แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเข้าพรรษาประจำปี 2559 เราเรียกว่าวันออกพรรษา ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา อันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พระ เพราะว่าเป็นวันที่พระจะทำพิธีปวารณาแก่กัน ปวารณานี้แปลว่าอะไร ทำไมจึงเป็นมหาปวารณาสำหรับวันนี้ ปวารณาแปลว่ายอมหรืออนุญาต ถ้าโยมปวารณากับพระก็หมายความว่ายอมให้พระขอได้ หรืออนุญาตให้ขอ อาจจะขอเรื่องเกี่ยวกับอาหาร หยูกยา จีวร เรื่องการเดินทาง ช่วยขับรถไปส่งในเมือง หรือพาไปวัดนั้นวัดนั้นวัดนี้ ธรรมดาพระจะไปขอให้โยมทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้ใส่บาตร ขอให้หุงหาอาหารให้ นี้ทำไม่ได้ แล้วแต่ญาติโยมจะศรัทธา แต่ถ้าญาติโยมคนไหนที่ปวารณากับพระรูปนั้นเอาไว้ พระรูปนั้นก็จะขอได้ ไม่อาบัติ แต่ก็ขอได้แต่เฉพาะโยมที่ปวารณาไว้เท่านั้น โยมที่ไม่ได้ปวารณานั้นไปขอกับเค้าไม่ได้ ยกเว้นว่าใกล้ชิดสนิทสนมกัน เป็นที่รู้กันโดยนัย อันนี้สำหรับโยม
ถ้าพระปวารณากัน หมายความว่าอนุญาตให้ว่ากล่าว อนุญาตให้ทักท้วง อนุญาตให้ตักเตือนได้ การปวารณานี้ต้องมีพิธี เมื่อกลางวันนี้พระทั้งวัดก็ทำพิธีปวารณากับสงฆ์ พูดเป็นภาษาบาลีก็แปลว่า ข้าพเจ้า ขอปวารณากับหมู่สงฆ์ว่า หากเห็นก็ดี ได้ยินก็ดี ระแวงสงสัยก็ดี ว่าทำอะไรที่ไม่ถูก ก็ขอให้ว่ากล่าวด้วยความเอ็นดู ด้วยความปรารถนาดี เมื่อข้าพเจ้าเห็นแล้ว จะปรับตัวหรือว่าแก้ไข ก็ว่า 3 ครั้ง การปวารณานี้พระพุทธเจ้าถือเป็นเรื่องสำคัญ ปกตินี้วันขึ้น 15 ค่ำหรือ 14 ค่ำก็ตาม พระก็จะสวดปาติโมกข์ ขาดไม่ได้ แต่วันนี้วันออกพรรษานี้พิเศษ 15 ค่ำ เดือน 11 ให้ปวารณาต่อกัน ไม่ต้องสวดปาติโมกข์ จึงเรียกว่า วันมหาปวารณา
พระเรานี้มีพิธีอยู่ 2 อย่าง ตอนเข้าพรรษาเราก็อธิษฐาน ออกพรรษาเราก็ปวารณา อธิษฐานก็แปลว่า การตั้งใจมั่น เช่นอธิษฐานพรรษาคือตั้งใจว่าจะอยู่ในอาวาสนี้ให้ครบ 3 เดือน แสดงความมุ่งมั่น ความเด็ดเดี่ยว ความตั้งใจ ซึ่งมีความหมายว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมท้อถอย จะพยายามอยู่ให้ครบพรรษา ให้ครบ 3 เดือนให้ได้ ส่วนการปวารณานี้ เป็นลักษณะของการถ่อมตัวคือว่ายอมรับว่าตัวเองยังไม่สมบูรณ์ ยังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะฉะนั้นก็อาจจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้างด้วยความพลั้งเผลอ เมื่อพลั้งเผลอแล้วก็ขอให้หมู่สงฆ์ช่วยทักท้วง ช่วยบอกกล่าว ช่วยตักเตือน ถ้าปวารณาด้วยใจจริงมันก็แสดงถึง ความถ่อมตัว เพราะว่าคนที่ปวารณานี้แม้จะอายุมาก พรรษามาก เป็นเจ้าอาวาส ก็พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ พระที่พรรษาน้อย หรือว่าพระลูกวัด หรือแม้แต่บวชพรรษาเดียวทักท้วงได้ นี้เป็นวิสัยของชาวพุทธ ผู้ใฝ่ศึกษา ใฝ่พัฒนาตน ไม่ใช่ว่าฉันเป็นเจ้าอาวาส ฉันมีพรรษาเยอะ 30 40 50 พรรษา ใครจะมาทักท้วงไม่ได้ อันนี้ไม่ถูก ทำได้ แต่บางทีก็มีความเข้าใจในหมู่พระว่า เราเป็นพระพรรษาน้อย จะไปทักท้วงพระที่มีพรรษามากไม่ได้ โดยเฉพาะท่านที่เป็นเจ้าอาวาส อันนี้เป็นความเข้าใจผิด
