แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาลมีหมอท่านหนึ่งซึ่งเก่งมาก เรียกได้ว่าเป็นหมอเทวดา คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นครูบาอาจารย์หรือปรมาจารย์ของการแพทย์แผนไทย ชีวกโกมารภัจจ์ท่านเป็นแพทย์ประจำตัวของพระพุทธเจ้าด้วย ประวัติของท่านน่าสนใจ แต่เพื่อตัดทอนให้สั้น มีเรื่องเล่าว่าท่านเคยไปเรียนวิชาแพทย์ที่ตักศิลา ตักศิลาอยู่แถวปากีสถาน ไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปราโมกข์ เรียนถึง 7 ปี ท่านตั้งใจเรียนมาก แต่เรียนมา 7 ปีแล้ว ยังไม่รู้เลยว่า ความรู้นี้มีพอหรือยัง
วันหนึ่งไปถามอาจารย์ว่า ที่ตนเรียนมานี้มันพอใช้การได้หรือยัง จะต้องเรียนต่ออีกไหม อาจารย์ก็เลยทดสอบความรู้ ด้วยการให้ไปตรวจหาพวกพืชต่าง ๆ ในรัศมี 1 โยชน์รอบเมืองตักศิลา ให้ดูว่ามันมีอะไรที่ใช้ทำยาได้บ้าง ให้เสียมให้จอบไป ชีวกโกมารภัจจ์ก็ทำตามที่อาจารย์สั่ง ใช้เวลาอยู่นานทีเดียวก็กลับมารายงานว่า ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ทุกอย่างนี้สามารถจะใช้รักษาโรคได้ทั้งนั้น รวมถึงหญ้าคาวัชพืช หรือพวกที่มีพิษทั้งหลายสามารถจะทำเป็นยาได้ทั้งนั้น บางอย่างใช้ราก บางอย่างใช้เม็ด บางอย่างใช้ใบ หรือใช้เปลือก พอมารายงานเช่นนี้อาจารย์บอกว่า ท่านชีวกะสำเร็จการศึกษาแล้ว กลับบ้านได้ อันนี้เป็นประวัติตอนหนึ่งของท่านชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งบางทีแพทย์ไทยเรียกหมอชีวก
ทุกอย่างที่อยู่รอบเมืองตักศิลา ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ที่จริงไม่ใช่เฉพาะพวกผัก พวกพืชทั้งหลายเท่านั้น ต้องเรียกว่า ทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งรูปธรรม นามธรรม อาจไม่ใช่ประโยชน์ในทางรักษาโรค แต่มีประโยชน์อย่างอื่น อันนี้น่าพิจารณา ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์เลย ขยะสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ย หรือสมัยนี้เขาเอาไปรีไซเคิล ใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทอด เชื้อโรคนี้ก็มีประโยชน์ เอาไปทำยา เอาไปทำวัคซีนได้ วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคก็มาจากเชื้อโรค พิษร้ายของงูเอามาทำเป็นเซรุ่มได้ เอาไว้รักษาแก้พิษจากงู สิ่งที่เป็นพิษหลายอย่างก็เอามารักษาโรค พวกเคมียา หรือสารที่ใช้ทำเคมีบำบัดรักษามะเร็ง เป็นสารที่เป็นพิษหลายอย่าง แต่มนุษย์เราเอามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้
ที่จริงมีโรคหลายชนิดที่พอเป็นแล้ว ช่วยทำให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคบางชนิดได้ อย่างแอฟริกามีโรคที่เรียกว่า ซิกเกิลเซล ใครเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันโรคมาลาเรีย สมัยนี้ที่ผู้คนเป็นหอบหืดหรือเป็นโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ สันนิษฐานว่า เป็นเพราะไม่ได้เป็นโรคบางอย่างบางชนิด ไม่ได้เจอแบคทีเรียไม่ได้เจอเชื้อโรคในชีวิตประจำวันอย่างคนสมัยก่อน คนสมัยก่อนตั้งแต่เด็กคลุกกับดิน คลุกกับสิ่งที่คนสมัยนี้เรียกว่า สิ่งสกปรกคือมีเชื้อโรค แต่เชื้อโรคที่เข้าไปสู่ร่างกายตั้งแต่เด็ก ช่วยทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคบางอย่าง หรือทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างได้
