แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ในสมัยพุทธกาล มีผู้หญิงคนหนึ่งรับเอาคนที่ชื่อว่า ปาฏิกะ คนนี้เป็นอาชีวกหรืออาชีวกะ เป็นคล้าย ๆ นักบวชชนิดหนึ่ง สมัยพุทธกาลก็มีนักบวชหลายชนิดหลายแบบ มีปริพาชก มีอาชีวก พวกนี้ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไป พวกอาชีวก หรือพวกปริพาชก พวกนี้เขาอยู่บ้าน อย่างปาฏิกะก็อยู่บ้านอยู่เรือน ตัวผู้หญิงคนนี้ก็รักอาชีวกหรือปาฏิกะเหมือนลูก ก็ดูแลเลี้ยงดูมาจนโต จนอาชีวกเป็นหนุ่ม วันหนึ่งตัวผู้หญิงได้ข่าว ได้ฟังกิตติศัพท์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ก็อยากจะไปฟังธรรม แต่ว่าลูกเลี้ยงคือปาฏิกะก็ขัดขวาง คอยต่อว่าค่อนแคะพระพุทธเจ้า ก็ทำให้เธอไม่สามารถจะออกจากบ้านไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าได้ แล้ววันหนึ่งก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นนิมนต์พระพุทธเจ้ามาที่บ้านดีกว่า นิมนต์มาฉันอาหารแล้วก็จะได้ฟังธรรม อาชีวกพอรู้ก็พยายามหาทางขัดขวางเหมือนเดิม ไม่ให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่บ้าน หลอกล่อต่าง ๆ แต่สุดท้ายพระองค์ก็มาถึง อาชีวกไม่พอใจ ก็ด่าว่านาง แล้วก็หนีออกจากบ้านไป ระหว่างที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม นางก็นึกถึงแต่คำต่อว่าของปาฏิกะ พระพุทธเจ้าพูดอะไรไปก็คงฟังไม่รู้เรื่อง จนกระทั่งพระพุทธเจ้าต้องพูดเตือนสติว่า ใครจะว่าอะไรก็อย่าไปสนใจ ให้สนใจแต่ว่า อะไรบ้างที่เราควรทำ อะไรบ้างที่เรายังไม่ได้ทำ ก็ทำให้นางได้สติ ก็หันมาสนใจฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ทำให้ได้รู้ธรรม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอนใจพวกเราได้มาก เพราะว่าบางครั้งแม้ว่าจะมีธรรมะมาแสดงให้เราเห็นหรือว่าได้ยิน แต่ว่าใจมันก็ไปนึกถึงเรื่องอื่น ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่มงคลเท่าไร ไม่ได้ทำให้สุขสบายใจเท่าไร ได้รับฟัง ได้ยินของดี ๆ ต่อหน้าต่อหน้าแล้ว แต่ว่าก็กลับไปเอาสิ่งที่มันจะเรียกว่าขยะก็ได้ เอามารบกวนจิตใจ จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่เวลาฟังธรรม จะโดยใครก็ตาม แม้กระทั่งเวลาเราสวดมนต์ สิ่งที่เราสาธยายหรือว่าสิ่งที่คนอื่นสาธยายให้เราฟัง ทุกเช้าทุกเย็นมันก็ล้วนแต่เป็นของดีของประเสริฐทั้งนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้เรารู้จักมีศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม หรือว่าเกิดปัญญา แต่บ่อยครั้งเราก็ไม่ได้รับรู้ ไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังสาธยายอะไร สิ่งที่เพื่อนสาธยายเข้าหูเรา ก็เรียกว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เพราะว่าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วสิ่งที่คิดมันก็ทำให้เราเกิดความกังวล หรือความวิตกก็บ่อยครั้งไป หรือรวมทั้งเกิดความไม่พอใจ อาจจะไม่ใช่เป็นคำต่อว่าด่าทอของใคร อาจจะไม่ใช่เป็นการกระทำที่รบกวนจิตใจหรือที่เราไม่ชอบอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องอื่นที่เรารักเราห่วงใย หรือรวมทั้งงานการที่ยังค้างคาอยู่ พวกนี้มันทำให้ใจเราไม่ว่างพอที่จะเปิดรับสิ่งดี ๆ ได้ ก็เสียโอกาส
การที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนนาง อันนี้มันก็ช่วยเตือนสตินางได้ คือ พูดง่าย ๆ คือพระองค์สอนนางว่าอย่าไปแคร์ อย่าไปสนใจคำพูดของเขา ให้เรามาสำรวจตัวดีกว่าว่าเราปฏิบัติตัวดีแล้วหรือยัง อะไรที่ควรทำ เราทำหรือยัง อะไรที่ยังไม่ได้ทำ ถ้าเราสำรวจตัวเองดีแล้วอันนี้มันมีประโยชน์กว่า คนเรานี้ก็มักจะฟัง มักจะแคร์ ความเห็น คำพูดของผู้อื่น ใครเขาพูดอะไร ถ้าพูดไม่ดีกับเรา จิตใจเราก็หวั่นไหวเป็นทุกข์ ก็ต้องพยายามทำให้เขาพอใจ เดี๋ยวนี้ก็เป็นอันมากทีเดียว พยายามพูดพยายามโพสต์เพื่อให้คนอื่นเขามากดไลค์หรือแชร์ต่อไป เวลาโพสต์ข้อความแล้วคนไม่กดไลค์ก็รู้สึกจิตใจหวั่นไหว เกิดความกังวลหรือเกิดความวิตกปรุงแต่งฟุ้งว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาไม่กดไลค์ เขาไม่พอใจเราหรือเปล่า อันนี้เดี๋ยวนี้ก็เป็นกันมากขึ้น เขาไม่กดไลค์เพราะอะไร เขาไม่พอใจเราไหม เราทำอะไรไม่ถูกหรือเปล่า พอคิดแบบนี้เข้าก็กังวล กังวลเสร็จแล้วถึงแม้จะทำอะไรมันก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว แม้จะฟังธรรม ธรรมก็ไม่เข้าหัว แม้จะสวดมนต์ บทสวดมันก็สักแต่ว่าไป แต่ว่าจิตใจไม่ได้ซึมซับหรือนำไปไตร่ตรองเลย
อันนี้เป็นธรรมชาติของอัตตา ธรรมชาติของอัตตามันก็ต้องการการยอมรับ ต้องการคนชื่นชมสรรเสริญ เวลาคนชื่นชมสรรเสริญอัตตามันก็ฟูฟ่อง แต่เวลาคนเขาตำหนิ อัตตามันก็ฝ่อ หรืออย่าว่าแต่ตำหนิเลย เพียงแค่ไม่ชมอัตตามันก็ฝ่อแล้ว เกิดความทุกข์ เกิดความไม่สบายใจ เกิดความระแวงสงสัยว่าฉันทำอะไรผิดหรือเปล่า หรือไม่เช่นนั้นก็ไปอีกทางหนึ่งคือ ก็ไปโกรธไปว่าเขา แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้เราปล่อยวางเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้นก็คือ การมาสำรวจตัวเราว่า เราทำถูกแล้วหรือยัง สิ่งที่เราทำมันดีพอแล้วหรือยัง ถ้าเราทำถูกหรือว่าทำดีพอแล้ว ใครเขาก็ว่าอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจ อันนี้แหละคือ สิ่งที่พระพุทธเจ้ากำลังจะบอกนางว่า ใครเขาจะพูดยังไงอย่าไปสนใจ ให้เรามาสำรวจตัวเรา
