แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สิ่งที่เรียกว่า โลกธรรม ไม่มีใครหนีพ้น โลกธรรมมีการจำแนกเป็นแปด โลกธรรมฝ่ายบวก ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โลกธรรมฝ่ายลบ ก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาและทุกข์ ว่าเฉพาะสรรเสริญกับนินทา อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นใครต้องเจอ ทำดีแค่ไหนก็มีคนนินทา ทำชั่วแค่ไหนก็ยังมีคนสรรเสริญ ถ้าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็อาจจะสงสัยหรือว่ามีความท้อแท้ ว่าทำไมตัวเองทำดี ยังมีคนต่อว่านินทา ทำไมคนชั่วถึงได้รับการยกย่องสรรเสริญ อันนี้มันไม่เกี่ยวกับกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนโลกธรรมนี้เป็นเรื่องของค่านิยมสังคม คนทำความดีก็ย่อมได้รับผลแห่งกรรมดีอยู่แล้ว คนทำชั่วก็ย่อมได้รับผลแห่งกรรมชั่ว แต่ว่าคำสรรเสริญกับนินทานั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าทำดีคนที่ไม่เข้าใจก็มี อย่าว่าแต่เรา ๆ ท่าน ๆ เลย แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่าเป็นผู้ที่บริสุทธิ์หมดจด เรียกว่าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยพระวิสุทธิคุณ วิสุทธิก็คือ บริสุทธิ์ ไม่เคยพูดร้ายทำร้ายใคร ก็ยังถูกนินทา และยังถึงกับถูกใส่ร้าย ใส่ร้ายชนิดว่าฆ่าคนเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงการมุ่งร้ายหมายเอาชีวิต อันนี้เราก็คงทราบดี เรื่องการใส่ร้ายนี้ พวกเราอาจจะเคยได้ฟังเรื่องราวของพระพุทธองค์ สมัยที่เสด็จอยู่ที่เชตวัน ก็มีพวกปริพาชกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจพระองค์ ก็หาทางโค่นล้มทำลาย เพราะว่าพระองค์สอนขัดผลประโยชน์ของเขา และสวนทางกับทิฐิความเห็นของตน
บางทีนักบวชก็อาจจะไม่ได้มีความโลภในผลประโยชน์ แต่ก็อาจจะทะเลาะกันหรือว่ามุ่งร้ายกัน เพราะว่ามีทิฐิความเห็นต่างกันก็ได้ ทิฐิความเห็นที่ต่างกันก็สามารถทำให้คนฆ่ากันได้ ไม่ต้องความเห็นทางการเมืองหรอก แม้แต่ความเห็นทางศาสนา ศาสนาเดียวกันคนละนิกายก็ทำร้ายกัน ปริพาชกเหล่านี้ก็มุ่งหมายทำร้ายพระพุทธเจ้า ก็ไปรู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งหน้าตาสะสวย ชื่อนางสุนทรี นางสุนทรีก็คงจะเป็นลูกศิษย์ในสำนักของปริพาชกกลุ่มนี้ด้วย ปริพาชกกลุ่มนี้ก็ชักชวนให้นางสุนทรีทำตามแผนของตน คือสร้างความเข้าใจผิดว่ามีสัมพันธ์ทางเพศกับพระพุทธเจ้า คล้าย ๆ กับเรื่องราวของนางจิญจมาณวิกา แต่ว่าลงเอยไม่เหมือนกัน ตอนเย็นนางสุนทรีก็จะเดินออกจากเมืองสาวัตถี เวลาคนถามว่าไปไหนก็จะบอกว่า จะไปเชตวัน จะไปหาพระพุทธเจ้า แต่ที่จริงตัวเองก็ไปพักอยู่ในสำนักของปริพาชกที่อยู่ใกล้ ๆ กับเชตวัน พอสว่างตัวเองก็เดินเข้าเมือง คนถามว่ามาจากไหน ตัวเองก็บอกว่ามาจากสำนักของพระพุทธเจ้าที่เชตวัน ทำแบบนี้หลายครั้ง ชวนให้คนเข้าใจว่าเธอไปค้างคืนที่เชตวัน เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน จนกระทั่งเป็นที่ร่ำลือกัน
