แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคนเขียนคำถามเข้ามาทาง Facebook น่าสนใจดี น่าพิจารณา ใจความก็มีว่า ทำไมชาวพุทธไม่ค่อยสนใจช่วยเหลือสังคม มุ่งแต่การปล่อยวางส่วนตัว ก็คงหมายถึงว่า มุ่งแต่การแก้ทุกข์เฉพาะตัว หรือการดับทุกข์เฉพาะตัว แต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการช่วยเหลือสังคม
แต่ก็มีหลายคนไม่เห็นด้วยเลยเขียนแย้งมาว่า เวลามีเกิดเหตุร้ายขึ้นมา ก็จะเห็นผู้คนเข้าไปช่วยเหลือกันมากมาย และก็มีหลายคนให้ความเห็นทำนองนี้ คล้ายๆกับจะแย้งคนที่เขาเขียนมาเมื่อสักครู่ แต่ที่จริง ที่เขาแย้งมาก็น่าสังเกตุว่า เขาจะพูดในแง่ที่ว่าเมื่อเกิดเหตุร้าย อย่างเช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ หรือว่าเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ อันนี้ก็เห็นชัดว่ามีผู้คนเข้าไปช่วยเหลือมาก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนไทยเราเป็นที่รู้จักกันดี ว่าพอมีเกิดเหตุร้ายแล้วก็ต่างคนก็ไปช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ แต่มันก็น่าคิดว่าการช่วยเหลือแบบนี้มันเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีเหตุร้าย จะเป็นภัยธรรมชาติก็ดี หรือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ก็ตาม หรือแม้แต่ตึกถล่ม แต่ถ้าเกิดว่ามันไม่มีเหตุร้ายที่เป็นข่าว ในภาวะที่เป็นปกติ ก็ไม่ค่อยมีชาวพุทธไปช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากเท่าไหร่ อันนี้พูดในยามปกติ ฉะนั้นสิ่งที่คนแย้งมา ที่จริงมันก็เป็นการรองรับสนับสนุนคำถามของคนที่ถามมา ก็คือว่า จะมาช่วยก็ต่อเมื่อมันเกิดเหตุร้าย ถ้าไม่เกิดเหตุร้ายขึ้นมาก็จะต่างคนต่างอยู่ พูดง่ายๆคือจะไม่ค่อยเข้าไปช่วยเหลือสังคม เช่น ไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า หรือว่าคนยากคนจนคนชรา หรือว่าช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมที่มันกำลังเน่าเสียหรือกำลังถูกทำลาย
เคยมีอาสาสมัครคนหนึ่งไปช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ไม่เชิงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาล พยาบาลก็ถามว่า “หนูนับถือศาสนาอะไร” เธอก็ตอบว่า “นับถือศาสนาพุทธค่ะ” พยาบาลก็เลยตอบว่า “อ๋อ นึกว่าเป็นคริสต์” เพราะว่าในประสบการณ์ของเธอ คนที่ไปเป็นจิตอาสาไปช่วยเหลือคนเจ็บคนป่วย ประสบการณ์ของเธอมันเป็นชาวคริสต์เสียมาก ชาวพุทธไม่ค่อยมี แต่เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนไปมาก เพราะว่าจิตอาสาที่ไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วยตอนนี้ก็มีมากขึ้น แต่ก็น่าสังเกตุว่าคนเหล่านี้ที่ไปช่วย ไม่ว่าจะช่วยคนเจ็บคนป่วย ไปเป็นจิตอาสาช่วยเด็กที่ถูกทอดทิ้ง หรือว่าคนแก่คนชรา