แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดที่อาตมาสาธยายทุกเช้า ถ้าเราไม่เพียงแต่สวดไปตามถ้อยคำที่เขียนไว้ในหนังสือ แต่ว่าลองพิจารณาดูด้วยมันจะเกิดประโยชน์และก็ได้ข้อคิดทำให้เกิดปัญญา หรือว่าความเข้าใจในเรื่องตัวเรา ในเรื่องชีวิตของเราไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะส่วนที่ได้พรรณนาถึงความทุกข์ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ โดยเฉพาะสองประโยคที่อยู่ถัดมาหลังจากนั้น การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราโดยเฉพาะความทุกข์ใจ เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็อยู่ที่ตรงนี้ตรงประโยคสองประโยคนี้ ผู้คนกว่า 7,000 ล้านคน ทุกวันนี้ที่ทุกข์ใจอยู่ก็เพราะเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์นี้ คือพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจและประสบกับสิ่งที่ไม่รักที่พอใจยกตัวอย่างง่าย ๆ
อย่างหลายคนตอนมาวัดใหม่ ๆ ก็มีความทุกข์ ทุกข์เพราะอะไรทุกข์เพราะต้องพลัดพรากจากสถานที่ที่สบาย คือที่บ้านที่นอนที่อบอุ่น สบายอ่อนนิ่ม อาหารที่ถูกใจ ได้ดูหนังฟังเพลงเมื่อไหร่ก็ได้ และก็ได้พูดคุยสนุกสนาน นั้นก็คือสิ่งที่รักที่พอใจ พอพลัดพรากมาอยู่ตรงนี้ความทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที ไม่ต้องถึงกับสูญเสีย แค่อยู่ห่างมันเท่านั้น ไม่ได้เสพ ไม่ได้ใช้มัน ก็เกิดความทุกข์ กายไม่ได้ทุกข์ แต่ว่าใจทุกข์ ครั้นมาที่แล้ว เจอกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ เช่น อาหารที่ไม่ถูกปาก ต้องนอนกับพื้นไม่มีเบาะ ไม่ติดแอร์ หรือว่าต้องเจอกับความชื้นแฉะ ต้องเจอยุง รวมทั้งความเหงา กฎระเบียบที่ไม่อนุญาตให้เราพูดคุยสนุกสนานกัน อันนี้ก็ทุกข์แล้วไม่ได้ทุกข์กาย แต่ทุกข์ใจ ความทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้นกับเราหรือได้เคยเกิดขึ้นกับเรามาแล้ว เมื่อสาวหาสาเหตุก็เกือบจะร้อยทั้งร้อยก็หนีไม่พ้น 2 อย่างนี้ ยิ่งถ้าเกิดความสูญหายขึ้นมา เช่น เงินหาย รถหาย บ้านถูกยึด อันนี้ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ กายไม่เป็นอะไรแต่ใจทุกข์
หรือว่าไปเจอกับสิ่งที่ไม่รักที่ไม่พอใจ เช่น โรคภัยไข้เจ็บ ความล้มเหลว หรือคำต่อว่า คำตำหนิ อันนี้ก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกข์กายแต่ทุกข์ใจ คนส่วนใหญ่เวลาพยายามที่จะป้องกันหรือหลีกหนีความทุกข์ ก็พยายามที่จะไม่ให้เกิดความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ เช่น สร้างกำแพง ล้อมรั้ว เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินในบ้านถูกคนขโมยไป อาจจะติดสัญญาณกันขโมย