แล้ววันหนึ่งเธอก็ถูกฆ่า พวกปริพาชกฆ่าเธอ โหดร้ายมาก หลอกเธอให้ไปทำตามแผนแล้วก็ฆ่า เอาศพไปฝังไว้ใกล้ ๆ กับคันธกุฏิของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ในเชตวัน แต่ใกล้ ๆ เสร็จแล้วก็แกล้งโจษจันว่านางสุนทรีหายไปไหน เมื่อเป็นข่าวก็แกล้งทำทีว่าพบศพของนางสุนทรีอยู่ใกล้ ๆ กับคันธกุฏิของพระพุทธเจ้า แล้วก็ปล่อยข่าวลือว่าพระพุทธเจ้าลักลอบเสพสมกับนางสุนทรีแล้วก็ฆ่าปิดปาก มีศพเป็นหลักฐาน และมีหลักฐานแวดล้อม ซึ่งทำให้ชาวบ้านเชื่อกัน พระพุทธเจ้าอยู่ที่เชตวัน จำพรรษา 20 พรรษาได้ คนในกรุงสาวัตถีก็รู้จักพระองค์ดี แต่พอมีการกระพือข่าวลือว่าพระองค์ลอบฆ่าผู้หญิงหลังจากที่เสพสมแล้ว และคนในกรุงสาวัตถีก็เชื่อ พากันก่นด่า ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้า ก็ประณามพระสาวกของพระองค์ จนกระทั่งต้องงดบิณฑบาต บิณฑบาตไม่ได้ ผู้คนนี้หูเบามาก ทั้งที่พระองค์ก็สอนชาวสาวัตถีมาเป็นเวลาหลายปี
อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ผู้คนนบางครั้งก็หูเบามาก ขนาดพระพุทธเจ้าทำความดีให้กับเขามานาน ไม่มีอะไรด่างพร้อย พอมีเรื่องอย่างนี้ ข่าวแบบนี้คนก็เชื่อกัน อันนี้ก็เรียกว่าไม่ได้ทำตามหลักกาลามสูตร เชื่อเพียงเพราะว่าเสียงเล่าลือปากต่อปาก อันนี้เสียงเล่าลือกันมากมายขนาดนี้ ทำท่าจะไม่ดีแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้กล่าวแก้อะไรเลย ปล่อยให้เสียงร่ำลือแพร่สะพัด นอกจากพระองค์จะไม่กล่าวแก้อธิบาย ก็ยังเสด็จอยู่ที่เชตวันไม่ไปไหน พระอานนท์ก็ขอร้องว่าอย่าอยู่ที่เชตวันเลย เสด็จไปที่อื่นดีกว่า เพราะประชาชนไม่ต้อนรับแล้ว พระองค์ก็ปฏิเสธ แล้วพูดกับพระอานนท์ว่า ถ้ามีคนกล่าวหาหรือเข้าใจผิดแล้วเราต้องหนี อย่างนี้เราก็ต้องหนีเรื่อยไปสิ เพราะว่าไปที่ไหนก็ต้องมีคนเข้าใจผิด ก็ต้องมีคนกล่าวหา พระองค์ก็ยืนยันที่จะเสด็จอยู่ที่เชตวัน แล้วก็ตรัสว่าปัญหาอยู่ที่ไหนก็ต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่หนี แต่พระอานนท์สงสัยว่า พระองค์ในเมื่อไม่ได้ทำผิดอย่างที่เขาว่าแล้วทำไมไม่อธิบาย ทำไมไม่แก้ ปรากฏว่าในเวลาหลังจากผ่านไปเจ็ดวันความจริงก็ปรากฏ เพราะว่าโจรที่ไปฆ่านางสุนทรี ซึ่งมีกันหลายคนเกิดทะเลาะกัน กินเหล้าแล้วก็ทะเลาะกัน แล้วมีการพูดหลุดปากว่าเป็นคนลงมือฆ่านางสุนทรีตามแผนของพวกปริพาชก สายลับที่พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งไปได้ยิน ก็มาเล่าให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟัง พระองค์ก็เลยเรียก สั่งจับคนกลุ่มนั้นแล้วก็มาเค้นเอาความจริง ในที่สุดความจริงก็เปิดเผย พอความจริงถูกเปิดเผย คนสาวัตถีต่างก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ สรรเสริญพระพุทธเจ้าเป็นการใหญ่ ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นอันว่าเรื่องนี้ก็จบลง