อันนี้มันก็เป็นข้อคิดที่สามารถจะช่วยผู้คนต่าง ๆ ได้มาก คนเราถ้าหากว่าเราได้สำรวจตัวเราเองแล้วเรามั่นใจว่าเราทำดีทำถูก หรือว่าเราได้ทำในสิ่งที่สมควรแล้ว มันก็จะเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเอง เดี๋ยวนี้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า เพราะว่าถูกคนอื่นปฏิเสธ เพื่อน ๆ ไม่คบหรือว่าแฟนทิ้ง เพื่อนไม่มาคลุกคลีตีโมง เพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ไปกินเหล้าเมายาเหมือนเขา หรือไม่เราก็ไม่ไปเที่ยวไร้สาระเหมือนเขา ดังนั้นถ้าหากว่ามองแบบนี้ว่า สิ่งที่เราทำมันก็ถูกแล้ว ไม่ได้ไปกินเหล้า ไม่ได้ไปเสพยาเหมือนคนอื่น เขาไม่คบก็จะเป็นอะไรไป แต่วัยรุ่นสมัยนี้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ติดยากันมากมายก็เพราะว่าต้องการการยอมรับจากผู้อื่น กลัวเพื่อนไม่คบ
อย่างที่ได้ไปคุยกับนักโทษที่ติดคุกเพราะข้อหาเสพยา อายุ 21 ปี นักโทษเขาก็ยอมรับว่าจริง ๆ เขาไม่ได้ถึงกับติดเท่าไร เวลาอยู่ที่บ้านมันก็ไม่ได้อยากยาอะไรเลย อยู่กับพ่อกับแม่ ก็ไม่ได้มีความรู้สึกอยากจะเสพยา มันไม่ได้คิดถึงเลยด้วยซ้ำ แต่พออยู่กับเพื่อน แล้วถ้ามียาเม็ดหนึ่งอยู่ต่อหน้ามันห้ามใจไม่ได้เลย จะยังไงก็ได้จะขอเสพ ความอยากมันเกิดขึ้นทันที มันเป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของกายภาพเลย เพราะอะไร ก็ต้องการการยอมรับ เขาบอกว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งถามว่า ขอเหตุผลข้อเดียว หรือคำ ๆ เดียวเท่านั้นว่าทำไมถึงเสพยา เขาบอกมันเท่ แล้วก็ขยายความว่ามันเป็นที่ยอมรับ คนเดี๋ยวนี้ต้องการการยอมรับจากคนรอบข้างมากโดยเฉพาะวัยรุ่น อันนี้มันก็เป็นนิสัยของเขาด้วย เป็นธรรมชาติของคนวัยนี้ ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็คือ กลัวการถูกปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ตัวเองทำมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย เราก็ทำดีอยู่แล้ว ไม่ได้เสพยา ไม่ได้กินเหล้า ไม่ยกพวกไปตีใคร แต่คนรู้สึกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เพื่อนไม่คบ จะให้เพื่อนคบก็ต้องไปกินเหล้า ไปเสพยา หรือว่ายกพวกไปตีกัน บางทีก็ไปรุมโทรมผู้หญิง อันนี้เรียกว่ากล้าทำชั่ว กลัวทำดี เวลาเพื่อน ๆ จะชวนกันไปรุมโทรมหรือกำลังรุมโทรม ตัวเองเห็นรู้ว่ามันไม่ดี น่าจะช่วยแต่ไม่กล้า ไม่กล้าช่วย