ติดกล้องวงจรปิดหลายอย่าง ขับรถไปไหนก็ต้องมีกุญแจล็อกอย่างดีเพื่อไม่ให้โจรขโมยไป รวมทั้งการดูแลรักษาร่างกายเพื่อไม่ให้ความปกติมันสูญเสียไป กลายเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย เราพยายามที่จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียพลัดพรากขึ้น แต่ว่าไม่ว่าป้องกันอย่างไรเราก็ต้องมีความสูญเสียหรือความพลัดพรากเกิดขึ้นจนได้ อาจจะไม่สูญเสีย แต่ต้องพลัดพราก อย่างสมบัติในบ้านเราก็มีครบ ไม่มีใครขโมยไป แต่เราต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นมาอยู่ที่อันนี้ก็ทุกข์แล้ว
ที่จริงถ้าเราพิจารณาก็จะพบว่าความทุกข์ มันเกิดจากสอง ปัจจัย (1) พลัดพราก (2) ของที่พลัดพรากเป็นสิ่งที่รักที่พอใจ มันมีองค์ประกอบ 2 อย่าง ความพลัดพรากเป็นเรื่องเหตุการณ์ เช่น ต้องมาอยู่ที่ หรือว่ามีคนเอาไปหรือว่าเกิดภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ก็พลัดพราก อันนี้เรียกว่า เหตุการณ์ มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เหตุการณ์นั้นเรียกว่า ความพลัดพราก สองความรู้สึกของเราต่อสิ่งนั้น ก็คือ เรารัก เราพอใจ ถ้าไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แค่ปัจจัยเดียวเกิดขึ้นไม่ทุกข์ เช่น พลัดพรากก็จริงแต่ว่าของที่เราพลัดพรากหรือสูญเสียไปนั้นเราไม่รัก เราไม่พอใจ เราก็ไม่ทุกข์ เพื่อนร่วมงานที่เราไม่ชอบ เขาถูกไล่ออก เราก็ไม่ทุกข์ หรือว่าแดดร้อน ความชื้นแฉะเกิดขึ้นเสร็จแล้วเราพลัดพรากจากสิ่งนั้นไป เราก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบ เราไม่พอใจพลัดพรากแค่ไหนก็ไม่ทุกข์ จะทุกข์ก็ต่อเมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ ความรักความพอใจเป็นเรื่องข้างใน เป็นเรื่องความรู้สึกภายในต่อสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความทุกข์มันเกิดจากองค์ประกอบ 2 อย่าง คือเหตุการณ์ภายนอก และความรู้สึกภายใน และคนส่วนใหญ่ก็พยายามไปป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างที่ว่าขึ้น เหตุการณ์พลัดพราก แต่ว่าลืมไปว่าจริง ๆ แล้ว พลัดพรากแค่ไหนก็ไม่ทุกข์ ถ้าใจเราเฉย ๆ กับสิ่งนั้น หรือว่าใจเราไม่ชอบสิ่งนั้น ถ้าเราไม่ชอบสิ่งนั้นพลัดพรากอะไรก็ไม่ทุกข์ อันนี้เรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดัง หมายความว่า ทำสิ่งเดียวย่อมไร้ผล ไม่เกิดผลหรือว่ามีปัจจัยเดียวเกิดขั้นย่อมไม่เกิดผล ต้องมี 2 ปัจจัย แทนที่เราจะคิดหาทางแต่ป้องกันไม่ให้เกิดความพลัดพราก ถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดความทุกข์ใจเกิดขึ้น เราลองมาทำที่ใจของเราบ้าง อย่ามัวแต่ป้องกันสิ่งภายนอกไม่ให้สูญเสียพลัดพรากอย่างเดียว ก็คือว่าของต่าง ๆ ที่เราเคยรัก เคยหวงแหน เคยยึดติด เราลองที่จะทำใจเป็นกลางกับมันดูบ้าง ไม่ใช่หลงรักหัวปักหัวปำ แต่ว่าเราเฉย ๆ กับมัน ไม่ไปยึดติดถือมั่นกับมันมาก เมื่อถึงเวลาสูญเสียมันไป หรือพลัดพรากจากมันไป ใจก็ไม่ทุกข์ ในขณะเดียวกันความทุกข์ที่เกิดจากความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก
อันนี้ก็ประกอบไปด้วย 2 อย่าง ก็คือหนึ่งประสบ เกิดการประสบ เกิดการสัมผัสเกิดขึ้น หรือว่าเจอ พานพบ กับอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่เราพานพบนั้นไม่ชอบ เราก็พยายามป้องกันไม่ให้เจอ ไม่ให้ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ แต่ไม่ว่าทำยังไงก็ต้องเจออยู่วันยังค่ำ ยกตัวอย่าง เช่น คำตำหนิ อุปสรรค ความล้มเหลว รวมทั้งความเจ็บไข้ได้ป่วย อันนี้เราไม่ชอบแต่ต้องเจอ ไม่ว่าเราจะพยายามป้องกันยังไงก็ต้องเจอ พอเจอแล้วเราก็ทุกข์ และถ้าเราก็คิดแต่ว่าขออย่าได้เจอ อย่าได้เจอ ไม่ว่าจะสวดมนต์ยังไง อธิษฐานอย่างไร ก็ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล เพราะยังไงก็ต้องเจอ มากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่คราวนี้ทำยังไงจะไม่ทุกข์เมื่อเจอ ก็ต้องปรับใจเรา ก็คือว่า แทนที่จะไม่รักไม่พอใจเราก็เฉย ๆ กับมันบ้าง การปรับใจน่าจะง่ายกว่า เพราะว่าทำได้เดี๋ยวนี้ ทำได้ทันที เช่น จากบ้านที่แสนสบาย จากเพื่อน จากคนรักมาที่วัด ต้องมาอยู่คนเดียว ต้องมาอยู่กุฏิ หรือต้องมานอนร่วมชายคากับคนอื่น แทนที่จะไม่พอใจกับสิ่งที่ประสบ เราก็ลองทำใจให้เป็นกลาง ๆ ดู เรื่องอื่นที่หนักกว่านั้นก็เหมือนกัน เช่น คำตำหนิ แต่ก่อนไม่ชอบเลย แต่ไม่ชอบเท่าไหร่ ไม่ชอบยังไง ก็ต้องเจออยู่วันยังค่ำ
เดี๋ยวนี้มันมีช่องทางตำหนิเยอะมาก ไม่ใช่ในที่ทำงาน ที่บ้าน บางทีในเฟซบุ๊คในไลน์ ยิ่งมีโซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเปิดช่องทางให้คำตำหนิมากระทบตัวเรา กระทบกับจิตใจของเรา คนเดี๋ยวนี้ถึงทุกข์มากขึ้น หลังจากที่มีเฟซบุ๊ค หลังจากที่มีโซเชียลมีเดียแล้ว คนไม่ได้มีความสุขมากขึ้นแต่มีความทุกข์มากขึ้นต่างหาก เพราะว่ามันเจอช่องทางที่เจอคำตำหนิหลายช่องทางมากขึ้น ไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่แค่ทางโทรศัพท์ ไม่ใช่ต่อหน้าต่อตา แต่ว่าทางสื่อต่าง ๆ มากมาย คราวนี้เมื่อประสบกับคำตำหนิ จากเดิมที่เราเป็นทุกข์กับมัน เพราะว่าเราไม่ชอบ เราลองปรับใจของเราว่าเฉย ๆดูบ้าง คำตำหนิมายังไงเราก็เฉย ๆหรือว่าปรับใจให้เป็นบวกกับมันซะเลย เช่นว่า เออ ตำหนิก็ดีเหมือนกัน เราจะได้รู้ว่าอะไรที่ควรแก้ไข
