แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ที่วัดป่าสุคะโต เวลาพระ แม่ชี หรือแม้แต่โยมไปตักอาหาร บางทีเราก็ใช้คำว่าพิจารณา ไปพิจารณาอาหาร คนบางคนอาจจะไม่เข้าใจ คิดว่าไปจ้องมองดูอาหาร ที่จริงที่ใช้คำนี้ก็เพื่อเตือนพวกเรา ทั้งพระทั้งโยมว่า เมื่อจะไปตักอาหารก็ควรจะระลึกว่า เรากินอาหารเพื่ออะไร
เป็นการเตือนใจตัวเองว่า เรากินอาหารไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อความโก้หรู แต่ว่าเพื่อให้ร่างกายเราอยู่ได้ และเพื่อบำบัดความทุกข์ ความยาก ความลำบาก เช่น ความหิวโหย และสุดท้ายเพื่อให้เราสามารถจะมีเรี่ยวมีแรง ไปใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์ทำความดี หากพวกเราสังเกตดู ก่อนที่พระจะฉันก็จะสวดเป็นภาษาบาลี บทที่สวดเป็นภาษาบาลีเรียกว่า ตังขณิกปัจจเวก ปัจจเวกคือ พิจารณานั่นเอง ก่อนที่จะทานอาหารให้พิจารณาว่า เราไม่ได้กินอาหารเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่ใช่เพื่อความเมามันแก่กำลังทางกาย ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ เพื่อความทำให้ความลำบากทางกายหมดไป และเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ อันนี้สำหรับพระ
สำหรับโยมก็ใช้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพรหมจรรย์ในที่นี้มันไม่ได้หมายถึง การอยู่แบบไม่มีเพศสัมพันธ์ พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา มีความหมายกว้างหลายระดับ เพียงแค่การมีศีลห้าหรือว่าการซื่อสัตย์ในคู่ครอง ก็ถือว่าเป็นพรหมจรรย์อีกแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เพราะพรหมจรรย์ความหมายจริงๆ ก็คือ ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตที่ดีงาม
เวลาเราไปตักอาหารก็พิจารณาคือ เตือนใจเราว่าเรากินอาหารเพื่ออะไร หรือควรจะกินเพื่ออะไร ถ้าเราเตือนว่าเราจะกินอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ เพื่อให้มีสุขภาพดี จะได้ทำงานทำการ ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย ไม่ใช่เพื่อสนองกิเลส เวลาตักอาหารเราก็เลือกดูว่า 1. เราจะตักแค่ไหน แค่ไหนถึงพอดี 2. ควรจะตักอะไร ของบางอย่างมันอร่อยก็จริง แต่ว่าอาจจะไม่ถูกกับร่างกายของเรา บางคนอาจจะมีโรค หรือว่ากำลังจะเป็นโรค เช่น เบาหวาน ถ้าตักขนมตักของหวาน แม้ว่าใจจะชอบ แต่ถ้ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา ก็ไม่ควร บางคนมีโรคหัวใจ หรือว่ามีไขมันในเลือดมาก ก็ไม่ควรจะตักประเภทพวกเนื้อ ของทอด ของมัน อันนี้ก็คือการเตือนใจว่าเราควรจะตักแค่ไหน และควรจะตักหรือเลือกกินอะไรบ้าง ตรงนี้แหละต้องพิจารณาว่า อาหารใดที่เหมาะกับเรา ที่เกื้อกูลกับสุขภาพของเรา ที่ไม่เป็นโทษกับร่างกายของเรา
อย่าลืมว่าอาหาร มันก็มีทั้งคุณและโทษ ถ้าเรากินอาหาร ที่มันไม่ถูกกับร่างกายของเรา ไม่เหมาะกับสุขภาพของเรา ก็กลายเป็นโทษได้ หรือแม้ว่าเราจะไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ถ้าเรากินมากไป มันก็เป็นโทษ อย่างเบาๆ ก็แน่นท้อง หรือว่าจุกเสียด เพราะฉะนั้น เวลาตักอาหาร เราก็อย่าเพิ่งตักด้วยอารมณ์อยาก อยากกินของอร่อย อยากกินของชอบ เรากินของตามความชอบมาบ่อยแล้ว เรียกว่าเอาความถูกใจเป็นหลัก มาที่นี่ก็ลองกินอาหาร โดยคำนึงถึงความถูกต้องบ้าง ความถูกต้องทั้งทางกายและทางใจ