อย่าว่าแต่ในสถานการณ์ที่คับขันเลย บางทีไปกับเพื่อน นั่งอยู่ในรถเมล์หรือว่ารถไฟฟ้า มีคนแก่ มีผู้หญิงท้องขึ้นมา ก็ต้องยืน ไม่มีที่นั่ง ชายหนุ่มคนนี้บางทีไม่กล้าลุกให้ที่นั่ง กลัวเพื่อนว่า กลัวเพื่อนแซวว่าทำตัวเป็นนักบุญ การลุกให้คนแก่หรือผู้หญิงท้องนั่งมันเป็นความดี แต่เดี๋ยวนี้ก็กลัวกัน กลัวทำดี แต่กล้าทำชั่ว อันนี้เพราะต้องการการยอมรับ เพราะเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกติดกับคนอื่น คุณค่าของตัวเองมันอยู่ที่สายตาของคนอื่น แต่ถ้าเกิดว่าเราเห็นคุณค่าของตัวเราเอง การที่จะไปแคร์หรือปรารถนาการยอมรับจากคนอื่นมันก็น้อยลง และการที่เราจะเห็นคุณค่าของตัวเราเองได้ก็เกิดจากการที่เราตรวจสอบ พิจารณาตน เราทำดีพอหรือยัง อะไรที่เรายังไม่ได้ทำ อันนี้คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้านั้นได้สอนนาง ความหมายนี้มันรวม ๆ ก็คือ อย่าไปแคร์คนอื่น แต่ให้มาดูที่ตัวเราเอง
แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการสอน อีกความหมายหนึ่งก็คือว่าเวลาใครพูดอะไร ก็ให้อยู่กับเขา เปิดใจรับฟังเขา อย่าไปเอาเรื่องอื่นเอามารกหัว ผู้หญิงคนนี้จะว่าไป ใจก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน พระพุทธเจ้าอยู่ต่อหน้าแสดงธรรม นางก็ไม่ได้ยิน ไม่ใส่ใจ หรือว่าฟังไม่รู้เรื่อง เพราะว่าใจมันไปอยู่กับอดีตก็คือ คำพูด คำต่อว่าของลูกเลี้ยง เขาก็ต่อว่าผ่านไปสิบนาทีแล้ว อาจจะครึ่งชั่วโมงที่แล้ว แต่ก็ยังเก็บเอามาคิดก็เลยไม่รู้ ไม่ได้รับรู้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าเขาพูดอะไร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากเหมือนกัน หลายคนเวลาอยู่กับลูก ใจไม่ได้อยู่กับลูก มันนึกถึงงาน เมื่อตอนบ่าย เมื่อตอนเย็น นึกถึงคำพูดของผู้ร่วมงานเขาพูดแซวพูดล้อ อันนี้ก็ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็ทำให้ไม่ได้รับรู้ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ข้างหน้าเรา มันทำให้สิ่งดี ๆ ที่เราควรจะได้รับรู้มันก็ผ่านเลยไป
อย่างที่เคยเล่าว่าเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งไปผ่าตัดไส้เลื่อน คนคนนี้ปกติก็ทำงานเยอะมาก เป็นงานที่ใช้ความคิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับโปรแกรมต่าง ๆ มีงานทำทั้งวัน และก็กลางคืนด้วย ขยันมาก แต่พอผ่าไส้เลื่อนมันก็ต้องหยุดงาน พักที่โรงพยาบาลซักสองวันแล้วก็ต้องกลับมานอนพักฟื้นที่บ้าน ขยับเขยื้อนอะไรก็ไม่ได้ ต้องนั่งเป็นหลัก งานการก็ต้องงด อยู่บ้านประมาณซักอาทิตย์หนึ่ง ประมาณซักวันที่สามวันที่สี่ก็มานั่งอยู่ริมระเบียง บ่ายแก่ ๆ ปรากฏว่าจู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงนกเขาร้อง ทีแรกมันก็ร้องตัวหนึ่งก่อน ตอนหลังก็ตัวที่สอง ตัวที่สามก็ร้องประสานเสียง แล้วก็มีนกชนิดอื่นมันร้องตาม ประสานเสียงเป็นเพลง พอฟังแล้วก็ไพเราะดื่มด่ำซาบซึ้งมากจนน้ำตารื้นเลย โอ้..