แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้เป็นวันที่สองของการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น หรือว่าการปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์ เป็นเวลา 40 วัน ปีหนึ่งวัดป่าสุคะโตก็เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพระ แม่ชี หรือญาติโยม ได้มาปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้น หรือบางทีเราก็เรียก เก็บอารมณ์ เป็นเวลา 40 วัน
การปฏิบัติธรรมแบบนี้ ต้องอาศัยความตั้งใจ ต้องอาศัยวิริยะอุตสาหะ หลายคนไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน แล้วก็อาจจะนึกภาพว่า จะมีอุปสรรคความยากลำบากอย่างไรบ้าง เพราะไม่คุ้นเคย แต่ก็ตัดสินใจมาที่นี่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะหลายคนพอนึกถึงอุปสรรคความยากลำบาก ซึ่งอาจจะเกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองหรือได้ยินจากคำบอกเล่าก็กลัวแล้ว เพียงแค่นึกถึงความไม่สะดวกสบายในเรื่องการอยู่การกิน คนที่ติดสุขติดสบายก็ไม่กล้ามา แม้จะรู้ว่ามันเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่ก็หาข้ออ้างหาเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องมา แต่ว่าการที่พวกเราหลายท่านมาจนถึงที่นี่ได้ ไม่ว่าจะเคยมาปฏิบัติลักษณะนี้มาก่อนหรือไม่ แต่เมื่อตั้งใจมาถึงนี่แล้วก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม น่าอนุโมทนา มันอาจจะเป็นก้าวที่สำคัญในชีวิตของเราก็ได้ เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้มารู้จักตัวเอง พร้อมๆ ไปกับการเอาชนะกิเลส ที่มันคอยล่อหลอกหรือลวงเราให้หลง
การมาปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์นี้ ไม่ใช่เพียงแค่มาฝึกความอดทน เพราะความอดทนนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว จะเรียกว่าเป็นผลพลอยได้ก็ได้ แต่ว่าสิ่งที่น่าจะได้มากกว่านั้น ก็คือการที่เราได้รู้จักตนเองโดยเฉพาะจิตใจ ได้มาเห็นได้มารู้จักว่า ใจนี้มันเป็นเหตุชักนำความทุกข์ได้อย่างไรบ้าง และก็รู้ทางออกจากทุกข์ ด้วยจิตใจนี่แหละ การมาปฏิบัติธรรมแบบเก็บอารมณ์หรือไม่เก็บอารมณ์ก็แล้วแต่ มันก็เป็นการฝึกจิตเพื่อทำให้มีสติ มีปัญญา ไม่ใช่มีแค่ขันติหรือความอดทนเท่านั้น แต่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องรู้จักการปฏิบัติ วางจิตวางใจให้ถูกต้องด้วย สิ่งหนึ่งที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับพวกเราที่จะมาเก็บอารมณ์ 40 วัน ก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่ในป่าหรือว่าอยู่ในที่ทางของเราอย่างปกติสุข ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่กุฏิ ก็ต้องกางเต็นท์อยู่ ตำแหน่งที่อยู่ก็อาจจะกระจัดกระจายอยู่ในป่า มันเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยสำหรับหลายคน สิ่งหนึ่งที่มันจะช่วยได้อย่างมาก ทำให้การปฏิบัติของเราราบรื่น ก็คือ มีความพอใจในจุดที่เราเลือก หรือว่าจุดที่เราได้รับมอบหมาย หลายคนพอเลือกว่าจะอยู่ตรงนี้ พอไปเห็นเพื่อนไปอยู่อีกจุดหนึ่งซึ่งมันดูดีกว่า ตำแหน่งมันดีกว่า ก็เริ่มจะไม่พอใจจุดที่ตัวเองปักหลักอยู่ ตรงนี้มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์เลยก็ได้
หลายคนแค่วันแรกก็ทุกข์แล้ว เพราะไปเปรียบเทียบว่า คนนั้นเขาได้อยู่สบาย คนนั้นเขาได้อยู่จุดที่มันสะดวก หรือว่าสงบสงัด ธรรมชาติคนเรานี่ก็ชอบเปรียบเทียบ มีคำพูดเป็นภาษิต หรือสำนวนของฝรั่งว่า “สนามหญ้าของเพื่อนบ้านจะเขียวกว่าสนามหญ้าของเราเสมอ” คือเราเห็นสนามหญ้าของเพื่อนบ้าน จะรู้สึกว่าทำไมมันสวยอย่างนี้ สนามหญ้าบ้านเราไม่สวยเลย อันที่จริงของเราอาจจะสวยกว่าก็ได้ แต่ธรรมชาติคนเราเวลาเปรียบเทียบจะเห็นว่าของคนอื่นเขาดีกว่าของเราเสมอ และนี่อาจจะเป็นปัญหาของคนที่มาปฏิบัติตั้งแต่วันแรกๆ ทีแรกเราก็เลือกตรงนี้แหละ แต่พอเดินไปเห็นตำแหน่งของคนนั้นคนนี้ ตรงป่าไผ่บ้าง หรือตรงหินโค้งบ้าง มันดีกว่าของเราตั้งเยอะ ตอนนี้เราจะเริ่มไม่มีความสุข ไม่มีความพอใจมันคิดแต่จะย้าย ยิ่งถ้าเกิดว่าไม่ได้เลือกเอง แต่ว่าได้รับมอบหมายหรือว่ามีคนเลือกให้ มันก็จะยิ่งเห็นแต่ข้อไม่ดี จุดบกพร่องของที่ที่เราอยู่ ต้องฝึกใจ มองให้เห็นถึงข้อดี ข้อเด่นของตำแหน่งที่เราเลือกหรือตำแหน่งที่เราอยู่ พยายามรัก มีความพอใจตรงนั้นให้ได้ พยายามเห็นข้อดีของตรงนั้นให้ได้ แล้วก็รู้สึกเกิดความพอใจที่ได้อยู่ตรงนั้น ถ้าเรามีความรักมีความพอใจในสถานที่นั้น สถานที่นั้นก็จะอำนวยประโยชน์ให้กับเรา แต่ถ้าเราไม่ชอบสถานที่นั้น สถานที่นั้นก็จะทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้น มันก็เหมือนกับเราทำงานถ้าเรารักงานที่ทำ เราเห็นคุณค่าของงานที่ทำ งานนั้นก็จะให้คุณค่ากับเรา แต่ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของงานนั้น ถึงแม้ว่างานนั้นจะมีเงินเดือนเยอะ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า คุณค่าของตัวเรามันไม่ได้อยู่ที่ว่า งานนั้นคืองานอะไร แต่ว่ามันอยู่กับเราให้คุณค่าของงานนั้นแค่ไหน ถ้าเราให้คุณค่ากับงานนั้น งานนั้นก็จะให้คุณค่ากับเรา ถึงแม้จะเงินเดือนน้อย หรือว่าสายตาคนอื่นจะมองว่าเป็นงานที่ต่ำต้อยก็ตาม
ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อเราให้คุณค่า ให้ความยอมรับในสถานที่ที่เราเลือก สถานที่นั้นแหละก็จะอำนวยประโยชน์ อำนวยความสุขให้กับเรา เมื่อเลือกตรงไหนแล้วก็ควรจะอยู่ตรงนั้นไปจนตลอดให้ครบ 40 วัน ถ้าเราตั้งใจจะอยู่ทั้ง 40 วัน ไม่อย่างนั้นจะจับจด อยู่ไปได้ 2 – 3 วัน เดี๋ยวหาข้ออ้างจะย้าย ย้ายไปนั่น ย้ายไปนี่ แล้วก็ไม่มีความพอใจซักที กลายเป็นว่าแทนที่จะมาปฏิบัติธรรม มาเรียนรู้จิตใจตัวเอง ก็กลายเป็นว่าถูกความคิดมันหลอก มันหลอกเรา มันหลอกให้เราจับจด ไม่พอใจสักอย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าโดนกิเลสมันเล่นงานแล้ว เรามาปฏิบัติเพื่อเอาชนะกิเลสหรือเพื่อไม่ให้กิเลสครอบงำมาหลอกล่อเรา แค่วันแรกหรือสองสามวันแรกนี่ก็พลาดท่าเสียทีแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราอยู่ตรงไหน เมื่อเราเลือกแล้ว ก็ขอให้เราอยู่ตรงนั้น พยายามมองให้เห็นว่าตรงนั้นมันดีอย่างไร มันเกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างไร มันเป็นสัปปายะแค่ไหน มันอยู่ที่มุมมองของเรา ถ้าเรามองบวก มองเห็นด้านดีของมัน เราก็จะปฏิบัติอย่างมีความสุข ไม่งุ่นง่าน ไม่หงุดหงิด
ประการต่อมาก็คือว่า เมื่อเรามาถึงนี่แล้วก็ควรจะตั้งจิตอธิษฐาน อธิษฐานในที่นี้ไม่ได้แปลว่าขอ “ขอให้การปฏิบัติเจริญก้าวหน้า” อันนั้นไม่ใช่การอธิษฐานที่ถูกต้อง อธิษฐานภาษาบาลีหรืออธิษฐานในพุทธศาสนา แปลว่า ตั้งจิต มั่นคงเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ เช่น ถ้าเราตั้งใจจะมาปฏิบัติที่นี่ 40 วัน ก็อธิษฐานเลยว่าเราจะอยู่ที่นี่ 40 วัน ถ้าไม่ถึง 40 วันเราจะไม่ไปไหน ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม อาจจะอธิษฐานตั้งแต่ว่า เมื่อเราอยู่ตรงนี้เราก็จะไม่ย้ายไปไหนจนครบ 40 วันด้วยก็ได้ สำคัญมาก เพราะว่ากิเลสหรือมารจะคอยล่อหลอกให้เราคลายความเพียร เราตั้งใจจะมา 40 วัน แต่ว่าพอมาได้สัก 3-4 วัน มันก็ท้อแล้ว เบื่อแล้ว จะถอยทัพแล้ว ถ้าเราไม่ตั้งจิตอธิษฐาน เราก็จะพ่ายแพ้ต่อกิเลสได้ง่ายมาก เพราะว่ามันจะมีข้ออ้างมากมาย ที่จะทำให้เราเลิกการปฏิบัติ เช่นทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย หรือว่าเบื่อเหลือเกิน มันลำบากมาก บางทีก็จะโทษนั้นโทษนี้ โทษดินฟ้าอากาศ โทษวัด โทษเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นข้ออ้างว่า เราเลิกดีกว่า แต่ถ้าเรามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว เหตุผลต่างๆ ที่จะมาล่อหลอกให้เราเลิกปฏิบัติมันก็จะหายไปเลย หรือว่ามันก็จะมาประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็หายไป อย่าคิดเพียงแค่ว่า จะทำให้ดีที่สุด หลายคนมาด้วยว่า ฉันจะทำให้ดีที่สุด คำว่าดีที่สุดมันแค่ไหน มันกลวงมาก คำว่า “ดีที่สุด” มันไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะว่าเราก็จะอ้างได้ว่า