แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ทุกเย็น เราสวดบท อิมินา เรียกภาษาชาวบ้านว่ากรวดน้ำตอนเย็น ที่จริงไม่มีน้ำให้กรวด แต่มันเป็นมากกว่าการกรวดน้ำ สิ่งที่เราได้สาธยายมานี่ ขอให้เราได้ใส่ใจเพราะว่าเป็นการแสดงถึงปณิธาน หรือว่าพูดภาษาสมัยใหม่คือเป็นจิตวิญญาณของชาวพุทธ มีแสดงอยู่ในเนื้อหาของบทกรวดน้ำที่เราได้สาธยาย ถ้าเราไม่ใช่เพียงแค่ปากว่าไปตามความเคยชินแต่พิจารณาและน้อมเข้ามาใส่ตัวมันจะมีคุณค่ามากเลย
บทอินิมานี้ครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของการแผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญ หรือว่าส่งความปรารถนาดีไปให้แก่สรรพสิ่งก็ว่าได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือจักรวาล ไม่ได้เพียงแผ่และอุทิศให้พ่อแม่ครูบาอาจารย์อุปัชฌาย์ เท่านั้น แม้แต่ศัตรู ผู้เป็นกลาง ผู้จองผลาญ เราก็มีน้ำใจเผื่อแผ่ให้ ชาวพุทธนี้เรามีความปรารถนาดีให้แม้แต่คนที่คิดร้ายต่อเรา คนที่ต่อว่าด่าทอเรา มันไม่ใช่วิสัยของชาวพุทธที่จะไปแก้แค้น หรือไปแช่งให้เขาเกิดความฉิบหาย หรือเกิดหายนะ เวลาเราสวดบทนี้ให้ลองตรองดูว่า เราได้ทำอย่างที่เราสวดหรือเปล่า เรามีความปรารถนาดีกับคนที่คิดร้ายกับเราหรือไม่ อันนี้เป็นจิตวิญญาณของชาวพุทธซึ่งทวนกระแสกิเลสและทวนกระแสชาวโลก
ในชาดกนี่มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์ ที่มีความเมตตาปรารถนาดีแม้แต่กับคนที่ทำร้ายท่าน อย่างเช่นมีเรื่องของฤาษีท่านหนึ่งชื่อขันติวาทิ ท่านเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการปฏิบัติธรรม แล้วก็วันหนึ่งก็บังเอิญมีพระราชามาเที่ยวสวนอุทยาน มีนางฟ้อน นางบำเรอ มาอยู่รายรอบแล้วระหว่างที่พระราชาเกิดหลับไป พวกผู้หญิงก็ไปทราบว่ามี ฤาษีชื่อขันติวาทิกำลังบำเพ็ญภาวนาอยู่ก็ไปฟังธรรม ส่วนพระราชาตื่นมาพบว่านางฟ้อนและหญิงทั้งหลายนี้ทิ้งตัวเองไป ไปหาขันติวาทิดาบส ก็ไม่พอใจ ไปถามขันติวาทิว่าท่านเป็นใคร ท่านบอกว่าเราเป็นฤาษี เป็นดาบสที่ถือเอาขันติธรรมเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ขันติก็คือ ความอดทน อดทนต่อสิ่งยั่วยุ พระราชาก็อยากทดสอบว่าขันติจริงรึเปล่าก็สั่งให้เสนาอัมพาต จับมาโบยเป็นร้อยครั้ง ยังไม่พอ ถึงกับสั่งให้ตัดมือ ตัดแขน ตัดขา ตัดหู แล้วดูว่ายังมีขันติอยู่ไหม ทำถึงขนาดนี้ แต่ขันติวาทิก็ไม่โกธร ถึงกับพูดว่า พระราชาที่ตัดแขน ตัดขา ตัดหู ตัดจมูกของเรา ขอให้ท่านมีความสุขสวัสดี มีอายุยืนนาน ดาบสอย่างเราไม่มีความโกธรเคืองคนที่ทำร้ายเรา พูดจบก็สิ้นลม ส่วนพระราชาสุดท้ายก็ไปไม่รอดโดนธรณีสูบตาย
