แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เวลาเราสวดมนต์ เราได้ปฏิบัติธรรมหลายประการ เริ่มตั้งแต่เวลาเรากราบ ถ้าเรากราบด้วยความอ่อนน้อม อันนี้ก็เรียกว่า เป็น สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ แสดงออกด้วยการอ่อนน้อม เวลากราบ เวลาเราสาธยาย สวดมนต์ เราก็กำลังปฏิบัติสัมมาวาจา ในช่วงเวลานั้น การที่จะใช้วาจาไปในทางทำร้ายผู้อื่น ก็เป็นไปไม่ได้ ถ้ายิ่งตอนที่เราสวดมนต์ แม้ว่าเราจะไม่ได้กราบ แต่ว่าระหว่างที่เราสวดมนต์ การที่เราจะไปทำผิดศีล ข้อที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ก็เป็นไปไม่ได้ นอกจากสัมมากัมมันตะ นอกจากสัมมาวาจาแล้ว ระหว่างที่เราสวด เรามีจิตใจแน่วแน่อยู่กับบทสวดมนต์ เวลาใจเผลอคิดนึกไปในเรื่องต่างๆ ก็รู้ทัน แล้วก็พาใจกลับมาไม่ปล่อยใจลอย เท่านี้เราก็กำลังเจริญสัมมาสติ แล้วเมื่อจิตใจเราแน่วแน่อยู่กับบทสวดมนต์ ก็เป็นสัมมาสมาธิได้ ขณะเดียวกับถ้าเราพิจารณาเนื้อความสาระของบทสวดมนต์ ก็เป็นการเพิ่มพูนสัมมาทิฐิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความดี การเข้าใจสัจธรรมความจริง ข้อปฏิบัติหลายข้อในอริยมรรคมีองค์แปด เราก็ทำได้ในระหว่างที่สวดมนต์
แต่ถ้าเราปล่อยใจลอย หรือว่ามาสวดมนต์เพียงแค่เป็นหน้าที่ เป็นระเบียบ แต่ว่าใจเราไม่มีให้กับการสวดมนต์ อันนี้ก็เสียประโยชน์ ก็ได้เหมือนกันเพราะว่าอย่างที่บอก ช่วงที่เรามาสวดมนต์ การที่เราจะใช้ปากในการทำร้ายใคร ที่เป็นมุสาวาท หรือว่ามิจฉาวาจาก็เกิดขึ้นได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ให้ใช้โอกาสที่เรามาสวดมนต์ ตลอดจนการทำกิจต่างๆ เป็นไปเพื่อเพิ่มพูนข้อปฏิบัติต่างๆในอริยมรรคมีองค์แปดให้มันงอกงามมากขึ้น โดยเฉพาะการเจริญสัมมาสติ
ที่นี่มีอีกชื่อหนึ่งว่าสถาบันสติปัฏฐาน วัดป่าสุคะโตมีหลายชื่อ ชื่อเดิม แรกเริ่มเดิมทีก็ชื่อ วัดเอราวัณ ส่วนวัดป่าสุคะโต ตามมาทีหลัง ตอนหลังก็มีชื่ออีกชื่อหนึ่ง สถาบันสติปัฏฐาน เพื่อบ่งบอกถึงจุดหมาย หรือว่าภารกิจของที่นี่ก็คือการสร้างสัมมาสติให้เกิดขึ้น หลายคนมาอยู่วัดเป็นเดือน หรือมาบางที่อยู่เป็นปีแล้ว ยังไม่เข้าใจเลยว่าสติคืออะไร อย่าพูดถึงการปฏิบัติ อันนี้ก็น่าเสียดาย เพราะว่าถ้าไม่รู้ว่า สติคืออะไร การที่จะได้ประโยชน์จากการอยู่ที่นี่มันก็น้อยลง
เวลาครูบาอาจารย์หรือหลวงพ่อคำเขียนบอกว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น เราก็มาอยู่วัดนานเป็นเดือน เป็นปีแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ว่ามันหมายความว่าอย่างไร มันต่างกันอย่างไร อันนี้เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติ เวลามีอารมณ์หรือความคิดเกิดขึ้น เราก็หายเข้าไปจมพลัดเข้าไปในอารมณ์นั้น เข้าไปในความคิดนั้น ก็ไม่รู้ว่า คือ เข้าไปเป็นแล้ว