แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งที่เราทุกคนต้องประสบไม่ช้าก็เร็ว นั่นก็คือ ความตาย ดูที่เวลาเราสวดมนต์ในตอนทำวัตรเช้า มีข้อความตอนหนึ่งว่า เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เป็นผู้ที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ความทุกข์เป็นเบื้องหน้ามีหลายอย่าง เช่น ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย ในระหว่างนั้นอาจจะมีความสุข มีความสำเร็จ แต่ว่าสุดท้ายก็จบสิ้น เพราะความตายมาพรากทุกอย่างไปจากเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าความตายพรากเราไปจากโลกนี้
เวลาพูดถึงความตาย ผู้คนรู้สึกใจประหวั่น หวาดกลัว เพราะว่าในส่วนลึกของคนเราย่อมปรารถนาความเป็นอมตะ ปรารถนาความสืบเนื่องของชีวิต อันนี้เป็นความปรารถนาของจิตใต้สำนึกของเราเลยทีเดียว แต่ ในเมื่อเราจะต้องตาย เราจะทำอย่างไร เราจะเผชิญกับความตายอย่างไร เผชิญโดยใจไม่ทุกข์ คำตอบก็คือการหมั่นเจริญมรณสติ หรือว่า มรณานุสสติ นี่เป็นวิธีการหนึ่ง ไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะทำให้เราสามารถที่จะรับมือกับความตายได้ ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ทุกข์ ไม่กลัว ไม่วิตก แต่ยังสามารถที่ทำให้เราก้าวข้ามความตายไปได้ด้วยดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่าทำให้เราตายดี ที่จริงมรณสติหรือมรณานุสสติไม่ใช่เพียงแค่ช่วยให้เราตายดีเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีด้วยหรือช่วยให้เราอยู่ดีด้วย หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าช่วยทำให้เราอยู่ดีได้ยังไง อันนี้จะอธิบายต่อไป แต่ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มรณานุสสติ หรือ มรณสติคืออะไร
มรณสติ หรือ มรณานุสสติ เป็นกรรมฐานแบบหนึ่ง หรือว่าเป็นวิธีภาวนาแบบหนึ่ง กรรมฐานในพระพุทธศาสนานี่มีมาก พระอรรถกถาจารย์ท่านจำแนกเอาไว้ว่ามีสี่สิบวิธี เฉพาะเรื่องอนุสสติอย่างเดียวก็สิบแล้ว อนุสสติแปลว่า ระลึกนึกถึง ระลึกนึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างที่เราสวดเป็นการเจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ การเจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ทำได้หลายอย่าง ไม่ใช่แค่สวดมนต์อย่างเดียว การที่เรามีพระพุทธรูป เป็นเครื่องระลึกนึกถึงในพุทธคุณ อันนี้เป็นพุทธานุสสติได้ นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว การระลึกถึงศีล หรือความดีที่เราได้ทำ สีลานุสสติ การระลึกถึงเทวดาซึ่งเป็นที่ตั้งของศรัทธาก็เป็นอนุสสติอย่างหนึ่ง
และมรณานุสสติหรือเรียกสั้นๆว่ามรณสติเป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่ละวิธีมีจุดหมายต่างกัน พุทธา ธัมมา สังฆานุสสติ จุดหมายคือทำให้เราเกิดศรัทธาในพระรัตนตรัย เพื่อจะได้มีจิตใจมั่นคงในการทำความดี ทำให้เกิดปิติ ปราโมทย์ ส่วนมรณานุสสติ หรือมรณสติ วัตถุประสงค์คือเพื่อให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทมีส่วนสำคัญมากในการช่วยทำให้เรามีชีวิตที่ดีงาม เพราะถ้าเราประมาทเมื่อไหร่ เราสามารถจะปล่อยชีวิตไปในทางตกต่ำได้ หรือว่าเพลิดเพลินในความสุข โดยเฉพาะกามสุข ซึ่งมีเสน่ห์ในการดึงดูดรวมทั้งมีกำลังในการครอบงำจิตด้วย ซึ่งถ้าเกิดว่าเราปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกามสุขหรือว่าความสุขแบบโลกๆ สิ่งนั้นสามารถทำให้ชีวิตเราย่ำแย่ อาจจะทำให้เรา กล้าทำชั่ว กล้าผิดศีล อย่างคนที่คดโกง คอรัปชั่น หรือว่าไปลักขโมย หรือว่าฆ่าผู้คน ก็เกิดจากการที่ไปหลงใหลในทรัพย์สินเงินทอง ในความสำเร็จ ในชื่อเสียงเกียรติยศ ในอำนาจ พอหลงใหลมากๆ ทำให้พร้อมที่จะกำจัดคนที่ขัดขวาง หรือพร้อมที่จะไปแย่งชิงของคนอื่นมา ทำให้ถลำไปในทางต่ำ ชีวิตก็สามารถจะเข้าสู่อบายภูมิได้ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่ามรณสติ อานิสงส์อย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มากคือ ทำให้เราคุ้นชินกับความตาย มรณสติทำให้เราคุ้นชินกับความตายได้อย่างไร ต้องมาอธิบายเพิ่มเติมว่า มรณสติต้องทำอย่างไร
มรณสติจะมีอยู่สามส่วน ส่วนแรกคือการระลึกถึงความจริง หรือการตระหนักถึงความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน ความจริงนั้นคือว่า เราทุกคนต้องตาย แต่ในความแน่นอนมีความไม่แน่นอนสูงมากคือเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ อาจจะตายสามสิบปีข้างหน้า ยี่สิบปีข้างหน้า สิบปีข้างหน้า หรือปีหน้า อาทิตย์หน้า หรืออาจจะตายคืนนี้ก็ได้ ไม่มีอะไรแน่นอน นี่คือส่วนที่หนึ่งของการเจริญมรณสติ คือระลึกถึงความแน่นอนว่าเราต้องตาย และไม่แน่นอนว่าจะตายที่ไหน เมื่อไหร่ ส่วนที่สองนั้นก็คือการพิจารณาต่อไปว่า หรือถามตัวเองว่า ถ้าเกิดเราจะตายพรุ่งนี้ คืนนี้ เราพร้อมรึยัง เราพร้อมที่จะตายหรือยังถ้าเกิดว่าเราจะต้องตายคืนนี้ พรุ่งนี้ หรือเร็วๆ นี้ หมายความว่า หนึ่ง เราทำดีมาพอหรือยัง สอง เราทำหน้าที่เสร็จสิ้นหรือยัง หน้าที่นี้อาจจะหมายถึงหน้าที่ในฐานะลูก ในฐานะพ่อแม่ ในฐานะบุพการี ในฐานะคนของศาสนา อาจจะรวมถึงในฐานะของคนในหน่วยงาน องค์กรด้วย หน้าที่เหล่านี้เราทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และสาม เราพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งหรือเปล่า