พวกนี้เป็นชาวพุทธก็จริงแต่ไม่ใช่ชาวพุทธแบบที่เรียกว่าธัมมะธัมโมหรือว่าชาวพุทธแบบเข้มข้นเท่าไหร่ อาจจะเป็นชาวพุทธแบบทะเบียนบ้านด้วยซ้ำ คนที่เขาเขียนมาบอกว่าเวลาเกิดเหตุร้ายก็เห็นมีใครต่อใครไปช่วยมาก เขาก็เขียนต่อท้ายว่า คนที่ไปช่วยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ชอบเข้าวัดหรือว่าเป็นคนที่สวดมนต์อะไรทั้งหลาย บางคนก็ไม่เคยเข้าวัดไม่เคยสวดมนต์เลย ก็แสดงว่าเป็นชาวพุทธแบบทะเบียนบ้าน
อีกกลุ่มหนึ่งที่สังเกตุ เช่น พวกจิตอาสา อาสาสมัคร ร่วมกตัญญู หรือว่าปอเต็กตึ้ง พวกนี้ก็ทำงานแข็งขัน แต่ว่า เท่าที่สังเกตุดูก็ไม่ใช่พวกพุทธแบบธรรมะธรรมโมเท่าไหร่ ถ้าพุทธแบบธรรมะธรรมโมหรือพุทธแบบเข้มๆ สังเกตุว่าจะทำเรื่องพวกนี้น้อย แต่ว่าจะเข้าวัดปฏิบัติธรรมหรือว่าเข้าคอร์สมากกว่า อันนี้มันก็เป็นภาพที่น่าพิจารณาว่าทำไมชาวพุทธที่แบบประเภทธรรมะธรรมโม หรือว่าสนใจธรรมะแบบจริงๆจังๆ ถึงไปเป็นจิตอาสาน้อย หรือว่าไปช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากน้อย ก็มีเวลามาช่วยในแง่ที่ว่าเป็นโรงทาน เวลาที่เกิดมีโรงทานขึ้นมา คนก็มากันมาก แต่ว่าเป็นการมาช่วยในลักษณะว่ามาช่วยงานวัดมากกว่า แต่ถ้าเป็นเรื่องโลกๆ เช่น เรื่องการปลูกป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ การช่วยเหลือคนเจ็บคนป่วย เป็นที่น่าสังเกตุว่าคนที่ไปทำงาน ถ้าเป็นชาวพุทธก็เป็นชาวพุทธแบบทั่วๆไป ไม่ได้เป็นพวกแก่วัดหรือไม่ได้เป็นพวกธรรมะธรรมโม ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อันนี้เขาก็ถามขึ้นมา
อาตมาก็ตอบไปอย่างนี้ว่า ที่จริงพุทธศาสนาก็สอนเรื่องการบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ไม่ได้มุ่งการดับทุกข์เฉพาะตัวอย่างเดียว แต่ว่ายังให้ความใส่ใจกับการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย อันนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นคติที่คนไทยแต่ดั้งแต่เดิมเขาก็นับถือมานาน ก็คือว่า ก็จะไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว แต่เขาจะนึกถึงคนอื่นด้วย อย่างมันมีธรรมเนียมที่เมืองเพชร เมืองเพชรเวลาที่ชาวบ้านจะปลูกต้นไม้ เขาจะมีคำอธิษฐาน คำอธิษฐานนี่สั้นๆ “พุทธังพลาผล” แล้วก็บอกว่า นกกินเป็นบุญคนกินเป็นทาน “ธรรมังพลาผล” นกกินเป็นบุญคนกินเป็นทาน “สังฆังพลาผล” นกกินเป็นบุญ คนกินเป็นทาน คือเวลาเขาปลูกต้นไม้ เขาไม่ได้คิดแต่ว่าฉันจะได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ว่าก็ทำเพื่อนก เพื่อสิงสาราสัตว์และเพื่อคนอื่นด้วย ก็คือว่านึกถึงคนอื่น
