แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ก่อนสวดมนต์ หลังสวดมนต์ เช้าเย็น เราก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นการตั้งจิตที่ประเสริฐมาก เป็นการส่งความปรารถนาดีให้กับสรรพสัตว์ เพราะว่าการเบียดเบียนกัน ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ก็คือว่า นอกจากเราจะตั้งจิตปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ ไม่ปรารถนาที่จะเบียดเบียนสัตว์อื่นแล้ว ก็ต้องตั้งจิตปรารถนาที่จะไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย คนส่วนใหญ่ เบียดเบียนตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรือพูดอย่างภาษาสมัยใหม่คือว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับตัวเองเท่าไร เพราะไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ก็จึงเบียดเบียน และเพราะเหตุว่าเบียดเบียนนี้เอง ก็เลยกลายเป็นไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ทั้งๆ ที่ เราก็มักจะบอกว่า เรารักตัวเอง แต่สุดท้าย ก็ลงเอยด้วยการเบียดเบียนตัวเอง ไม่เป็นมิตรกับตัวเอง
ในตัวเรามีสองอย่างคือ กายกับใจ ปกติแล้วกายก็ไม่ค่อยเบียดเบียนตัวเราเท่าไร เวลาเรากินอะไรที่มันเป็นของเสีย บูดเน่า หรือว่าเป็นสารพิษ ร่างกายมันก็พยายามขับถ่ายของเสียออกไป ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย หรือว่ามีความสุข มีพลานามัยดี ร่างกายช่วยเรามากทีเดียว ทำให้เราสามารถที่จะอยู่เป็นปกติสุขได้ แต่ใจเรา บางทีมันไม่ใช่อย่างนั้น บางทีใจก็สร้างปัญหาให้กับเรา ขยะอารมณ์หรือว่าอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นพิษ ความทรงจำที่เจ็บปวด ใจเราชอบเก็บสะสม แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นพิษเป็นภัยต่อเรา จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ขณะที่ร่างกาย ถ้ามีพิษอะไรเข้าไปข้างใน ก็พยายามถ่ายออกไปให้มากที่สุด ทางอุจจาระบ้าง ทางปัสสาวะบ้าง หรือไม่ก็อาเจียนออกมา สิ่งนี้จะช่วยทำให้เราปลอดภัย
แต่ว่าใจมันไม่อย่างนั้น สังเกตว่าความทรงจำที่เจ็บปวด หรืออารมณ์โกรธแค้น เศร้าโศก เพราะว่ามีใครบางคนทำไม่ดีกับเรา หรือว่าเราเกิดทำความผิดพลาดขึ้นมา พวกนั้นเป็นพิษต่อจิตใจ ต่อตัวเรา มันเป็นขยะ ซึ่งสมควรที่จิตใจจะถ่ายเทออกไป เพื่อให้เราได้มีความสุข แต่ใจก็เก็บสะสมเอาไว้ แล้วหวนคิด หวนคำนึง บางทีก็ปรุงแต่ง มโนไปต่างๆ นานา
อย่างหลายคนมาวัดป่าสุคะโตเป็นครั้งแรก อาจจะไม่เคยนอนในบรรยากาศแบบนี้ บางคนนอนคนเดียวในกุฏิ พอตกค่ำ ใจมันก็จะเริ่มหาเรื่อง จะปรุงแต่งไปถึงผีสางนางไม้ ได้ยินเสียงกุกกักอะไรก็ปรุงแต่งว่า เป็นเสียงงู หรือว่าเป็นเสียงสัตว์ร้ายหรือเปล่า บางทีก็มโนไปว่า มีเสียงคนเดินอยู่รอบกุฏิ จนหวาดผวา อันนี้ก็เป็นพิษภัยอีกอย่างหนึ่ง ที่ใจมันก่อขึ้น ทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่อยากคิด มันก็ยังคิด บางเรื่องยังไม่เกิด ก็ปรุงแต่งไปว่า จะเกิดปัญหาอย่างโน้นอย่างนี้ จนเกิดความกังวล เกิดความเครียด ความกระสับกระส่าย จนบางทีเป็นโรคประสาทก็มี คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งทุกวันนี้มีเป็นจำนวนมาก ก็เพราะว่าใจมันไม่เป็นมิตรกับเรา ใจมันจะคิดแต่เรื่องร้ายๆ จมอยู่กับความสูญเสีย ความเศร้า ความเจ็บปวด ความผิดพลาด ทั้งๆ ที่สิ่งดีๆ ในชีวิตก็มีมากมาย สิ่งงดงามก็มีอยู่รอบตัว แต่ใจก็จะหวนคิด หวนนึก ย้ำนึก ย้ำคิดแต่เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เจ็บปวด ที่โกรธแค้น จนกระทั่งล้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนก็หาทางออกไม่เจอ ทนไม่ไหว ก็ทำร้ายตัวเองก็มี
ใจมันไม่เป็นมิตรกับเรา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เราไม่เอาใจใส่ดูแลจิตใจ หรือพูดได้ว่าเราไม่เอาใจใส่ หรือว่าเราไม่เป็นมิตรกับจิตใจของเรา เมื่อเราไม่เป็นมิตร ไม่เอาใจใส่กับจิตใจ จิตใจมันเองก็หวนกลับมาทำร้ายเรา เบียดเบียน ในขณะที่เราแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ อย่าได้เบียดเบียนกันเลย หรือบางทีเราก็ตั้งใจ จิตปรารถนาอธิษฐานว่า ขออย่าให้ใครมาเบียดเบียนเรา
แต่เคยสงสัย หรือเคยสังเกตบ้างหรือเปล่าว่า เราเบียดเบียนตัวเอง วันแล้ววันเล่าแทบตลอดเวลาก็ว่าได้ บางครั้งร่างกายก็ดีแสนดี มันพยายามช่วยให้เรามีสุขภาพดี เชื้อโรคอะไรเข้าไปในร่างกาย มันก็จัดการกำจัด ไม่ให้เหลือหลอ หรือควบคุมไม่ให้อาละวาด อย่างในร่างกายเราจะมีเชื้อโรคหลายชนิดทีเดียว แต่มันไม่ทำให้เราล้มป่วย เพราะว่ามันถูกคุม ถูกจำกัดบริเวณ ในร่างกายเรา หลายคนก็มีเชื้อวัณโรค แต่ว่าไม่ล้มป่วย เพราะว่าร่างกายเรามันทำหน้าที่อย่างดีมาก แม้จะกำจัดไม่ได้ แต่ก็สามารถจะควบคุมไม่ก่อให้เกิดพิษภัย แต่ว่าบางครั้ง เราก็เผลอทำร้ายร่างกายของเรา ด้วยการเอาของเสีย เช่น บุหรี่บ้าง เหล้าบ้าง หรือแม้แต่สารเคมีที่มันปะปนกับอาหาร ทั้งๆที่รู้ว่า มันเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่เพียงเพราะว่ามันทำให้อาหารอร่อยขึ้น หรือว่าน่ากิน เราก็กินมันเข้าไป อันนี้คือ การทำร้ายร่างกายแบบผ่อนส่ง คนบางคนก็ใช้ร่างกายแบบไม่บันยะบันยัง
มีโยมคนหนึ่ง ก็จัดว่าเป็นเศรษฐีนี อายุ 70 กว่า ทำงานทำธุรกิจเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย ชีวิตนี้เรียกว่าราบรื่น น่าอิจฉา ลูก 5 คน มีอาชีพการงานที่มั่นคง สองคนเป็นหมอ ที่เหลือเป็นนักธุรกิจ ฐานะดี ไม่เจ็บ ไม่ป่วย หลานก็ดี แต่ว่าเธอก็ยังคร่ำเคร่งกับงานแทบไม่ได้พักผ่อน จนกระทั่งวันหนึ่ง ก็เป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายได้ยาก มือสั่น พูดก็ไม่ค่อยชัด เพราะเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ การส่งสัญญาณควบคุมกล้ามเนื้อมันเสียไป เดินก็ไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น เธอมีความทุกข์มาก วันหนึ่งก็นั่งรถเข็นมาหาอาตมา แล้วมาคุยแล้วก็ตัดพ้อว่า เธอทำผิดอะไร จึงต้องมาเจอแบบนี้ คือ ต้องมาล้มป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน ในใจก็คงจะคิดว่า เราคงทำกรรมไม่ดีในชาติที่แล้ว