เราลองพิจารณาดู มันไม่มีอะไรที่ไม่มีประโยชน์เลย ความยากจนในวัยเด็ก ก็สามารถฝึกให้เราเข็มแข็งรู้จักพึ่งง คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยต่างหาก ที่อาจจะเสียเปรียบในแง่ ความเข้มแข็ง ความอดทน ความรู้จักพึ่งตนเอง ลดน้อยถอยลง เศรษฐีจำนวนมากร่ำรวยได้ หรือสร้างตัวได้จากความยากจน แต่พอร่ำรวยมาก ๆ มาถึงรุ่นที่ 3 รุ่นลูกยังพอที่จะรักษาทรัพย์สมบัติได้ พอถึงรุ่นที่ 3 ทรัพย์สมบัติที่สร้างสมมา ตั้งแต่ปู่ตั้งแต่พ่อจะค่อยหร่อยหรอ เพราะรุ่นที่ 3 คือ หลาน เรียกว่า เกิดบนกองเงินกองทอง รู้สึกว่าเงินเป็นของหาง่าย ไม่เห็นคุณค่าของเงิน วิชาความรู้ก็ไม่สนใจ เพราะมีเงินมีทองแล้วจะไปเรียนทำไม ทำงานก็ได้เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร เป็นเจ้าคนนายคนตั้งแต่เล็ก แทนที่จะไต่เต้าจากระดับพื้นฐานหรือระดับล่าง
ประเทศที่เขาไม่ค่อยมีทรัพยากรธรรมชาติมาก มองในแง่หนึ่งถือว่า เขามีโชค เพราะมันทำให้เขาหันมาทุ่มเทกับการพัฒนาคน ทั้งประเทศไม่มีแร่ธาตุอะไรที่สำคัญเลย แต่มีสิ่งที่สำคัญคือ คน พัฒนาคนด้วยการศึกษา หรือไม่ก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา ประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรต่างหาก ที่ยากจน อาจจะร่ำรวยก็ชั่วครั้งชั่วคราว แต่อนาคตไม่แน่นอน อย่างซาอุฯ ตอนนี้มีน้ำมันเยอะมาก เริ่มมีปัญหาแล้ว หลายประเทศ แม้กระทั่งไทย ที่เคยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ตอนนี้โดนหลายประเทศที่เขายากจนในเรื่องทรัพยากรแซง เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกงหรือประเทศแถวยุโรป สแกนดิเนเวีย ถูกแซงไปไกล เพราะเราไม่สนใจพัฒนาคน สนใจแต่ว่า จะขุดเอาของเก่ามาขาย แล้วก็ขายไม่เป็น แล้วขายถูก ๆ
ลองดูทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราที่เรามองว่า เป็นของไม่ดี มันมีประโยชน์ทั้งนั้น โรคภัยไข้เจ็บก็มีประโยชน์ ไม่ใช่ประโยชน์ในทางภายนอกเท่านั้น อาจจะเป็นประโยชน์ทางภายในก็ได้ อาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่า ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด ป่วยทุกทีให้ฉลาดทุกที ฉลาดเรื่องอะไร ฉลาดเรื่องชีวิต ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต มาเตือนให้เราเห็นว่า สังขารนี้มันต้องถนอมรักษา เพราะถ้าไม่ถนอมรักษา มันจะผุพังเร็ว เสื่อมโทรมเร็ว มาเตือนว่า เวลาที่เราจะทำอะไรอย่างเต็มที่ มันลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ต้องรีบทำ
พระพุทธเจ้าเคยสอนพระ เวลาเจ็บป่วยให้ตระหนักว่า ยังดีที่เรายังทำอะไรได้ เราต้องป่วยหนักกว่านี้ ถึงตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ ทำความเพียรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ แม้ยังป่วยอยู่ต้องรีบฉวยโอกาส เพราะต่อไปจะป่วยหนักกว่านี้ ไม่ใช่ใช้ความป่วยเป็นข้ออ้างในการเกียจคร้าน มีสิ่งเยอะแยะเกิดขึ้นกับเราที่มีประโยชน์ คำตำหนิติเตียน อย่างที่เราเพิ่งได้สวด เมื่อถูกตำหนิติเตียน ให้รู้ว่ากำลังมีคนชี้ขุมทรัพย์ให้เรา ไม่ใช่ความซวย เรียกว่า เราโชคดีมีคนชี้ขุมทรัพย์ให้ คำต่อว่าด่าทอ ไม่เพียงแต่ฝึกความอดทนให้กับเรา ฝึกความปล่อยวางเท่านั้น แต่ยังสอนให้เราเอาชนะกิเลสด้วย