เพราะว่าเวลาตายหมายถึงว่าเราต้องพรากจากทุกอย่างที่เคยมีและเคยเป็น หรือที่กำลังมีและกำลังเป็น ทุกอย่างเลย มีแค่สองสิ่งที่จะตามติดไปในภพหน้า ก็คือบุญและบาป บุญและบาปเท่านั้น ที่เหลือเอาไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ คนรัก ลูก พ่อแม่ บริษัท บริวาร นี่คือวิธีการเจริญมรณสติ หรือว่าเป็นแนวทาง คือจะทำอย่างไรก็ได้ แต่ว่าให้มีสองส่วนนี้คือหนึ่ง ความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราซึ่งคือความแน่นอนกับความไม่แน่นอน สอง การถามตัวเอง สำรวจตัวเองว่าเราพร้อมหรือยังหากจะต้องตายในวันนี้ วันพรุ่ง ถ้าหากว่าทำไม่ครบ อาจจะทำแค่ข้อเดียวคือฉันจะต้องตายแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ป่วย ป่วยเป็นมะเร็ง ความตายนี่มาปรากฏชัดมากเลยว่าจะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน หรือบางคนอาจจะยังหนุ่มยังสาวอยู่ แล้วนึกถึงความตายของตัวเองว่าจะต้องเกิดขึ้น จิตใจจะหดหู่ ห่อเหี่ยวได้ อันนี้เพราะว่าทำไม่เป็น หรือทำไม่ถูก หรือทำไม่ครบถ้วน ถ้าหากว่าทำส่วนที่สองด้วย คือถามตัวเองว่าเราพร้อมไหม เราทำความดีมามากพอหรือยัง เราทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือยัง เราพร้อมจะปล่อยวางสิ่งต่างๆหรือยัง ถ้ามีส่วนที่สองนี้ด้วย ทำให้เกิดความขวนขวาย ทำให้เกิดความกระตือรือร้น ทำให้เกิดสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า สังเวช หรือ สังเวชะ
สังเวชะ ภาษาบาลีหมายถึงความรู้สึกตื่น ความรู้สึกกระตุ้นเร้าให้เร่งขวนขวาย ไม่ใช่แปลว่าสมเพชเวทนา หรือว่าหดหู่ อย่างที่เราใช้คำว่าสลดสังเวช อันนี้เป็นสังเวชแบบไทย ไม่ใช่สังเวชแบบธรรมะหรือแบบบาลี สังเวช หรือว่า สังเวชะที่อยู่ในสังเวชนียสถานสี่ตำบลเนี่ยความหมายคืออันนี้ คือเราไปสังเวชนียสถานเพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความไม่ประมาทเพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความขวนขวายในการทำความเพียรเพื่อการพ้นทุกข์ เราไปสังเวชนียสถานไม่ใช่เพื่อให้เกิดความสลดสังเวช แต่เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในการทำความเพียรในการปฏิบัติธรรม ไปสังเวชนียสถานแล้วไม่เกิดความตื่นตัวอะไรขึ้นมาเลย ถือว่าไปไม่ถึง แล้วถ้าไปแล้วรู้สึกสลดสังเวชก็ผิดเหมือนกัน อันนื้คือจุดมุ่งหมายของสังเวชนียสถาน ซึ่งสังเวชะนี้สามารถจะเกิดขึ้นได้แม้เราจะไม่เคยไปเลย ด้วยการที่เราเจริญมรณสติอย่างถูกต้อง
มรณสติช่วยทำให้เราตายดีแล้วอยู่ดี หมายความว่าอย่างไร เอาตายดีก่อน คือเมื่อเราเจริญมรณสติบ่อยๆ ทำให้เราตื่นกลัวต่อความตายน้อยลง เพราะว่าเราคิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ความตายของใคร ความตายของเรา ใหม่ๆ จิตใจจะต่อต้าน แต่พอเราคิดอยู่บ่อยๆ คิดอยู่บ่อยๆ จิตใจจะเริ่มยอมรับได้ ว่านี่คือความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา แล้วเมื่อใจเราเริ่มคุ้นชินกับความตาย เราจะกลัวความตายน้อยลง การกลัวความตายน้อยลงเป็นเหตุผลอันหนึ่งที่จะทำให้เราตายดีได้ เพราะว่าถ้าเกิดกลัว ตื่นตระหนก ในเวลาใกล้จะตาย จิตเป็นอกุศลนอกจากทำให้ทุรนทุรายก่อนจะตาย เนื่องจากจิตเป็นอกุศลในขณะที่ตาย ก็จะไปอบายได้
เพราะว่าสุคติหรือทุคติขึ้นอยู่กับจิตสุดท้าย ภาษาบาลีใช้คำว่า มรณาสันนวิถีจิต หรือบางทีเราก็ใช้คำว่าอาสันนกรรม มาแทนได้เหมือนกัน อาสันนกรรมแปลว่ากรรมจวนเจียน หรือว่าความรู้สึก หมายถึงสภาวะของจิต ก่อนที่จะตายเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าอกุศลจะไปทุคติ ถ้ากุศลก็ไปสุคติ อันนี้ความกลัวเป็นตัวนึงที่ทำให้จิตเป็นอกุศลได้ โดยเฉพาะเมื่อกำลังจะตาย แต่ถ้าเกิดว่าเราเจริญมรณสติบ่อยๆ ทำให้เราเริ่มคุ้นชินกับความตาย ยอมรับความตายได้มากขึ้น เมื่อถึงเวลาความตายมาประชิดตัว เราก็ไม่ตื่นตกใจมาก อาจจะตื่นตกใจสักพักแล้วก็ตั้งสติได้ ยอมรับ เพราะว่าเราได้เจริญมรณสติเป็นประจำ ก็ทำให้เราสามารถที่จะเผชิญความตายได้โดยที่ไม่ตื่นตระหนก ไม่สะท้าน อันนี้ก็ทำให้ไม่ทุรนทุรายเวลาตาย ทำให้ไม่เกิดภาวะที่เรียกว่าหลงตาย หลงตายเป็นภาษาโบราณ คำโบราณ แปลว่า ตายแบบไม่มีสติ ตายแบบทุรนทุราย ใครหลงตายถือว่าตายไม่ดี
การเจริญมรณสติในแง่หนึ่งเหมือนกับการซ้อมตาย คนเราจะทำอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่นี่ต้องซ้อม สมมติว่าโยมต้องไปพูดต่อหน้าคนเป็นหมื่น ไม่เคยมาก่อนเลย พูดต่อหน้าคนมากมายขนาดนี้ จะทำยังไง ก็ต้องซ้อม เช่น ซ้อมพูดหน้ากระจก เบื้องต้นซ้อมพูดที่หน้ากระจก หลังจากนั้นก็เริ่มซ้อมพูดต่อหน้าคนรู้จักสักสิบคน ยี่สิบคน หลังจากนั้นก็ไปพูดต่อหน้าคนสักพันคนเพื่อทำให้เกิดความคุ้น ความชิน ทำให้ความประหม่าน้อยลง ต้องซ้อมแบบนี้ ถึงเวลาที่จะต้องไปขึ้นเวที เช่น ไปพูดต่อหน้าคนที่มาชุมนุมที่สนามฟุตบอลราชมังคลาสถาน คนหลายหมื่น เราจะประหม่าน้อยลงเพราะว่าเราเคยซ้อมมาก่อน ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยขึ้นเวทีอย่างนั้นมาเลย
ฉันใดก็ฉันนั้น ความตายไม่เคยเจอ แต่ว่าเราสามารถจะซ้อมได้ ซ้อมกับในสถานการณ์ที่สมมติ ซ้อมสมมติว่าเราตาย เรียกว่าซ้อมตาย ถ้าเราซ้อมตายบ่อยๆ ก็ทำให้เรากลัวน้อยลง พอถึงเวลาตายจริงๆ เราจะไม่ตื่นตระหนกมาก อันนี้คือประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเลยของการเจริญมรณสติคือช่วยทำให้เราตายดี ตายดีในความหมายที่ว่า เราไม่กลัว เราไม่ตื่นตระหนก หรือถึงมีก็น้อยลงเพราะว่าได้ผ่านการซ้อมมา ในขณะเดียวกันในกระบวนการเจริญมรณสติ ถ้าเราเจริญมรณสติถูกต้อง จะฝึกให้เรารู้จักการปล่อยวาง เมื่อเราฝึกปล่อยวางบ่อยๆ ปล่อยวางบ่อยๆ ถึงเวลาเราจะต้องตาย เราก็จะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น อุปสรรคทำให้ตายดีได้ยาก หนึ่ง ความกลัว สอง ความยึดติด ความหวงแหน ความอาลัย ปล่อยวางไม่ได้ เมื่อเจริญมรณสติดีแล้ว เราก็จะเรียนรู้ถึงการปล่อยวาง หรือเรียนรู้ในการที่จะทำใจยอมรับความพลัดพราก ไม่ใช่แค่ทรัพย์สมบัติ แต่ว่าพลัดพรากจากคนรักเช่นลูก พ่อแม่ สามีภรรยา เมื่อถึงเวลาเราจะต้องตาย เราจะต้องพลัดพรากจากทุกอย่างแล้ว เนื่องจากเราได้ฝึกมาบ่อยๆ ฝึกมาบ่อยๆ ถึงเวลาเราก็จะปล่อยวางได้ง่าย
