แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ชีวิตคือการเรียนรู้ มีคำพูดว่า “เรียนรู้ตลอดชีวิต” อันนี้ก็หมายความว่า แม้จะจบการศึกษาแล้วได้ปริญญา แม้จะเป็นถึงปริญญาเอก แต่การเรียนรู้ก็ไม่สิ้นสุด ต้องเรียนรู้ต่อเนื่อง ช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็อยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ว่านักเรียนหลายคนยังไม่ถือว่าต้องหยุดการเรียนรู้ การเรียนรู้ก็ยังมีต่อเนื่อง ครูก็เหมือนกันแม้จะปิดเทอมก็จริงแต่ว่าเราก็มีหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้
สำหรับวันนี้ก็มีคณะครูและเจ้าหน้าที่จากโรงเรียนวรรณสว่างจิตมาร่วมสมทบ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ที่อยู่ในความคิดของพ่อแม่คือการเรียนรู้ที่ทำให้ไปประกอบอาชีพหรือทำมาหากินได้สะดวกขึ้น มีการงานที่มั่นคง ซึ่งก็มักจะหมายถึงการมีเงินเดือนที่มากด้วยดังนั้นเมื่อพูดถึงการเรียนรู้ผู้คนก็มักนึกถึงแต่ในแง่นี้แหละ ซึ่งถ้าให้สรุปง่าย ๆ ก็คือเป็นการเรียนรู้วิชาชีพ วิชาที่เราเรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ยิ่งในโรงเรียนกวดวิชาด้วยแล้วมันก็หนีไม่พ้นเรื่องวิชาชีพ แต่บางทีก็แคบมากเพราะเป็นวิชาที่เอาไว้ให้สอบได้อย่างเดียว อย่างที่ติวกันในสถาบันกวดวิชาจำนวนมาก ความรู้ที่สอนกันก็ไม่แน่ว่าจะเอาไปทำมาหากินได้หรือเปล่า เพราะจุดมุ่งหมายก็เพื่อสอบให้ได้ สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ในคณะที่ต้องการ แต่คนเราจะเรียนแต่วิชาชีพนั้นคงไม่พอ วิชาชีพช่วยทำให้เรามีอาชีพมีการงานที่มั่นคงก็จริง แต่ความสุขของคนเราไม่ได้ขึ้นกับการมีอาชีพที่มั่นคง หรือพรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุ มันยังมีอีกอย่างหนึ่งที่เราควรจะเรียนรู้ ซึ่งอาตมาเรียกว่าเป็น “วิชาชีวิต”
วิชาชีวิต เป็นวิชาเกี่ยวกับความจริงของชีวิต ซึ่งอันที่จริงก็เป็นความจริงเกี่ยวกับโลก วิชาชีวิตนี้ทำให้เราตระหนักว่า ชีวิตนั้นประกอบไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้ตระหนักถึงความไม่เที่ยง ไม่จีรังของสิ่งต่าง ๆ แม้จะมีการงานที่มั่นคง แต่ว่าในความจริงมันก็ไม่ได้มั่นคงอย่างที่เราคิด อาจจะตกงานหรือว่างานนั้นกลายเป็นของล้าสมัยก็ได้ สมัยก่อนคนที่ทำงานแบงค์ ธนาคาร ก็ดูเหมือนจะมั่นคง แต่เดียวนี้อาชีพเหล่านั้น ตำแหน่งเหล่านั้นก็เลิกไปแล้วก็มี เพราะมันมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนที่ อาชีพหลายอย่างที่ทุกวันนี้เราคิดว่ามั่นคง อนาคตมันอาจจะเป็นประวัติศาสตร์ไปก็ได้ อาชีพนักหนังสือพิมพ์เมื่อสัก 20-30 ปีก่อนก็ถือว่ามั่นคง โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงหรือมียอดจำหน่ายที่มากมาย ยกตัวอย่าง ไทยรัฐ เดลินิวส์ แต่ว่าวันนี้มันก็ง่อนแง่นคลอนแคลนแล้ว เพราะคนเลิกอ่านหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ ระดับโลกต่างก็ปิดตัวไม่รู้เท่าไรแล้ว นิตยสารชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งเคยทำรายได้ให้กับเจ้าของจนร่ำรวย บรรณาธิการก็มีสถานะที่ได้รับการยกย่อง ตอนนี้ก็ปิดตัวไปก็เยอะแล้ว ดังนั้นที่เราคิดว่ามันมั่นคง การงานที่มั่นคงก็เพราะว่า วิชาชีพที่เรามีที่เราร่ำเรียนมา ถ้าเราเรียนวิชาชีวิตก็จะรู้ว่า มันไม่ได้มั่นคงอย่างที่เราคิด เมื่อ 5-6 ปีก่อนบริษัทหนึ่งในฟินแลนด์ที่ทำแองกรีเบิร์ดส จำแองกรีเบิร์ดสกันได้หรือเปล่า ซึ่งเมื่อ 5 ปีก่อนนี่ดังมากเลยทำรายได้ให้บริษัทมากกว่าโนเกียอีก ตอนนี้ได้ข่าวว่าเจ๊งไปแล้ว 5 ปีก่อนใครทำงานให้กับบริษัทนี้ถือว่าหรู โก้ แต่ตอนนี้ก็ต้องหางานใหม่แล้ว
วิชาชีวิตมันสอนให้เราเห็นว่า อะไรอะไรก็ไม่เที่ยง ซึ่งรวมถึงความเป็นไปในชีวิตของเราด้วย แต่วิชาชีวิตมันไม่ได้เพียงแต่ให้เราได้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน ซึ่งดูเผิน ๆ ก็ชวนให้หดหู่ ชวนให้หวาดวิตก แต่ยังสอนให้เราตระหนักว่า เราสามารถจะอยู่ท่ามกลางความผันผวนป่วนแปรไม่แน่นอนได้อย่างมีความสุข ทำให้เราตระหนักว่าความสุขที่แท้นี่มันอยู่ที่ใจ มันไม่ได้อยู่ที่ฐานะ อยู่ที่เงินทอง หรือยศศักดิ์อัครสถาน ฉะนั้นจึงจำเป็นมากที่เราควรที่จะให้ความสำคัญกับวิชาชีวิตด้วย ในขณะที่เราขวนขวายเรียนวิชาชีพ ซึ่งก็จะมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายที่ต้องไล่ตามไม่หยุดหย่อน แต่ก็อย่าลืมวิชาชีวิต เพราะจะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขอย่างแท้จริง แม้ว่ารอบตัวมันจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน วิชาชีพนี่เรียนแล้วบ้างที่ก็ไม่ได้ใช้ บางคนเรียนนิติศาสตร์ได้ปริญญา เรียนจบวิศวะ หรือจบครู จบสถาปัตย์ จบเภสัช ใช้เวลา 4-6 ปี หรือแม้แต่บางคนที่เรียนแพทย์ จบแล้วไม่ได้ใช้ก็มี เพราะว่าไปมีอาชีพอื่นแทน เช่นไปค้าขาย ไปทำธุรกิจ หมอที่ไปทำธุรกิจก็มีเยอะ หรือว่าไปเป็นศิลปินอิสระ เป็นช่างภาพก็มี มีผู้ชายอยู่คนหนึ่งเรียนจบหมอแต่ก็หันไปเป็นช่างภาพอิสระ เขาบอกว่าที่เรียกหมอนี่ก็เพื่อเอาใจพ่อแม่ เมื่อทำความต้องการของพ่อแม่เรียบร้อยแล้วก็ขอทำความต้องการของตัวเองมั่ง คือเป็นช่างภาพอิสระ
วิชาชีพบางอย่างแม้เราจะเรียน และได้ทำงานตามวิชาที่เรียนมา เช่น เรียนแพทย์จบไปก็เป็นแพทย์ แต่ความรู้ที่เรียนมามีหลายอย่างที่ไม่ได้ใช้ อย่างเช่นพวกเราเองวิชาที่เรียนมาในมัธยม มหาวิทยาลัย หลายวิชาเราก็ไม่ได้ใช้กันแล้วใช่ไหม บางทีลืมไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งบางอย่างที่ไม่ได้ใช้นั้นก็เพราะมันใช้ไม่ได้แล้ว กลายเป็นล้าสมัยไป มีหมอใหญ่อยู่คนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ความรู้ 