อย่างที่เคยเล่าถึงแม่ชีสาที่ถูกครูบาอาจารย์ด่าว่า ท่านกลับชอบเพราะเห็นว่า มันช่วยขูดกิเลส ช่วยขัดอัตตาให้เบาบาง เราใช้คำต่อว่าด่าทอมาช่วยขูดกิเลสได้ดีเลย ช่วยลดละอัตตาได้ดีมาก เวลาเกิดเหตุร้ายกับเรา อย่าไปมองว่าเป็นความซวย อยู่ที่ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร ทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราใช้อย่างไร เราจะมองมันอย่างไร
มีคนหนึ่งเป็นช่าง แล้วเกิดทำงานพลาดขึ้นมา ไฟช็อตที่ขาต้องตัดขาทั้ง 2 ข้างเลย พิการตลอดชีวิต หลังจากนั้นไม่นานเมียก็ทิ้ง มีคนไปถามผู้ชายคนนี้ว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกเมียทิ้งแกตอบว่า ไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะแม้แต่ขาของผมแท้ ๆ มันยังทิ้งผมไปเลย แล้วจะให้เมียอยู่กับผมได้อย่างไร แกไม่รู้สึกทุกข์เลยการที่ถูกเมียทิ้ง เพราะแกได้เรียนรู้จากการที่ถูกตัดขาทั้ง 2 ข้าง ได้เรียนรู้ว่าอะไร ได้เรียนรู้ว่า ขานี้มันไม่ใช่ของเรา หรือถึงจะยึดมั่นว่า เป็นของเรา แต่ว่ามันก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอด บางคนพอถูกตัดขา ทุกข์ฟูมฟายคร่ำครวญ ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ทำความดีสร้างบุญสร้างกุศล แต่ชายคนนี้กลับมองมองว่า มันสอนเราว่า แม้แต่ขาของเรามันยังไม่อยู่กับเราเลย ตรงนี้เรียกว่า เกิดปัญญา ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทำให้พอถูกเมียทิ้ง ก็ไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าใช้ประโยชน์จากเหตุร้ายให้กลายเป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ที่จะตามมา
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเท่านั้น แม้กระทั่งกิเลสที่อยู่ภายในใจเรานี้ ก็มีประโยชน์ถ้ารู้จักใช้ มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงปู่ขาวยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งมีโยมพาลูกชายวัย 3 ขวบ มาถวายจังหัน ถวายเสร็จ เด็กไปเห็นเงาะที่ถูกปอกเปลือกไว้แล้วบนฝาบาตรของหลวงปู่ขาว เด็กเห็นว่ามันขาวก็อยากกิน เด็กก็จ้องมองอยู่อย่างนั้น หลวงปู่ขาวเลยถามว่า อยากกินเหรอ ถ้าอยากกินต้องแลกกัน เด็กก็ตอบว่า อยากกิน แล้วถ้าอยากกินต้องทำอะไรบ้าง หลวงปู่ขาวบอกว่า ถ้าอยากกินต้องนั่งสมาธิ เด็กถามว่า นั่งสมาธิยังไง หลวงปู่ขาวก็แนะนำ ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้ายแล้วหลับตา เด็กด้วยความอยากกินเด็กก็ทำตาม แล้วหลวงปู่ขาวก็ให้คำบริกรรม บอกให้ท่อง นึกในใจไว้ หมากเงาะ หมากเงาะ เด็กเป็นคนอีสาน เวลาพูดว่า หมากเงาะคือเงาะ เด็กอยากกิน เด็กก็เลยทำตาม หลับตาแล้วก็นึกถึงคำว่า หมากเงาะ ตามที่หลวงปู่ขาวแนะนำ ระหว่างที่ทำ น้ำลายก็ไหล เพราะเห็นภาพหมากเงาะอยู่ในจินตนาการ แต่เพราะความอยากทำให้เด็กนั่งอยู่ในสมาธิ ปรากฏว่านั่งสมาธิได้เร็วมาก สักพักจิตก็รวมเป็นหนึ่ง มาลืมตาอีกที ปรากฏว่าทั้งแม่ ทั้งพระ ทั้งโยม ที่อยู่บนศาลานี้หายหมดแล้ว เพราะมันเป็นเวลาบ่าย 3 นั่งตั้งแต่ 7 โมง 8 โมงเช้า มีแต่หลวงปู่ขาวที่นั่งเป็นเพื่อน เด็กมีสมาธิดีมากเลย เพียงเพราะมีความอยาก ความอยากนี้ถือเป็นโลภะหรือตัณหา แต่พอเอามาใช้ หลวงปู่ขาวท่านฉลาด ท่านเอามาใช้ในการภาวนา เด็กก็ภาวนาได้ดีเลย