ยิ่งได้ปวารณากันแล้ว จะกี่พรรษาก็แล้วแต่ จะเป็นพระที่ทรงสมณศักดิ์ เป็นพระครู เป็นพระราชาคณะ เจ้าคุณ ก็ต้องพร้อมที่จะให้พระพรรษาอื่นๆ หรือน้อยกว่า แม้จะไม่มีสมณศักดิ์ก็ทักท้วงได้ ตักเตือนได้ อันนี้เป็นวิสัยของชาวพุทธ โดยเฉพาะพระสงฆ์ ที่มาบวชเพื่อมาศึกษาพัฒนาตน อย่างที่พูดเมื่อเช้าว่าเป็นเสขะบุคคล คือคนที่ต้องมีการศึกษาอยู่ ถ้าตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ยังต้องมีการศึกษาพัฒนาตน แล้วคนเราจะพัฒนาได้นี้ ก็ต้องรู้ว่าตัวเองมีข้อบกพร่องตรงไหนด้วย แต่คนเราบางทีก็ไม่รู้เพราะว่ามองตัวเองไม่ได้ถ้วนถี่ จำเป็นต้องมีมิตรซึ่งเป็นกัลยาณมิตรช่วยทักท้วง ช่วยบอกกล่าว ช่วยตักเตือน อันนี้ก็เป็นการฝึกตน สิ่งที่เขาพูดมาจะจริงหรือป่าว จะถูกหรือไม่ ตามธรรมดาคนเราก็จะมีความขุ่นเขือง ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ มีอายุ มีการศึกษา ไม่ว่าศึกษาทางโลกหรือทางธรรม ก็มักไม่ชอบให้ใครมาทักท้วง เพราะว่ามันมีกิเลสที่ครองใจอยู่ กิเลสตัวนี้ชื่อว่า มานะ
มานะคือความสำคัญมั่นหมายว่า ฉันเก่ง ฉันดี ฉันแน่ มีหมดล่ะนะ แม้แต่เด็ก ๆ แม้แต่พระที่บวชไม่ถึงพรรษาก็มีมานะ ยิ่งบวชมาก บวชนาน มีความรู้มาก เป็นครูบาอาจารย์ ตัวมานะนี้ก็อาจจะมากด้วยเหมือนกัน พอมีมานะแล้วภาษาสมัยใหม่เรียกว่า มีอีโก้ มีอัตตา มันก็จะไม่ชอบให้ใครมาทักท้วง เพราะการทักท้วงก็แสดงว่าเธอยังไม่ถูก ยังทำผิด ตัวมานะนี้มันยอมไม่ได้ มันก็ไม่พอใจ ขุ่นเคือง อันนี้เป็นธรรมชาติ ถ้าเราเป็น คนที่มีการศึกษา เป็นคนที่ใฝ่ธรรม ก็จะต้องไม่เปิดโอกาสให้กิเลสหรือมานะ เข้ามาครองใจ เวลาที่จะมีใครมาทักท้วง กิเลสจะบอกว่าไม่ใช่ ไม่ถูก โกรธ เราก็อย่าไปหลงเชื่อมานะ หลงเชื่อกิเลส เพราะถ้าเราหลงเชื่อเราก็จะโกรธตาม สั่งให้โกรธเราก็โกรธคนที่มาแนะนำ มันสั่งให้ด่า ก็ด่า มันสั่งให้ตอบโต้ ด่ากลับไป เราก็ทำตาม เรียกว่าเราเสียผู้เสียคน หรือว่าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต้องรู้ทันนะว่าธรรมชาติของปุถุชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มีกิเลสตัวนี้อยู่ ธรรมดาพอมีคนมาตำหนิเรา เผลอเมื่อไรก็จะโกรธ ไม่พอใจ แต่ก็อย่าให้มันครองจิต ครองใจเรานาน ให้รู้ทัน มีสติ และเปิดใจรับฟัง ยิ่งเราได้กล่าวคำปวารณาไว้แล้ว ก็อย่าให้ปวารณาแต่ปาก ให้เราจริงใจกับคำพูดที่เราเอ่ยออกมา เมื่อระลึกได้ว่าเราปวารณาไว้กับหมู่สงฆ์ กับหมู่มิตร มันก็จะช่วยเตือนใจว่า อย่าไปโกรธเขา อย่าไปปิดหู ไม่ฟัง ต้องเปิดใจฟังสักหน่อย ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ตัวมานะก็จะมีอำนาจครองจิตครองใจเราน้อยลง มันก็จะอ่อนแอลงไป ก็ทำให้เรากลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน อันนี้แหละคือการบำเพ็ญธรรม ที่ชื่อว่า มัททวะ
