แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
อาตมาได้มาพิจารณาถึงเหตุการณ์เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ก็อดคิดไม่ได้ว่า มีอะไรหลายๆอย่างกับเหตุการณ์เดียวกันเมื่อ 43 ปีก่อน เป็นความพ้องกันโดยบังเอิญในบางแง่ก็ว่าได้ พวกเราคงจำได้โดยเฉพาะคนที่อายุ 60 หรือ 50 กว่า 14 ตุลา 16 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เกิดความรุนแรงขึ้นกลางกรุงเทพ โดยเฉพาะแถวสนามหลวง ราชดำเนิน เรียกได้ว่ามีคนล้มตายบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งถึงเย็นวันที่ 16 ตุลา เหตุการณ์จึงสงบ เพราะว่าจอมพลถนอมกับจอมพลประภาสและก็พันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ บ้านเมืองจึงคืนสู่ความสงบ และคืนนั้นในหลวงก็มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ เข้าใจว่าเป็นการถ่ายทอดสด และประโยคแรกที่พระองค์ตรัสคือ “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค” อาตมาจำได้เลยตอนอายุ 16 “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค” และพระพักตร์ของพระองค์เศร้าหมอง เพราะว่ามีผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา แม้จะไม่มีผู้ใดมากล่าวเหมือนอย่างที่พระองค์ได้เคยมีพระดำรัสเมื่อ 43 ปีก่อน แต่หัวใจของทุกคนก็รับรู้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของวันมหาวิปโยค ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์จะแตกต่างกันมาก เหตุการณ์แรกเมื่อ 43 ปีที่แล้ว คนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นร้อย ตายเป็นเกือบร้อย บาดเจ็บกันอีกมากมาย และมีการเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง บ้านเมืองเกิดจลาจลวุ่นวาย แต่ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ไม่ได้มีคนล้มตายมากขนาดนั้น มีเพียงบุคคลท่านเดียวที่จากไป แต่ว่าเป็นคนสำคัญของชาติ คือในหลวงของเราพระมหากษัตริย์ แต่ว่าแม้จะมีการจากไปเพียงแค่บุคคลคนเดียวหรือพระองค์เดียว แต่ผู้คนก็เศร้าโศกเสียใจกันมาก
โดยเฉพาะเมื่อวานวันที่ 14 ตุลา ช่วงตอนเย็นอาตมาได้ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ พิธีเคลื่อนพระบรมศพ จากศิริราชมายังพระบรมมหาราชวัง ทั้งที่ศิริราชและตลอดสองเส้นทางจนถึงสนามหลวงหน้าพระบรมมหาราชวัง มีคนคิดว่าอาจจะเป็นแสนแต่งชุดดำบ้าง มีขาวบ้าง และทุกคนน้ำตานองหน้า ไม่มีเสียงดังอะไร ไม่มีเสียงดนตรีอะไร มีแต่เสียงรถ แต่ว่าในใจของผู้คนเชื่อว่าร่ำไห้ โดยเฉพาะที่สนามหลวง สนามหลวงเมื่อ 43 ปีก่อนเหมือนกับสมรภูมิสงครามเลย วันที่ 14 เสียงดังทั้งรถถังทั้งปืน ใครที่เป็นผู้ใหญ่ในช่วงเหตุการณ์นั้นอาจจะนึกภาพออก ตรงข้ามกับเหตุการณ์เมื่อวานที่ธรรมศาสตร์เงียบสงบ เงียบจนวังเวง แต่ว่าในใจผู้คนเรียกว่ามีความเศร้า มีทั้งความหนัก ความหนักอยู่ข้างใน หนักเพราะว่าเศร้าโศก ขณะเดียวกันเบาโหวง เบาโหวงเพราะว่าบางอย่างที่มีความสำคัญในชีวิตได้ขาดหายไป หายไปจากจิตใจ เป็นวันมหาวิปโยค