แต่ว่าประเด็นที่น่าคิด อย่างที่อาตมาได้พูดเกริ่นเอาไว้ก็คือ ทำไมพระองค์ไม่แก้ต่าง ไม่อธิบาย ธรรมดาเวลาเราถูกใส่ร้ายขนาดนี้ก็ต้องอธิบาย จะไม่ยอมปล่อยให้คนพูดจาใส่ร้ายหรือเข้าใจผิด ในด้านหนึ่งคงเพราะพระองค์ทรงมีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ใครเขาจะด่าใครเขาจะว่าอะไร พระองค์ก็เฉยไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร คงทรงเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่คิดว่ามีเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ พระองค์คงตระหนักว่าในภาวะเช่นนั้นพูดไปก็คงไม่มีใครฟัง คนเชื่อแล้วและก็เชื่อด้วยความมีอารมณ์โกรธแค้น มีอารมณ์เกลียดชัง จะพูดอะไรไปคนก็ไม่ฟังหรอก ไม่มีประโยชน์ สู้เงียบเสียจะดีกว่า
เรื่องนี้ก็คล้ายกับเรื่องที่อาจารย์สุรินทร์เคยยกมาเล่า เรื่องของท่านฮาคุอิน ท่านฮาคุอินเป็นพระญี่ปุ่นสมัย สามสี่ร้อยปีที่แล้ว มีคราวหนึ่งสาวชาวบ้านเกิดท้องขึ้นมา แม่ก็พยายามซักถาม พยายามรีดเค้นหาความจริง เธอทนไม่ไหวก็เลยพูดว่าท้องกับท่านฮาคุอิน พ่อแม่โกรธมาก ตรงไปด่าท่านฮาคุอินเลย ด่าเสีย ๆ หาย ๆ ด่าว่าเป็นพระทุศีล ทำท้องแล้วไม่รับ ว่าสารพัด ด่าเสีย ๆ หาย ๆ เลย ท่านก็ฟังเฉย ๆ แล้วก็พูดแต่เพียงแค่ว่า อ๋ออย่างนั้นเหรอ เมื่อเวลาหลังจากผ่านไปไม่กี่เดือน หญิงสาวคลอดลูก พ่อแม่ของหญิงสาวก็เอาเด็กมาให้ท่านฮาคุอินเลี้ยง ท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านก็เลี้ยงดูเด็ก ทั้งที่เลี้ยงไม่เป็น ต้องดูแลหานมมาให้ ต้องหาผ้าอ้อมมา ใช้เวลาไม่น้อยไปกับเด็กคนนี้ แล้วท่านก็ไม่ปริปากบ่นอะไร พอผ่านไปคงเป็นเดือน จนกระทั่งแม่ของเด็กรู้สึกผิดที่ไปกล่าวโทษท่านฮาคุอิน ก็เลยยอมรับ เปิดเผยกับพ่อแม่ว่าจริง ๆ แล้ว พ่อของเด็กก็คือหนุ่มข้างบ้านนั่นแหละ พอพ่อแม่รู้ความจริงก็ตกใจ เพราะว่าไปด่าท่านฮาคุอินเสีย ๆ หาย ๆ ตั้งเยอะแยะ แล้วท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไรเลย พอความจริงปรากฏก็ตรงไปที่วัดไปขอโทษ แล้วก็ชมท่านฮาคุอินว่าท่านเป็นพระที่ดีมาก ถูกด่ายังไงก็ไม่หวั่นไหว ยอมที่จะดูแลเลี้ยงดูเด็กทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้ทำผิดอะไร นับว่าเสียสละอย่างยิ่ง เป็นพระที่ประเสริฐมาก ชมท่านใหญ่เลย ท่านฮาคุอินก็พูดสั้น ๆ ว่า อ๋ออย่างนั้นเหรอ แล้วสุดท้ายเรื่องนี้ก็จบ
เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นคง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมของท่านฮาคุอิน ใครเขาด่าก็เฉย ก็พูดเพียงแค่ว่าอ๋ออย่างนั้นเหรอ ไม่ได้โกรธแค้นอะไร พอถึงคราวที่เขาชมก็ไม่ได้ปลาบปลื้มหลงใหล ก็พูดแค่เพียงว่าอย่างนั้นเหรอ แต่ก็มีประเด็นให้น่าคิดว่า ทำไมท่านไม่ปฏิเสธ ในเมื่อท่านไม่ได้ทำอย่างที่เขากล่าวหา ทำไมไม่กล่าว ไม่อธิบาย ไม่พูด ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกับที่พระพุทธเจ้านิ่งเงียบ ก็คือท่านฮาคุอินเห็นว่าคนที่โกรธ คนที่มีความคิดแบบนั้น พูดไปก็ไม่มีประโยชน์ อธิบายไปเค้าก็ไม่ฟังเพราะว่าใจมันปิดแล้ว ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี มันปิดบังจิตใจ ทำให้ไม่ยอมรับเหตุผล ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นความจริงก็ตาม
