แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สองวันที่ผ่านมา มีคนรู้จักหรือว่าบุพการีของคนรู้จักจากไปไล่เลี่ยกันภายในวันเดียว 3 คน ก่อนหน้านั้นก็มีคนรู้จักจากไป ที่จากไปเมื่อสองวันก่อน คนหนึ่งก็เป็นพระก็คือหลวงพ่อณรงค์ ซึ่งท่านก็เคยมาจำพรรษาที่นี่ ก็ไม่ถึงกับจำพรรษา มาอยู่ประมาณปี 29 ตอนหลังก็ไปจำพรรษาที่ภูหลงกับท่านอาวุธประมาณ 2-3 ปี ภูหลงตอนนั้นมันกันดาร สุขภาพท่านก็ไม่ค่อยดี แต่ท่านก็อยู่ได้เป็นปี ที่มาบวชก็เพราะว่าสุขภาพย่ำแย่ ทำให้ต้องลาออกจากงานแล้วก็มาบวช ก็ได้ดูแลสุขภาพตัวเอง ต่อเนื่องมา 30 ปีก็เพิ่งมรณภาพไป อายุก็ราว ๆ 70 กว่า วันนี้ก็จะไปเคารพศพท่าน
อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 40 ได้ เพิ่งมารู้จักเมื่อตอนต้นปีนี้ เพราะว่าเธอไม่สบายเป็นมะเร็ง ที่สมอง เพื่อนแนะนำให้รู้จักเพราะเธอเป็นหลานของเพื่อน คนนี้ก็น่าสนใจ เพราะว่าทั้งที่เป็นมะเร็งสมองและก็ผ่ามาแล้วสองครั้ง แต่ว่าก็ไม่ได้มีความวิตกกังวลอะไรเกี่ยวกับชีวิตของตัวมากนัก อาการแบบนี้ก็แปลว่าความตายใกล้เข้ามาแล้ว แต่เธอก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงได้ สามีต่างหากที่ทำใจได้ยาก ตัวคนป่วยพร้อมที่จะเผชิญกับความตาย แต่มียังความหวังว่าจะรักษาให้หายได้ หรือว่าช่วยบรรเทาความเจ็บป่วย เพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ ก็รักษาไปขณะเดียวกัน ก็เตรียมใจไปด้วย เตรียมตัวรับความตาย เธอกับสามีก็ไปอบรมการเผชิญความตายอย่างสงบ ที่อาตมาเป็นวิทยากรคนหนึ่ง เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ตอนนั้นสุขภาพก็ทรุดลงแต่ก็มีกำลังใจดี เมื่อสักเดือนที่แล้ว มะเร็งก็ลามถึงกระดูกสันหลังทำให้เดินไม่ได้ ตรงนี้เรียกว่าแย่เลย พอเดินไม่ได้ เดินแล้วปวดนี่ สันหลังนี่ก็เป็นแหล่งรวมของเส้นประสาท พอมะเร็งมันลามเข้าไปก็ทำให้ปวดมาก มีทุกขเวทนา ที่เตรียมไว้ที่ฝึกเอาไว้ก็แทบจะไม่ไหว
เพื่อนก็มารายงานว่าเธอก็จิตตกไปเลย มีอาการหงุดหงิด นี่ขนาดว่าได้เตรียมตัวมาอย่างดี แต่ว่าพอเจอทุกขเวทนา ขณะเดียวกัน การที่เดินเหินไปไหนมาไหนไม่ได้ต้องนอนอย่างเดียว มันก็สร้างความทุกข์ให้กับจิตใจไม่น้อย แถมพูดไม่ได้อีก คนเรานี่ถ้าหากพูดได้ยาก พูดไม่ได้ พูดไม่เป็นคำ เพราะว่าสมองได้รับความกระทบกระเทือนมาก ก็ยิ่งเกิดความทุกข์ทรมานเข้าไปใหญ่ บอกอะไรใคร อยากจะพูดอะไรก็ทำได้ยาก นอกจากการเขียนหนังสือ เขียนก็เขียนไม่ค่อยเป็นตัวเพราะว่ามันก็เกี่ยวพันกับสมอง ก็เลยได้มีโอกาสไปเยี่ยม ได้แนะนำให้เธอแผ่เมตตาให้กับร่างกายตัวเองมาก ๆ แผ่เมตตาแม้กระทั่งก้อนมะเร็งด้วย อย่าไปโกรธเขา