แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พวกเราที่มาเจริญสติ ต้องพึงตระหนักไว้อย่างหนึ่งว่าการเจริญสติ เริ่มต้นทันทีที่เราลืมตาขึ้นมา หรือเราตื่นขึ้น พอตื่นขึ้นก็เรียกว่าการฝึกสติได้เริ่มขึ้นแล้ว อันนี้อาจจะต่างจากการฝึกสมาธิ ฝึกสมาธิอาจจะเริ่มฝึกเมื่อเรานั่งบนอาสนะ หลับตาตามลมหายใจ ซึ่งอาจจะเป็นตอนเช้าหรือว่าตอนสาย แต่ถ้าเป็นการเจริญสติ เราลืมตาตื่นขึ้นมานั่นหมายถึงการเจริญสติได้เริ่มขึ้นแล้ว ถ้าเรายังซึมเซานอนอ้อยอิ่งไม่ยอมลุกจากที่นอน อันนี้ถือว่าลืมตัวแล้ว เมื่อเราลุกขึ้นมาเริ่มล้างหน้า แปรงฟัน ก็ให้ทำด้วยสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว ที่จริงตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้า ก่อนที่เราจะลุกไปล้างหน้า แปรงฟัน สิ่งแรก ๆ ที่เราประสบอย่างเช่นเช้านี้ก็คือความหนาว เรารับมือกับความหนาวอย่างไร อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับการเจริญสติเหมือนกัน เมื่อเราเจออากาศหนาวโดยเพาะเมื่อลุกมาจากที่นอนและเดินมาที่ศาลาทำวัตร เรารู้สึกอย่างไรต่อความหนาวที่เกิดขึ้น เราเห็นใจที่อาจจะบ่น ตีโพยตีพาย หรือโอดโอยเมื่อกายสัมผัสความหนาวรึเปล่า ถ้าเราไม่เห็น ปล่อยให้ใจบ่นโวยวาย หรือเป็นทุกข์ อันนี้ก็แสดงว่าเราลืมตัว เราไม่ได้เจริญสติแล้ว
ที่จริงอากาศหนาว ๆ แบบนี้มันมีประโยชน์ มันเป็นแบบฝึกหัดให้เราได้เรียนรู้ที่จะดูใจของเรา ใจของเราเป็นอย่างไร มันกระเพื่อมรึเปล่า มันมีความรู้สึกชัง ไม่ชอบ ผลักไสต่อความหนาวที่เกิดขึ้นไหม ถ้าความหนาวเย็นกระทบกายและเราเอาแต่ทุกข์ คือทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ แสดงว่าเราลืมตัว เราละเลย เราลืมฝึกสติไป ความหนาวที่ธรรมชาติให้มา อาจจะเป็นธรรมดาของเขา แต่เราก็ต้องรู้จักใช้ความหนาวให้เป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติธรรม หลายคนใช้ความหนาวเป็นประโยชน์ในแง่อื่น สนุกสนาน อย่างเช่นบางคนไปในที่หนาว ๆ เพื่อจะได้สัมผัสกับความหนาว หรือว่าถ้าหนาวมาก ๆ ก็จะได้เล่นสกี หรือว่าได้ดูแม่คะนิ้ง นั่นเขาใช้ความหนาวเพื่อประโยชน์ในทางสนุกสนานหรือประโยชน์ในทางโลก เราก็ต้องรู้จักใช้ความหนาวเพื่อประโยชน์ในทางธรรมด้วย ไม่ใช่เพื่อฝึกใจให้อดทน อันนั้นเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ว่าบางคนอดทนแบบกัดฟันทน ก็คือยังทุกข์อยู่ ทุกข์เพราะความหนาว ไม่ใช่ที่ทุกข์กายอย่างเดียว แต่ทุกข์ใจด้วย แต่ที่จริงแล้วเราสามารถใช้ความหนาวในการเจริญสติได้ ก็คือเมื่อความหนาวเย็นกระทบกาย เราก็มาดูกายว่าเป็นอย่างไร บางทีกายเกร็งโดยไม่รู้ตัว บางคนกล้ามเนื้อเกร็ง อันนั้นเป็นสัญชาตญาณหรือปฏิกิริยาธรรมดาของร่างกายเรา แต่พอเกร็งนาน ๆ แล้วก็ทุกข์เกิดเวทนาขึ้นเพราะเมื่อย ก็ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์กายให้มากขึ้นด้วย พอเรามีสติเห็นกาย กายมันเกร็งก็ลองผ่อนคลายดู ก็จะพบว่าความทุกข์กายมันน้อยลง มีแต่ความหนาวกาย แต่ว่าความปวดความเมื่อยก็จะเบาบางลง