อันนี้ก็เป็นแง่คิดให้กับพวกเราว่าเวลาคนเขามีความโกรธ มีความเกลียด หรือว่ามีความเข้าใจผิด ชนิดที่เรียกว่า ลุ่มหลงไปกับความคิดแบบนั้น การพูดการอธิบายหรือการชี้แจงด้วยเหตุด้วยผลหลายครั้งก็ไม่มีประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้าใจ พยายามอธิบาย พยามยามพูด ยิ่งพูดยิ่งอธิบายก็ยิ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ เกิดความโกรธแค้นมากขึ้น บางครั้งการพูดการชี้แจงกลับเป็นผลเสีย การนิ่งกลับเป็นผลดีกว่า แต่ธรรมดาคนเรามันทนไม่ได้ พอมีใครว่าร้ายเรา หรือแม้แต่เข้าใจผิด ไม่ต้องใส่ร้ายหรอก แค่นินทาหรือเข้าใจผิดเราก็อดรนทนไม่ได้แล้ว อันนี้มันเป็นเพราะอัตตา อัตตาในใจเราที่มันปรารถนาจะให้คนยอมรับ อยากจะให้คนชื่นชม ความปรารถนาการยอมรับของผู้คนทำให้เราทนไม่ได้ เวลาคนเข้าใจเราผิด ก็พยายามชี้แจงให้ได้ แต่ลืมไปว่าคนเราไม่ว่าจะดีแค่ไหน มันก็ต้องมีคนนินทา ต้องมีคนเข้าใจผิดวันยังค่ำ
บางทีการที่เราจะอยู่อย่างมีความสุขได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความเข้าใจผิดโดยที่ใจไม่ทุกข์ เพราะว่าในโลกนี้มันไม่มีทุกคนหรอกที่จะเข้าใจเราถูก ถ้าจะดิ้นรนอยากจะให้คนเข้าใจเราถูกก็คงจะเหนื่อย ก็ต้องไปชี้แจง อธิบาย ซึ่งยังไงก็ทำได้ไม่ทั่วถึง ต้องยอมรับความจริงว่าต้องมีคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่ไม่มีทางที่จะเข้าใจเราได้ การที่เราจะยอมรับแบบนี้และยอมอยู่แบบไม่มีคนเข้าใจเราได้ก็เป็นการฝึกเหมือนกัน เป็นการฝึกทั้งขันติ เป็นการฝึกทั้งสติ เป็นการฝึกทั้งการปล่อยวาง ไม่ติดในตัวตน เพราะอัตตาหรือตัวตนมันจะดิ้นรนทนไม่ไหว ถ้ามันรู้ว่ามีคนเข้าใจผิด ถ้ามันรู้ว่ามีคนนินทาว่าร้าย มันจะทนไม่ได้ มันจะต้องพยายามที่จะพูด พยายามชี้แจง เพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่น ซึ่งในความจริงมันเป็นไปไม่ได้ มันก็ต้องมีคนที่มองเราในทางลบหรือไม่เข้าใจเราอยู่วันยังค่ำ
พระพุทธเจ้าพระองค์เข้าใจเรื่องนี้ดี ก็เลยนอกจากจะไม่หวั่นไหวกับเสียงใส่ร้ายนินทา แล้วก็ยังมีความอดทนพอที่จะไม่พูดอะไร รอให้คนค่อย ๆ ใจสงบลง หรือมิฉะนั้นก็รอให้ความจริงปรากฏ ท่านฮาคุอินก็เช่นเดียวกัน ท่านรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าคนเราพอมีความยึดติดถือมั่นในความคิด หรือจมอยู่ในอารมณ์แล้วพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ ต้องรอ อันนี้ก็เป็นข้อคิดที่นำมาใช้กับชีวิตของเราได้ เพราะบ่อยครั้งผู้คนก็ต่างมัวแต่ทุ่มเถียง พยายามที่จะอธิบาย พยายามที่จะชี้แจง บางทีมันเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด แต่ว่าพอต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะยืนยันว่าตัวเองถูก ก็ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ยิ่งชี้แจงก็กลายเป็นยิ่งพยายามเอาชนะ อีกฝ่ายก็ยิ่งพยายามที่จะตอบโต้ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าแตกร้าวกันหนักขึ้น
หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยพูดไว้น่าสนใจว่า เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่าพยายามใช้เหตุผลอย่าใช้เหตุผลเด็ดขาดเลย ให้ใช้อารมณ์ ให้วางเหตุผลลงแล้วก็ให้อารมณ์มันลอยขึ้นมา ได้แก่ อารมณ์รัก ซึ่งจะช่วย ความรักที่มีต่อกันมันช่วยแก้ปัญหาได้ บ่อยครั้งพอความเห็นไม่ตรงกันหรือเข้าใจผิดก็พยายามอธิบาย แต่การที่อธิบายนี้มันเป็นการพยายามจะเอาชนะ และพอใช้เหตุผล ไม่ใช่ใช้เหตุผลเพื่อยืนยันว่าตัวเองถูก แต่มันจะเป็นการใช้เหตุผลเพื่อไปกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าแกผิด เวลาเถียงกันแม้จะใช้เหตุผล เหตุผลหนึ่งมันกลายเป็นการปกป้องตัวเองแล้วก็กล่าวหาคนอื่น ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ แล้วก็ยิ่งต้องทิ่มแทงด้วยคำพูดที่รุนแรงมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อคำเขียน เวลาที่พระทะเลาะกัน ถึงกับต่อยตีกัน ท่านถึงบอกว่าอย่าไปเอาผิดเอาถูก ให้นึกถึงว่าเออเราจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร การคิดหาทางออกจากความขัดแย้งมันทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า win win แต่คนส่วนใหญ่เวลาทะเลาะกัน มันจะคิดแต่จะเอาถูกเอาผิด กูถูก มึงผิด ใช้เหตุผลเพื่อยืนยันว่ากูถูก มึงผิด อีกฝ่ายหนึ่งก็ กูน่ะถูก มึงน่ะผิด ก็ยิ่งโกรธกันมากขึ้น ฉะนั้นการที่หยุดถกเถียงกัน และก็พยายามที่จะเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง เข้าใจความเจ็บปวดของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือแม้แต่เพียงแค่นิ่ง ๆ ดูใจตัวเองมันช่วยได้ดีกว่า ขึ้นชื่อว่าความโกรธ ความเกลียดแล้วนี้ มันดื้อด้าน ถ้ามันอยู่ในคลองจิตคลองใจใคร เราพูดอะไรไปก็ไม่ฟังหรอก การอยู่เฉย ๆ อยู่นิ่ง ๆ อาจจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะบางทีพออยู่เฉย ๆ อยู่นิ่ง ๆ แล้ว ความโกรธจะค่อย ๆ ลดลง พอเราไม่โต้แย้ง อีกฝ่ายหนึ่งที่โกรธก็จะค่อย ๆ เริ่มอารมณ์สงบเย็นลง ตรงกันข้ามยิ่งเราพูด ยิ่งเราชี้แจง เขายิ่งหาว่าเราแก้ตัว ยิ่งอธิบายเขาก็ยิ่งโกรธมากขึ้น เพราะว่าทุกคนก็อยากจะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายถูก พออีกฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะพูดว่าเราผิด ก็ไม่ยอม กลายเป็นโกรธไม่พอใจ อันนี้เป็นเรื่องของอัตตาล้วน ๆ ฉะนั้นการอยู่นิ่ง ๆ การเฉย การสงบ ในยามที่ผู้คนโกรธแค้น เพราะความเข้าใจผิดก็ดี หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นวิธีที่มักจะได้ผลดีกว่า
