แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สวดมนต์ทำวัตรเช้า เราได้สาธยายธรรมะหลายประการที่ควรแก่การพิจารณา อย่างเช่นเมื่อสักครู่เราก็ได้สาธยายความจริงเกี่ยวกับทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็จำแนกมา 12 อาการ 12 อย่าง เริ่มตั้งแต่ความเกิดก็เป็นทุกข์ จนไปถึงว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้งห้าเป็นตัวทุกข์ ตรงกลาง ๆ มีข้อความที่น่าพิจารณามาก ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์
ลองพิจารณาดู ความทุกข์ของคนเราซึ่งปัจจุบันก็มีถึง 7,000 ล้านกว่าคน แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา แต่ความทุกข์ของมนุษย์เราทั้งหลาย ก็หนีไม่พ้นความทุกข์สามประการนี้แหละ ประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ เช่น ความร้อน ความหนาว ความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ ความเจ็บป่วย ความพลัดพราก ความล้มเหลว คำต่อว่าด่าทอ รวมไปถึงความตาย ขณะเดียวกันก็ประสบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจ นี่ก็เห็นชัดอยู่ เงินหาย ของหาย ถูกริบทรัพย์ ถูกลดตำแหน่ง หรือว่าถูกแย่งงาน หรืออาจจะตกงาน รวมทั้งคนรักล้มหายตายจากไป ไม่ว่าคนเราจะเจริญก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด กี่หมื่นกี่แสนปี ความทุกข์ของคนเราก็หนีไม่พ้นสองข้อนี้เป็นเรื่องหลักเลย ยิ่งถ้ารวมข้อที่สามด้วย ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ อันนี้เรียกว่าทุกข์ของคนทั้งหลาย ไม่ว่าอดีตถึงปัจจุบันก็หนีไม่พ้นสามประการนี้ และถ้าเรากำลังทุกข์อยู่อย่างทุกวันนี้หรือขณะนี้ ลองดูเถอะ มันก็อยู่ในสามข้อนี้แหละ โดยเฉพาะสองข้อแรก
ถึงแม้ว่ามนุษย์เราจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น หรือว่าทุกวันนี้คนเราร่ำรวยมากขึ้น ความทุกข์กายอาจจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ แม้จะมีอยู่บ้าง เช่น โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดที่รักษาไม่หาย แต่มันก็รบกวนพวกเราน้อยลง ช่วยทำให้มีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ว่าพูดถึงความทุกข์ใจแล้ว ไม่ได้ลดลงเลย คนในยุคปัจจุบันอาจจะทุกข์ใจยิ่งกว่าคนสมัยก่อน คนที่ร่ำรวยอาจจะมีความทุกข์ใจมากกว่าคนที่ยากจนเสียอีก คนยากจนอาจจะเดือดร้อนเรื่องปัจจัยสี่ ต้องเหนื่อยยากในการทำมาหากิน อันนี้เป็นความทุกข์ทางกาย แต่อาจจะไม่ได้ทุกข์ใจเหมือนอย่างคนที่มีเงินก็ได้ อย่างที่เราสังเกตได้ คนที่เป็นโรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย สัดส่วนส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้ยากจนข้นแค้นและก็อาจจะไม่ได้เจ็บป่วยด้วยซ้ำ คือว่าทุกข์กายนี่น้อย ทุกข์ใจกลับมาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อันตรายของคนเรามีอยู่ ๒ อย่าง คืออันตรายที่เปิดเผยกับอันตรายที่ปกปิด อันตรายที่เปิดเผย ก็คืออันตรายที่เห็นง่าย ๆ เห็นกันอยู่นอกตัวเรา เช่น สิงห์สาราสัตว์ งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ผู้ร้าย รวมถึงภัยธรรมชาติ พายุฝน หรือว่าแผ่นดินไหว โรคระบาด นี่เรียกว่าภัยที่เปิดเผย อันตรายที่เปิดเผย อันตรายที่ปกปิด อันนี้ก็น่ากลัวไม่น้อย ก็คือความโกรธ ความโลภ ความถือตัว ความอิจฉา ความทะยานอยาก ความหลงตน ทุกวันนี้อันตรายที่เปิดเผยมันมีน้อยลง เราสามารถจะควบคุมบงการธรรมชาติได้มากขึ้น จัดสวัสดิการทำให้คนหิวโหยน้อยลง โรคภัยไข้เจ็บก็คุกคามน้อยลง มีการรักษาความปลอดภัยทำให้โจรผู้ร้ายลดน้อยลง
แต่ว่ามันก็ไม่ได้ช่วยทำให้อันตรายที่ปกปิดมีน้อยลงเลย เพราะมันเป็นเรื่องของตัวบุคคลมาก แล้วจะว่าไปยิ่งสังคมเจริญมากขึ้น อันตรายที่ปกปิดก็ยิ่งแพร่ระบาดมากขึ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนเราพอมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือว่ามีการพัฒนาประเทศกันมาก เทคโนโลยีก้าวหน้า เราจะมีความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งรวยยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความคาดหวังสูง และเมื่อมีความคาดหวังสูง ถ้าความคาดหวังนั้นมันไม่บรรลุก็จะทุกข์ทันทีเลย คนที่คาดหวังต่ำ เขาอาจจะมีความสุขได้ง่ายกว่าคนที่คาดหวังสูง และคนที่คาดหวังต่ำ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ยากจนหรืออยู่ในประเทศที่ยังไม่พัฒนา อย่างเช่นในแอฟริกา เวลานั่งเครื่องบิน แค่เครื่องบินร่อนสู่พื้นอย่างปลอดภัย คนจะดีใจมากเลย ปรบมือ...เฮ ๆ แต่คนในประเทศที่ร่ำรวย เพียงแต่ WIFI บนเครื่องบินไม่มี หรือว่ามันไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ ก็หงุดหงิดแล้ว ทั้ง ๆ ที่เครื่องบินลำนั้นก็ปลอดภัย สามารถจะนำพาผู้คนสู่สนามบินหรือสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย แต่คนรู้สึกเฉย ๆ แต่ถ้า WIFI ไม่มี ไม่แล่น ไม่เร็ว หงุดหงิดแล้ว
คนสมัยก่อนถ้ามีกิน มีอาหารครบสามมื้อ หรือว่าวันใดได้ปลาทูมาตัวหนึ่ง โอ๊ย...ดีใจ ได้ไข่มาลูกหนึ่ง ฟองหนึ่ง ก็มีความสุขแล้ว แต่คนสมัยนี้หรือในประเทศที่ร่ำรวย เพียงแค่โทรศัพท์มือถือบูตช้าหน่อย หรือว่า WIFI ไม่เร็วพอ หงุดหงิดแล้ว อันนี้เพราะอะไร เพราะความคาดหวังสูง พอความคาดหวังสูง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยถ้ามันไม่สมหวัง ไม่สมปรารถนา หรือไม่สมใจ ก็จะโกรธ จะไม่พอใจ หรือเป็นทุกข์ทันที นี่เรียกว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ และอย่างที่เรารู้กัน ยิ่งรวย ยิ่งเจริญ ยิ่งมีการศึกษามาก ความปรารถนายิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และพอถึงจุดหนึ่งมันสูงเกินความเป็นจริงไปแล้ว เช่นปรารถนาว่าจะไม่แก่ ปรารถนาจะไม่ให้พลัดพราก ขออย่าได้พลัดพราก ขออย่ามีคำว่าไม่มี อย่างที่หลายคนเวลาทำบุญก็อธิษฐานขออย่าได้รู้จักคำว่าไม่มี หรือว่าปรารถนาว่าขอให้ร่ำรวย ขอให้หนุ่มสาว ขอให้มีสุขภาพดีไปตลอด อย่างนี้เรียกว่าปรารถนาเกินความจริง เพราะฉะนั้นมันก็ทุกข์ง่าย เพราะว่าความจริงมันไม่เป็นไปอย่างที่ปรารถนา
