แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเช้าเมื่อเราทำวัตร เราสาธยายมาถึงจุดหนึ่ง เราก็จะเจอกับคำถาม ซึ่งเป็นเหมือนการถามตัวเองว่า ทำไฉนการทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏชัดกับเราได้ ถ้าเป็นฆราวาส ก็จะกล่าวประโยคหนึ่งว่าจักทำในใจอยู่ จักปฏิบัติตามอยู่ ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตามสติกำลัง คำว่าตามสติกำลัง ภาษาบาลีเขาใช้ว่า ยถาสติ ยถาพลัง พวกเราก็จะสวดไปโดยที่ไม่ได้สังเกตอะไร
แต่มันมีคำหนึ่งที่คล้ายๆ กับคำนี้คือคำว่ายถากรรม ฟังดูแล้วความหมายในภาษาไทยจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ยถากรรม ความหลายมันคล้ายๆกับว่าตามบุญตามกรรม ที่จริงก็แปลถูก ยถาแปลว่าตามยถากรรมคือตามกรรม สำนวนไทยเราก็เติมตามบุญเข้าไปด้วย ตามบุญตามกรรม ในความรู้สึกของคนทั่วไป ตามบุญตามกรรมก็คือแล้วแต่มันจะเป็นไป เช่น เจ็บป่วย บางคนก็อาจจะคิดว่าปล่อยไปตามยถากรรมก็แล้วกัน ไม่ต้องไปรักษาอะไร ก็คือปล่อยให้มันเป็นไปตามบุญตามกรรม บุญในที่นี้ก็คงหมายถึงบุญที่ทำในอดีต กรรมในที่นี้คือกรรมในอดีต หมายความว่าถ้าในอดีตซึ่งหมายถึงในอดีตชาติ เราทำกรรมดีไว้เราทำบุญไว้ เดี๋ยวบุญกรรมนี้จะช่วยให้เรารอด แต่ถ้าเกิดว่าเคยทำกรรมไม่ดีไว้ บุญก็ไม่ได้สร้าง ก็คงไม่รอด อันนี้เป็นความเข้าใจว่าจะทำอะไรก็ตาม คงไม่มีประโยชน์ ปล่อยไปตามบุญตามกรรม อันนี้คือความหมายของคำว่ายถากรรมที่เรามักจะใช้กันในภาษาไทย
แต่ที่จริงแล้ว คำว่ายถากรรม ความหมายมันก็คล้ายๆ กับยถาสติ ยถาพลังก็คือว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะปล่อยไปโดยที่ไม่ต้องทำอะไร งอมืองอเท้า ยถากรรมมีความหมายจริง ๆ ก็คือเป็นไปตามกรรม แต่กรรมในที่นี้แปลว่าการกระทำ หมายความว่าสิ่งต่าง ๆ นั้นมันจะเจริญหรือเสื่อม จะขึ้นหรือลง มันขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปเกี่ยวข้อง สร้างเหตุปัจจัยอย่างไร ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ที่ดี มันก็ทำให้เกิดความเจริญ แต่ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยที่มันไม่ดี มันก็เกิดเป็นความเสื่อม
คำว่ายถากรรมจริงๆ ไม่ได้แปลว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรม แต่หมายถึงว่าลงมือกระทำและผลก็จะเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าเราลงมือกระทำแบบไหนหรือลงมือทำแค่ไหน ตรงข้ามกับคำว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรม ตามบุญ ตามกรรมคือ ลอยไปตามกระแสน้ำ สุดแท้แต่ว่ากระแสน้ำจะพาไปไหน แต่ถ้าคำว่ายถากรรมในความหมายจริงๆ มันแปลว่าต้องลงมือทำ แล้วกรรมหรือการกระทำนั้นเองจะส่งผล จะเป็นบวกหรือลบ จะเจริญหรือเสื่อม จะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็แล้วแต่การกระทำนั้นๆ ซึ่งความจริงขึ้นกับเหตุปัจจัยต่างๆด้วย ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราอย่างเดียว หมายความว่า เราอาจทำความเพียรของเราเต็มที่แล้ว แต่เหตุปัจจัยมันไม่เอื้อ เจ็บป่วย เราก็พยายามดูแลรักษาตัวเอง แต่ว่ามันเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ยังไม่มีเทคโนโลยีหรือยังไม่มียาใดๆ ที่จะมาช่วยเยียวยารักษาให้ ไม่ว่าทำอย่างไร ก็ไม่ช่วยให้หายเจ็บ หายป่วยได้ ก็อาจจะป่วยไปเรื่อยๆ หรืออาจถึงตายก็ได้ แต่อย่างน้อยมันก็ได้มีการลงมือทำ
ที่เราได้ตั้งปณิธานทุกเช้า จักทำในใจอยู่ จักปฏิบัติตามอยู่ ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ตามสติกำลัง อันนี้ก็ความหมายเดียวกันกับตามยถากรรม แต่ไม่ใช่ความหมายในภาษาไทย ตามสติกำลัง ตามความเพียรที่ได้ลงไป กรรมที่ดีก็คือ ความเพียรนั่นเอง กรรมที่ไม่ดีคือความขี้เกียจรวมถึงการทำชั่วด้วย ทำอะไรเราก็ต้องพึ่งความเพียรของเรา และความเพียรนั้นเองจะส่งผล แต่ว่าในขณะที่ทำความเพียรอย่าพึ่งไปสนใจกับผลมาก ให้ทำตามกำลังที่ได้ลงไป ผลจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของของอนาคต แต่ว่าสิ่งสำคัญคือเราทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าทำอะไรอยู่ก็ตาม ก็ให้มันเป็นการกระทำที่ดี ถูกศีลถูกธรรม แต่แค่นั้นไม่พอ ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ถูกศีลถูกธรรม มันต้องเอาใจใส่ลงไปในสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ใจเต็มร้อย อย่าแบ่งครึ่งๆ กลางๆ
ส่วนใหญ่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ หมายความว่าใจไม่เต็มร้อย ใจก็อยู่กับงานที่ทำบ้างอาจจะห้าสิบ-หกสิบ เสร็จแล้วใจก็ไปจดจ่ออยู่ที่ผลหรือผลลัพธ์ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มันจะดีไหม มันจะสวยไหม มันจะสำเร็จไหม คราวนี้เราก็ไม่ได้ทำด้วยใจเต็มร้อย ทำด้วยใจแบบครึ่งๆกลางๆ ก็คือห้าสิบ-ห้าสิบ หรือสามสิบ-เจ็ดสิบ หรือสามสิบอยู่ที่การกระทำ อีกเจ็ดสิบไปอยู่ที่ผล ซึ่งยังไม่ออกมา นี่ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติของชาวพุทธ
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง เคยไปฝึกวาดตัวอักษรด้วยพู่กันจีน เมื่อสักเกือบสิบปีที่แล้ว ท่านติช นัท ฮันห์มาเมืองไทย แล้วมีการจัดนิทรรศการแสดงภาพวาดด้วยพู่กันจีนของท่านที่กรุงเทพ ที่จริงไม่ใช่เป็นภาพวาดทั่วไป แต่เป็นภาพวาดตัวอักษร โดยใช้พู่กันจีน ซึ่งท่านเขียนหรือวาดได้สวยงาม ที่วัดป่ามหาวันก็มีอยู่ภาพหนึ่ง ท่านมอบให้ตอนไปเยี่ยมท่าน ที่หมู่บ้านพลัม โคราช ภาพวาดนั้น บางภาพก็เป็นตัวอักษรอย่างเดียว แต่บางภาพก็มีวงกลม ซึ่งกลมสวยงามมาก ชายหนุ่มคนนี้ ไปขอลองฝึกวาดภาพ วาดตัวอักษรด้วยพู่กันจีน แต่ก็ตั้งใจมาก ตั้งใจอยากจะให้สวยเหมือนที่ท่านติช นัท ฮันห์ หรือหลวงปู่ได้ทำเอาไว้ ด้วยความตั้งใจมาก