เมื่อวานนี้พูดไปแล้วเรื่องทศพิธราชธรรม ข้อหนึ่งว่าการอ่อนน้อมถ่อมตน มัททวะ ซึ่งเป็นธรรมะที่ในหลวงก็ได้บำเพ็ญมา และเราก็สมควรที่จะบำเพ็ญ ไม่ใช่ในฐานะพสกนิกรที่ดีเท่านั้น แต่ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เป็นศากยบุตร ก็ยิ่งต้องเปิดใจรับฟังคำทักท้วง ไม่ถือตัว ถือตนว่าฉันเก่ง ฉันแน่ ฉะนั้น พิธีปวารณานี้ มันจึงมีความสำคัญ ถ้าเราไม่เพียงสักแต่ว่าให้เป็นพิธีเฉย ๆ และถ้าหากว่าเราขยายให้มันกว้างออกไป ก็คือว่าเปิดใจให้แก่หมู่มิตรและญาติโยม ไม่ใช่เฉพาะกับหมู่สงฆ์เท่านั้น ถึงแม้จะไม่มีพิธีปวารณากับญาติโยม แต่ว่าเราก็ลองปวารณาไว้ในใจ หรือบอกกล่าวให้เป็นที่รู้กันว่ายอมให้ว่ากล่าวได้ ยอมให้ตักเตือนได้ ยอมให้ทักท้วงได้ ที่นี่ก็เป็นประเพณี ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการปวารณากับญาติโยม รวมทั้งแม่ชี แต่ก็ยอมให้ทักท้วงได้ หลวงพ่อคำเขียนท่านก็ทำเป็นแบบอย่างมาแล้ว อันนี้มันก็ควรจะเป็นวิสัยของชาวพุทธทั่วไปด้วย
ไม่ใช่พระที่จะมีธรรมะข้อนี้เท่านั้น ญาติโยมก็ควรจะมีธรรมะข้อนี้ต่อกันด้วย หมายความว่าถ้าญาติโยมด้วยกันจะทักท้วงก็เปิดใจฟัง อันนี้รวมไปถึงพ่อแม่ก็เปิดใจฟังลูก ลูกจะทักท้วงพ่อแม่ก็ฟัง อย่าโกรธ อย่าโมโห ถ้าพ่อแม่ทำอย่างนี้ ลูกจะเชื่อฟังพ่อแม่ เวลาพ่อแม่พูดอะไรลูกก็จะฟัง เดี๋ยวนี้พ่อแม่หลายคนบ่นว่า ลูกไม่ค่อยฟังพ่อแม่ โดยเฉพาะลูกที่เป็นวัยรุ่น ถ้าสืบสาวดูจริง ๆ ก็จะพบว่าเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ได้ฟังลูก ตอนที่ลูกยังเด็กพ่อแม่ก็ไม่ค่อยฟังสักเท่าไร สั่งอย่างเดียว เวลาลูกทำอะไรผิด ก็ไม่ค่อยถามเหตุผลว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น ทำไมไม่ทำการบ้าน ทำไมตื่นสาย ไม่ถาม ทำไมกลับบ้านดึก ไม่ถาม มาถึงก็ด่าเลย บางทีลูกอาจจะไม่สบาย หรือลูกอาจจะมีเหตุผลก็ได้ ควรฟังเอาไว้ เมื่อพ่อแม่ฟังลูก เวลาลูกมีปัญหา ก็จะมาเล่าให้พ่อแม่ฟังหรือว่าเวลาลูกทำตัวไม่ถูกต้อง พ่อแม่พูด ลูกก็จะฟังเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพิธีวันปวารณาให้เราได้รับรู้ถึงคุณค่า ความหมาย ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำพิธีกันระหว่างพระกับโยม หรือระหว่างโยมกับโยมด้วยกัน แต่ก็ขอให้เป็นธรรมะข้อหนึ่ง ที่มันจะช่วยทำให้เรามีความสุขความเจริญ เป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะว่าเรา ตราบใดที่เป็นปุถุชนก็ต้องศึกษาตามหลักไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเข้าใจความหมายของวันปวารณาแล้วก็เอาไปปฏิบัติ เมื่อออกพรรษาไปแล้ว ไม่ว่าเราจะลาสิกขาลาเพศออกไป ไม่ว่าเราจะกลับไปปฏิบัติธรรมที่บ้าน หรือว่าจะอยู่เป็นพระหรือนักบวชต่อไป ก็อย่าลืมว่าออกพรรษาแล้วไม่ได้แปลว่าออกจากธรรม ออกพรรษามันเป็นแค่สมมุติทางเทศกาล แต่ว่าเรายังต้องพึ่งพาธรรมะอยู่อีกต่อไป ออกพรรษาแล้วไม่ได้แปลว่าเราหยุดกินข้าว ยังต้องกินข้าวต่อไป ฉันใดก็ฉันนั้น ออกพรรษาแล้ว เราก็ยังต้องอยู่ในธรรม ไม่ออกจากธรรม เพราะการที่ต้องกินข้าว และการปฏิบัติธรรม มันเป็นสิ่งที่ทำคู่กันไป