ในสมัยพุทธกาลก็มี อนาถปิณฑิกเศรษฐีมีลูกคนหนึ่ง ไม่ค่อยสนใจธรรมะเลย ตัวอนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นโสดาบัน แต่ว่าสอนลูกไม่ได้ เลยออกอุบายว่า ออกอุบายให้ลูกไปฟังธรรม ถ้าไปฟังธรรม โดยให้รางวัล ลูกอยากได้เงิน ลูกก็เลยไปฟังธรรมที่เชตวัน แต่ก็ไม่ได้ฟัง ไปแค่นั่งเฉย ๆ ใจลอย พอเสร็จกลับมาบ้าน มาขอเงินพ่อ พ่อก็ให้ ทำอย่างนี้สักครั้งสองครั้ง พ่อกำชับอีกให้ชัดเจนว่า เวลาไปฟังธรรมให้จดจำคำของพระพุทธเจ้ามา แล้วมารายงาน ด้วยความอยากได้เงิน เขาก็เลยไปฟัง พยายามจดจำคำของพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าบันดาลให้จำไม่ค่อยได้ จึงต้องตั้งใจฟังมากขึ้น พอตั้งใจฟังมากขึ้น ปรากฏว่าเกิดความเข้าใจในธรรม บรรลุธรรมขึ้นมาทันทีเลย กลับบ้าน พ่อจะให้เงิน ให้ลูกมารายงานว่า ได้จำอะไรที่พระพุทธเจ้าท่านสอนบ้าง ลูกบอกไม่ต้องแล้ว เพราะรู้แล้วว่ามันมีสิ่งที่ค่ากว่าเงิน คือธรรมะ ความอยากได้เงิน คือโลภะ เป็นตัณหา เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่ว่าทำให้ลูกชายอนาถปิณฑิกเศรษฐีเห็นธรรมได้ เรียกว่า ใช้ตัณหาละตัณหา
เพราะฉะนั้นให้เราตระหนัก แม้ว่ามันจะมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่จะต้องผลักไสกดข่ม มันมีประโยชน์ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้เรียนรู้ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราได้ฝึกสติ ฝึกให้รู้ทันมัน มันมาเพื่อให้เราได้รู้ทันมัน มันมาเพื่อให้เราจดจำมันได้ ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วเรามีสติ เราเห็นมัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การจดจำภาวะอารมณ์ และเมื่อมันเกิดขึ้นอีก เราจะจำมันได้เร็วขึ้น เมื่อเราจำมันได้เร็วขึ้น เราก็จะปล่อยวางมันได้เร็ว เราจะไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์นั้น
ปล่อยให้มันเล่นงานจิตใจเราแล้วเล่นงานจิตใจเราอีก เป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่เรียนรู้ เราไม่ได้คิดที่จะจดจำมัน มันเหมือนกับว่า เราปล่อยให้สิบแปดมงกุฎมาหลอกเอาเงินเรา ครั้งแล้วครั้งเล่า มันก็หน้าเดิม ตัวเดิม คนเดิม แต่มันก็หลอกเราครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราไม่รู้จักเรียนรู้เลย แต่การเจริญสติฝึกให้เราเรียนรู้ รู้จักจดจำมันได้ ทีแรกก็โดนมันหลอก โดนกิเลส โดนตัณหา โดนความโลภมาหลอก แต่หลังจากที่เกิด มันมาครั้งแล้วครั้งเล่า มันจะสอนเราให้จดจำมันได้ แล้วพอมันมาอีก คราวนี้เรารู้แล้ว เราไม่ยอมให้มันหลอกแล้ว เราแค่เห็น เราไม่เข้าไปเป็น เข้าไปเป็นคือหลงเชื่อมัน หลงทำตามมัน แต่พอเราเห็น เราไม่เข้าไปเป็นแล้ว มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หน้าม้วนกลับไป เพราะมันหลอกเราไม่ได้อีกแล้ว แต่ประโยชน์ไม่ได้มีเท่านั้น ประโยชน์ยังมีมากกว่านั้น มันมาสอนให้เราเข้าใจเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ไม่เข้าใจจากการอ่านหนังสือ แต่เข้าใจจากการที่ได้เห็น ทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ความฟุ้งซ่าน ความง่วงหงาวหาวนอน ความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ พวกนี้ล้วนแล้วแต่สอนธรรมให้เราได้ทั้งสิ้น สอนให้เราเห็นถึงความไม่เที่ยง มันมาแล้วก็ไป สอนให้เราเห็นว่า มันทนอยู่ไม่ได้นาน คือ ทุกขังหรือทุกข์นี้มันแปลว่า ตั้งอยู่ไม่ได้นาน ทนไม่ได้นาน เพราะว่ามันพร่อง มันไม่สมบูรณ์ เป็นเพราะมันถูกบีบคั้นด้วยความเกิดความดับ และมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนที่เราจะยึดว่า เป็นของเราได้ เขามาเพื่อสอนเรา อันนี้คือประโยชน์อย่างหนึ่ง ที่เราควรจะมองให้เห็นจากอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เห็นแล้วคิดแต่จะไปบี้มัน คิดแต่จะไปผลักไสมัน แต่เราต้องรู้จักใช้มันให้ได้
