แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
การปฏิบัติธรรมเดี๋ยวนี้สะดวกขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นเสนาสนะ สถานที่ ข้าวปลาอาหาร หรือว่าน้ำ ไฟ สมัยที่หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านเริ่มไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ตอนนั้นท่านยังเป็นโยมที่วัดป่าพุทธยาน เมื่อเกือบ 50 ปี ที่แล้ว จากที่ท่านบรรยายมันแตกต่างจากวัดป่าสุคะโตเวลานี้มากทีเดียว แค่ผ้าพลาสติกที่จะมาใช้ทำเป็นเพิงกันฝนก็ยังหายาก แม้แต่น้ำใช้ก็ต้องเดินทางไปไกลเป็นกิโลกว่าจะได้น้ำมาใช้อาบ เทียนหรือน้ำมันก๊าดก็คงจะมีไม่มาก ก็ต้องใช้อย่างประหยัด แม้กระทั่งวัดป่าสุคะโตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนที่อาตมามาใหม่ ๆ เสนาสนะก็ขาดแคลน ต้องไปปลูกเพิงอยู่ใต้ต้นไม้ก็มี ไฟฟ้าก็ไม่ได้ใช้สะดวก วันหนึ่งก็ใช้ได้แค่ชั่วโมงเดียว อาศัยไฟปั่นจากสำนักงานที่เขาปลูกป่า สวนป่า อาหารก็ไม่ได้สะดวกเท่าไร
สมัยนี้ทุกอย่างก็สะดวกสบาย มีน้ำไฟใช้ คำว่าหาบน้ำนี่ไม่รู้จักกันแล้ว ไฟก็มีใช้ตลอดทั้งวันหรือทั้งคืนยังได้ ยิ่งอาหารด้วยแล้วมากมาย และเป็นอาหารที่ประณีต นี้เป็นความสะดวกสบายที่คนรุ่นเราได้รับ ซึ่งมันเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมมาก จะเดินทางมาวัดป่าสุคะโตหรือไปปฏิบัติธรรมที่สำนักไหนก็ง่าย เดี๋ยวนี้นั่งเครื่องบินไปก็มี บางคนก็เดินทางจากกรุงเทพฯ มาถึงนี่วันศุกร์ เย็นวันอาทิตย์หรือเช้าวันจันทร์กลับไปทำงานได้ แต่ก่อนแค่จากแก้งคร้อมาที่วัดป่าสุคะโต 2 ชั่วโมง เพราะว่าทางไม่ได้ลาดยางเหมือนทุกวันนี้ ยิ่งหน้าฝนด้วยแล้วเป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้เวลาสองชั่วโมงหรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะว่าติดหล่มก็มี เดี๋ยวนี้ลงไปข้างล่างแก้งคร้อก็แค่ครึ่งชั่วโมง บางทีไม่ถึงด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นความสะดวกสบายที่ 30 ปีที่แล้วนึกไม่ถึง
หนังสือหนังหาเดี๋ยวนี้ก็มีมากมาย พระไตรปิฎกสามารถจะมีเก็บไว้ที่บ้านด้วยซ้ำ ไม่ต้องซื้อเป็นชุดแล้ว มีซีดีพระไตรปิฎก คงไม่มียุคไหนที่พระไตรปิฎกจะเผยแผ่ได้กว้างขวางเท่ายุคนี้ หนังสือธรรมะก็พิมพ์กันเป็นล้าน ๆ เล่ม จะฟังคำสอนของครูบาอาจารย์องค์ไหนก็ไม่ยากแล้ว มันไม่ใช่แค่มีซีดีเท่านั้น แต่ว่าเข้าถึงได้ทางยูทูป บางทีอัดคำบรรยายของครูบาอาจารย์ใส่ไว้ในแฟลซไดร์ฟ ชิ้นเล็ก ๆ เดือนก่อนมีคนให้วิทยุมา มาถวายที่นี่ ไม่ใช่เป็นวิทยุอย่างเดียว สามารถจะเปิดฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ มีคำเทศนาเป็นร้อย ๆ ยังไม่ได้นับดูน่าจะเป็นพันด้วยซ้ำ เป็นคำบรรยายของครูบาอาจารย์ท่าน ต่าง ๆ เป็นพัน เป็นเสียงท่านแท้ ๆ 20 ปีก่อน ไม่นึกว่ามันจะสะดวกสบายขนาดนี้ จะฟังคำสอนครูบาอาจารย์องค์ไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้เข้าถึงได้ทางอินเตอร์เนท ออนไลน์ ยูทูป อยากจะฟังครูบาอาจารย์คนไหน อยู่ประเทศไกลแสนไกลแค่ไหนก็เปิดได้ อาตมาเคยไปยุโรปเมื่อสักสองสามเดือนที่แล้ว ญาติโยมที่นั่นหลายคนบอกว่าเปิดฟังคำบรรยายของพระอาจารย์เป็นประจำทางยูทูป อันนี้เรียกว่าเป็นความสะดวกมาก ในการที่จะเข้าถึงธรรมะ เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมมาก ครูบาอาจารย์อยู่ที่ไหนก็ไปหาได้ง่ายมาก
อันนี้มันผิดกับสมัยก่อน ได้อ่านประวัติของหลวงตามหาบัว ตอนที่ท่านได้ยินกิตติศัพท์หลวงปู่มั่น สมัยเป็นพระหนุ่มเรียนปริยัติธรรมที่นครราชสีมา โคราช ท่านก็สนใจการปฏิบัติธรรม ได้อ่านพุทธประวัติ และประวัติของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ทำให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติธรรม ก็คิดว่าจะเรียนปริยัติธรรมก่อน ถ้าได้ความรู้พอสมควรก็จะได้มีแนวทางในการปฏิบัติ ได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่นจากที่นั่นที่นี่ ก็ยังไม่สามารถจะไปหาครูบาอาจารย์ได้ จนกระทั่งเรียนจบได้ประโยคสามแล้วถึงค่อยมีโอกาสได้เดินทางไปหาหลวงปู่มั่น แต่ก็ไม่ใช่จะไปหาได้ง่าย เพราะว่าสมัยก่อนไม่มีโทรศัพท์ ถึงมีก็มีแค่จำกัด หลวงปู่มั่นท่านก็จาริกไปอยู่เรื่อย ๆ การที่จะรู้ว่าท่านอยู่ไหน วัดไหน อำเภอไหน จังหวัดไหน ยากมาก กว่าจะรู้หรือได้ยิน ท่านก็ย้ายไปที่อื่นแล้วหรือจาริกไปที่อื่นแล้ว เพราะว่าจะรู้ได้จากการที่คนบอกต่อ ๆ กัน ปากต่อปาก ว่าตอนนี้ท่านอยู่อุดรแล้ว ตอนนี้ท่านอยู่เชียงใหม่แล้ว หรือตอนนี้ท่านอยู่สกลนครแล้ว ลองนึกภาพสมัยก่อนการคมนาคมก็ลำบาก ยิ่งเป็นพระผู้น้อยบางทีต้องเดินเอา คล้าย ๆ เป็นการจาริกธุดงค์ใช้เวลานานเป็นเดือน พอไปถึงสถานที่ที่เขาบอกว่าหลวงปู่มั่นอยู่ตรงนี้ ไปถึงท่านจาริกไปที่อื่นแล้ว กว่าจะตามพบหลวงปู่มั่นได้ก็ใช้เวลา ก็ได้ไปพบท่านที่สกลนคร ก็ดีใจมากได้พบครูบาอาจารย์
สมัยนี้เราไม่ต้องถึงขนาดนั้น เช็คทางเว็ปไซด์รู้แล้วครูบาอาจารย์อยู่ที่ไหน ช่วงนี้ท่านว่างหรือเปล่า หรือท่านมีกิจนิมนต์ไปต่างประเทศ รู้ว่าอยู่ตรงไหนพรุ่งนี้ คืนนี้ก็เดินทางไปหา ไปกราบ ไปศึกษาธรรมจากท่านได้ ยุคนี้สบายมากจริง ๆ สะดวกสบายทุกอย่าง
แต่ว่าความสะดวกสบายก็มีข้อเสีย คือทำให้เราอ่อนแอได้ง่าย พอเจอความสะดวกสบายเข้า ทุกอย่างอะไรก็ได้มาง่าย ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องแสวงหา ในด้านหนึ่งก็ทำให้ไม่ได้ฝึกความเพียร ไม่ได้มีบททดสอบความตั้งใจ ความเพียรพยายาม ในอีกแง่หนึ่งมันก็ทำให้ไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไหร่ อะไรที่ได้มาง่ายก็ทิ้งง่าย ไม่ค่อยเห็นประโยชน์ เหมือนคนได้เงินมาง่าย ๆ ได้เงินมาจากการพนันก็ดี