คนแต่ก่อนเวลามีการเทศน์ พระจะเทศน์เรื่องหนึ่งที่นิยมเทศน์กันมาก คือเรื่องกำเนิดพระอินทร์ กำเนิดพระอินทร์เป็นยังไง ก็เป็นเรื่องของมานพ ชื่อว่ามาฆะมานพ มาฆะมานพนี้เป็นคนที่ขวนขวาย ช่วยเหลืองานของส่วนรวมมาก มีคราวหนึ่งก็มีการทำงาน คนในหมู่บ้านก็มาทำงานกันในลานหมู่บ้าน มาฆะมานพ ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ก็ทำความสะอาดสถานที่ไปด้วย ทำความสะอาดเสร็จแล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้นสักพัก พอเขยื้อนขยับไปที่อื่นก็มีคนมานั่งต่อ เพราะว่าที่มันน่าอยู่ แกก็ทำความสะอาดไป พอเผลอคนก็มานั่ง วันรุ่งขึ้นแกก็คิดเลยว่า “เออ ไหนอย่ากระนั้นเลย เรียกว่าพัฒนาเสียเลย ตรงกลางลานหมู่บ้าน” แกก็เอาจอบมาแล้วก็ทำความสะอาดให้มันเป็นระเบียบ แล้วไม่ได้ทำแค่นั้น เอาน้ำ เอาน้ำเย็นมาตั้ง แล้วก็มีทำศาลาเป็นที่พัก เป็นเพิงพักของชาวบ้านตรงสี่แยก แล้วตอนหลังก็ทำทางเข้าหมู่บ้านให้ดี แล้วตัวแกก็ทำทุกวัน ทำทุกวัน จนกระทั่งมีเพื่อนประมาณ 32 คนก็มาช่วยด้วย
ทีแรกก็มาทีละคนสองคน ตอนหลังก็เลยมาช่วยกันพัฒนาหมู่บ้านเป็นการใหญ่ สร้างศาลาริมถนน ทำสะพาน ทำที่พักคนเดินทาง พอทำไปทำไป คนก็นิยม ลืมบอกไปว่าตอนที่แกทำคนเดียวก็ทำจนดึกเลย กลับมาบ้าน เวลากลับมาจากลาน จะเข้าบ้านคนก็ถามว่าไปไหนมา แกก็บอกว่า ไปทำบุญ แล้วก็ไปสร้างทางสู่สวรรค์ ทำบุญไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวัดเลย มันเป็นเรื่องการช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้าน ตอนหลังก็มีคนมาช่วยมาก ตอนหลังผู้หญิงก็มาด้วย แม่บ้านก็มา ก็กลายเป็นว่ามีความขวนขวายช่วยเหลือหมู่บ้านเป็นการใหญ่ แล้วก็ขยายออกไปกว้างขวาง
พอตายแล้วก็ไปเป็นพระอินทร์ แล้วก็มีบริษัทบริวารเป็น 33 อันนี้เรากำเนิดพระอินทร์ ก็คือว่า เป็นเรื่องของมานพที่เขารับผิดชอบส่วนรวม ช่วยเหลือ แล้วก็ตอนหลัง พอเขาได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้าน เขาก็ชวนชาวบ้านให้รักษาศีล ให้เลิกการพนัน เลิกกินเหล้า ก็ทำให้หมู่บ้านก็อยู่กันอย่างสงบราบรื่น พอตายแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพระอินทร์ เป็นบุญที่เกิดจากการทำงานพื่อส่วนรวม ไม่ได้เป็นเรื่องของการสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างศาลา หรือว่าเป็นเรื่องของการถวายสังฆทาน หรืออะไรเลย พระแต่ก่อนก็จะมีธรรมเนียมเล่าเรื่องมาฆะมานพ ซึ่งก็เป็นการทำให้ชาวพุทธไทยแต่ก่อนขวนขวายในการช่วยเหลือส่วนรวม
แต่ว่าความคิดแบบนี้มันค่อยๆเลือนหายไป ชาวพุทธไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะคนที่เป็นคนชั้นกลาง มีการศึกษาในเมือง เขาจะเน้นเรื่องการปฏิบัติเพื่อความสงบส่วนตัวมาก แต่ว่าการที่จะไปช่วยเหลือส่วนรวมมีน้อย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อาตมาก็อธิบายให้เขาฟังว่า มันเป็นเพราะว่าในเมือง จะมีค่านิยมที่มาจากตะวันตกก็ว่าได้ เป็นค่านิยมแบบเรียก ปัจเจกนิยม ปัจเจกนิยมคือว่าตัวใครตัวมันหรือต่างคนต่างอยู่ อันนี้สังเกตุง่ายๆ คนในเมืองบ้านเรือนติดกันหรือว่าห้องเช่าติดกัน ไม่รู้จักกัน บ้านติดกันไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรรหรือว่าห้องแถว ห้องแถวนี่ยังพอจะรู้จักกันอยู่ แต่ถ้าเป็นบ้านจัดสรร บ้านติดกันนี่ไม่รู้จักกัน บางทีเป็นอริกันด้วย ทะเลาะกัน ทะเลาะกันเรื่องหมาเห่าเสียงดัง ทะเลาะกันเรื่องถังขยะ