มาได้ 4 วัน 5 วัน 7 วัน เราก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว เราทำดีที่สุดแล้ว ทำได้แค่นี้ มันยังเปิดช่องให้กิเลสมาล่อหลอกเราอยู่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องตั้งจิตเลยว่า เราจะอยู่ให้ครบ 40 วัน ใครที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาแค่ 7 วัน ก็อธิษฐานว่าจะอยู่ให้ครบ 7 วัน
และถ้าให้ดีก็อธิษฐานไปด้วยว่าจะพยายามไม่นอนกลางวัน เพราะว่าพอปฏิบัติไป ๆ นิวรณ์ตัวแรก คือ ถีนมิทธะ ความง่วงมันจะเข้ามาเล่นงานเรา แล้วพอเล่นงาน ถ้าเรายอมแพ้ การปฏิบัติของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เว้นแต่ว่าเราป่วย คือถ้าเราอดนอนหรือว่าป่วย อันนี้ก็สมควรที่จะนอนพักได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเวลาปฏิบัติ เราไม่ได้ง่วงเพราะกาย แต่เราง่วงเพราะใจ ใจมันเบื่อ มันไม่มีสิ่งเร้า อยู่ข้างนอก อยู่วัดอยู่บ้านมันมีสิ่งเร้าให้จิตเรามันตื่นตลอดเวลา สิ่งเร้าก็เช่น แสง สีเสียง ข้อมูลข่าวสาร เดี๋ยวนี้มันมาหลายทางเหลือเกิน โดยเฉพาะจากโทรศัพท์มือถือโซเชียลมีเดีย รวมทั้งจากงานการต่างๆ หลายคนก็ทำงานเยอะ งานการต่างๆ ต้องพบปะผู้คน ก็เป็นสิ่งเร้า ทำให้จิตเรามันตื่น แต่พอมาปฏิบัติอย่างนี้ ยิ่งมาเก็บอารมณ์ด้วยแล้ว พูดคุยกับคนก็ไม่ค่อยได้พูดคุยเท่าไหร่ แสงสีก็ไม่มีมาเร้าใจ งานการก็ไม่ได้ทำ มีแต่อยู่ในอิริยาบถซ้ำๆ เช่น สร้างจังหวะเดินจงกลมกลับไปกลับมา แล้วก็อยู่ในที่ที่เดียว ไม่ได้ไปไหนไกล มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า เห็นแต่สีเขียว มันก็จะค่อยๆ ง่วง ง่วง
แล้วถ้าเรายอมแพ้ก็คือนอน นอนกลางวัน มันก็จะได้ใจ กิเลสมันไม่อยากให้เราปฏิบัติอยู่แล้ว มันก็จะอ้างว่า ง่วงนอน ให้เรานอนดีกว่า ทั้งที่เราไม่ได้อดนอนเลย ทั้งที่ร่างกายเราก็ไม่ได้อ่อนเพลีย แต่มันจะล่อให้เรานอน เพื่อว่าเราได้เลิกปฏิบัติ เพราะถ้าเราปฏิบัติก้าวหน้า เราจะสามารถเอาชนะมันได้ ไม่อยู่ในอำนาจของมันอีกต่อไป มันก็จะล่อให้เราคลายความเพียรด้วยการง่วงนอน แล้วก็หลอกล่อให้เรานอน เพราะฉะนั้นถ้าเราเชื่อมัน เรายอมมันก็จะง่วงแทบทุกวัน พอถึงเวลาสักบ่ายๆ เอาละ ง่วงแล้ว และยิ่งปฏิบัตินี่เราคิดว่าไม่มีใครที่จะมาเดินตรวจตราเรา ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ทำตามกิเลสง่ายขึ้น แล้วก็หลับไปเลย พอหลับไปแล้ว 2-3 ชั่วโมงตื่นขึ้นมา ถึงเวลาค่ำมันไม่หลับ ตาค้างตาสว่าง ก็กลายเป็นว่านอนได้ไม่กี่ชั่วโมง พอตื่นเช้าขึ้นมามันก็จะง่วง เพราะอดนอน หรือว่านอนน้อย แล้วเราก็จะกลายเป็นว่าอยู่กับความหลงความง่วง การปฏิบัติก็เลยไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่ ให้เราอธิษฐานว่าเราจะไม่นอนตอนกลางวัน เว้นแต่ว่านอนไม่หลับหรือว่าเจ็บป่วย อันนี้ถือว่าเป็นสาเหตุทางกายก็มีเหตุผล ให้ลองอธิษฐานง่ายๆ อย่างที่ว่ามา ตั้งใจจะอยู่ครบ 40 วัน จะไม่นอนกลางวัน