ความปรารถนาที่สูงหรือว่าความอยาก มันก็เป็นภัยที่ปกปิดหรืออันตรายที่ปกปิด คืออันตรายภายใน ตัวนี้แหละ ทำให้คนทุกวันนี้รวมถึงพวกเรามีความทุกข์ ทุกกายอาจจะไม่เท่าไหร่แต่ทุกข์ใจมาก แล้วทำยังไงถึงจะไม่ทุกข์ใจ เราก็ลดความปรารถนาให้มันน้อยลง ให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เช่นในเมื่อเรารู้ว่าความเป็นจริง มันไม่เที่ยง มันไม่แน่ไม่นอน ไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับให้เป็นไปตามใจได้ สังขารร่างกายของเราถึงจุดหนึ่งมันก็แก่ เหี่ยว กำลังวังชาก็ลดน้อยถอยลง
เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว เราก็คาดหวังให้มันตรงกับความเป็นจริงสักหน่อย และถึงเวลาที่ความเป็นจริงฝ่ายลบมันแสดงตัว เราก็จะได้ไม่ทุกข์ หรือว่าอาจจะไม่ได้คาดหวัง ความหลงความเพลินมันทำให้เรามีความอยาก มีความเพ้อฝันที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พอความจริงไม่เป็นไปอย่างที่อยาก ทุกข์ขึ้นมาก็รู้จักทำใจ การทำใจนี้ก็สำคัญ คนสมัยนี้ เราไม่ค่อยได้ฝึกการทำใจเท่าไหร่ เวลามีปัญหาเราก็ไปแก้ที่ภายนอก เช่น เราไม่อยากแก่เราก็ไปพึ่งพาเทคโนโลยี เครื่องประทินโฉม ที่จะทำให้เราหนุ่มเสมอสาวเสมอ ผิวหนังตรงไหนมันเหี่ยวมันย่น ก็มีเครื่องประทินโฉม ทาให้มันดูขาวดูนวลเต่งตึง บางทีก็ไปผ่า บางทีก็ไปดูด แต่ว่าทำยังไงมันก็ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างที่ปรารถนาได้ จึงเกิดความทุกข์ แต่เมื่อทุกข์แล้ว เราตั้งตัวได้ เราตั้งสติได้ เราก็ทำใจ ทำใจยอมรับ อันนี้สำคัญมากเลย
การปฏิบัติธรรมส่วนหนึ่งก็เพื่อลดความคาดหวังของเรา หรือทำความคาดหวังของเราให้ตรงกับความเป็นจริง คือก็รู้ว่ายังไงร่างกายนี้มันก็ต้องเสื่อมไป ทรัพย์สมบัติที่มีก็ต้องเสื่อมไป ความคาดหวังของเราเมื่อเราลดตรงกับความเป็นจริง ถึงเวลาเสื่อม ถึงเวลาพลัดพราก ก็ไม่ทุกข์ หรือถ้าเกิดว่าอาจจะเผลอไปคาดหวังในสิ่งที่มันไม่ตรงกับความเป็นจริง สวนทางกับความเป็นจริง พอมันผิดหวังขึ้นมาอย่างน้อยก็รู้จักทำใจ คนสมัยก่อนเขาพึ่งพาเทคโนโลยีไม่ได้ จะไปใช้เทคโนโลยีไปควบคุมบังคับบัญชาร่างกาย สิ่งแวดล้อมนี่ทำยาก เครื่องประทินโฉมก็ไม่มี เทคโนโลยีที่จะผ่าเอาไขมันออก ดูดไขมันออกมันก็ไม่มี ฉะนั้นเวลาแก่ เขาก็ทำใจยอมรับความจริงได้ การยอมรับความจริงนี้ก็รวมทั้งการรู้จักทำใจกับเหตุการณ์ที่ไม่ชอบ ไม่พึงปรารถนา มันเป็นเรื่องที่ต้องฝึก เป็นสิ่งที่ต้องฝึก