สมัยที่หลวงพ่อชายังมีชีวิตอยู่ เมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว มีพระญี่ปุ่น 3 รูปเป็นพระเซน ท่านมาถามหลวงพ่อชาว่าทำสมาธิไปทำไม ทำสมาธิเพื่ออะไร ทำไมถึงต้องทำสมาธิ ทำสมาธิแล้วได้อะไร หลวงพ่อชาท่านก็ไม่ได้ตอบตรง ๆ แต่ถามกลับไปว่า กินข้าวไปทำไม กินข้าวเพื่ออะไร ทำไมต้องกินข้าว กินข้าวแล้วได้อะไร พอพูดอย่างนี้เข้าพระญี่ปุ่นนั้นก็เข้าใจ อ๋อใช่เพราะว่าการที่ปฏิบัติธรรมหรือการทำสมาธิภาวนา มันก็ไม่ต่างอะไรกับกินข้าว เรากินข้าวทุกวันยังไม่เคยถามว่ากินข้าวไปเพื่ออะไร แต่เวลาที่จะทำสมาธิจะปฏิบัติธรรม ทำไมต้องถาม ข้าวนี้มันบำรุงกาย ธรรมะมันบำรุงใจ ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ทำให้จิตใจมีพลัง และธรรมะยังเป็นเครื่องปกปักรักษาใจด้วย ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรงมีกำลัง แต่ยังเป็นสิ่งที่ปกป้องจิตใจ ปกป้องจากอะไร ปกป้องจากความทุกข์ คนเราไม่ว่าจะรวยแค่ไหน ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ปานใด ถึงแม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายให้ความสุขแก่เรา คนเราก็หนีความทุกข์ไม่พ้น เป็นความทุกข์ที่เกิดจากความพลัดพรากการสูญเสีย เกิดจากความผิดหวังไม่ได้ดั่งใจ ไม่ว่าเราจะเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีแค่ไหน หรือต่อไปไปอยู่ถึงดวงจันทร์ ไปอยู่ดาวอังคาร ก็ยังต้องเจอกับการพลัดพรากสูญเสีย ต้องเจอกับความไม่สมหวัง ต้องเจอกับผิดหวัง ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ไม่มีใครหนีพ้น
แม้นว่าเราจะปรารถนาให้ชีวิตเราราบรื่น แต่ว่าก็ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างที่เราปรารถนา เพราะชีวิตนี้ไม่ใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม่แต่คนที่ทำความดีมาอย่างอุกฤษฎ์ ไม่มีความด่างพร้อย เช่นพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องเจอกับคำต่อว่าด่าทอ การใส่ร้าย มีคนปองร้ายหมายเอาชีวิต เอาถึงตาย และยังต้องเจอความแก่ เจอกับความเจ็บป่วย แล้วเราซึ่งเป็นปุถุชนนี้ ทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง เราจะคิดว่าชีวิตเราจะราบรื่น ปลอดภัย สะดวกสบาย ตลอดเวลาได้อย่างไร ธรรมดาของชีวิตก็ต้องมีขึ้นมีลง ต้องเจอกับสิ่งที่เป็นบวกเจอ กับสิ่งที่เป็นลบ เรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมฝ่ายบวกก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับคำสรรเสริญ ได้รับความสุขความสบาย แต่ว่าคนเราแม้ว่าทำบุญเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา ถึงได้มาก็ยังจะได้เจอกับอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นตรงข้าม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เจอคำต่อว่าด่าทอ นินทา และก็เจอความทุกข์ ยังไงก็ต้องเจอถึงแม้ว่าจะยิ่งใหญ่ ร่ำรวยแค่ไหน ทีนี้ถ้าเจอแล้วเราจะทำอย่างไร ถ้าเรามีธรรมะรักษาใจ เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ แม้ว่าจะเจอกับความพลัดพรากสูญเสีย ใจก็ยังเป็นปกติได้ ธรรมะทำให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ แม้เจอทุกข์ก็เห็นเป็นธรรมะ หรือว่าแม้เจอเคราะห์ก็เห็นเป็นโชคได้
เคยมีชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นคนที่มีน้ำใจดี ชอบพานักศึกษาไปช่วยโรงเรียนในชนบท สงเคราะห์หมู่บ้านที่ห่างไกลทำอย่างนี้อยู่เป็นประจำ มีคราวหนึ่งที่พานักศึกษาไปช่วยสงเคราะห์โรงเรียนแถวแม่ฮ่องสอน ไกลนะ ทำไปประมาณสามถึงสี่วันก็เสร็จ ขากลับเขาจะเดินทางไปจังหวัดตากต่อ ก็นั่งรถไปกับคณะนักศึกษานี้แหละ แม่ฮ่องสอนนี้ทางเลี้ยวโค้งเยอะ มีเป็นพันโค้งเลย ปรากฏว่ารถเกิดอุบัติเหตุแหกโค้งลงมา ตอนที่รถตกเขานี้ ชายหนุ่มคนนี้ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้คนที่เขาพามาทุกคนปลอดภัย รถมันก็ตกลงไปกระแทกกับเหว แต่เหวไม่ลึก นักศึกษาที่เขาพามาทุกคนเลยปลอดภัย แต่เขาเองโดนกระแทกอย่างแรง เลยพิการครึ่งตัว เพื่อน ๆ ก็มาเยี่ยมเขาแล้วก็ตัดพ้อให้เขาฟัง พูดให้เขาฟังว่า ขนาดทำบุญยังต้องเจอกับอุบัติเหตุเลย พูดเหมือนกับว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่ผู้ชายคนนี้แกไม่มีความทุกข์เลย แกก็พูดกับคนที่มาเยี่ยมรวมทั้งบอกคนเหล่านั้นว่า ก็เพราะทำดีนี่ซิ ทำบุญนี่ซิ จึงเหลือตั้งขนาดนี้ ก็คือเหลือครึ่งตัว ถ้าไม่ทำบุญนี่ก็คงตายไปแล้ว อันนี้เรียกได้ว่าเพราะเขาเจออุบัติเหตุถึงขั้นพิการ แต่ใจเขาไม่ทุกข์ เพราะเขารู้จักมอง เขามองเป็น คนที่มองอย่างนี้ได้ก็ต้องมีธรรมะอยู่ด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติก็จะตีอกชกหัว ว่าทำไมถึงต้องเป็นฉัน
อีกคนก็เป็นช่างไฟฟ้า โดนไฟฟ้าช็อตที่ขาอย่างแรงสูง ต้องตัดขาพิการตลอดชีวิต พิการได้ไม่ทันไรภรรยาก็ทิ้งเขาไป เสียทั้งขา เสียทั้งภรรยา จะทุกข์แค่ไหน มีคนถามเขารู้สึกอย่างไรที่ภรรยาทิ้งไป เขาก็ตอบว่าไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะแม้แต่ขาของผมมันยังไม่ยอมอยู่กับผมเลย แล้วจะให้เมียอยู่กับผมได้อย่างไร เมียทิ้งไม่ทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าได้เรียนรู้จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นว่า ขาของเรา มันไม่ใช่ขาของเราเลยนะ วันดีคืนดีมันก็ต้องไป คนบางคนพอเสียขา ก็กลุ้มอกกลุ้มใจ ยิ่งเมียทิ้งยิ่งจะเป็นจะตายให้ได้ อันนี้เป็นเพราะว่าไม่ได้มีธรรมะเป็นเครื่องรักษาใจ แต่ถ้าใจมีธรรมะแล้วนี้ ถึงแม้เวลาเสียขาก็ไม่ทุกข์ เพราะได้เห็นว่าขานี้ไม่ใช่ของเรา ถึงเวลาเมียทิ้งไป ก็เฉย