ซึ่งต่างจากหมู่บ้านในชนบทที่ว่าคนทั้งหมู่บ้านรู้จักกัน แต่คนในเมืองนี่บ้านจัดสรรนี่ไม่รู้จักกันแม้ว่าบ้านอยู่ติดกัน รั้วติดกัน หรือว่าอยู่คอนโดก็เหมือนกัน คอนโดหรืออพาร์ทเมนต์ ห้องติดกันไม่ค่อยรู้จักกัน อันนี้เรียกว่ามันเป็นลักษณะของต่างคนต่างอยู่ หรือตัวใครตัวมัน มันเป็นอิทธิพลจากของฝรั่งก็ว่าได้ ที่ว่าปัจเจกนิยม
แล้วก็มีตัวหนึ่งที่เสริมเข้ามาคือ ความคิดแบบบริโภคนิยมที่เน้นความสุขเฉพาะตัว เดี๋ยวนี้เราสังเกตุว่าคนเดี๋ยวนี้ เวลาจะแสวงหาความสุขเขาจะเน้นเรื่องส่วนตัวมาก เช่น เวลาดูโทรทัศน์ก็ดูคนเดียว เวลาฟังเพลงก็ฟังคนเดียว ก็คือว่าเอาหูฟังใส่หู สมัยเราเด็กๆโทรทัศน์ดูกันทั้งบ้าน แต่ว่าพอคนพัฒนามากขึ้นนี่ต่างคนต่างดู โทรทัศน์นี่ดูคนเดียว เพลงก็ฟังคนเดียว อินเตอร์เน็ตก็ต่างคนต่างใช้ มีกันคนละเครื่อง ตอนหลังรถยนต์ก็มีคนละคัน บ้านหนึ่งมี 4 คน ก็มีรถประมาณสองสามคัน อันนี้เป็นลักษณะของบริโภคนิยมที่เน้นเรื่องความสุขเฉพาะตัว
แล้วพอมานับถือพุทธศาสนา คนในเมืองชนชั้นกลางที่มีการศึกษาพอมานับถือพุทธศาสนา ก็เอาความคิดแบบนี้เข้าไปใช้ในการประพฤติปฏิบัติตน รวมทั้งเวลาเผยแพร่พุทธศาสนาก็จะเน้นเรื่องส่วนตัวส่วนตนมาก พระเองเวลาเทศน์ก็จะเทศน์แต่เรื่องว่าให้รวยๆๆ ไม่ค่อยได้ชวนให้คิดถึงคนอื่นเท่าไหร่ ชาวพุทธเดี๋ยวนี้เวลาทำบุญก็นึกถึงแต่ว่าตัวเองจะได้อะไร มากกว่าจะนึกมองว่าคนอื่นเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง คือนึกถึงตัวเองมากกว่านึกถึงคนอื่น
อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมชาวพุทธ โดยเฉพาะประเภทที่ธัมมะธัมโม มีแนวโน้มที่จะสนใจแต่เรื่องการดับทุกข์เฉพาะตัว หรือว่าความสงบสุขส่วนตัว แต่ไม่ค่อยสนใจสังคม ไม่ค่อยสนใจแม้กระทั่งศาสนาของตัวว่ากำลังเดือดร้อนอย่างไรบ้าง แล้วก็ไม่ค่อยรับรู้ว่าคนทุกข์คนยากมีมากน้อยแค่ไหน จะตื่นตัวก็ต่อเมื่อเกิดเหตุร้าย แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม อันนี้ แต่ว่าทำไมเราต้องรอตื่นตัวเมื่อเกิดเหตุร้าย ทั้งๆที่ในเวลาปกติมันก็มีคนเดือดร้อนมาก แต่ว่าไม่ค่อยใส่ใจกันเท่าไหร่ เดี๋ยวนี้บางทีกิจการในวัด คนในวัดก็ไม่ค่อยสนใจเพราะว่าอยากจะหาความสุขเฉพาะตัว อยากจะสร้างความสงบเฉพาะตัวไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องรับผิดชอบกับส่วนรวม มีงานวัด มีงานไว้ให้ทำก็ไม่เข้ามาทำ หรือว่าทำแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ อันนี้มันสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัว หรือว่าการเน้นความประโยชน์สุขเฉพาะตัวมาก หรือมองข้ามเรื่องประโยชน์ตนไป