อย่าไปโกรธว่าเขาทำให้เราเจ็บปวด ทำให้เราทุกข์ทรมาน ทำให้เราเป็นอย่างนี้ แล้วก็อวัยวะที่เคยได้พึ่งพาอาศัยได้ ตอนนี้กลับแปรเปลี่ยนไป อย่าไปมองว่าเขาทรยศเรา แผ่เมตตาให้เขา ถือว่าเขาก็พยายามเต็มที่แล้ว ตอนนี้เขาก็ไม่ไหวแล้ว รับใช้เรามานาน ก็ต้องขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่ไปโกรธเขา การแผ่เมตตาช่วยได้เยอะ ทำให้โทสะหรือความโกรธมันทุเลาเบาบาง เพราะว่าคนเราเวลาเกิดทุกขเวทนามาก มันเกิดโทสะตามมา ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ความขัดเคือง แล้วก็จะพาลโทษนั่นโทษนี่ แล้วก็ยิ่งเกิดความเกลียดชังในร่างกาย ทำให้อยากจะตาย
บอกเขาว่าที่เขาเจ็บป่วยอยู่นี่ มันมีคุณค่ามีความหมาย ในขณะที่เขากำลังเจ็บปวด กำลังทุกขเวทนา มันไม่ใช่เป็นการใช้กรรม ขณะที่เจ็บป่วยเขายังมีโอกาสที่จะทำความดีได้ อย่างน้อย ๆ การที่เขาเจ็บป่วย มันก็เป็นโอกาสให้สามีมาดูแลเขา และทำให้แม่ซึ่งเหินห่างกับเขาในวัยเด็ก ได้มามีโอกาสมาดูแล ซึ่งก็ช่วยลด บรรเทาความรู้สึกผิดไปได้เยอะ ในการที่เราเจ็บป่วยนี่เป็นประโยชน์เหมือนกัน เป็นประโยชน์เพื่อให้คนอื่นดูแลเรา และก็เป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ท่าน เป็นประโยชน์ตนด้วย เป็นประโยชน์ตนยังไง ก็ได้มีโอกาสภาวนาไปด้วย ให้มาฝึกดู ดูความเจ็บปวด ฝึกดูใจที่มันฟุ้งซ่าน แส่ส่าย หรือว่าใจที่เป็นโทสะ มันเป็นสนามสำหรับการภาวนาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการที่ได้มาได้เห็นธรรมะ ธรรมะที่ชื่อว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ในยามปกตินี่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แสดงตัวไม่ค่อยชัด ที่จริงก็แสดงอยู่แต่มองไม่ค่อยเห็น แต่ว่าตอนเจ็บป่วยนี่มันแสดงให้เห็นได้ชัด ให้มองว่าเขากำลังสอนธรรมให้กับเรา ที่จริงก็คล้าย ๆ กับที่เราสวดเมื่อสักครู่ว่า บัณฑิตคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ อันความเจ็บป่วยก็ชี้ขุมทรัพย์ได้เหมือนกัน ชี้โทษของสังขารว่ามันเป็นทุกข์ คนเราไม่ค่อยเห็นโทษของสังขารเท่าไหร่ในยามสุขสบายดี เห็นว่าเป็นแหล่งที่มาของความสุข เป็นที่มาของความสุข ก็เพลิน จนกระทั่งมองไม่เห็นว่ามันมีโทษอย่างไรบ้าง พอเจ็บป่วยจะชี้โทษของสังขาร หรือชี้ทุกข์ของสังขารว่า นี่แหละคือธรรมชาติ นี่แหละคือความเป็นจริง ก็พยายามชี้ พยายามคุย เขาก็รับรู้ เพราะว่าเขาฟังมาเยอะ อ่านมาเยอะ ทำให้วางใจเป็นปกติได้ดีขึ้น ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเขาสองครั้ง แล้วก็ได้ทราบจากคนที่ดูแลว่าเขาก็สามารถจะประคองใจได้ดี ความหงุดหงิดก็หายไป