ได้เงินมาจากการถูกหวยก็ดี คนเหล่านี้ก็ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ค่อยเห็นคุณค่า ธรรมะก็เหมือนกัน ธรรมะที่รู้สึกว่าเราได้มาแบบง่าย ๆ เปิดทางอินเตอร์เนท หรือเปิดทางคอมพิวเตอร์ หรือว่าไปหาง่าย ๆ ก็ไม่ค่อยเห็นคุณค่า การปฏิบัติก็ไม่ค่อยตั้งใจเท่าไร เดี๋ยวนี้การปฏิบัติของผู้คนจะเรียกว่า เหลาะแหละมีไม่น้อย ทำแบบฉาบฉวยก็มาก สมัยนี้เรียกว่าทุกอย่างอะไร ๆ ก็พร้อม ทั้งครูบาอาจารย์ ทั้งหนังสือหนังหา ตำรับตำรา เสนาสนะ อาหาร น้ำไฟ การคมนาคม แนวทางที่ท่านสอนก็แจ่มชัด
แต่สิ่งที่ขาดก็คือคนปฏิบัติ นี้คือปัญหา ขาดคนปฏิบัติ หรือถึงปฏิบัติก็ขาดความตั้งใจ ที่นี่บางทีพอเราสบาย ๆ มากเหมือนอยู่ไปวัน ๆ ก็มี แม้แต่การทำวัตรสวดมนต์ซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายมาก บางทีก็ไม่อยากจะมากัน เพราะว่าขี้เกียจ อันนี้มันแสดงว่าอ่อนแอ ไม่จริงจัง ทั้งที่การทำวัตรสวดมนต์เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องใช้ความเพียรอะไร เพียงแต่ใช้ความตั้งใจเล็กๆ น้อย ๆ ไม่เหมือนการไปธุดงค์ หรือว่าแม้แต่การปฏิบัติธรรม เดินจงกรมสร้างจังหวะ อันนั้นยังยากเสียกว่าอีก การมาสวดมนต์เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ถ้าหากทำวัตร สวดมนต์เรายังไม่ใส่ใจกัน การที่จะสู้กับกิเลส การที่จะกล้าทวนกระแสกิเลส เป็นเรื่องที่ยากมาก ที่จริงไม่ต้องพูดถึงกิเลสก็ได้ เอาแค่เจอโลกธรรมฝ่ายลบ เช่น เสื่อมลาภ คำต่อว่าด่าทอ ติฉินนินทา หรือเสื่อมยศ หรือว่าต่อไปก็ความเจ็บความป่วย พวกนี้มันก็ทยอยมาหาเรา มันจะดาหน้าเข้ามาหาเราเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่ได้ฝึกปรือวิชากรรมฐานเอาไว้ ไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจเอาไว้ ถึงเวลามันมา เราก็เอาหมด เราก็รับมือไม่อยู่
เราต้องใช้โอกาสจากการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราได้ปฏิบัติ ต้องเรียกว่าฉวยโอกาส หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดเสมอว่าให้รู้จักฉวยโอกาส โอกาสมีแล้วอย่าปล่อยให้หลุดมือไป โอกาสส่วนหนึ่งคือการที่เรามีสุขภาพดี มีกำลังวังชาที่จะปฏิบัติธรรมได้ เรายังมีเรี่ยวแรงที่จะสู้กับกิเลส สู้กับความขี้เกียจ สู้กับความท้อแท้ ถ้าเราเอาชนะมันได้ เราก็สามารถที่จะรับมือกับนิวรณ์ที่จะพรั่งพรูเข้ามา และสามารถที่จะใช้สติที่พัฒนาเอาไว้รับมือกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิต
ที่จริงการปฏิบัติธรรมมันมีกับดักมากเหมือนกัน ซึ่งถ้าเราปฏิบัติธรรมจริงเราจะได้เรียนรู้กับดักนั้น ทำให้เราสามารถที่จะต่อสู้กับกิเลสได้ ต่อสู้กับอวิชชาได้ นอกจากการติดในความสะดวกสบายแล้ว สำหรับนักปฏิบัติหลายคนกล้าที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก พยายามทุ่มเทกับการปฏิบัติ บางทีก็ไปเจอกับดักที่มันละเอียดประณีต อย่างหลวงตามหาบัว ตอนที่ท่านได้เจอหลวงปู่มั่น ท่านมีกำลังใจมากในการปฏิบัติ เรียกว่าทุ่มเท ทุ่มเทปฏิบัติทั้งกลางวันกลางคืน บางทีไม่ได้หลับไม่ได้นอน นั่งปฏิบัติไปจนถึงเช้า เรียกว่าสู้เต็มที่ ท่านไม่ได้ทำแค่อาทิตย์สองอาทิตย์ แต่ทำเป็นเดือน ทำเป็นปี จนกระทั่งสมาธิของท่านแน่วแน่มาก ท่านเล่าว่าพอได้อยู่กับหลวงปู่มั่นสองปี สองพรรษา สมาธิท่านแน่วแน่มั่นคงมาก จิตไม่หวั่นไหวไม่กระเพื่อม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจิตก็เป็นสมาธิ แต่ขณะเดียวกันท่านก็ไม่อยากรับรู้อะไร ตาก็ไม่อยากเห็น หูก็ไม่อยากได้ยิน เพราะกลัวว่าจะทำให้ใจกระเพื่อม ก็พอใจกับการปฏิบัติ พอใจกับสมาธิที่เกิดขึ้น มันเป็นความสุขเป็นความสงบมาก
จนกระทั่งท่านหลงเข้าใจว่านั่นคือนิพพาน ท่านเล่าว่าท่านติดในสมาธิถึง 5 ปี ช่วงนั้นท่านชอบจาริกไปตามป่าตามเขาไปอยู่ถ้ำ ก็ยิ่งเจอที่สงบสงัด สมาธิก็ยิ่งแน่วแน่มั่นคง แต่พอกลับไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็เห็นสังเกตอาการ วันหนึ่งท่านก็ไปถามพระมหาบัว ตอนนั้นท่านยังเป็นหนุ่มอายุแค่ 30 ถามว่าท่านมหาเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีไหม สงบดีหรือเปล่า ท่านก็ตอบว่าสงบดีครับ สบายดีครับ หลวงปู่มั่นถามอีกว่า เป็นอย่างไรตอนนี้สงบดีไหม ท่านก็ตอบว่าสงบดีครับ พอได้ยินดังนั้นหลวงปู่มั่นพูดท้วงอย่างแรงว่าท่านจะนอนตายอย่างนี้หรือ สมาธิมันเหมือนกับหมูขึ้นเขียงรู้หรือเปล่า ท่านพูดแรงมาก ว่าสมาธิมันเหมือนกับหมูขึ้นเขียง มันรื้อถอนกิเลสได้ที่ไหน ที่ท่านทำมันไม่ใช่สัมมาสมาธิ ท่านท้วงอย่างแรงว่า และบอกว่า สมาธิของท่านเป็นสมุทัยทั้งแท่งท่านไม่รู้หรือ
ตอนนั้นอาจารย์มหาบัวท่านมีความมั่นใจมากในสมาธิของท่าน ท่านก็แย้งว่า ถ้าสมาธิของผมเป็นสมาธิเหมือนกับหมูขึ้นเขียง แล้วสัมมาสมาธิในมรรคแปดจะเดินอย่างไร ก็มีการโต้เถียงกัน ปรากฎว่าพระที่อยู่ใกล้ ๆ แตกฮือมาฟัง เพราะไม่เคยมีใครเถียงหลวงปู่มั่น แตกฮือกันมาฟังการโต้เถียงกัน หลวงปู่มั่นก็ชี้ว่า สัมมาสมาธิของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนสมาธิของท่าน มันเป็นสมาธิที่ทำให้เกิดปัญญา แต่ท่านไปหลงว่านั่นคือนิพพาน ยังไม่รู้หรือว่ามันเป็นสมาธินอนตาย ท่านใช้คำว่าสมาธิเหมือนกับหมูขึ้นเขียง พอพูดแรง ๆ เช่นนี้ อาจารย์มหาบัวท่านได้สติ ท่านก็รู้สึกผิดที่เถียงครูบาอาจารย์ อุตส่าห์มาหาท่าน เพราะคิดว่าเชื่อว่าท่านจะมา เรียกว่าพร้อมที่จะมอบกายถวายชีวิตให้กับท่าน ถ้าเราเก่งจะมาหาท่านทำไม แต่ถ้าเราไม่เก่งทำไมถึงเถียงท่าน ปรากฏว่าหลังจากนั้นท่านก็กลับมาหันมา มาเน้นเรื่องการเจริญวิปัสสนาแทน
ท่านบอกว่าเหตุการณ์ครั้งนั้น หลวงปู่มั่นไล่ท่านออกจากสมาธิ ให้หันมาพิจารณาธาตุ พิจารณาขันธ์ พิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ปรากฏว่าทำให้ปัญญาท่านเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ตอนหลังท่านบอกว่าถ้าหลวงปู่มั่นไม่ได้ฉุดท่านออกมาจากสมาธิ คงจะติดในสมาธินั้นจนตายก็ได้ นี้เป็นกับดักของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติที่เรียกว่าไม่เฉื่อยแฉะ เรียกว่าตั้งใจปฏิบัติมันก็มีปัญหาแบบนี้ ก็มีกับดักอีกแบบหนึ่ง
กับดักของคนส่วนใหญ่ที่อ้างว่าเป็นนักปฏิบัติคือติดสบาย พอติดสบายแล้วมันก็ปฏิบัติแบบเฉื่อยชา ไม่เอาใจใส่ ส่วนคนที่ตั้งใจปฏิบัติ เรียกว่าตายเป็นตาย ก็ยังมีกับดักอีกแบบหนึ่ง เป็นกับดักสมาธิหรือความสงบ พอติดสงบ พอติดสมาธิแล้วทำให้เพลิน ไม่ได้คิดที่จะเจริญ เดินวิปัสสนา ก็พอใจอย่างนั้น คิดว่าสมาธิที่ตัวเองมีจะทำให้พ้นทุกข์ ทำให้นิพพานได้ ทั้งที่มันก็แค่ทำให้สงบชั่วคราว อันนี้มันเหมือนกับหินทับหญ้า พอทับหญ้า หญ้ามันก็ไม่เกิดหรือหญ้าไม่โต แต่พอเอาหินออกหญ้ามันก็งอกใหม่ การเพลินในสมาธิก็เป็นกับดักของนักปฏิบัติธรรม
ที่นี่เราไม่ได้เน้นเรื่องการทำสมาธิประเภทหลับตา แต่ว่าความสงบเพราะว่าจิตมันเป็นสมาธิก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะถ้าเก็บอยู่ตัวแต่ในกุฏิ ไม่ออกไปไหน ไม่เจอใคร อันนี้ก็ยิ่งติดสงบได้ง่าย แต่ติดสงบแบบนี้อาจเป็นการติดสถานที่ พอออกจากสถานที่จิตก็ว้าวุ่น แต่บางคนออกไปจากสถานที่ไปอยู่โน่นอยู่นี่ก็ยังสงบ เพราะว่าอาศัยกำลังสมาธิ อันนี้มันก็ดีมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยหล่อเลี้ยงใจให้เกิดความเพียรในการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติก็ต้องมีเครื่องหล่อเลี้ยง คนทั่วไปทำงานหนัก ทำมาหากิน เรียกว่าตื่นแต่เช้า ทำงานจนดึก อันนี้เขามีความสุขทางกามเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ทำงานหนักก็จริง แต่อาศัยอาหารที่อร่อย อาศัยเพลงที่เพราะ หรืออาศัยความสนุกสนานเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง อันนี้เรียกว่ากามสุข มันทำให้คนจำนวนมากทนอยู่ ทนทำงาน อย่างในกรุงเทพฯ บรรยากาศก็ไม่ค่อยน่าอยู่น่าทำงานเท่าไร แต่คนก็อยู่กันเพราะว่ามันมีความสุขทางกามเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
แต่ว่านักปฏิบัติเราไม่เชื่อว่ากามสุขจะเป็นที่พึ่งได้ เรามาปฏิบัติจุดมุ่งหมายก็เพื่อที่จะเป็นอิสระจากกามสุข เราก็ต้องมีความสุขอีกอย่างเข้ามาหล่อเลี้ยงใจ ความสุขนั้นก็คือความสุขจากสมาธิ ผลจากสมถะสามารถหล่อเลี้ยงใจให้มีความเพียรในการปฏิบัติได้ แต่ถ้าเกิดว่าเราเพลิน สุขกับสมาธิแล้ว แม้จะเป็นสมาธิอ่อน ๆ ไม่ถึงสมาธิระดับฌาน มันสามารถทำให้เราหลงแล้วติดเนิ่นช้าได้ บางทีก็พอใจเท่านั้นแหละ พอใจสงบก็หยุดอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่คิดจะพิจารณารูปนาม