เพราะว่าถ้าใจเราปฏิเสธผลักไสไม่ยอมรับ มันทุกข์ทันทีเลย อย่างที่บอกเมื่อวาน ความทุกข์ใจของคนเรามันก็เกิดจากจิตที่มันดิ้น ดิ้นก็มีสองอย่าง ดิ้นเพราะอยากได้ อันนี้เรียกว่าตัณหา โดยเฉพาะกามตัณหา ภวตัณหา ดิ้นเพราะอยากผลักไส อยากให้พ้นออกจากภาวะนั้น อันนี้เรียกว่าภวตัณหา ซึ่งมันก็คล้าย ๆ หรือใกล้เคียงกับโทสะ เวลาเราเจอสิ่งที่ไม่ชอบแล้วจิตมันต่อต้านผลักไส ตรงนี้แหละคือสาเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ใช่เหตุการณ์
คนบางคนเจ็บป่วยแต่ว่าเขาไม่ทุกข์ อาจจะเป็นเพราะเขายอมรับความจริงได้ว่า เออ..คนเราเกิดมาก็ต้องเจ็บต้องป่วย หรืออาจจะเป็นเพราะเขาคาดหวังในทางที่ต่ำก็ได้ หรือเขาคิดเผื่อไว้สูง ๆ อย่างมีผู้ชายคนหนึ่ง ตัวซีด ผอม ไม่ค่อยมีเรื่ยวมีแรง ไปหาหมอ หมอเห็นก็ขอตรวจเลือดทันที ตรวจแล้วสักพักก็ให้คนไข้มาฟังผล เสร็จแล้วหมอบอกกับคนไข้ว่า ลุง...ลุงเป็นเบาหวาน ปรากฏว่าคนไข้ยิ้มเลย ดีใจ หมอก็งง หมอก็เลยถามว่า ลุง...ลุงเป็นเบาหวาน ต้องกินยาตลอดชีวิต ต้องคุมอาหารไปตลอดเลย ทำไมลุงยังยิ้ม แกก็ตอบว่า ก็เพราะผมคิดว่าผมจะเป็นเอดส์ไง คิดว่าจะเป็นเอดส์ แต่พอเป็นเบาหวานนี่ โอ้...ยิ้มเลย มันดีใจ เพราะว่าเบาหวานมันเบากว่าเอดส์เยอะ อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะใจของเรา อะไรเกิดขึ้นกับเรา มันไม่สำคัญเท่ากับว่าใจเรารู้สึกกับสิ่งนั้นอย่างไร ซึ่งมันก็เริ่มต้นจากว่าคาดหวังอย่างไรตั้งแต่แรก แล้วพอเจอแล้วนี่ ทำใจอย่างไร ยอมรับมันได้หรือว่าปฏิเสธผลักไสมัน ตรงนี้แหละที่ถ้าใจไม่ยอมรับหรือมีความคาดหวังสูง อันนี้เรียกว่าอันตรายที่ปกปิดมันเกิดขึ้นกับเราแล้ว
และที่จริงแล้วนี่ เป็นเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่น นอกจากความคาดหวังที่สวนทางกับความเป็นจริงหรือเพราะทำใจไม่ได้แล้ว รากเหง้าของมันคือความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นว่ามันต้องเที่ยง มันต้องสุข ยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ตัวนี้แหละ มันเป็นรากเหง้าของความทุกข์เลย ที่เราทุกข์ใจเพราะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ สาวไปจริง ๆ ก็จะไปเจอว่าเป็นเพราะความยึดมั่นถือมั่น ที่จริงมันไปยึดมั่นตั้งแต่ความคาดหวังแล้ว คาดหวังอะไรก็ตาม เช่น คาดหวังให้งานสำเร็จ หรือคาดหวังให้เพื่อนมาตามนัด คาดหวังให้รถหรือเครื่องบินออกตามเวลา ความคาดหวังนี่บางทีมันก็ยากที่จะเลี่ยง แต่ถ้าเราไปยึดมั่นกับมันมาก ๆ โอกาสที่จะทุกข์ก็มีสูง พอสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่ยึดที่คาดหวัง แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ทำให้เราหงุดหงิดหัวเสียได้ เครื่องบินดีเลย์ครึ่งชั่วโมง หรือว่าเพื่อนไม่มาตามนัดหรือว่ามาผิดนัดแค่ 15 นาที เราก็หงุดหงิด ด่าเพื่อน หรือว่าโกรธ โพสต์ข้อความด่าสายการบิน อันนี้เรียกว่าไปยึดมั่นกับความคาดหวัง