ที่จริงอย่าว่าแต่ความโกรธของคนอื่นเลย ความโกรธในใจเราก็เหมือนกัน สิ่งที่เราควรทำก็คือไม่ใช่ไปสู้รบตบมือกับความโกรธที่มันเกิดขึ้นในใจ แต่เพียงแค่เราอยู่เฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ ก็ช่วยได้เยอะ ที่หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนว่าให้รู้ซื่อ ๆ รู้ซื่อ ๆ ก็หมายถึงรวมแม้กระทั่งว่าเวลามีความโกรธเกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่ว่าแค่ความฟุ้งซ่านแล้ว พอมันเกิดความโกรธความหงุดหงิด อย่าไปต่อล้อต่อเถียง อย่าไปสู้รบตบมือกับมัน อย่าไปพยายามเอาชนะมัน หลายคนพอปฏิบัติธรรมแล้วอยากให้ตัวเองสงบ พอมันมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นในใจ ก็ทนไม่ไหวอยากจะไปกดข่มมัน ซึ่งอันนั้นก็ยิ่งทำให้เสียท่าให้กับอารมณ์เหล่านั้นมากขึ้น ทำให้ความโกรธมันมีอายุยืนยาวมากขึ้น
คนส่วนใหญ่เวลาจะไปต่อสู้กับความโกรธกลับเป็นการต่ออายุให้มัน วิธีที่ดีกว่าคืออยู่เฉย ๆ ดูมันเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับมัน แค่วางใจเป็นอุเบกขา ความโกรธนั้นก็จะค่อย ๆ สงบลง ความหงุดหงิดนั้นก็จะค่อย ๆ สงบลง ความฟุ้งซ่านก็จะค่อย ๆ ซาลงไป การเฉยอย่างมีสติมันเป็นวิธีการที่ใช้ได้ดี ในการรับมือกับความโกรธของคนอื่น รวมทั้งความโกรธที่เกิดขึ้นในใจเราด้วย แต่ส่วนใหญ่คนเราเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้มันจะอยู่เฉยไม่ได้ มันจะมีปฏิกิริยา ถ้าคนอื่นเขาด่าเรา เราก็ต้องด่าตอบ หรือถึงแม้ไม่ด่าตอบก็ต้องพยายามชี้แจง พยายามเปลี่ยนความคิดเขาให้ได้ การพยายามเปลี่ยนความคิดก็คือการเอาชนะอย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั่วไปก็ไม่ยอมเพราะทุกคนก็มักจะมีอัตตา โดยเฉพาะเวลาโกรธอัตตามันจะเข้ามาครอบงำใจ จนกระทั่งไม่คิดจะแพ้ ไม่ยอมแพ้ ก็จะหาทางเถียง หาทางสู้ ลองทำใจให้สงบ แล้วก็ลองถือว่ามันเป็นการฝึกใจเรา ฝึกทั้งขันติความอดทน ฝึกทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเข้าใจผิด เพราะว่าอันนี้คือ ธรรมดาของชีวิต ไม่ว่าเราจะดีแค่ไหนก็ต้องมีคนเห็นว่าเราไม่ดี ไม่ว่าเราจะสวยแค่ไหน หล่อแค่ไหนก็ต้องมีคนหาว่าเรา หรือว่ามองว่าเราไม่สวย ไม่หล่อ ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหนก็ต้องมีคนที่มองว่าเราไม่เก่ง บกพร่อง ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหนก็ยังมีคนหาว่าเราทำไม่ถูก
ฉะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ เราก็จะไปอดรนทนไม่ได้ ต้องไปดิ้นรน พยายามชี้แจง พยายามอธิบาย พยายามสร้างภาพ หรือว่าปรับความเข้าใจของเขาให้เข้าใจถูก ซึ่งในบางกรณียิ่งทำไปก็ยิ่งเกิดความเสียหาย จริงอยู่การชี้แจงการอธิบายมันก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ว่าก็ต้องรู้จังหวะ ในบางช่วงก็ต้องเงียบไว้ อย่างพระพุทธเจ้าหรืออย่างท่านฮาคุอิน ท่านรู้จักธรรมชาติมนุษย์ดีก็เลยคิดว่าเงียบดีกว่า หรืออย่างมากก็เพียงแค่พูดเพียงแค่ว่า อ๋ออย่างนั้นเหรอ พูดมากไปกว่านั้นเขาจะโกรธ เขาจะด่า เขาจะยิ่งคับแค้นใจมากขึ้น หรือยิ่งเป็นศัตรูมากขึ้น ฉะนั้นการอยู่เฉย ๆ การรู้ซื่อ ๆ มันเป็นวิธีการที่เราต้องฝึกต้องรู้จักเอามาใช้ แล้วมันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างดีด้วย