อาตมาก็ตอบโยมไปว่า โยมทำผิดแน่นอน ผิดที่ไม่เชื่อฟังร่างกาย ร่างกายของโยมมันส่งสัญญาณเตือนมาหลายครั้งแล้วว่า ฉันเหนื่อยเหลือเกิน พักสักหน่อย ฉันอยากพัก แต่โยมก็ไม่ฟังเสียงสัญญาณเตือนของร่างกาย ก็ยังใช้ร่างกายแบบสมบุกสมบัน ทั้งที่เงินก็มีมากมาย ลูกหลานก็ไม่ค่อยเดือดร้อน ก็ไม่รู้เป็นเพราะว่า อยากรวยมากขึ้น อยากรวย รวยขึ้น รวยขึ้นหรือเปล่า ถามว่าก่อนเป็นพาร์กินสัน แกเคยป่วยไหม แกบอก เคยป่วย แต่ก็ป่วยไม่มาก นั่นแหละคือ สัญญาณเตือนของร่างกายว่า ฉันอยากพัก แต่โยมก็ไม่ฟังเสียง ร่างกายเตือนยังไง ก็ไม่ใส่ใจ สุดท้าย ก็เลยเป็นพาร์กินสัน แต่ก็ยังดี ต่อไปจะเจอหนักว่านี้ ถ้ายังไม่หยุดยั้งพาร์กินสันเป็นสัญญาณเตือนว่า ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว ถ้าไม่หยุด จะเจอหนักกว่านี้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง คนที่เขาเบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนร่างกายของตัวเอง ร่างกายอยากพัก เพราะว่าถูกใช้งานมายาวนาน และอย่างหนักหนา แต่พอเราไม่ใส่ใจกับร่างกาย ไม่ฟังเสียงสัญญาณเตือนของร่างกาย ร่างกายกลับมาเป็นโทษกับเรา กลับมาเป็นภัยต่อเรา
จิตใจก็เหมือนกัน ทุกวันนี้ จิตใจจะว่ามันทำร้าย สร้างความทุกข์ให้กับเราก็ว่าได้ เรื่องที่ไม่ควรทุกข์ก็ทุกข์ เรื่องที่ไม่ควรกังวลก็กังวล แล้วก็มัวแต่คิด มัวแต่นึก มัวแต่หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ และเรื่องราวที่ทำให้เจ็บปวด ทำให้ทุกข์ จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ บางทีก็สติแตก จิตมันก็สั่งให้เราด่า ด่าบุพการี ด่าคนรัก ด่าลูก หรือว่าสั่งให้เราทำลายข้าวของ จิตกลายเป็นอันตรายต่อเรา หลายคนก็รู้มันเป็นโทษมาก ไม่รู้จะทำยังไงกับจิตนี้ ก็ตัดปัญหา ฆ่าตัวตายปัญหาจะได้จบ แต่ที่จริงมันไม่จบ ปัญหามันยาวยืดต่อไปอีก
ทำไมจิตมันกลับมาเป็นศัตรูกับเรา เพราะเราไม่ใส่ใจเขา เราไม่เป็นมิตรกับเขาเท่าที่ควร เราไม่ดูแลเขา หรือบางทีเราก็ซ้ำเติมเขาด้วย คนเราทำร้ายร่างกายด้วยการเสพ การบริโภคสิ่งที่เป็นพิษ เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ฉันใด เราทำร้ายจิตใจของเรา ด้วยการเปิดรับ หรือเสพอารมณ์ที่มันเป็นลบ กระตุ้นให้เกิดโลภะ ทำให้เกิดโทสะ อย่างเช่น การที่เราวันทั้งวัน เอาแต่เล่นเกม ซึ่งมันกระตุ้นทำให้เกิดโทสะ ทำให้เกิดความพยาบาท ทำให้เกิดความโกรธแค้น หรือว่าดูโทรทัศน์สนทนากันแต่ในเรื่องที่กระตุ้นทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด ความหวาดระแวง โดยเฉพาะการเสพข้อมูลทางเฟซบุ้ก ทางไลน์ เราก็เติมสิ่งที่เป็นพิษให้กับจิตใจ จิตใจมันก็เลยกลับมาเป็นพิษกับตัวเรา ก็กลายเป็นว่า สุดท้ายเราก็ไม่เป็นมิตรกับตัวเอง เบียดเบียนตัวเอง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า คนพาลปัญญาทราม ย่อมทำกับตัวเองเหมือนเป็นศัตรู หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เบียดเบียนตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายตัวเองด้วยหลายวิธี นอกจากที่พูดมาแล้ว