หรือถ้าใครจะเข้มงวดกับตัวเอง เช่น จะไม่คลุกคลี จะไม่ไปพูดคุยกับใคร เราจะอยู่กับตัวเอง การอยู่กับตัวเองในช่วง ๔๐ วัน เราจะอยู่กับตัวเองมากทีเดียว เป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้ฝึกจิตฝึกใจ แต่ก็อย่างที่คนโบราณว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” พอเรามาอยู่คนเดียวเก็บอารมณ์นี่ สิ่งที่น่ากลัวมันไม่ใช่อะไรอื่น บางคนก็กลัวงู บางคนก็กลัวผีสาง พวกนั้นไม่น่ากลัวเลย ระวังเอาไว้ก็ดี แต่สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดก็คือ ความคิด ในใจหรือในหัวของเรา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการปรุงแต่งของกิเลสของมาร อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่ มันจะล่อหลอกให้เรานอน มันจะล่อหลอกให้เราเลิกปฏิบัติ แต่ยังมีอีกมากมาย เราสามารถอยู่ในป่าเพื่อที่จะไม่มีมากระตุ้นให้ส่งจิตออกนอก นี่คือเหตุผลที่เรามาเก็บอารมณ์ เพื่อว่าจะไม่มีสิ่งเร้าเพื่อให้จิตส่งออกนอก แต่จิตมันก็ยังเผลอ เข้าไปในความคิด เข้าไปในโลกแห่งความคิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโลกของอดีต หรือไม่ก็ไปในโลกของอนาคตที่ปรุงแต่ง
หลายคนพอปฏิบัติไปทีแรกก็ง่วง ต่อไปพอเริ่มคุ้นเริ่มเคยละ อยู่ได้ไปสัก 3-4 วัน มันก็จะเริ่มฟุ้งแล้ว จิตมันก็จะพยายามหาเรื่องราวมาเพื่อกระตุ้นให้มันตื่นตัว จิตนี่มันเสพติดความคิด ร่างกายบางคนอาจจะเสพติดบุหรี่เสพติดกาแฟ แต่จิตมันเสพติดความคิด พออยู่ในป่าหรือว่าอยู่ในกุฏิเก็บอารมณ์นี่ พอมันไม่มีความคิดมันก็เริ่มหงอย มันก็เริ่มไม่มีชีวิตชีวา ก็ต้องหาทางกระตุ้นให้เกิดความคิดขึ้น ตอนนี้แหละมันจะคิดฟุ้งซ่าน มันจะเกิดทั้งความลังเลสงสัย คือ วิจิกิจฉา มันจะเกิด อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือ ความคิดฟุ้งซ่านร้อนใจ คือวิตกกังวล สารพัด และหลายคนพอคิดฟุ้งซ่านแล้วทำไง ก็พยายามกดข่มมันเอาไว้ เพราะว่ามานี่ก็อยากให้ใจมันสงบ พอมันฟุ้งซ่านขึ้นมาก็มีอาการไม่พอใจ แล้วยิ่งกดข่มมันเท่าไหร่ มันก็ยิ่งต่อต้าน ยิ่งพยศ ยิ่งอาละวาด ก็กลายเป็นว่ายิ่งกดก็ยิ่งฟุ้ง แล้วก็ทำให้หลายคนเกิดความเครียดเกิดความหงุดหงิด มีอาการกระสับกระส่าย ยิ่งถ้าไม่มีอะไรทำเพลินๆ แต่ก่อนถ้ามีความหงุดหงิดแบบนี้ฟุ้งซ่านแบบนี้ เราก็หลบไปหนีไปพูดไปคุย ไปหาเรื่องเสพ ดู ให้มันเพลินๆ มันจะได้หยุดฟุ้งซ่านซักที แต่พอไม่มีสิ่งเหล่านี้หรือทำอย่างนั้นไม่สะดวก ก็จะหงุดหงิดเครียด บางคนก็กระสับกระส่าย ทุรนทุราย สุดท้ายก็ทนไม่ได้ก็ต้องออกไป ออกไปคุย ออกไปคลุกคลี