จนกระทั่งเวลาวาดวงกลมก็เกร็งจนมือสั่น พระที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ก็พูดกับโยมคนนี้ว่า อย่าไปสนใจภาพสุดท้าย และก็บอกว่า สิ่งสำคัญมันไม่ใช่ที่ผลลัพธ์ สิ่งสำคัญคือกระบวนการ ก็คือว่า ให้กำหนดความตั้งใจอยู่กับปลายพู่กัน อยู่กับเส้นที่กำลังวาด คืออยู่กับปัจจุบัน ชายหนุ่มก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ อันนี้คงเป็นเคล็ดลับที่ทำให้สวยงาม พระท่านก็บอกอีกว่า สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ สิ่งสำคัญให้ใจอยู่กับพู่กัน ให้ใจอยู่กับภาพที่กำลังวาด อันนี้สำคัญที่สุด
คำอธิบายแบบนี้ สำหรับคนสมัยใหม่เข้าใจยาก คนเราสมัยนี้จะทำอะไรก็จะคิดถึงผลลัพธ์ว่า มันจะออกมาเป็นอย่างไร ตอนที่ลงมือทำ ใจก็พะวงว่า มันจะออกมาดีไหม มันจะออกมาสวยไหม ว่ามันจะออกมาสำเร็จไหม แม้แต่ เวลามาปฏิบัติธรรม ก็เดินจงกรมไป ใจก็นึกว่า เมื่อไหร่ใจจะสงบเสียที เมื่อไหร่จะได้เห็นธรรม รู้รูปนาม อย่างคนอื่นหรืออย่างครูบาอาจารย์บ้าง ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจไปอยู่กับผลลัพธ์ พอบอกว่า วางไว้ก่อน อย่าไปสนใจผลลัพธ์ อย่าไปสนใจความสงบ ให้ใจมาอยู่กับการปฏิบัติ หรือให้ใจมาอยู่กับการกระทำ อย่าไปสนใจผลลัพธ์ คนก็จะแย้งขึ้นมาทันที่ว่า ไม่สนใจ แล้วจะทำไปทำไม ตอนที่กำลังทำก็สำคัญ ไม่ว่าเราจะกำลังจะวาดรูป ถ้าเพียงแค่เรา เอาใจเต็มร้อยมาอยู่กับปลายพู่กัน อยู่กับภาพที่กำลังวาด ถ้าใจใส่ไปเต็มร้อย หรือว่าเป็นใจที่นิ่ง ใจที่สงบ ภาพมันออกมาสวยเอง แต่ถ้าใจพะวง คิดโน่นคิดนี่ หรือคิดแต่ว่า จะให้ผลงานออกมาสวย ทำให้รูปออกมางาม อันนี้แหละใจไม่เต็มร้อยแล้ว ใจไม่นิ่งพอ เมื่อใจไม่นิ่งพอ ผลมันจะออกมาดีได้อย่างไร
การปฏิบัติก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติ แน่นอนเรามาที่วัดป่าสุขโต อยากจะฝึกจิตให้สงบ อยากจะฝึกจิตให้มีสติ แต่ว่า พอลงมือเดิน พอยกมือสร้างจังหวะ วางไว้ก่อน ความอยากได้โน่นได้นี่ หรือวัตถุประสงค์ของการมา วางเอาไว้ก่อน ให้ใจอยู่กับสิ่งที่ทำ คือ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มีสติอยู่กับการเดิน ให้มีสติอยู่กับการยกมือ และก็ใจเต็มร้อย แต่อย่าเกินร้อยคือไปตั้งใจมาก ตั้งใจมากจนไปเพ่งที่มือ ไปเพ่งที่เท้า ทำไมถึงทำอย่างนั้น ก็เพราะอยากให้ใจสงบ พออยากให้ใจสงบก็เลยต้องบังคับจิต ไม่ให้คิด ด้วยการไปเพ่ง ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ บางทีก็ไปจ้อง ไปจ้องมองจิตว่า มันจะคิดมันจะปรุง เมื่อไหร่ถ้ามันคิด ถ้ามันมีความคิดออกมา ฉันก็จะไปตะปบ ไปกดไปข่มมัน อันนี้ทำไปด้วยอำนาจของความอยาก คืออยากสงบ พออยากสงบ ก็เลยไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ไม่ขอบความฟุ้งซ่าน พอมีความฟุ้งซ่านก็จะไม่พอใจ และก็ไปพยายามยามกดข่มความฟุ้งซ่านเอาไว้ แต่เมื่อกดเท่าไหร่ พยายามปัดไปเท่าไหร่ มันไม่หาย มันกลับมามากขึ้น ก็ยิ่งหงุดหงิด หงุดหงิดแล้วก็ยังไม่รู้ตัว ก็ยังไม่รู้ว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะความอยาก ก็ไปกดข่มมันอีก ก็ไม่ได้ผล พยายามเอาชนะมันให้ได้
สุดท้ายก็ปวดหัว หน้ามืด เพราะว่าหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะว่าขณะที่เรากด พยายามไปห้าม พยายามไปตัดความคิด ตอนนั้น เรากลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัว คนเราถ้ากลั้นหายใจบ่อยๆ กลั้นหายใจถี่ๆ นานๆ เป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน แน่นอนต้องหน้ามืด ปวดหัว เพราะทำในสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทำไปเพราะว่าอยากสงบ ไม่ยอมวางในความอยากนี้ลง ใจไปพะวงถึงแต่จุดหมาย ก็คือความสงบ ความสงบจนลืมไปว่า สิ่งสำคัญคือความรู้ตัว การมีสติในปัจจุบัน
ที่จริงการปฏิบัติแนวหลวงพ่อเทียน ท่านไม่ได้เน้นเรื่องของความสงบเป็นจุดหมาย ท่านเน้นความรู้สึกตัวเป็นจุดหมาย ท่านเน้นเรื่องของสติ แต่แม้จุดหมายคือสติ ความรู้สึกตัว ถึงเวลาปฏิบัติก็ต้องวาง ลืมไปก่อน แต่ขอให้มีความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดอยากจะให้รู้สึกตัว ไม่ต้องอยากให้มีสติ แต่ให้มีความรู้สึกตัวลงไป ความอยากเป็นแค่ความคิด อยากจะมีสติ อยากจะมีความรู้สึกตัว อันนั้นเป็นความคิด ให้ทำลงไปเลย คือ ให้มีความรู้สึกตัว ให้มีสติ เหมือนคนที่อยากกินอาหาร ถ้ามันมีแต่ความอยาก ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ให้ลงมือทำเลย ลงมือทำอาหาร และตอนลงมือทำก็อย่าไปสนใจว่า อาหารมันจะอร่อยไหม ให้สนใจแค่เพียงว่า ทำให้มันดีที่สุดก็แล้วกัน แล้วเดี๋ยวมันออกมาดีเอง
อันนี้ เราเป็นไปตามยถากรรม เป็นไปตามกรรม กรรมในที่นี้คือ ความตั้งใจ และไม่ใช่ตั้งใจอย่างเดียว ทำไปด้วยความรู้สึกตัว ทำอย่างมีสติด้วย ตั้งใจแต่ไม่มีสติ มันก็มีเหมือนกัน ตั้งใจมากจนไม่มีสติ คือ ทำไปด้วยความอยาก อย่างผู้ชายคนที่ว่านั้น แกวาดรูป แกเขียนตัวอักษรด้วยความตั้งใจมาก มือเลยสั่น โดยเฉพาะเวลาจับพู่กัน วาดวงกลม อันนี้เรียกว่า ทำด้วยใจเกินร้อย เพราะว่า ไปคิดถึงผลลัพธ์ว่าจะต้องวาดให้มันสวย ต้องลืมไปเลย ต้องลืมเลยผลลัพธ์ ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ เรียกว่าเต็มร้อย
เพราะฉะนั้น เวลามาปฏิบัติ อย่าคิด อย่าปล่อยใจให้อยู่กับความอยาก หรือให้ความอยากมาครอบงำจิตใจว่า จะต้องมีสติ มีความรู้สึกตัว อย่าไปอยาก แต่ให้ลงมือทำ อันนี้ดีกว่ามาก เวลาทำก็ทำด้วยใจเต็มร้อย ไม่เผื่อใจไว้กับความอยาก ทำความรู้สึกตัวในแต่ละขณะ แต่ละขณะ ถ้ามันจะเผลอบ้าง หลงไปบ้าง ก็เป็นธรรมดา เวลามันฟุ้ง ก็อย่าไปรังเกียจมัน ที่จริงคำว่าฟุ้งซ่านก็เป็นคำที่บ่งบอกถึงอคติ เวลาที่ใครบอกว่าใจมันฟุ้งซ่านเหลือเกิน แสดงว่าเขาไม่ชอบความฟุ้งซ่าน ที่จริงต้องบอกว่ามันลักคิด อันนี้อาจจะดีกว่า
มันเหมือนกันกับคนเรียกน้ำหลากว่าน้ำท่วม เวลาใครบอกน้ำท่วม แสดงว่าเขาไม่ชอบ คนสมัยก่อนเขาไม่เรียกว่าน้ำท่วม เรียกว่าน้ำหลาก คนไทยสมัยก่อนไม่รังเกียจ เขาก็แค่เพียงปรับตัวให้อยู่กับน้ำหลากได้ ก็คือยกบ้านขึ้นสูง แล้วก็แทนที่จะเดิน ก็ใช้เรือ แต่พอสมัยนี้ เราเรียกปรากฏการณ์เดียวกันว่าน้ำท่วม เพราะอะไร เพราะว่าเราไม่ชอบมัน รถไปลำบาก และมันก็ท่วมบ้าน เพราะบ้านสร้างเป็นบ้านตึก เป็นบ้านชั้นเดียวบ้าง เป็นบ้านสองชั้นบ้างไม่ได้ยกสูง ปรากฏการณ์เดียวกัน คนสมัยก่อนเรียกว่าน้ำหลาก คือเขาไม่ได้รังเกียจมัน อยู่กับมันได้ แต่คนสมัยนี้เรียกว่าน้ำท่วมเพราะไม่ชอบ
ในทำนองเดียวกัน เวลาเรามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในใจ เราเรียกมันว่าความฟุ้งซ่านแสดงว่าเราลึกๆเราไม่ชอบ แต่เราต้องฝึกว่า ความฟุ้งซ่าน หรือความลักคิดมันเป็นธรรมดา เราไม่เรียกว่าความฟุ้งซาน เราเรียกว่าความลักคิด มันเผลอคิดไป เราไม่ได้รังเกียจมัน มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้
การเจริญสติการปฏิบัติธรรมตามแนวหลวงพ่อเทียน ตัวรู้สำคัญมาก รู้ ทั้งรู้สึก ยกมือก็รู้สึก รู้ว่าทำไปก็รู้สึกตัว รวมทั้งเวลามันฟุ้ง เวลามันมีความคิดเกิดขึ้นก็รู้ ไม่ว่าจะคิดดี คิดไม่ดี ก็รู้อย่างเดียว ทุกอย่างมีมาให้เรารู้ ไม่สงบก็รู้ ไม่ใช่ไม่สงบ ไปรังเกียจมัน ไปสู้รบตบมือกับมัน มันเหมือนกับนักเรียน ถ้าเป็นนักเรียนที่เก่งก็จะเรียนเพื่อรู้ นักเรียนที่ไม่เก่งจะเรียนเพื่อเอาคะแนน คนที่เรียนเพื่อรู้กับคนที่เรียนเพื่อเอาคะแนนมันต่างกันมาก คนที่เรียนเอาความรู้ ถึงแม้สอบไม่ได้คะแนนดี เขาก็ไม่เสียใจ เพราะเขาได้ความรู้แล้ว เพียงแต่ความรู้ที่เขามี ครูไม่ได้เอามาออกข้อสอบ และถึงแม้ว่าเขาทำโจทย์ไม่ได้ เขาก็ได้รู้ว่า เขามีจุดอ่อนตรงนี้ มีโจทย์หลายข้อ โจทย์ร้อยข้อ ทำผิดไปสักหกสิบข้อ เขาก็ไม่เสียใจ เพราะเขาได้รู้ เขารู้ว่าเขายังมีจุดอ่อนตรงนี้ เขาก็กลับไปแก้ไข ปรับปรุงทำครั้งต่อไป ที่เคยผิด 60 ข้อ ก็เหลือผิดแค่ 30 ข้อ ก็รู้ว่ายังฝึกไม่พอ ก็ไปฝึกใหม่ ไปเตรียมใหม่ คราวนี้ 100 ข้อ ก็ตอบผิดสัก 5-8 ข้อ
สำหรับนักเรียนที่เก่ง เป็นนักเรียนจริงๆ คำว่านัก แปลว่าทำบ่อยๆ นักเรียนถ้าเป็นนักเรียนจริงๆเขาจะเรียนรู้จากทุกอย่าง ไม่ว่าในตำรา ไม่ว่าในห้องเรียน เขาจะเรียนรู้จากความสำเร็จ และจากความล้มเหลว เรียนรู้จากผิดพลาด ไม่ได้เรียนรู้จากความถูกต้องเท่านั้น เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเขา ดีไปหมด เพราะทำให้เขาได้รู้