นอกจากมามีสติรู้กายแล้วก็เอาสติมาดูใจด้วยว่าใจเป็นอย่างไร ใจเป็นปกติไหม ว่ามันโอดโอย มันบ่นตีโพยตีพายหรือเปล่า มันผลักไสความรู้สึกทุกข์หรือความหนาวที่เกิดขึ้นไหม ตรงนี้มีประโยชน์เพราะความทุกข์ใจส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่ใจเรามีความรู้สึกลบต่อความหนาว มีปฏิกิริยาชัง ผลักไสมัน เมื่อมีความทุกข์ใจแล้วก็ไปซ้ำเติมความทุกข์กายให้เพิ่มมากขึ้น หนาว ๆ แบบนี้เราทุกข์กายหนาวกายแต่ว่าใจไม่หนาวก็ได้ แต่ว่าส่วนใหญ่ปล่อยให้หนาวทั้งกายหนาวทั้งใจ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจเพราะว่าลืมตัว ไม่มีสติดูใจของตัว
ถ้าเราอยากจะช่วยตัวเองให้ทุกข์น้อยลง สิ่งหนึ่งที่ควรทำก็คือมาดูกายดูใจ ดูกายอย่างที่ว่า มันเกร็งไหม มันเมื่อยไหม กับการที่กล้ามเนื้อเกร็ง มือเกร็ง ขาเกร็ง แขนเกร็ง เป็นต้น แต่ที่สำคัญก็คือว่าใจนั่นแหละ ถ้าปล่อยให้ใจทุกข์มันก็ไปซ้ำเติมความทุกข์กาย บางทีความทุกข์อาจจะคูณสอง คูณสาม ไปเลยทีเดียวเมื่อเราปล่อยให้ใจทุกข์ไปด้วย และที่ใจทุกข์เป็นเพราะอะไร เพราะว่าการที่ความผลักไสไม่พอใจความชัง หรือว่าโทสะที่เกิดขึ้น โทสะนี้ไม่ได้หมายถึงความโกรธที่ออกมาในรูปของการเอะอะโวยวาย ด่าว่าคนอื่นเท่านั้น แต่มันหมายถึงการที่ผลักไสเพราะความไม่ชอบ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับหลายคนในขณะนี้ เพียงแค่เรามีสติรู้ทันอาการเหล่านั้นของใจ ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ เมื่อใจกลับมาเป็นปกติ ทุกข์ใจก็อาจจะเลือนลางหายไป คงเหลือแค่ความทุกข์กาย ความหนาวกาย เราอาจจะพบว่าเป็นเรื่องที่ทนได้ไม่ยาก ที่ทนไม่ได้จริง ๆ ก็คือใจที่บ่นตีโพยตีพาย
และถ้าเราศึกษาดูใจของเราไปเรื่อย ๆ ก็จะพบว่าความทุกข์ใจนี้ไม่ได้เกิดจากว่ามีความหนาวมาบีบคั้นกายเรา แต่มันเกิดจากการที่เราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อใดก็ตามที่ใจไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหน ความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นทันที ความทุกข์ใจส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราปฏิเสธ เกิดจากใจที่ปฏิเสธผลักไสไม่ยอมรับ ไม่ใช่แค่ความหนาวอย่างเดียว อาจจะเป็นเสียงก็ได้ ถ้าเสียงดังเข้ามาถึงศาลา แม้จะเป็นเสียงคนพูดคุยเบา ๆ แต่พอใจไม่ชอบหรือใจผลักไสแล้ว ก็จะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความหงุดหงิดขึ้นมาทันที