ถ้าปล่อยวางไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ก็จะมีอาการทุรนทุราย บางคนตาค้างจนตาย ตาไม่ยอมปิดเลยเพราะห่วงลูก ก่อนตายแม่ซึ่งเป็นมะเร็งก็ถามแต่ลูกคนสุดท้อง อายุสิบขวบ ห่วงลูกเพราะว่า พี่ชายสองคนติดยาแล้วก็ติดคุก ห่วงว่าลูกคนสุดท้องจะเป็นเหมือนพี่ชาย ถามอยู่นั่น พอตายตาก็เปิด พยาบาลพยายามปิดเท่าไหร่ก็ปิดไม่ได้ วันรุ่งเช้าญาติมารับศพ เห็นตาเปิดก็เลยจุดธูปบอกกับวิญญาณของผู้ตายว่า หลานคนนี้ไม่ต้องห่วง ฉันจะรับไปดูแลเอง พอพูดเสร็จ ปิดเปลือกตาก็ปิดได้ แบบนี้คงไม่ใช่ความบังเอิญ คงเป็นเพราะว่า ผู้ตายเป็นห่วงลูก แต่พอมีญาติมาพูดให้คลายความกังวล ตาก็ปิดได้ อาการเหล่านี้เรียกว่าตายตาไม่หลับ ตายไม่ดี ตายไม่สงบ เพราะความห่วงลูก บางคนห่วงเมีย
มีคุณลุงคนหนึ่งยากจนมาก ตอนจะตายเขาก็บอกเมียว่า ถ้าฉันตาย อย่าไปกู้หนี้ยืมสินมาทำงานศพหรือแม้แต่ซื้อโลง ไม่มีเงินก็เอาศพยกให้โบสถ์คริสต์ไป แล้วเขาก็เฝ้าพร่ำย้ำเตือนภรรยาว่าอย่าไปยืมเงินมาทำงานศพเด็ดขาด พอตายตาเขาก็เปิด ไม่ปิด บังเอิญพยาบาลที่ดูแลเคสนี้รับรู้ถึงความห่วงใยของคุณลุงนี้มาตลอด ก็พยายามวิ่งเต้นสวัสดิการของโรงพยาบาลจนกระทั่งได้เงินมาก้อนหนึ่ง ได้มาสองหมื่น พอรู้ว่าผู้ตายตาเปิดก็บอกภรรยาว่า คุณป้ารีบไปบอกลุงว่าไม่เป็นหนี้แล้ว ได้เงินมาแล้วสองหมื่น ทำศพได้ ป้าก็รีบไปเลย แล้วก็ไปบอกข่าว บอกลุงที่ตายไปแล้วว่า ไม่ต้องห่วงแล้ว ไม่เป็นหนี้แล้ว มีเงินทำศพแล้ว เสร็จแล้วก็เอามือลูบตา ตาก็ปิด เราจะเจอเรื่องแบบนี้อยู่บ่อยๆ คนที่ตายไปแล้วแต่ว่าตาไม่ยอมปิดเพราะมีความห่วงกังวล หรือบางคนยังไม่ตายเลยแต่ว่ากระสับกระส่าย ทุรนทุรายจนกระทั่งคู่รักอาจจะเป็นภรรยาบอกสามีว่า จะดูแลลูกให้หรือว่าสามีบอกภรรยาว่าจะดูแลลูกให้ พอให้ความมั่นใจแบบนี้เขาก็ไปสงบได้ อันนี้เป็นตัวอย่างว่าถ้าใจมีความห่วง มีความอาลัย ตายสงบได้ยาก เพราะอะไร เพราะว่ายังไม่ยอม ยังยึดติด ยังปล่อยวางไม่ได้ เมื่อปล่อยวางไม่ได้ก็ต้องมีการต่อสู้ขัดขืนกับความตาย แต่ถ้าเกิดว่าเจริญมรณสติบ่อยๆ แล้วเราเจริญมรณสติเป็นเราจะปล่อยวางได้ง่าย คือว่าปล่อยวางเราก็ปล่อยวางได้แล้วก็พร้อมไป อันนี้คืออานิสงส์ว่าการเจริญมรณสติทำให้ตายดี อันนี้พูดแบบย่อๆ
อันนี้เจริญมรณสติจริงๆ แล้วนี้ไม่ใช่แค่ให้ตายดี ยังช่วยให้อยู่ดี อยู่อย่างมีความหมายและก็มีความสุขด้วย ตายดี เราไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาจจะสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้าก็ได้ แต่ในขณะที่ยังไม่ตาย ในขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ถ้าเราเจริญมรณสติอยู่เนืองๆ ทำให้เรามีสิ่งกระตุ้นเตือนให้หมั่นทำความดี เช่นเมื่อเราเจริญมรณสติ เราถามตัวเองว่าเราทำความดีมาพอหรือยัง ถ้าเรายังทำความดีไม่พอ เราก็ต้องพยายามทำความดีมากขึ้น หลายคน เนื่องจากไม่เคยระลึกถึงความตาย ก็เผลอคิดว่าตัวเองจะอยู่ค้ำฟ้า เพราะฉะนั้นก็ใช้ชีวิตไปเพื่อการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง เพื่อความสำเร็จ ความยิ่งใหญ่ในทางโลก หรือว่าเพื่อความสนุกสนาน เที่ยวเตร่สนุกสนาน เหมือนกับว่าจะไม่มีวันตาย หรือว่าเที่ยวเตร่สนุกสนาน เหมือนกับว่าจะไม่มีวันเจ็บ ไม่มีวันป่วย แต่พอเราระลึกถึงความตายขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อเราเจริญมรณสติ หรือเมื่อเราได้เห็นความตายของผู้อื่น อาจจะเป็นความตายของเพื่อนเรา ยังหนุ่มอยู่เลย ยังสาวอยู่เลย อายุยี่สิบ ตายซะแล้ว จะสะเทือนใจมากเลย รู้เลยว่าสักวันหนึ่งเราก็อาจจะเป็นอย่างเขา หลายคนชีวิตเขาเปลี่ยนเลย จากที่เคยใช้ชีวิตแบบสำมะเลเทเมา ไร้สาระ เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่ามีความหมาย
การเจริญมรณสติทำให้เราเกิดความไม่ประมาท และความไม่ประมาทนี้เป็นคำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ปัจฉิมโอวาทพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์จะปรินิพพาน พระองค์มีคำสอนแค่สองบรรทัด ต่างจากปฐมเทศนา ปฐมเทศนามีประมาณสิบหน้า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปัจฉิมโอวาทนี่สองบรรทัด สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา หมายถึงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ คนเรากำลังจะตายนี่เราจะต้องพูดในสิ่งที่เรากลั่นกรองมาว่าสำคัญ พระพุทธเจ้านี่กลั่นกรองมาเหลือแค่สองบรรทัด พระพุทธเจ้าพูดถึงความไม่ประมาทโดยอ้างอะไร อ้างว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงก็คือว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย โดยที่พระองค์ก็กำลังจะเป็นอย่างนั้นก็คือกำลังจะปรินิพพาน การเจริญมรณสติ ถ้าเราทำถูก ทำให้เราเกิดความไม่ประมาท ไม่ประมาทในชีวิต ก็คือว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย เมื่อใครก็ตามที่ตระหนักตรงนี่ก็จะต้องได้คิดว่าแล้วที่เราทำ มีคุณค่าไหม ทรัพย์สมบัติที่เราสะสมมา จะมีประโยชน์อะไรแค่ไหน ถ้าหากว่าเราต้องตายเอาไปไม่ได้ สิ่งนี้ทำให้คนนี่ได้สติที่จะไม่เอาแต่หาเงินหาทองจนลืมตัว จนลืมการทำความดี หรือว่าสนุกสนานจนไม่ได้นึกถึงการใช้ชีวิตที่มีคุณค่า