ผู้ชี้นำขุมทรัพย์ ผู้ที่ตำหนิเรา ผู้ที่ขนาบเรา คำตำหนิคำขนาบเหมือนกับแผนที่ชี้ขุมทรัพย์ ขุมทรัพย์คืออะไร ก็คือว่า ความถูกต้อง คำตำหนิก็เหมือนกับทางชี้หรือป้ายชี้ให้เราเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง คนเราไปติดอยู่กับความถูกใจกับไม่ถูกใจ แต่ว่ามองข้ามเรื่องถูกต้องหรือไม่ถูกต้องไป อะไรถูกใจก็เอา อะไรถูกใจแต่ไม่ถูกต้องก็เอา แต่ถูกต้องถ้าไม่ถูกใจก็ไม่เอา เป็นอย่างนี้กันมาก ตั้งแต่เรื่องพื้น ๆ เช่น เรื่องการกิน อย่างเด็กผักมีประโยชน์แต่ไม่กิน เพราะว่าไม่ถูกใจทั้งที่มันถูกต้อง ออกกำลังกายดีถูกต้อง มีประโยชน์ต่อสุขภาพแต่ก็ไม่เอาไม่ทำเพราะไม่ถูกใจ คำตำหนิของครูบาอาจารย์ของพ่อแม่ของมิตรสหาย บ่อยครั้งก็ถูกต้อง แต่ว่ามันไม่ถูกใจ ไม่ถูกใจอัตตา ไม่ถูกใจกิเลสก็ไม่เอาไม่อยากฟัง
แต่คราวนี้ถ้าเราปรับใจมาเข้าหาความถูกต้องมากขึ้น ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนไม่ถูกใจเป็นเรื่องรอง พอเรามองปรับใจแบบนี้ เวลาเจอคำตำหนิ เราก็มองว่าเป็นการชี้ขุมทรัพย์ พอเราปรับจิตปรับใจของเรา จากความไม่รักไม่พอใจ กลายเป็นความเฉย ๆ หรือว่ากลายเป็นความพอใจขึ้นมาเห็นว่ามีประโยชน์ พอเจอคำตำหนิไม่ทุกข์แล้ว กลับยิ้มให้ กลับขอบคุณผู้ที่ตำหนิ มองเขาเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ อันนี้เราไม่ทุกข์แล้ว ประสบกับคำตำหนิแต่ไม่ทุกข์เพราะว่า แต่เดิมไม่พอใจ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นพอใจ
มีเศรษฐีคนหนึ่ง ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เป็นเศรษฐีที่ติดดินมากและก็อยู่แบบง่าย ๆ ท่านเป็นคนน่าสนใจ เคยพูดไว้ประโยคหนึ่ง วันไหนไม่ถูกตำหนิวันนั้นเป็นอัปมงคล คือมองว่าคำตำหนิเป็นของดี เมื่อเห็นเป็นของดีถูกตำหนิก็ไม่ทุกข์ การที่คนเราไม่ถูกตำหนิยาก คือสิ่งที่เราต้องประสบ ไม่มีทางหนีพ้น แต่ประสบอย่างไรจึงจะไม่ทุกข์ ก็แทนที่จะไม่รักไม่พอใจ ก็เปลี่ยนเป็นรัก เปลี่ยนเป็นพอใจ มันก็ไม่ทุกข์แล้ว การรักษาบางอย่างมันทำให้เกิดความทุกข์ทั้งกายและใจ
ดูอย่างคนที่เป็นมะเร็ง เวลาโดนฉายแสงโดนฉีดคีโมเข้า ทุกข์มากเลยทั้งกายทั้งใจ บางคนก็แพ้อย่างหนัก มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นหัวหน้าพยาบาลและเธอก็เป็นมะเร็งที่แรงมาก แล้วก็มะเร็งของเธอต้องใช้การรักษาด้วยโด๊ซที่สูง ไม่ว่าจะฉายแสงก็ดี ฉีดคีโมก็ดี ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็แพ้อย่างหนัก แต่เธอไม่แพ้หรือแพ้น้อยมาก หลายคนก็สงสัยว่าเธอทำอย่างไร เธอก็บอกว่า เวลาฉายแสงก็นึกว่ากำลังได้รับแสงสวรรค์ เวลาฉีดคีโม รับคีโมก็นึกว่ากำลังได้รับน้ำทิพย์ ใจที่เปิดรับรังสีและเคมีทำให้ไม่ทุกข์ใจ ไม่มีความกลัว คนส่วนใหญ่กลัวหรือเป็นทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ได้เจอก็กลัว ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามันทำให้แพ้ก็กลัวอย่างหนัก ทุกข์ใจทันที เพราะความไม่ชอบได้ยินกิตติศัพท์ก็เกิดความกลัว ความกลัวก็คือความไม่ชอบความรู้สึกผลักไส พอเจอเข้าจริง ๆ ร่างกายก็ต่อต้าน ก็เกิดอาการแพ้อย่างแรง