นี้มันเพราะจริง ๆ แต่ซักพักก็ได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า เราอยู่บ้านนี้มาตั้งแต่ลูกยังเด็ก สองสามขวบ จนตอนนี้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ทำไมเพิ่งได้ยินเสียงนกร้อง มันเพิ่งร้องวันนี้หรือเปล่า ที่จริงมันไม่ได้เพิ่งร้องวันนี้ มันร้องมาทุกวัน มันร้องมาตลอด แต่เขาไม่ได้ยินเอง ไม่ได้ยินเพราะอะไร เพราะใจมันคิดถึงงานการ คิดนู้นคิดนี้ บางทีก็คิดถึงงานที่ผ่านไปแล้ว บางทีก็คิดถึงงานที่ยังไม่เสร็จ วางแผนงานที่ยังไม่ได้ทำ เขาก็เลยพูดว่า จริง ๆ ความสุขมันไม่ต้องไปหาที่ไหน ความสุขมันอยู่รอบตัว มันอยู่ข้างหน้าเรา มันอยู่รอบตัวเรานี้เอง อยู่กรุงเทพแท้ ๆ
อันนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่กรุงวอชิงตัน ที่สถานีรถไฟใต้ดิน เช้าวันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาสีไวโอลิน ตรงใกล้ ๆ ประตูของสถานีรถไฟใต้ดินวอชิงตัน ตอนนั้นเป็นช่วง Rush Hour เขาก็สีไวโอลินเป็นเพลงเพราะ ๆ หลายเพลง แต่ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งจะเรียกว่ามีเป็นพันก็ได้ เดินผ่านไม่ค่อยมีคนสนใจ บางช่วงก็มีเด็กกับแม่เดินผ่านมา เด็กได้ยินเสียงก็หยุดฟังแต่แม่ก็ลากเด็กไป ทุกคนดูรีบ ๆ กันทั้งนั้น ก็มีบางคนที่หยุดฟังประเดี๋ยวเดียวก็ไป น่าสังเกตว่ามีเด็กที่มากับแม่หรือพ่อจะสะดุดใจ หรือจะหยุดฟังนานกว่า แต่ก็ไม่นานเท่าไร พ่อหรือแม่ก็จูงมือลูกขึ้นรถไฟใต้ดิน เขาสีไวโอลินประมาณ 45 นาที มีคนหยุดฟังซักไม่ถึง 10 คน แล้วก็มีคนให้เงิน บางคนก็ฟังประเดี๋ยวเดียวแล้วก็ไป โยนเงินเสร็จแล้วก็ไป ได้เงินประมาณซัก 100 ดอลล่าร์ ประมาณทั้งหมด 45 นาที อาจจะไม่ถึงด้วยซ้ำ ปรากฏว่าคนที่ไปสีไวโอลินคนนี้ ชื่อโจชัว เบลล์เป็นนักสีไวโอลินที่มีชื่อมาก อันดับหนึ่งของโลก ไวโอลินที่เขาสี ราคาแพงมาก 3-4 ล้านดอลล่าร์ มันเป็นไวโอลินที่เก่ามาก เพลงที่เขาสีก็เป็นเพลงที่เพราะมาก เพลงของบาค (J.S.Bach) หกเจ็ดเพลงบรรเลงต่อ ๆ กัน ก่อนหน้านั้นเค้าไปแสดงสดที่นิวยอร์ค ตั๋วราคาแพงมากเป็น 100 ดอลล่าร์ อย่างต่ำก็ 100 ดอลล่าร์ มีคนซื้อมีคนจองหมดเลย คนฟังแน่นหอประชุม