มีน้อยมาก ระหว่างที่เจ็บปวดก็อาศัยยาบรรเทาปวดเหมือนกัน แต่ว่าเขาก็พยายามที่จะใช้ใจ ใช้สตินี่แหละ สามีก็เข้าใจเรื่องธรรมะดี ก็พยายามแนะนำให้เธอเป็นผู้ดู อย่าเป็นผู้เป็น ก็เอาคำสอนหลวงพ่อคำเขียนไปบอกเขา ให้ดูให้เห็นเวทนา เห็นความเจ็บปวด ถ้ายังดูเวทนาไม่ได้ ก็มาดูจิต ดูจิตที่มันโกรธ จิตที่ผลักไสเวทนา จิตที่หงุดหงิด อันนี้มันดูง่ายกว่า
การที่เขาหมั่นดูบ่อย ๆ ทำให้ใจเขาสงบลง ข้อดีคือมีตัวช่วยเยอะ มีสามีค่อยแนะนำ ค่อยเตือนสติ แล้วก็มีเสียงธรรมะ คอยให้เขากลับมาตั้งสติอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลาเขาก็อยู่บ้านเพราะว่าหมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว เขาและสามีก็ไม่คิดจะยื้อ ก็มาขอใช้ช่วงชีวิตสุดท้ายที่บ้าน ก็ดีมาเยี่ยมคนไข้ที่ใกล้ตาย แต่ไม่มีสายระโยงระยาง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองคุ้นเคย เดี๋ยวนี้เวลาไปเยี่ยมคนป่วยก็เห็นคนป่วยในสภาพที่มีสายระโยงระยาง เยอะแยะ มีเครื่องไม้ เครื่องมือมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อการยื้อชีวิตเอาไว้ แต่ว่ารายนี้เขาก็พร้อม ไม่ต้องการยื้อชีวิต ก็ขอจากไปอย่างสงบ เพียงแต่ว่ามันสงบได้ยาก เพราะว่าเจอทุกขเวทนาแต่ก็ได้อาศัยธรรมะช่วย ก็ทำใจได้ดีขึ้น ตอนหลังอาการเขาหนักมากขึ้น สามีก็ให้พิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นโอกาสดีและเป็นโอกาสสำคัญที่เอาธรรมะข้อนี้มาใช้ ให้เห็นเลยว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ก็ให้เขาพิจารณาบทภาวนาบทหนึ่ง ว่ารูปนี้มันจะต้องแตกดับ วิญญาณก็จะแตกดับ ก็ช่างมัน เพราะมันไม่ใช่ของเรา ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตอนเช้าก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ตอนสายเมื่อสักวานซืน ก็ได้ข่าวว่าเขาจากไปอย่างสงบ อันนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อจะต้องจากไปก็ควรจากไปอย่างสงบ
อีกรายเป็นพ่อของเพื่อน อายุ 94 ปี เป็นธรรมดาของคนจีนไกลจากธรรมะ แต่ก็อาศัยลูก ลูกเพิ่งบวชในพรรษานี่แหละ เป็นคนที่เข้าใจเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างสงบพอสมควร ไปเข้าคอร์สที่อาตมาจัดโดยเฉพาะที่ยุวพุทธิกสมาคมจัดก็หลายครั้ง เขาก็ได้ใช้ความรู้ได้ใช้ทักษะที่ร่ำเรียนมา ในการนำพาพ่อให้ยอมรับความเจ็บปวด และยอมรับความตายที่จะมาถึง แล้วก็นำพาญาติโดยเฉพาะภรรยาและลูก ๆ อันนี้ก็สำคัญ เพราะว่าคนรอบข้างบางทียังทำใจไม่ได้ แม้ว่าคนป่วยอายุเกือบ 100 ปี แต่ก็ยังอยากยื้อ อยากลุ้น รายนี้ก็เหมือนกัน ไม่ได้ไปที่โรงพยาบาล ไม่ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่โรงพยาบาล ก็มาอยู่ที่บ้าน ได้มาอยู่ในที่ ๆ คุ้นเคย