ที่จริงพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมาก ในชาดกก็จะมีเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่อุทิศตัวเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่อุทิศเงินทองหรือสละเวลาเท่านั้น บางทีสละแม้กระทั่งอวัยวะ สละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์คนยาก และก็ไม่ได้เฉพาะคนทุกข์คนยาก แม้กระทั่งสัตว์ที่เดือดร้อนก็ช่วย เรื่องช่วยนกกระเรียน หรือว่าไม่อยากให้นกกระเรียนตายก็เลยไม่บอกความจริงว่านกกระเรียนเอาเพชรเอาพลอยของพระเจ้าปเสนทิโกศล ไป หรือพระโพธิสัตว์ที่ยอมสละชีวิตให้แม่เสือเพื่อที่ว่าแม่เสือจะได้ไม่กินลูกเสือ อันนี้เป็นเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือที่จริงก็ไม่ใช่ส่วนรวม เสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้ทุกข์ผู้ยาก ไม่เลือกว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ คติโพธิสัตว์แบบนี้เดี๋ยวนี้มันเลือนหายไปในหมู่ชาวพุทธปัจจุบันมาก โดยเฉพาะชาวพุทธในเมืองที่มีการศึกษา จำเป็นมากที่ต้องรือฟื้นความคิดประเภทว่าต้องสนใจส่วนรวมขึ้นมาใหม่ ที่จริงพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่ารักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน หมายความว่า ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านไม่ได้แยกจากกัน
เมื่อเราทำประโยชน์ท่าน เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น มันก็เกิดประโยชน์ตนด้วย เมื่อเราบำเพ็ญประโยชน์ท่านก็เกิดประโยชน์ตน ประโยชน์ตนที่ว่าไม่ใช่แค่บุญ ไม่ใช่แค่บุญเฉยๆ แต่ความหมายของบุญในที่นี่คือว่ามันช่วยขัดเกลาความเห็นแก่ตัว ทำให้จิตใจปรานีต นึกถึงผู้อื่นมากขึ้น ก็มีหลายคนที่พอไปช่วยเหลือส่วนรวมแล้วก็ได้ประโยชน์ตน เช่น ขัดเกลาให้มีนิสัยใจเย็น คนที่เป็นจิตอาสาไปช่วยเหลือเป็นพี่เลี้ยงเด็กกำพร้าหรือเด็กที่ถูกทอดทิ้งที่บ้านปากเกร็ด หลายคนพบว่าตัวเองใจเย็นลง อดทนมากขึ้น แต่ก่อนเด็กอายุ 14 เถียงพ่อเถียงแม่ ใจร้อน เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง แต่พอไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กบ้านปากเกร็ด ใจเย็น เวลาแม่พูดอะไรก็ไม่ได้เถียงทันที อดทนมากขึ้น เพราะว่าเขาฝึกจากการที่ได้ดูแลเด็ก เด็กบางคนก็เลี้ยงยาก พี่เลี้ยงก็ต้องอดทน อันนี้ไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงเฉพาะเด็กอายุ 14-15 หรือวัยรุ่นเท่านั้น คนผู้ใหญ่ เป็นผู้จัดการ เป็นเจ้าของกิจการ พอไปเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็ก ปรากฏว่ากระโชกโฮกฮากกับลูกน้องน้อยลง ใจเย็นมากขึ้น เพราะว่าอดทน อดทนจากไหน อดทนจากการดูแลเด็ก อันนี้ก็เป็นประโยชน์ตนที่ถ้าใครทำก็คนนั้นก็ได้