เวลาโกรธ เวลาโมโห มีความโกรธ มีโทสะเกิดขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า ตัวเองโกรธ รู้สึกว่าตัวเองกำลังโมโห ก็ไม่รู้ว่า คือ เข้าไปเป็นแล้ว อันนี้เพราะว่าไม่เคยใช้สติ ในการที่เข้าไปดูความคิด ไปเห็นความคิด ไม่รู้จักสภาวะเห็น สภาวะดู พอมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็เข้าไปจมหายอยู่ในอารมณ์นั้น มันสั่งให้ด่าก็ด่า มันสั่งให้ตะคอกก็ตะคอก มันสั่งให้ตวาดก็ตวาด มันก็ทำให้เกิดมิจฉาวาจาขึ้น แล้วบางที ก็ทำให้เกิดการผิดศีลขึ้นมา มุสาวาท
สำนักปฏิบัติธรรมหลายต่อหลายแห่งมีปัญหาตรงนี้มากก็คือ การใช้วาจาในทางที่เบียดเบียนกัน ด่าว่ากัน หรือว่านินทาใส่ร้ายกัน สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนอกวัดเท่านั้น ในวัดก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ มันไม่ได้แตกต่างกันเลยในเรื่องนี้ ระหว่างนักปฏิบัติธรรมกับไม่ปฏิบัติธรรม แต่เรื่องของปฏิบัติธรรม ก็เรื่องการใช้วาจา ในทางที่เบียดเบียนกันก็มีมาก อย่างเบาๆก็นินทากัน พอนินทาแล้วก็ใส่สีใส่ไข่เข้าไป และถ้ามันถูกใจคนก็เชื่อง่าย พอเชื่อง่ายก็เอาไปเผยแพร่ต่อ มันก็ไปสร้างปัญหา ทำความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่ถูกเอ่ยถึง การพูดจาส่อเสียดก็เหมือนกัน ส่อเสียดคือว่า พูดเพื่อทำให้เขาเกิดความแตกแยกกัน อันนี้ก็ผิด จัดอยู่ในศีลข้อที่สี่ได้เหมือนกัน
การผิดศีลข้อที่สี่ ศีลข้อมุสาวาท ส่วนใหญ่ก็ไปเข้าใจหมายถึง การโกหก เจตนางดเว้นจากการโกหก การกล่าวเท็จ ที่จริงแล้ว มีความหมายที่ละเอียดกว่านั้น ในกุศลกรรมบถ10 ประการ จะขยายความให้คลุมไปถึงว่า การนินทา การพูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นนินทาอย่างหนึ่ง การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ ด่าว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องระวังมาก คนโบราณเขาว่า อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาในสำนักปฏิบัติธรรม ในวัด เรื่องเด่นๆคือ เรื่องนี้ การใช้ปากในทางที่ไม่ถูกต้อง
ที่จริงถ้ามีสติ ปัญหานี้มันไม่เกิด เพราะว่าเวลาเกิดโทสะขึ้น หรือว่าเกิดความสนุกสนาน ก็รู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ เวลาเกิดโทสะ ก็อยากจะทำร้ายผู้อื่นด้วยวาจาเป็นเบื้องต้น นินทาบ้าง ใส่ร้ายบ้าง โกหกบ้าง หรือไม่ก็ด่า อันนี้แสดงให้เห็นถึงการเรียกว่า สอบตก ในเรื่องของสัมมาวาจา