แต่ว่าพอมาสีที่สถานีรถไฟ รถใต้ดินที่ดีซีนี้ ไม่มีคนสนใจเลย ทั้งที่สีให้ฟังฟรี ๆ เพลงเพราะแต่คนไม่รับรู้ เพราะอะไร เพราะว่ามันเร่งรีบ ใจมันคิดไปถึงข้างหน้า จะต้องรีบไปให้ทันรถ เดินผ่านได้ยินเสียงแต่ใจมันไม่รับรู้ถึงความไพเราะของเพลง เพราะว่าใจไม่ว่าง ใจไปคิดถึงงานการที่รออยู่ ใจไปคิดถึงรถที่ใกล้จะมาถึงสถานีแล้ว แต่ก็มีเด็กที่จะสามารถรับรู้ถึงความไพเราะของเพลงได้ อันนี้เขามีการแอบถ่ายวิดีโอไว้ เพราะเป็นการทดลองของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ เขาอยากจะทดลองดูว่าคนเวลามันเร่งรีบ จิตใจมันจะเปิดรับความไพเราะได้มากน้อยแค่ไหน ความไพเราะมันมีอยู่ แสดงให้เห็น แต่ว่าใจไม่รับรู้ เพราะใจไม่ว่าง คนเราไม่ว่าเราจะมีสิ่งสวยงามไพเราะแค่ไหนนั้น ถ้าใจไม่ว่างมันก็ไร้ประโยชน์
เมื่อวานนี้ก็มีโยมเข้ามาถ่ายทำวิดีโอ เขาอยากมาถ่ายทำเกี่ยวกับเรื่องป่า เรื่องการปลูกป่า เขาก็อยากจะเห็นต้นไม้ใหญ่ ๆ ในป่า ก็เลยพาเขาไปที่ต้นมะค่าแต้ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดในอิสาน เขาก็สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า อยู่ในป่านี้ได้ยินเสียงอะไร ก็บอกเขาไปว่าคนส่วนใหญ่ถ้ามาใหม่ ๆ นี้ มันได้ยินแต่เสียงในหัวตัวเอง เสียงนก เสียงลม เสียงกระรอกนี้ไม่ได้ยินหรอก เสียงในหัวตัวเองมันดังระงมเลย คนที่อยู่ป่า คนที่มาป่าใหม่ ๆ ที่จริงไม่ใช่เฉพาะในป่า เวลาอยู่ที่อื่นก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเวลาอยู่ในเมืองจิตมันไปสนใจจดจ่ออยู่ที่แสงสีเสียง ข้อมูลข่าวสาร มันก็เลยมีจุดสนใจ พอมีจุดสนใจมันก็เลยไม่ฟุ้งมาก มันมีสิ่งดึงดูดใจอยู่ตลอดเวลา แต่พอมาอยู่ป่า มันไม่ค่อยมีสิ่งดึงดูดใจเท่าไร ไม่มีหนัง ไม่มีเพลง ไม่มีข้อความ ไม่มีไลน์ ไม่มี เฟสบุ๊ค มันไม่มีจุดที่จิตจะไปจดจ่อ พอมันไม่มีอะไรจดจ่อสนใจ มันก็เลยฟุ้งจนกว่าจะค่อย ๆ คุ้นชินกับสภาพป่า จิตเริ่มค่อย ๆ เริ่มปรับตัวได้ หรือยิ่งได้รู้จักวิธีภาวนา เสียงในหัวก็จะค่อย ๆ หมดไป ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่าในหัวเรามันมีสถานีวิทยุที่ชื่อว่า non-stop station แล้วมันก็อยู่ในหัวคนมาก ส่งเสียงดังตลอดเวลาในหัวคน ซึ่งก็ทำให้คนเราไม่ค่อยรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวเท่าไหร่ เวลาคุยกับใครมันก็ไม่ค่อยได้ยินสิ่งที่เขาพูดเท่าไหร่เพราะว่ามันมีเสียงรบกวนในหัวอยู่
เสียงรบกวนในหัว ก็เช่นเสียงตำหนิเสียงนินทาของเพื่อน เสียงต่อว่าของเค้าหรือว่าเสียงบ่นในหัวตัวเอง อย่างนี้ก็ไม่ดี อย่างนั้นก็ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่เอา บางทีก็เป็นเสียงแห่งความวิตกกังวล มันก็ระงมอยู่ในหัว เพราะฉะนั้นเวลาอยู่กับใคร เขาพูดอะไรไปก็ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง เคยพาคนไปเดินจงกรม