ประโยชน์ตนยังได้อีกหลายอย่าง เช่น ทำให้มีความสุขได้ง่ายขึ้น ผู้หญิงคนหนึ่งแกเป็นไมเกรน ต้องกินยาทุกวัน พอไปเป็นจิตอาสาได้ประมาณไม่ถึงสองเดือน ก็สังเกตุว่าตัวเองลืมกินยา โดยเฉพาะวันไหนที่ไปดูแลเด็กจะลืมกินยา ทำไมถึงลืมกินยา ก็เพราะว่าไม่ปวด การไปช่วยเหลือเด็กมันทำให้เกิดความสุข เกิดความสุขใจก็ทำให้หายปวด พอหายปวดก็เลยเลิก ไม่ได้กินยา ลืมกินยาไป อันนี้ล่ะประโยชน์ตน เมื่อเราทำประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนก็เกิดขึ้นกับเรา ทั้งในแง่ของการขัดเกลาจิตใจให้เย็น ให้อดทน ให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง นึกถึงผู้อื่นมากขึ้น รวมทั้งว่าทำให้เกิดสุขภาพดี หรือว่าเจ็บปวดน้อยลง
มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอพบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีจากสามีตั้งแต่ยังสาวเลย สามีพอติดเชื้อเอชไอวีไม่นานก็ป่วย เธอก็ดูแลจนกระทั่งสามีตาย พอสามีตายเธอก็เลยหันมาช่วยเหลือคนที่ประสบชะตากรรมเหมือนกับเธอคือผู้หญิงติดเชื้อ ก็ไปช่วยเหลือเป็นจิตอาสาให้ความรู้ ตอนหลังก็ไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องการแนะนำเด็กเยาวชน เพื่อให้มีเพศสัมพันธุ์ที่ปลอดภัยจะได้ไม่ติดเชื้อเฮชไอวี ตอนหลังก็ไปทำโครงการพัฒนาการศึกษาเยาวชนในหมู่บ้าน ทำไป ๆ กิจการก็กว้างขึ้น ก็ไปทำงานพัฒนาชุมชนเสียเลย เพื่อให้หญิงภาคเหนือมีความรู้ จะได้ไม่ต้องไปขายตัวจนกระทั่งทำให้ติดเชื้อ
แล้วก็ทำมาเกือบประมาณ 20 ปี ปรากฏว่าไม่ได้กินยาเลย ไม่ได้กินยาต้านเชื้อ แต่ว่าก็ไม่ได้เจ็บไม่ได้ป่วยเลย ต่อมาตอนหลังก็ไปเป็นวิทยากรกระดับชาติ ออกโทรทัศน์ ก็มีคนถามว่าพี่ทำงานมากๆแบบนี้พี่ไม่กลัวป่วยเหรอ จริงๆเขาคงถามว่าพี่ไม่กลัวตายเหรอ เพราะว่ายังมีเชื้ออยู่ น่าสนใจ เธอตอบว่า ถ้าพี่คิดถึงแต่ตัวเองพี่ป่วยไปนานแล้ว คนเราถ้าคิดถึงแต่ตัวเอง มันทุกข์ง่าย แต่ว่าพอไปคิดถึงผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว จิตใจมีความสุข สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย อันนี้แหละประโยชน์ตน ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อช่วยเหลือหรือรักษาผู้อื่นก็เท่ากับรักษาตน ขณะเดียวกันเมื่อรักษาตนก็เท่ากับรักษาผู้อื่น การรักษาตนเท่ากับรักษาผู้อื่นก็สำคัญ เพราะว่า เพียงแค่เรารักษาตัวให้ดี ไม่สร้างปัญหาให้กับใคร ก็ช่วยเหลือส่วนรวมได้มากแล้ว
เดี๋ยวนี้เจอลูกหลายคนมาปรึกษาว่าแม่หรือพ่อ พอแก่ตัวแล้วก็มักจะเรียกร้องนู่นเรียกร้องนี่ บางคนลูกก็ดูแลดี มีคนเล่าว่าลูกดูแลแม่ดี จ้างคนงานมาช่วยดูแลแม่ แม่ก็ไม่ค่อยสบายใจหรือไม่ค่อยพอใจว่าเอาเงินมาจ้างคนทำไม เมื่อเปลืองเงิน แม่เสียดายเงินที่เอาไปจ้างคนมาดูแลแม่ เท่านั้นไม่พอ แม่บอกว่าอยากให้ลูกมาดูแลแม่แทน ให้ลูกมาดูแลแม่บ่อยๆ ลูกอายุ 50 แล้ว ทุกคนแต่ละคนนี่ก็ไม่ใช่เป็นพ่อเป็นแม่แล้ว บางคนเป็นปู่แล้ว ก็คือมีหลานต้องดูแล มีลูก แล้วเขาจะมาดูแลแม่ได้อย่างไร จะจ้างคนงานมาดูแลแม่ก็ไม่พอใจ ก็จะเรียกร้องลูกให้มาดูแลแม่ ลูกก็ทุกข์ แม่ก็ทุกข์