พูดได้เต็มปากว่า เมื่อวานนี้ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ เรียกได้ว่าเป็นวันมหาวิปโยค ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครเอ่ยคำนี้ขึ้นมาอย่างที่ในหลวงเคยตรัสไว้เมื่อ 43 ปีก่อน แต่พูดได้เต็มปากว่าเป็นวันมหาวิปโยคเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จะไม่เหมือนกันเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความเศร้าโศกเสียใจ แต่คิดว่าความเศร้าโศกเสียใจหรือความวิปโยคของคนไทยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา อาจจะใช้เวลาเยียวยานานกว่าเมื่อ 43 ปีที่แล้ว 43 ปีที่แล้วคนตายมากก็จริง แต่ว่าหลายคนรู้สึกว่าเป็นการตายที่คุ้มค่าเพราะว่าได้ชัยชนะคือประชาธิปไตย ส่วนผู้ที่สูญเสียชีวิต ครอบครัวก็ทำใจได้ เพราะว่าได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรชน และมีการพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติที่สนามหลวงในปีถัดมา เพราะฉะนั้นการเศร้าโศกเสียใจได้รับการเยียวยาได้รวดเร็วพอสมควร แม้ว่าจะไม่ถึงกับว่าสมานสนิท แต่ว่าความวิปโยคในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา คงใช้เวลาเยียวยานานพอสมควร เพราะว่าเหตุผลที่สำคัญก็คือว่าพระองค์ไม่ได้ฟื้นกลับมา เป็นความสูญเสียอย่างถาวรซึ่งต้องใช้เวลาในการเยียวยา เวลามีส่วนช่วย
แต่ว่าถ้าหากว่าเราอยากจะเยียวยาจิตใจของเราจากความโศกเศร้า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือว่าการที่เรานึกถึงน้ำพระทัยและความดีของพระองค์ เวลานึกถึงแล้วเนจิตใจจะเกิดเป็นกุศลขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความปิติ เกิดแรงบันดาลใจ ความเศร้าเป็นอกุศลธรรม แต่ว่าความปิติ แรงบันดาลใจ เวลาเรานึกถึงความดีของคนที่เราเคารพนับถือ จะเกิดกุศลธรรมขึ้นมาในใจ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเศร้าความโศกได้ และถ้าหากว่าไม่ได้นึกถึงเปล่าๆหรือเฉยๆ แต่ว่าได้ลงมือทำด้วย อย่างที่ได้พูดอยู่มาตลอด และใครๆ ก็พูดว่าสิ่งที่จะช่วยเยียวยาความเศร้าโศกดีที่สุดคือการดำเนินรอยตามพระองค์ หรือว่าทำตามพระปณิธานของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พวกเราก็คงทราบดีแล้วว่าการที่จะเดินตามพระองค์ ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าจะทำได้ ต้องมีเหตุปัจจัยที่สำคัญ คือใจ จะบำเพ็ญกรณียกิจแม้จะหนึ่งในร้อยของพระองค์ท่าน ต้องอาศัยใจ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ จะทำได้อย่างพระองค์แม้เพียงเศษเสี้ยวต้องมีใจอย่างพระองค์ หรือว่าพูดอีกอย่างคือว่ามีธรรมะในใจอย่างที่พระองค์มี และถ้ามีอยู่ข้างในแล้วการพูดการกระทำก็ออกมาได้ง่ายขึ้น ทีนี้ธรรมหรือความดีงามของพระองค์มีมากมาย แต่ถ้าสรุปสั้น ๆ มีแค่สิบซึ่งเราเรียกว่าทศพิธราชธรรม ธรรมะหรือคุณงามความดีของพระองค์ที่เราพูดกัน หรือที่ได้ยินได้ฟังมามากมายหลายประการ รวมทั้งพระราชกรณียกิจอีกมากมาย มารวมลงตรงที่ธรรมะ 10 ข้อหรือทศพิธราชธรรม ซึ่งแม้ว่าจะเป็นธรรมะสำหรับผู้ปกครอง แต่ว่าก็เป็นธรรมะที่เราควรจะน้อมนำมาใส่จิตใจของเราด้วย
