แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกชาวอินเดียนแดงในประเทศอเมริกาหรือแคนาดาก็ตาม สมัยก่อนเขาก็จะมีธรรมเนียมนั่งล้อมกองไฟสนทนากัน เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งบันเทิงเริงรมย์ เขานิยมนั่งล้อมกองไฟแล้วก็ใช้โอกาสนี้สนทนากันปรึกษาหารือกัน บางทีก็สอนลูกสอนหลาน เหมือนกับคนไทยสมัยก่อนก็ใช้เวลากินข้าวสอนลูกสอนหลาน เรื่องที่เล่าก็มีมากมายหลายอย่าง
มีคราวหนึ่ง ปู่เล่าเป็นทำนองอุปมาอุปไมยให้หลานตัวเล็ก ๆ ฟังว่า ในตัวเราหรือในจิตใจของเรามีหมาป่าอยู่สองตัว ตัวแรกเป็นหมาป่าที่มีนิสัยเกลียดชัง ขี้โมโห ขี้อิจฉา มีนิสัยโลภ เห็นแก่ตัว อีกตัวหนึ่งเป็นหมาที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทนอดกลั้น เอื้อเฟื้อเกื้อกูล สองตัวนี้จะคอยต่อสู้กันอยู่ในใจของหลาน หลานก็ถามว่า ปู่ แล้วตัวไหนที่ชนะ ปู่ก็ตอบว่าก็ตัวที่เธอให้อาหารมัน ตัวไหนที่เธอให้อาหารมันตัวนั้นจะชนะ ก็คือถ้าให้อาหารแก่หมาป่าตัวที่ขี้โมโห โกรธ เกลียด เห็นแก่ตัว ถ้าให้อาหารมันบ่อย ๆ มันก็จะชนะอีกตัวหนึ่ง แต่ถ้าให้อาหารให้กับตัวที่มีนิสัยเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจเย็น รู้จักอดกลั้น ตัวนี้ก็จะชนะ
อันนี้ก็เป็นคำสอนที่ลึกซึ้ง เพราะชี้ให้เห็นว่านิสัยใจคอของคนเรามันไม่ได้อยู่ไหน มันอยู่ที่การกระทำของเรา เราจะมีนิสัยขี้โมโหหรือว่าเราจะมีนิสัยใจเย็น เราจะมีนิสัยเห็นแก่ตัวหรือว่ามีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันอยู่ที่ตัวเราเอง บางคนก็ไปโทษพ่อแม่ บางคนก็ไปโทษสิ่งแวดล้อมว่าที่เราเป็นอย่างนี้เพราะสิ่งแวดล้อม เพราะพ่อแม่ อันนั้นก็มีส่วนแต่ไม่ใช่ส่วนสำคัญ ส่วนสำคัญก็คือตัวเรา อยู่ที่การกระทำของเรา อยู่ที่การนึกคิดของเรา ให้อาหารนี่ไม่ได้อาหารทางปาก แต่หมายถึงการให้อาหารด้วยการคิดนึก ถ้าคิดดี คิดเมตตา ก็คือให้อาหารหมาป่าตัวที่สอง ถ้าเป็นคนที่ชอบคิดลบ เป็นคนที่ชอบใช้อารมณ์ ก็คือการให้อาหารกับหมาป่าตัวแรก
ที่จริงมันยังมีความหมายที่ลึกไปกว่านั้น มันหมายความว่าถ้าเราไม่ชอบหมาป่าตัวแรก ตัวที่ขี้โมโห เกลียดชัง เห็นแก่ตัว เราไม่ต้องไปทำอะไรกับหมาตัวนั้น เราก็เพียงแต่ดูแลบำรุงหมาตัวที่สอง หมาที่มีนิสัยใจเย็น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าเราให้อาหารหมาตัวนี้เดี๋ยวมันก็ไปจัดการกับหมาตัวแรกเอง อันนี้มันมีความหมายที่ให้ลองพิจารณา คนเราที่เวลามีนิสัยบางอย่างที่เราไม่ชอบหรือแม้แต่มีอารมณ์บางอย่างที่เราไม่ชอบ เราก็มักจะไปพยายามกดข่มมัน ยิ่งคนที่ศึกษาธรรมะหันมาปฏิบัติธรรม พอมีความโกรธ ความเกลียด ความเห็นแก่ตัว ความโลภ หรือแม้แต่ราคะ สิ่งที่มักนิยมทำคือไปกดไปข่มมันเอาไว้ ที่จริงไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็แค่ไปบำรุงส่งเสริมนิสัยส่วนที่ตรงข้าม ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อ ความใจเย็น
มันก็เหมือนกับว่ามีน้ำเน่าอยู่ น้ำเน่านี่เราไม่ชอบ มันส่งกลิ่นเหม็น มันอยู่ในคลองอยู่ในหนองหรืออยู่ในคูก็แล้วแต่ ถ้าเราไปวิดน้ำออกมันเหนื่อย วิดน้ำออกนี่เหนื่อยมาก แต่ถ้าเราใช้วิธีใหม่คือปล่อยน้ำดีเข้าไป น้ำดีก็ไล่น้ำเสียออกไปเอง เราจะไปขับไล่ความมืดนี่เสียเวลา เพียงแต่เราจุดเทียนให้แสงสว่างสาดส่องเข้าไป แสงสว่างก็ไปขับไล่ความมืดเอง นิสัยอกุศลเราไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เราเพียงแต่สร้างตัวกุศลขึ้นมา ตัวกุศลก็จะเข้าไปจัดการกับตัวอกุศล เช่น ถ้าเรารู้จักให้ทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พยายามเจริญเมตตาภาวนาอยู่เสมอ ความเมตตาก็จะไปขับไล่ตัวโกรธตัวเกลียดออกไปจากใจเรา เราไม่ต้องไปกดข่ม ไม่ต้องไปสู้รบตบมือกับความโกรธความเกลียดหรือนิสัยนี้ เราเพียงแต่บำรุงส่งเสริมนิสัยใหม่ อันนี้เรียกว่าให้อาหาร ให้อาหารหมาตัวที่สอง ไม่ต้องไปไล่มัน ไม่ต้องไปสู้อะไรกับหมาตัวแรก เราเพียงแต่เพิ่มกำลังให้กับหมาตัวที่สอง มันก็ไปจัดการเอง
ที่จริงในใจเรานี้จะว่าไปแล้ว จะเปรียบไปก็มีอยู่สองตัว ไม่ใช่หมาป่า แต่มันเป็นตัวดำกับตัวขาว ตัวดำก็คือตัวหลง ตัวขาวก็คือตัวรู้ มันคอยต่อสู้ขับเคี่ยวกัน ถ้าเป็นอินเดียนแดงเขาเรียกว่าหมาป่า แต่ถ้าเราพูดง่าย ๆ ก็คือตัวดำ ตัวดำก็คือตัวหลง คำว่า “หลง” นี้ก็รวมไปถึงโลภ โกรธ อิจฉา พยาบาท รวมถึงความเศร้าสร้อย ส่วนตัวรู้ ก็คือความรู้ตัว รู้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความโปร่งเบา แล้วก็เป็นที่มาของความเมตตา เป็นที่มาของความเสียสละ เป็นที่มาของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในใจเรานี้ก็มีการต่อสู้กันระหว่างตัวหลงกับตัวรู้ ถามว่าตัวไหนชนะ ก็ตัวที่เราให้อาหารมันนั่นแหละ
อย่างที่ผู้เฒ่าชาวอินเดียนแดงเขาบอกให้อาหารหมาตัวไหนตัวนั้นก็ชนะ ถ้าเราให้อาหารตัวหลงบ่อย ๆ มันก็ชนะตัวรู้ ให้อาหารตัวหลงเป็นอย่างไร ก็คือปล่อยใจลอยฟุ้ง ชอบคิดฟุ้งซ่านแล้วก็ปล่อยใจลอย เสร็จแล้วก็จมอยู่ในอารมณ์ รวมทั้งการที่เราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นเราให้เกิดความหลงให้เกิดอารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น ไปดูหนังที่ทำให้เราหลงเพลิน หนังที่มอมเมา รายการโทรทัศน์ที่กระตุ้นราคะโทสะ หรือความงมงาย อันนี้คือการให้อาหารมัน