บางคนนี่อายุ 97 แล้ว เคยเล่าให้ฟัง อายุ 97 สุขภาพก็ยังดี แต่ว่าอยู่บ้านไม่ได้ อยู่ไม่ติดบ้าน จะต้องไปเที่ยว ตัวเองไปเที่ยวไม่ได้ เพราะว่าขับรถก็ตาไม่ค่อยดี ก็ต้องให้หลานพาไปเที่ยวทุกวัน แล้วก็ต้องพาไปกินร้านอาหารดีๆ วันไหนหลานไม่ไปก็อาละวาด ตะโกนเรียกกลางดึก หรือไม่ก็ตีประตู ทุบประตู ทำอย่างนี้เป็นปี เมียก็ทิ้ง อยู่ไม่ไหว หลานก็เริ่มจะประสาท บางทีนึกถึงว่าจะฆ่าตัวตาย เครียดมาก อันนี้ก็แสดงได้ว่า คนเราเพียงแค่ทำตัวไม่ให้เป็นปัญหาก็ช่วยคนได้มากแล้ว ถ้าการที่ทำให้ตัวไม่ให้เป็นปัญหา การปฏิบัติธรรมก็สำคัญ
ย้อนกลับไปที่คนที่เขียนคำถามมา เขาก็ถามข้อที่ 2 ว่า แล้วการที่ชาวพุทธเราไปปฏิบัติธรรม หลีกเร้นไปอยู่ป่า ห่างไกลจากความวุ่นวาย หาความสงบส่วนตัวนี่มันจะเป็นการแสดงว่าไม่สนใจสังคมหรือเปล่า อันนี้มันก็ไม่แน่ เพราะว่าเวลาการที่จะไปช่วยเหลือสังคมได้นี่มันก็ต้องรักษาตนด้วย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อรักษาตนก็เท่ากับรักษาผู้อื่น ก็หมายความว่า ถ้าเรารักษาตัวให้ดีเราก็จะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้มาก หรืออย่างน้อยก็จะไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น การที่เราปลีกตัวมาปฏิบัติธรรมบ้าง มาทำสมาธิภาวนาบ้าง อันนี้มันก็ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวเสมอไป เพราะว่าถ้าเรามาขัดเกลาจิตใจของเราให้ดี มีสติมีความรู้เท่าทันตนเอง เมื่อเราออกไปช่วยเหลือสังคมเราก็จะออกไปช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง
ไม่ใช่ว่าไปช่วยเหลือสังคมแล้วตัวเองกลับแย่ หรือว่าปล่อยให้กิเลสครอบงำ มีความเห็นแก่ตัวอยู่ในจิตใจ มีมานะทิฐิ ไปช่วยเหลือสังคมไปๆมาๆกลายเป็นว่าเอาสังคมมารับใช้กิเลสของตัวเอง แบบนี้ก็มีมาก นักการเมืองที่บอกว่าจะช่วยเหลือประเทศชาติ เสร็จแล้วกลายเป็นว่าเอาประโยชน์ของประเทศชาติมารับใช้ตัวเอง อันนี้เราก็เห็นอยู่บ่อยๆ นักปฏิวัติที่อุตส่าห์ยอมสละชีวิตเพื่อปฏิวัติประเทศ เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เสร็จแล้วไปๆมาๆกลับสร้างปัญหาให้กับประเทศ อย่างเช่นพลพต เป็นคนเรียบง่าย คนที่รู้จักนี่บอกว่าเหมือนพระเลย แต่ปรากฏว่าทำให้ประเทศเกิดหาย คนตายภายใต้การปกครองของแกประมาณ 2-3 ล้านคน เขมรมีประชากร 4-5 ล้านคนในเวลานั้น ตายไปเกือบ 1 ใน 3 เพราะว่าสนองทิฐิมานะของพลพต แล้วก็ผู้นำ อันนี้เพราะว่าไม่ได้ขัดเกลาตัวเอง ปล่อยให้กิเลสมันครอบงำ การเปลี่ยนแปลงแทนที่จะเป็นการปฏิวัติประเทศกลับกลายเป็นการพาประเทศลงเหวมากขึ้น กว่าจะฉุดประเทศออกมาจากเหวก็ใช้เวลาเป็นสิบปี ทุกวันนี้คนก็ยังมีความเจ็บแค้นอยู่ที่พลพต และคณะไปฆ่าสังหารผู้คนมากมาย อันนี้เรียกว่าถ้าเราไม่ขัดเกลาตนเอง การที่จะไปช่วยเหลือสังคมมันเป็นการสร้างปัญหา