จริงๆ ความฟุ้งซ่านมันไม่ใช่ปัญหา ความฟุ้งซ่านหรือความคิดที่มันผุดขึ้น เขามาเพื่อให้เราได้เรียนรู้ เขามาเพื่อให้เราได้ฝึกสติรู้ทัน ปัญหาเกิดขึ้นเพราะเราไม่ชอบความฟุ้งซ่าน พอไม่ชอบความฟุ้งว่านก็เลยไปกดข่มมันเอาไว้ มันคิดทีไรก็จะไปกดมันทุกที ข่มมันทุกที และสุดท้ายก็จะมีอาการหน้ามืดหนักหัว หายใจไม่ค่อยสะดวก เกร็ง ยังไม่นับความหงุดหงิด ความรำคาญ ความเครียด อันนี้ต้องวางใจให้ถูก ว่าเรามาฝึกให้เรารู้ทันความคิด ไม่ใช่ให้ความคิดมันหายไป บางคนมาด้วยความหวังว่าจะให้จิตสงบ ไม่คิดเลย เพราะฉะนั้นพอคิดทีไรก็จะไปกดข่ม กำจัด เราไม่ได้มาฝึกเพื่อให้ความคิดหมดไป แต่เพื่อให้รู้ทันความคิด พูดอีกอย่างคือ เราไม่ได้มาฝึกเพื่อควบคุมความคิด แต่เพื่อไม่ให้ความคิดมาควบคุมเรา ต่างกันมากเลย พยายามควบคุมความคิด กำจัดมันให้หมดไปจากใจ กับการที่รักษาใจไม่ให้มันมาควบคุมเรา หมายความว่า มันจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ว่ามันทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็แค่เห็นมัน มันมาเพื่อเป็นคู่ซ้อมให้กับสติ เพราะสติของเราต้องมีการบ้าน ต้องมีคู่ซ้อม ถึงจะเข้มแข็งฉับไว
ฉะนั้นอย่าไปรังเกียจความคิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราวางใจเป็นกลางกับมันก็ไม่เกิดความทุกข์ เกิดความหงุดหงิดอะไร แต่เป็นเพราะเราไม่ชอบ เรารู้สึกลบกับมัน อะไรก็ตาม มันไม่ได้สร้างปัญหากับเรา เท่ากับการที่เรารู้สึกลบกับมัน บางครั้งมันก็มีเสียงดัง เสียงดังไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดจากการที่ใจไม่ชอบเสียงนั้น ใจรู้สึกรบกับเสียงนั้น จิตมันก็เลยดิ้นเลย พอจิตดิ้นปุ๊บ ใจนี่ทุกข์เลย ความทุกข์ใจมันเกิดเพราะจิตที่มันดิ้น ดิ้นเพราะอยากได้ ดิ้นเพราะอยากผลักไส อยากหนี สถานที่ที่เราอยู่ก็เหมือนกัน บางครั้งมันก็อาจดูขี้เหล่ แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลางกับมันก็ไม่เป็นอะไร แต่พอเรารู้สึกลบกับมัน เราก็จะไม่มีความสุขเลย และถ้าเราคิดแต่จะหนีไปหาที่ใหม่ เราก็จะหนีเรื่อยไป แต่ถ้าเราเริ่มรู้จักจะยอมรับมัน รู้จักวางใจเป็นกลางกับมัน เราก็จะพบกับความสงบในจิตใจ เสียงก็เหมือนกัน เสียงดังถ้าเราไม่หงุดหงิดกับมัน ทำใจเป็นกลางกับมัน ยอมรับว่า มันดังก็ดังไป ใจก็จะสงบได้ สงบได้ทั้งที่เสียงดังมากระทบหู
ความคิดฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน ถ้าเรามองให้เป็นธรรมดา ธรรมดาของใจที่มันจะฟุ้ง ไม่คาดหวังให้มันสงบ เพราะรู้ว่าจิตมันเป็นอนัตตา ก็ยอมรับมัน มันจะฟุ้งก็ฟุ้งไป แต่ว่าเราก็จะพยายามเรียนรู้หรือรู้เท่าทันมัน ลองมองว่ามันมาเป็นครู เป็นแบบฝึกหัดสอนใจเราบ้าง ให้มีสติ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องวางใจให้ถูกเลยว่า ไม่ควรจะมาปฏิบัติเพื่อหวังความสงบ ชนิดที่ว่า จิตไม่คิดอะไรหรือคิดน้อย แต่ว่ามาปฏิบัติเพื่อจะได้รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ รู้มันนิวรณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น จะไม่ให้มันมีเลยมันก็ไม่ได้ แต่ถึงแม้มันมี หากเรารู้ทัน มันทำอะไรเราไม่ได้ เรามาฝึกใจให้รู้ทันด้วยสติ
ฉะนั้นถ้าวางใจแบบนี้ได้ ด้วยการปฏิบัติของเราจะราบรื่น ไม่ว่าใจมันจะฟุ้งหรือไม่ฟุ้ง ลองดูใจของเรา สังเกตใจของเรา เวลาเราปฏิบัติ หน้าดำคล่ำเคร่งไหม พยายามทำให้ใจผ่อนคลาย หลวงพ่อเทียนเคยแนะนำอาตมาตั้งแต่วันแรกๆ เลยว่าให้ทำเล่นๆ ทำเล่นๆ แต่ทำจริงๆ ทำเล่นๆ ก็หมายความว่า ไม่ทำด้วยความคาดหวัง มันจะฟุ้งบ้างมันจะหลงบ้างก็ไม่เป็นไร ช่างมัน เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องหงุดหงิดกับความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น มันฟุ้งไปแล้วก็ช่างมัน ไม่ต้องไปทบทวนว่าฟุ้งหรือคิดอะไรเมื่อซักครู่ ทำไมถึงคิด
“คิด” หลวงพ่อเทียนบอกว่า คิดดีก็ช่าง คิดไม่ดีก็ช่าง ไม่เป็นไร หลงไปแล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่ อย่าไปหงุดหงิด รำคาญ มันเป็นธรรมดา อันนี้เราทำเล่นๆ แต่ว่า ทำจริงๆ ก็คือว่า เราทำตั้งแต่เช้า ตื่นนอนขึ้นมาจนเข้านอน ทุกอิริยาบถเป็นการเจริญสติทั้งหมด ไม่ใช่แค่เดินจงกลมสร้างจังหวะ ตื่นเช้าขึ้นมาเก็บที่นอน ล้างหน้า แปรงฟัน อันนี่ก็เจริญสติ เดินไปตักอาหารก็เจริญสติ ทำความรู้สึกตัวไป เข้าห้องน้ำ ก็เจริญสติ ถือเป็นการปฏิบัติไปในตัว ถ้าทำอย่างนี้ตลอดทั้งวันก็ถือว่าทำจริงๆ แต่ทำด้วยใจที่ผ่อนคลาย ไม่มีอาการหน้าดำคล้ำเคร่ง ไม่คิดจะเอาชนะกับอะไร ไม่ใช่ง่าย แต่ลองฝึกแบบนี้ดู ฝึกเพื่อที่เราจะได้รู้จักทำเล่นๆ แต่ว่าทำจริงๆ แต่มันก็จะไม่ง่ายหรอก เพราะว่า พอทำไปทำไป จิตที่คิดจะเอาชนะ มันก็จะครองใจเรา เราก็จะเริ่มหงุดหงิดรำคาญ ว่าทำไมมันฟุ้งเหลือเกิน เสร็จแล้วก็จะหงุดหงิดสิ่งอื่น ไปโทษเสียง ไปโทษอาหาร ไปโทษยุง ไปโทษดินฟ้าอากาศ ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นจากความหงุดหงิดที่จิตมันฟุ้งไม่หยุดหย่อนเสียที ลองวางใจเป็นกลางกับมัน หรือว่า มันมาสอนเราเพื่อมาฝึกให้มีสติรู้ทัน อย่ามองเขาเป็นศัตรู ให้มองเขาเป็นมิตรเป็นครู
คราวนี้เนื่องจากเรามาปฏิบัติแบบเข้มข้น เก็บอารมณ์แล้ว ทางวัดเราก็ให้สิทธิพิเศษหลายอย่างเช่น ไม่ต้องมาทำวัตรก็ได้ ไม่ต้องบิณฑบาต งานการที่เป็นกิจส่วนรวมไม่ต้องทำก็ได้ เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า เราก็ควรปฏิบัติอย่างตั้งอกตั้งใจ ไม่ใช่ว่าพอไม่ต้องทำวัตรก็เลยนอนตื่นสายไปเลย มาตื่นอีกทีก็ได้เวลาไปตักอาหาร หลายคนเก็บอารมณ์เพราะเหตุนี้แหละ เพราะว่าไม่อยากตื่นเช้าไม่อยากทำวัตร อันนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการมาเก็บอารมณ์หรือการมาปฏิบัติแบบเข้มข้น
และยิ่งกว่านั้นก็อาจจะเอาเวลาว่างที่มี สมัยนี้นี่ ทุกคนก็มีโทรศัพท์มือถือกัน ถ้าเก็บอารมณ์แล้วมาใช้โทรศัพท์มือถือ เล่นไลน์ เล่นเฟสบุก อันนี้ก็ไม่สมควร ในเมื่อเราได้สิทธิพิเศษที่จะไม่ทำวัตร ไม่มาสวดมนต์ ไม่บิณฑบาต ไม่มาทำกิจส่วนรวม ก็ควรตั้งใจปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้มาใช้โทรศัพท์มือถือในการพูดคุย หรือว่าในการใช้เล่นไลน์ อันนี้ก็คงจะทราบดีอยู่แล้ว และก็ควรงดการพูดคุย การคลุกคลี มันจะมีความอยากคลุกคลีมากเลย อยากจะเข้าไปพูดคุยกับคนมากเลย เพราะธรรมชาติคนเราก็อยากจะคุยกันอยู่แล้ว คุยมันก็เพลิน ยิ่งมีความเครียด มีความง่วง หรือว่าฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย ก็อยากจะไปพูดคุย จะเป็นเพราะเพื่อให้หายง่วง หรือจะเพื่ออะไรก็แล้วแต่ และขอให้หลีกเลี่ยงการไปคลุกคลีพูดคุยกัน
อีกอย่างก็คือว่า การตัดต้นไม้หรือการตัดสมุนไพร ที่นี่เราอนุรักษ์ป่า และอนุรักษ์สมุนไพร บางคนว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็ก่อไฟต้มสมุนไพร ก็ต้องไปตัดสมุนไพร อันนี้เราก็ขอร้องว่า อย่าตัดต้นไม้ อย่าตัดสมุนไพร แล้วก็อันหนึ่งคือเรื่องการตักอาหาร ตักให้พอ แต่ว่าอย่าให้เกิน เพราะว่าเกินแล้วก็ต้องทิ้ง มีหลายคน พออาหารเหลือก็เลี้ยงหมา ที่นี่เราพยายามไม่เลี้ยงหมา หรือจะสังเกตหมายั้วเยี้ยเต็มวัดเลย เราก็พยายามที่จะไม่ส่งเสริมให้เอาอาหารเลี้ยงหมา แต่ว่าหลายคนที่ตักอาหารมาเกินแล้วก็อดไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นประเด็นใหญ่ๆ ที่อยากจะฝากเอาไว้ ข้อกำหนดอื่นๆ ก็คงมีอยู่แล้ว แล้วก็ได้พูดไปแล้ว แต่ที่พูดมาตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าปีก่อนๆ ก็มีหลายท่านทำแบบนี้ ซึ่งก็ก่อปัญหากับเพื่อนที่ร่วมปฏิบัติและก่อปัญหากับทางวัด เพราะฉะนั้นก็ต้องขอความร่วมมือที่จะช่วยกัน เพื่อทำให้การปฏิบัติของเราก้าวหน้าและไม่ไปรบกวนการปฏิบัติของผู้อื่น และถ้าส่งเสริมการปฏิบัติของผู้อื่นก็ยิ่งดี ซึ่งการส่งเสริมการปฏิบัติของผู้อื่นก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่เราทำของเราให้ดี ไม่ไปรบกวนใคร ก็เท่ากับช่วยคนอื่นแล้ว การช่วยคนอื่นเริ่มจากการที่เราปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก่อน ไม่เป็นภาระหรือสร้างปัญหาให้กับใคร.