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงคุณธรรมของชาวพุทธ ซึ่งพวกเราควรน้อมมาพิจารณา ถึงแม้ว่าจะทำไม่ได้ หรือทำได้ยาก แต่ก็ถือว่าเราได้พยายามไปให้ถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่เราแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้ใคร เราก็อย่าลืมคนเหล่านี้ด้วย คนที่มุ่งร้ายต่อเรา คนที่เกลียดชังเรา คนที่เค้าทำร้ายเรา เค้าจะทำไม่ดีกับเรา เราก็ไม่ตอบโต้มีแต่ความดีแก่เขา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปณิธานหรือจิตวิญญาณชาวพุทธ ที่ว่าเรามีดีอะไร เราก็แบ่งปันไปให้ ไม่ใช่ว่าให้สิ่งของ หรืออาหาร แม้กระทั่งบุญกุศลเราก็ให้ อย่างนี้ถึงจะเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง
แต่เดี๋ยวนี้ก็มีชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นชาวพุทธหรือเปล่า ก็สอนกันบอกกันไปว่าเวลาทำบุญสร้างกุศลอะไรก็ตาม อย่าไปอุทิศให้ใครเพราะเดี๋ยวบุญกุศลเราจะเหลือน้อยลง อันนี้นอกจากจะเรียกว่าตระหนี่ถี่เหนียวแม้กระทั่งบุญกุศลแล้ว ยังเต็มไปด้วยอวิชชาหรือโมหะ เพราะว่าจริงๆแล้ว ถ้าเป็นชาวพุทธจะรู้ว่ายิ่งอุทิศส่วนกุศลให้ใคร กุศลในใจก็จะยิ่งงอกงามไปด้วย บุญกุศลอันนี้เราเรียกว่าปัตติทานมัย หมายถึง บุญที่เกิดจากการที่อุทิศส่วนบุญให้กับผู้อื่น ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ไม่เหมือนเงิน เงินนี่ยิ่งให้ยิ่งหมด แต่คนเดี๋ยวนี้ไปคิดว่าบุญกุศลไม่ต่างจากเงิน ฉะนั้นถ้าอยากมีบุญเยอะๆ ก็ต้องหวงบุญเอาไว้ไม่แผ่ให้ใคร อันนี้เรียกว่า ไม่มีจิตวิญญาณแบบชาวพุทธ และไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องของบุญด้วย ซึ่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบุญมีเยอะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากความเห็นแก่ตัว แล้วก็เรียกว่าอาศัยหรือถูกกิเลสครอบงำ
ดังนั้น เราชาวพุทธ เราต้องมีน้ำใจที่ไม่มีประมาณ หรือน้ำใจที่กว้างขวาง พร้อมที่จะเผื่อแผ่สิ่งดีๆให้แก่ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม นามธรรมก็คือบุญกุศลที่แผ่ไปให้ เป็นการแสดงความขอบคุณด้วย เมื่อเราผ่านมาแต่ละวันๆ นี่จักเป็นโอกาสที่จะได้ขอบคุณสรรพสิ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ หรือได้มาถึงนาทีนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีส่วนช่วยให้เราได้ เป็นอยู่จนมาปัจจุบัน การมาเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็อยู่มาจนถึงป่านนี้ก็ถือว่าเป็นโชคดี เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสมควรที่เราจะขอบคุณ และระลึกถึงบุญคุณของสรรพสิ่ง แล้วก็ตอบแทนด้วยการอุทิศส่วนกุศลไปให้แต่ถึงแม้จะมีบางคนไม่ได้ทำดีกับเรา แถมยังเอาเปรียบเราโกงเรา เราก็ไม่โกธรเคืองเรา เราก็แผ่ไปให้เหมือนกัน อันนี้ส่วนที่หนึ่งของปณิธานหรือจิตวิญญาณของชาวพุทธ