เพราะว่าขาทั้งสองข้างมันสอนให้เขาเห็นว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย แม้แต่ขามันก็ไม่ใช่ของเรา แล้วเมียจะเป็นของเราได้อย่างไร อันนี้เรียกว่าเห็นธรรมะจากอุบัติเหตุ เห็นธรรมะจากการเสียขา แต่จะมองอย่างนี้ได้ก็เพราะใจมีธรรมะเป็นเบื้องต้น ดังนั้นเจออะไรก็ไม่สำคัญเท่าใจของเราเป็นอย่างไร ถ้าใจของเรามีธรรมะเราก็จะเป็นคนฉลาด เป็นคนมีปัญญา ถึงแม้จะเรียนทางโลกไม่สูง แต่ว่าปัญญาทางธรรมก็ช่วยทำให้เจออะไรใจก็ไม่ทุกข์ และถ้าหากว่าใจมีธรรมะและรู้จักสังเกต อะไรที่เกิดขึ้นกับเรา ก็จะเห็นว่ามันมีประโยชน์ทั้งนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรานี้มันมีประโยชน์ทั้งนั้น มันมาอย่างน้อย ๆ ก็มาเพื่อฝึกใจชองเราไม่ให้ประมาท มันมาเพื่อสอนใจเรา หรือบางทีมันก็มาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอของเราก็ได้
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง แกเป็นคนที่เรียนเก่ง ฉลาดและร่ำรวย เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนที่นิสัยเอาแต่ใจตัวเอง แล้วก็ชอบดูถูกคนอื่น ชอบต่อว่า ใจร้อน จนเพื่อน ๆ ระอา และเนื่องจากความเป็นคนใจร้อน อารมณ์ร้อน ก็เลยเป็นคนโกรธง่าย วันดีคืนดีปรากฏว่าเส้นเลือดสมองมันแตกทั้งที่ยังอายุไม่มากเลย ก็ทำให้พิการ เส้นเลือดในสมองแตกนี้พิการเลยนะ เขยื้อนขยับขาก็ลำบาก เดินเหินก็ไม่สะดวก ทำกายภาพก็ดีขึ้นไม่มาก ใหม่ ๆ ที่ตอนคุณหมอมารักษา แกก็หงุดหงิดรำคาญ ขัดเคืองใจ ทนไม่ได้นะคนที่เก่งคนที่ฉลาดต้องมานอนพิการ มันทำใจยาก และความใจร้อนทำให้อดรนทนไม่ได้ แต่หลังจากที่เป็นแบบนี้มาหลายเดือน ก็ได้เรียนรู้จากร่างกายของตัวว่า ของพวกนี้มันไม่ได้อยู่ที่ใจของตัว จะอยากแค่ไหนร่างกายมันก็ไม่ยอม ยิ่งอยากให้เดินได้ ยิ่งอยากให้ขยับเขยื้อนได้เหมือนปกติ ยิ่งเป็นทุกข์ เรียนรู้นะ พอเรียนรู้เข้าก็เริ่มทำใจปล่อยวาง ถึงแม้หมอมารักษาแล้วความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้า แกก็ไม่หงุดหงิด เริ่มทำใจได้กับร่างกายที่พิกลพิการ คราวนี้พอทำใจได้ ทำใจสบาย ๆ ร่างกายก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ยิ่งออกกำลังกาย มีการฟื้นฟูกายภาพบำบัด และใจก็ไม่หงุดหงิดฉุนเฉียวเหมือนเมื่อก่อน ทำใจได้ ยอมรับได้ ปรากฏว่าร่างกายก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนตอนหลังก็เดินเหินได้เกือบเป็นปกติ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่มีแค่นั้น ปรากฏว่านิสัยใจคอก็เปลี่ยนด้วย เป็นคนใจเย็นขึ้นแล้วก็อดทนรอคอยได้ ไม่ฉุนเฉียว แต่ก่อนนี้ชอบว่าเพื่อน ชอบใช้อารมณ์กับเพื่อน แต่พอหลังจากป่วยพิการนี้ กลายเป็นคนใจเย็น เพื่อน ๆ ก็เห็นความเปลี่ยนแปลง ที่เคยระอาก็กลับมาเป็นมิตร มาสนิทสนมกัน เมื่อเขามาทบทวนก็พบว่า การที่เราพิการนี้มันก็มีประโยชน์นะ มันทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ เพราะว่าถ้ายังเป็นเหมือนเดิม อาจจะไม่ฟื้นได้ดีเท่าที่ควร ก็เลยขอบคุณที่เราพิการ ที่เราเจออุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองแตก คนบางคนพอเจออาการแบบนี้ ก็จะตีอกชกหัว ตีโพยตีพาย กลุ้มอกกลุ้มใจ บางคนอาจจะถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่ว่าคนที่เขารู้จักสังเกตหรือยอมรับความจริง ก็จะสอนได้ ความเจ็บป่วยมันก็จะสอนใจเขา เปลี่ยนแปลงจิตใจเขา ทำให้กลายเป็นคนใหม่ได้ นี่มันมีหลายคนนะที่เขาเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าเจอความเจ็บป่วย เจอความพลัดพรากจากความสูญเสีย ของเหล่านี้ไม่มีใครอยากเจอหรอก ไม่อยากประสบหรอก แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ให้ลองนึกสักหน่อยว่ามันมาเพื่อสอนเรา มันมาเพื่อเปลี่ยนแปลงเรา และถ้าเรายอมเปลี่ยนแปลง ยอมรับคำสอน ชีวิตเราก็จะดีขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องของธรรมะ ถ้าไม่มีธรรมะเจอเหตุร้ายใจมันก็ยิ่งดิ่งลงเหว ถ้าเรามีธรรมะใจเราก็จะเข้มแข็ง ใจเราก็จะฉลาด และพอเจออะไรใจก็จะไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ออกพรรษาแล้วก็อย่าทิ้งธรรมะ อย่าออกจากธรรมะ ต้องสร้างสมธรรมะมาก ๆ อย่ามัวแต่ทำบุญทำกุศลโดยที่ไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจให้ฉลาด ให้มีปัญญา การเจริญสติ การสร้างความรู้สึกตัว การหมั่นพิจารณามองสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นธรรมะอย่างไรบ้างนี่แหละ มันจะช่วยทำให้ธรรมะในใจเราเจริญงอกงาม และจะช่วยรักษาใจ ทำให้ใจเราเป็นใจที่ฉลาด เจออะไรร้ายแค่ไหน มันก็สร้างความทุกข์แก่เราไม่ได้
ก็ฝากเอาไว้ในช่วงสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษา และถือโอกาสนี้ขอบคุณชาวบ้าน ทั้งบ้านใหม่ไทยเจริญ บ้านกุดโง้ง บ้านวังเข้ และบ้านท่ามะไฟ รวมทั้งญาติโยมจากที่ไกล ๆ ที่ได้มาช่วยหาอาหารมาถวายพระเอาปัจจัย 4 เครื่องสังฆทานมาอุปถัมภ์บำรุงพระ ซึ่งปีนี้ก็มีมากเกือบ 50 รูป ทั้งแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมให้ได้รับความสุขความสะดวกสบายในการประพฤติปฏิบัติธรรมตลอดทั้งพรรษา และก็รวมทั้งญาติโยมที่ใช้โอกาสเข้าพรรษานี้มาถือศีล มาปฏิบัติธรรม มาฟังธรรม ไม่ว่าเป็นวันศีลวันพระหรือเป็นวันธรรมดาก็ตาม ขอให้ได้ประสบความสุขความเจริญ ขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัย อำนวยอวยผลให้ทุกท่านได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุข พละ เพื่อเป็นพละปัจจัยในการทำความดีงามให้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล ภาวนา ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดพ้นจากความทุกข์ มีปัญญาสามารถนำพาชีวิตให้ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวงได้ด้วยดี จนกระทั่งเข้าถึงความสุขเกษมสานต์ มีพระนิพานเป็นที่หมายด้วยกันทุกคนเทอญ.