ที่จริงถ้าเราคุมเรื่อง การใช้ปาก การใช้วาจาไม่ได้ เรื่องการพ้นทุกข์ ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมันเห็นถึงความอ่อนแอ ตั้งแต่ขั้นของการที่ไม่มีสติ หรือว่าไม่มีขันติ ไม่มีสติ ยังไม่รู้จักสติ ไม่เป็นไร แต่ว่าให้รู้จักขันติ ความอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ ต่อคำพูดของคนอื่น และก็ต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ มีความโกรธ มีความโมโห มีความขุ่นเคือง ก็อดกลั้นเอาไว้ ไม่ปล่อยออกมาเป็นคำพูดที่เชือดเฉือน หรือว่าต่อว่า ด่าทอ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า นักปฏิบัติธรรมทำตรงนี้ไม่ได้ เรื่องการพ้นทุกข์ ก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะว่าสอบตกตั้งแต่ขั้นต้นแล้ว เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังมาก การใช้วาจา ที่จริงอยู่ในวัด สิ่งกระทบมันก็น้อยอยู่แล้ว ถ้าเทียบกับโลกภายนอก สิ่งที่จะกดดันมันก็มีน้อย เมื่อเทียบกับ สิ่งที่ผู้คนทั้งหลายได้เจอกัน
เมื่อสองสามวันก่อนได้ดูคลิปวิดีโอ คงเป็นการถ่ายจากกล้องวงจรปิดในสำนักงานแห่งหนึ่ง ในเมืองนอก ผู้หญิงคนหนึ่ง คุยโทรศัพท์ คุยแล้วคุยอีก ไม่รู้ว่าคุยกี่ครั้ง คุยไปสนุกสนานไป พอสนุกก็เสียงดัง เพื่อนผู้ชายนั่งคิดงานอยู่ใกล้ๆ โต๊ะมันใกล้ๆกัน และคงเครียดกับการคิดงาน คิดไม่ออก แล้วยิ่งได้ยินเสียงผู้หญิงมาคุยโทรศัพท์เสียงดัง ห่างกันประมาณสักห้าเมตรได้ ผู้หญิงคุยอยู่สักพักหนึ่ง คงจะนาน ห้านาทีสิบนาที หรือว่าอาจจะคุยทั้งวันก็ได้ อันนี้ก็ดูไม่ชัด เพราะว่าคลิปวิดีโอมันคงถ่ายแบบตัดๆเอา ผู้ชายคนนั้นนั่งคิดงานด้วยความเครียด คิดไม่ออก สุดท้าย เดินไปหาผู้หญิงคนนั้น แล้วก็เอาโทรศัพท์ฟาดกับโต๊ะ 3-4 ครั้ง แล้วกระแทกอีก3-4 ครั้ง จนโทรศัพท์พัง ยังไม่เลิกกระแทก น่าจะประมาณสิบครั้งได้ ถ้านั่นไม่หนำใจ ยังเอาโทรศัพท์โยนขว้างออกไปไกลๆ ยังดีที่ไม่ทำร้ายผู้หญิง มันก็มาออกที่โทรศัพท์ ผู้หญิงคนนั้นก็ขวัญแตกกระเจิง มันสะท้อนถึงภาวะกดดัน ของคนในสำนักงาน
อีกรายหนึ่ง กำลังนั่งคุยโทรศัพท์คล้ายๆเป็นคอลเซ็นเตอร์ อยู่รอบโต๊ะ โต๊ะนั้นมีอยู่ประมาณ 5-8 คน และมีคนเขากำลังคุยกันอยู่ คนตรงข้ามคงกำลังเครียดอะไรบางอย่าง ตอนหลังสติแตก ปีนขึ้นไปบนโต๊ะ แล้วก็กระโดดลงไปหาผู้ชายคนนั้น แล้วก็บีบคอ เรียกว่า เกิดคลุ้มคลั่งขึ้นมา นี่คือสภาพที่เกิดขึ้น ในโลกภายนอก มันกดดันมาก มันต่างจากที่นี่ ที่นี่ความกดดันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ว่าเราก็บ่อยครั้ง ก็คุมอารมณ์กันไม่ได้ พอคุมอารมณ์ไม่ได้ มันก็ระเบิดออกมาเป็นคำพูด ต่อว่าทิ่มแทง บางทีก็ทำเป็นนิสัยเลย ไม่รู้ตัวว่า มันไม่ใช่วิสัยนักปฏิบัติธรรม
อันนี้ก็น่าเสียดาย เพราะว่าเรามาอยู่ในสำนักที่เรียกว่า สถาบันสติปัฏฐาน แต่ว่าแม้แต่การควบคุมอารมณ์ หรือว่าการควบคุมวาจาก็ยังทำไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องนิพพาน หรือว่าการพ้นทุกข์ แค่รู้รูปนามมันก็ไม่มีหวังแล้ว เพราะว่าสอบตกตั้งแต่ขั้นในขั้นศีลแล้ว ก็คือ มิจฉาวาจา สัมมาวาจาไม่ผ่าน เราต้องระมัดระวัง เรื่องการใช้วาจา เพราะมันเป็นแบบฝึกหัดขั้นต้นเท่านั้นแหละ อย่างน้อยๆก็ให้ปิดปากเอาไว้เวลาโกรธ ไม่พูดออกไป ไม่ทำร้ายเขาด้วยการนินทาว่าร้าย บางคนอาจจะไม่ถึง ขั้นด่า ตะโกน ตวาด แต่ว่าใช้วิธีการนินทา เป็นการทิ่มแทง ต้องฝึกอย่างน้อย อย่างต่ำๆคือว่า คุมวาจาของเรา