รวมทั้งเวลาเราทุกข์เพราะมีคนมาต่อว่าเรา หรือแม้แต่มีคนมาแนะนำ ยิ่งเป็นเด็กมาแนะนำเราซึ่งเป็นพ่อแม่ หรือลูกศิษย์มาแนะนำเรา เราเป็นอาจารย์ ก็รู้สึกเสียหน้า อันนี้ก็ทุกข์ เกิดความโกรธขึ้นมา อันนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะไปยึด ไปยึดภาพลักษณ์ ไปยึดหน้าตา ไปยึดมั่นในตัวกูของกูนั่นเอง อันนี้คือสิ่งที่เราต้องตระหนัก ต้องเห็นว่ามันคือรากเหง้าของความทุกข์ใจที่แท้จริง ไม่ใช่เพราะว่าเด็กมาแนะนำเรา ไม่ใช่เพราะมีคนมาว่าเรา ไม่ใช่เพราะว่าเครื่องบินมันดีเลย์ หรือว่าเพื่อนมาผิดนัด อันนั้นคือเหตุการณ์ภายนอก ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาก็ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือใจของเรา ว่าเราไปคาดหวังมากแค่ไหน ไปยึดมั่นถือมั่นไหม และสิ่งที่เรามักจะทำไปโดยไม่รู้ตัว พอไม่รู้ตัว มันก็เลยทุกข์ไปเรื่อย ๆ เพราะว่ารากเหง้าของความทุกข์มันยังอยู่ ฉะนั้น การมาปฏิบัติธรรมก็เพื่อมาให้เรารู้ รู้สาเหตุแห่งทุกข์
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน ท่านพูดไว้ดีบอกว่า คนเราไม่ได้มีหน้าที่ทุกข์ คนเรามีหน้าที่รู้ทุกข์ ก็คือว่าเวลาทุกข์แล้วนี่ เช่น ทุกข์ใจก็รู้ว่าใจมันทุกข์ อันนี้เป็นข้อแรกเลย คนจำนวนมากเวลาโกรธ เวลาเครียด เวลาหงุดหงิด ไม่รู้ตัวทั้ง ๆ ที่ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด มันคืออันตราย ถ้ามันเกิดขึ้นมาก ๆ ก็ทำให้เราป่วย ความดันขึ้น ปวดโน่น ปวดนี่ และที่สำคัญคือมันเผาใจเรา แต่ไม่รู้ ไม่รู้ตัวว่าโกรธ ไม่รู้ตัวว่าหงุดหงิด ไม่รู้ตัวว่าเกิดโทสะ บางทีมันเกิดกับเรา เวลาเราเจ็บ เวลาเราป่วย เวลาเราปวดเมื่อย เช่นนั่ง นั่งนาน ๆ หลายคนจะรู้สึกปวด รู้สึกเมื่อย แล้วจะรู้สึกทุกข์ขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าในใจมันมีความยินร้าย มันมีโทสะเกิดขึ้นด้วย
เวลาถามว่านั่งนาน ๆ นี่ทุกข์ไหม เขาบอกว่าทุกข์ ถามว่าทุกข์ที่ไหน ส่วนใหญ่ก็บอกว่าทุกข์ที่ขา ทุกข์ที่เท้า แต่มองไม่เห็นความทุกข์ที่ใจ ตอนนั้นใจอาจจะหงุดหงิด อาจจะไม่พอใจ แต่ไม่เห็น อันนี้เรียกว่าไม่รู้ตัว อันนี้เรียกว่าไม่รู้ทุกข์ อาจจะรู้ทุกข์ทางกายแต่ทุกข์ทางใจไม่รู้ ไม่สังเกต แล้วก็ไม่รู้สาเหตุของทุกข์ด้วย ว่าที่ทุกข์ใจนี่เพราะอะไร ทุกข์ใจเพราะไปยึดมั่นถือมั่น จิตมันไปยึดความปวดทางกายว่าเป็นความปวดของกู ในตอนนั้นจิตมันไม่ยอมรับความเจ็บความปวดความเมื่อย มันอาจจะบ่นโวยวายขึ้นมาว่า นั่งนานแล้วเมื่อไหร่จะเลิก เมื่อไหร่จะหยุดพูด เมื่อไหร่จะอนุญาตให้เราลุกขึ้นไปได้ จิตที่บ่นนี่แหละที่มันทำให้ทุกข์ใจ มันปรุง มันแต่ง หรือลึกไปกว่านั้น มันเกิดความสำคัญมั่นหมายว่ากูปวดกูเมื่อย ไม่ใช่ขาปวดไม่ใช่ขาเมื่อย แต่มันมีความรู้สึกว่ากูปวดกูเมื่อย อันนี้ก็เรียกว่าทุกข์เพราะยึด ว่าเป็นตัวกูของกู ทุกข์ว่าความปวดเป็นของกู ทุกข์ว่ากูปวดกูปวด ถ้าเราไม่สังเกตใจของเรา มันจะไม่เห็นตรงนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยยังปล่อยให้สาเหตุแห่งทุกข์ หรือว่าอันตรายที่ปกปิดมันลอยนวลต่อไปได้
แต่ถ้าหมั่นสังเกตใจของเรา เช่น เรามาฝึกสติ เราก็เห็นใจ เห็นเวลาความทุกข์มันเกิดขึ้นที่ใจ แล้วก็เห็นไปจนกระทั่งสาเหตุของความทุกข์ใจ เช่น ความหวังที่สูงเกินความเป็นจริง หรือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นตัวกูของกู หรือว่าจิตที่มันผลักไส รู้สึกลบกับสิ่งต่าง ๆ อาการพวกนี้มันเกิดขึ้นตลอดเวลาในจิตใจโดยที่เราไม่รู้ แต่เพราะว่าเราไม่มีสติที่จะไวพอ
สตินี้ก็เปรียบเหมือนตาใน ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเหมือนกับตาใน ตานอกก็คือในตาของเราที่ทำให้เราเห็นภายนอก เห็นอันตรายที่เปิดเผย เห็นงูเงี้ยวเขี้ยวขอ เห็นคนที่มุ่งร้ายประสงค์ร้าย เห็นรถที่กำลังวิ่งผ่านมา ซึ่งสามารถจะชนเราได้ อันนี้ก็อันตรายเหมือนกัน แต่อันตรายที่ปกปิดนี่ ธรรมชาติก็ให้สติแก่เรา เพื่อที่เราจะได้เห็นว่ามันมีความโกรธเกิดขึ้นที่ใจแล้ว มันมีความเกลียดเกิดขึ้นในใจ มันมีความรู้สึกผิด ความวิตกกังวล เมื่อเห็นแล้ว แค่เห็นอย่างเดียวนี่ พวกอันตรายเหล่านี้อารมณ์เหล่านี้ มันก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป มันเกิดขึ้นได้เมื่อเราเผลอ สตินอกจากทำหน้าที่เห็นสภาวะภายใน เห็นอารมณ์ต่าง ๆ รวมทั้งความคิดแล้วนี่ มันยังทำให้เรารู้ตัวด้วย มันช่วยทำให้เรารู้ตัวได้ไว พอรู้ตัวได้ไวก็เหมือนกับไฟที่มันไม่มีอ็อกซิเจน มันก็ดับ ไฟมันเกิดขึ้นได้เพราะมันมีอ็อกซิเจน อารมณ์พวกนี้มันเกิดขึ้นได้เมื่อเราหลง เราหลงคือไม่รู้ตัว พอเรารู้ตัวเพราะว่ามีสติ อารมณ์พวกนี้มันก็จะดับวูบหายไปเลย และถ้าเรามีสติรู้ว่า อ๋อ...นี่ ที่เราโกรธ ที่เราเศร้าเพราะเรามีความคาดหวังที่มันซ่อนที่มันเร้นอยู่ เป็นเพราะเราคาดหวังและไปยึดกับความคาดหวังนั้น อยากให้คนชม อยากให้งานมันสำเร็จ อยากให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปตามใจแล้วไปยึดมันเอาไว้ ยึดความคาดหวังไว้ หรือบางทีก็ยึดหน้ายึดตา พอเราเห็น พอมีสติเห็นตรงนี้ มันก็จะช่วยวางช่วยคลาย
หากว่าความทุกข์เกิดจากจิตที่มันดิ้นรนผลักไสไม่ยอมรับ พอมีสติรู้ตัวปุ๊บนี่ก็มันจะนิ่งเลย มันก็จะกลับเป็นปกติ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ใจที่บ่นโวยวายว่าปวดเหลือเกิน เมื่อยเหลือเกิน เมื่อไหร่จะให้เราได้ลุกนั่ง หรือว่าขยับอิริยาบถบ้าง ใจที่มันบ่นแบบนี้มันบ่นโดยเราไม่รู้ตัว แล้วยิ่งบ่นยิ่งทุกข์ แต่พอมีสติเห็นใจที่มันบ่น ซึ่งมันก็เป็นโทสะชนิดหนึ่ง จิตมันก็หยุดเลย หยุดบ่น หยุดปรุงแต่ง กลับมาสงบ ความสงบคืนสู่จิตใจ กายยังปวดอยู่ เท้ายังเมื่อยอยู่ แต่ว่าใจมันสงบแล้ว เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น แต่ก่อนเราก็หงุดหงิดหัวเสีย เพราะว่าเราไม่มีสติ เราไม่รู้ตัว แต่พอเรามีสติปุ๊บ เออ... แม้ว่ามันจะมีเหตุการณ์ที่ไม่สมหวัง ไม่เป็นไปดั่งใจ จนกระทั่งมันโมโห มันหงุดหงิด แต่พอมีสติปุ๊บ จิตก็กลับสงบ เหตุการณ์นั้นยังอยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์แล้ว ยอมรับได้ ทำใจได้ ทำใจนี่ไม่ได้แปลว่าต้องอดกลั้นอย่างเดียว มันไม่จำเป็นต้องอดกลั้น เช่น เขาว่ามาก็โกรธ แต่ก็อดกลั้นเอาไว้ ความอดกลั้นนี่เราเรียกว่า ขันติ แต่ว่ามันมีสิ่งที่ดีกว่าขันติ คือสติ ก็คือว่ารู้ทันความโกรธ เห็นความโกรธมันเกิดขึ้น มันเผาลนในใจ สติทำให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น พอเห็นความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธมันก็ดับเลย เพราะว่ามันโกรธยามที่เราเผลอ ยามที่เราไม่มีสติ
เราอาจจะไม่สามารถทำให้คนทุกคนพูดดีกับเราได้ มันก็มีบางคนที่พูดไม่ดีกับเรา แต่ว่าเราสามารถที่จะฝึกจิตให้ใจสงบได้ ใหม่ ๆ นี่ความโกรธเกิดขึ้นก่อน แต่มีสติรู้เห็นมัน มันก็ดับ แต่ต่อไปพอเราถอนความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตาได้ หรือเราเห็นว่า เออ...คำต่อว่าด่าทอมันก็เป็นธรรมดา ไม่มีใครที่หลีกพ้นจากมันได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า ทำดีแค่ไหนก็ยังมีคนค่อนแคะนินทา อย่าว่าแต่คนไม่เห็นความดีของเราเลย ไม่เห็นความดีของเรายังไม่เท่าไหร่ แต่ว่ายังมาค่อนแคะนินทาว่าร้าย เมื่อเราเห็นว่ามันเป็นธรรมดา ใจก็ไม่ทุกข์ การเห็นว่าเป็นธรรมดานี่เรียกว่าปัญญา คือการเห็นความจริง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเหมือนกัน ฝึกด้วยการเริ่มจากการเจริญสติ หรือเกิดจากการที่เราได้เห็นรากเหง้าของความทุกข์ ว่ามันเป็นเพราะไปยึดสิ่งต่าง ๆ ว่ามันต้องเที่ยง ว่ามันต้องสุข ทุกอย่างต้องราบรื่น โอเคเลิศเลอเพอร์เฟค อันนี้เรียกว่าไปยึดในความสุข แต่เมื่อเราเห็นว่าสิ่งต่าง ๆ มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ คนชมวันนี้วันพรุ่งนี้อาจจะด่าก็ได้ คนที่ชมเราวันนี้ วันหน้าเขาอาจจะตำหนิค่อนแคะเราก็ได้ รักวันนี้ วันหน้าเขาอาจจะเกลียดก็ได้ เมื่อเรามีปัญญาเห็นความจริงแบบนี้ ถึงเวลาที่เขาเกลียดเรา เขาค่อนแคะเรา ใจเราก็เป็นปกติได้ แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่เห็น ยังไม่มีปัญญารู้ทัน เผลอ..ก็เลยโกรธ เมื่อเขาว่า หรือว่าเสียใจเมื่อเขาคลายความรัก คลายความเสน่หา แต่ว่ามีสติมารับมือก่อน เห็นความหงุดหงิด ความไม่พอใจ