ก็คือการผิดศีล ทำบาป ทำบาปทำกรรม เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า เพื่อความสุขชั่วคราว เพื่อเงินทอง เพื่อชื่อเสียง เพื่อตำแหน่ง แต่แล้วก็เกิดวิบาก เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมา อันนี้เรียกว่า ทำร้ายตัวเองเหมือนเป็นศัตรู แต่ถึงแม้เราจะไม่ทำเช่นนั้น มีศีล แต่เราก็อาจจะทำร้ายตัวเอง ด้วยการที่ไม่ดูแลจิตใจตัวเอง ไม่ใส่ใจที่จะปกปักรักษาจิตใจ ใจกลับมาแว้งกัด หรือทำร้ายตัวเองได้เพราะว่า มันถูกอารมณ์ครอบงำ อารมณ์โกรธ เกลียด กลัว เศร้า พยาบาท รู้สึกผิด ใจเขาก็อยากดีกับเรา แต่พอถูกอารมณ์พวกนี้ครอบงำแล้ว ก็เพี้ยน มันก็เลยสร้างปัญหาให้กับตัวเรา ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ทำให้เป็นโรคประสาทขึ้นมา
ดังนั้น ถ้าเราให้เวลากับจิตใจของเรามากกว่านี้ ดูแลใส่ใจ ไม่ให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำ ใจจะเป็นสิ่งประเสริฐมาก และกลับกลายเป็นที่ๆประเสริฐของเรา พระพุทธเจ้าตรัสว่า พ่อแม่ทำดีกับเราแค่ไหน ก็สู้ใจที่ฝึกดีแล้วไม่ได้ หมายความว่า ใจที่ฝึกดีแล้ว มันจะก่อประโยชน์สร้างอานิสงค์มากมายให้กับเราได้ จนถึงกับพาให้เราพ้นทุกข์ก็ได้ ในทางตรงข้าม ถ้าใจฝึกฝนไว้ไม่ดี หรือวางใจผิดปล่อยปะละเลย มันก็สามารถก่อความพินาศที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่โจรกับโจรกระทำต่อกัน หรือว่าศัตรูกระทำต่อกัน โจรมันทำร้ายกันต่อสู้กันนั้น ก่อความเสียหายเยอะเลย แต่เรื่องเสียหายไม่เท่ากับจิตที่ฝึกไว้ผิด หรือจิตที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่
เพราะฉะนั้น ที่พวกเรามาที่นี่ ถือว่าเป็นการพยายามที่จะมาทำให้ใจมาเป็นมิตรกับเรา ทำให้ใจสามารถที่จะเกื้อกูล นำพาให้เรามีความสุขได้ เพียงแค่ใจไม่เบียดเบียนเรา หรือเพียงแค่เราไม่เบียดเบียนตัวเอง ความสุขมันเกิดขึ้นได้ง่ายมากเลย ผู้คนมักคิดว่า ที่ตัวเองมีความทุกข์อยู่ เพราะว่าคนนั้นคนนี้เบียดเบียนเรา เอาเปรียบเรา เขาไม่เข้าใจเรา หรือว่าเขากลั่นแกล้งเรา ใครทำอะไรกับเรา มันก็ไม่ร้ายเท่ากับ เราทำกับตัวเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า การที่เราปล่อยให้อกุศลต่างๆ เข้ามาครอบงำใจของเรา อันนี้ลองพิจารณาดู ใครเขาทำอะไรเรา มันไม่ทำให้เราทุกข์มาก เท่ากับการที่เราทำตัวเอง หรือการที่เราปล่อยให้อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำ
ที่ประเทศทิเบต เมื่อประมาณ 50-60 ปีก่อน ทหารจีนเข้าไปยึดครองทิเบต มีพระหลายรูปถูกจับ รวมทั้งแม่ชีด้วย เพราะว่าไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ คือ ท่านยังสอนพุทธศาสนาอยู่ ซึ่งคอมมิวนิสต์ถือว่า ศาสนาเป็นยาเสพติดก็ต้องกำจัดออกไป พระที่ไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ถูกจับ มีพระทิเบตท่านหนึ่ง ท่านถูกจับเป็นเวลานาน ถูกคุมขังเป็นเวลานานถึง 20 ปี และระหว่างนั้นก็ถูกทรมานด้วย พอครบ 20 ปีท่านก็ได้รับการปล่อยตัว ท่านก็อพยพลี้ภัยไปอยู่อินเดีย คงจะประมาณแถวๆ ธรรมศาลา ท่านดาไลลามะพอได้ทราบข่าว ก็ไปเยี่ยมท่าน เพราะท่านเป็นพระผู้ใหญ่ ระดับรินโปเช ท่านดาไลลาก็ไปสนทนากับท่านหลายประการ แล้วมีคำถามหนึ่ง ท่านถามพระรินโปเชท่านนี้ว่า ตอนที่ท่านถูกจับกุม คุมขัง ท่านกลัวอะไรมากที่สุด แทนที่ท่านจะตอบว่าท่านกลัวการทรมาน กลัวถูกตอกเล็บ ตอกขมับ ท่านกลับตอบว่าท่านกลัวจะไปโกรธไปเกลียดเขา ท่านกลัวที่จะโกรธเกลียดคนที่ทรมานท่าน
ทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะท่านคงมองว่า ถ้าไปโกรธเกลียดเขา ท่านก็อาจจะเผลอพูดร้าย ทำร้าย หรือว่าผิดศีล ซึ่งเป็นบาป ท่านกลัวบาป กลัวก่อวิบากมากกว่าที่จะกลัวถูกทำร้าย หมายความว่า เขาทำร้ายท่าน ก็ยังดีกว่าท่านไปทำร้ายเขา เพราะมันเป็นบาป ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมา แต่อาตมาคิดว่า เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ท่านรู้ว่าทหารจีนทำร้ายท่านได้ก็แต่ร่างกาย แต่ไม่สามารถจะทำร้ายจิตใจท่านได้ ทำให้ร่างกายท่านเป็นทุกข์ได้ แต่ว่าทำให้จิตใจท่านเป็นทุกข์ไม่ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ท่านปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียดครอบงำใจ ท่านก็จะไม่เพียงแค่ทุกข์กายแต่ทุกข์ใจ และท่านรู้ว่า ทุกข์ใจมันน่ากลัวกว่าทุกข์กาย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่าจริงๆแล้ว คนที่เบียดเบียนเรา การถูกคนอื่นเบียดเบียน มันยังไม่ร้ายเท่ากับการที่เราเบียดเบียนตัวเอง นั่นคือ การปล่อยให้ความโกรธ ความเกลียด หรืออารมณ์อกุศลครอบงำใจ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันจะทุกข์ทรมานมาก ทุกข์กายยังพอไหว แต่ถ้าปล่อยให้ทุกข์ใจเมื่อไร อยู่ไม่ได้
มีภาษิตไทยที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่ถึงขนาดนี้ เราอาจจะเคยคุ้น เคยได้ยิน คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก คับที่หมายความว่า ที่มันจะคับแคบยังไง แต่ถ้าใจอิสระปลอดโปร่งก็อยู่ได้ แต่ถึงแม้จะอยู่บ้านที่โอ่โถง กว้างขวาง คฤหาสน์ แต่ใจมันคับแคบ ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ ด้วยความโกรธ ความเกลียด มันสุดแสนที่จะทนทาน คนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ว่าเขาคับที่ เขาอยู่บ้านที่ใหญ่โต และมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่มันคับใจ เพราะว่าใจนี้มันคับแค้น มันคิดแต่เรื่องที่เป็นลบ คอยสร้าง คอยพาให้หวนคิดถึงแต่เรื่องที่เลวร้าย น่ากลัว น่ากลัดกลุ้ม บีบคั้นก็เลยต้องทำร้ายตัวเอง คนที่คับที่ ฆ่าตัวตายน้อย แต่ที่ฆ่าตัวตาย เพราะคับใจมากกว่า ที่ฆ่าตัวตายเพราะอารมณ์อกุศลครอบงำ สุดท้ายใจก็สั่งให้เราทำร้ายตัวเอง ถึงแม้ยังไม่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เรากินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำให้เราเจ็บป่วย เพราะความเครียดที่ยืดเยื้อเรื้อรัง เพราะความโกรธที่หมักหมม บางคนโกรธจนกระทั่งเส้นเลือดในสมองแตก มันโกรธปรี๊ดขึ้นมา กรณีแบบนี้โทษใครไม่ได้ มันต้องโทษใจที่ไม่รู้จักปล่อย ไม่รู้จักวาง หรือใจที่ไม่รู้จักให้อภัย แต่ผู้คนก็มองไม่เห็นตรงนี้ มักจะมองว่า เราทุกข์เพราะคนอื่น เพราะคนอื่นเบียดเบียนเรา กลั่นแกล้งเรา เป็นศัตรูกับเรา แต่ที่จริงแล้ว เพราะเราเป็นศัตรูกับตัวเอง ไม่เป็นมิตรกับตัวเอง