คนๆหนึ่งเจอรังสีเจอคีโมแต่ว่าไม่แพ้ อีกคนหนึ่งเจอแพ้หนัก อะไรคือสาเหตุ ก็ตอบว่าที่ใจ คนหนึ่งต่อต้านจึงเกิดความกลัว ต่อต้านด้วยความกลัว อีกคนหนึ่งมองในแง่บวกว่าเป็นของดี เป็นแสงสวรรค์ เป็นน้ำทิพย์ ในเมื่อต้องเจอสิ่งใดแทนที่เกลียดแทนที่ผลักไส ก็ลองปรับใจเป็นชอบเพราะเห็นประโยชน์ของมัน คือศิลปะในการแก้ทุกข์หรือว่าในการทำใจไม่ให้ทุกข์ ไม่ใช่หาทางป้องกันว่าทำอย่างไรถึงจะไม่เจออย่างนั้นอย่างนี้ หรือทำอย่างไรจะไม่ต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราพยายามทำอย่างนั้น ทำเท่าไหร่ก็ไม่มีทางที่จะหนีพ้น ต้องเจอวันยังค่ำในบางเรื่อง และต้องพลัดพรากวันยังค่ำในบางสิ่ง แต่เมื่อเจอสิ่งที่เราทำได้คือเราปรับที่ใจของเรา เมื่อถึงคราวพลัดพรากจากสิ่งใดก็ตาม แทนที่จะไปยึดติดกับมัน หรือว่าแทนที่จะหลงใหลในสิ่งนั้น เราก็ลองปรับใจดูก็คือว่า ทำใจเป็นกลาง ๆ กับสิ่งนั้น ในยามที่ต้องเจอสิ่งใดก็ตาม แทนที่จะไม่รักไม่พอใจ แทนที่จะต่อต้านผลักไส ก็ลองปรับใจของเราให้เป็นกลาง ๆ หรือว่าชอบมันไป อันนี้มันเป็นวิธีแก้ทุกข์ที่เรามักจะมองข้ามกันไป
อย่าไปมัวแต่ป้องกันหรือจัดการกับเหตุการณ์ภายนอก ลองหาทางจัดการกับใจของเราดู ที่จริงก็ควรจัดการตั้งแต่ตอนมันยังไม่สูญเสียพลัดพราก ก็คือว่าสิ่งใดก็ตามที่เราเคยรักเคยหวงแหน ลองทำใจเป็นกลาง ๆ ดู อาจจะเตือนใจของเราก็ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มันเป็นสิ่งที่แปรปรวนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงใหลกับมันมาก เพราะถ้าหลงใหลกับมันแล้วพอถึงเวลาพลัดพรากก็จะทุกข์ หรือมองว่ามันก็ไม่ใช่มีแต่ประโยชน์อย่างเดียวมันก็มีโทษเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติที่มีมันก็เป็นภาระในการรักษา มันไม่ใช่ให้ความสุขอย่างเดียวมันก็ทำให้เกิดความทุกข์ด้วย
มีสังฆราชเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อ 70 - 80 ปีที่แล้ว ท่านได้รับชุดน้ำชาลายครามอย่างดีเป็นของโบราณจากจีน มีลูกศิษย์มาถวาย เป็นของราคาแพง เพราะเป็นของโบราณ ก็คงจะสองสามร้อยปี เป็นชุดน้ำชา เขาถวายมาท่านก็กำชับลูกศิษย์ว่าของเป็นของดี เวลาลูกศิษย์จะมาทำความสะอาด ท่านก็กำชับลูกศิษย์ว่าให้ระมัดระวัง เวลาล้างก็ให้ล้างระมัดระวัง ให้ถือดี ๆ ท่านก็ทำอย่างนี้ทุกวัน ทุกครั้ง เวลาลูกศิษย์มาทำความสะอาด ไม่ว่าแถวนั้นหรือมาทำความสะอาดถ้วยน้ำชาชุดน้ำชา เป็นที่รู้กันว่าท่านโปรดปรานชุดน้ำชานี้มาก ใส่ใจกับชุดน้ำชานี้มาก จะกำชับอยู่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งท่านกำลังทรงงานอยู่ คือทำงานอยู่ ได้ยินเสียงดัง