สองข้อแรกคือสิ่งที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว คือทานและศีล อันนี้หลายคนทำอยู่แล้วทำเป็นประจำ ทานคือการให้ สละสิ่งของรวมถึงสละเวลา ศีลอย่างต่ำ ๆ ก็ศีล 5 ความหมายกว้างคือการควบคุมกายวาจาของตนไม่ให้ไปเบียดเบียนใคร แต่ในที่นี้เอาว่าเป็นศีล 5
ข้อที่ 3 คือปริจจาคะ แปลว่าบริจาค แต่ว่าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบริจาคเงินทอง มากกว่านั้นคือสละความสุขสบายส่วนตัว อันนี้เราเห็นได้จากพระองค์ ว่าพระองค์ที่จริงสามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ เพราะเป็นพระราชามหากษัตริย์ แต่ว่าพระองค์สละความสุขส่วนตัวออกไปบำเพ็ญกรณียกิจต่าง ๆ ทั้งในกรุง ไม่ใช่แค่เปิดงานอย่างผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ว่าลงไปหรือขึ้นไปถึงชนบทถิ่นทุรกันดาร
สมัยก่อนเส้นทางก็ลำบาก บางทีก็มีถนน แต่หลายแห่งก็ไม่มีถนนโดยเฉพาะที่เป็นภูเขาอย่างเช่นภาคเหนือหรือภาคอีสาน พระองค์เสด็จไปเดินเท้าก็บ่อย อันนี้เราเห็นตัวอย่างจากภาพก็ดี หรือจากคลิปวิดีโอ เห็นได้ว่าพระองค์โดดเด่นทางนี้ เรื่องของการเสียสละส่วนตัวความสุขส่วนตัว ซี่งเป็นธรรมะที่เราควรจะนำมาปฏิบัติเหมือนกัน บางทีหลายคนให้ทานรักษาศีล แต่ถ้าหากต้องสละความสุขส่วนตัว หรือแม้แต่จะมาอยู่ลำบาก เช่นจะมาอยู่วัด บางคนบอกยังไม่เอาเลย ลำบากไป จะให้ทานที่วัดในกรุงเทพก็เอา จะรักษาศีลที่บ้านก็ยังไหว แต่จะให้มาวัดนี่ไม่เอาเพราะว่าลำบาก อันนี้เรียกว่ายังไม่มีปริจจาคะ คือว่ายังหวงแหนความสุขส่วนตัว ซึ่งในหลวงของเราไม่มีอันนี้ ก็เรียกว่าเป็นแบบอย่างให้กับเราได้
ประการต่อมาคือความซื่อตรง ภาษาบาลีใช้ว่าอาชชวะ ความซื่อตรงคล้ายๆกับคำว่าสัจจะนั่นแหละ อันนี้เป็นลักษณะเด่นของพระมหากษัตริย์ มีคำพูดที่ว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ คือว่าพูดคำไหนเป็นคำนั้น ในหลวงของเราตั้งแต่ครองราชย์ใหม่ๆมีปฐมดำรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม เรียกว่าเป็นคำสัญญา ซึ่งพระองค์ก็รักษาคำมั่นสัญญานี้มาตลอดพระชนม์ชีพ ถ้าเราทำได้แม้เพียงส่วนเสี้ยวของพระองค์ท่าน คือมีความซื่อตรง มีความซื่อสัตย์ พูดคำไหนเป็นคำนั้น ถือว่าเราได้บำเพ็ญธรรมในข้อนี้เรียกว่าอาชชวะ