แต่เราไม่ต้องพูดถึงสังคม พูดแค่ครอบครัว คนที่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักควบคุมตัวเองก็สามารถจะสร้างภาระหรือสร้างปัญหาให้กับครอบครัวได้ สร้างปัญหาให้กับลูก สร้างปัญหาให้กับหลาน ตอนนี้นี่มีเรื่องแบบนี้มากเลย ลูกมีความทุกข์เพราะแม่ ลูกมีความทุกข์เพราะพ่อ ซึ่งทำให้ผู้คนทั้งบ้านเลย อยู่ไม่เป็นสุข เพราะว่าไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ บางคนก็เอะอะโวยวายตะโกนด่าสารพัดเพียงเพราะไม่ถูกใจ บางคนก็คอยตำหนิโทษคนดูแล เรียกร้องเอานั้นเอานี้ ทำให้เห็นเลย เห็นสัจจะธรรมอย่างหนึ่งว่า คนเราเพียงแค่ทำตัวไม่ให้เป็นปัญหามันก็ช่วยครอบครัวได้มากแล้ว หรือว่าในวัดเอง ถ้าทำตัวไม่ให้เป็นปัญหาก็ช่วยวัดได้มากแล้ว แต่ว่าแค่นั้นไม่พอ นอกจากทำตัวไม่ให้เป็นปัญหาแล้ว มันต้องออกไปช่วยสังคม ช่วยเหลือส่วนรวม ช่วยเหลือหมู่คณะด้วย แต่ต้องเริ่มต้นจากการทำตัวไม่ให้เป็นปัญหาก่อน ในวัดทุกวัด ในทุกชุมชม ก็จะมีคนประเภทนี้ก็คือว่าทำตัวให้เป็นปัญหาของหมู่คณะ ซึ่งถ้าตัวเองรู้จักขัดเกลา ปรับปรุงตัวเอง หรือเพียงแค่ว่าควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่ให้ไปสร้างปัญหากับคนอื่นก็จะช่วยเหลือชุมชนได้มาก หรือว่าเพียงแค่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดของชุมชน มันก็ช่วยวัดช่วยชุมชนได้มากแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่เราหมั่นรักษาตน มันก็จะเป็นการรักษาผู้อื่น หรือช่วยเหลือผู้อื่นไปด้วย แต่ว่าถ้าเราทำได้มากกว่านั้น ก็คือนอกจากไม่ทำตัวให้เป็นปัญหาแล้ว แต่ว่าเราออกไปช่วยเหลือส่วนรวมรับผิดชอบงานของหมู่คณะ และขยายไปกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆตามกำลัง อันนี้มันก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า รักษาผู้อื่นเท่ากับรักษาตน ทำอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ให้มีขันติ ให้มีอวิกหหิงสา คือการไม่เบียดเบียน ให้มีเมตตาจิตแล้วก็ความกรุณา สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยขัดเกลาจิตใจให้มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง คิดถึงผู้อื่นมากขึ้น และยิ่งเราทำเราก็ยิ่งมีความสุข ที่จริงหลวงพ่อคำเขียนฯ ท่านเป็นแบบอย่างของคนที่เรียกว่า ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ท่านไม่เพียงแต่ชี้ให้ผู้คนได้รู้จักการขัดเกลาจิตใจตัวเอง แต่เป็นแบบอย่างของการออกไปช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน อันนี้ก็เป็นแบบอย่างที่เราน่าจะเรียนรู้จากท่านและก็เอามาใช้กับการพัฒนาตัวเอง