ถึงแม้ว่าเสียงที่ดังในศาลานี้อาจจะเป็นเสียง Ringtone ที่ไพเราะเป็นเพลงที่เราอาจจะชอบด้วยซ้ำ แต่ถ้าใจเราผลักไสมันเพราะเห็นว่าผิดกาละเทศะ แม้เสียงจะไพเราะเสียงจะเบา ใจก็ทุกข์ทันทีเลย แต่พอใจเรายอมรับมันได้เห็นว่าเป็นธรรมดา เสียงก็ไม่ได้ดังอะไร ใจเราก็กลับเป็นปกติขึ้นมา ไม่ทุกข์ เสียงดังแค่ไหนแต่ถ้าใจยอมรับได้ ไม่ผลักไสไม่ปฏิเสธมัน ใจเราก็สงบได้
สงบนั้นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เวลานั่งสมาธิแล้วเกิดมีคนสวดมนต์เสียงดัง ๆ บางทีเราก็สงบได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ยินเสียงนั้น ได้ยิน แต่เราไม่ได้รู้สึกรบกับเสียงนั้น กลับจะรู้สึกเป็นบวกด้วยซ้ำเพราะเหตุว่าเป็นเสียงแห่งความศรัทธา เคารพในพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับเรา เราก็ยอมรับเสียงเหล่านั้น ไม่ปฏิเสธมัน เพราะไม่ปฏิเสธใจก็เป็นสุขหรือสงบได้ พวกเราใครที่เคยไปสังเวชนียสถาน โดยเฉพาะที่พุทธคยา อาจจะเข้าใจที่อาตมาพูดได้ เพราะว่าพุทธคยามีชาวพุทธไปสักการะบูชาพระเจดีย์และพระศรีมหาโพธิ์วันหนึ่งเป็นหมื่น คนพลุกพล่าน ผู้คนถึงแม้จะไม่ค่อยพูดคุยกันแต่ว่าก็ส่งสียงดังในอีกแบบหนึ่ง ก็คือสวดมนต์ สวดมนต์ประทักษิณ ไม่ได้สวดเปล่า ๆ แต่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วย สวดเสร็จก็มาทำวัตรต่อที่หน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ เสียงก็ดัง สวดก็นาน สวดเสร็จก็แสดงธรรมต่อ นี่เฉพาะชาวพุทธไทย ไม่นับชาวพุทธพม่า ลังกา เขมร โดยเฉพาะทิเบตนี่เสียงก็ดังเพราะว่าเขาเก่งในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ว่าก็มีคนนับสิบ อาจจะนับร้อย นั่งสมาธิอยู่รอบพระเจดีย์ ทีท่าอาการก็สงบนิ่ง ราวกับว่าไม่ได้ยินเสียงดังเหล่านั้นเลย ที่จริงได้ยินแต่ว่าเขาไม่รู้สึกอะไร เขาสงบได้เพราะว่าใจเขายอมรับ ว่านี่เป็นเสียงแห่งศรัทธา แห่งความระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย จะเรียกว่ารู้สึกในทางบวกกับเสียงเหล่านั้นก็ได้ใจก็เลยสงบ
ฉะนั้น ใจสงบหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับว่าเสียงดังมากระทบหูหรือเปล่า แต่อยู่ที่ว่าใจเรารู้สึกอย่างไรต่อเสียงนั้น หรือมีท่าทีอย่างไร อากาศหนาว ๆ อย่างนี้สำหรับบางคนถ้าเกิดว่าเขาตามล่าเพราะว่าอยากจะได้เจอบรรยากาศหนาว ๆ หนาวกว่านี้เขาก็ยังรู้สึกเฉย ๆ อย่างที่เราอาจจะสังเกต คนที่ขึ้นไปที่ดอยอินทนนท์ พวกนี้ก็ไปตามล่าความหนาว บางทีเราอาจจะเคยเป็นคนหนึ่งในนั้นก็ได้ หนาวกว่านี้ ต่ำกว่า ๑๐ หรือว่าเกือบศูนย์องศาเขาก็ไม่มีทีท่าอาการทุกข์อะไรเลย ไม่ใช่เพราะว่าอากาศที่เขาสัมผัสมันหนาวน้อยกว่าที่นี่ เปล่า มันหนาวกว่าด้วยซ้ำ แต่ว่าใจเขารู้สึกเป็นบวกกับความหนาวที่นั่น เขาก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร แม้กายหนาวแต่ใจไม่หนาวด้วย อันนี้เพราะใจเขายอมรับ หนาวกว่านี้เขาก็ไม่ได้บ่นโวยวายอะไร หรือไม่ได้ทุกข์อะไร
ให้เราสังเกตนะว่าความทุกข์ใจเกิดขึ้นได้เพราะอะไร มันไม่ใช่เพราะอากาศหนาว ไม่ใช่เพราะแดดร้อน ไม่ใช่เพราะเสียงมันดัง แต่เป็นเพราะท่าทีของใจต่างหาก ถ้าใจไม่ยอมรับ ใจปฏิเสธ ความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นทันที แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจะเล็กน้อย อย่างวัยรุ่นบางคนเพียงแค่มีสิวไม่กี่เม็ด เขาก็เป็นทุกข์จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงกับคิดฆ่าตัวตายเพียงเพราะว่ามีสิวที่ใบหน้า ในขณะที่บางคนเป็นมะเร็ง แต่ว่าก็ไม่ได้มีความอนาทรร้อนใจอะไร เขาก็ยิ้มได้ เขาก็อยู่ได้อย่างมีความสุข ทำไมสิวทำให้บางคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ แต่บางคนเจอมะเร็งแต่ว่าเขาเป็นปกติได้ ทั้ง ๆ ที่ความรุนแรงของสิวกับมะเร็งนี่มันเทียบกันไม่ได้เลย แต่ว่าความทุกข์ใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรามากเท่ากับว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร ถ้ายอมรับมะเร็งได้ มะเร็งก็ทำได้อย่างมากก็แค่ความทุกข์กาย แต่ว่าทำให้ทุกข์ใจไม่ได้ ส่วนสิวแม้ไม่ทำให้ทุกข์กาย แต่พอใจยอมรับมันไม่ได้ รังเกียจมัน ชิงชังมันก็ทำให้ทุกข์ใจท่วมท้นเลย
ดังนั้นเราเรียนรู้เรื่องนี้ได้จากความหนาวที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา ใช้ความหนาวมาเป็นโอกาสในการดูกาย ดูเวทนา และดูจิตก็ได้ สติปัฏฐาน 4 ก็มี 3 ข้อที่เราสามารถที่จะเรียนรู้ฝึกได้เลยในขณะนี้ ดูกาย ดูว่ากายมันเกร็งไหม มันมีปฏิกิริยาอย่างไรกับความหนาว ดูเวทนาก็คือดูความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อความหนาวสัมผัส ดูจิตว่าจิตมันมีปฏิกิริยามันรู้สึกอย่างไรต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น สังเกตว่าใจเรามันชอบไปจดจ่อกับสิ่งที่เป็นทุกข์มากกว่าสิ่งที่เป็นสุข อย่างตัวเราถูกห่มถูกคลุมด้วยเสื้อผ้าที่อบอุ่น แต่บ่อยครั้งใจชอบไปจ่อไปปักอยู่แถวร่างกายส่วนที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม เช่นนิ้ว มือ ทั้ง ๆ ที่ส่วนอุ่นในร่างกายมันอาจจะถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์แต่ใจเรามันไม่อยู่ตรงนั้น มันดันไปจดจ่ออยู่ตรงปลายเท้าปลายมือ ซึ่งเย็น หนาว และเป็นทุกข์
ลองเอาใจเลื่อนมาที่ส่วนที่อุ่น เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้หนาวมากมาย ไม่ได้ทุกข์อะไรเลย แต่ใจเราชอบไปอยู่ในที่ทุกข์มากกว่าที่สุข ชอบนึกถึงความทุกข์มากกว่าความสุข ชอบนึกถึงสิ่งที่เป็นลบมากกว่าสิ่งที่เป็นบวก นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของใจหรือของหลาย ๆ คนก็ได้ เราลองเลื่อนใจของเรา พาใจของเรามาอยู่ในบริเวณหน้าอกที่มันอุ่น เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ทุกข์ร้อนอะไรเลย
การปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการเจริญสติ มี 2 ภาคใหญ่ ๆ ภาคแรกคือให้ทำความรู้สึกตัวเมื่อกายเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวด้วยอิริยาบถใด เช่น เดิน ยืน พระพุทธเจ้าตรัสในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานว่าให้ทำความรู้สึกตัวเมื่อเดินไปข้างหน้า ถอยหลัง เมื่อเหลียวซ้าย แลขวา เมื่อทรงสังฆาฏิจีวร ทรงบาตร เมื่อคู้ขาเหยียดขา เมื่อกินดื่มลิ้มเสพ เมื่ออุจจาระ ปัสสาวะ เมื่อยืน เมื่อพูด เมื่อคุย เมื่อนิ่ง อันนี้เป็นการเจริญสติในยามที่มีการเคลื่อนไหว นี่คือภาคแรก ภาคที่สองคือว่าให้ฝึกสติเมื่อเกิดผัสสะขึ้น ผัสสะคือว่าเมื่อรูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก หรือว่ามีสิ่งมาสัมผัสกาย ในขณะที่เรานั่งอยู่นี้ถึงแม้บางคนกายอาจจะไม่เคลื่อนไหว แต่ว่าผัสสะก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่หูได้ยินเสียงแต่ว่าความหนาวก็สัมผัสกาย เราก็สามารถจะเรียนรู้หรือฝึกสติได้เมื่อเกิดผัสสะขึ้น เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดผัสสะขึ้นก็จะเกิดเวทนา จะเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือว่าความรู้สึกเฉย ๆ เรียกว่าอทุกขมสุขเวทนาก็ได้ และเมื่อเกิดเวทนาขึ้นแล้วก็ปรุงแต่งเป็นอารมณ์ เป็นความอยาก ความไม่อยาก เป็นความชอบ เป็นความชัง สภาวะเหล่านี้เป็นโอกาสหรือเป็นวัตถุดิบให้เราได้ฝึกสติรู้ทัน เมื่อกายเคลื่อนไหวก็รู้สึกตัว เมื่อจิตกระเพื่อมเพราะว่าเกิดผัสสะขึ้นมาก็รู้ทัน พูดสรุปง่าย ๆ ว่า “รู้กายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก”
ใจคิดนึกได้ส่วนใหญ่ก็เพราะเมื่อเกิดผัสสะ ที่จริงความคิดนึกก็เป็นผัสสะอย่างหนึ่งคือเมื่อมีความคิดเกิดขึ้นแล้วใจไปรับรู้ อันนั้นก็เรียกว่าผัสสะได้เกิดขึ้นแล้ว แต่บ่อยครั้งเกิดจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และเกิดเป็นเวทนาทำให้ใจกระเพื่อมด้วยความชอบ ความชัง ด้วยความอยากจะไขว่คว้าหรือผลักไส อันนี้แหละเป็นโอกาสให้เราได้เจริญสติ คือรู้ทันมัน ในเวลาเดินจงกรมสร้างจังหวะก็มีสติรู้สึกตัว และขณะเดียวกันเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา เสียงกระทบหู หรือว่ารูปมากระทบตา หรือว่าความร้อนความหนาวสัมผัสกาย เราก็ใช้สติเข้าไปดู ส่วนใหญ่เวลาตาเห็นรูป จิตเราก็ไปอยู่กับรูปทันทีเลย หรือไม่ใจก็กระเพื่อม อันนั้นคือคนที่ไม่มีสติหรือไม่ได้ใช้สติ แต่เราซึ่งเป็นนักปฏิบัติก็ลองฝึกดูว่าเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง หรือว่าร่างกายสัมผัสกับความหนาว สัมผัสกับแดด ให้มีสติมาดูใจด้วย ให้มีสติเห็นความชอบความชังที่เกิดขึ้น ขณะที่ตากระทบรูป หูได้ยินเสียง