นักปฏิบัติก็เหมือนกับนักเรียน เตือนใจเราอยู่เสมอว่า เราคือนักเรียน ทุกอย่างมีมาเพื่อให้เรารู้ ความโกรธ ความหงุดหงิด มันมาเพื่อให้เราได้รู้ รู้อะไร รู้จักมัน รู้ว่าความโกรธเป็นอย่างนี้ ความลักคิดมันเป็นแบบนี้ ความเศร้าเป็นอย่างนี้ มันมาแต่ละที ถ้าเราเป็นนักเรียน นักปฏิบัติจริงๆ เราไม่ขาดทุน เราได้เรียนรู้ มันมีอาการแบบนี้ มันมาแบบนี้ เวลาโกรธ ไม่ได้ทำให้ใจเราร้อนเท่านั้น สังเกตได้ว่า มันทำให้หัวใจเราเต้นเร็ว ตัวเกร็ง หน้านิ้วคิ้วขมวด เรารู้แล้ว เวลาเศร้า มันบีบคั้นใจ ใจเป็นอย่างไรบ้าง มันมีอาการต่างจากความโกรธอย่างไรบ้าง แล้วมันมีผลต่อกายอย่างไรบ้าง เรารู้แล้ว เวลารู้สึกผิด เวลาเรารู้สึกวิตกกังวล มันมีผลต่อจิตใจอย่างไร มันจะต่างกับความเศร้าและความโกรธ ลองสังเกตดู แล้วเราก็จะรู้อีกว่า มันมาตอนไหน มันมาทุกครั้งที่เราคิด คิดถึงเรื่องอดีตบ้าง คิดถึงเรื่องอนาคตบ้าง เราได้ความรู้แล้ว เพราะฉะนั้น อารมณ์อกุศลที่เราคิดว่ามันทำให้ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตใจไม่สงบ
ที่จริงแล้ว ถ้าเราเป็นนักเรียน เป็นนักภาวนา เป็นนักปฏิบัติ เราได้ความรู้เยอะ และทำให้เราสามารถจะรับมือกับมันได้ ความรู้แบบนี้ ต่อไปเราก็จะรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ลักษณะอาการของมัน การรู้ลักษณะอาการของมัน เราเรียกว่าถิรสัญญา ถิรสัญญาคือรู้ลักษณะอาการอารมณ์ต่างๆที่เราเรียกว่าธรรมารมณ์ รวมทั้งลักษณะอาการต่างๆของเวทนา ซึ่งมันทำให้เราถูกมันหลอกได้ยากขึ้น เสียท่าให้กับมันได้น้อยลง เพราะเรารู้จักหน้าตาของมัน และต่อไปเราก็จะรู้ถึงธรรมชาตินิสัย หรือธาตุแท้ของมัน ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน พวกนี้ เราต้องเห็น ต้องเจอมัน เราถึงจะรู้จักมัน
เพราะนั้นการที่มันโผล่มาให้เราเห็น สิ่งที่เราเรียกว่าความฟุ้งซ่าน สิ่งนี้เราเรียกว่าอารมณ์อกุศล อย่าไปรังเกียจมัน ตั้งหลักให้ดีว่า มันมาเพื่อให้เราเรียนรู้ มันมาเพื่อฝึกให้เราฉลาด ฝึกให้เรามีสติ ฝึกให้เราไม่พลาดท่าเสียทีมันอย่างที่เคยเป็น ส่วนใหญ่เวลามันมาเราไม่ค่อยสังเกต เราปล่อยให้ครอบงำจิตเลย หงุดหงิด พอหงุดหงิดแทนที่จะเห็นมัน ก็เข้าไปเป็นผู้หงุดหงิด ความโกรธพอเกิดขึ้น แทนที่จะเห็นมันก็กลายเป็นผู้โกรธ แม้แต่มาภาวนาก็ยังเอานิสัยนี้มาก็คือว่าคอยสู้รบตบมือกับมัน แทนที่จะวางจิตวางใจว่าเราเป็นผู้ใฝ่ เราจะเรียนรู้ อันนี้ที่เป็นบันไดขั้นต้นของวิปัสสนา และถ้ารู้แบบนี้ไม่ว่าจะเป็นการรู้ในสิ่งที่กำลังทำเป็นปัจจุบัน หรือว่ารู้อารมณ์ที่มากระทบ ตรงนี้เรียกว่าเป็นเรียกว่าบันได ไปสู่การรู้ที่ยิ่งใหญ่ก็คือ การตรัสรู้
ท่านติช นัท ฮันห์ท่านพูดเอาไว้ วิธีการการตรัสรู้เริ่มแรกคือการมีสติ ไม่ว่าจะทำอะไร จะเดิน นั่ง หรือกิน ท่านย้ำว่า การตรัสรู้ที่ยิ่งใหญ่ เกิดจากการรู้ หรือการตรัสรู้เล็กๆน้อยๆ ในปัจจุบันขณะ เวลาเราเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวในแต่ละขณะ ไม่ว่าจะเดิน ยกมือ อาบน้ำล้างหน้า อันนี้ที่มันจะเป็นการรู้ที่ละนิดๆ ที่จะนำไปสู่การตรัสรู้ที่ยิ่งใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าได้ทำให้แจ้งขึ้นมา