เพล้ง! ท่านก็ถามทันทีว่าเสียงอะไร ลูกศิษย์อึ้งเพราะว่าลูกศิษย์เป็นคนทำแตก และสิ่งที่แตกนั่นคือชุดน้ำชาที่พระองค์โปรดปราน ก็พูดอย่างอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ว่าเป็นชุดน้ำชาชุดนั้น พูดไปก็กลัวจะโดนด่าหรือว่าโดนลงโทษ พอท่านสังฆราชเจ้ารู้ว่าเป็นชุดน้ำชาชุดนั้น พระองค์ก็อุทานขึ้นว่า หมดห่วงกันที ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องทุกข์ ไม่มีห่วงแล้ว แทนที่ท่านจะทุกข์กลับรู้สึกโล่งอก เรียกว่าหมดภาระ คนเราไม่ค่อยได้ตระหนักว่า สิ่งที่เรามีและยิ่งผูกพันกับมันเท่าไหร่ ยิ่งเป็นภาระกับเรามากเท่านั้น แต่ถ้าคนเราเห็นว่าสิ่งที่เรามี สมบัติที่เรามี มันเป็นภาระ มันไม่ได้ให้ความสุขกับเรามันเป็นโทษด้วย เป็นภาระต้องคอยดูแลต้องคอยรักษา เช่น รถ บ้าน รถยนต์ เงินทองที่ต้องคอยรักษา อันนี้เรียกว่าเห็นโทษของมัน เมื่อเราเห็นโทษของมัน เราก็จะไม่ได้ไม่ยึดติดกับมันมาก ไม่หวงแหนกับมันมาก ถึงเวลาสูญเสียไปใจก็ไม่ทุกข์ หรือเราจะมองว่าสิ่งนั้นเป็นอนัตตาก็ได้ สิ่งนั้นไม่ใช่เป็นของเรา มันเป็นของที่อยู่กับเราชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง บังคับบัญชาก็ไม่ได้
การมองเห็นความจริงว่ามันเป็นของไม่เที่ยง เรียกว่า อนิจจัง มองเห็นว่ามันเป็นภาระ มันเจือไปด้วยทุกข์ เรียกว่า ทุกขัง การมองเห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง เรียกว่าเห็น อนัตตา คือความจริงที่เรียกว่าไตรลักษณ์ ถ้าเราเห็นอย่างนี้ก็ทำให้ความหวงแหน ความรัก ความพอใจในสิ่งนั้นก็ค่อย ๆ คลายลง กลายเป็นความรู้สึกเฉย ๆ กับมัน ถึงเวลาพลัดพรากไป ใจก็ไม่ทุกข์ พวกเราทุกคนก็ล้วนแต่ปรารถนาความสุขใจ ไม่ต้องการให้เกิดความทุกข์ใจ แต่วิธีป้องกันหรือแก้ไขบรรเทาความทุกข์ใจของเรา มักจะไปจัดการกับสิ่งภายนอก ไปหาสิ่งดีๆมาแวดล้อมตัวเรา หาทางป้องกันไม่ให้สิ่งดีๆนั้นมันสูญเสียไปจากเรา หรือป้องกันไม่ให้เราพลัดพรากจากสิ่งนั้น แต่ไม่ค่อยมาจัดการที่ใจของเรา จากที่เคยรักที่พอใจ จนกระทั่งหวงแหน หลงใหล ยึดติด
เราลองมาปรับใจดูว่า ให้ใจเราเป็นกลาง ๆ กับสิ่งนั้น มีก็ใช้ ไม่มีก็ไม่ทุกข์ พอถึงเวลาสูญเสียมันไปใจก็ไม่ทุกข์ ส่วนที่เราเคยเกลียด เคยผลักไส เคยต่อต้าน ไม่รักไม่พอใจ แล้วก็หาทางว่าทำอย่างไรอย่าได้เจอมันเลย แต่ทำยังไงก็ต้องเจอ เมื่อต้องเจอทำยังไงเราจะไม่ทุกข์ใจ เราต้องปรับใจของเราแทนที่จะผลักไสต่อต้าน ก็วางใจเป็นกลาง ๆ