คนส่วนใหญ่เวลาตาย ก็อยากมาตายที่บ้านหรือในที่ที่คุ้นเคย แต่มักจะไม่ค่อยได้ตายในที่ที่ต้องการเท่าไหร่ เพราะว่าญาติอยากจะยื้อเอาไว้ ยังยอมรับความตายไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่บางทีบุพการีก็อายุเยอะแล้ว แต่ก็ไม่พร้อมรับความตาย หรือกลัวว่าการตายที่บ้านนี่มันเป็นอัปมงคลก็ไม่รู้ ก็พาคนไข้ไปโรงพยาบาลในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่ว่าจะสบายเท่าไร สายระโยงระยางก็ดี การเจาะคอใส่ท่อ หรือว่าโดยเฉพาะห้อง ICU ที่เปิดไฟตลอด 24 ชั่วโมง เสียงก็มีเสียงแทรกอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องพูดถึงเสียงของคนไข้บางคนที่อยู่เตียงข้าง ๆ หรือว่าพยาบาลที่ช่วยกันมาตรวจคนไข้ บางทีต้องตื่นทุกมา 3 ชั่วโมง พยาบาลก็จะมาวัดโน่นวัดนี่ ก็ไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้อยู่สงบ ๆ เท่าไร แต่ถ้าหากว่าญาติเขายอมรับความตายของคนรักได้ การตายที่บ้านก็เป็นไปได้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เรื่องความเจ็บปวดมันก็สามารถจะบรรเทาได้แม้ว่าจะอยู่ที่บ้าน ยิ่งถ้ามีธรรมะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ก็ช่วยทำให้สามารถไปอย่างสงบได้ รายนี้ก็ไปสงบเหมือนกัน ลูกชายมาเล่าว่าโยมพ่อเขาก็ไปดี
ทั้ง 3 รายนี่ก็เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือว่า อุทิศร่างกายให้กับโรงเรียนแพทย์ ก็ไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องการจัดงานศพ ให้โรงพยาบาลมารับไปเลย อันนี้ก็เป็นธรรมดาของชีวิต ที่จะต้องปรากฎกับเราอยู่บ่อย ๆ เวลาได้ฟังได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องเตือนใจให้กับเราได้ดี ไม่ใช่เฉพาะเตือนใจในเรื่องความตายหรือว่าเป็นมรณสติให้กับเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตือนใจให้เราตระหนักว่า เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วยเราพร้อมขนาดไหน เรื่องการตายหลายคนอาจจะพร้อม แต่ว่าความเจ็บป่วยนี่ซิ ก่อนตายนี่ไม่ใช่ว่าจะตายทันที 90 เปอร์เซ็นต์จะตายแบบช้า ๆ ไม่ตายแบบปุบปับแบบอุบัติเหตุ หรือว่าภัยธรรมชาติ หรือว่าหัวใจวาย แต่ตายแบบโรคที่เรื้อรัง ตายเพราะความเสื่อมที่เกิดขึ้นช้า ๆ บางทีก็เป็นเดือน บางทีก็เป็นปี แล้วก็มีทุกขเวทนามาก นี่เป็นการบ้านที่ต้องถามเรา