มัททะวะ ข้อที่ 5 คือความอยู่ง่ายไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง เรียกว่าสมถะเรียบง่าย อันนี้เป็นตัวอย่างที่เราเห็นได้จากพระองค์ เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน โดยเฉพาะในชนบทบางทีก็นั่งในกระท่อมสนทนากับชาวบ้าน ไม่มีอาสนะ ไม่มีเบาะอะไรจะมารองรับ พระองค์นั่งคุยกับชาวบ้าน บางทีเราเห็นภาพประทับอยู่บนถนนดูแผนที่ อันนั้นเข้าใจว่าคงเป็นภาคเหนือ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงมัททะวะ พลตำรวจเอกวสิทธ เดชกุญชรเล่าว่าเวลาที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปที่ไกลๆ ชนบททุรกันดาร บางทีพระองค์ขับรถเอง ไม่ได้มีมหาดเล็กขับให้ ทางขรุขระพระองค์ก็ขับ คนที่นั่งเบาะหลังคือมหาดเล็กคือเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่นั่ง ในหลวงเป็นคนขับเป็นพลขับ พอขับถึงแล้วพระองค์ก็ทำงาน สนทนากับชาวบ้าน ไปดูสถานที่ต่าง ๆ กว่าจะไปถึงที่บางทีต้องเดินไกล เสร็จภารกิจก็กลับมาขับรถต่อ ขับรถกลับ มหาดเล็กหรือว่าเจ้าหน้าที่นั่งอยู่เบาะหลังหลับไปด้วย มีโอกาสได้หลับได้พัก แต่ในหลวงไม่ได้พัก อันนี้เรียกได้ว่าแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระองค์ คือไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ทั้งที่สามารถที่จะอยู่สบายให้คนขับมาขับแทนพระองค์ได้ นี้เป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเรา
บางคนเพียงแค่เป็นพ่อแม่ของลูก ก็แสดงความเจ้ายศเจ้าอย่างกับลูก หรือว่าเป็นครูก็แสดงความเจ้ายศเจ้าอย่างกับนักเรียน หรือว่าเป็นเจ้านายแม้จะเป็นแค่หัวหน้ากอง หรือเป็นครูใหญ่ ผู้อำนวยการ ก็มีพิธีรีตองมากเหลือเกินกับครูผู้น้อย เป็นปลัดอำเภอหรือว่าเป็นนายอำเภอก็มีพิธีรีตองมาก อันนี้เรียกว่าขาดมัททะวะ ไม่ได้หมายถึงการไปคลุกคลีตีโมง มีระยะอยู่ แต่ว่าไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง เมื่อถึงเวลาที่จะทำอะไรโดยที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองก็ทำได้ ไม่ให้พิธีรีตองเป็นเครื่องขัดขวางโดยเฉพาะการใกล้ชิดกับพสกนิกรของพระองค์ หรือการทำงานให้สำเร็จ
ธรรมะ 5 ข้อแรกให้สังเกตว่าเป็นเรื่องของธรรมะฝ่ายบวกเช่น ทานศีล ให้ทานการรักษาศีล การสละความสุขส่วนตัวเพื่อทำประโยชน์ส่วนรวม ความมีสัจจะ อาชชวะ มัททะวะ ความอ่อนน้อมถ่อมตน 5 ข้อหลังเน้นหนักเรื่องธรรมะฝ่ายลบ เช่น ตปะ หรือ ตบะ คือการข่มใจ ข่มใจเป็นการข่มกิเลส ตามมาด้วยขันติ ขันติคือความอดทน สองข้อนี้ต่างกันยังไง เพราะคล้าย ๆ เป็นการข่มเหมือนกัน ตบะคือการข่มในแง่ที่ว่าข่มใจไม่ให้หลงใหลในความสุขส่วนตน หรือว่าความสุขสบายความเพลินเพลิน ไม่หลงใหลในสิ่งที่ปรนเปรอ พูดง่าย ๆ คือว่าไม่หลงใหลในวัตถุ ธรรมชาติของคนที่เป็นเจ้าคนนายคน ผู้ใหญ่มีอำนาจจะมีสิ่งปรนเปรอมาก ทั้งวัตถุรวมทั้งคำสรรเสริญ นี่ก็ต้องมีตบะก็คือว่าข่มใจไม่ให้ความเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้
ลองถามตัวเราเองว่าเราเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า หรือว่าพอเรามีความสุขสบาย เราก็เพลินหลงใหลไป อย่างเช่นที่พูดเมื่อสักครู่ เราติดสบายรึเปล่า ติดสบายไหม ไปที่ไหนต้องมีห้องติดแอร์ ต้องมีเบาะใหญ่ พอมาอยู่วัดก็อยู่ไม่ได้ และอย่างนี้จะดำเนินตามรอยพระองค์ได้อย่างไร เพราะวัดเรานี่สบายกว่าชนบทห่างไกลมาก โดยเฉพาะตามชายแดนซึ่งเป็นที่พระองค์เสด็จไปบ่อย ๆ เมื่อ 30 - 40 ปีที่แล้ว ต้องข่มใจอย่าไปเพลิดเพลินกับ ความสุขสบาย มีก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีแล้วติด แสดงว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมข้อนี้ คือไม่ได้ข่มใจ หลงปล่อยใจไปเพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ส่วนขันตินี่คืออดทน อดทนต่อสิ่งที่เป็นลบ เช่น งานที่ยากลำบาก เจองานมากยังไง แม้เหนื่อยกายยังไงก็ไม่ท้อ ถูกคนต่อว่านินทายังไงก็ไม่เสียกำลังใจ อันนี้คือไปเจอสิ่งลบ เจอความยากลำบาก เจอคำต่อว่าด่าทอ เจอคำเสียดสี นินทาว่าร้าย ไม่ท้อถอย ไม่เสียกำลังใจ อันนี้คือความอดทนในธรรมฝ่ายลบ ซึ่งต่างจาก ตปะหรือตบะ คือความข่มใจไม่เพลินในธรรมฝ่ายบวก อารมณ์ฝ่ายบวก โดยเฉพาะพวกโลกธรรม โลกธรรม 4 ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ หรือว่าสุข ถามตัวเราเองว่าเรามีอันนี้ไหม ถ้าไม่มีควรจะสร้างขึ้นมา
ต่อมาคือความไม่โกรธ อันนี้ยาก อักโกธะ แต่ถ้าเราทำทั้งสองข้อท้ายได้คือตบะกับขันติ จะทำให้เราเจออะไรก็ไม่รู้สึกขัดอกขัดใจได้ง่าย ๆ คนที่ติดสบายพอเจอสถานที่ที่ไม่สบายจะรู้สึกขัดใจ ทำไมไม่มีเครื่องแอร์ ทำไมไม่มีพัดลม ทำไมไม่มีเบาะ ทำไมไม่มีมุ้ง อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทำไมไม่มีน้ำแข็ง อันนี้ขัดใจเพราะติดสบาย หรือว่าถ้าไม่มีขันติไม่รู้จักอดทนต่อความยากลำบาก มาวัดก็บ่น ทางไม่ดี เกิดความขุ่นเคืองใจ อันนี้เรียกว่าอาจจะนำไปสู่ความโกรธ อักโกธะ ทำได้เหมือนกัน หรือถึงแม้ว่าเรามีความโกรธแต่เรารู้ทัน รู้ทันแล้วอาจจะไม่ต้องข่มความโกรธ เพียงแค่รู้ทันความโกรธก็จะบรรเทาเบาบาง เมื่อมีอักโกธะคือไม่โกรธแล้วการที่จะบำเพ็ญธรรมข้อต่อไปก็ง่าย อวิหิงสา คือการไม่เบียดเบียน
สองข้อสุดท้ายที่ว่านี้ คือ อักโกธะ อวิหิงสา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่มีอำนาจ เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ พ่อแม่มีอำนาจเหนือลูก ผอ.มีอำนาจเหนือลูกน้อง เจ้านายมีอำนาจเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา พอมีอำนาจจะระบายความโกรธใส่ได้ง่าย และเบียดเบียนอาจจะถากถางด้วยคำพูด บางทีมีอำนาจมาก ๆ ก็ใช้กำลัง เช่น ตบหัว อาจจะทำอย่างนี้กับลูก อาจจะทำอย่างนี้กับลูกน้อง เราก็ควรเรียนจากในหลวงในข้อนี้ คือว่า อักโกธะ ไม่โกรธ ไม่เบียดเบียน และข้อสุดท้ายเป็นการสรุปรวบธรรมะทั้งหลาย อวิโรธนะ คือความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม ไม่คลาดเคลื่อนในธรรม คือตั้งมั่นในธรรมนั่นเอง เริ่มตั้งแต่ในใจ คือว่าไม่ยินดียินร้าย เวลาเจออะไรมากระทบ ทำให้พอใจก็ไม่ยินดี จนกระทั่งลุ่มหลงประมาท หรือว่ายอมทำในสิ่งที่ชั่วร้ายเพื่อจะได้สิ่งนั้นมา อันนี้นำไปสู่การคอรัปชั่น คนที่ทำชั่วคอรัปชั่นเพราะว่าจิตใจไม่มีความมั่นคงภายใน เจอกามสุข เจอเงินทอง เจอโอกาสในการที่จะคดโกง ใจก็โอนเอน ในขณะเดียวกันพอเจอคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าเจออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แม้แต่เจออาหารที่ไม่อร่อยก็โมโห ขุ่นเคือง เกิดความยินร้าย และปล่อยใจให้ความยินร้ายครอบงำ