2 ใน 3 ที่ได้นำมาใช้ในการรักษาคนไข้ทุกวันนี้ ล้วนไม่ใช่ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนขณะที่เป็นนักศึกษา หรือขณะที่เรียนแพทย์ประจำบ้าน หรือ residency ซึ่งก็คือ แพทย์ที่ไปเรียนวิชาเฉพาะทาง ซึ่งก็ใช้เวลาเรียนอยู่หลายปีเหมือนกัน ที่เรียนกันมาเยอะแยะปรากฏว่า ที่ไม่ได้ใช้มีอยู่เยอะมาก เพราะล้าสมัยไปแล้วด้วยมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ เช่น การผ่าตัดด้วยการใช้เลเซอร์ กำจัดเนื้อร้ายการใช้อัลตร้าซาวน์ หรือใช้รังสี ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีเทคโนโลยีแบบนี้ ที่เรียนไปมากมาย ต้องท่องจำกันเยอะแยะก็ไม่ได้ใช้เลย ซึ่งวิชาชีพส่วนใหญ่มักเป็นแบบนั้น และจะความล้าสมัยเร็วเข้า ภายใน 10 ปีวิชาชีพที่เราเรียนกันอยู่อาจล้าสมัยไป 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะเพียง 5 ปีด้วยซ้ำ ด้วยโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปเร็ว
แต่สำหรับวิชาชีวิต เรียนแล้วได้ใช้แน่นอน ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงตาย เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความจริงของชีวิต และที่สำคัญคือ มันทำให้เราได้มาเรียนรู้และเข้าใจเรื่องตัวเองด้วย เข้าใจว่าความสุขมันอยู่ที่ไหนและความทุกข์ที่แท้เกิดจากอะไร ถ้าคนไม่เรียนวิชาชีวิตแล้วก็อาจคิดว่าความสุขอยู่ที่การมีทรัพย์ การบริโภค อยู่ที่การที่มีสิ่งเสพที่พรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุ ก็เลยไปให้ความสำคัญกับวิชาชีพมากขึ้น พ่อแม่ก็มักเป็นแบบนั้น เคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนแต่วิชาชีพ เพราะคิดว่าลูกจะมีความสุขได้จากการมีวัตถุสิ่งเสพ ซึ่งก็อย่างที่เราเห็นกันและใคร่ครวญกันสักหน่อยก็จะพบว่า บางคนร่ำรวยมากมายก็ไม่มีความสุข แค่จะนอนให้หลับนี่ก็มีปัญหาแล้ว เป็นโรคนอนมาหลับ โรคเครียด ความดันสูง โรคซึมเศร้า ล้วนเป็นกันเยอะแม้แต่ในหมู่คนที่ร่ำรวย มีการงานที่มั่นคง นั้นก็เป็นผลพ่วงจากการที่ไม่เข้าใจในวิชาชีวิต ไม่เข้าใจว่าสุขที่แท้เกิดจากอะไร? มันอยู่ที่ไหน? และความทุกข์นี่มันมีสาเหตุจากอะไร?
วิชาชีวิต ที่นี้ก็เอามาสอน เอามาถ่ายทอดให้พวกเรานี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยมันมีใจกลางอยู่ที่ว่าทำให้เราได้รู้จักตัวเราเองโดยเฉพาะกายกับใจจนสามารถที่จะเป็นมิตรกับตัวเองได้ แล้วก็ทำให้ใจและกายมาเป็นมิตรกันเกื้อกูลกันเหมือนดังที่เคยกล่าวไปว่า ทุกวันนี้คนเราไม่ค่อยเป็นมิตรกับตัวเองเท่าไร โดยเฉพาะจิตใจนี่มันก็กลายเป็นปฏิปักษ์กับเราอยู่บ่อยครั้ง และคอยซ้ำเติมเราอยู่เป็นประจำ หากเราไม่รู้จักใจเราดีพอ หรือไม่ใส่ใจ จิตใจก็จะกลับมาซ้ำเติมเรา เช่น ในยามที่รถติดมันไม่ใช่แค่เสียเวลาแต่จะเสียอารมณ์ด้วย