ถ้าเราตระหนักว่า ทุกอย่างล้วนแต่มีประโยชน์ จะทำให้เรายอมเราสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อวานได้พูดไปแล้วว่า เมื่อเรารู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ หรือรู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราทุกข์ได้ ความทุกข์ในใจนี้ ไม่ได้เกิดจากมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่มันอยู่ที่ว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร ถ้าเรารู้สึกลบ เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่รู้สึกลบ ใจเราก็เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง ไม่ว่าจะแดดร้อน อากาศหนาว คำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความเจ็บ ความป่วย ความสูญเสีย ถ้าเรายอมรับมันได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใจก็เป็นปกติ สงบเย็นด้วยซ้ำ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ข้างหน้าเราคือความตาย ใจก็ยังสงบได้
ในทำนองเดียวกัน ทุกสิ่งต่าง ๆ ก็มีประโยชน์ ถ้าหากเราวางใจถูกหรือเรามองเป็น ถ้าเรามองเป็นก็เห็นประโยชน์ของทุกสิ่ง หรือถ้าเรารู้จักใช้มัน ทุกสิ่งต่าง ๆ ก็สามารถจะทำคุณประโยชน์ให้กับเราได้ อย่างที่เราสวด ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ อะไรก็ตามเกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราวางใจถูก เราก็ไม่ทุกข์ อะไรก็ตามที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าเราวางใจถูก มองเป็นก็เห็นประโยชน์ของมัน หรือสามารถเอามันมาใช้ประโยชน์ได้ และถ้าเราเห็นอย่างนี้ มันจะทำให้เรายอมรับสิ่งต่าง ๆ ด้วยใจที่เป็นกลางได้ง่ายขึ้น ซึ่งเกิดผลตามมาคือ ใจที่สงบ มิหนำซ้ำเรายังสามารถเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะประโยชน์ทางธรรม นอกจากประโยชน์ทางโลก อย่างเช่น เอามาใช้ประโยชน์ในการทำมาหากิน เอามาใช้ประโยชน์ในการสร้างความสุข ความสำเร็จ หรือความเจริญในอาชีพการงาน หรือใช้ในการรักษาโรคอย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปในตอนต้น ประโยชน์ทางธรรมนี้ ทุกอย่างเลยเอามาใช้ได้ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักมอง แม้กระทั่งทุกข์ ทุกข์นี้ก็มีประโยชน์ ทุกข์มันมีประโยชน์เมื่อเรารู้จักใช้มัน หรือรู้จักเกี่ยวข้องกับมันให้ถูก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อมีทุกข์แล้วสิ่งที่ควรทำคือ กำหนดรู้ อริยสัจข้อแรกคือทุกข์ ท่านจะสอนต่อไปว่า ท่าทีที่ควรทำต่ออริยสัจแต่ละข้อ ๆ คืออะไร ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นหรือทำให้แจ้ง ส่วนมรรคเป็นสิ่งที่ต้องทำให้มาก ทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องละ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ท่านใช้คำว่า ปริญญา ปริญญาในที่นี้ หมายถึง ความรู้รอบ ความเข้าใจ และถ้าเรารู้จักทุกข์ดี