หลายคนอาจจะคิดว่า เรื่องความดีก็ดี เรื่องทำบุญก็ดี เรื่องปฏิบัติธรรมก็ดี จะขอทำตอนแก่ได้ไหม แต่ถ้าเราเจริญมรณสติ เราจะรู้เลยว่าอาจจะไม่ได้แก่ก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ หลายคนบอกว่าลูกอ่ะเอาไว้อีกสิบปีได้ไหม ตอนนี้ขอทำงานก่อน ตอนนี้งานดีมากเลย ขอกอบโกยก่อน ขอทำงานก่อน ตอนนี้งานเข้ามามากเลย อีกสิบปีนี่ค่อยให้เวลากับลูก เคยถามตัวเองหรือเปล่าว่าเราจะอยู่ถึงไหมสิบปีข้างหน้า มีพิธีกรรายการโทรทัศน์หนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงมากเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว เมื่อตอนนั้นเขาจบมาจากอเมริกา แล้วจับพลัดจับผลูมาเข้าสู่วงการโทรทัศน์ วงการบันเทิง งานเข้ามามากมายก็เลยทำงานถือว่าเป็นโอกาส ไม่ควรปล่อยให้โอกาสทองหลุดมือไป เขาก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอีกสักยี่สิบปีแล้วที่เหลือนี่จะให้เวลากับครอบครัว แต่เขาทำได้แค่สิบปี เขาก็เป็นมะเร็ง แล้วมะเร็งนี่รักษาเท่าไหร่ เงินเท่าไหร่ที่มีนี่ก็ไม่หาย ก็กลายเป็นว่ายี่สิบปีที่ตั้งใจว่าจะทำงานเต็มที่ก็ทำไม่ได้ แล้วความคิด ความฝัน ความหวังว่าจะได้มีเวลาในช่วงกลาง ช่วงท้ายของชีวิตในการอยู่กับครอบครัวก็ไม่สำเร็จ ถึงตอนนั้นเราบอกเลยว่า เขาเคยพูดว่า ถ้าหากมีชีวิตได้ มีชีวิตยืนยาวนี่ขอให้เวลากับครอบครัว แต่ตอนนั้นก็กลายเป็นคนป่วยไปเสียแล้ว
ถ้าเราตระหนักว่าความตายสามารถเกิดขึ้นได้กับเราตลอดเวลา เราจะไม่มัวผัดผ่อนในเรื่องเหล่านี้ เรื่องการปฏิบัติธรรมก็ดี การทำความดี และการให้เวลากับครอบครัวเช่นลูก เราจะไม่ผัดผ่อนง่ายๆ เพราะเรารู้ว่า เราตายได้ทุกเมื่อ มีภาษิตทิเบตบอกว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน อย่าได้คิดว่ามีพรุ่งนี้ก่อนแล้วค่อยมีชาติหน้า สำหรับหลายคนนี่พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้า มีคนประมาณแสนห้าหมื่นคนที่ วันนี้คือวันสุดท้ายของพวกเขา แล้วเขาก็ไม่รู้ด้วยว่าเป็นวันสุดท้าย ส่วนใหญ่ทั้งโลกประมาณแสนห้าหมื่นคน วันนี้คือวันสุดท้ายของเขาพ้นจากวันนี้ไปคือชาติหน้า และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเรานี่เป็นหนึ่งในแสนห้าหรือเปล่า อาตมาก็ไม่แน่ใจว่าเป็นหนึ่งในแสนห้านี่หรือเปล่า
การเจริญมรณสตินั้นเตือนว่าความตายเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นสิ่งดีๆ ที่ควรทำอย่าผัดผ่อน ประโยชน์ข้อแรกของการเจริญมรณสติในเรื่องของการช่วยให้เกิดชีวิตที่ดีคือหนึ่ง ช่วยทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน อันนี้พูดสำหรับคนที่รู้ว่า อะไรดีแต่ว่าไม่ค่อยมีเวลา หรือว่าเห็นว่าเอาไว้ทำวันหลัง กับพ่อแม่ก็เอาไว้ทำวันหลัง ตอนนี้ขอทำงานก่อน ตอนนี้ขอเที่ยวก่อน อันนี้ประมาท มีคนหนึ่ง ยายป่วย ชายหนุ่มคนนี้เขาอยู่กรุงเทพ ได้ข่าวว่ายายป่วยมาสองสามวันแล้ว ที่จริงไม่ใช่ป่วยสองสามวันเป็นอาทิตย์แล้ว เสาร์ อาทิตย์เขาก็เลยไปเยี่ยมยาย แต่ว่าวันที่ไปถึงนี่ ก็ประมาณเย็นแล้ว แทนที่เขาจะเดินไปหายาย ตรงไปหายาย ตรงปากซอยของบ้านยายเป็นบ้านเพื่อน ไม่ได้เจอกันนาน ก็เลยไปสังสรร สังสรรกันทั้งคืนกะว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าเดี๋ยวค่อยไปเยี่ยมยายแล้วกัน ยายคงไม่รีบไปหรอก ปรากฏว่าผิดคาด ยายตายคืนนั้น เขาเสียใจมาก ยายนี่ก็เลี้ยงเขามา เขาก็ไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่กับยาย ยายป่วยแทนที่จะมาเยี่ยมยายเลย ก็มาเหมือนกันแต่ประมาท อันนี้เรียกประมาท ก็คือการคิดว่าความตายนี่จะไม่มาเร็วหรอก แต่กรณีนี้เป็นความตายของคนที่เรารัก ไม่ใช่ความตายของเรา แต่ได้ผลเหมือนกันก็คือว่าพอไม่นึกถึงนี่ก็ประมาท พอประมาทแล้วก็เลยผัดผ่อน พอผัดผ่อนแล้วก็เลยปล่อยโอกาสทองหลุดมือไป
ประโยชน์ของมรณสติ คือ หนึ่ง ทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน สอง ช่วยทำให้เราปล่อยวางในสิ่งที่เราชอบยึดติด ที่จริงสองข้อนี้ก็เป็นประโยชน์ของการช่วยให้ตายดี เพราะว่าเวลาเราเจริญมรณสติ แล้วเราทำบ่อยๆ บางครั้งเราเจริญมรณสติแล้วเรารู้สึกนึกถึงแม่ แล้วเราเสียใจ นึกถึงพ่อแล้วเราร้องไห้ เพราะว่าไม่เคยไปเยี่ยมท่านเลย นี่เราจะตายแล้วหรือนี่ หลายคนจะรู้สึกอย่างนี้ ถ้าเจริญมรณสติจริงๆ พอทำเสร็จ วันรุ่งขึ้นจะเกิดความตื่นตัว เห็นความจำเป็นในการที่จะต้องไปเยี่ยมท่าน ต้องรีบไป แล้วถ้าเกิดเราจะทำ จนกระทั่งที่ไม่มีอะไรที่คาใจ ถึงเวลาตายก็ตายสงบ ไม่ใช่ว่าเวลาจะตายก็มานึกเสียดายว่าเราไม่มีเวลาไปดูแลแม่เลย ไม่มีเวลาไปดูแลพ่อ เกิดความรู้สึกผิด อันนี้ก็ทำให้ตายไม่ดี
แล้วที่อาตมาพูดว่าการตายไม่ดีนี่เกิดเพราะความกลัว สองความห่วงหาอาลัย อีกอันหนึ่งคือความรู้สึกผิด ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นจากการที่เราละเลย เราผัดผ่อนในสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าเราเจริญมรณสตินี่ทำให้เราขวนขวายกระตือรืนร้น ไม่ผัดผ่อนอะไรง่ายๆ ซึ่งถ้าเกิดเราทำแล้ว จู่ๆ ตายทันทีเลยก็ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ แต่ถ้าเกิดไม่ตายก็มีความหมาย ก็มีประโยชน์อยู่ เพราะว่าทำให้ความสัมพันธ์หลายๆครอบครัวดีขึ้น ทำให้ในการมีชีวิตของเรามีความสุขได้ง่ายขึ้น อันนี้เรื่องของการขวนขวายในสิ่งที่ชอบผัดผ่อน
ประการที่สองปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติด อย่างที่อาตมาบอกคือคนเราถ้าเกิดว่า เวลาเราเจริญมรณสติ เราจะรู้เลยว่าเราติดตรงไหน เราติดเรื่องลูก เราติดเรื่องพ่อ เราติดเรื่องทรัพย์สมบัติ ติดเรื่องงาน ในด้านหนึ่งก็ต้องรีบจัดการ แต่ในด้านหนึ่งก็ต้องตระหนักว่า หากจะต้องไปจริงๆ ก็พร้อมจะปล่อยวาง แล้วการปล่อยนี่ไม่ใช่ปล่อยวางเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเราหรือสิ่งที่เรารักเท่านั้น เช่น พ่อแม่ ลูก หลาน คนรัก คู่ครอง หรือทรัพย์สมบัติ มีอีกสิ่งหนึ่งที่เรายึดอยู่บ่อยๆ ทั้งๆที่ ไม่ได้ให้ความสุขกับเราเลย ให้ความทุกข์แก่เราด้วยซ้ำ คนเราไม่ได้ยึดเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเราเท่านั้น สิ่งที่ให้ความทุกข์กับเรา เราก็ยึด เช่นอะไรบ้าง ความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ เวลาโกรธนี่ ส่วนใหญ่ไม่อยากปล่อยวาง อยากจะเก็บเอาไว้ เวลาเศร้านี่ เราอยากจมอยู่ในความเศร้า เวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงยังไง เพลงสนุกไหมหรือเพลงอะไร เพลงเศร้าใช่ไหม ก็คือเราหวงแหนความเศร้าไว้ เราไม่อยากปล่อยความเศร้าไป เวลาเราโกรธนี่ เราก็จะคิดถึงคนที่เราโกรธ ใครมาบอกว่าให้อภัยเขา เราก็จะไม่ยอม ความรู้สึกผิดก็คือสิ่งที่เราชอบยึดติดเหมือนกัน เสียใจที่ว่าพ่อแม่ ผ่านไปสิบปีแล้วก็ยังไม่คลาย เสียใจที่ดุด่าลูก ตวาดใส่ลูก ก็ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง หรือบางที ผิดหวังล้มเหลว พวกนี้ทำให้ทุกข์ ถ้าเกิดเราเจริญมรณสตินี่ก็กระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง เราจะตระหนักว่าถ้าเรายังมีอารมณ์แบบนี้อยู่ เราจะตายไม่สงบ เพราะฉะนั้นต้องฝึกปล่อย ความโกรธก็ทำให้ตายไม่สงบ ความเกลียดก็ทำให้ตายไม่สงบ ความรู้สึกผิดก็ทำให้ตายไม่สงบ ไปอบายด้วย
พระนางมัลลิกาเทวี ในพระไตรปิฎกเล่า นางมัลลิกาเทวีนี่เป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นคนที่ชวนให้พระเจ้าปเสนทิโกศลหันมาสนใจเรื่องการทำบุญทำกุศล หันมาศรัทธาในพระรัตนตรัย แล้วจู่ๆนางมัลลิกาเทวีก็ตาย นางตายเร็ว ตอนที่จะตายนางมัลลิกาเทวีนึกถึงอะไร นางนึกถึงการที่นางได้ไปโกหกพระเจ้าปเสนทิโกศลในเรื่องหนึ่ง เรื่องที่น่าอับอาย โกหกสำเร็จ แต่ว่ามาเสียใจตอนจะตาย รู้สึกผิดมาก จิตใจเศร้าหมองเพราะว่าได้ทำมุสาวาท ตายนี่ไปไหน ไปอบายเลย ไปนรกเลยเจ็ดวัน ความดีที่ทำเอาไว้ ไม่ใช่ว่าไม่มีผล มีผล แต่ว่าอาสันนกรรม หรือที่เรียกว่าจิตสุดท้ายนี่ ทำกรรมใดไว้ก็ตาม บวกหรือลบนี่ จะส่งผลก่อนเป็นประการแรก ถ้ากรรมเป็นอกุศลหรือว่า เกิดจิตที่เป็นอกุศลก็ทำให้ไปอบาย ถ้าจิตเป็นกุศลก็ไปสุคติ นางมัลลิกาเทวีมีความรู้สึกผิดและปล่อยวางไม่ได้ ไปอบาย แต่ความดีที่ได้ทำไว้ก็หนุนส่งให้ หลังจากนั้นเจ็ดวันก็ได้ขึ้นสวรรค์ เพราะฉะนั้นเรื่องการปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติดสำคัญมากทีเดียว หลายคนมีความกลัว หลายคนมีความเศร้า
ถ้าเจริญมรณสตินี่ช่วย สตีฟ จ๊อบส์ ก็เคยบอก สตีฟ จ๊อบส์ ก็เป็นโรค เป็นมะเร็งตับอ่อน เขาเคยบอกว่า เขาเคยไปแสดงปาฐกถาที่มหาลัยแสตนฟอร์ด ตอนหนึ่งเขาบอกว่า เขาพูดถึงตัวเองว่าเขาไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ แล้วเขาพูดถึงประสบการณ์ว่า เวลานึกถึงความตายนี่มีประโยชน์อย่างไง เขาบอกว่า ความหวัง ความภาคภูมิใจ ความกลัวหน้าแตก กลัวผิดหวัง พวกนี้มลายหายไปทันทีเลยเวลานึกถึงความตาย คือปล่อยวางได้ง่ายมากเลยเวลานึกถึงความตาย เวลาที่คนเราไม่นึกถึงความตาย เราจะเศร้า เราจะเสียใจที่ล้มเหลว ที่งานไม่สำเร็จ แล้วรู้สึกการที่เราล้มเหลวนี่หน้าแตก เสียหายมาก เขาว่าความหน้าแตกหายวับไปเลย เวลานึกถึงความตาย เพราะสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยทันทีเมื่อนึกถึงความตาย ถูกเพื่อนด่าโมโหฉุนเฉียว ทะเลาะกับแฟนมา โกรธมากเลย บางทีทะเลาะไม่เป็นเรื่อง เรื่องแค่กระเบื้องแผ่นเดียวทะเลาะกัน พอนึกถึงความตาย เรื่องที่ทะเลาะกัน เห็นเลยว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย วางจริงๆ โทรศัพท์หาย โอ้เสียใจมาก แต่พอนึกถึงความตาย ซึ่งเราต้องสูญเสียทุกอย่าง ไม่ว่ารถ ไม่ว่าบ้าน รวมทั้งคนรัก การเสียโทรศัพท์ไปกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้เราปล่อยวางได้ มรณสตินี่มีประโยชน์สำหรับการที่ช่วยทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น เพราะเราสามารถจะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ ไม่ว่าสิ่งที่เรารักหวงแหน หรือว่าสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เช่นอารมณ์ที่เป็นอกุศล
มรณสตินี่ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้น คนเราทุกวันนี้ไม่ค่อยมีความสุขเพราะว่า ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี ไปอยากได้สิ่งที่ตัวเองยังไม่มี ความทุกข์ของคนสมัยนี้เป็นอย่างนี้ สิ่งที่มีนี่ไม่ค่อยได้ชื่นชมเท่าไหร่หรอก ไปมัวแต่จดจ่อสิ่งที่ยังไม่มี มีเงินร้อยล้านก็ยังทุกข์เพราะว่าคนอื่นเขาได้สามสี่ร้อยล้าน คนอื่นเขามีรถคันใหญ่ เรายังไม่มีก็ทุกข์ ทั้งที่เราก็มีมากแล้ว เด็กก็มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย ทั้งคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค ขนม กล้อง แต่เด็กก็ยังทุกข์ เพราะว่าเพื่อนมีไอโฟน เรายังไม่มีไอโฟน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราหันมาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี หันมาชื่นชมสิ่งที่เรามี เราจะมีความสุขได้ง่าย มรณสตินี่ช่วยตรงนี้ เมื่อเราตระหนักว่าสิ่งที่เรามีวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้ เวลาเรานึกถึงว่าเราจะต้องสูญเสียสิ่งนั้นไปในวันหน้าเราจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี ยกตัวอย่างเช่น เอาง่ายๆ ตาของเราหลายคนไม่ค่อยได้ตระหนักหรอกว่าการที่เรามีตามองเห็น มีจมูกหายใจได้ มีหูที่ยังได้ยินเสียงเป็นโชคอย่างไรบ้าง การที่ยังเดินเหินมาฟังที่นี่ได้เป็นโชคยังไงบ้าง แต่สักวันหนึ่งลองคุณตาบอด ลองคุณหูหนวก ลองคุณเป็นใบ้ หรือว่าคุณพิการ คุณเป็นอัมพฤก อัมพาตเดินไม่ได้ คุณจะรู้สึกเลยว่าการที่คุณมีตามองเห็น มีหูที่ได้ยิน มีมือมีไม้ที่เป็นปกตินี่เป็นโชค แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
เราไม่ค่อยตระหนักว่าลมหายใจนี้มีค่าแค่ไหน เราโชคดีที่มีลมหายใจ แล้วลองคิดว่าสักวันหนึ่งเราไม่มีลมหายใจ หรือว่าหายใจไม่ค่อยได้ เกิดแอร์ฮังเกอร์อย่างคนป่วยที่เราเห็นตามโรงพยาบาล ต้องอยู่ได้ด้วยเครื่อง คนที่ไม่เคยได้เห็นคนที่หายใจด้วยเครื่อง ไม่รู้ว่าต้องทรมานแค่ไหน เมื่อไหร่ก็ตามที่เราตระหนักว่า สิ่งที่เรามีในวันนี้เราอาจจะสูญเสียไปในวันพรุ่งนี้ก็ได้ เราจะรู้สึกเลยว่าที่เรามีทุกวันนี้พอแล้ว มีความสุขแล้ว ไม่ต้องอะไรมาก แค่สิ่งที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ยังไม่เสียไปก็มีความสุขแล้ว ความสุขจะง่ายขึ้น
มีแม่บ้านคนหนึ่งบอกว่า ทุกเย็นเมื่อสามีและลูกกลับถึงบ้านและกินข้าวพร้อมหน้า เธอบอกว่าเธอมีความสุขแล้วแค่นี้และเธอขอบคุณทุกอย่างที่ทำให้มีโอกาสแบบนี้ เพราะอะไร เพราะเธอไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ ลูก สามีจะได้มีโอกาสกินข้าวพร้อมกับเธอหรือเปล่า อะไรอะไรก็ไม่แน่ ความสุขของเธอนั้นเป็นเรื่องง่ายมากเลย ไม่ต้องมีบ้านหลังใหญ่ ไม่ต้องมีรถหลายคัน เพียงแค่ ลูก สามีได้มาอยู่พร้อมหน้า เธอก็มีความสุข แล้วเราคิดว่าเราก็จะมีความสุขได้ง่ายขึ้นเมื่อเราตระหนักว่าเรายังมีลมหายใจ ยังมีชีวิต ยังมีสุขภาพดี เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คนที่เป็นมะเร็ง คนที่เขาเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลนี่เขาทรมานอย่างไง แต่ลองเราไปเห็นเขาแล้วลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นเขาสักวันหนึ่งจะทรมานแค่ไหน และตอนนั้นก็กลับมาดู กลับมามอง กลับมาที่ตัวเรา เพราะตอนนี้เรายังไม่ปวด ไม่ไข้ เราจะรู้สึกขอบคุณ ความสุขมันง่ายขึ้นเมื่อเราเจริญมรณสติในแง่นี้
สุดท้ายคือว่าการเจริญมรณสตินี่ทำให้เราให้ความสำคัญกับคนที่เราอยู่ต่อหน้า เวลาเราอยู่กับใครแล้วลองจินตนาการว่าไม่เราก็เขา พรุ่งนี้ก็อาจจะไม่ได้เจอกัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพ่อแม่ เป็นลูก เป็นหลาน เป็นเพื่อนร่วมงาน ถ้าเราลองคิดแบบนี้แล้วเราจะอ่อนโยนต่อเขามากขึ้น เราจะใส่ใจเขามากขึ้น เราจะไม่ทำตามอารมณ์ พ่อแม่จะว่าเรา พ่อแม่จะพูดแรงๆกับเรา แต่คิดสักหน่อยว่าพรุ่งนี้ท่านอาจจะไม่ได้อยู่กับเรา เราจะไม่โกรธ จะไม่ตวาด หรือว่าด่าท่านกลับ เราจะอดกลั้น ศิลปะในการมีชีวิตที่สัมพันธ์ร่วมด้วยกับผู้คนก็คือการคิดว่าสักวัน ว่าวันนี้อาจจะเป็นวันที่เรากับเขาจะได้อยู่กันเป็นครั้งสุดท้าย ถ้าเราลองคิดแบบนี้ เราจะทะเลาะเบาะแว้งกันน้อยลง เราจะทำตามอารมณ์น้อยลง เราจะใส่ใจมากขึ้น เราจะอ่อนโยนมากขึ้น แล้วทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่นและทำให้ชีวิตมีความสุข
ความผิดพลาดหลายครั้งของมนุษย์เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้ตระหนักถึงความจริงว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ รวมทั้งความตาย มีพยาบาลคนหนึ่งเล่าว่า เธอสนิทกับน้องชายวัยรุ่น วันหนึ่งเธอก็ไปทำงานที่โรงพยาบาลตามปกติ น้องชายก็มาเยี่ยมที่โรงพยาบาล น้องชายสนิทกับเธอมากก็เลยมานัวเนียกับเธอ เธอก็รู้สึกรำคาญเพราะกำลังทำงาน จู่ๆน้องชายก็พูดขึ้นมาว่า พี่พี่รักผมไหม เธอรำคาญ เธอก็บอกกลับบ้านไปก่อน ปรากฏว่าน้องชายกลับบ้านแต่ไม่ถึงบ้าน เกิดอุบัติเหตุตาย พอเธอรู้นี่เธอเสียใจมาก ที่น้องตายก็เสียใจ แต่ที่เสียใจอันที่หนักที่ว่า คือรู้สึกผิดที่ว่า เธอน่าจะพูดดีๆกับน้องชายหน่อย ถ้าเธอตอบว่าใช่พี่ก็รักน้อง เธอก็จะรู้สึกผิดน้อยลง อย่างน้อยน้องชายตายด้วยความรู้สึกดีๆที่เธอได้ให้กับน้องชาย แต่เธอไล่น้องชายไป เพราะอะไร เพราะเธอคิดว่าเดี๋ยวไปคุยกันที่บ้านก็ได้
มีอีกรายหนึ่งเขามาเข้าคอร์ส คอร์สนี้ก็เป็นการพูดถึงเรื่องของการปรับความสัมพันธ์ วิทยากรก็ให้ผู้เข้าอบรมได้นึกถึงคนที่ใกล้ตัวแต่มีความสัมพันธ์ที่ระหองระแหง แล้วก็พยายามมองว่าเขามีข้อดีอะไรบ้างเสร็จแล้วให้เขียนจดหมายถึงเขา ขอบคุณเขา หลายคนจะเลือกคนใกล้ตัวเช่น แม่ พ่อ พี่สาว น้องสาว น้องชาย พี่ชาย คนรัก ผู้หญิงคนหนึ่งก็เขียนถึงพ่อ เธอก็ขอบคุณพ่อ พูดถึงว่าพ่อนี่รักลูกอย่างไรบ้างตั้งแต่เล็ก พ่ออุ้มลูกมาตั้งแต่เล็ก รู้สึกซาบซึ้ง แต่ว่าตอนหลังพอโตขึ้นก็ระหองระแหงกัน อันนี้วิทยากรบอกว่าให้ทุกคนโทรศัพท์ไปบอกคนที่ตัวเองเขียนเลย เดี๋ยวนี้เลย หลายคนก็เขินเพราะว่าไม่กล้า ไม่เคยพูดดีๆ กันมานาน หลายๆคนทำ ต้องใช้ความกล้า แต่เธอไม่ทำ เธอไม่กล้า เธอบอกว่าเดี๋ยวอีกสองวันก็กลับบ้านแล้ว ค่อยไปพูดตอนนั้นก็แล้วกัน วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าได้ข่าวว่าพ่อแขวนคอตาย พ่อมีปัญหาเรื่อง Depression เป็นพวกซึมเศร้า เธอเสียใจมากเลย เพราะถ้าเธอโทรไปคืนนั้น พ่อคงอาจจะไม่ตาย พ่อคงรู้สึกดีหรือถึงแม้พ่อทำเธอก็ยังรู้สึกดีว่าอย่างน้อยก็ได้พูดความในใจให้พ่อก่อนที่พ่อจะละโลกนี้ไป แล้วเธอก็รู้สึกเสียใจ รู้สึกผิด ความรู้สึกของมนุษย์
หลายครั้งเลยที่เราประมาท เราปล่อยให้โอกาสทองหลุดมือไป แล้วโอกาสทองคืออะไร โอกาสทองคือปัจจุบัน ทำดีกับคนที่เการัก เสียแต่เดี๋ยวนี้ หรือว่าดีกับคนที่อยู่ต่อหน้าเรา เสียแต่เดี๋ยวนี้ เพราะอาจไม่มีโอกาส แล้วถึงตอนนั้น พอไม่มีโอกาสแล้วก็มาเสียใจ แต่ถ้าเกิดว่าเราทำ เราระลึกถึงความตายว่าสามารถเกิดขึ้นกับเราได้เกิดขึ้นกับคนที่เรารักก็ได้ เพราะฉะนั้นปฏิบัติเหมือนกับว่าเรากับเขาจะอยู่ด้วยกันเป็นวันสุดท้าย จะทำให้เรานี่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดี อ่อนโยน แล้วทำให้ชีวิตเรามีความสุขได้ง่ายขึ้น ที่พูดมาทั้งหมด มรณสติไม่ใช่แค่เพียงช่วยให้ตายดีเท่านั้น ช่วยทำให้อยู่ดีด้วย ตายดีเพราะว่าหนึ่ง เราได้รู้จักปล่อยวางในสิ่งที่ชอบยึดติด สอง เราได้ขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน ไม่มีอะไรค้างคาใจ แล้วก็ปล่อยวางได้ ไม่มีความกังวล ความกลัวก็ไม่มีเพราะทำความคุ้นเคยกับความตายอยู่เสมอทุกวันก็ตายดี ส่วนอยู่ดีก็เพราะว่า
เมื่อเรารู้จักขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อนทำให้เรา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมก็ดี การให้เวลาครอบครัวก็ดี การดูแลพ่อแม่ก็ดี ทำให้เรามีความสุข มีชีวิตที่ราบรื่น กลมกลืนกับผู้คนซึ่งเป็นคนที่เรารัก ในขณะเดียวกันถ้าเรารู้จักปล่อยวางในสิ่งที่ชอบยึดติด ก็ทำให้เราไม่ต้องทุกข์กับความสูญเสียซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิต สูญเสียในที่นี้คือ สูญเสียทรัพย์สิน หรือว่าไม่ต้องทุกข์กับความระหองระแหง ความโกรธ เพราะว่าเรารู้จักปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้น ทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้นเพราะเราได้เห็นถึงความสุขต่างๆ และการที่เราเห็นถึงความสุขของสิ่งต่างๆ ก็เพราะเรารู้ว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องจากไป ทำให้เราใส่ใจกับผู้คนที่อยู่ข้างหน้าเราได้ง่ายขึ้น ทีนี้ถามว่าจะเจริญมรณสติอย่างไร ประเด็นสุดท้าย
วิธีการง่ายๆ ที่นิยมทำกันก็คือว่าเจริญมรณสติก่อนนอน เช่น สมมติว่า คืนนี้เป็นคืนที่ตัวเองจะต้องตายเป็นคืนสุดท้ายของตัวเอง นอนแล้วก็พิจารณาว่าจะต้องจากลูกไป จะต้องจากพ่อแม่ไป จะต้องจากงานการ ทรัพย์สมบัติไป จะไม่มีอะไรเหลือเลยแม้กระทั่งตัวตน การระลึกแบบนี้ ใหม่ๆ จะทำยาก เพราะว่าใจมันจะฝืน ใจมันจะต้าน แต่ถ้าเราระลึกอย่างนี้จะทำให้เราปล่อยวางได้ง่ายขึ้น แล้วทำให้เรานี่ สิ่งไหนที่เราติดขัด เราก็ต้องหันกลับ พยายามกลับไปแก้ไข แบบนี้เราซ้อมตาย ซ้อมตายก่อนนอน บางคนก็ซ้อมตายในแง่ที่ว่ามองว่าตัวเองนึกถึงงานศพของตัวเอง นึกถึงตัวเองว่าอยู่ในโลง อยู่ในหีบศพ แล้วในงานศพก็มีคนมากล่าวพูดถึงตัวเอง อยากให้เขากล่าวถึงตัวเองแบบไหน หรือว่าเห็นตัวเอง ค่อยๆเน่าเปื่อยไป อันนี้ก็ต้องจิตแข็งหน่อย คือว่าเห็นตัวเองนี่ค่อยๆ จากร่างกายที่เคยอ่อนนุ่มก็เริ่มแข็ง ที่เคยอุ่นก็กลับเป็นเย็น ที่เคยกระดิกกระเดี้ยได้ ก็กระดิกกระเดี้ยไม่ได้ และที่เคยสวยก็เริ่มค่อยๆ เสื่อมจนกระทั่งกลายเป็นบวมอืดแล้วก็เน่า หลายคนอาจจะรู้สึกว่าอันนี้แรงไป แต่ว่าอย่างน้อยเอาประเภทว่าถ้าเกิดเราจะต้องตาย ว่าถ้าเราต้องตาย เราต้องละจากทุกสิ่งทุกอย่างไป อันนี้เราซ้อมตาย
มีวิธีการเจริญมรณสติหลายอย่างเช่นที่อาตมาใช้ประจำก็คือเวลาเดินทาง เวลานั่งรถ ขึ้นเครื่องบิน ก็พยายาม ก็จะนึกอยู่เสมอว่านี่อาจจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้าย รถอาจจะชน เครื่องบินอาจจะตก แล้วถ้าเกิดขึ้น ก็จะลองถามตัวเองว่า ซ้อมเอาไว้ว่าถ้าเกิดขึ้นจริง เราจะวางใจอย่างไร อันนี้หลายคนก็ทำได้จะวางใจอย่างไร เช่นจะอยู่กับลมหายใจ จะสวดมนต์ จะนึกถึงพระรัตนตรัย จะนึกถึงหลวงพ่อโสธร หรือว่าจะนึกถึงครูบาอาจารย์เช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่ทวด อะไรก็ว่าไป ซ้อมเอาไว้ ซ้อมเอาไว้ เวลาเกิดขึ้นจริงนี่จิตก็จะได้ระลึกถึงได้ไว อาจจะเช็คด้วยว่าเรามีอะไรค้างคากับพ่อแม่กับลูกไหม เช่นนึกถึงหน้าลูก นึกถึงหน้าพ่อแม่ ถ้านึกถึงแล้วคือเฉยๆ ก็แสดงว่าเราไม่มีอะไรที่ติด งั้นก็คือเราปล่อยวางได้ เราทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เวลาไปโรงพยาบาลก็ลองนึกว่าคนที่เขานอนอยู่บนเตียงนี่ สักวันหนึ่งอาจจะเป็นเรา มีสายระโยงระยางมากมาย นอนติดเตียง ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ต้องอาศัยเครื่อง ต้องหายใจตามเครื่อง มีท่อสอดเข้าไปในปาก มีมือที่ถูกมัด ถามใจตัวเองว่า เราพร้อมหรือยังที่จะอยู่ในสภาพนี้ อย่าลืมเก้าสิบเปอร์เซนต์ของคนสมัยใหม่จะตายแบบช้าๆ ไม่ได้ตายแบบทันที ตายแบบทันทีเช่นหัวใจหยุดเต้น หรือว่าอุบัติเหตุ หรือว่าภัยธรรมชาติ เก้าสิบเปอร์เซนต์คือตายแบบช้าๆ ตายด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมักจะหนีไม่พ้นสี่โรค โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ไตวาย
เดี๋ยวนี้ก็มีอีกอันข้อที่ห้าก็คือโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดสมองแตก เป็นผัก อันนี้ไม่พูดถึงอัลไซเมอร์ อัลไซเมอร์ก็โชคดีหน่อยคือไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่ที่รับรู้ก็คือสี่ถึงห้าโรคนี่ เราพร้อมรึยังที่จะเผชิญกับมัน ใจเราพร้อมไหม หลายคนแค่แก่แล้วอยู่บ้านคนเดียวก็ทำไม่ไหวแล้ว อาตมาเจอมามากคนแก่ที่ไปทำงานกระฉับกระเฉงเคยเที่ยว พออยู่บ้านก็ชรา อายุแปดสิบทำอะไรไม่ได้ กระสับกระส่ายมาก เพราะไม่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองชอบ หรือไม่ได้เที่ยวอย่างที่ตัวเองชื่นชอบ นี่น่าเป็นห่วง เพราะว่าแสดงว่าไม่เคยเตรียมเลย แล้วขนาดร่างกายไม่เจ็บไม่ป่วย เพียงแค่ว่าไม่ได้ทำงาน หรือไม่ได้เที่ยวนี่ยังกระสับกระส่ายขนาดนี้ แล้วถ้านอนติดเตียงนี่ แล้วก็มีทุกขเวทนาจะไหวหรือ เราพิจารณาแบบนี้ก็ทำให้เราต้องเห็นความสำคัญการเตรียมเนื้อเตรียมตัว เตรียมใจ ไม่ใช่แค่เตรียมเฉพาะพินัยกรรม หรือประกันภัย
การเจริญมรณสติอย่างหนึ่งคือเวลาเราดูข่าว ทางไทยรัฐก็ดี โทรทัศน์ก็ดี โดยเฉพาะข่าวเวลามีอุบัติเหตุ แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ อย่าสนใจเพียงแค่ว่าเกิดกับใคร เกิดที่ไหน ให้เราลองพิจารณาว่าถ้าเกิดขึ้นกับเราสักวันหนึ่ง เราทำใจได้ไหม หรือเราจะทำใจอย่างไร อย่าไปคิดว่าเป็นคนส่วนใหญ่มอง คนส่วนใหญ่เวลาดูข่าวนี้ก็สนใจว่าเกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน แต่ก็ไม่ได้ถามตัวเองว่าถ้าเกิดขึ้นกับเรานี่ เราจะทำใจได้ไหม ถ้าทำใจไม่ได้แล้วจะฝึกอย่างไร ถามตัวเอง อันนี้จะกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราไม่ประมาท ข่าวที่เราฟังจะกลายเป็นธรรมะทันที เพราะเตือนให้เราไม่ประมาท เวลาเกิดเหตุเช่น เงินหาย โทรศัพท์หาย หรือว่าถูกโกงเงินนี่ หลายคนก็ทุกข์ แต่ลองมองอย่างนี้สิว่าเขามาเป็นสัญญาณเตือนว่าวันนี้หายเท่านี้ ต่อไปจะหายหนักกว่านี้ เอาจริงๆสักวันหนึ่งก็ต้องเกิดขึ้น เพราะถึงเวลาเราตาย มีร้อยล้านก็หมดร้อยล้าน มีพันล้านก็หมดพันล้าน แค่โทรศัพท์หาย เงินถูกโกงเป็นหมื่นเป็นแสนนี่จิ๊บจ๊อย นี่ข้อที่หนึ่ง
ข้อที่สองคือเป็นสัญญาณเตือนว่าวันหน้าจะเจอหนักกว่านี้ ถ้าตอนนี้ยังทำใจไม่ได้ แล้ววันหน้าจะทำใจยังไง ทำใจแบบนี้ดูบ้าง เวลาคิดแบบนี้ทำให้เราจะเรียนรู้เลยว่าทำอย่างไรถึงจะปล่อยวางเหตุการณ์นี้ให้ได้ เพราะถ้าเราปล่อยวางเหตุการณ์นี้ไม่ได้วันหน้าเราเจอหนักกว่านี้ เราก็เสร็จสิ กลายเป็นของดีไป เหตุการณ์เหล่านี้ หนึ่งเป็นการเตือนให้เราระลึกถึงความไม่เที่ยง ความสูญเสียที่เป็นธรรมดาของชีวิต และตระหนักขึ้นเรื่อยๆ สอง เป็นแบบฝึกหัดให้เราได้ฝึกปล่อยวาง มีประโยชน์ สอนสัจธรรมให้กับเรา เหมือนหายถูกโกง และสองเป็นการบ้านฝึกใจ ทั้งสอนใจและฝึกใจเรา แล้วก็เตือนให้เราระลึกถึงมรณสติด้วย งั้นจะเห็นได้ว่าการเจริญมรณสตินี่ทำได้ตลอดเวลาเลย และสามารถจะใช้เหตุการณ์ต่างๆ มาเป็นอุปกรณ์สอนหรือเตือนใจให้ระลึกถึงมรณสติได้ แล้วถ้าเกิดว่าเราเจริญมรณสติบ่อยๆ แล้วก็พยายามใช้ประโยชน์จากการเจริญมรณสติเช่นหมั่นทำดี หมั่นทำบุญ ทำกุศล ปฏิบัติธรรมมากขึ้น เรียนรู้จักการปล่อยวาง เมื่อถึงวันที่เราตาย การตายจะเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
อาตมาประทับใจผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องผู้หญิงคนนี้ แต่เธอเป็นคนเล่า ทุกเช้าตื่นขึ้นมาตีห้า เธอก็จะเห็นแม่กับยายอยู่ในห้องครัว เธอตื่นมาตีห้าเพื่อจะไปทำงาน คนกรุงเทพสมัยนี้จะตื่นมาแต่เช้า ตื่นมาแต่เช้าเพื่อไปทำงาน แม่กับยายทำครัวเพื่อที่จะมาใส่บาตรพระทุกวันไม่มีขาดไม่มีเว้น เสาร์ อาทิตย์ก็ใส่ แต่เธอไม่ค่อยได้ใส่ เพราะเธอต้องไปทำงาน วันหนึ่งตื่นมาจะไปทำงาน เห็นแต่แม่ ยายไม่เห็น ก็เลยถามแม่ว่ายายไปไหน ยายอยู่ในห้อง เธอก็ไปเรียกยายหน้าห้อง วันนี้ยายไม่มาใส่บาตรหรือ ก็มีเสียงยายตอบมาว่าไม่ใส่แล้ว วันนี้ยายจะนั่งสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิ เธอก็ไม่เอะใจ เธอก็ถามต่อไปว่ายายจะเอาอะไรไหม ยายบอกไม่เอาอะไรแล้ว เธอก็ไป สายแล้ว ยายก็ยังไม่ออกมา แม่ซึ่งเป็นลูกของยายก็เลยไปเรียกหน้าประตู ไม่มีเสียง เปิดประตูเข้าไปก็เห็นยายหรือแม่ของตัวนั่งนุ่งขาวห่มขาวพิงเสาในท่านั่งขัดสมาธิ ในท่านั่งสมาธิ ข้างหน้าก็มีร่องรอยของการจุดธูปเทียน เรียกก็ไม่ตอบ ก็เลยแตะตัวยาย ปรากฏว่ายายนี่ก็ล้ม ร่างนี่นอนไปกองกับพื้นเลย หมดลมไปแล้ว แกหมดลมไปสักชั่วโมงหนึ่งแล้ว คำถามคือว่า ยายรู้ไหมว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของยาย ยายอาจจะรู้ ไม่งั้นยายต้องใส่บาตร แล้วยายรู้ว่าเป็นวันสุดท้ายแล้วทำไมยายไม่บอก ไม่บอกลูก ไม่บอกหลาน เพราะปกติคนเราจะตายนี่ต้องบอกลูกบอกหลาน สั่งเสียอย่างนั้น ก็คงเพราะไม่มีอะไรจะสั่งเสียแล้ว อะไรที่ควรทำ ควรบอก บอกหมดแล้ว
ถึงเวลาตายก็ขอตายคนเดียว คือพร้อมจะตายคนเดียวต่อหน้าคุณพระรัตนตรัย อันนี้เป็นการตายที่สงบมากและสวยงามมาก คนที่นั่งตายแบบนี้ เคยได้ยินว่ามีแต่สมัยก่อน แต่สมัยนี้ก็ยังมี นั่งตาย ไม่ใช่พระแต่เป็นโยม จะทำอย่างนี้ได้ อาตมาเชื่อว่านี่ต้องเกิดจากการที่ได้ทำบุญมาสม่ำเสมอ ทำความดี รวมทั้งทำหน้าที่ต่อลูกต่อหลาน แล้วก็สำคัญคือปล่อยวางด้วย คนที่ปล่อยวางแบบนี้ได้คือเมื่อถึงเวลาจะตายก็ไม่ตื่นตระหนก ขอไปนั่งตายในห้อง อันนี้เรียกว่าไม่กลัวความตาย พร้อมรับความตาย ไม่เห็นความตายเป็นศัตรู จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีการเตรียม เตรียมปฏิบัติธรรมเลยด้วยซ้ำ ต้องปฏิบัติธรรมมาแน่นอน รวมทั้งการฝึกปล่อยวางด้วย หลานสาวมารู้ว่ายายตายก็ช่วงสายๆ เมื่อมาทบทวนเหตุการณ์ก็เลยเข้าใจเลยที่ยายบอกว่าไม่เอาอะไรแล้ว ไม่ใช่ว่าหลานไม่ต้องซื้ออะไรมา หมายถึงว่ายายพร้อมจะปล่อยวาง ไม่เอาอะไรแล้ว ก็เป็นการตายที่สงบแล้วก็สวยงามมาก อย่าลืมความตายไม่น่ากลัวอยู่ที่ว่าเตรียมพร้อมแค่ไหน และอาตมาเชื่อว่าคุณยายนี่คงเจริญมรณสติเป็นประจำ
อีกคนหนึ่งที่อาตมาประทับใจ ชื่อคุณหญิงใหญ่ ดำรงธรรมสาร คุณหญิงใหญ่นี่เพิ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่องธรรมานุธรรมปฏิบัติ แต่ก่อนเมื่อสามสิบปีที่แล้ว คนจะคิดว่า อาจารย์มั่นเขียน เถียงกันใหญ่เลย ฝรั่งเพิ่งมาเปิดเผยว่า คุณหญิงใหญ่นี่แหละเขียนไม่ใช่อาจารย์มั่น คุณหญิงใหญ่นี่เป็นลูกเสนาบดี แต่ว่าเป็นผู้ที่ใฝ่ธรรมมาก เป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒโฆษาจารย์วัดเทพศิรินทร์ สมเด็จองค์นี้น่าสนใจมาก มีลูกศิษย์ที่เก่งเยอะมากเป็นฆราวาส ท่านเป็นพระบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ท่านเก่งเรื่องปริยัติและปฏิบัติด้วย ตอนหลังนี้อายุสัก ห้าสิบสาม ห้าสิบสี่มั้ง สามีเสียชีวิตก็เลยบวช บวชแล้วก็ปฏิบัติธรรมเป็นแม่ชี แล้วพออายุสักห้าสิบแปดก็ป่วยหนัก ป่วยหนักนี่ใจก็สงบ
วันหนึ่งหมอก็มาตรวจ ทั้งที่อาการแย่ หมอก็พูดบอกว่ายังอยู่ได้อีกนาน แม่ชีบอก คุณหมอไม่ต้องมาปลอบฉัน คือรู้ดี รู้ตัวเองว่าอาการหนัก แล้วก็วันนั้นหรือสองวันต่อมาก็รู้ว่าแย่ ก็บอกเด็กให้ไปนิมนต์พระมา นิมนต์พระที่รู้จัก นิมนต์มาทำไม นิมนต์มาให้สวด แต่สวดบทไหนนี่ท่านสั่งเลย สวดบทไหน บอกให้พระสวด พระสวดเสร็จก็สนทนาธรรม สนทนาธรรมสักครู่ คุณใหญ่ก็จบการสนทนาแล้วก็กราบ ตอนที่กราบนี่บอกว่า เขาบอกว่าขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่ กราบสามทีแล้วก็นิ่งเลย ตาย เป็นการตายที่สงบ ตายในท่ากราบ แล้วก็พระนี่ไม่รู้เลย เห็นกราบแล้วเห็นนิ่งเลย ยิ่งสงสัยทำไมนิ่ง พอรู้ว่าตายหมดลม ก็ยังพูดเลยว่า เอ้านี้ตายจริงๆแล้วหรือนี่ คือมีที่ไหนตายในท่ากราบ นี่ฆราวาส นี่ก็ต้องเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยการเจริญมรณสติ คือรู้ตัวจนกระทั่งวินาทีสุดท้าย กราบเสร็จไปเลย ก่อนกราบยังบอกอีกว่า ขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่ เพราะงั้นเห็นว่าความตายไม่น่ากลัว โดยถ้าเราเจริญมรณสติเป็นประจำ ความสามารถในการที่เราจะเผชิญกับความตายก็จะมากขึ้นและการตายของเราจะเป็นการตายที่สวยงาม