ความถูกต้องทางกาย ก็คือว่ากินอาหารหรือเลือกพิจารณาอาหารที่มันมีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือว่ามันไม่เป็นของสแลงต่อโรค หรือว่าไม่ทำให้ร่างกาย หรือสุขภาพเราแย่ลง อันนี้ความถูกต้องทางกาย และความถูกต้องทางใจ คือว่า กินเพื่อให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น ถ้าเรากินด้วยอารมณ์ กินด้วยความอยาก ก็กลายเป็นว่าจิตของเรา มันถูกกิเลส ถูกตัณหาครอบงำได้ง่าย แล้วคนเราก็ฟูมฟักหล่อเลี้ยงกิเลสตัณหามานานแล้ว ในระหว่างที่เรากินอาหาร หลายคนไม่ได้กินแค่อาหาร หลายคนไม่ได้กินอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่กินอาหารไปหล่อเลี้ยงกิเลสด้วย เพราะกินตามความอยาก กินด้วยความถูกใจ มากกว่าความถูกต้อง ซึ่งสุดท้าย พอกินด้วยความอยาก กินด้วยความถูกใจแล้ว ก็เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ
คนที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคเก๊าท์ เพราะเริ่มต้นจากการอนุญาต หรือปล่อยให้กิเลสตัณหามาครองใจ จนเป็นทาสของมัน หลายคนจะตายอยู่แล้ว เพราะว่าโรคเบาหวาน โรคหัวใจ แต่ก็ยังร้องขอกินของหวาน กินช็อคโกแลต กินข้าวเหนียวมะม่วง บางคนก็ขอกินหมูพะโล้ ขาหมู เรียกว่า กิเลสมันครองใจแล้ว จนกระทั่งต้องเป็นทาสของมัน และสุดท้ายก็เลยตายเร็ว ห้ามใจไม่ได้ ถ้าห้ามแล้วจะเป็นจะตายให้ได้ ไม่ต้องพูดถึงบุหรี่ ไม่ต้องพูดถึงเหล้า เพราะฉะนั้น เวลาเรากินอาหาร จะต้องพิจารณาว่ากินเพื่ออะไร และอะไรควรกิน
จริงๆ ในพุทธศาสนา มีสองคำถาม ที่เราพิจารณาอยู่เสมอ คือกินอะไร และก็กินอย่างไร ในทางสุขภาพ เขาจะเน้นเรื่องการกินอะไร เช่น กินอาหารให้ครบห้าหมวด หรือว่ากินอาหารให้มันถูกสุขลักษณะ อย่ากินหวาน กินเค็มมาก อย่ากินของทอด ของมันมาก กินของเค็มมาก จะทำให้ไตวาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณา ถ้าหากว่าเรารักตัว แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ นอกจากกินอะไรแล้ว ต้องถามว่ากินอย่างไรด้วย
ในทางพุทธศาสนา การกินอย่างไรก็สำคัญ คือกินอย่างมีสติ หรือว่าก่อนกินก็พิจารณาว่า กินเพื่ออะไร การกินอย่างไร ก็สำคัญ ถ้าเรากินอย่างมีสติ มันจะช่วยทำให้การกินอะไร มันเป็นไปเพื่อสุขภาพของเรา ถ้าเรากินอย่างไม่มีสติ ก็อาจจะมูมมาม กินมากเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นโรคอ้วน หรือว่าอาจทำให้ติดคอตาย ถ้าเรากินอย่างไม่มีสติ ก็จะเลือกกินแต่ของที่ถูกใจ แต่ว่าไม่ถูกต้อง ก็เกิดปัญหาอีกเหมือนกัน ที่นี่จึงแนะนำว่า เวลาเราไปเอาอาหารก็ให้พิจารณาด้วย เริ่มต้นด้วยการเตือนใจเราว่า กินเพื่ออะไร หรือควรกินเพื่ออะไร หลังจากนั้น ก็เลือกดูพิจารณาว่า ของอะไรที่ควรกิน และขณะที่เอาหารมาตั้งไว้อยู่ข้างหน้า เมื่อจะเริ่มกิน ก็ให้กินอย่างมีสติ อันนี้จะทำให้การกินมันเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจด้วย