เมื่อถูกซ้ำเติมแทนที่จะเสียหนึ่งก็กลายเป็นเสียสอง เวลาทำงานก็เหมือนกัน แทนที่จะเหนื่อยแต่กายมันก็เหนื่อยใจด้วย เพราะจิตมันไปซ้ำเติมเพิ่มความเครียดให้กับตัวเรา เวลาป่วยก็ไม่ได้ป่วยแค่กายมันจะป่วยใจด้วย หรือบางทีจะไปซ้ำเติมให้กายป่วยหนักมากขึ้น คุณหมอประเวศ วสี เคยเล่าว่า สมัยที่ท่านรับราชการที่ศิริราช มีคนไข้คนหนึ่งวัยกลางคนผู้ชาย ตัวซีดผอมไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงต้องนอนเปลมาให้คุณหมอตรวจ อาการถึงขนาดนั้นเชียว คุณหมอดูอาการจึงซักถามคนไข้สักพักก็หันไปคุยกับแพทย์ประจำบ้านว่า คนไข้คนนี้ไม่เป็นอะไรมาก ที่ซีดเพราะมีพยาธิปากขอ เดี๋ยวให้กินเหล็กก็จะหายวันหายคืน พูดจบก็หันมาชี้ที่คนไข้ปรากฏว่าคนไข้ลุกขึ้นยืนได้เลย เรี่ยวแรงมาไม่รู้จากไหน พร้อมบอกว่า คุณหมอถ้ามันหายง่ายแบบนี้ผมก็ไม่ต้องใช้เปลแล้วล่ะ ว่าแล้วก็เข็นเปลออกไปชิดติดกำแพง เรี่ยวแรงกลับมาทันทีที่ได้รู้ว่าไม่เป็นอะไร ทำไมพยาธิปากขอถึงขั้นทำให้ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงแม้กระทั้งการเดินมาหาหมอ
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะใจมันไปปรุงแต่งว่าเป็นมะเร็งแล้วกระมัง เป็นลูคีเมียหรือเปล่า ดีซ่านไหม จิตที่มโนไปจึงทำให้หมดแรงไปเลย พยาธิปากขอมันไม่ได้ทำให้หมดแรงไปหรอก แต่จิตที่ปรุงแต่งต่างหากที่ทำให้หมดแรง นี่คือกรณีที่จิตมันซ้ำเติมกาย บางทีถึงตายเลยก็มี ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่คุณหมอประเวศ เล่าให้ฟังว่า เป็นนักธุรกิจที่เล่นเทนนิสเป็นประจำ วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพ หมอบอกว่าคุณหัวใจรั่ว แกตกใจมากเลย เพราะความเข้าใจของแกว่าหัวใจรั่วนี่คือหัวใจเป็นรู เวลาหัวใจเต้นก็จะมีเลือดพุ่งออกมาแบบนี้ก็ตายล่ะสิ ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกแกว่า ลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ไปตามปกติ ออกกำลังกายก็ยังได้ แต่หมอพูดไม่ครบ แล้วคนไข้ก็ปรุงแต่งต่อไปเรื่อยว่าถ้าเป็นอย่างนี้ก็ตายแน่ 2 วันเท่านั้นแหละเข้าโรงพยาบาลเลย ต่อมาก็เข้าห้องไอซียู และก็ไม่ออกมาอีกเลย ที่ตายนั้นไม่ใช่เพราะลิ้นหัวใจรั่วหรอก แต่ตายเพราะจิตที่มันผวา มันปรุงแต่งเกินเหตุ ซึ่งลิ้นหัวใจรั่วนี้จริง ๆ ร่างกายมันก็อยู่ได้และสบายได้ ใช้ชีวิตตามปกติได้ แต่จิตที่มันปรุงแต่งมโนนี่มันไปซ้ำเติมกายให้แย่ถึงตายได้