แต่ถ้าเกิดว่าเราหมั่นเจริญความรู้สึกตัว อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เรามีสติรู้ตัวอย่างต่อเนื่อง อันนี้ก็เหมือนกับเรากำลังให้อาหารตัวรู้ เรามาปฏิบัติธรรมก็เปรียบเสมือนว่าเราต้องการที่จะให้อาหารตัวรู้ให้มีกำลังมากขึ้น ๆ แต่ว่าตัวหลงมันก็ไม่ใช่ว่าจะยอมง่าย ๆ มันก็จะคอยฉวยโอกาสขณะที่เรามาเจริญสติ ขณะที่เราทำความเพียรเพื่อสร้างตัวรู้ มันก็คอยฉวยโอกาสตอนที่เราเผลอ เช่น ระหว่างที่เราสวดมนต์สังเกตไหมใจลอย ใจลอยไปโน่นใจลอยไปนี่ โดยเฉพาะถ้าเกิดเราท่องจำบทสวดมนต์ได้ใจจะลอยง่ายเลย นั่นแหละหลงแล้ว เราสวดมนต์เพื่อที่จะเพิ่มตัวรู้ให้มากขึ้น สวดมนต์เพื่อที่จะเกิดปัญญา ด้วยการใคร่ครวญคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงความจริงให้เรารับรู้ แต่ว่าบางทีเราสวดไป ๆ ใจมันไปไหนไม่รู้ แล้วก็ปล่อยใจลอยตะพึดตะพือ อย่างนี้เรียกว่าให้อาหารกับตัวหลง ทั้ง ๆ ที่อากัปกิริยาดูเหมือนว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม บางทียกมือสร้างจังหวะเราก็ตั้งใจจะให้อาหารตัวรู้ ยกมือก็รู้ เดินจงกรม เราก็ตั้งใจว่าจะให้อาหารตัวรู้ ให้มันรู้เยอะ ๆ รู้บ่อย ๆ แต่เป็นอย่างไร ตัวหลงมันก็เข้ามาฉวยโอกาส เดินก็ไม่รู้ว่าเดิน ใจลอย ยกมือสร้างจังหวะก็ใจลอย มันฉลาด ตัวหลงนี่ฉลาดมาก มันฉวยโอกาสตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ถ้าเราเผลอ
เช่น เรารักษาศีล บางทีตัวหลงมันก็มาหลอกเราว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนมีศีล ฉันศีล ๑๐ ฉันดีกว่าศีล ๘ หรือถ้าถือศีล ๘ ก็ฉันดีกว่าศีล ๕ อันนี้คือตัวหลง มันฉวยโอกาสแอบอ้างเอาความดีที่เราทำมาเป็นอาหารให้มัน ความดีที่เราทำไม่ว่าจะเป็นศีล ไม่ว่าจะเป็นทาน เผลอเมื่อไรมันเอาไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงตัวมัน คนที่ให้ทานบ่อย ๆ บางทีก็หลงว่าฉันเป็นคนมีน้ำใจ ฉันเป็นคนใจบุญ หรือแม้แต่มาภาวนามาปฏิบัติ ปฏิบัตินี่เป็นของดี แต่ว่าถ้าไม่ระวัง ตัวหลงมันก็เอาความเพียรที่เราทำนี่แหละไปเป็นอาหารเลี้ยงมัน ฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็จะรู้สึกว่าฉันสูงกว่า ฉันดีกว่า ฉันเด่นกว่าคนที่เขาอยู่บ้าน นี่ต้องระวัง การให้อาหารตัวหลงไม่ใช่เพียงแค่ว่าไปดูหนังฟังเพลง ไปกินเหล้าเมายา อันนั้นเป็นการให้อาหารตัวหลงที่ชัดเจนมาก หรือการไปทะเลาะเบาะแว้งคนนั้นคนนี้ เขาด่าฉันฉันด่ากลับ อันนี้ก็เป็นการให้อาหารตัวหลง แต่ถึงแม้เราจะไม่ได้ทำสิ่งนั้น เรามาทำความดีไม่ว่าที่วัดหรือที่ไหนก็ตาม ความดีที่เราทำก็อาจจะถูกใช้เป็นอาหารเลี้ยงบำรุงตัวหลงได้ เราต้องระวัง
สิ่งที่จะช่วยให้เราไม่พลาดท่าเสียทีตัวหลงก็คือ การมีสติ มีสติคอยหมั่นตามดูรู้ทัน เวลาใจกระเพื่อม เวลาใจไม่ปกติ ถ้าสติของเราดีพอ มันจะส่งสัญญาณบอกว่าตอนนี้เรากำลังโดนตัวหลงเล่นงานแล้ว เพราะตัวหลงจะมีลักษณะที่ทำให้ใจไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นยินดีก็ตาม ยินร้ายก็ตาม ฟูก็ตาม แฟบก็ตาม การเจริญสติทำให้เรารู้ทันตัวหลง และสตินี่แหละจะเป็นอาหารเลี้ยงตัวรู้ให้เจริญงอกงาม เพราะว่าพอมีความหลงหรือความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ทีแรกจิตก็ลอยไปตามอำนาจของความคิดและความหลงนั้น แต่พอมีสติปุ๊บรู้ตัว มันรู้ทันความคิดและเห็นอารมณ์เหล่านั้น จิตก็ถอนออกมา จากจิตที่หลงไปในอดีตบ้างลอยไปอนาคตบ้างมันก็กลับออกมาอยู่กับเนื้อกับตัว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา พอเรารู้สึกตัวขึ้นมามันเป็นอิสระ ใจเป็นอิสระ อิสระจากอะไร อิสระจากความหลงและอิสระจากความทุกข์ เพราะถ้าหลงเมื่อไรก็ทุกข์ง่ายและทุกข์ทันทีก็ว่าได้
ที่จริงถ้าเรามีความรู้สึกตัว ความทุกข์มาเล่นงานไม่ได้ อาจจะทุกข์กาย อันนี้เราห้ามไม่ได้ เช่น นั่งไปนาน ๆ ก็เมื่อย แต่ว่าถ้าพูดถึงความทุกข์ใจ ความทุกข์ใจจะเข้ามาเล่นงานเราไม่ได้ ถ้าเกิดว่าเรามีความรู้ตัว คนเราทุกข์ใจเพราะไม่รู้ตัว เพราะหลง เช่น หลงเข้าไปในความคิด ความคิดมันปรุงแต่ง คิดลบคิดร้ายกับคนรอบข้าง หรือว่าคิดปรุงแต่งไปในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แต่คิดไปแล้วว่ามันจะเป็นเรื่องร้าย คนที่ชอบคิดมากจะมีความวิตกกังวลสูง ถามว่าคิดเรื่องอะไร ก็คิดเรื่องอนาคต แล้วไม่ได้คิดในทางที่ดี คิดในทางลบ จะทำอะไรก็เกิดความวิตกว่า จะมีปัญหาอย่างโน้นจะมีปัญหาอย่างนี้ จะมีคนมาขัดขวาง หรือว่าจะไม่สำเร็จ พอคิดไปอย่างนี้วิตกแล้ว จะไปสอบก็คิดล่วงหน้าไปแล้วว่าอาจจะสอบไม่ได้ และถ้าสอบไม่ได้จะเป็นอย่างไร คิดไปแล้ว บางทีก็คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจปีหน้า มันยังไม่เกิดขึ้นเลยแต่คิดไปแล้วว่ามันคงแย่แน่ ๆ ก็เลยเกิดความวิตกกังวล ทุกข์เลย ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะหลง หลงเข้าไปในความคิด อันนี้หลงเข้าไปในความคิดเกี่ยวกับอนาคต แต่ส่วนใหญ่ก็คิดเรื่องที่มันผ่านไปแล้ว ความสูญเสียในอดีต ความผิดพลาดที่ผ่านมา การถูกรังแก ถูกหักหลัง หรือว่ามีคนนอกใจ ผ่านไปแล้วเป็นเดือน อาจจะเป็นปี แต่ใจก็ยังหวนคิดไปถึงเหตุการณ์นั้น ๆ เกิดอะไรขึ้น เกิดความเศร้า เกิดความแค้น พอเกิดขึ้นแล้วทุกข์ไหม ทุกข์เลย อย่างน้อย ๆ ก็ทุกข์ใจ อันนี้เรียกว่าทุกข์เพราะหลง หลงเข้าไปในความคิด พอมีอารมณ์เกิดขึ้นก็หลงเข้าไปในอารมณ์ ทีแรกคิดก่อน พอคิดแล้วมันก็เกิดอารมณ์ตามมา คิดเรื่องอดีตก็เกิดความเศร้าหรือบางทีเกิดความแค้น ถ้าไม่รู้ตัวก็จะหลงเข้าไปในอารมณ์นั้นแล้วก็ทุกข์ บางทีคิดเรื่องอนาคตแล้วก็เกิดความกังวลหนักใจ อันนี้ก็เกิดความเครียดขึ้นมา อันนี้เขาเรียกว่าทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะหลง แต่ถ้าเรารู้ตัว มันหลุดออกมาเลยจากอดีตจากอนาคต มันหลุดออกจากอารมณ์ เรียกว่าสลัดก็ได้ ที่จริงอารมณ์พวกนี้หรือความคิดที่เป็นลบพวกนี้ อยู่ได้เพราะความหลง เพราะเราไม่รู้ตัว มันมีความหลงเป็นอาหาร แต่พอเรารู้ตัวขึ้นมาตัวหลงก็หายไป ความทุกข์ที่เกิดจากความหลงก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การรู้เท่าทันความคิดและอารมณ์นี่สำคัญมาก
แต่ว่านักปฏิบัติบางคนบางทีเขาก็สงสัยว่า ฉันก็รู้ว่าฉันโกรธแต่ทำไมมันไม่หายโกรธสักที ฉันก็รู้ว่าฟุ้ง ฟุ้งเยอะด้วย แต่ทำไมมันไม่หายฟุ้ง บางทีก็เป็นทุกข์มากขึ้น ตอนไม่ปฏิบัติไม่เคยมีปัญหาเลยเรื่องความฟุ้ง ก่อนมาปฏิบัติฟุ้งเยอะก็ไม่เคยเป็นทุกข์ แต่พอมาปฏิบัติอาจจะฟุ้งน้อยกว่าที่เคยเป็นด้วย แต่ทำไมเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าใจมันไม่ชอบความฟุ้ง พอมาปฏิบัติจะมีความอยากสงบ อยากสงบทำให้เรามาปฏิบัติ พออยากสงบแล้วมันก็ไม่ชอบความฟุ้ง ความฟุ้งที่เคยเกิด แต่ก่อนก็เกิดขึ้นมากมายหลายครั้งไม่รู้สึกอะไรเลย แต่พอมาปฏิบัติแล้ว ฟุ้งทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที เพราะอะไร เพราะใจไม่ชอบ มันมีความรู้สึกลบ มันมีความรู้สึกยินร้าย เราก็ต้องรู้ทันความรู้สึกนี้ด้วย ไม่ใช่แต่รู้ทันว่าใจมันฟุ้งหรือเห็นความฟุ้ง เท่านั้นไม่พอ ต้องเห็น รู้ทันความรู้สึกที่เป็นลบที่ไม่ชอบความฟุ้งด้วย อันนี้นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาใส่ใจเรื่องนี้ รู้ว่าโกรธแต่ไม่ได้เห็นว่าใจรู้สึกลบกับความโกรธ พอใจรู้สึกลบกับความโกรธมันก็ทุกข์เลย แล้วพอรู้สึกลบก็พยายามไปกดข่มมัน ตอนที่ไปพยายามกดข่มก็เรียกว่าหลงแล้ว หลงมี 2 แบบคือ หลงตามตะพึดตะพือ กับหลงต่อต้าน หลงต่อสู้ มันก็หลงเหมือนกัน ถ้ารู้ตัวหรือมีสติ มันแค่รู้เฉย ๆ ไม่มีอาการเคลิ้มคล้อยเวลาเจออารมณ์ที่น่าเพลิดเพลินใจ แล้วก็ไม่มีอาการต่อต้านผลักไสหรือต่อสู้เวลาเจออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ นักปฏิบัติต้องฉลาด ต้องไวในการที่จะเห็นใจที่รู้สึกลบ ใจที่ยินร้ายกับอารมณ์ต่าง ๆ ให้รู้ว่าตอนนั้นเราหลงไปแล้ว มันหลง 2 ชั้นเลย ทีแรกก็หลงโกรธ เสร็จแล้วก็หลงผลักไส ก่อนหน้านี้เวลาโกรธก็หลงโกรธนี่หลงครั้งที่ 1 หลงครั้งที่ 2 หลงตามความโกรธ ความโกรธมันสั่งให้ด่าก็ด่า ความโกรธมันสั่งให้ทำลายข้าวของก็ทำ ทีแรกหลงโกรธก่อน แล้วที่สองหลงทำตามความโกรธ แต่พอมาปฏิบัติมันก็อาจจะหลงอีกแบบหนึ่ง ทีแรกก็หลงโกรธ เสร็จแล้วก็หลงต่อต้านความโกรธ ไปต่อล้อต่อเถียงไปต่อสู้กับมัน เหมือนกับนักมวย นักมวยก็อยากต่อสู้กับคู่ต่อสู้ แต่ว่าสู้ไปสู้มาเมาหมัดก็เลยเข้าไปคลุกวงใน ก็เลยโดนเขาอัดโดนเขาต่อยหนักขึ้น เพราะว่าอยากจะเข้าไปพิชิต อยากจะไปเผด็จศึก อยากเผด็จศึกคู่ต่อสู้ ยิ่งคู่ต่อสู้มาต่อยทำให้เจ็บปวดหรือว่ามาด่ากลางเวทีก็หน้ามืด ปราดเข้าไปต่อยกลับพลาดท่าเสียที อันนี้เพราะหลง ไม่รู้ทันอุบายของคู่ต่อสู้ ความโกรธมันก็เป็นอย่างนี้ มันก็ล่อให้เราเข้าไปสู้รบตบมือกับมัน นั่นแหละเป็นวิธีการให้อาหารมัน เป็นวิธีการให้อาหารตัวหลง เป็นวิธีการให้อาหารให้หมาป่า
สิ่งที่ควรทำก็คือแค่รู้เฉย ๆ ดูเฉย ๆ เวลาเจออารมณ์ที่ไม่น่าพอใจแทนที่จะโอ๊ย หลวงพ่อคำเขียนบอกว่าให้ทำอีกแบบหนึ่งคืออืม.. ไม่ต้องโอ๊ย แต่อืม.. โอ๊ยแปลว่าไม่ชอบ เช่น มีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมากเยอะ ๆ ก็ โอ๊ยทำไมมันเยอะเหลือเกิน มีความเครียดเกิดขึ้น โอ๊ยทำไมมันมีความเครียดเยอะเหลือเกิน อันนั้นไม่ใช่วิธีการของนักภาวนา วิธีการของนักภาวนาคือ อืม.. คือดูมันเฉยๆ โอ๊ยกับอืม..มันต่างกัน เวลาใจจะพยายามไปกดข่มความโกรธให้รู้ว่านั่นเรากำลังให้อาหารมันแล้ว กำลังให้อาหารตัวหลงตัวโกรธ เราแค่วางใจเป็นกลางเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ แทนที่จะโอ๊ย ก็อืม.. ดูมันไป อันนี้คือการให้อาหารตัวรู้ แล้วตัวรู้ก็จะไปขับไล่ตัวหลงเอง เหมือนกับว่าเติมน้ำดีเข้าไป น้ำดีก็ไปไล่น้ำเสียออกไปจากคู เหมือนกับว่าพอเราจุดไฟหรือจุดเทียน ความสว่างก็ไปไล่ความมืดเอง
เพราะฉะนั้น เราพยายามให้อาหารตัวรู้อยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ต้องคอยระมัดระวังว่า สิ่งที่เราทำถ้าเราไม่มีสติเราก็จะไปให้อาหารตัวหลงได้ สติแปลว่าปกติ ถ้าใจกระเพื่อม ใจรู้สึกลบ หรือแม้แต่รู้สึกบวกหรือว่ายินดียินร้าย ชอบ ชัง อันนี้มันไม่ใช่ความปกติแล้ว ให้กลับมารักษาใจให้เป็นปกติ เจออารมณ์ที่น่าพึงพอใจ เช่น เสียงเพลงที่ไพเราะ อาหารที่อร่อย มันยินดีขึ้นมาก็รู้ รู้แล้วก็กลับมาเป็นปกติ เจออาหารที่ไม่อร่อย เผ็ด เสียงดัง หรือความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็ไม่ยินร้าย ก็แค่ดูมันเฉย ๆ อันนี้เราเป็นผู้ดู ไม่ใช่เป็นผู้เล่น เหมือนกับเราดูละคร ผู้ร้ายเข้ามาขึ้นเวทีเราก็รู้ เราก็ดูเฉย ๆ ไม่ต้องไปโห่ฮาตัวอิจฉาหรือตัวผู้ร้าย คนที่ดูละครหลายคนพอผู้ร้ายขึ้นเวทีก็โห่ฮา บางทีก็ขว้างของใส่ตัวอิจฉา แต่เวลานางเอกมาก็ดีใจปรบมือ อันนี้ไม่ใช่เป็นวิสัยของนักปฏิบัติ นักปฏิบัติก็แค่ดูมันเฉย ๆ ตัวร้ายตัวเอกขึ้นเวทีก็แค่ดูมันเฉย ๆ ดูมันแล้วเราก็สังเกตมัน แค่นี้แหละ เราเป็นผู้ดู ไม่ใช่ผู้เล่น หรือว่าไม่ใช่เข้าไปเป็น