ที่จริงถ้าเราหมั่นเจริญสติ ในการที่เราจะเจริญในอวิโรธนะก็ทำได้ง่าย เพราะสติทำให้เราวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่ยินดีในอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ยินร้ายในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง รวมทั้งสัมผัส และอาจจะรวมไปถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจด้วย มีความโกรธเกิดขึ้นในใจ ก็ไม่ได้รู้สึกต่อต้านผลักไส ดูเฉยๆ เห็นเฉยๆ เรียกว่ารู้ซื่อๆ มีความยินดีเกิดขึ้นในใจก็ไม่ได้หลงใหลเคลิ้มคล้อยไปกับสิ่งนั้น ถ้าหากว่าเราน้อมนำเอาธรรมะ 10 ข้อนี้มาใช้ จะเป็นประโยชน์กับชีวิตของเรามาก จะทำให้การที่เราจะดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทเป็นไปได้ง่าย เป็นโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่น้อมนำธรรมะไว้ในใจ จะทำอย่างไร ๆ ก็ไม่สามารถเดินตามพระองค์ได้ เพราะว่าคนเราจะเดินตาม ต้องออกมาจากใจก่อน ถ้าใจไม่ไปเท้าก็จะไม่เดิน
ทีนี้บางคนอาจจะพูดว่าเราไม่ได้เป็นพระราชา ทศพิธราชธรรมนี่ไว้ใช้สำหรับผู้ปกครอง แต่ที่จริงถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เราก็ต้องมีคนในปกครองอยู่ อย่างต่ำ ๆ ก็ลูก หรือว่ากว้างออกไปก็ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชา และเราก็เป็นผู้ปกครองเหมือนกันทุกคน โดยเฉพาะมาถึงวัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปกครอง เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีทศพิธราชธรรมด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือนายกรัฐมนตรีก็ตาม ที่สำคัญอย่างน้อยคือเราก็ต้องครองตนให้ได้ เราไม่มีใครเลย เราไม่ได้เป็นพ่อแม่ใคร แต่เราก็ต้องครองตน ครองใจของเรานั่นเอง ครองใจของเราไม่ให้มีกิเลสครอบงำ ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมที่เอามาครองใจได้ เอามาใช้ครองตนไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำ ไม่ให้ฉวยโอกาสเข้ามาใช้เราทำสิ่งชั่วร้ายอย่างที่พูดไว้เมื่อเช้า เพราะฉะนั้น ในโอกาสอย่างนี้ นอกจากเราจะมาแสดงความรู้สึกเศร้าโศก อาลัยอาวรณ์ในในหลวงของเราแล้ว ให้เราตั้งมั่นในการที่จะทำความดี เจริญรอยตามพระองค์ท่าน และก็สิ่งที่เราจะทำได้เลยก็คือ น้อมนำธรรมะที่พระองค์ปฏิบัติ เอามาใช้กับตัวเรา ตั้งแต่เดี๋ยวนี้วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ปริจจาคะ อาชชวะ มัททะวะ ตบะ ขันติ อักโกธะ อวิหิงสา และอวิโรธนะ อย่างน้อยใน 5 ข้อแรก พยายามทำให้ได้ แล้ว 5 ข้อหลังก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น