เรื่องคุมกาย ก็ควรจะผ่านตั้งแต่แรกแล้ว ถ้าคุมการกระทำไม่ได้นี่ก็แย่ ก็มีบางสมัย บางที พระก็ต่อยกัน ไม่ใช่แค่ด่าว่ากัน ต่อยกัน แม่ชีก็เอาอาวุธมาทำร้ายกัน จนหัวแตกต้องไปเย็บหลายเข็ม พวกนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก แม้กระทั่งการทำร้ายกันทางกายก็ยังห้ามไม่ได้ จริงๆแล้วต้องได้ เรื่องการควบคุมกายมันต้องเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว ตามมาด้วยการควบคุมวาจา อย่างน้อยๆก็ไม่ด่าออกไป ถ้าดีกว่านั้นก็คือไม่นินทา ไม่พูดจาว่าร้าย ทิ่มแทงกัน เมื่อคุมวาจาได้แล้ว ขั้นต่อมาคือ คุมใจ ไม่ปล่อยให้ความโกรธ ความเครียดมันครอบงำใจ ตรงนี้เองที่สติสำคัญ แต่อย่างที่บอก หลายคนมาอยู่วัดเป็นเดือน เป็นปี บางทียังไม่รู้ว่าสติคืออะไร ครูบาอาจารย์บอกว่า เห็นอย่าเข้าไปเป็น รู้ซื่อๆ ก็ยังไม่เข้าใจ อันนี้นับว่า น่าเสียดายมาก ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสติ ถ้าเรารู้จักสติ ก็เหมือนกับว่า เรามีสิ่งที่จะคอยรักษาใจ
สติมีคุณสมบัติหลายอย่าง พระพุทธเจ้าก็เปรียบเทียบ ให้เห็นเป็นภาพ บางทีท่านก็เปรียบว่า สติเหมือนกับยามที่เฝ้าประตูเมืองมีกำแพงแล้ว แต่ว่าประตูคือ จุดอ่อน ศัตรูก็เข้ามาทางประตู มียามที่คอยเฝ้า ไม่ให้ศัตรูเข้ามารุกราน ทำร้ายผู้คนในเมืองได้ อันนี้เป็นความเปรียบ แต่ว่าถ้าเปรียบให้มันใกล้ชิด ให้มันใกล้กว่านั้น ก็คือ ท่านเปรียบว่าสติเหมือนกับหอคอย คนที่มีสติคือ คนที่อยู่บนหอคอย แล้วก็ดูกระแสน้ำ กระแสน้ำคือ กระแสอารมณ์ หรือกระแสจิต เช่น ความคิด และอารมณ์ คนที่ไม่มีสติ คือเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่ในกระแสน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดพา จะเป็นกระแสตัณหา โลภะ หรือว่าโมหะ หรือว่าโทสะ ก็แล้วแต่ คนที่จมอยู่ในกระแสน้ำ หรือโดนกระแสน้ำฟัดพาก็เป็นได้ว่า เข้าไปเป็น “เป็น” คืออันนั้นแหละ มีความโกรธเกิดขึ้นก็เป็นผู้โกรธ มีความโลภเกิดขึ้นก็เป็นผู้โลภ มันก็ไม่ต่างจากคนที่ลอยคออยู่ในกระแสน้ำ ถูกกระแสน้ำพัดพาไป
ส่วนผู้ที่มีสติ ก็เหมือนคนที่อยู่บนหอคอย อยู่บนหอคอยก็เห็นกระแสน้ำมันไหล แต่กระแสน้ำก็ทำอะไรไม่ได้ อันนี้ก็ตรงกับที่ครูบาอาจารย์บอก เห็นอย่าเข้าไปเป็น มีอารมณ์เกิดขึ้น ก็มีสติออกมาดู เหมือนกับดูละคร แต่ดูละคร ก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะมันยังอยู่ในระนาบ หรือระดับเดียวกับคนเล่น แต่ถ้าเป็นหอคอย มัน ให้ภาพที่ชัดเจนว่า แค่ดูเฉยๆ กระแสน้ำที่ไหล มันจะมีอะไรพัดผ่านมาก็แค่ดูมัน บางทีมีเรือสำราญแล่นผ่าน ก็ดูมันไป แต่ว่า คนที่ไม่มีสติก็เหมือนกับว่า พอเห็นเรือสำราญก็โจนลงน้ำ เพื่อไปขึ้นเรือสำราญ อยากจะสนุก หรือบางที เห็นหมาเน่าลอยน้ำมา ก็พยายามลงน้ำ ไปผลัก ไปไสมัน อันนี้ก็เข้าไปเป็นแล้ว