แต่คนส่วนใหญ่จะไม่เป็นอย่างนั้น คนส่วนใหญ่ใจจะไปอยู่ที่รูปที่เสียงทันที เช่นพอมีเสียงดัง มีเสียงคนพูดคุยกันข้างล่าง มีเสียงรถยนต์ ใจก็จะพุ่งไปที่ต้นเสียงทันที จนลืมดูใจว่าตอนนั้นไม่พอใจ หรือใจมันหงุดหงิดอย่างไรบ้าง แต่นักภาวนานักปฏิบัติเมื่อหูได้ยินเสียง สติจะมาเห็นใจที่กระเพื่อมทันที ไม่ว่าความกระเพื่อมนั้น จะกระเพื่อมขึ้นหรือกระเพื่อมลง จะฟูหรือแฟบ เวลาเราไปตักอาหาร ตาเห็นอาหารที่ชอบหรือว่าจมูกได้กลิ่นที่หอม สติเราเห็นความดีใจหรือว่าใจที่ฟูขึ้นหรือเปล่า เวลาตักอาหารก็เป็นการเจริญสติได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน มันได้ฝึกสติเมื่อกายเคลื่อนไหว หรือได้ฝึกสติเมื่อใจคิดนึก หรือว่าปรุงแต่งเป็นอารมณ์ขึ้นมา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ฟูหรือแฟบ ถ้าเราเห็นถูกหรือว่าเห็นด้วยสติ มันจะไม่เข้าไปเป็น อย่างถ้าเราเห็นความหนาวที่เกิดขึ้นกับกาย ก็จะไม่เป็นผู้หนาว เห็นความหนาวแต่ไม่เป็นผู้หนาว เวลามีความปวดเมื่อยเกิดขึ้นแล้วใจไปรับรู้ความปวดเมื่อย แล้วก็เห็นด้วยสติ มันก็จะเห็นความปวดเมื่อยแต่ว่าไม่เป็นผู้ปวดเมื่อย เห็นความปวดกับเป็นผู้ปวดนี้ต่างกัน เห็นความหนาวกับเป็นผู้หนาวนี้ต่างกัน เห็นความหนาวนี้ใจไม่หนาว มันหนาวแต่กาย เห็นความปวดใจไม่ปวด มันปวดแต่กาย ซึ่งก็จะช่วยทำให้ความทุกข์มันลดลงไปได้เยอะทีเดียว อาจจะ 2 ใน 3 ก็ได้
ที่พูดแบบนี้เพราะว่าเขามีการวิจัยพบว่า คนที่กลัวเข็มฉีดยา ถ้าเกิดว่าโดนเข็มทิ่มลงไป ความเจ็บจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าของคนที่ไม่กลัว ความกลัวเป็นตัวเพิ่มความเจ็บให้มากขึ้น ความกลัวนั้นเป็นการผลักไสอย่างหนึ่ง เป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับของใจ มันก็แสดงอาการเป็นความกลัว และเมื่อใจกลัวแล้ว พอเกิดผัสสะคือเข็มทิ่มขึ้นมา มันไม่ใช่แค่ปวดที่แขน ปวดที่มืออย่างเดียว แต่มันปวดใจด้วย ความปวดใจนี้เป็นสองเท่าสามเท่าของความปวดกายก็ว่าได้ แต่ถ้าเรายอมรับได้ว่า มาถึงนี่แล้วจะฉีดก็ฉีดไป วางใจเป็นกลาง มันก็มีแต่ความปวดกาย แต่ว่าไม่ปวดใจ ให้เราหมั่นดูใจแบบนี้ด้วย ดูใจด้วยสติ เห็น ไม่เข้าไปเป็น แล้วเราก็จะพบว่าความทุกข์ใจมันลดลงไปได้เยอะ ไม่ว่ามีผัสสะใด ๆ เกิดขึ้นในทางที่ไม่น่าพอใจก็ตาม