ที่พูดมาจะสังเกตได้ว่ามันมีเห็นอยู่ ๒ แบบ อันที่หนึ่งคือเห็นอารมณ์ อันนี้เป็นงานของสติ เห็นความทุกข์มันเกิดขึ้น อันนี้เป็นงานของสติ อันที่สองคือเห็นความจริง อันนี้คือปัญญา ถ้าตราบใดยังไม่มีปัญญาที่แจ่มแจ้ง มันก็ยังมีความทุกข์เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เศร้าใจ เสียใจ โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ แต่ถ้าเราฝึกสติเอาไว้ ความทุกข์หรืออันตรายที่ปกปิดเหล่านี้ เข้ามาเล่นงานจิตใจเราไม่ได้ เล่นได้ชั่วคราวแล้วมันก็หายไป การเจริญสติช่วยลดความทุกข์ได้เยอะ ช่วยทำให้ความสงบกลับคืนมาสู่จิตใจของเรา แม้ชีวิตเราอาจจะไม่สงบ แม้ชีวิตเราอาจจะมีความวุ่นวาย มีอุปสรรคมากมาย แต่ใจมันสงบ อันนี้ทำได้ ไม่ใช่ว่าชีวิตที่วุ่นวายก็แปลว่าใจเป็นทุกข์เสมอไป ไม่ใช่ ในทางตรงข้ามบางคนนี่ชีวิตราบรื่นแต่ใจมันทุกข์ ใจไม่สงบ เพราะมันน่าเบื่อ ชีวิตมันเรียบเกินไป บางคนรู้สึกเบื่อมากเลย
คนในประเทศที่เจริญแล้ว ชีวิตมันราบเรียบเกินไป มันคาดหวังได้ทุกอย่าง อย่างในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เคยไป เคยไปเที่ยวที่เมืองเบิร์น เมืองหลวง เดินข้ามสะพานหนึ่ง สวยมากเลย ทิวทัศน์ก็งดงาม แต่ว่าแนวสะพานทั้งแนวเลย ก็จะมีตาข่าย ตาข่ายเหล็กขึงเอาไว้ ถามว่าทำทำไม บอกกันคนโดดมาฆ่าตัวตาย แปลว่าคนโดดมาเยอะมากสะพานนั้นน่ะ คงมากกว่าสะพานปิ่นเกล้าที่คนชอบโดดลงมาฆ่าตัวตาย อันนี้เรียกว่าชีวิตเขาราบเรียบ ราบเรียบจนเบื่อ แล้วไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ก็เลยฆ่าตัวตาย ชีวิตราบเรียบแต่ใจเป็นทุกข์ อันนี้เกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ และเกิดขึ้นบ่อยด้วย แต่แม้ว่าชีวิตไม่ราบเรียบ ส่วนใจเป็นปกตินี้ก็ยังทำได้ ไม่ใช่ว่าชีวิตไม่ราบเรียบแล้วใจต้องว้าวุ่น วุ่นวาย ไม่จำเป็น ชีวิตไม่ราบเรียบ แต่ว่าใจเป็นปกติ อาจจะมีความเจ็บความป่วย ความพลัดพราก ถูกต่อว่าด่าทอ แต่ว่าใจมันสงบได้เพราะว่ามีสติ เวลาความว้าวุ่นเกิดขึ้นในใจ มีสติเห็น จิตกลับมารู้สึกตัว อารมณ์พวกนี้ก็หายไป
ถ้าเราฝึกสติอย่างต่อเนื่อง ฝึกเห็นอารมณ์ เห็นสภาวะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจอยู่เนือง ๆ ก็จะเห็นความจริงของกายและใจ แล้วความจริงของกายและใจถ้าเห็นอยู่เนือง ๆ ก็เกิดเป็นปัญญาขึ้นมา ช่วยทำให้เราลดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ไม่ยึดว่าสิ่งต่างๆ ต้องเที่ยงต้องสุข ต้องอยู่ในบังคับบัญชาของเรา วางความยึดในตัวกูของกูลงไปได้ มันก็ทำให้ความทุกข์ใจไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ทุกข์กายยังมีอยู่ แต่ว่าทุกข์ใจมันไม่มีแล้ว เพราะว่ามีปัญญาเห็นความจริง แล้วก็รู้ว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ อะไรเกิดขึ้นใจก็ไม่ทุกข์ และนี่แหละคือวัตถุประสงค์ของการภาวนาในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพื่อให้ใจสงบชั่วคราว แต่เพื่อให้มีสติและปัญญา ที่จะเป็นตัวไถ่ถอนความทุกข์ออกไปจากใจ หรือกอบกู้จิตออกจากความทุกข์ได้