มันจะเปิดทางไปสู่ความเข้าใจเรื่อง สมุทัย รู้ว่าทุกข์มันเกิดจากอะไร และถ้าเรารู้สมุทัย เราจะรู้ว่า จะละมันได้อย่างไร มันทำให้เราเห็นองค์มรรค หรือวิธีในการที่จะละสมุทัย ซึ่งนำไปสู่ความรู้แจ้ง หรือนำไปสู่นิโรธคือ นิพพาน ทุกข์เป็นประตูไปสู่ธรรมะข้ออื่น ๆ ถ้าไม่เจอทุกข์ ไม่มีทางเข้าใจหรือรู้จักสมุทัย ไม่มีทางที่จะเข้าถึงนิโรธได้ ทุกข์จึงมีประโยชน์ มันเป็นประตูที่ทำให้เราเข้าถึงธรรมะอีก 3 ข้อ ที่เป็นอริยสัจ เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็จะทำให้เรารู้จักวางใจถูก เมื่อทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่ตีโพยตีพาย รู้จักใช้มันเพื่อฝึกให้เรามีความอดทน ใช้มันเพื่อฝึกให้เราเรียนรู้การปล่อยวาง ใช้มันเพื่อสอนธรรม ให้เข้าใจสัจธรรมของโลกและชีวิต มีประโยชน์ทั้งนั้น ประโยชน์มันอยู่ที่ใจเราจะมองเห็นไหม ว่าใจเราฉลาดพอที่จะมองเห็นไหม
อย่างท่านหมอชีวกเป็นคนฉลาด สามารถจะมองเห็นทุกอย่างที่อยู่รอบเมืองตักศิลาว่า มีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคได้ทั้งนั้น มันอยู่ที่เราไม่ใช่อยู่ที่สิ่งอื่น หมายความว่า สิ่งที่เรียกว่าโลกธรรมฝ่ายลบ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือทุกข์ คำนินทาซึ่งใคร ๆ ไม่ชอบกัน ถ้าเราฉลาด ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักมอง มันก็เป็นประโยชน์ สามารถช่วยทำให้เราฉลาด มีปัญญามากขึ้น สามารถช่วยในการพาเราให้ออกจากทุกข์ได้ บางอย่างเรามองไม่เห็นประโยชน์ของมัน จนกว่าเวลาผ่านไปถึงมองเห็น
บางคนตอนที่ล้มละลายเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ เขามีความทุกข์มาก แต่ความทุกข์นั้นที่มันผลักเขาให้เข้าหาธรรมะ พอได้ค้นพบธรรมะพบว่า ธรรมะนี้มีประโยชน์ การที่เจอวิกฤตเศรษฐกิจต้องล้มละลายนี้ มีประโยชน์มาก ต้องขอบคุณวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ได้มาเจอธรรมะ แต่เราไม่จำเป็นต้องรอให้ความทุกข์มันผลักเราเข้ามาหาธรรมะได้ ถ้าเราตั้งสติดี พอเจอทุกข์เราก็พิจารณาทุกข์ มันก็จะเกิดประโยชน์
หลวงปู่ขาวท่านเคยสอนคนที่เจ็บป่วย ท่านบอกว่า อย่าไปอยากหาย อย่าไปอยากให้ทุกขเวทนามันหมดไป เพราะถ้าอยากเมื่อไร มันก็ทำให้ทุกข์มากขึ้น เพราะความอยากเป็นสมุทัย สมุทัยคือตัวทำให้เกิดความทุกข์ ท่านบอกว่า ให้อยากที่จะเห็นความจริงของความเจ็บป่วย ให้อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนา แล้วนั่นองค์มรรคจะเกิดขึ้น จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ อยากให้หายป่วยมันทำให้ทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าอยากเห็นความจริงของความเจ็บป่วย ของทุกขเวทนา มันกลับทำให้พ้นทุกข์ เพราะความเจ็บป่วยหรือทุกขเวทนามันสอนธรรมให้กับเราได้ มันอยู่ที่ใจเราว่าจะรู้จักมองไหม ยิ่งคำว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จได้ด้วยใจ มันมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราวางใจถูก เราไม่ทุกข์ อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราวางใจถูก มองเป็น มันมีประโยชน์ที่จะให้เราเก็บเกี่ยวได้มากมาย ให้เราตั้งหลักอันนี้ไว้ให้ได้ แล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเราก็จะล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์สอนธรรมเราได้ทั้งสิ้น