จิตนี้จึงมีพลัง อยู่ที่เราจะใช้พลังไปทางไหน ถ้าเราปล่อยให้ความโกรธ ความกลัวเข้ามาครอบงำจิต จิตก็จะมีพลังไปใช้ซ้ำเติมเราได้ หรือแม้แต่ยาก็เอาไม่อยู่ มีเพื่อนเป็นนักธุรกิจผู้หญิง หัวใจไม่ดีต้องผ่า ไปถึงห้องผ่าตัดแล้วเธอนึกขึ้นมาได้ว่า ไม่ได้สั่งเสียธุระเรื่องหนึ่งให้กับลูกน้องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญด้วย จึงต้องรีบสั่งเสียเพราะไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่าในการผ่าตัด ความกังวลความวิตกของแกนี่มันทำให้หมอดมยาให้เพื่อสลบ แต่ยาทำอะไรไม่ได้ ตาค้างตลอดเวลา หมอก็แปลกใจว่าทำไมไม่สลบ จนกระทั้งแกขอโทรศัพท์จากหมอเพื่อสั่งเสียกับลูกน้องเสร็จ คราวนี้สลบเลย ความกังวลนี่ถ้าจิตมันไม่มีความกังวลไม่ปล่อยไม่วาง บางทียามันก็จะเอาไม่อยู่ ร่างกายมันก็จะตื่นตลอดเวลา แต่พอเสร็จธุระแล้วความกังวลหมดแล้ว มันผล็อยสลบไปเลย
ดังนั้นจิตของเรา ถ้าเราไม่ฝึกดูแลใส่ใจ มันก็สามารถซ้ำเติมเราได้ มันมีพลังจนแม้แต่ยาก็ไม่สามารถต้านทานได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าฝึกใจไว้ดี มันก็ทำในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อได้เหมือนกัน คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตของศิริราช ที่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ท่านเล่าว่าเคยมีคนไข้คนหนึ่งเป็นโรคพุ่มพวง คือภูมิต้านทานมันทำร้ายตัวเอง ทำร้ายอวัยวะของตัวเอง ร่างกายไม่เป็นมิตรกับตัวเอง ตอนอายุ ๑๒ เคยโดนหมอฉีดที่สันหลัง หมอคงจะมือหนักแล้วก็ไม่มีจิตวิทยา เด็กนี่ปวดมาก ปวดจนเข็ดหลาบ เวลาเจอเข็มนี่แกจะกลัวมาก ร้องกรีดจนเป็นลมไปเลย จิตนี่มันฝังใจ เพียงแค่เห็นเข็มจิตก็จะปรุงไปเลย แล้วก็ผวา หมอไม่รู้จะทำยังไง แต่พอมาถึงมือหมอสุมาลี หมอก็เข้าใจ ท่านพยายามให้เด็กเข้าใจความกลัวของตัวเอง ด้วยการเรียนรู้ การเอาความกลัวระบายออกเป็นภาพ และเมื่อดูภาพก็เพื่อให้เด็กเข้าใจความกลัวของตัว จนกระทั่งเด็กสามารถที่จะรับรู้ความกลัวของตัวเองได้ ตอนหลังก็ชวนเด็กซึ่งเป็นวัยรุ่นแล้วไปเจริญสติให้รู้ทันความกลัว จนกระทั่งความกลัวไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตใจไม่ได้ ภายหลังเจอเข็มใหญ่เวลามาเจาะหรือมาฉีดเพื่อรักษาเธอก็จ้องอย่างปกติไม่มีอาการสะทกสะท้าน
จากเด็กที่กลัวเข็มจนเป็นลมตอนหลังนี่สามารถที่จะดูเข็มฉีดเข้าร่างกายของตัวเองได้ เท่านั้นยังไม่พอภายหลังเมื่อไตเธอแย่ลงไปเรื่อย ๆ จนต้องเปลี่ยนไต ตอนเข้าห้องผ่าตัดปรากฏว่าเธอแพ้ยาระงับปวดอย่างหนัก หมอจึงตกลงคงต้องเลิกผ่าเพราะไม่สามารถใช้ยาระงับปวดได้ แต่เธอกลับบอกว่า ไม่เป็นไรหมอ ขอแค่พารา 2 เม็ด เธอกินพาราไป 2 เม็ดแล้วก็เธอภาวนา ปรากฏว่าหมอผ่าตัดได้สำเร็จโดยไม่ใช้ยาระงับปวด เธอภาวนาจนหลับไปเลย ทำให้หมอประหลาดใจไปเลย จนกลายเป็นเคสที่ต้องศึกษากันว่า จิตนี่มันมีพลังมาก ถ้าเอามาใช้ให้เป็นก็สามารถทำให้เราอยู่กับความปวดได้ โดยที่ไม่มีอาการทุกข์ทรมาน อานุภาพของจิตจึงมีพลังมากอยู่ที่เราจะใช้ไปในทางไหน แต่ถ้าปล่อยให้มันถูกครอบงำด้วยความกลัว ความตื่นตระหนกก็สามารถทำให้เราตายได้ง่าย ๆ เพราะร่างกายจะแย่ ถ้ามีความกังวลยาก็เอาไม่อยู่ แต่ถ้ามีความสงบ มีสมาธิ มีสติ เจ็บแค่ไหนจิตใจมันก็เอาอยู่ ใจมีพลังสามารถที่จะทำให้กายซึ่งท้อแท้หรือปวกเปียกกลับมามีพลังขึ้นมาได้