ไม่คิดที่จะพิจารณากายใจ พอใจกับความสงบที่ได้รับ อันนี้มันก็เป็นกับดักเป็นอันตรายของนักปฏิบัติได้ เราอย่าพอใจเพียงเท่านั้น ให้รู้ว่ามันเป็นเพียงแค่เครื่องหล่อเลี้ยงใจ แต่ว่าเราต้องทำมากกว่านั้น มันเป็นเพียงแค่บันไดหนึ่งที่เราต้องก้าวต่อไป หรือก้าวข้ามไปให้ได้ ก็คือใช้การภาวนาเพื่อยกให้เป็นวิปัสสนา ยกการภาวนาของเราให้เป็นวิปัสสนา ก็คือการพิจารณากายใจ กาย เวทนา จิต ธรรม ระหว่างที่ปฏิบัติ ระหว่างที่เดิน ระหว่างที่ยกมือสร้างจังหวะ ก็ไม่ใช่แค่รู้สึกตัวเท่านั้น หรือว่ารู้สึกตัวก็ดี แต่พอสงบแล้ว ก็เพลินในความสงบ ไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังเพลินในความสงบ แทนที่จะเห็นความสงบ ก็กลายเป็นผู้สงบไป มันใกล้กันมากระหว่างเห็นความสงบกับเป็นผู้สงบ
ถ้าเราเห็นความสงบ จะรู้ว่าความสงบมันไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นแล้วดับไป และถ้าเราพิจารณาจะเห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยของความสงบ และอะไรเป็นเหตุให้มันดับไป และความไม่สงบเราเห็นว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ความไม่สงบมันเกิดขึ้น และอะไรเป็นปัจจัยให้มันดับไป อันนี้เรียกว่าเป็นการพิจารณา ซึ่งทำให้เราได้เห็นความเป็นจริงของรูปนาม ของกายและใจว่ามันก็ไม่เที่ยง แม้กระทั่งการเห็นว่าที่ เดินเป็นรูป ที่คิดเป็นนาม มันสำคัญเหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติไป ๆ เพลิน ๆ แค่นี้ยังไม่เห็นว่าที่เดินเป็นรูป ที่คิดเป็นนาม เพราะมันเพลิน พอเพลินแล้วหลง ไม่คิดที่จะไปพิจารณาว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่นี้ มันเป็นแค่กายและใจที่กำลังทำงาน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราเดิน แต่เป็นรูปที่เดิน ไม่ใช่เราคิด แต่เป็นนามที่คิด ไม่ใช่เราโกรธ แต่เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นกับใจ
แต่ถ้าไม่เห็นตรงนี้ การปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า แล้วก็จะหลงจมอยู่ในความยินดียินร้าย ตอนที่เกิดความสงบก็ยินดี พอความสงบหายไปก็ยินร้าย พอมีเสียงมากระทบ ทำให้ใจไม่สงบ ก็ขุ่นมัว พอต้องไปเจอผู้คน ต้องทำงาน เจออะไรที่ไม่ถูกใจก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความหงุดหงิดขึ้น แทนที่จะใช้สิ่งที่ขัดใจเรามาเป็นตัวขัดจิตใจของเราให้สะอาด ขัดกิเลสของเราให้เบาบาง ก็จมอยู่ในความโกรธ จมอยู่ในความหงุดหงิดนั้น อันนี้เรียกว่า เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับนักปฏิบัติที่เพลินในความสงบ ในที่สุดก็ต้องเจอกับภาวะอารมณ์แบบนั้น ถ้าไม่ฝึกให้มีสติรู้ทัน และให้มีปัญญาเห็นความจริง มันก็จะหลงจมอยู่ในภาวะอารมณ์ขึ้นลง ๆ แบบนี้แหละ ยินดียินร้ายแบบนี้ ไม่จบไม่สิ้นสักที