พวกเรานักปฏิบัตินี่เพียงแค่พร้อมรับความตายยังไม่พอ มันต้องพร้อมเผชิญกับความเจ็บปวดด้วย หรือว่าความเจ็บป่วย ซึ่งบางทีสร้างทุกขเวทนายิ่งกว่าความตายด้วยซ้ำ ถามตัวเราเองว่าพร้อมไหม ที่จะรับมือกับมัน ชีวิตของเราที่ผ่านมาในอดีต ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และที่จะดำเนินไปในอนาคต มันได้มีส่วนช่วยให้เรา เกิดความพร้อมในการรับมือกับความเจ็บปวดมากน้อยแค่ไหน คนที่ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจเลย ถึงเวลาเจ็บป่วยหรือว่าล้มป่วย มันทรมานมาก หลายคนเอาแต่เที่ยว สนุกสนาน มีแต่ความเพลิดเพลิน พอเจ็บป่วยต้องนอนติดเตียงจะทรมานมาก แม้แต่นักปฏิบัติธรรมอย่างพวกเราก็ตาม ตอนที่เราปฏิบัติในสภาพที่ร่างกายปกติมันก็ไปไหว แต่พอเจ็บป่วยบางทีก็เอาไม่อยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น ทุกขเวทนา ทั้งที่เราปฏิบัติมา ได้สร้างความพร้อมให้กับเรามากน้อยแค่ไหน ในการรับมือกับความเจ็บปวด
ใครที่พยายามหนีทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา ที่ไหนที่สบายก็เอา ที่ไหนที่ไม่สบายก็หนี อันนี้ก็ต้องระวัง เพราะแสดงว่าไม่ค่อยได้ฝึกใจให้รู้จักรับมือกับทุกขเวทนาเลย เวลาเกิดทุกขเวทนาถ้าหากว่าเราไม่ฝึกเป็นผู้ดู มันก็จะเข้าไปเป็นอยู่เรื่อย ๆ เพราะทุกขเวทนามันมีแรงดึงดูดมาก มันดูดจิตให้เข้าไปจม เกิดอะไรขึ้น เกิดความทุกข์เกิดความทรมานขึ้น ที่จริงทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย แต่ถ้าเกิดว่าไม่มีสติรับมือกับมัน ก็จะเกิดความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ และที่เกิดขึ้นได้เพราะว่าใจไม่มีสติ เจอทุกขเวทนาทีไรแทนที่จะดูทัน ก็เข้าไปเป็นมันทุกที ชีวิตของเราถ้าหากว่าเอาแต่หนีทุกขเวทนาอยู่เรื่อย ๆ ก็แสดงว่าเราไม่พร้อม ไม่มีการเตรียมตัวไม่มีการฝึกฝนเลย
ในทำนองเดียวกันคนที่มีเงื่อนไขของชีวิตเยอะ อย่างงี้ก็ไม่ได้ อย่างงั้นก็ไม่ได้ เสียงดังก็ไม่ได้ แดดร้อนก็ไม่ได้ คนพูดไม่ถูกหูก็ไม่ได้ คนที่มีเงื่อนไขกับชีวิตเยอะ น่าเป็นห่วงมากเวลาเจ็บป่วย เพราะว่ามันจะมีความทุกข์ทรมานมาก อยู่ในห้อง ICU อย่างที่เราพูดเมื่อสักครู่เสียงดัง มันก็ไม่ดังแบบเอ็ดตะโร แต่มันมีเสียงมารบกวนอยู่เรื่อย ๆ ไฟที่เปิดตลอดเวลา ถ้าคนที่มีเงื่อนไขกับชีวิตเยอะ ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบโรงพยาบาลอย่างนั้น จะเกิดทุกขเวทนามาก และทุกข์ทรมานด้วย