ผลักไสก็ดี ไขว่คว้าก็ดี ก็ถือว่าไม่มีสติทั้งนั้น แต่สติคือเห็น เห็นเพราะว่า มีที่ตั้ง ที่ตั้งคือ หอคอย ถ้าปฏิบัติแล้วมันไม่เจอภาวะแบบนี้ ก็ถือว่า ยังไม่ค่อยรู้จักสติเท่าไร ก็อาจจะทำแต่เรื่องให้ทาน หรือว่าฝึกความเพียรหรือว่าฝึกขันติ แต่ว่าสภาวะที่ดูเห็น มันไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจว่า สติสำคัญอย่างไรบ้าง เพราะว่าเป็นผู้ดู ผู้เห็น ถึงจิตถึงปลอดภัยไง อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมา มันก็แค่เข้ามา จรเข้ามา แต่ว่าไม่สามารถจะครอบครองใจได้ ก็เลยเปรียบเหมือนกับว่า มันไม่สามารถเข้าประตูเมืองได้ เพราะว่าทหารยามกันเอาไว้ แต่หน้าที่ของสติจริงๆคือดู ดูระลึกรู้
บางทีพระพุทธเจ้าก็เปรียบว่า สติ ทำงานเหมือนกับคนที่พาวัว เป็นผู้เลี้ยงวัว พาวัวออกไปกินหญ้า ก็ต้องคอยป้องกันไม่ให้มันเข้าไปกินข้าวชาวบ้านเขา กินหญ้าได้ แต่อย่ากินข้าวชาวบ้าน หน้าที่ของคนเลี้ยงวัวก็คือ คอยดูแลวัว ไม่ให้มันเผลอไปกินข้าวชาวบ้าน เดี๋ยวจะเกิดความเดือดร้อน แต่ถ้าเกิดว่า ฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไป ไม่มีข้าวเหลือแล้ว คนเลี้ยงวัวก็แค่ดูวัวห่างๆ เพราะรู้ว่าวัวมันไม่ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร ดูด้วยใจที่ผ่อนคลาย ดูด้วยใจที่สบาย ไม่ต้องระแวดระวังมาก การดูด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย เป็นงานของสติอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเรารู้จักดู รู้ทันอารมณ์ ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธ ผู้เกลียด ผู้โลภ มันก็เหมือนกับว่า คนที่เลี้ยงวัว แล้วก็ปล่อยให้วัวหากิน โดยที่ไม่ต้องห่วงแล้วว่า มันจะไปกินข้าวของใคร เพราะว่าข้าวเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว เป็นการดูแบบปล่อยวาง ดูแบบอุเบกขานั่นเอง
อันนี้ก็เปรียบได้กับ คนที่ได้เจริญสติมา ดูด้วยใจที่ปล่อยวาง แล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องวิตก ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล การดูด้วยใจที่ผ่อนคลาย .ถ้าหากว่าไม่รู้จักสติ ก็นึกไม่ออกว่าดูอย่างไร แล้วก็หลายคนก็พยายามไปกดไปข่ม ปฏิบัติไป แต่ไม่เข้าใจว่า การกดข่มอารมณ์ กับการกดข่มความคิดนั่นคือ วิธีการที่ครูบาอาจารย์สอน ที่จริงไม่ใช่ แค่รู้ทันเฉยๆ แล้วก็ถ้าสติมันพัฒนามาก การดูด้วยใจที่ผ่อนคลายก็ได้ ไม่มีอะไรที่ให้ต้องวิตกกังวล ท่านก็เปรียบเหมือนว่า สติ คนที่มีสติ หรือการเจริญสติก็เปรียบเหมือนว่าคนที่ทูนหม้อน้ำ มีหม้อน้ำวางไว้บนหัว เรียกว่า “ทูนหัว” น้ำเต็มหม้อ เวลาวางไว้บนหัว ก็ต้องเดินอย่างระมัดระวัง ก็ต้องรู้จัก เดินให้มีสมดุล เพราะถ้าเดินเอียง น้ำก็กระฉอก การที่เดินแล้วก็ทูนหม้อน้ำไว้บนหัว ต้องอาศัยการทรงตัวที่ได้สมดุลพอดีๆ การเจริญสติก็เป็นอย่างนั้น
อย่างที่พูดไว้เมื่อวานนี้ว่า โพชฌงค์ 7 เป็นเรื่องความสมดุลที่ต้องอาศัยสติ ระหว่างธรรมวิจัย วิริยะ ความเพียร แล้วก็ปิติ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ปัสสัทธิ สมาธิ แล้วก็อุเบกขา ต้องได้พอดีๆกัน อะไรที่ทำให้พอดี ก็คือสติ เพราะฉะนั้น การเจริญสติมันช่วยบุคคลที่มีสติ จะเกิดความพอดีขึ้นระหว่างองค์ธรรม ไม่เกินไม่ขาด อินทรีย์ 5 ก็เหมือนกัน สติ ทำให้เกิดสมดุลระหว่างศรัทธากับปัญญา ทำให้เกิดความพอดี ระหว่างวิริยะกับสมาธิ บางทีท่านก็เปรียบว่า สติเหมือนกับ สารถีที่ควบม้า คุมม้า ม้ามีหลายตัว ม้ามีสี่ตัว ต้องคุมให้ได้พอดีๆ ถ้าม้าตัวไหนวิ่งเร็ว อีกตัวหนึ่งวิ่งช้า ไม่พอดีกัน ก็เกิดปัญหาขึ้นได้ หน้าที่ของสารถีคือ คุมม้าให้วิ่งได้พอดีๆกัน
ถ้าเรามีสติ การทำให้เกิดความพอดี ระหว่างคุณธรรม หรือองค์ธรรมต่างๆมันก็เกิดขึ้นได้ ศรัทธากับปัญญาก็พอดีๆกัน วิริยะกับสมาธิก็พอดีๆกัน อันนี้พระพุทธเจ้าท่านเปรียบ ท่านอุปมาอุปไมยสติว่า มันทำหน้าที่หลายอย่าง แต่ว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานก็คือ การทำหน้าที่ช่วยดู เหมือนยืนอยู่บนหอคอย แล้วก็ดูน้ำที่มันไหล น้ำมันจะแรงอย่างไร ก็ไม่ทำให้เราเดือดร้อน เพราะเราอยู่บนที่สูง อารมณ์มันจะเกิดขึ้นอย่างไร หลากหลายยังไง เราก็แค่ดูมันเฉยๆ ไม่ต้องกดข่มมัน แค่ดูมัน เห็นมัน มันก็เลือนหายไป
เรามาปฏิบัติที่นี่ ต้องเข้าใจว่า สติคืออะไร ทำงานอย่างไร แล้วมาใช้ในการดำเนินชีวิต ในการเกี่ยวข้องกับผู้คน โดยเฉพาะ เรื่องการควบคุมอารมณ์ แล้วก็การควบคุมวาจานั้นสำคัญมาก เพราะเราอยู่กันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ เป็นชุมชน ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แล้วถ้าเกิดว่า จิตใจ ไม่รู้จักอดทน ต่อสิ่งที่มากระทบ ใครทำอะไรไม่ถูกใจ ก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความขุ่นเคือง ปล่อยให้ความโกรธมันครอบงำ เท่านั้นไม่พอ ยังคุมปากไม่ได้ ก็ใช้วาจาทำร้ายกัน ทิ่มแทงกัน ก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ อันนี้ก็ถือว่า น่าขายหน้า เพราะว่าอยู่เป็นชุมชนนักปฏิบัติธรรม จะเจริญสติ ปากก็มุ่งว่า อยากจะหลุดพ้น อยากจะนิพพาน ทุกเช้าก็สวดว่า ทำไฉน การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ จะพึงปรากฏชัดแก่เราได้ แต่ว่าเพียงแค่แบบฝึกหัดพื้นฐาน คือ การควบคุมกาย ควบคุมวาจา ยังทำไม่ได้ แล้วจะทำอย่างอื่นได้อย่างไร