเชื้อสำหรับความทุกข์อยู่แล้ว มันก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่งซึ่งสามารถทำให้เกิดทุกข์ได้ อันนี้ก็เป็นข้อเตือนใจซึ่งเราก็ต้องฝึกอยู่เสมอ ฝึกให้ปล่อยให้วาง
ที่จริงการปล่อยวาง มันก็ทำได้กับชีวิตประจำวัน เช่น การให้ทาน การให้ทานเป็นการปล่อยการคลายความยึดติดถือมั่น แต่ก็ต้องให้ทานที่ดี ถ้าให้ทานไม่ถูกต้อง มันก็ยึดเหมือนกัน โยมเล่าว่า เวลาถวายอาหารพระ ต้องคอยดูว่า พระจะฉันอาหารที่ตัวเองถวายหรือเปล่า อันนี้เป็นการวางใจที่ผิด เพราะว่า เมื่อให้ของใครไปแล้วก็ต้องวางในสิ่งของนั้น ถือว่านั่นไม่ใช่ของเราแล้ว นั่นเป็นของคนอื่น ถวายอาหารให้หลวงพ่อ อาหารนั้นก็เป็นของหลวงพ่อไปแล้ว พอยังไปยึด ยังมีความยึดว่าอาหารของเรา ก็คอยดูว่าท่านจะฉันไหม ก็บอกเขาไปว่า เวลาประกอบเหตุนี้เราทำเต็มที่ ส่วนว่าผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยวาง บางทีเราทำอะไรไป เราก็ยึดในผล ดูว่าผลมันจะเป็นอย่างไร ถวายอาหารให้ท่านแล้วก็คอยดูว่าท่านจะฉันของเราไหม อันนี้ก็เป็นเรื่องความยึดติดในผลอีกแบบหนึ่ง
คนเราทุกวันนี้ทุกข์ก็เพราะว่า ทำอะไรก็ตาม ก็จะไปคอยดูว่าผลมันจะเป็นอย่างไร คนเขาจะตอบรับไหม คนเขาจะสรรเสริญไหม มันไม่ใช่แค่ว่าหลวงพ่อจะกินอาหารของเราหรือเปล่า แต่รวมถึงอย่างอื่นด้วย ผลงานอย่างอื่นด้วย คนเขาจะชื่นชมสรรเสริญไหม หรือว่ามันจะช่วยเขาได้หรือเปล่า บางทีไปช่วยใครก็คอยดูว่า เขาจะดีขึ้นไหม การติดตามใส่ใจก็ดีหรอกแต่ถ้าไปยึดว่านี่ถ้าช่วยแล้วเขาต้องดีขึ้น ถ้าเขาไม่ดีขึ้นเราทุกข์ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความยึดติด ซึ่งมันก็เป็นความยึดในตัวตนแบบหนึ่ง ยึดติดในตัวกูของกูว่าสิ่งที่กูทำนี่มันต้องเกิดผลดี มันไม่ใช่แค่ยึดติดว่าหลวงพ่อจะฉันอาหารของเราหรือเปล่า
เราสามารถฝึกได้ ฝึกการวาง เวลาเราถวายทาน เมื่อถวายแล้วก็ถือว่าเป็นของท่านไปแล้ว ท่านจะฉันหรือไม่ ท่านจะชมหรือไม่ เราไม่รับรู้ด้วย หรือว่าเราไม่ยึดติดถือมั่น มันเป็นการฝึกการปล่อยวางในเรื่องตัวกูของกู แล้วก็ฝึกให้เรารู้จักทำเหตุให้ดี แล้วก็ปล่อยวางผล ซึ่งก็เอาไปใช้ในการทำงานได้ ทำงานอะไรก็ตาม หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำเหตุให้ดี เราก็ปล่อยวางผลได้ หน้าที่เราคือทำเหตุให้มันดีที่สุด ผลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย วางใจแบบนี้ก็ทำงานอย่างมีความสุข แล้วมันก็ช่วยลดช่วยคลายความยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูได้ การทำงานนี่มันเป็นโอกาสที่เราจะคลายหรือปล่อยวางความยึดติด แต่ถ้าทำไม่เป็น มันก็ยิ่งยึดติดถือมั่นมากขึ้น เสร็จแล้วก็ทุกข์เพราะความยึดติดถือมั่นนั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ มันไม่ใช่แค่งานไม่เกิดผลเท่านั้นแต่ว่าเกิดทุกข์ด้วย
การทำงานก็เป็นภาวนาแบบหนึ่ง ถ้าหากว่าเราวางจิตวางใจให้เป็น ใจเราอยู่กับปัจจุบัน ทำเหตุให้ดี เอาใจใส่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทำเสร็จแล้วนี่ มันจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยไป ให้ระลึกอยู่เสมอว่า การแบกถือของหนัก มันเป็นความทุกข์ การสลัดของหนักทิ้งลงเสีย เป็นความสุข ทีแรกเราไปยึดของที่มันให้ความสุขกับเรา ไม่ธรรมดาอะไรที่ให้ความสุขกับเรา เราก็ยึด และอยากให้มันสุขไปนาน ๆ อยากให้มันอยู่กับเราไปนานๆ แต่พอมันแปรเปลี่ยนไป หรือพอมีอะไรมากระทบ เราก็ทุกข์ทันที พอทุกข์แล้วมีความเศร้า มีความโกรธ ก็ยังแบกมันเอาไว้ทั้งที่มันก็ไม่น่าแบกเลย การแบกสิ่งที่ไม่ให้ความสุขกับเรา มันไม่น่าแบกเลย สิ่งที่ให้ความสุขกับเรานี่มันก็มีเหตุผล แต่การไปแบกสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา อันนี้มันไม่มีเหตุผลเลย แต่คนก็แบกกัน แบกความเศร้า ความโศก ความโกรธ และปล่อยให้มันครอบงำ บีบคั้น เผาลนในจิตใจ ถึงขนาดกินไม่ได้นอนไม่หลับ เราก็ยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ก็ยังแบกเอาไว้อยู่ ยังคิดย้อนนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปที่มันทำให้เจ็บปวด ทำให้โมโห ทำให้ขุ่นมัว แล้วก็ไม่ยอมวางสักที ถามว่าทุกข์แล้วทำไมถึงแบก ก็เพราะความลืมตัวนั่นแหล่ะ พอลืมตัวแล้ว แม้ตัวจะอยู่ในกลางกองเพลิงแล้ว ก็ไม่คิดจะถอนออกมา นี่คือทุกข์เพราะแบก ยังไม่ได้พูดถึงว่าไปทำร้ายคนอื่นก็เพราะแบกเหมือนกัน ยึดติดถือมั่นในความดี พอเขาไม่ดีอย่างที่เราคิดก็โกรธ ทำร้ายเขาหรือต้องการสั่งสอนเขา เพราะเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทำดีอย่างที่มันควรจะเป็น
การมีสติรู้ทันอารมณ์ของตัว รู้ทันความคิดของตัวนั้นจำเป็นมาก ยิ่งเชื่อ ยิ่งอยากจะตั้งมั่นในความดีมากเท่าไร ยิ่งต้องหมั่นตรวจดูใคร่ครวญมองตนอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าความดีที่เรายึด สามารถจะทำให้เราทำชั่ว ทำสิ่งตรงข้ามกับที่เราปรารถนาได้ ยิ่งยึดติดในความดีมากเท่าไร โอกาสที่จะทำชั่วก็มีมาก เหมือนกับเด็กคนที่ว่า อยากได้บุญแต่กลับทำบาป ก็เพราะความยึดติดในบุญนั้นแหล่ะ