เพราะฉะนั้นในการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันจะต้องฝึกเอาไว้ ใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ เช่น ความสงบเย็น หรือว่าการพ้นทุกข์ ในขณะที่ยังไม่ถึงตรงนั้นมันก็ต้องเตรียมตัว เตรียมตัวที่จะรับมือกับความเจ็บปวด ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า มันรอเราอยู่ อย่าไปประมาท มันรอเราอยู่ข้างหน้า ถ้าเราไม่ได้ฝึกใจเอาไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจริญสติ หรือว่าการเจริญปัญญา พอถึงเวลาเกิดขึ้นมีแต่ความทุกข์ทรมาน แล้วถึงตอนนั้นก็จะตีโพยตีพาย โวยวาย ก่นด่าชะตากรรม หรือรู้สึกว่าเกิดมาเพื่อใช้กรรม ทั้ง ๆ ที่เวลาที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้เราได้ฝึก ได้ปฏิบัติ ได้สร้างสมกำลังจิต ได้สร้างสมคุณธรรม เพื่อที่จะรับมือกับความเจ็บปวด หรือว่าทุกขเวทนาที่จะเกิดขึ้น
แต่เพราะความประมาท ทำให้ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ เป็นอย่างนี้เยอะแม้กระทั่งในหมู่นักภาวนา ในหมู่นักปฏิบัติธรรม แม้กระทั้งพระเอง พระจำนวนมากเวลาเจ็บปวด หรือเวลาไม่สบาย ก็ร้องโวยวาย ครวญคราง อันนี้มีคนเล่าให้ฟังบ่อย ๆ พยาบาลก็มาเล่า สงสัยว่าทำไมพระท่านถึงได้ร้องครวญครางขนาดนี้ บางทีร้องยิ่งกว่าฆราวาสอีก แสดงว่าไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเลย อาจเป็นเพราะว่าชีวิตของพระสมัยนี้สะดวกสบายมาก ยิ่งพระอยู่ในสถานะที่สูง เงื่อนไขของชีวิตก็เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเอาโน้นเอานี่ ไม่ค่อยได้ฝึกใจเหมือนญาติโยม ญาติโยมนี่เขาต้องฝึกใจ อะไร ๆ เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับ แต่พระเราไม่ยอม จะต้องให้ได้อย่างนี้ ต้องได้อย่างนั้น เพราะว่าเป็นคนที่อยู่ในสถานะที่สูง มีคนตามใจเยอะ ชีวิตก็เลยมีเงื่อนไขเยอะ พอเงื่อนไขเยอะแล้ว เงื่อนไขที่ว่ามันไม่เกิดขึ้น พอล้มป่วยต้องไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่สามารถที่จะทำอะไรตามใจได้ เนื่องจากไม่ได้ฝึกใจไว้เลย มันก็เลยเกิดความทุกข์ทรมานมาก
นิสัยคนเรา ถ้าหากว่าไม่ได้ฝึกหัดขัดเกลาตั้งแต่ตอนนี้นี่น่าเป็นห่วง เพราะว่า คนที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนขี้โกรธ เป็นคนที่คิดเล็กคิดน้อย หรือเป็นคนโลภ กิเลสเหล่านี้มันจะมีกำลังมาก เวลาเจ็บป่วยนี่เรี่ยวแรงน้อยลง แต่กำลังกิเลสจะมากขึ้น นิสัยที่ไม่ค่อยได้แสดงออกตอนสุขสบายดี พอป่วยมันจะอาละวาดเลยทีเดียว เช่น บางคนคนขึ้โกรธ พอป่วยจะโกรธมาก คนที่เรียกร้องเอาโน่นเอานี่ในเวลาปกติ พอป่วยมันจะหนักกว่าเดิม เพราะว่าสติมันอ่อน เหมือนกับเมือง เมืองที่เคยมีทหารยามเฝ้าประตูเมืองเอาไว้ แต่ว่าต่อมาทหารอ่อนแอ หรือไม่มีเลยที่จะเฝ้าเมือง ศัตรูก็กรูเข้าไปในเมืองเข้าไปทำลายเมืองจนย่อยยับ คนป่วยหลายคนเป็นแบบนี้ ตอนที่ไม่ป่วยนิสัยเดิม ๆ ก็ไม่คิดจะขัดเกลา พอป่วย นิสัยนั้นแหละกิเลสเหล่านั้นแหละ จะคอยมาเล่นงาน เอะอะโวยวาย กระสับ กระส่าย อาละวาด มีให้เห็นบ่อย ๆ