ปณิธานอีกส่วนหนึ่งก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฝึกฝนพัฒนาตน จะเพียรกำจัดกิเลส ละตัณหาอุปปาทานรักษาใจไม่ให้หมู่มารมันได้ช่อง อย่างที่เราสวด กันว่า ขอหมู่มารอย่าได้ช่อง ด้วยเดชบุญทั้งสิบป้อง อย่าเปิดโอกาสแก่มารเทอญ อันนี้ก็เป็นปณิธานของเราอีกเหมือนกัน ในแต่ละวันๆ เราเกิดมานอกจากทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นแล้ว เราก็ไม่ลืมทำประโยชน์ให้แก่ตน ประโยชน์ส่วนตนเรียกว่า อัตตัตถะ ประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเรียกว่าปรัตถะ ชาวพุทธเราก็ควรทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ประโยชน์ท่านจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เท่านั้นนะ ถ้ามีอะไรที่เราจะทำได้ด้วยตัวเรา ด้วยมือด้วยไม้ ด้วยทรัพย์สินของเรา เราก็ให้ เราก็ทำ ตามกำลัง ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งประโยชน์ตน
ประโยชน์ตนก็คือการฝึกจิตพัฒนาใจ และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่เรียกว่าสูงส่ง ในบทกรวดน้ำ จะมีการเอ่ยถึงนิพพาน ในฐานะที่เป็นจุดหมายของชีวิต ซึ่งชาวพุทธเราควรจะน้อมมาเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตเรา นิพพานนี้แม้จะอยู่ไกล หรือแม้จะไปได้ยาก แต่ว่าเราก็ควรน้อมรำลึกเอาไว้อยู่เสมอ ถือว่าเป็นหมุดหมายของชีวิต มันดีกว่าการที่เราจะตั้งจิตว่า ชีวิตนี้เราจะรวย เราจะเป็นเศรษฐี เราจะเป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนตั้งจุดมุ่งหมายอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นชาวพุทธ เราจะมองว่าจุดมุ่งหมายเหล่านี้ต่ำมาก เรามีจุดมุ่งหมายที่ดีกว่านั้น ที่ประเสริฐกว่านั้น ก็คือ นิพพาน คนสมัยก่อนจะไม่ได้มุ่งอยากจะเป็นเศรษฐี หรือเป็นอะไรที่ใหญ่โต แต่ว่าจะมุ่งถึงนิพพานอยู่เนืองๆ เวลาทำบุญทำกุศล จิตก็มุ่งไปที่นิพพาน เวลาในบาตรก็ไม่ได้อธิษฐานเยอะแยะ อธิษฐานในที่นี้ความหมายแบบไทยๆ คือว่าขอ ขอให้ได้เป็นนู่น ของให้ได้มีนี่ ขอให้ได้ร่ำรวย
คนสมัยก่อนอธิษฐานสั้นๆว่า นิพพานะปัจจะโย โหตุ ขอให้เป็นปัจจัยไปสู่นิพพาน แค่นี้แหละสั้นๆ แต่คนสมัยนี้เราไม่เห็นความสำคัญของนิพพานแล้ว เราอยากจะรวย อยากมีชื่อเสียง อยากจะประสบความสำเร็จ เราอยากจะสอบเข้าที่นั่นที่นี่ได้ คิดแต่เพียงแค่นี้ เวลาที่ไปบิณฑบาต หรือเวลาที่โยมมาทำบุญเดี๋ยวนี้จะสังเกต การอธิษฐานขอ ให้ประสบความสำเร็จจะใช้เวลานานทีเดียว เอามือจรดหัว แล้วอธิษฐานยาวทีเดียว แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องพื้นๆ เรื่องโลกๆ ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เราชาวพุทธนี้ไม่มีอะไรสำคัญเท่า “นิพพาน” อีกแล้ว คนยุคนี้โดยเฉพาะชาวพุทธก็สมควรยึดเอาพระนิพพานเป็นหมุดหมายของชีวิต
พระนิพพานคืออะไร ก็หมายถึง ความสงบเย็น เพราะว่าไม่มีกิเลส ไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ เป็นภาวะที่เย็น สงบ ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ไม่กระเทือนถึงใจ แดดจะร้อน อากาศจะหนาว ร่างกายจะเจ็บป่วย มันก็ไม่สามารถทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ เป็นภาวะสงบเย็นเป็นสุข ที่ไม่ได้เกิดจากการมี การได้ การครอบครอง ไม่ว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมก็ตาม รูปธรรมก็ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง นามธรรมก็อาจจะเป็น ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือแม้กระทั่งภาวะสมาธิชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น รูปฌาน อรูปฌาน พวกนี้เป็นภาวะสมาธิชั้นสูง ก็ไม่ติด ความสุขก็ไม่เกิดจากสิ่งนั้น เป็นภาวะที่สงบเย็น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความทุกข์ ความร้อน แม้ว่าจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องป่วย หรือแม้ต้องตาย จิตใจก็ไม่มีความหวั่นไหว หรือใจกระเพื่อม อันนี้ต่างหากที่ควรจะเป็นจุดหมายของชีวิตเรา อย่างอื่นที่เหลือ ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นสรณะอันประเสริฐ
อย่างสมัยพุทธกาล มีคหบดีท่านหนึ่งชื่อ จิตตคหบดี ก็เป็นคนที่ใฝ่ธรรมมาก เมื่อใกล้จะตาย เทวดาก็มาเชิญชวนให้ท่านปรารถนาไปเกิดเป็นพระมหาจักรพรรดิ ในชาติหน้า บอกว่าบุญของท่านมีมากพอถ้าท่านตั้งจิตอธิษฐานบุญของท่านก็จะส่งให้ท่านมีโอกาสได้เป็นจักรพรรดิได้มาก จิตตคหบดีปฏิเสธ ท่านมุ่งแต่พระนิพพานอย่างเดียว เพราะว่า แม้กระทั่งเป็นจักรพรรดิมันก็ไม่เที่ยง คนเป็นจักรพรรดิ คนเป็นพระราชาก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุข บางทีตายไม่สวย ตายไม่ดี หรือว่าอยู่อย่างรุ่มร้อน ก็มีมากมาย เพราะฉะนั้นคนที่ฉลาดและก็เป็นชาวพุทธ ก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรประเสริฐกว่า นิพพาน
การที่พวกเรามีจิตน้อมนึกถึงพระนิพพานอยู่เสมอ หรือว่าถือเป็นจุดหมายของชีวิตนี่มีประโยชน์ตรงที่เวลาที่ว่าเวลาเราเจอปัญหา เจออุปสรรคอะไร มันจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย มันจะกลายเป็นแค่แบบฝึกหัด หรือบททดสอบเท่านั้นเอง คนเราเวลาเจอความเจ็บป่วย เจอความพลัดพรากสูญเสียหรือเจอคนต่อว่าด่าทอ ก็จะหงุดหงิดโมโหเศร้าโศก แต่ว่าถ้าเรามองว่า ชีวิตนี้เรามีพระนิพพานเป็นจุดหมาย หรือแม้จะเป็นชีวิตหน้าก็ตาม เรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย เหมือนกับคนที่จะสอบให้ได้ จะเรียนให้จบปริญญาเอก ต้องเจอการบ้าน หรือว่าเจอการทดสอบที่ยากลำบาก ไม่เหมือนกับการสอบในชั้นประถม ชั้นมัธยม เวลาเจอวิกฤตในชีวิต หลายคนที่ไม่รู้จักวางจิตวางใจไว้ให้ดี จะทุกข์มากเลย ว่าทำไมต้องเป็นฉันๆ
แต่ถ้าเรามองว่านี่เป็นบททดสอบอย่างหนึ่ง ยิ่งจะไปให้ถึงจุดหมายอันสูงส่ง คือนิพพาน ก็ยิ่งต้องเจอบททดสอบที่มันยาก พอเรามองแบบนี้มันจะเกิดความเพียรพยายาม มันจะเกิดความอดทนที่จะผ่านไป ได้ แต่ถ้าเราไม่มีจุดมุ่งหมายแบบนี้ เจอปัญหานิด เจอปัญหาหน่อย ก็โวยวาย คร่ำครวญ คนที่ฉลาดจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบททดสอบ ที่เราต้องผ่านไปให้ได้ เพราะถ้าผ่านไปไม่ได้ การจะไปถึงพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายสูงสุด จะไปถึงได้อย่างไร บางทีเจอแค่บททดสอบ ของชั้นประถมมัธยม ยังไม่ผ่านเลย จะหวังจะจบแม้กระทั่งปริญญาตรีได้อย่างไร คนที่เขาหวังสูง เช่นจบปริญญาเอก หรือแม้แต่ปริญญาตรีก็ตาม เวลาเจอบททดสอบยากๆ เขาก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม แต่เขาคิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้วสำหรับการที่เราจะผ่านไปให้ได้ และการที่จะผ่านได้ เราต้องฝึกให้มีความรู้ประสบการณ์ เหมือนกับการจะเรียนให้จบปริญญาตรี เวลาที่เจอบททดสอบที่ยากๆ เราก็ต้องกลับไปค้นคว้า กลับไปศึกษา เพื่อที่จะตอบให้ได้
มีบางคน เคยมาหาบอกกลุ้มใจเรื่องงานเรื่องการ ตอนนี้เขาเป็นเซล เดี๋ยวนี้ขายของไม่ค่อยได้ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี คุยไปคุยมาก็เห็นว่าเขาสนใจธรรมะ และเค้าก็บอกว่าในชีวิตนี้ก็อยากบรรลุนิพพาน ก็เลยบอกเขาไปว่า แค่ปัญหานี้คุณยังท้อเลย ขายของไม่ได้ตามเป้า แค่นี้คุณยังท้อเลย แล้วคุณจะไปนิพพานได้อย่างไร พอพูดแบบนี้เขาก็ได้คิดว่าจะท้อกับเรื่องแค่นี้ทำไม เพราะถ้าท้อกับเรื่องแค่นี้จะคิดถึงเรื่องนิพพานก็ไม่ต้องนึกถึงแล้ว เพราะนิพพานต้องเจออุปสรรค เจอปัญหาที่ยากกว่านี้เยอะ
ขนาดพระพุทธเจ้ายังต้องผ่านบททดสอบมากมาย โดยเฉพาะตอนที่เป็นพระเวสสันดร ก็ต้องพร้อมที่จะสละทุกอย่าง ตอนที่พระเวสสันดรท่านยังเป็นเด็ก จิตใจก็มุ่งพระนิพพาน แล้ว และบอกว่าพร้อมที่จะสละดวงตาเพื่อเป็นทานให้กับผู้ที่ยากไร้ แต่ปรากฏว่า เอาเข้าจริงๆการสละดวงตานี่ไม่ยากเท่าไหร่ ที่ยากก็คือ ต้องสละเมียต้องสละลูกให้กับชูชกนี่ แต่เพราะท่านมุ่งพระนิพพาน มุ่งพระโพธิญาณ ท่านก็เลยตัดใจได้ ถือว่าจะต้องยอมที่สละสิ่งที่เรียกว่ารักและหวงแหนมากที่สุด ซึ่งก็คือบททดสอบเพื่อที่จะตัด หรือว่าวางความยึดในตัวกูของกูนี้เอง
เพราะฉะนั้นเวลาเรามีพระนิพพานเป็นจุดหมายเลยทำให้เราสามารถจะอดทนต่อปัญหา ต่ออุปสรรค ต่อความยากลำบากได้ เวลาเงินถูกโกง หรือว่าเจ็บป่วย เราก็จะรู้สึกว่าอันนี้แหล่ะคือบททดสอบที่เราต้องผ่านไปให้ได้ ที่เราทุกข์เพราะเรายังมีความยึดในตัวกูของกูอยู่ แค่นี้เรายังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะไปถึงนิพพานได้อย่างไร อันนี้คือเหตุผลประการหนึ่งที่เราควรยึดเอาพระนิพพานเป็นจุดหมายของชีวิต หรือเป็นหมุดหมายที่เราจะไปให้ถึง ส่วนจะถึงหรือไม่ถึงนี่มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเวลาเราเจออุปสรรค เจอปัญหาต่างๆแล้วจะทำให้เราก้าวข้ามมันไปได้ง่าย เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราเจอในวันนี้ยังเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะต้องเจอในวันหน้า ถ้าหากว่าจะก้าวข้ามให้ไปถึงพระนิพพานให้ได้ และเราจะเห็นถึงความจำเป็นของการฝึกฝนและพัฒนาตน เจออะไรก็ตามเราก็ต้องถือว่ามันเป็นแบบฝึกหัด เช่นเจอคำต่อว่าด่าทอ ถือว่าก็ดีแล้ว มาฝึกให้เราลดละกิเลส มาฝึกให้เราลดความยึดติดถือมั่นในเรา คนเราถ้ามองปัญหาต่างๆว่าเป็นเคราะห์ มันท้อ มันหมดกำลังใจง่ายๆ แต่ถ้าเรามองว่าพวกนี้เค้ามาเพื่อจะฝึกเราหรือว่าเพื่อที่จะเป็นข้อสอบ ว่าเราจะสามารถผ่านไปได้แค่ไหน
หากว่าเราอยากจะมีกำลังใจในการก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลาย ลองนึกถึงจุดมุ่งหมายที่สูงส่งเอาไว้คือพระนิพพาน และถ้าเราเข้าใจว่าพระนิพพานคืออะไร มันไม่ใช่เป็นเมืองแก้ว ไม่เป็นสวรรค์ชนิดหนึ่งที่วิเศษกว่าสวรรค์ทั้งปวง แต่เป็นภาวะที่หมดทุกข์ หมดกิเลส เป็นภาวะที่ล้วนแล้วแต่ เป็นภาวะที่ชีวิตนี้ควรจะเข้าถึงให้ได้ เป็นภาวะที่ประเสริฐที่สุด มันไม่ใช่เกิดจากความเห็นแก่ตัวที่อยากจะสงบ แต่ว่าเป็นภาวะที่เมื่อเข้าถึงแล้วก็อยากเอื้อเฟื้อเกื้อกูลสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง โดยที่ไม่ได้มีความเห็นแก่ตัว ไม่ได้มีความทุกข์กับการที่จะไปช่วยเหลือสรรพสัตว์เลย ถ้าลองนึกแบบนี้
เอาพระนิพพานเป็นจุดหมายระลึกถึงอยู่เสมอ เวลาทุกข์ เวลาเจออุปสรรค เจอความยากลำบาก เจอความพลัดพรากสูญเสีย เจอความไม่สมหวัง ก็มองว่าอันนี้มันเป็นเพียงแค่บททดสอบเล็กๆน้อยๆระดับปริญญาตรีเท่านั้นเอง ที่จริงเราจะต้องเจอบททดสอบอีกมากจะจบปริญญาเอก ถ้าไปพ่ายแพ้กับข้อสอบระดับมัธยมก็ไม่ต้องไปพูดถึงการจบแม้กระทั่งปริญญาโท อันนี้เป็นวิธีคิดที่มาช่วยทำให้เราสามารถที่จะระดมความเพียร หรือว่ามีขันติธรรมในการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ อย่างขันติวาทิดาบสที่ท่านอดทนไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความเกลียดชัง เพราะท่านมีพระนิพพานเป็นจุดหมาย จะเสียแขน เสียขา เสียมือก็ยอม เพื่อจุดหมายที่สูงกว่า ก็มีหลายท่าน ณ ที่ในหลายชาติทีเดียวที่ท่านพร้อมที่จะอุทิศ เเม้กระทั่งร่างกาย แม้กระทั่งชีวิตเพื่อพระนิพพาน มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย
คนเราก็รักตัวกลัวตาย แต่พอคิดถึงจุดหมายที่สูงกว่า การที่จะสละชีวิตแม้กระทั่งเพื่อช่วยสัตว์เดรัจฉานก็ทำได้ อย่างมีคราวหนึ่ง มีดาบถเป็นฤๅษีท่านไปที่ชะง่อนผามองลงไปข้างล่างเห็นแม่เสือเพิ่งคลอด มันหิวโดยมากแล้วก็มันก็กำลังจะกินลูกเสือท่านก็สงสาร บอกให้ลูกศิษย์ไปหาอาหารให้แม่เสือ ลูกศิษย์หายไปนานไม่กลับมา เสือก็กำลังจะขย้ำลูกเสืออยู่แล้ว ท่านก็มีเมตตากับลูกเสือมาก อยากช่วยชีวิตลูกเสือไว้...ทำยังไง...ก็เลยโดดลงไปเลย โดดลงไปให้แม่เสือกิน เรียกว่าสละชีวิตเพื่อช่วยลูกเสือ และนี่ที่เป็นเรียกว่า เมตตาไม่มีประมาณ สละได้แม้กระทั่งชีวิต ไม่ใช่เพื่อใครไม่ใช่เพื่อพ่อแม่ แต่ว่าเพื่อสัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆ เดี๋ยวนี้เวลาเราจะทำบุญ หลายคนก็จะชั่งตวงว่าทำบุญอย่างไรถึงจะได้ผลหรือได้บุญมากกว่า ถ้าทำบุญกับพระ จะได้มากกว่าทำบุญกับโยม ถ้าทำบุญกับโยมได้มากกว่าทำบุญกับสัตว์ เดี๋ยวนี้เราทำบุญเหมือนกับเราจะซื้อหุ้นนะหุ้นว่าหุ้นตัวไหนให้ผลตอบแทนสูงสุดเราก็ซื้อตัวนั้น
แต่ว่าชาวพุทธที่ใจประเสริฐนี้ถึงเวลาที่มีสัตว์หรือว่าคนเดือดร้อนนี่ ไม่คิดถึงผลได้ว่าจะเกิดกับตนเท่าไหร่ ถ้าช่วยได้ก็ช่วยทันที อย่างพระโพธิสัตว์ท่านก็ลงไปเลย โดดลงไปให้แม่เสือขย้ำ เพื่อช่วยชีวิตลูกเสือไว้ อันนี้ท่านทำได้เพราะท่านมีพระนิพพานเป็นจุดหมายเหมือนกัน ก็คือพร้อมที่จะสละ สละชีวิตเพื่อธรรมมะ มันกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อเรามีจุดหมายที่สูงส่ง แต่ว่าพวกเราก็ไม่ต้องถึงขั้นทำขนาดนั้นก็ได้ ให้เราถือว่าปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เราเจอมันยังเล็กน้อยมาก เทียบกับที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้เจอมาแล้ว และก็ได้ข้ามมาจนได้ ลองนึกแบบนี้จะได้ทำให้เรามีความเพียร มีความกล้าในการที่จะรับมือกับปัญหาอุปสรรคทั้งหลายต่างๆที่ผ่านเข้ามา โดยไม่เสียท่าให้กับความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือว่าความกลัว รวมทั้งความพยาบาททั้งหลาย