การรู้เฉย ๆ นี้ก็เป็นหลักที่สืบเนื่องกับการเห็น ไม่เข้าไปเป็น ที่เข้าไปเป็นก็เพราะว่ามันไม่ยอมเห็นเฉย ๆ หรือไม่ยอมรู้เฉย ๆ จะเข้าไปแทรกแซง จะเข้าไปทำอะไรกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความโกรธก็ไปพยายามกดข่มความโกรธเข้าไว้ หรือว่าเมื่อมีผัสสะจากภายนอก เช่นเสียง รูปมากระทบ มันก็มีการผลักไส ไม่พอใจ ไม่ชอบ ปฏิเสธ เสียงหรือรูปที่มากระทบ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายนอกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน คืออารมณ์หรือเวทนานี้ ถ้ารู้เฉย ๆ แล้วมันจะไม่ทุกข์ใจสักเท่าไหร่ แต่พอไม่รู้เฉย ๆ หรือว่าเข้าไปทำอะไรกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่ารูปรสกลิ่นเสียง หรือว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้น และความคิดภายใน มันก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นทันที ลองฝึกดูการใช้สติเพื่อเห็นไม่เข้าไปเป็น หรือว่ารู้เฉย ๆ ไม่ใช่เฉพาะในเวลาที่มีสิ่งบีบคั้นกายหรือว่าสิ่งบีบคั้นใจ แม้กระทั่งสิ่งที่ทำให้ใจฟูฟ่อง หรือว่าเกิดความดีใจขึ้นมา ก็ต้องไวในการที่จะมีสติเห็นมันด้วย
พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณโณ ท่านเคยเล่าว่าเคยไปบรรยายที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง พอบรรยายเสร็จขณะที่กำลังรอพาหนะก็ได้คุยกับเด็กคนหนึ่งอายุประมาณ 8 ขวบ เด็กก็ดูท่าทางฉลาดและสนใจใฝ่รู้ พอคุยจบพระอาจารย์ประสงค์ก็บอกกับเด็กว่า หนูเป็นเด็กดี เด็กฉลาด เดี๋ยวหลวงพ่อจะให้ของขวัญ แล้วท่านก็หยิบลูกประคำออกมาจากย่าม เด็กเห็นเด็กก็ร้อง อู้ฮู พระอาจารย์ประสงค์ก็เลยถามว่าหนูร้องอู้ฮูนี้ หนูเห็นอะไร เด็กตอบดี บอกว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ เวลาตาเห็นลูกประคำนี่ เด็กก็ใช้สติเห็นความดีใจที่เกิดขึ้น นี่อายุ 8 ขวบ ส่วนใหญ่แม้กระทั่งผู้ใหญ่พอตาเห็นลูกประคำ หรือว่าเห็นแหวน เห็นเพชร ใจก็ไปปักตรึงตรงนั้นแล้ว ความดีใจเกิดขึ้นอย่างไรก็มองไม่เห็น แต่เด็กคนนี้พอตาเห็นลูกประคำ สติเห็นความดีใจเกิดขึ้น และเห็นในนั้น ไม่เข้าไปเป็น เด็กถึงตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจ เด็กไม่ได้ตอบว่าหนูดีใจค่ะ ต่างกันไหมระหว่างหนูดีใจกับหนูเห็นข้างในมันดีใจ นี่แหละคือความแตกต่างระหว่างเห็นกับความเข้าไปเป็น ส่วนใหญ่ไม่เห็นหรอก เข้าไปเป็นเลย หนูดีใจ หรือว่าถ้าปฏิบัติแล้วเครียด ๆ ก็รู้สึกว่าหนูเครียด ไม่ใช่หนูเห็นความเครียด เวลาฟุ้งซ่านก็เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ไม่เห็นความฟุ้งซ่าน เราลองสังเกตดูตอนที่เราเจริญสติ ยกมือสร้างจังหวะเดินจงกลม ว่าเราเห็นหรือเข้าไปเป็น
อันนี้พอเด็กตอบว่าหนูเห็นข้างในมันดีใจค่ะ พระอาจารย์ประสงค์ก็ถามว่าแล้วหนูทำอะไรกับมัน เด็กก็ตอบดีเหมือนกันเด็กตอบว่า หนูไม่ได้ทำอะไรกับมันค่ะ หนูแค่ดูมันเฉย ๆ ตอนนี้ข้างในมันลดลงแล้ว ความดีใจมันลดลงแล้ว เด็กทั้งเห็นและไม่เข้าไปเป็น แล้วก็รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ อย่างที่ครูบาอาจารย์สอน บางทีนักปฏิบัติที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร เห็นแล้วไม่เข้าไปเป็น แล้วก็รู้เฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ นี่ แต่เด็ก ๘ ขวบนี่เขาทำได้แบบสบายเป็นธรรมชาติเลย ก็ไม่รู้ใครสอนเหมือนกัน ส่วนใหญ่พอความดีใจเกิดขึ้นก็เข้าไปเป็น และไม่ใช่แค่นั้น ก็พยายามที่จะถนอมหวงแหนรักษามัน แต่ถ้าเป็นความเสียใจก็ไม่ใช่รู้เฉย ๆ ดูเฉย ๆ ก็จะไปผลักไสมันกดข่มมัน รู้เฉย ๆ นี้มันรู้แล้วมันจะวาง รู้แล้ววาง แล้วก็ไม่มีความอาลัยด้วย เช่นเวลาดีใจ รู้ว่าดีใจพอมันสงบลงก็จบเท่านั้น
หลายคนเวลาปฏิบัติ เกิดปีติ เกิดอาการเบา เกิดความสุข เกิดความสบาย แทนที่จะเห็นความปีติที่เกิดขึ้น ก็เข้าไปเป็นเลย เป็นผู้ปีติ เป็นผู้ดีใจ เป็นผู้อิ่มเอิบ เสร็จแล้วก็มักจะมีปัญหาตามมาเพราะว่าพอปฏิบัติใหม่ก็จะหวนนึกถึงความปีติที่เกิดขึ้น อย่างเช่นเมื่อวานนี้ทำแล้วปีติมากเลย คนที่ประสบความปีติ เกิดความเบาตัวเบาใจนี้ ส่วนใหญ่แล้ววันรุ่งขึ้นจะเครียด จะทุกข์เลย เพราะอะไร เพราะว่าอยากได้อย่างเมื่อวาน เมื่อวานนี้ทำดีมากเลยพอวันนี้ก็เลยจะพยายามเอาให้ได้ ๆ แทนที่จะทำด้วยความรู้สึกสบายก็ทำด้วยการบีบเค้น การบังคับ แทนที่จะอยู่กับปัจจุบันก็ไปนึกถึงอดีตว่าเมื่อวานนี้เราทำได้ดี ก็อยากจะได้อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้บ้าง อันนี้ก็คือว่าไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ฉะนั้นใครที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกสบาย ดี เบา นี้ ให้เตรียมใจเลยว่าวันรุ่งขึ้นจะแย่เพราะว่าใจมันวางไม่ถูก ใจมันยึดติดกับอดีตที่ผ่านไปแล้วแต่ยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง แต่ไปยึดมันเอาไว้ ใจเลยไม่อยู่กับปัจจุบัน แถมไปบังคับมันด้วย เพื่อให้ได้ผลอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวาน มันเป็นใจที่เจือด้วยตัณหาก็เลยตามมาด้วยความทุกข์
แต่ถ้าเกิดว่าวันนี้เราปฏิบัติดี ใจสบาย เรารู้เฉย ๆ ไม่เข้าไปเป็น มีปีติเกิดขึ้นก็เห็นความปีติแต่ไม่เป็นผู้ปีติ และเมื่อมันดับไปก็ปล่อยวาง กลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่หวนหาอาลัย โอกาสที่มันจะเกิดขึ้นอีกก็มีแต่เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทำแบบนั้น ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง พยายามที่จะเข้าไปยึด ไม่ได้รู้เฉย ๆ รู้แล้วปล่อย แต่ไปยึดมันเอาไว้ เลยทำให้การปฏิบัติเป็นเรื่องยากขึ้นมา