เราต้องถามตัวเราว่า ตัวเรามีนิสัยอะไรหรือเปล่าที่จะทำให้เป็นปัญหาในยามที่เราเจ็บป่วย แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวว่าเป็นคนขี้หงุดหงิด เป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือเป็นคนที่มีเงื่อนไขเยอะ ชอบเรียกร้องเอาโน้นเอานี่ ไม่ค่อยรู้ตัว มักจะคิดว่าตัวเองเป็นคนเรียบง่าย เป็นคนที่มีเมตตา อันนี้เพราะว่าไม่ค่อยหมั่นมองตัวเองเท่าไหร่ และก็ไม่หมั่นมองตัว ไม่หมั่นดูใจนี่แหละ กิเลสเหล่านี้ถึงเล่นงานครอบงำจิตใจได้ บางทีต้องอาศัยกัลยาณมิตร คอยเตือน คอยชี้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่ากัลยาณมิตรคือผู้ชี้ขุมทรัพย์
ถ้าเราคอยฟังคนรอบข้าง เราก็อาจจะรู้ว่าเรามีนิสัยอย่างไร ซึ่งก่อความทุกข์ให้กับเราเองและก็จะก่อความทุกข์ให้กับเราเองในวันข้างหน้า แต่ถ้าหากว่าไม่ยอมมองเลย ใครชี้อะไรมาก็ปฏิเสธ ก็กล่าวแก้ตัว หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่น อันนี้ก็มีจุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยดี เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย จุดหมายปลายทางข้างหน้า เวลาเจ็บป่วยจะไม่ค่อยสวยเท่าไร และเวลาจบก็จบไม่สวยเหมือนกัน อย่าคิดว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม แล้วจะตายดีหรือจะรับมือกับความเจ็บป่วยได้ เจอมาเยอะแล้วนักปฏิบัติธรรม บางทีธรรมะที่เรียนมานี่เอาใช้ไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่เอาไว้สอนคนอื่น ไม่ค่อยได้สอนตัวเองเท่าไร ที่จริงเรื่องการเจริญสติ การดูกาย ดูใจ สำคัญมากทีเดียว ถ้าเราฝึกเป็นผู้ดูเฉพาะวิชานี้วิชาเดียว ก็สามารถจะใช้รับมือกับความเจ็บป่วย หรือว่าทุกขเวทนาได้ดี แต่เพราะว่าไม่ค่อยได้ฝึก หรือว่าประมาท คิดว่าเราก็ฝึกอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่ที่จริงไม่ค่อยได้ฝึก เวลาต้องเจอกับทุกขเวทนาจริง ๆ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเรารับมือกับทุกขเวทนาได้มากแค่ไหน เราต้องเข้าไปหาทุกขเวทนาบ้าง ไม่ใช่คอยหลบเข้าในที่ที่ปลอดภัย สบาย ต้องเข้าไปเจอในที่ที่ลำบาก
อย่างธรรมยาตราที่จัดทุกปี ๆ ส่วนใหญ่ก็เพื่อให้ได้ไปฝึก ได้ไปดูว่าถ้าเราต้องไปอยู่ในที่ที่แดดร้อน ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย ทางลำบาก บางคนก็ฝึกด้วยการถอดรองเท้า เดินเหยียบย่ำในที่ที่เป็นกรวด ให้แดดเผาหัว ก็เป็นโอกาสที่ได้ฝึก ดูว่าถ้าเจอทุกขเวทนาจะรับมือได้ไหม สติที่ฝึกมาที่วัดเอามาใช้กับทุกขเวทนาได้หรือป่าว แดดร้อนกายร้อน ใจไม่ร้อน ทำได้ไหม กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อยทำได้ไหม ต้องเข้าฝึกแบบนี้ ฝึกโดยการเข้าไปเจอทุกขเวทนาบ้าง พระสมัยก่อนท่านถึงมีประเพณีธุดงค์ ไม่ใช่อยู่แต่ในวัด ไม่ใช่อยู่แต่ในกุฏิ ออกไปเจอความทุกข์ยาก เจอความลำบาก ดูว่าวิชากรรมฐานที่ได้ฝึกมา เอามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน มันก็จะเห็นว่า ออเรายังบกพร่องตรงนี้ก็จะเอาไปแก้ไข ที่จริงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเรามองว่ามันเป็นแบบฝึกหัดอย่างหนึ่งก็จะดีมากทีเดียว ไม่มีแบบฝึกหัดอะไรที่ดีมากเท่ากับความเจ็บป่วย พอมันเจ็บป่วยขึ้นมาเราใช้สติรับมือได้ไหม หรือว่าเราเอาแต่บ่นตีโพย ตีพาย โวยวาย รู้ว่ารับมือไม่ไหวก็ยังดี ก็ยังเห็นเรามีจุดอ่อนที่เราต้องแก้ไข ล้มป่วยแล้วใจมันไม่มีความสุขเลย ไม่มีความสงบเลย มันว้าวุ่น วุ่นวาย อันนี้เรียกว่าสอบตก
แต่ก็ดี สอบตกเรารู้ว่าเราตกตรงไหน ก็ได้กลับไปแก้ไข ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่าตัวเองสอบตก ไม่รู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ป่วยหนัก ป่วยที่เดียวตายเลย อันนี้เรียกว่าไม่มีโอกาสได้ตั้งหลัก ไม่มีโอกาสได้เตรียมตัว แต่ที่จริงตอนที่ป่วยนี่ก็ยังมีโอกาส อย่างโยมผู้หญิงคนที่เล่าก็บอกเขาว่าช่วงเวลาที่เราป่วย ก็เป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนกรรมฐาน ถึงแม้ทีแรกจะรับมือไม่ไหว แต่ว่าก็ได้ฝึกไป ๆ ฝึกจากของจริง ฝึกจากทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เท่าที่ทราบมาดูเหมือนว่าเธอก็สามารถจะผ่านไปได้ด้วยดี แทนที่จะโวยวาย ตีโพย ตีพาย ก็ใช้ความเจ็บป่วยให้เป็นประโยชน์
ถ้าเราเจอความเจ็บป่วย ให้ถือว่าเป็นของดี มันมาเตือนให้เราฉลาด มันมาเตือนให้เราฉลาดในเรื่องไตรลักษณ์ มันมาเตือนให้เรามีความเข้มแข็ง ว่องไว ในเรื่องสติปัฏฐาน ยิ่งถ้าเราไม่เพียงแต่มีสติ แต่มีปัญญาจนเข้าใจในเรื่องรูป เรื่องนาม ก็จะรู้เลยว่าที่ปวด มันไม่ใช่เราที่ปวด มันเป็นรูปที่ปวด ใจไม่ได้ปวดด้วย รูปปวดก็เป็นเรื่องของมันไป ใจอย่าปวด ใจอย่าทุกข์ก็แล้วกัน ถ้าทำได้อย่างนี้ มันก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ก็ต้องพยายามฝึกเอาไว้ ใช้ชีวิตของเรา ให้ชีวิตในปัจจุบันของเราเป็นเครื่องฝึกให้เตรียมตัวรับมือกับความเจ็บป่วยและความตาย อย่าเป็นคนเงื่อนไขเยอะ ให้มองว่าอะไร ๆ ก็ได้ เจออะไรก็ช่างมัน ๆ ไม่ใช่โวยวาย ตีโพย ตีพาย อย่าเรียกร้องเยอะ คนที่เรียกร้องเยอะ เงื่อนไขมาก ถึงเวลาที่จะต้องเจ็บป่วย จะทุกข์ทรมานมาก และเผลอ ๆ ก็ตายไม่สงบ