เพราะฉะนั้น การมาปฏิบัติธรรมเป็นโอกาส เป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้เรากลับมาเป็นมิตรกับตัวเองได้ง่ายขึ้น มันทำให้เรามีวิธีการ หรือว่ามีตัวช่วยในการรักษาใจ ไม่เปิดโอกาสให้ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า อารมณ์อกุศลเข้ามาครอบงำใจ การเจริญสติคือ การที่เราจะมีตัวช่วย จะเป็นสิ่งที่คอยช่วยคุ้มครองรักษาใจเอาไว้
พระพุทธเจ้าเปรียบสติเหมือนกับเป็น ทวารบาล หรือว่าทหารยามที่เฝ้าประตูเมือง จิตใจเราเหมือนกับนคร เป็นเมืองชื่อว่าจิตตนคร เมืองทุกเมืองจุดอ่อนอยู่ที่ประตู ส่วนอื่นมันถูกกำแพงล้อมรอบ แต่ส่วนที่เป็นประตูคือ เปิดโอกาสให้มีการเข้านอกออกในได้ ไม่ได้ปิดตายเหมือนกำแพง เพราะฉะนั้นก็เป็นจุดอ่อน ถ้ามีทวารบาล หรือทหารยามที่ดี ก็ช่วยป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้ามาทำร้าย ก่อความวุ่นวายในนครแห่งนี้ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการรักษาใจให้เป็นสุข หรือทำให้ใจของเรานี้ มันไม่หวนกลับมาเป็นศัตรูกับเรา ต้องใส่ใจ ต้องดูแล การเจริญสติเป็นการช่วยให้จิตของเรามีเครื่องคุ้มครอง ที่จริงนอกจากสติแล้ว ก็มีธรรมะอื่นๆ ที่ช่วยได้อีกหลายตัว ซึ่งก็มีอยู่แล้วในใจเรา เพียงแต่ว่าการปฏิบัติธรรม หรือการภาวนาจะช่วยดึงเอาสิ่งเหล่านี้ออกมา พัฒนาจนสามารถช่วยให้รักษาใจของเราให้งดงาม ให้ฉลาด เกื้อกูล ไม่เปิดช่องให้มารเข้ามาเล่นงานได้
ตอนที่เราสวดกรวดน้ำเย็น ถ้าเราสวดจนจบครบหมด จะมีตอนหนึ่งว่า “ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ” หมู่มารจะไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาสเข้ามาเล่นงานจิตใจเรา เพราะว่ามีธรรมะหลายประการ โดยเฉพาะสติและปัญญา รวมทั้งขันติ การปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อปกปักรักษาจิตใจของเรา เมื่อเราทำแบบนี้ เมื่อเราให้ความใส่ใจกับจิตใจแบบนี้ ใจเราก็จะค่อยๆ แปรเปลี่ยน จากการเป็นศัตรูมากลายเป็นมิตร ซึ่งสุดท้าย ทำให้เราเป็นมิตรกับตัวเองได้ มันไม่ใช่แค่ใจ ที่สบายเป็นสุข กายก็เป็นสุขด้วยเหมือนกัน เพราะกายกับใจสัมพันธ์กัน
เพราะฉะนั้น ในช่วง 1 อาทิตย์จากนี้ไป หลายคนที่เพิ่งมาวันนี้วันแรก ขอให้ตั้งใจ ให้ทำความเพียรในการที่จะดูแลจิตใจรักษาใจของเราให้ดี แม้ว่าใจของเราอาจจะบ่นอุทธรณ์ โวยวาย โอดครวญ เพราะว่าต้องมาเจอกับสภาพที่ไม่คุ้นเคย แต่นั่นก็เป็นธรรมดา เราก็ค่อยกล่อมเกลาจิตใจไป จิตใจก็จะค่อยๆเชื่อง ค่อยๆยอมรับและก็พัฒนาขึ้นจนเป็นที่พึ่งของเราได้ อย่าลืมที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ซึ่งถ้าพูดกลับกันคือว่า จิตที่ไม่ฝึกเลย หรือฝึกไว้ผิดย่อมนำทุกข์มาให้ นั่นคือสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตของเรา