แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บทสวดที่เราสาธยายเมื่อสักครู่เรียกว่าเป็นพระอภิธรรม อภิธรรมก็คือ ธรรมขั้นสูง เรานิยมสวดในงานอวมงคล ก็คืองานศพ ซึ่งต่างกับบทสวดที่ใช้สาธยายในงานมงคล งานมงคลเช่น ทำบุญบ้าน เปิดร้าน วันเกิด หรือว่าการทำบุญทั่ว ๆ ไป ในงานมงคลนี้ บทสวดก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอนุภาพของพระรัตนตรัย น้อมใจให้ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อจะได้เกิดความอบอุ่นใจ รู้สึกมีที่พึ่ง และก็มีความเชื่อในหมู่ชาวพุทธว่า ถ้าได้สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก็จะเกิดสิริมงคล อำนวยให้เกิดความสุขความเจริญ บทสวดที่ใช้ในงานมงคลก็มีเนื้อหาทำนองนี้ก็คือว่า ถ้าเราระลึกถึงพระรัตนตรัย ทำคุณงามความดีก็จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ มียศ มีสิริ ปลอดพ้นจากโรค ปลอดพ้นจากภัย ปลอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อุปัทวทั้งหลาย ความจัญไรทั้งปวงก็ไม่มาแผ้วพาล
ส่วนอภิธรรมที่เราสวดกัน อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์หรือแม้แต่มาติกา เนื้อหานี้จะแตกต่างกันมากทีเดียวเลย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมะล้วน ๆ ธรรมะขั้นสูงหรือเรียกว่าปรมัตถธรรม ในบทสวดถ้าเราดูในคำแปล จะพบว่าไม่มีการถึงตัวบุคคลเลย มีแต่เรื่องธรรมะล้วน ก็คือขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ธาตุ อายตนะ แม้แต่พระรัตนตรัยที่เอ่ยมากในบทเจริญพุทธมนต์ พระอภิธรรมก็ไม่มีกล่าวถึงเลย มีการกล่าวถึงเรื่องบุคคลบ้างก็ในบทที่ชื่อว่าปุคคลบัญญัติ แต่บทสวดอีกหกคัมภีร์ ไม่มีการเอ่ยถึงบุคคล ไม่มีการเอ่ยถึงสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขาเลย เป็นธรรมะล้วนๆ เพราะว่าปรมัตถธรรม ธรรมะขั้นสูงนี้มันไปพ้นเรื่องของตัวบุคคล ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา อย่างที่ในบทที่ชื่อว่า กถาวัตถุ ก็จะมีประโยคหนึ่งบอกว่าเราค้นหาบุคคลไม่ได้ในปรมัตถ์ ฟังแล้วอาจจะงง ก็หมายความว่าในปรมัตถธรรมหรือปรมัตถสัจจะมันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าบุคคล มันมีแต่ธาตุ มีแต่ขันธ์ มีแต่อายตนะ ก็คือเป็นสภาวะล้วนๆ
บทสวดที่เราใช้สาธยายในงานมงคลนี้ ส่วนใหญ่พูดถึงสมมติสัจจะ ความจริงที่เรียกว่าสมมติก็ว่าได้ ก็จะมีเรื่องของตัวบุคคล เช่นว่า ถ้าหากว่าเราได้ทำคุณงามความดี เราก็จะประสพความสุขความเจริญ มีตัวบุคคลเข้าไปเยอะทีเดียว อันนี้เป็นสมมติสัจจะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจเป็นพื้นอยู่แล้ว เมื่อเข้าใจว่ามันมีตัวตน มีคน มีเรา มีเขา มีนาย ก. นาย ข. ก็ให้หมั่นทำความดีเอาไว้ หมั่นระลึกถึงพระรัตนตรัยเอาไว้ ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ปลอดภัยจากโรคา พยาธิ คำว่าสุข คำว่าเจริญ
คำว่าอายุ วรรณะ สุขะ พละ เอ่ยถึงมากในบทสวดมนต์งานมงคล แต่ว่าในงานอภิธรรมไม่มีเลย เพราะว่าสุขหรือทุกข์เป็นเรื่องของสมมติเหมือนกัน มันจะมีการสมมติว่าอย่างนี้เรียกว่าสุข อย่างนี้เรียกว่าทุกข์ ตามประสาชาวโลก พูดง่าย ๆ คือว่า ในบทสวดเจริญพุทธมนต์มันเป็นการพูดตามประสาชาวโลก คนก็อยากได้ฟังเรื่องความสุข ความเจริญ เรื่องสิริ เรื่องมงคล
แต่ว่าในอภิธรรมเป็นเรื่องของการพูดภาษาธรรมล้วนๆ แทบจะทั้งหมด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะว่าในงานอวมงคลนี้ทุกคนก็มางานเพื่อระลึกเนื่องในการที่มีบุคคลสูญเสีย และบุคคลที่สูญเสียก็เป็นที่รัก เช่น โอกาสนี้ในหลวงเสด็จสวรรคต การที่พระท่านพยายามพูดถึงเรื่องของธรรมะ ของปรมัตถสัจจะ ก็เพื่อให้เราไม่ยึดติดกับตัวบุคคลหมายความว่า มันไม่มีอะไร ก็มันไม่มีใครที่ตายจากไป เพราะมันไม่มีคนตั้งแต่แรกแล้ว ในคำสอนท่านจะพูดว่ามันมีทุกข์ แต่มันไม่มีผู้ทุกข์ มีแต่ความทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ มีความตาย แต่ไม่มีผู้ตาย ก็เป็นเพียงแต่ว่าขันธ์ห้า มันแตกดับสลายไป หรือว่าธาตุสี่ มันคืนสู่ธรรมชาติไป เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจความหมายของพระอภิธรรมที่สวด และเข้าใจ น้อมใจไปเรื่อย ๆ ก็จะได้เห็นความจริงว่า ที่จริงแล้วไม่มีใครตาย ก็มีแต่ธาตุที่สลายไป มีแต่ขันธ์ที่แตกดับไป อันนี้เมื่อพิจารณาเพื่อทำให้คลายความเศร้าโศกได้
เพราะว่าถ้าเรายังมีความคิด มีความมั่นหมายว่าคนที่เรารัก เช่น บิดา มารดา ลูก เพื่อน ตายไปก็จะเกิดความเศร้าโศก แต่ถ้าเราเห็นความจริงว่ามันไม่มีใครตั้งแต่แรกแล้ว มีแต่ขันธ์ห้าที่มารวมกัน เราเรียกขันธ์ห้าที่รวมกันนั้นว่าบุคคล นาย ก. นางสาว ข. พอเห็นอย่างนี้ก็จะเกิดความยึดติด พอบุคคลนั้นตาย สิ้นชีวิต ถึงแก่กรรม ถึงแก่มรณะ ก็จะเกิดความอาลัย แต่เมื่อเราเห็นความจริงว่าไม่มีใครตาย ไม่มีผู้ตาย มันมีแต่ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม คืนสู่ธรรมชาติ หรือว่าขันธ์ห้าได้แตกสลายไป ก็จะช่วยทำให้บรรเทาความเศร้าโศกได้ อันนี้ก็เป็นจุดมุ่งหมายที่คนโบราณจะนิยมให้สวดอภิธรรมในงานศพ โดยอาศัยความจริงนั่นแหละเป็นเครื่องเยียวยาความทุกข์ คือ ถ้าเราเห็นความจริง ความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบาง เพราะว่าเมื่อใครคนใดคนหนึ่งตาย มันไม่มีทางที่เขาจะพื้นคืนกลับมาได้ แต่ว่าถึงแม้เขาไม่พื้นคืนกลับมา แต่เมื่อเราได้เห็นความจริง ทะลุสมมติสัจจะไปจนถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ก็จะเห็นว่า เออ! ไม่มีใครตาย มีแต่ขันธ์ห้าแตกดับไป มีแต่อายตนะสิบสองเสื่อมสลายไป อันนี้จะช่วยทำให้ความเศร้าโศกบรรเทาเบาบาง เพราะว่าความยึดติดในตัวบุคคลเป็นที่มาของความทุกข์
พระพุทธเจ้าเคยตรัสแย้งกับเทวดา เทวดาบอกว่า มีลูกก็สุขเพราะลูก มีโคก็สุขเพราะโค แต่พระพุทธเจ้าก็แย้งว่ามีลูกก็ทุกข์เพราะลูก มีโคก็ทุกข์เพราะโค ที่ทุกข์จริง ๆ ไม่ใช่เพราะมี แต่เพราะไปยึดว่านี่ลูกเรา นี่วัวของเรา มันมีความยึดติดเป็นตัวเป็นตน ทั้งตัวเราของเรา หรือตัวกูของกู พอสิ่งนั้นเสื่อมสลายหายไป บางทีก็ไม่ถึงกับตาย เพียงแต่ว่ามีการพลัดพรากจากกันก็เกิดเป็นความทุกข์ พวกเราชาวพุทธ การที่จะทำความเข้าใจกับปรมัตถสัจจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าความจริงในเรื่องปรมัตถสัจจะจะทำให้ความทุกข์ไม่มาเกาะกุมจิตใจได้
บทสวดมนต์หลายบทจะพูดถึงปรมัตถสัจจะ เช่น บทพิจารณาปัจจัยสี่ที่เรียกว่า ธาตุปัจจะเวก พวกเราอาจจะได้เคยสวดสาธยายมาบ้าง ก็จะพูดว่ามีแต่ธาตุล้วน ๆ มันไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ตัวตน บุคคล เราเขา ธาตุปัจจะเวกก็คือการพิจารณาธาตุ เป็นการมองทะลุความจริงขั้นสมมติสัจจะ ทะลุธาตุลวง ว่ามีตัวมีตน มีคน มีสัตว์ มีบุคคล เราเขา ไปจนถึงความจริงว่ามีแต่ธาตุ มันไม่มีอะไรเลยนอกไปจากนั้น เป็นการมองความจริงชนิดที่เรียกว่าทะลุไปเลย ก็คงคล้าย ๆ กับว่าร่างกายของเราแต่ละคนจะเป็น นาย ก. นายข. จะเป็นฝรั่ง เป็นไทย คนรวย คนจน เป็นพระ ฆราวาส
แต่ถ้าเรามีเครื่องจุลทรรศน์ เอาชิ้นเนื้อของแต่ละคนมาดู มาส่องกล้องทะลุไป ก็จะพบว่า ประกอบด้วยเซลล์ และเซลล์ของแต่ละคน ๆ เหมือนกันหมดเลย มันไม่ได้แตกต่างกันเลย ความแตกต่างเป็นความแตกต่างโดยสมมติ หรือว่าเป็นความแตกต่างแบบผิวเผิน แต่มองทะลุลงไปแล้วนั้น เซลล์ที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของแต่ละคน มันเหมือนกันเลย ยิ่งทะลุเซลล์ มองทะลุเซลล์ไปจนกระทั่งไปจนถึงระดับอะตอมก็มองไม่ออก แยกไม่ออกเลยว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพราะว่าร่างกายแต่ะคนประกอบไปด้วยเซลล์ ประกอบไปด้วยอะตอม นิวตรอน โปรตรอนต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันหมด พูดแบบวิทยาศาสตร์
แต่ถ้าพูดแบบพุทธก็คือมันประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มันไม่มีตัวตน บุคคล เราเขา สิ่งที่เรียกว่า นาย ก. นาย ข. นี้ก็เป็นสมมติ แม้กระทั่งที่เรียกว่านี่มนุษย์ นี่สัตว์ นี่คนไทย นี่ฝรั่ง ก็สมมติ แม้แต่คนและสัตว์แท้จริงก็ไม่ได้แตกต่างกันโดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์ ให้เข้าใจ การมองความจริงแบบพุทธนี้ ถึงสิ้นสุดแล้วมันไม่มีคน มันไม่มีคำว่าใคร
คราวหนึ่งมีพราหมณ์มาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า แล้วถามพระพุทธเจ้าว่า ใครเป็นผู้เสวยเวทนา หรือว่าใครเป็นผู้ที่รับผัสสะ พระพุทธเจ้าก็ตอบว่าถามอย่างนี้ไม่ถูก เพราะมันยังมีคำว่าใครอยู่ ขึ้นชื่อว่าถามว่าใครเป็นผู้เสวยเวทนา หรือว่าเวทนาเกิดขึ้นกับใคร มันก็ผิดตั้งแต่แรกแล้ว เพราะว่าความจริงขั้นสูงสุดมันไม่มีใคร พระพุทธเจ้าก็เลยตอบว่า ถ้าจะถามให้ถูกต้อง ต้องถามว่าอะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ คือความจริงขั้นปรมัตถ์มันไม่มีใคร มันมีแต่คำถามว่าอะไร ใครเสวยเวทนาถามไม่ถูก ต้องถามว่าอะไรทำให้เกิดเวทนาหรือเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เพราะฉะนั้นที่ถามว่าใครตายมันก็ไม่ถูก เพราะจริง ๆ แล้วมีแต่คำว่าอะไร อะไรที่แตกดับไป ก็ตอบได้ว่าขันธ์ห้านั่นแหละ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในส่วนรูปประกอบด้วยธาตุ ธาตุสี่ ธาตุห้า ก็แตกดับไปเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นคำพูดที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านละสังขารหรือคืนสังขาร ความหมายคือว่าสังขารมันแตกดับไป ทีนี้ถ้าเราเข้าใจความจริงขั้นปรมัตถ์อย่างนี้ เข้าใจไม่ใช่เข้าใจด้วยความคิด แต่ว่าเห็นจริง ๆ ความยึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนมันก็จะคลายไป เพราะว่าความยึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา นี่มันเกิดจากที่เรายังมองไม่เห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ยังติดอยู่กับความจริงขั้นสมมติ ว่านี่เรานี่เขา และยังมีสมมติซ้อนกันมากมาย เราเขาไม่พอ ก็ยังมีการสมมติว่านี่คนไทย นี่พม่า นี่ฝรั่ง นี่โรฮิงญา อันนี้สมมติมากเลย เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเกิดขึ้นที่ไหน ถ้าเกิดในชายแดน ในพรมแดนของไทยเราก็เรียกว่าคนไทย แต่ถ้าเกิดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของพรมแดนก็กลายเป็นพม่าไป คนจีนที่ไปคลอดลูกที่อเมริกา ลูกที่เกิดมาก็เป็นอเมริกัน ทั้งๆ ที่หน้าตาก็เป็นจีน เชื้อชาติก็เป็นจีน อันนี้มันสมมติมากเลย หลายคนก็อาจจะถอนสมมติได้ว่า เอ๊ย! จีน ไทย โรฮิงญา อเมริกัน มนุษย์เหมือนกัน แต่การมองแบบนี้ก็ยังติดสมมติอยู่ เพราะว่ายังมีแบ่งแยกว่านี่มนุษย์ นี่สัตว์
แต่จริงๆ แล้วนั้นในขั้นปรมัตถสัจจะไม่มีการแบ่งอย่างนั้นด้วยซ้ำ ไม่มีสิ่งที่ว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ไม่มีแม้กระทั่งตัวฉัน นี่สำคัญมากเลย เพราะว่าทันทีที่เรายึดว่ามันมีตัวฉัน หรือมีตัวกู มันก็จะเกิดของกูขึ้นมาทันที และก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวกูนี่ต้องเที่ยง ของกูมันก็ต้องเที่ยงเหมือนกัน ซึ่งเป็นความสำคัญมั่นหมายที่สวนทางกับความเป็นจริง และพอมีอะไรเกิดขึ้นกับกาย ก็จะเกิดเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมาทันที เช่นเวลาปวดเวลาเมื่อย เวลาเจ็บเวลาป่วยเกิดขึ้นกับกาย มันก็จะเป็นทุกข์เลย เพราะว่าเกิดความสำคัญมั่นหมายว่ากูปวด กูเมื่อย กูเจ็บ หรือเวลาร่างกายนี่มันชรา มันเหี่ยว ก็จะทุกข์ เพราะมีความสำคัญมั่นหมายว่ากูแก่ กูชรา
ลองดูเถอะ ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับใจ ล้วนแล้วแต่มีกูเป็นศูนย์กลางทั้งนั้นแหละ ทำไมถึงเจ็บปวด ทำไมถึงทุกข์ ถึงโกรธเวลามีคนมาด่า ก็เพราะมันมีความสำคัญมั่นหมายว่ากูถูกด่า กูเสียหน้า ทำไมถึงมีความเศร้าโศกเวลาข้าวของทรัพย์สมบัติสูญหายไป มีคนลักเอาไป ก็เพราะมีความรู้สึกหรือสำคัญมั่นหมายว่าของกูถูกขโมยไป เพราะนั้นความทุกข์ใจทั้งหลายมันล้วนแล้วแต่มันมีศูนย์กลางอยู่ที่ความยึดมั่น ความสำคัญมั่นหมายในตัวกู แต่เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเราเห็นว่าตัวกูไม่มี มันมีแต่กายกับใจ มีแต่ขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือพูดสั้น ๆ ย่อ ๆ ว่ากายกับใจ เกิดอะไรขึ้นกับกายก็ไม่ทุกข์ ทุกข์กายมีอยู่แต่ว่าทุกข์ใจมันไม่มี หรือมีน้อยมาก
มีคราวหนึ่ง หลวงปู่บุดดาท่านไปผ่าเอานิ่วออก หลวงปู่บุดดดาท่านมรณภาพไปเมื่อสัก 20 กว่าปีมาแล้ว ตอนที่มรณภาพก็มีอายุ 100 ปี ถ้ามีชีวิตป่านนนี้ก็ประมาณอายุ 123 ปี พอผ่าเสร็จไม่ถึง 15 นาที ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรแล้ว ค่อยยังชั่วแล้ว คือท่านจะออกจากโรงพยาบาลแล้ว หมอ พยาบาลก็ตกใจ แปลกใจว่าหลวงปู่ไม่เจ็บเหรอ คนที่ผ่าน้อยกว่าท่านก็ยังบ่นว่าเจ็บ ยังโอดครวญว่าปวด หลวงปู่ทำยังไงถึงไม่เจ็บ หลวงปู่ท่านก็ตอบว่าร่างกายของหลวงปู่ก็เหมือนคนธรรมดานั่นแหละ ทำไมจะไม่เจ็บ แต่ว่าใจมันไม่เจ็บป่วยไปกับกายด้วย ที่สำคัญคือคนธรรมดา พอมีความเจ็บปวดที่กาย จะไม่ได้เห็นเพียงแค่นั้น แต่ว่ายังเกิดความรู้สึกว่ากูปวด ฉันเจ็บ มันมีตัวฉันขึ้นมาเป็นผู้เจ็บ แล้วพอมีความสำคัญมั่นหมายแบบนั้นน่ะใจมันทุกข์เลย ใจมันทุกข์ โอดครวญทันทีเลย อันนี้เพราะว่ามองไม่เห็นความจริงว่า จริงๆ มันไม่มีตัวเรา มันไม่มีตัวฉัน มีแต่กายกับใจ การที่เห็นว่ามันไม่มีตัวเรา มีแต่กายกับใจ ก็เพราะเข้าถึงความจริงขั้นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นพอกายปวด มันก็ปวดแต่กาย ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย
อีกคราวหนึ่ง ท่านรับนิมนต์ไปฉันบ้านโยม ก็มีพระไปฉันด้วยเป็นคณะ ปรากฎว่าอาหารเป็นพิษ พระทั้งคณะก็อาเจียรกันเป็นแถวเลย แต่หลวงปู่ท่านก็ยังสามารถจะนั่งสนทนากับญาติโยมได้ ขณะที่พระรูปอื่นๆ หนุ่มกว่า มีกำลังวังชาแข็งแรงกว่าอาเจียรจนหมดแรง ต้องนอนหมดสภาพไปเลย ญาติโยมก็แปลกใจ หลวงปู่ก็อายุมากแล้ว แต่ทำไมท่านไม่หมดสภาพไปเหมือนกับพระรูปอื่น ท่านมีอะไรดีหรือเปล่า ท่านพูดกับโยมไปสักพักท่านก็เอากระโถนมาอาเจียน แล้วก็คุยกับโยมต่อ โยมถาม ท่านก็เลยอธิบายว่า ร่างกายมันก็ประกอบด้วยธาตุสี่นั่นแหละ เวลาโดนยาเบื่อยาเมามันก็มีอาการต่าง ๆ นานาอย่างที่เห็นนั่นแหละ ก็คืออาเจียน แต่ว่าใจมันไม่ได้โดนด้วย ไม่ได้โดนอะไร ไม่ได้โดนยาเบื่อ ไม่ได้โดนสารพิษ เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่ทุกข์ไง ก็ยังสนทนากับญาติโยมได้
พูดง่าย ๆ คือป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย พระรูปอื่นป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ เพราะว่ายังมีความสำคัญมั่นหมายว่ามีกู พอท้องมันคลื่นไส้อาเจียนก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นอาการของกาย แต่มองว่ามันเป็นอาการของกู กูคลื่นไส้ กูทุกข์ ใจมันก็เลยทุกข์ไปด้วย เรียกว่ามองไม่เห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ ก็เลยยังมียึดติดในตัวกู พอมีอะไรเกิดขึ้นกับกายก็ดี พอมีอะไรเกิดขึ้นกับวัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติก็ดี ก็เลยไม่ใช่แค่ป่วยกาย ไม่ใช่แค่สูญเสียทรัพย์ แต่ว่าใจก็ทุกข์ด้วย
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านพิการตั้งแต่อายุ 24 ก็พิการมา 10 กว่าปี ตลอดเวลาก็มีความทุกข์มาก เพราะว่าช่วยตัวเองได้ยาก พิการตั้งแต่คอลงมา มือก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงต้องพึ่งพาคนอื่น แล้วก็ไม่มีอนาคตเลย ในใจก็นึกรอวันตาย แต่พอได้มาปฏิบัติธรรม ได้มาเจริญสติโดยอาศัยการแนะนำของหลวงพ่อคำเขียนฯ อาจารย์กำพล สร้างจังหวะไม่ได้ก็แค่พลิกมือไปพลิกมือมา เดินจงกรมไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พลิกมือไปพลิกมือมา เพราะการเจริญสติมันไม่ใช่ว่าต้องมีอาการ 32 ครบ ถึงจะปฏิบัติได้ ถ้ายังมีความรู้สึกตัวยังมีลมหายใจ ถ้ายังขยับเขยื้อนกายได้แม้นิดหน่อย ก็ปฏิบัติได้ เวลาปฏิบัติก็ให้พิจารณาว่าที่พลิกน่ะมันเป็นรูป ที่คิดมันเป็นนาม ที่พลิกไม่ใช่เราพลิก มันเป็นมือพลิก ที่คิดก็ไม่ใช่เราคิด มันเป็นความคิด แค่คิดที่เกิดขึ้นหรือนาม ท่านก็ปฏิบัติไปแค่เดือนเดียว ปรากฎว่าเห็นความจริงเลย โอ้! มันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม
แต่ก่อนนี้คิดว่าเราพิการ เราพิการ ที่จริงไม่ใช่เราพิการ มันเป็นแต่กายพิการ ใจไม่ได้พิการด้วย พอเห็นความจริงแบบนี้เรียกว่าความทุกข์นี่มันปลดออกเลย ตอนหลังก็บอกว่านี่ สามารถจะพูดได้เต็มปากว่าเราออกจากความทุกข์แล้ว คนที่ยังติดสมมติยังยึดในตัวตนอยู่ ยังมีตัวตนอยู่ ก็จะเป็นทุกข์มาก เราสำคัญมั่นหมายว่าฉันพิการ ฉันพิการ แต่ที่จริงแล้วมันไม่มีฉัน มันไม่มีใครพิการอยู่แล้ว มันมีแต่ว่าอะไรพิการ ก็คือกายพิการ จริง ๆ มันไม่มีใคร ไม่มีคน มันมีแต่ว่าอะไร
เรายังไม่อาจจะเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ชนิดที่เรียกว่าหลุดพ้นจากความสำคัญมั่นหมายในตัวในคน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขา แต่ว่าเราก็สามารถเห็นความจริงขึ้นปรมัตถ์ได้ทีละนิด ๆ ได้จากการเจริญสตินี้แหละ อาจจะยังมีความยึดในตัวเราอยู่ แต่ว่าการเจริญสติมันทำให้เราได้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกาย มีอะไรเกิดขึ้นกับใจ มันก็เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของใจ เวลาเดินถ้าเรามีสติมันก็ไม่ใช่เราเดิน มันเป็นรูปที่กำลังเดิน เวลามีความคิด มีความโกรธ มีความหงุดหงิด มันก็ไม่ใช่เราคิด มันไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราหงุดหงิด สติทำให้เราเห็นว่ามันมีแต่ความคิดเกิดขึ้นในใจ แค่ความหงุดหงิด หรือว่าความโกรธเกิดขึ้นในใจ มันไม่มีเราเป็นผู้โกรธ หรือผู้หงุดหงิด เป็นผู้คิด
ถึงแม้ว่าเรายังมีความยึดในตัวเราอยู่ แต่สติมันก็จะทำให้เห็นว่าที่คิดไม่ใช่เราคิด มันแค่มีความคิดเกิดขึ้น ที่หงุดหงิด มันไม่ใช่เราหงุดหงิด ความหงุดหงิดไม่ใช่เรา มันแค่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในใจหรือสภาวะ ความโกรธ ความดีใจก็เหมือนกัน มันไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราดีใจ แต่ว่ามันเป็นแค่สภาวะหรืออาการที่เกิดขึ้นในใจ หรือเกิดขึ้นกับใจ ตรงนี้แหละที่มันทำให้เราห่างไกลกับคำว่าใคร และเข้าใกล้ความจริงว่าอะไร อะไรเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้นในใจ
เพราะฉะนั้นการเจริญสติมันทำให้เราเขยิบเข้าใกล้ปรมัตถสัจจะ เข้าใกล้ความจริงที่มันไปพ้นเรื่องตัวตน เรื่องเรา เรื่องเขา เรื่องคน หรือว่าตัวกู ของกู เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่เราได้ง่าย ถ้าเรามีสติกันก็จะเห็นว่า โอ้! ว่าความโกรธไม่ใช่เรา ความหงุดหงิดก็ไม่ใช่เรา มันแค่อาการที่เกิดขึ้นกับใจ ความปวด ความเมื่อยที่เกิดขึ้นมันก็ไม่ใช่เราปวด ไม่ใช่เราเมื่อย มันเป็นแค่ความปวดความเมื่อยที่เกิดขึ้นกับกาย ถึงแม้ว่าเรายังมีความยึดว่ามีตัวเรา มีของเราอยู่ แต่ถ้าเราเจริญสติบ่อย ๆ เราก็จะเห็นความจริงของกายใจที่ช่วยเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายในคนในเราไป และจะเห็นความจริงอย่างนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเป็นความจริงขั้นพื้นฐาน
สติปัฎฐานสี่ที่ว่า กายานุปัสสนาคือการเห็นหรือพิจารณากายในกาย เวทนานุปัสสนาพิจารณาเวทนาในเวทนา จิตตานุปัสสนาพิจารณาหรือหมั่นเห็นจิตใจ ธรรมานุปัสสนาพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ความหมายนั้นคือว่า เมื่อเห็นกายในกาย คือเห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อมีเวทนาเกิดขึ้นก็เห็นว่าเวทนานั้นเป็นเวทนา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อมีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็เห็นว่ามันเป็นแค่อารมณ์ แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
สุดท้ายเมื่อมีธรรมใดเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนิวรณ์ ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นอินทรีย์ อายตนะ มันก็เป็นสักแต่ว่านิวรณ์ สักแต่ว่าขันธ์ สักแต่ว่าอินทรีย์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ทะลุ เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เราทะลุสมมติสัจจะไปเห็นปัรมัตถสัจจะ ซึ่งมันช่วยทำให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเรามันเบาบางลง มีอะไรมากระทบจิตใจ เกิดความโกรธ เกิดความขุ่นมัว ก็เห็นมัน แต่ว่าไม่ได้ยึดว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ไม่เกิดความรู้สึกว่าเราโกรธ ไม่เกิดความรู้สึกว่าเราทุกข์ มันแค่มีความทุกข์เกิดขึ้นกับกาย หรือเกิดขึ้นกับใจ อันนี้เป็นวิชาที่สำคัญในการที่จะช่วยทำให้ความทุกข์ลดน้อยถอยลง
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะยังไม่สามารถเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ได้ ยังมีความเชื่อ มีความสำคัญมั่นหมายว่ามีเรา มีตัว มีตนอยู่ แต่อย่างน้อย ๆ การศึกษาพระพุทธศาสนา มันก็ช่วยทำให้เราใช้ตัวใช้ตน ตามที่ยึดถือนี้ไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้ตัวตนนี้เพื่อการทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ยังมีเรามีเขาอยู่ ก็ให้เราเป็นมิตรกับเขา เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเขา ไม่ว่าเขานั้นจะเป็นคนใกล้หรือคนไกล จะเป็นคนเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาเดียวกัน หรือว่าคนละเชื้อชาติ คนละศาสนา คนละภาษา แม้กระทั่งขยายไปจนถึงสัตว์ต่างพันธุ์ คือไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสัตว์ จะเป็นหมาเป็นแมว จะเป็นสัตว์อะไรก็แล้วแต่ ก็มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล อย่างที่เราได้พิจารณาแผ่เมตตาเมื่อสักครู่ว่าอย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ ให้มีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด อันนี้ก็ยังมีการมองว่ามีเรามีเขาอยู่ แล้วก็มีทั้งเพื่อน มีทั้งบุพการี มีศัตรู มีปรปักษ์ ที่จริง ๆ ก็เป็นสมมติ ตราบเท่าที่เรายังยึดในสมมติยังติดอยู่ในสมมติ ก็ใช้สมมติไปในทางที่เป็นประโยชน์ ก็คือแทนที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน
ขณะที่ยังมีตัวมีตนอยู่ก็พยายามเห็นแก่ตัวให้น้อยลง ทำความเห็นแก่ตัวให้ลดน้อยถอยลง ตราบใดที่ยังมีอัตตาอยู่ก็ให้อัตตามันเล็กลง มันเบาบางลง อันนี้ก็คือสิ่งที่เราทำได้ในขณะที่เรายังไม่สามารถจะเข้าถึงปรมัตถสัจจะได้ ยังติดอยู่ในสมมติสัจจะ ก็ยังติดอยู่ในความยึดมั่นว่ามีเรา มีเขา มีตัว มีตน มีกู มีของกู เราก็ใช้ตัวตนนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็ลดตัวกูให้ลดน้อย ให้มันเบาบางลง เริ่มต้นด้วยการเห็นแก่ตัวให้น้อยลง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้มากขึ้น และยิ่งกว่านั้นเมื่อมีตัวมีตนแล้วก็อย่าไปเบียดเบียนตน
จริง ๆ การยึดว่ามีตัวมีตนมันก็ทุกข์พอแรงอยู่แล้ว เท่านั้นไม่พอ หลายคนยังเบียดเบียนตนอีก มีความโกรธก็ไม่รู้จักสลัดความโกรธออกไป ยังเก็บยังหวง ยังแหนความโกรธเอาไว้ มีความเศร้าทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันบีบคั้นจิตใจ ก็ยังเก็บ ยังหวง ยังแหนความเศร้าไว้ มันก็แปลก บางทีคนเราหวงแหนความเศร้า ความโกรธ ยิ่งกว่าหวงแหนทรัพย์เสียอีก ทรัพย์สมบัตินี้เราก็ยังใจกล้ายังพร้อมที่จะสละ สละเงินทำบุญเป็นพันเป็นหมื่น บางทีสละเงินเป็นแสนเพื่อช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือว่าสร้างวัดวาอาราม แต่ว่ากลับไม่ยอมสละความโกรธ เวลาโกรธใคร มันโกรธอย่างเหนียวแน่นมาก บางทีโกรธเป็นสิบปีก็มี เท่านั้นไม่พอ เวลามีคนมาชักชวนมาแนะนำว่าให้อภัยเขาไปเถอะ มันจะได้หายโกรธ
พอมีคนแนะนำว่าอภัยเขาเถอะ เรากลับจะโกรธคนแนะนำ แนะนำอย่างนี้ได้ยังไง เป็นพวกเดียวกันเหรอ เป็นพวกเดียวกับมันเหรอถึงแนะนำให้ฉันให้อภัยมัน อันนี้เรียกว่าอะไร แสดงว่าหวงแหนความโกรธมากไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ความเศร้าก็เหมือนกัน เวลาเศร้าก็จะเอาแต่เจ่าจุก จมอยู่กับความเศร้า คิดแต่เรื่องที่ชวนให้เศร้า นึกถึงแต่ความพลัดพรากสูญเสียคนรัก แล้วก็คิดจนมีคนมาชวนให้ไปเที่ยว มีคนมาชวนให้ไปทำนั่นทำนี่เพื่อจะได้คลายจากความเศร้า ไม่ยอมไป ก็ยังจะยืนกรานดึงดันขอนั่งเจ่าจุกต่อไป อย่างนี้หรือไม่ที่เรียกว่ายังหวงแหนความเศร้า อันนี้แหละที่เรียกว่าเบียดเบียนตน เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง บางทีเงินถูกโกง รถถูกขโมย แทนที่จะเสียแต่ของ เสียแต่ทรัพย์ ก็ปล่อยให้ใจจมดิ่งอยู่กับความเศร้า ความอาลัย ความเสียใจ แทนที่จะเสียแต่รถ เสียแต่ทรัพย์ก็ใจก็เสีย สุขภาพจิตก็เสีย ตามมาด้วยสุขภาพกายก็เสีย เพราะว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน งานการก็ทำไม่ได้ เสียงานอีก อารมณ์หงุดหงิดใส่คนรอบข้าง ใส่เพื่อน ใส่ลูก เสียเพื่อน เสียสัมพันธภาพอีก นี่เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง นี่เรียกว่าเบียดเบียนตน อย่างน้อย ๆ คนเราถ้ายังมีความยึดในตัวตนอยู่ก็เบียดเบียนตัวเองให้น้อยลง รักตัวเองให้มากขึ้น รักตัวเองให้ถูก
พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุคคลรักตน เมื่อหวังเฉพาะธรรมเบื้องสูง จึงทำความเคารพพระธรรม คนที่รักตนจริง ๆ รักอย่างถูกต้อง ก็จะหวังคุณเบื้องสูง แล้วก็จะพยายามที่จะหาทางไถ่ถอนความทุกข์ไปจากใจ มีความโกรธก็จะไม่หวงแหนความโกรธไว้ พร้อมจะสละ พร้อมจะปล่อย พร้อมจะวางทันที มีความเศร้าเมื่อไหร่ ก็จะไม่หวงแหนมันเอาไว้ ก็จะปล่อย ก็จะวางมันทันที ไม่ใช่ว่าเงินทองสละได้ แต่ว่าความโกรธกลับหวงแหน เงินทองสละได้ แต่ความเศร้าหวงแหนเอาไว้ ก็กลายเป็นว่ารักความเศร้า รักความโกรธยิ่งกว่ารักทรัพย์เสียอีก และบางคนรักทรัพย์ยิ่งกว่ารักตัวเองด้วยซ้ำ อย่างเงินหาย แก้วแหวนเงินทองถูกขโมยไป กลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน พ่อแม่ก็มาแนะนำ มาขอร้องว่ากินเถอะ นอนเถอะ ก็ไม่ยอม เอาแต่อาลัยเสียใจในของที่สูญหายไป ถูกขโมยไป เอาแต่อาลัยเสียใจในของสูญหายไป ถูกขโมยไป อย่างนี้เรียกว่ารักตัวเองหรือรักทรัพย์กันแน่ อย่างนี้เรียกว่ารักทรัพย์หรือรักตัวเอง คนส่วนใหญ่รักทรัพย์มากกว่ารักตัวเอง รักเงินมากกว่ารักตัวเอง
ไหน ๆ จะมีตัวมีตนแล้ว ยังยึดมั่นในตัวตนอยู่ อย่างน้อยก็ให้รักตัวเองให้เป็น ก็คืออย่าไปซ้ำเติมตัวเอง อย่าเบียดเบียนตน ซึ่งถ้าจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีสติ มีความรู้สึกตัวให้ไว เพราะถ้ามีสติ ความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ มันจะวางความเศร้า มันจะวางความทุกข์ได้ไวได้เร็ว และสติความรู้สึกตัวนี้แหละที่จะเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เราได้เห็นความจริงขั้นปรมัตถ์ได้ จนกระทั่งเห็นว่า โอ้! ที่แท้มันไม่มีเรา มันมีแต่รูปกับนาม มีแต่ขันธ์ห้า มันก็จะปล่อยวางได้ ความยึดว่าเราของเรา ตัวกู ของกู ก็จะเบาบาง และพอไม่มีตัวนี้แล้วความทุกข์ใจก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย มันมีแต่ความทุกข์กาย มีแต่การสูญเสียทรัพย์ แต่ว่าไม่มีความทุกข์ใจ