แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราคงได้ยินชื่อสวนโมกข์ ชื่อเต็มว่าสวนโมกข์พลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ้าพูดถึงสวนโมกข์ก็ต้องนึกถึงผู้ก่อตั้งคือท่านอาจารย์พุทธทาส คนรุ่นใหม่สมัยนี้อาจจะไม่รู้จักสวนโมกข์ หรือว่าท่านอาจารย์พุทธทาส จะเห็นท่านมรณภาพไป 23 ปีแล้วเมื่อปี 2536 ท่านอายุครบร้อยเมื่อปี 2549 ตอนนี้ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ก็ 110 ปี ตอนที่สวนโมกข์เริ่มมีการสร้างถาวรวัตถุโรงมหรสพทางวิญญาณก็ดี หรืออาคารต่าง ๆ ก็ดี แต่ละอาคารแต่ละแห่งก็ใช้เวลานานมากเป็นสิบปี เพราะว่าอาศัยกำลังพระ อาศัยกำลังเณรละช่วยกันสร้าง ไม่มีการจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาทำให้ ก็ทำวันละนิดวันละหน่อย
คราวหนึ่งท่านก็สร้างอาคารที่เรียกว่าธรรมนาวา เรียกสั้น ๆ ว่า โรงเรือ โรงเรือก็คือตึกหรืออาคารที่มีรูปร่างคล้ายเรือ ก็ใช้เวลานาน มีคราวหนึ่งก็มีลูกศิษย์มาเยี่ยมสวนโมกข์ และก็ไปกราบท่านอาจารย์พุทธทาส และก็ถามว่าโรงเรือเสร็จหรือยัง อาจารย์พุทธทาสก็บอกว่าเสร็จแล้ว โยมคนนั้นก็แปลกใจเพราะว่ามาสวนโมกข์เมื่อสองเดือนก่อนก็ยังเห็นว่ายังสร้างไปไม่ได้มากเท่าไร ก็เลยเดินไปดู ก็ปรากฎว่าอาคารโรงเรือก็ยังไม่ได้สร้างไปมากมายเท่าไรจากเมื่อสองเดือนก่อน ก็เลยกลับมาหาอาจารย์พุทธทาส ก็บอกว่ายังไม่เห็นเสร็จเลยอาจารย์ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ตอบว่า เสร็จแล้ว เสร็จทุกวัน วันนี้เสร็จ พรุ่งนี้ก็เสร็จ มะรืนนี้ก็เสร็จ เสร็จทุกวัน โยมคนนั้นก็งง เพราะตามความเข้าใจของเขา เสร็จก็คือเรียบร้อยสมบูรณ์
แต่สำหรับอาจารย์พุทธทาส เวลาท่านทำอะไรก็ตามท่านทำด้วยใจที่ปล่อยวาง ถ้าทำตั้งแต่เช้าจรดเย็นก็ถือว่าเสร็จ แปลว่าไม่มีอะไรต้องกังวล คนเราเวลาทำอะไรเสร็จ เราก็จะรู้สึกว่าเบา ไม่มีความวิตกกังวลอีกต่อไป ไม่ต้องเก็บเอามาคิดว่า พรุ่งนี้จะต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดว่าเมื่อไรจะเสร็จ อีกกี่วันกี่เดือนถึงจะเสร็จ อันนี้คือความรู้สึกของเราเมื่อเราทำอะไรเสร็จสิ้น สำหรับอาจารย์พุทธทาส เวลาท่านทำอะไรท่านทำด้วยใจที่ปล่อยวาง ก็คือว่าได้แค่ไหนก็แค่นั้น เมื่อถึงเวลาหยุดพัก เช่นอาจจะหมดวัน ท่านก็วาง มือไม่ใช่แค่วางฆ้อนวางเครื่องไม้เครื่องมือเท่านั้น ใจก็วางด้วยเสมือนกับว่าเสร็จแล้ว ถึงเวลาไปทำสมาธิภาวนา ไปทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่มีอะไรที่ต้องมาครุ่นคิดถึงอาคาร แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะเข้านอนก็เข้านอนด้วยใจที่ปลอดโปร่ง เพราะว่าวาง วางทุกอย่าง เสมือนกับว่ามันเสร็จแล้ว อันนี้คือความหมายของการทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง
พวกเราหลายคนเวลาพอมาปฏิบัติธรรม อาจจะว่าทุกวันก็ว่าได้ ก็จะนึกในใจว่าเมื่อไหร่คอร์สจะจบเสียที เมื่อไหร่คอร์สจะเสร็จเสียที เอาคำสอนหรือคำพูดของอาจารย์พุทธทาส หรือคำแนะนำของท่านไปใช้ก็ได้ก็คือว่า คอร์สนี้เสร็จทุกวัน ยิ่งมาถึงตรงนี้แล้ว มาทำวัตรสวดมนต์แล้วก็ให้รู้สึกว่ามันเสร็จแล้ว ไม่ต้องไปกังวลว่าอีกกี่วันถึงจะได้กลับบ้าน การคิดแบบนั้นทำให้ทุกข์ ไม่ได้ช่วยให้เวลาผ่านไปเร็วขึ้นกว่าเดิม และแถมยังทำให้ใจเรามีความวิตกกังวลด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะปฏิบัติธรรม เวลาทำงานเรากลับไปทำงานก็ให้ลองนึกเสียว่า มันเสร็จทุกวัน เสร็จทุกวัน ถึงเวลากลับไปบ้าน ก็กลับไปหาลูก กลับไปหาพ่อแม่คนรักด้วยใจที่ปลอดโปร่ง เสมือนกับว่าทำงานเสร็จแล้ว
แต่คนจำนวนมากทำอย่างนั้นไม่เป็น เวลากลับไปบ้านก็แบกเอางานไปด้วย ไม่ได้แบกไม่ได้ถือแฟ้มแบกกลับไป แต่ว่าแบกที่ใจ เวลาอยู่กับลูกก็นึกถึงงาน ใจไม่ได้อยู่กับลูกเต็มร้อย เวลานึกถึงงานก็เกิดความวิตกกังวล เกิดความหงุดหงิด อารมณ์ก็แสดงออกทางสีหน้าให้ลูกเห็น ลูกก็กลายเป็นว่ารู้สึกเครียดเวลาอยู่กับเรา เพราะใจเรายังแบกงานไว้เต็มหัวใจ ให้เรานึกว่ามันเสร็จแล้ว วางมันลง เราจะได้กลับบ้าน เราจะได้อยู่กับลูกอยู่กับคนรัก หรืออยู่กับตัวเองด้วยใจที่ปลอดโปร่ง และจะได้ทำในสิ่งที่ควรทำสำหรับเวลาช่วงกลางค่ำกลางคืน บางคนแบกไป แบกงานแม้กระทั่งว่าจะหลับแล้วก็ยังแบกไว้อยู่ ก็เลยนอนไม่หลับ ที่จริงงานไม่ใช่ปัญหา หลายคนมักจะบ่นว่างานเยอะ ที่ทำงานงานเยอะมีภาระมาก จริงๆ แล้วงานไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าเราแบกมันเอาไว้ไม่ยอมเลิก
เวลาทำงานใจก็ไม่ได้อยู่กับงานจริง ๆ ใจไปอยู่กับผลของงานว่ามันจะออกมาอย่างไร มันจะดีไหม เจ้านายเขาจะพอใจไหม เพื่อนร่วมงานจะว่าอย่างไร หรือคิดไปว่าเมื่อไรจะเสร็จ เมื่อไรจะเสร็จ ความคิดแบบนี้กลุ้มรุมจิตใจเราในทุกเรื่องเลย เวลามาปฏิบัติธรรมก็ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะกลับบ้าน เวลาเดินทางก็คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่จะถึงวัดป่าสุคะโต เมื่อไหร่จะถึงบ้าน จะว่าไปแล้วมันถึงทุกขณะอยู่แล้ว มันถึงทุกเวลา มันถึงทุกวินาที ให้เราคิดแบบนี้เสียบ้าง การที่ใจเราไปคิดถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไหร่จะเสร็จ เมื่อไหร่จะถึง เมื่อไหร่ไฟแดงจะเปลี่ยนเป็นไฟเขียว วิธีคิดแบบนี้เป็นการสร้างทุกข์ให้แก่จิตใจมาก ทำให้เราเครียด ทำให้เราวิตกกังวล กลายเป็นคนที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลจนส่งผลถึงต่อสุขภาพ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการแบกอย่างหนึ่ง เป็นการแบก
แต่ถ้าเรารู้จักวางลงบ้าง อนาคตจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต ให้นึกอย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดก็ได้ว่า ถึงต่อเมื่อมันถึง เวลาจะเดินทางไม่ต้องกังวัลว่าเมื่อไหร่มันถึง ถึงต่อเมื่อมันถึง หรือว่าจะมองอย่างอาจารย์พุทธทาสท่านก็ได้ว่า มันถึงทุกเวลาอยู่แล้ว มันถึงทุกวัน ถึงทุกชั่วโมง ถึงทุกนาที สิ่งสำคัญก็คือใจอยู่กับปัจจุบัน ใจอยู่กับปัจจุบัน เวลาเราทำงานก็เรียกว่าทำงานด้วยใจที่ปล่อยวางได้ ก็คือว่าเราปล่อยวางเรื่องอดีตเรื่องอนาคต อดีตที่ผ่านไป งานการล้มเหลวอย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร ก็เป็นเรื่องของอดีต ปล่อยมันไป อนาคตจะเป็นอย่างไงก็เป็นเรื่องของอนาคต ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ใจอยู่กับปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่ใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันด้วยใจที่เต็มร้อย อันนี้ก็เรียกว่า ทำงานด้วยใจที่ปล่อยวางได้เหมือนกัน
และยิ่งถ้าเราทำใจถึงขั้นว่ามันไม่ใช่งานของเรา มันไม่ใช่งานของเรา ไม่ใช่งานของเราก็ทำได้ เพราะว่าถ้าเราเห็นว่ามันมีประโยชน์เราก็ทำ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่านี้คืองานของเรา และเมื่องานมันเสร็จก็ไม่ได้ยึดมั่นถึอมั่นว่าเป็นผลงานของเรา ท่านอาจารย์พุทธทาสก็บอกว่าให้ยกผลงานไว้ให้เป็นของความว่าง ทำงานเสร็จก็ยกผลงานให้เป็นของความว่าง หรือให้เป็นของธรรมชาติก็ได้ หรือเป็นของส่วนรวมก็ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำให้มันสำเร็จ มันมีคนอีกมากมายที่ร่วมกันทำให้สำเร็จ ทั้งที่ทำด้วยกัน ทั้งที่อยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นแม่ครัว คนที่เป็นนักการภารโรง แม้กระทั่งพ่อแม่ของเราที่อยู่ที่บ้าน เขาก็มีส่วนช่วยทำให้งานสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านั้นก็คงไม่มีเรา หรือว่าเราก็คงจะไม่มีเรี่ยวแรงกำลังที่จะทำให้งานสำเร็จได้ งานแต่ละชิ้นเป็นผลงานร่วมของผู้คนมากมาย ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ในที่ทำงานเท่านั้น อันนี้เรียกว่าทำด้วยใจที่ปล่อยวางเหมือนกัน
การวางใจแบบนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ว่าเราทำได้จากการมาฝึกปฏิบัติที่นี่แหละ ฝึกปฏิบัติด้วยการเจริญสติ เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับกาย กายเมื่อเคลื่อนไหวใจก็รับรู้ เพราะว่าใจไม่ได้ออกไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ใจอยู่กับเนื้อกับตัว เพราะฉะนั้นเมื่อกายเคลื่อนไหวใจก็รับรู้ รับรู้ว่ากายทำอะไร ไม่ใช่แค่ยกมือสร้างจังหวะ ไม่ใช่แค่เดินจงกรม แต่รวมถึงการเดินขึ้นบันไดมาที่ศาลา รวมถึงการอาบน้ำ รวมถึงการล้างจาน ในแต่ละวันเราใช้กายทำอะไรต่างๆ มากมาย ในขณะที่กายเคลื่อนไหว ถ้าใจอยู่กับเนื้อกับตัว จะรับรู้ว่ากายทำอะไร อันนี้เรียกว่ากายเคลื่อนไหวใจรับรู้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเห็นกายเคลื่อนไหว เวลาใจคิดนึกไป ออกไปนอกตัว เที่ยวเตร่ก็รู้และก็แค่รู้ทัน ใจก็กลับมาละ มันจะวาง มันจะวางอดีตและอนาคตลงทันทีเลย และกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเรามีสติแม้จะมีอารมณ์ปัจจุบันเกิดขึ้น อารมณ์ปัจจุบันก็อาจจะเป็นเสียงที่ดังหรือว่าความปวดเมื่อย อันนี้คือเรียกว่าอารมณ์เหมือนกัน
คำว่าอารมณ์ ในทางพุทธศาสนามีความหมายว่าสิ่งที่จิตรับรู้ ไม่ว่ามันจะมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือความคิดก็ตาม เมื่อมีความคิดหรืออารมณ์เกิดขึ้น หรือว่ามีความเจ็บมีเวทนาเกิดขึ้น มีเสียงดังมากระทบหู มีแดดมากระทบกาย พวกนี้เป็นอารมณ์ปัจจุบันซึ่งมันทำให้เกิดความทุกข์ ทุกข์กายเราก็เพียงแค่รับรู้เฉย ๆ รู้โดยที่ไม่ได้ไปยึดติด วางมันลงเสีย เสียงดังมันไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา ถ้าหากว่าเราแค่รับรู้เฉย ๆ แต่เพราะเราไปยึดติด ใจไปจดจ่อหรือไปแบกมันเอาไว้ แบกในที่นี้หมายถึงการไปจดจ่อ ไม่ได้จดจ่อเฉย ๆ มีความรู้สึกผลักไสไม่ชอบ ตรงนี้แหละคือปัญหา ปัญหาไม่ได้เกิดจากเสียง แต่เกิดจากการที่เราไม่ชอบมัน เราไปทะเลาะเบาะแว้งกับมัน อย่างที่อาจารย์หลวงพ่อชาท่านเรียกว่าไปรบกวนเสียง แดดร้อนมันก็ไม่ใช่ปัญหา มันแค่ทำให้กายร้อน แต่ถ้าใจไม่ชอบ ใจผลักไสมัน มันก็เป็นทุกข์เลย ก็แปลกคนเราถ้ายิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด ยิ่งผลักไสยิ่งไม่ชอบก็ยิ่งยึดติด
คำต่อว่าด่าทอของใครก็ตาม เราไม่ขอบ แต่พอได้ยินก็คิดแล้วคิดอีก หวนเอามาคิดนั่นแหละ คิดจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน โกรธใครเกลียดใครมันก็มีความรู้สึกอยากผลักไสออกไป จะยิ่งโกรธยิ่งเกลียดก็ยิ่งคิดยิ่งนึก เวลามือหรือนิ้วเราถูกกลิ่นเหม็น น้ำปลา ปลาร้า หรือกะปิ เหม็น เราไม่ชอบเราก็เช็ดมือ ถูนิ้ว แต่พอล้างนิ้วเสร็จล้างมือเสร็จ เราทำอย่างไร เราก็ยกเราก็ดึงนิ้วมาดม เราไม่ชอบกลิ่นเหม็นที่ติดอยู่ปลายนิ้ว แต่เราก็ดมมันอยู่นั่นแหละ ถ้ามันยังเหม็นอยู่เราก็ล้าง แล้วเราก็เอามาดมใหม่ ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด เพราะงั้นมันจึงมีคำพูดที่ว่า สิ่งใดที่ผลักไสจะคงอยู่ แต่สิ่งใดที่ตระหนักรู้จะหายไป ถ้าเรายิ่งผลักไสมันก็ยิ่งรบกวน มันยิ่งยึดติด ยิ่งจดจ่อ อารมณ์ที่เป็นปัจจุบันมันไม่ใช่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง แดดร้อน แต่เป็นใจที่ผลักไส ใจที่ไม่ชอบต่างหาก ทุกอย่างแม้กระทั่งความคิดที่ฟุ้งซ่านในใจ
หลายคนบอกว่าไม่อยากทำสมาธิ ไม่อยากเจริญสติ มันฟุ้งไปหมดเลย ฟุ้งตลอดเวลา บางคนนั่ง 5 นาทีก็ไม่ไหวละมันฟุ้ง ที่จริงความฟุ้งเป็นธรรมดา และจริงๆ มันก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาเกิดเมื่อใจเราไม่ชอบ พอใจเราไม่ชอบความทุกข์มันเกิดขึ้นทันที เพราะเมื่อไม่ชอบ จิตมันก็จะดิ้น จิตมันก็จะผลักไส จิตมันก็อยากให้สิ่งนั้นมันหายไป และเมื่อสิ่งนั้นมันไม่หาย มันยังอยู่ ก็เกิดความผิดหวัง เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที เราทุกข์เพราะเราอยากผลักไส และมันไม่ไปมันไม่หาย ไม่ใช่เพราะมันอยู่ แม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บมันก็ มันจริง ๆก็ทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกาย แต่ว่ามันทำให้เกิดทุกขเวทนาทางใจไม่ได้ มันทำให้ทุกข์ใจไม่ได้ แต่ทุกช์ใจเกิดขึ้นทันทีที่เราไม่ชอบมัน ผลักไสมัน เรายอมรับมันไม่ได้ และยิ่งเรายอมรับมันไม่ได้ ก็ยิ่งเท่ากับเปิดช่องให้มันมาเล่นงานจิตใจเรามากขึ้น คนบางคนเป็นมะเร็ง แต่ว่าเขาก็อยู่กับมันได้ด้วยใจปกติ เพราะเขายอมรับมัน เขาไม่รังเกียจ ไม่ผลักไสมัน บางทีกลับมีเมตตากับมันด้วย
บางคนเป็นมะเร็งแล้วปวดมาก แต่ว่าเธอก็ไม่ค่อยกินยาระงับปวดเท่าไร เธอใช้วิธีคุยกับมะเร็ง บอกว่ามะเร็งตอนนี้มันก็ค่ำแล้ว ฉันจะนอนละ เธอก็ควรถึงเวลานอนด้วยเหมือนกัน แล้วเธอก็ร้องเพลงกล่อมมะเร็ง ทำนองเดียวกับกล่อมลูก และก็หลับไปด้วยกัน มะเร็งก็หลับเธอก็หลับไปด้วย โดยที่ไม่ต้องใช้ยา ก็อยู่กับมะเร็งได้ และก็อยู่ได้นานด้วย แต่บางคนพอรู้ว่าเป็นมะเร็งได้ไม่กี่วันก็ไปเลย มีคุณป้าคนหนึ่งไปโรงพยาบาล เข้าๆ ออกๆ อยู่หลายครั้ง ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งหมอบอกว่า ป้า ๆ เป็นมะเร็ง ป้าอยู่ได้อีกแค่ 3 เดือน คือเธอเป็นมะเร็งตับ เธอตกใจมาก กลุ้มอกกลุ้มใจยอมรับไม่ได้ รู้สึกวิตกกังวล กินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ปรากฎว่าอยู่ได้แค่ 12 วันก็ตาย 12 วันมะเร็งลุกลามจนกระทั่งทำให้เธอตายหรือเปล่ามันก็ไม่ขนาดนั้นหรอก แต่เป็นเพราะใจเธอมากกว่า ใจเธอยอมรับไม่ได้ ใจเธอต่อต้านผลักไส เกิดความกลัวความวิตก และยิ่งกลัวยิ่งวิตกก็ยิ่งครุ่นคิดถึงมัน ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด ปัญหามันอยู่ที่ใจที่ไม่ยอมรับ ไม่ใช่เพราะว่ามันเกิดโรคกับตัวเอง พอใจไม่ยอมรับก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาทันที
แต่คนเราถ้าใจยอมรับได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสงบ มีเพื่อนอาตมาคนหนึ่ง เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เชียงใหม่ วันหนึ่งก็มีธุระจะบินมาที่กรุงเทพฯ ปกติก็นั่งเครื่องบิน ก็บังเอิญเพื่อนคนหนึ่งเขารู้ เพื่อนคนนี้เขาก็มีเครื่องบินส่วนตัวประเภท 2-3 ที่นั่ง แล้วก็มีกำหนดที่จะบินเข้ากรุงเทพฯวันเดียวกัน ก็เลยชวนเพื่อนอาตมานั่งเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯด้วยกัน ก่อนที่เครื่องบินจะออกปรากฎว่ามีฝนตกหนัก พอฝนหยุดก็ขึ้นเครื่องบิน เครื่องบินออกขึ้นไปได้สัก 5 นาที ไม่ถึง 10 นาที ปรากฎว่าเครื่องดับ ก็พยายามสตาร์ทอย่างไรก็สตาร์ทไม่ติด ก็เลยคิดว่าเครื่องต้องตกแน่ คราวนี้สิ่งที่จะต้องทำก็คือว่าทำอย่างไรถึงจะให้เครื่องไม่ตกในเขตชุมชน ไม่ตกในหมู่บ้านหรือไม่ตกในเมือง ก็พยายามบังคับเครื่องให้ร่อนลงไปแถวป่าแถวภูเขา แถวลำปาง ลำพูนก็มีคูเยอะ ระหว่างที่บังคับเครื่องให้เข้าไปในป่า ให้บินอยู่เหนือภูเขา ตอนนั้นเพื่อนอาตมาก็ทำใจแล้วว่าก็คงจะต้องตาย
ในช่วงนั้นเองปรากฎว่ารอบตัวมันสงบมาก เสียงเครื่องบินที่เคยดังก็เงียบ ข้างบนก็เป็นท้องฟ้าที่เรียกว่าสีคราม ข้างล่างก็เป็นภูเขาเป็นป่า บรรยากาศมันสงบมาก ในช่วงนั้นพอเขาระลึกได้ เขายอมรับได้ว่าจะต้องตายแน่ ๆ ใจก็สงบมาก ใจสงบอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน เหมือนไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีความวิตกกังวลอะไรเลย และบรรยากาศรอบข้างก็เป็นใจด้วยอย่างที่บอก ทุกอย่างรอบตัวสงบและสวยงาม สักพักปรากฎว่าเครื่องก็ติด เครื่องต้องติดอยู่ละถ้าไม่ติด เขาคงไม่สามารถจะมาเล่าให้ฟังได้ เครื่องติดก็ตกลงว่าจะบินต่อหรือว่าจะกลับ ก็ตกลงว่ากลับดีกว่า ไปตรวจสภาพให้เรียบร้อย เพื่อนเล่าว่าตอนที่เครื่องบินร่อนลงกลับไปที่สนามบินเชียงใหม่ รถดับเพลิงมารอกันเป็นแถวเลย มารอกันหลายคัน เพราะกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุตอนที่ร่อนลง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เช็คเครื่องยนต์ก็พบว่า น้ำฝนเข้าไปในเครื่อง ก็จัดการแก้จนเรียบร้อย
เจ้าของเครื่องก็ถามเพื่อนอาตมาว่า ตกลงคิดจะบินกลับอีกหรือเปล่า บินเข้ากรุงเทพฯไหม เพื่อนอาตมาก็ตกลง ในใจตอนนั้นไม่มีความรู้สึกกลัวเลย เห็นได้ขัดว่า ความตายแม้มันเข้ามาใกล้ สำหรับหลายคนมันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แต่ทันทีที่ทำใจยอมรับได้ มันมีแต่ความสงบ ฉะนั้นความตายจะน่ากลัวหรือไม่ มันไม่ใช่อยู่ที่อะไร มันอยู่ที่ใจ ถ้าใจยอมรับได้ ความตายก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หลายคนเขาค้นพบว่า พอทำใจยอมรับความตายได้ ความสงบเกิดขึ้นกับจิตใจอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน
และมีอีกรายหนึ่ง เป็นเพื่อนเหมือนกัน เป็นผู้หญิง ไปเที่ยวเล่นทะเลที่ระยอง เล่นน้ำไปเล่นไปเล่นมา ปรากฎว่า สังเกตว่าตัวเองถูกกระแสน้ำซัดออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นไกลขึ้น มันกำลังซัดออกทะเลเลย เพื่อนที่เห็นก็พยายามว่ายไปช่วย แต่ว่าพอว่ายเข้าไปถึงจุดหนึ่ง ก็พบว่ามันมีกระแสน้ำที่มันพัดออกมาจากชายหาด และก็แรงมาก ไปช่วยไม่ไหวก็ต้องถอนตัวกลับออกมา ส่วนเพื่อนอาตมาพอรู้ว่ากำลังถูกกระแสน้ำมันซัดออกไปไกลขึ้นไกลขึ้น เขาก็ตกใจก็พยายามว่ายเข้าหาฝั่ง แต่กระแสน้ำมันแรงมาก เธอไม่รู้ว่าตรงนั้นมันมีกระแสน้ำที่มันสะท้อนมาจากชายฝั่ง พยายามว่ายเท่าไร ว่ายเท่าไรก็ไม่ได้ ไม่ได้เข้าใกล้ฝั่งเลยแม้แต่น้อย มีแต่ห่างออกไปเรื่อย ๆ จนเกือบจะหมดแรงละ ถึงตอนนั้นเธอรู้ว่าตายแน่ละ พอคิดว่าตายแน่ก็ยอม ยอมตาย เธอก็เลิกว่ายและลอยคออยู่กลาง ลอยคออยู่ตรงนั้นแหละ ยอมตาย เธอบอกว่าตอนนั้นใจสงบมากเลย มันสงบอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน และขณะที่ลอยอยู่นั้นพร้อมตาย ปรากฎว่าคลื่นมันซัดเธอเข้าหาฝั่ง เธอมารู้ในภายหลังว่า มันมีคนตายเพราะกระแสน้ำตรงนั้นมาหลายคนละ และที่ตายก็เพราะว่าพยายามที่จะว่ายเข้าหาฝั่งจนหมดแรง มารู้ภายหลังว่าถ้าเจอแบบนี้ มันต้องว่ายขนานกับฝั่ง เพราะว่ากระแสน้ำเป็นกระแสที่มันแคบ ถ้าว่ายขนานกับฝั่งก็จะหลุดออกจากกระแสน้ำ และก็สามารถจะอาศัยคลื่นซัดเข้าหาฝั่งได้
แต่ที่เธอแปลกใจก็คือว่า เอาเข้าจริง ๆ ความตายก็ไม่น่ากลัว เมื่อไรก็ตามที่ใจยอมรับได้ จิตก็สงบอย่างยิ่ง อันนี้ถ้าเราเข้าใจว่า การยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา เพียงแค่ยอมรับมันช่วยให้ใจเราสงบได้เยอะเลย เสียงดัง ที่เราทุกข์เพราะใจเรายอมรับไม่ได้ ความฟุ้งซ่านมันเกิดขึ้น แล้วเราเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เพราะความฟุ้งซ่าน แต่เป็นเพราะใจเรายอมรับมันไม่ได้ ใจเราไม่ชอบ ใจเราผลักไส แต่เมื่อไรก็ตามที่ใจเรายอมรับ หรือว่ารู้สึกเป็นกลางกับมัน การเจริญสติเป็นการฝึกให้เรารู้จักเป็นกลางกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มีความคิดดีเกิดขึ้นก็ไม่โดดเข้าหามัน มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นก็ไม่ผลักไสมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดเสมอ คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง อะไรเกิดขึ้นก็ช่างมัน คำว่า ช่างมัน ไม่เป็นไร กับการทำใจเป็นกลาง ๆ มันเป็นเรื่องเดียวกัน พอเราคิดว่าไม่เป็นไร ช่างมัน ใจเราก็ยอมรับได้ พอใจเราจะยอมรับได้ สิ่งต่าง ๆ มันก็ไม่มีพิษสงที่จะมาทำร้ายจิตใจเราได้ แม้แต่ความปวดความเมื่อยก็เหมือนกัน พอใจเรายอมรับมันได้ ความทุกข์มันลดลงไปเยอะเลย
ที่เคยเล่าว่าอาตมาพาเพื่อนพาญาติโยมเข้าไปเดินจงกรมเช้าเย็นรอบสวนแล้วก็เจอมด เมื่อวันแรก ๆ ทรมานกันมาก แต่วันที่สองหลายคนบอกว่า ความทุกข์มันลดลงไปเยอะเลยเพราะยอมรับ ยอมรับมัน มันจะกัดก็กัดไป ความทุกข์มันลดลง คันยังมีอยู่ ปวดยังมีอยู่ แต่ว่าใจมันสงบลงได้ การยอมรับก็เหมือนกับการปล่อยวาง มันเป็นเรื่องเดียวกัน พอเรายอมรับได้ ใจมันก็ไม่ดิ้นรนไม่ผลักไส มันก็วาง พอวางแล้วก็เกิดความโปร่งโล่งเบาสบาย ให้เราฝึกลองฝึกที่จะทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ว่ามันจะเป็นบวกหรือลบ การเจริญสติท่านเปรียบเหมือนกับว่านั่งอยู่บนหอคอย หรือนั่งอยู่ริมฝั่งดูน้ำ ดูกระแสน้ำที่ไหลผ่าน อะไรมันจะไหลผ่านหน้าเรา ก็แค่ดูเฉย ๆ แค่รับรู้เฉย ๆ มันจะเป็นของดีของไม่ดีก็แค่ดูเฉย ๆ จะมีเรือสำราญแล่นผ่านมาก็เฉย จะมีหมาเน่าลอยน้ำมาก็เฉย ไม่ใช่โดดลงไปเพื่อจะขึ้นเรือสำราญ ไม่ใช่พยายามหาไม้ไปยัน หรือว่าไปผลักให้หมาเน่ามันลอยไปห่าง ๆ ไม่ต้องทำอะไร จริง ๆ มันง่าย การเจริญสติ มันแค่ดูเฉย ๆ
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนบอก รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ การไปทำอะไรต่างหากที่มันเหนื่อย แต่ว่าเราชอบทำจนเป็นนิสัย พอไม่ต้องทำอะไรแค่ดูเฉย ๆ มันทำไม่เป็น มันก็แปลก ของง่ายกลับไม่ทำ กลับทำของยาก เรื่องสบายไม่ทำ กลับทำสิ่งที่ทำให้มันลำบาก ลองฝึกใจดูใจของเราดู จะพบว่ามันมีสิ่งที่ควรทำก็คือ การที่เราเพียงแค่ดูเฉย ๆ รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ เท่านั้น แล้วเราก็จะยอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยใจที่เป็นกลาง