เวลาเราเจริญสติ ทำสมาธิ หลายคนจะบ่นไม่อยากทำเลย หรือว่ามันมีปัญหา ทำแล้วทุกข์เพราะว่ามันมีความฟุ้งซ่าน หลายคนไม่ชอบ ส่วนใหญ่ไม่ชอบความฟุ้งซ่าน พอเจอความฟุ้งซ่านซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีทางหนีพ้นสำหรับนักปฏิบัติ ก็ทุกข์ขึ้นมาเลย แล้วก็ไปคิดว่า ที่ทุกข์เพราะว่ามันมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น แต่ที่จริงไม่ได้มองเลยว่า ที่เราทุกข์เพราะเราไม่พอใจความฟุ้งซ่าน ใจที่เป็นลบต่อความฟุ้งซ่านต่างหากคือที่มาของความทุกข์ในการปฏิบัติ ยิ่งไปพยายามป้องกันไม่ให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ เพราะว่ายิ่งไปป้องกันยิ่งไปกดข่มมัน มันก็ยิ่งฟุ้งเข้าไปใหญ่
ที่จริงแล้วเราเพียงแต่ว่าปรับใจของเราใหม่ แทนที่รู้สึกลบกับความฟุ้งซ่าน ก็ให้มองความฟุ้งซ่านเป็นธรรมดา พอเราปรับใจตรงนี้ ฟุ้งซ่านยังไงใจก็จะไม่ทุกข์แล้ว และยิ่งมีปัญญาเห็นว่าความฟุ้งซ่านก็มีประโยชน์ มันเป็นการบ้านฝึกใจให้มีสติ เหมือนนักมวย นักมวยต้องเจอคู่ชก นักมวยต้องมีคู่ซ้อม ถ้านักมวยไม่มีคู่ซ้อม มันจะเก่งได้อย่างไร เพราะอย่างนั้น คนที่เป็นนักปฏิบัติต้องการเจริญสติต้องการทำให้จิตเรามีคุณภาพ ก็ต้องมีคู่ซ้อม คู่ชก ความฟุ้งซ่านก็คือคู่ซ้อม มันมาก็เป็นการช่วยเติม ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความรวดเร็วปราดเปรียวของสติให้มากขึ้น ยิ่งได้คู่ซ้อมที่ดีมากเท่าไหร่ ความเก่งความรวดเร็วปราดเปรียวของสติก็จะมีมากเท่านั้น ลองมองแบบนี้ดูบ้าง อย่าไปหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่ว่าปรับใจของเราให้เป็นบวกกับสิ่งนั้น
เสียงดังก็เหมือนกัน บางคนเป็นพวกแพ้เสียงดัง ยิ่งเป็นพวกที่ติดในสมถะกรรมฐานความสงบ จะไม่ชอบเสียงดังมาก แต่ไม่ว่าเราจะพยายามป้องกันอย่างไงก็ตาม เสียงดังก็ต้องเกิดขึ้นมากระทบหูเราเป็นธรรมดา แทนที่จะไม่พอใจ ปรับใจให้เป็นกลาง ๆกับมัน ใจก็ไม่ทุกข์ ปรับใจให้เป็นบวกกับมัน มีประโยชน์เหมือนกัน มันเป็นเครื่องฝึกสติของเรา ให้เราวางใจเป็นอุเบกขา พอเรามองเป็นแง่บวกแบบนี้ เสียงดังก็ไม่ทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรศัพท์ที่ดังในระหว่างที่กำลังประชุมกัน เสียงคุยกันที่ดังเข้ามาในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิ ใจเราก็ไม่ทุกข์แล้ว ให้ลองฝึกตรงนี้ดูบ้าง ปรับที่ใจ อย่าไปแก้ที่สิ่งภายนอก แก้ที่สิ่งภายนอกก็ควรทำ แดดร้อนบางทีเราก็ต้องเปิดพัดลม ฝนตกก็ต้องหาร่มมากาง แต่ถ้าเกิดไม่มีพัดลมหรือไม่มีร่ม เราจะต้องทุกข์เสมอไปไหม ก็ไม่จำเป็น เราแค่ทำใจของเราให้เป็นกลาง ๆ กับสิ่งนั้น ใจก็ไม่ทุกข์ไปเอง