จากหน้าวัดไปเกือบถึงบ้านพ่อคำ แล้วก็กลับมาตอนเช้า ๆ อากาศกำลังดี พอเดินเสร็จก็ถามเขาหลายเรื่อง เรื่องประสบการณ์การปฏิบัติระหว่างที่เดิน ก็เลยบอกให้เขาให้เดินด้วยความรู้สึกตัว ให้มีสติอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ส่วนใหญ่ก็บอกว่าใจมันฟุ้ง ถามเขาว่าได้ยินเสียงจิ้งหรีดบ้างไหม หลายคนงง มีด้วยเหรอเสียงจิ้งหรีด จิ้งหรีดมันร้องระงมตลอดทางเลย แต่ว่ากว่าครึ่งไม่ได้ยิน ถามว่าทำไมไม่ได้ยิน ก็ได้คำตอบว่าใจคิดเรื่องงาน ใจห่วงบ้าน บางทีก็วางแผนเรื่องงานการต่าง ๆ คิดโครงการ เลยไม่ได้ยิน อันนี้ก็เหมือนกัน มันมีเสียงระงมอยู่ในหัว เสียงดัง เป็นความคิด เป็นความวิตกกังวล เรื่องราวที่วิตกกังวลในหัวเรามันมีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่มันผ่านไปแล้ว แล้วเก็บเอามาคิด โดยเฉพาะคำพูด คำพูดของคนที่มันไม่ถูกใจเรา หรือรวมทั้งความไม่พอใจของเราเองที่มีต่อสิ่งรอบตัว เสียงบ่น ถ้าไม่ใช่เสียงคนอื่นบ่นว่าเรา หรือเป็นเสียงเราที่บ่นคนนั้นคนนี้ จิตที่มันชอบเก็บรับเสียงบ่น รวมทั้งตัวเราเองก็ชอบบ่นเองด้วย มันก็ทำให้เราไม่สามารถจะอยู่กับปัจจุบันได้ ไม่สามารถที่จะรับรู้สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความจริง หรือว่าธรรมะ
เพราะเหตุนี้การมีสติจึงสำคัญมากในการที่จะทำให้เราได้รู้เท่าทันในอารมณ์ หรือว่าเสียงบ่นต่าง ๆ รวมทั้งเสียงที่มันระงมอยู่ในหัว ตัวนี้ที่มันทำให้จิตของคนเราไม่สงบสักที และทำให้เราไม่สามารถอยู่กับใครได้ด้วยใจเต็มร้อย แล้วก็ทำให้ความสุขต่าง ๆ ที่มันอยู่ข้างหน้าเรา เราไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้อง เสียงสีไวโอลีน เสียงดนตรีของศิลปินที่มีชื่อสารพัด รวมทั้งธรรมะที่ผู้คนได้แสดง อย่างนางที่เป็นแม่เลี้ยง อุปชีวก ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เตือนสติก็คงไม่ได้ประโยชน์ อุตส่าห์นิมนต์พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมแต่ว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะใจมันคิดถึงแต่คำด่า คำต่อว่าของลูกเลี้ยง เสียประโยชน์ แล้วคนเราก็เสียประโยชน์เพราะว่าจิตที่มันไม่ว่างนี้มาเยอะแล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้เตือนใจในการที่จะรับรู้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าทำอะไรใจก็อยู่กับปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่ยึด อดีตยึดก็ไม่ได้ อนาคตยึดก็ไม่ได้ ปัจจุบันก็เหมือนกันยึดไม่ได้ แค่รับรู้สักแต่ว่ารู้ เพราะไปยึด มันก็จะกลายเป็นหลงเข้าไปในอดีต หรือเกิดความยินดียินร้ายตามมาโดยไม่รู้ตัว