เมื่อหลายสิบปีก่อน ประมาณ 60-70 ปี มีนักบินชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง เครื่องบินไปตกที่เทือกเขาแอนดีส แถวลาตินอเมริกา เป็นภูเขาสูง มีหิมะขาวโพลนเต็มตลอดเทือกเขา แกรอดตายมาได้แต่ต้องกระเสือกกระสนเดินผ่าหิมะ ผ่านไป 3 วัน 3 คืนก็ไม่เห็นวี่แววของผู้คนหรือชุมชน ร่างกายก็เหนื่อยล้าเต็มทีแต่แกรู้ว่าท่าแกหยุดเมื่อไรต้องตายแน่ จึงพยายามที่จะรวบร่วมกำลังใจเดินไปให้ไกลที่สุด เดินไปได้พักใหญ่ก็หมดแรงก็คิดว่าต้องตายแน่ ๆ จึงทำใจได้แล้วว่าจะต้องตาย ในใจก็อำลาลูกเมีย แต่แล้วจู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ถ้าตายลงตรงนั้นคงหาศพได้ยาก เพราะในกฎหมายฝรั่งเศสถ้าหาศพไม่เจอก็ถือว่าตายไม่ได้ ต้องทิ้งไว้สักประมาณ 4 ปีได้กระมัง ให้เป็นบุคคลสูญหายไปก่อนเมื่อครบ 4 ปีจึงจะได้เงินประกัน นักบินคนนั้นคิดว่า ถ้าตัวเองตายไปครอบครัวกว่าจะได้เงินประกันก็จะต้องรอไปถึง 4 ปีลูกและเมียคงจะลำบากเป็นแน่
แกจึงพยายามที่จะทำยังไงให้ผู้คนได้หาศพตัวเองได้ง่ายขึ้น จึงมุ่งไปข้างหน้าไปประมาณสัก 100 เมตรที่มีหินก้อนใหญ่อยู่ก้อนหนึ่ง คิดว่าถ้าไปถึงหินก้อนนั้นและกระเสือกกระสนขึ้นไปบนหินก้อนนั้นให้ได้แล้วตาย หากมีคนมาค้นหาศพก็คงจะเจอศพ จึงรวบรวมกำลังเป็นครั้งสุดท้ายไปให้ถึงก้อนหินนั้น ปรากฏว่าพอไปถึงกลับมีกำลังขึ้นมาจึงเดินต่อไปอีก รู้ไหมว่าแกเดินต่อไปอีกเท่าไร อีก 90 กิโลเมตร ทีแรก 100 เมตรแทบจะไม่ไหวแต่พอมีเรี่ยวแรงว่าเราเดินได้นี่ ความรักที่มีต่อลูก เมีย มันมีความรู้สึกว่าต้องเอาตัวให้รอดจึงเกิดกำลังใจ ทำให้เดินต่อไปได้อีก 90 กิโลเมตรทีเดียว จนมีคนเห็นและได้ช่วยชีวิตไว้ได้ ซึ่งมันก็ช่วยได้อยู่แล้วไม่อย่างนั้นก็คงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาในช่วงนั้น นี่เรียกว่าที่รอดตายเพราะใจอย่างเดียวเลย ร่างกายมันไม่ไหวแล้ว หรือร่างกายอาจจะไหวแต่หากใจไม่สู้ร่างกายก็ทำท่าจะไม่ไหวไปด้วย แต่ถ้าใจมันสู้ร่างกายก็จะไหว จิตจะลากกายจนสามารถรอดชีวิตได้ อันนี้เขาเรียกว่า พลังแห่งความรัก รักครอบครัว รักเมียรักลูก ก็จะส่งผลให้จิตมีพลังอย่างที่ไม่น่าเชื่อ
เพราะฉะนั้นคนเราไม่ว่าจะเจอเหตุเภทภัยอย่างไร ถ้าใจของเราเข้มแข็งหรือใจเราได้รับการฝึกมาอย่างดี มันก็สามารถประคองชีวิตเราให้ฟันฝ่าเหตุร้ายต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งก็ไม่ใช่จะรอดตายไปได้ทุกครั้ง เพราะบางครั้งมันก็สุดวิสัย เช่นเป็นมะเร็งบางทีแม้ใจจะสู้ ใจจะเป็นปกติ แต่ร่างกายมันไม่ไหวก็อาจจะไม่รอด แต่ว่าในระหว่างที่ป่วย ใจก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานอะไร จิตที่ไม่รักษาไม่ดูแลมันจะซ้ำเติมตัวเราให้ทุกข์มากขึ้น แทนที่จะป่วยกายอย่างเดียวก็ป่วยใจ แทนที่จะเสียทรัพย์อย่างเดียวก็เสียสุขภาพจิต ไม่เป็นอันทำงาน เสียงาน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เสียสุขภาพ อารมณ์ไม่ดี ใครมาหยอกมาล้อก็โกรธด่า ทะเลาะเบาะแว้งกันจนเสียเพื่อน บ่อยครั้งเราซ้ำเติมตัวเอง เวลามีเหตุมาเหตุร้ายมากระทบก็จะเสียยุบเสียยับตามมา แต่ถ้าเราฝึกจิตเอาไว้ดี ถ้าป่วยก็ป่วยอย่างเดียวคือป่วยกายแต่ไม่ได้ป่วยใจ ถ้าเสียก็เสียอย่างเดียวคือเสียทรัพย์แต่อย่างอื่นไม่เสีย ถ้าเป็นงานก็ล้มเหลวแต่งาน แต่ตัวเองไม่ล้มเหลว
อย่างหลวงพ่อคำเขียน ท่านทำงานเยอะโดยเฉพาะงานพัฒนาชาวบ้าน ทำมาหลายอย่าง ทั้งเรื่องศูนย์เด็ก ทั้งสงเคราะห์เรื่องสหกรณ์ข้าว ชักชวนให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน ฝึกอาชีพชาวบ้านนอกจากสอนวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทำมาสิบปี มีคนถามท่านว่า งานหลวงพ่อสำเร็จไหม หมายถึงงานพัฒนาชุมชน ท่านบอกว่างานล้มเหลวแต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว คนส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่งานล้มเหลวตัวก็ล้มเหลวด้วย รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีคุณค่า เรียกว่าล้มเหลวทั้งงานล้มเหลวทั้งตัวเอง อันนี้เพราะจิตที่ไปซ้ำเติม คนที่จิตฝึกไว้ดี งานถึงแม้จะล้มเหลวแต่ตัวเองก็มีความสุขได้ ยังกินได้นอนหลับและมีกำลังใจ
อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ ทุกคนทำได้ ถ้าเราเรียนรู้เรื่องจิตใจของเรา และพยายามพัฒนาจิตใจ โดยใช้ศักยภาพที่มี ไม่ว่าจะเป็นสติ สมาธิ ขันติ วิริยะ พวกนี้มันศักยภาพที่มีอยู่แล้วในจิตใจของเรา ถ้าเราพัฒนาจิตของเราก็จะเป็นจิตที่มีคุณภาพ เหมือนกับร่างกายของเราพัฒนาออกกำลังกายบ่อย ๆ เราก็จะมีความสามารถที่คนธรรมดาทำไม่ได้ อันนี้เราจะดูได้สังเกตได้จากนักกีฬา เช่นนักกีฬามาราธอน วิ่งร้อยเมตร วิ่งผลัดสี่ร้อยเมตร ว่ายน้ำ ฟุตบอล พวกเขาเหล่านี้ทำได้ในสิ่งที่คนธรรมดาทำได้ยากเพราะว่าพวกเขาฝึก จิตของเราก็เหมือนกันถ้าฝึกเอาไว้มันก็จะมีศักยภาพมาก แต่ถ้าไม่ฝึกมันก็จะเปิดช่องให้ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า เข้ามาเล่นงานจิตใจ เล่นงานไม่พอยังใช้ใจไปทำร้ายซ้ำเติมตัวเอง หรือทำร้ายผู้อื่นด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งบุพการี และคนที่เรารัก
ทั้งหมดนี้มันก็เกี่ยวข้องกับการที่เราจะมาเรียนรู้วิชาชีวิต และไม่ใช่เรียนรู้โดยการอ่านการฟัง แต่ต้องเรียนรู้การปฏิบัติ การเจริญสติ อันนี้เป็นการที่ทำให้เราเจนจัดช่ำชองในเรื่องชีวิตมากขึ้น และทำให้จิตใจของเรา กายของเราเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิต