แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีการทดลองอย่างหนึ่งในเมืองนอกการทดลองไม่ได้ยากอะไร ง่ายๆ ก็เชิญอาสาสมัครที่เป็นผู้หญิงให้มาให้คะแนนข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ให้คะแนนว่า ของชิ้นไหนที่น่าใช้ ให้คะแนนความน่าใช้ของของแต่ละอย่างๆ ที่วางอยู่ข้างหน้า อย่างเช่นสมมติว่าคะแนนเต็มสิบ ของชิ้นนี้มันน่าใช้ไหม กี่คะแนนเสร็จแล้วก็แต่ละคนๆ เขาก็จะให้มาเลือกของสองชิ้นที่เขาให้คะแนนเท่ากัน เช่นผู้ให้คะแนนว่า 9 ก็จะเลือกมา 2 ชิ้น ให้เลือกว่าเอาชิ้นใดชิ้นหนึ่ง หลังจากนั้นแล้วก็จะมีการสอบถามอีกว่า ของที่เลือกมาถ้าให้คะแนนความน่าใช้ จะให้คะแนนเท่าไหร่ สิ่งที่เขาพบก็คือว่า ถ้าหากเลือกไปแล้วคืนไม่ได้ เรียกว่าแทบทุกคนเลยจะให้คะแนนของชิ้นนั้นสูงกว่ากรณีที่สามารถจะคืนของนั้นได้ ถ้าคืนไม่ได้นี่ จะให้คะแนนสูงเลย อาจจะ 9 แต่ถ้าคืนได้นี่คะแนนจะลดลง ความชอบจะลดลง บางคนก็อาจจะ ถ้าคืนได้ก็อาจจะเปลี่ยนเลย
อันนี้แสดงว่าอะไรรู้ไหม แสดงว่าคนเราเวลาทำอะไรไปแล้ว เรามักจะหาเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนว่า สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เราตัดสินใจไป นั้นถูกต้อง ดังเช่นของสองชิ้น ทีเเรกก็ให้คะเเนนเท่ากัน แต่พอเลือกของชิ้นที่หนึ่ง แล้วเพื่อที่ยืนยันว่า ฉันเลือกถูกก็จะบอกกับตัวเองว่า ของชิ้นนี้มันน่าใช้มาก น่าใช้มากกว่าของอีกชิ้นหนึ่ง ทั้งๆที่เมื่อสักครู่ ยังให้คะแนนเท่ากัน แต่ว่าถ้าเกิดสามารถเปลี่ยนได้ คืนได้ มันก็อีกเรื่องหนึ่งเลย ถ้าคืนได้เปลี่ยนได้หลายคนก็จะ ที่ฉันเลือกมานี่มันยังไม่ดีเท่าไหร่ อีกชิ้นหนึ่งดีกว่า คิดว่าคนเรานี่เวลาสั่งอาหารมากินกับเพื่อนๆ เราก็เลือกอาหารที่เราคิดว่าเราชอบ พอเห็นจานของเพื่อน หลังจากที่เรากินไปแล้วเราก็ เอ๊ะ จานของเพื่อนนี่มันอร่อยกว่า
มันมีคำพูดในภาษาสำนวนฝรั่งว่า สนามหญ้าของบ้านอื่นมันจะเขียวกว่าสนามในบ้านเรา สนามในบ้านเรา มันไม่เขียวเท่าสนามหญ้าของเพื่อนบ้าน คือ ธรรมชาติของคนเรา มักไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มี ถ้าเลือกอะไรไปแล้ว บางครั้งเกิดความรู้สึกว่า ของที่เราเลือกมามันยังไม่ดีเท่าของชิ้นอื่น แต่ถ้าเปลี่ยนเงื่อนไขว่าคืนไม่ได้ เลือกไปแล้วคืนไม่ได้นี่ คนเราก็จะให้ค่าจะให้คะแนนกับของที่เราเลือกมากกว่า คล้ายๆ เพื่อยืนยันว่า เราทำถูกแล้ว เราเลือกถูกแล้ว เพราะว่าธรรมชาติของคนเรานี่ มันก็มีอัตตา แล้วก็อัตตานี่มันมักจะต้องการยืนยันว่า ฉันดี ฉันเก่ง ฉันถูก ทำอะไรไปก็ตามนี่ทีแรกยังไม่มีเหตุผล แต่พอทำไปแล้วก็ต้องหาเหตุผลมารองรับว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นถูก แต่ที่เลือกของชิ้นนี้ ฉันเลือกถูกแล้วเพราะว่ามันน่าใช้มากเลย
มีการทดลองอีกอย่างหนึ่ง เอาคนมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ใน 2 กลุ่มนี้ก็มีการให้เข้าร่วมกิจกรรมที่เหมือนกัน แต่ว่าคนในกลุ่มแรกนี่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมได้นี่ไม่ค่อยยากอะไร มาได้เลย ส่วนคนในกลุ่มที่สอง นี่มันมีเงื่อนไขเยอะหน่อย ซึ่งบางทีก็อาจจะไม่ใช่เงินอย่างเดียว อาจจะหมายถึง การร่วมทำกิจกรรมบางอย่างที่ต้องลงทุน อย่างเช่นอาจจะต้องวิดพื้น 20 ครั้ง หรือว่าอ่านข้อความจากนิยายสัปดนหรือเรื่องทางเพศให้เพื่อนๆฟัง ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่น่าอาย แต่ก็ต้องทำก่อนจะได้มาร่วมกิจกรรม
พอเข้ากลุ่มได้แล้วก็จะให้คนในสองกลุ่มนี้ ฟังเทปการสนทนา การบรรยายซึ่งเขาจงใจเลยที่จะทำให้มันน่าเบื่อ มีเสียงแทรก บางทีก็ทิ้งช่วงนาน บางครั้งก็พูดจาไม่รู้เรื่อง สับสน ให้ฟังทุกคนเลย แล้วก็ถามว่า คำบรรยายนี้เป็นยังไงบ้าง คนกลุ่มแรกที่เข้ามาร่วมกิจกรรมง่ายๆ ไม่มีเงื่อนไขอะไรมากก็จะบอกว่าไม่ได้เรื่อง ส่วนกลุ่มที่สอง ที่กว่าจะเข้ามาได้ กว่าจะได้มาฟังคำบรรยายก็ต้องทำอะไรที่มันต้องอดทน อาจจะต้องเหนื่อยหรือต้องเสียหน้า น่าอับอายบ้าง เช่น ต้องทำอย่างที่บอก ต้องอ่านข้อความสัปดนให้คนในกลุ่มฟัง
พอถามคนกลุ่มที่สองว่า คำบรรยายเป็นยังไง ส่วนใหญ่จะบอกว่าดี ดีมากเลย อันนี้มันแปลว่าอะไร แปลว่าในเมื่อลงทุนมาขนาดนี้แล้ว เราต้องรู้สึกว่า การลงทุนนี่มันคุ้มค่า มันถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นคนเราคล้ายๆว่าหลอกตัวเองว่ามันดี เพื่อให้รู้สึกว่าการกระทำของเราเมื่อสักครู่นั้นมันถูกต้อง มันคุ้มค่าแล้ว อุตส่าห์ลงทุนไป อุตส่าห์ทำเรื่องขายขี้หน้าแล้ว เรื่องที่ชวนให้ขวยเขินอับอายแล้ว มันไม่ใช่การทำที่สูญเปล่า มันมีประโยชน์ มันคุ้มค่า เพราะฉะนั้น ก็จะคล้ายๆว่าหลอกตัวเองหรือสรรหาเหตุผลว่ามันดี บางทีมันก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย แต่ว่าพยายามหาข้อดีของมันให้ได้ เพื่อจะได้รู้สึกว่าที่เราทำอะไรไปเมื่อสักครู่ ลงทุนไปเมื่อสักครู่นี้มันถูกต้อง มันคุ้มค่า นี่เรียกเป็นการหาเหตุผล หาหลักฐาน หาอะไรมายืนยันในความถูกต้องของเรา ที่เราตัดสินใจทำไปอย่างนั้นหรือว่ามันคุ้มค่าแล้ว
อันนี้ก็เป็นการทดลองที่มันทำให้เห็นว่าจิตใจเรานี่ มันมีกลไกลบางอย่างที่จะสรรหาเหตุผล หรือแม้กระทั่งหลอกตัวเอง เพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกว่า เราถูก การกระทำของเรามันถูกแล้ว เพราะมันเป็นของที่น่าใช้จริงๆ หรือว่าคำบรรยายนี่มันดีแล้วมันเยี่ยม เพื่อที่จะชี้ว่า ที่ทำอะไรขายขี้หน้านี่มันไม่สูญเปล่า มันคุ้มแล้ว นี่เป็นเรื่องอัตตา เป็นเรื่องตัวกู เพราะว่า ตัวกูมันก็ต้องอยากจะยืนยัน อยากจะตอกย้ำ รวมทั้งประกาศด้วยว่ากูถูกแล้ว กูดีแล้ว กูเก่งแล้ว จะทำอะไรนี่เราต้องถูกเสมอ แม้ว่าตอนทำจะไม่ได้คิดอะไร หรือว่าบางทีก็ต้องหลอกตัวเองบ้าง อันนี้มันเป็นกลไก ที่ทำโดยไม่รู้ตัว
เพราะฉะนั้น เวลาใครทำผิดอะไร ทำผิดทำพลาดไปนี่ ทั้งๆที่อาจจะเสียใจว่าเราไม่น่าทำเลย แต่ว่าตัวกูก็ยอมรับไม่ได้ว่ากูพลั้ง กูพลาด กูเผลอ กูโง่ มันไม่ยอมรับ มันก็พยายามหาเหตุผลว่า ที่กูทำนี่ถูกแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะมีเหตุผล จะมีข้ออ้าง จะมีอะไรต่างๆ มาทำให้รู้สึกว่าฉันถูก แล้วก็พูดให้คนอื่นได้รู้ด้วยว่าฉันก็ถูก ฉันทำถูกแล้ว ทั้งๆที่คนเขาก็เห็นว่ามันไม่น่าทำเลย ทำอย่างนี้ได้ยังไง แต่ทุกคนก็จะตะแบงให้เห็นว่าฉันทำถูก
อย่างเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีดาราละครเขาเล่นเป็นนักโทษที่โดนจับคดีข่มขืน เป็นละครที่เพิ่งออกใหม่ เพิ่งเปิดถ่ายทอดออกรายการ นักแสดงผู้ชายคนนี้นี้ก็เขียนข้อความขึ้นเฟสว่าผมเป็นนักโทษคดีข่มขืนครับ ใครอยากจะมาให้ผมข่มขืนก็เชิญเลยนะครับ เลือกได้เลย เขียนอย่างนี้ทำนองนี้ ก็โดนคนว่า คนด่า เขาก็ออกมาแก้ตัว ทีแรกก็พูดดีว่า “ขอโทษครับ” เสร็จแล้ว พูดไปพูดมาก็พยายามบอกว่า “โลกจริง ๆ มันโหดร้ายนะ แค่ข่มขืนมันยังไม่เท่าไหร่ คนเรามันต้องเจออะไรมากกว่านี้อีกเยอะนะครับ” คล้ายๆพูดในทางว่าทำให้ตัวเองดูดี พูดง่ายๆ แล้วก็ว่า “ผมพร้อมอาสาจะเป็นผู้นำมาช่วยรณรงค์ให้คนมีจิตสำนึกในเรื่องพวกนี้นะครับ” ก็โดนด่าอีกรอบ คือเจ้าตัวนี่ก็พยายามที่จะหาเหตุผลมากลบเกลื่อนเหมือนกับว่าที่ทำไปนั้นถูกแล้ว
อย่างกรณีน็อตกราบรถกู ที่ไปต่อย ไปตบคนที่ชนท้ายรถเขาแล้วก็หนี แต่แทนที่คนชนจะหนีก็เปลี่ยนใจกลับมาเพื่อที่จะมาจะรับผิดชอบ แต่ว่าถูกเจ้าของรถ(น๊อต) ลากคอมาตบสั่งสอนว่า ทำไมถึงหนีๆ พอคนถ่ายคลิปนี้เอาเผยแพร่ทางเฟส เขาก็ถูกรุมด่า เขาก็พยายามก็ยังไม่ยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันผิด เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นเหยื่อ เขาเป็นผู้เสียหาย ผมผิดอะไร ผมเป็นผู้เสียหาย เสียหายคือถูกรถชน ไม่ยอมรับตัวเองที่ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือต่อยเขา ก็ยืนกรานว่าผมเป็นผู้เสียหาย ไม่ได้มองว่าอีกฝ่ายหนึ่งต่างหากเขาก็เป็นผู้เสียหายเหมือนกัน เขาถูกตบ ถูกต่อย
อันนี้มันก็สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของตัวกู อัตตาที่มันไม่ว่าทำผิดแค่ไหน มันก็พยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนว่ากูไม่ผิดๆ เพราะอัตตามันยอมรับไม่ได้ว่ากูผิด เว้นแต่ว่าจวนตัวแล้ว เกิดความเสียหายหนักขึ้น ก็จำต้องยอมรับเพื่อจะได้พ้นจากความเดือดร้อนจากการกระทำของตัว ถ้าจนตรอกจริงๆ ก็ยอมรับ แต่ถ้ายอมรับแล้วไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ยอม
อย่างกับนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แล้วก็ไม่มีการอภัยโทษ ก็เพราะว่าน้อยคนมากที่จะยอมรับผิด ถ้ามีสิทธิ์ได้รับอภัยโทษก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าโดนตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแล้วมีโอกาสได้รับอภัยโทษ มีลดโทษมีผ่อนผัน ส่วนใหญ่จะยอมรับผิดเพื่อจะได้ลดโทษ แต่ถ้าไม่ได้รับการผ่อนผัน คือตายในคุกแน่นอน พวกนี้จะไม่ยอมรับผิด น้อยคนนักที่จะยอมรับผิด แล้วก็พยายามพูดว่า ตัวเองทำถูกแล้วที่ไปฆ่า บางทีถึงกับอธิบายด้วยซ้ำว่า ตอนที่ตัวเองฆ่าเหยื่อนี่ฆ่ายังไง ทำให้เหยื่อมันทรมานแค่ไหนเหมือนกับคล้ายๆพูดกับว่าให้มันสาสมกับความผิดของเหยื่อที่มันไม่ดี มันโกงมันด่า มันด่าผม มันแกล้งฉันอะไรอย่างนี้ คือพวกนี้จะยิ่งพูด จะยิ่งพรรณนาถึงการฆ่า ว่าฆ่าอย่างไร เหมือนกับว่าไม่รู้สึกผิดเลย ที่ไม่รู้สึกผิดเพราะว่า มันไม่มีประโยชน์แล้วที่จะสารภาพผิดเพราะว่าผ่อนผันไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องพยายาม ก็ต้องยืนยันว่า สิ่งที่ตัวเองทำมันถูก มันก็เป็นกรณีเดียวกับที่เลือกของแล้วคืนไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าที่ฉันเลือกมันดี มันดีมากเลย ฉะนั้นเมื่อฆ่าใครไปแล้วก็ต้องติดดุกแล้วก็ผ่อนผันไม่ได้ก็ต้องพยายามหาเหตุผลมาเพื่อชี้ว่า ที่กูทำมันถูกแล้ว เพราะไอ้คนนั้นมันเลวจริงๆ สาสมแล้ว
อันนี้มันธรรมชาติของจิตใจคนเราที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้ทันว่า ตัวอัตตาหรือตัวกูนี่มันพยายามจะสรรหาหรือทำทุกอย่างเพื่อที่จะยืนยันในความถูกต้องของมัน ซึ่งอันนี้เป็นหนึ่งในธรรมชาติของอัตตา และยังมีอีกหลายอย่างเช่น ต้องการการชื่นชม ต้องการคำสรรเสริญ ต้องการการยอมรับ ถ้าใครไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้การยอมรับก็จะเกิดความรู้สึกโกรธ เกิดความรู้สึกไม่พอใจ อาจจะถึงขั้นเกลียดคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับฉัน
อย่างที่เคยเล่า เพื่อนไปคลองเตยก็มีร้านขายมะม่วงเยอะแยะ เขาก็เดินตั้งแต่ร้านแรกไปจนถึงร้านสุดท้ายเลย ดูมะม่วงแล้วก็เทียบราคากันไปถึงร้านสุดท้าย แล้วก็กลับมาที่ร้านแรก ทีนี้ตั้งใจจะซื้อแล้วมะม่วงร้านแรก ตกลงพ่อค้าไม่ยอมขาย เพราะว่าไปดูร้านอื่นแบบนี้ ฉันไม่ขายให้แล้ว ไม่พอใจที่ลูกค้าได้เดินผ่านร้านเขาไปเหมือนกับว่าไม่ไยดี ตัวอีโก้ ตัวอัตตา ตัวกูของพ่อค้านี่มันสูง มันกลายเป็นปฏิปักษ์กับลูกค้าทันทีเลย ลืมตัวว่าเขามาซื้อของเรา เราน่าจะดีใจ คือถ้ามีปัญญาหน่อยก็จะรู้ว่า ต้องดีใจเลยที่ลูกค้ามาซื้อของเรา แต่ลืมตัวปล่อยให้อัตตานี้มันครองใจก็เลยปฏิเสธลูกค้าไป เพราะไม่พอใจเขาที่เมินเฉยฉัน
อันนี้เป็นไปทั่ว พระก็เป็น เวลามีคนมาหาพระรูปอื่นแต่ว่าไม่สนใจตัวเองนี่ก็ไม่พอใจ บางทีก็โกรธโยม แล้วก็โกรธพระรูปนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เทวทัต เวลามีคนมาวัดก็มาถามหาพระพุทธเจ้า ไม่เป็นไร แต่ว่าพอใคร ๆถามถึงแต่พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ มีของมาถวายก็ถวายรูปอื่น ไม่มาถวายฉัน ก็โกรธเกลียดพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ก็เลยพาลโกรธพระพุทธเจ้าไปด้วย เพราะพระพุทธเจ้านี่ยกย่องพระสองรูปนี้ให้เป็นอัครสาวกซ้ายขวา อันนี้เป็นเหตุผลในการประกาศแยกออกจากหมู่สงฆ์ เกิดสังฆเภท
บางทีก็ไม่พอใจคนที่มองข้ามเขาไป มีโยมคนหนึ่งเป็นเพื่อน เขาก็มีแม่ใส่บาตรพระรูปหนึ่งเป็นประจำ แม่แกก็ใส่แค่รูปเดียวเพราะว่าพระแถวนั้นไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แล้วตัวเองก็ไม่ค่อยมีเวลา แต่ก็มีศรัทธาทำถวาย ใส่บาตรทุกวัน มีพระประจำคงจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร พระก็เดินมาไม่มาก มีแค่รูปสองรูป วันหนึ่งพระที่เป็นขาประจำไม่มา อาจจะป่วย โยมก็เลยเดินไปใส่บาตรพระรูปอื่น ก็เห็นพระรูปหนึ่ง ซึ่งก็มักจะเดินมาแถวนั้นเป็นประจำ ก็ไปหาเพื่อที่จะใส่บาตร ปรากฏว่าพระรูปนั้นพอเห็นโยม ก็เดินหนีเลย โยมก็เดินตาม พระหนี โยมก็เรียก พอพระหยุดก็พูดขึ้นมาว่า นี่วันนี้มาใส่บาตรกับฉันทำไม แปลว่าอะไร แปลว่าไม่พอใจที่วันอื่นๆไม่มาใส่บาตรฉันเลย อันนี้เป็นการสะท้อนความรู้สึกที่ไม่พอใจ ทั้งๆที่โยมก็ไม่ได้ทำผิดอะไร โยมก็เพียงแต่ว่าใส่รูปอื่น ไม่ได้ใส่รูปนี้ แค่นี้ก็ทำให้ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกเกลียดเป็นปฏิปักษ์เกิดขึ้นแล้ว ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการเบียดเบียนพูดร้ายทำร้าย เพียงแต่ไม่ให้ความสำคัญ หรือว่าทำทีไม่ให้ความสำคัญฉัน ไปใส่บาตรพระรูปอื่นไม่มาใส่บาตรให้ฉัน ไม่มาใส่บาตรกับฉัน แล้ววันนี้จะมาใส่บาตรทำไม นี่มันเป็นเรื่องของอัตตา คล้ายๆ ว่าตัวที่มันแสดงอาการออกมาว่า ไม่พอใจ ถ้าต่ำกว่านี้จะเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ เช่น ลูกน้อยเนื้อต่ำใจพ่อแม่ หรือพ่อแม่น้อยเนื้อต่ำใจลูก ถ้าเป็นคนห่างหน่อยก็จะเป็นความเกลียด ความไม่พอใจ ไม่มาสนใจฉัน ไม่มาใส่บาตรฉัน แล้ววันนี้มาใส่ทำไม ที่จริงพระรูปนี้ก็ต้องทำใจให้เป็น เขาไม่มาใส่บาตรเรา เราก็เออเพราะวันหนึ่งเขามีเวลาทำอาหารจำกัด ก็ได้แค่พอใส่บาตรพระรูปเดียว มีมุทิตาจิตกับพระรูปนั้น ก็เออดี ได้รับการอุปถัมภ์จากญาติโยม
คนเรานี้ถ้าเราวางจิตวางใจเป็น ตัวอัตตามันครองใจไม่ได้ หรือว่ามีสติรู้ทันว่า ตัวอัตตามันตีโพยตีพายแล้ว มันอยากได้หน้า มันอยากได้รับการยอมรับ แต่นี่พอโยมไม่ให้ความสำคัญกับฉัน กูก็เลยไม่พอใจ เราต้องมีสติเห็น เราก็รู้ว่านี่เราต้องฝึกอีก เรายังมีอัตตาอยู่ อาจจะขอบคุณด้วยซ้ำว่ามันทำให้เราได้เห็นอัตตาของเรา เห็นกิเลสที่ต้องกลับไปแก้ไข อย่างหลวงพ่อพุธ ท่านก็เคยเล่าไว้แล้ว หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตอนที่หนุ่มๆ ก็ไปจำพรรษาที่แถวอุบลฯ วันหนึ่งเดินเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกชายเล็กๆ 5-6 ขวบ ยืนรอใส่บาตร ท่านก็เลยเดินไปรับบาตร พอไปใกล้จะถึงแล้ว เด็กตัวเล็กๆก็พูดว่า “มึงบ่แม่นพระดอกๆ” มึงไม่ใช่พระ ท่านไม่พอใจขึ้นมาทันทีเลย พอเสียงนี่กระทบหูจิตมันไม่พอใจเลย แต่สักพักท่านก็ได้สติเห็นความโกรธ ความไม่พอใจก็เลยนึกขึ้นมาในใจ เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระ ถ้าเราเป็นพระเราจะต้องไม่โกรธ แล้วท่านก็ทำจิตใจท่านกลับมาเป็นปกติ เดินไปรับบาตร ไม่ได้มีความรู้สึกเกลียด ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธเด็กคนนั้นหรือแม่ของเด็กเลยว่า ทำไมไม่สอนเด็ก ทำไมไม่สั่งไม่สอน ไม่มีเลยตอนหลังนี่เวลาที่ท่านพูดถึงเด็กคนนี้ ท่านเรียกเป็นอาจารย์ของท่าน
คนที่มีสติปัญญาก็จะไม่ยอมให้อัตตามันมากำเริบก็จะหาทางจัดการกับมัน อย่างน้อยๆ ก็ไม่เชื่อมันไม่ฟังมัน อัตตาบอกกูโกรธแล้วโว้ย มาว่ากูได้ยังไง ว่าไม่ได้เป็นพระ ไม่ใช่พระ ถ้าคนมีปัญญาก็ไม่เชื่อ แค่มีสติรู้ทันอัตตามันก็หายไปแล้ว พอรู้ตัวเท่านั้นแหล่ะตัวกูหมดฤทธิ์แล้ว อย่างที่พูดไปเมื่อสองวันก่อน ธรรมดาคนเรามันก็จะมีอัตตาตัวกู กำเริบในหลายรูปแบบเช่น โกรธเวลาคนพูดตำหนิหรือแม้แต่ทำทีเฉยๆไม่ยอมรับ ไม่ให้ความสำคัญกับเรา หรือว่าหาเหตุผลข้ออ้างมาสนับสนุนว่า สิ่งที่เราทำนี่มันถูกทั้งๆ ที่มันผิด อย่างที่เรียกว่าเอาสีข้างเข้าถู หรือการยืนกรานไม่ยอมรับผิด ในใจมันมีเสียงต้าน
เวลามีคนมาทักท้วงว่าเราทำไม่ถูก เราก็พยายามหาเหตุผลว่าเราทำถูก ซึ่งบางทีก็เป็นเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ บางทีก็หลอกตัวเองว่าถูกแล้ว ดีแล้ว อย่างตัวอย่างการทดลองที่พูดมาก็ต้องรู้ทันมันด้วย จะไม่ให้มันเกิดก็คงยาก เพราะเราเป็นปุถุชน แต่ว่าเมื่อมันเกิดแล้วก็อย่าไปเชื่อมันมาก แล้วก็อย่าไปเดือดร้อนตามมัน ตัวกูมันโกรธ แต่ก็อย่าให้ใจโกรธไปด้วย มันโกรธก็โกรธไปเราก็ไม่รู้ไม่ชี้ ถือว่านี่เป็นการบ้านที่ต้องฝึก
ยิ่งเป็นพระหรือนักบวชนี่ยิ่งต้องเตือนใจเรื่องนี้เลยว่า เออใช่เขามาเตือนให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่พระ เพราะว่าถ้าเราเป็นพระ เราจะต้องไม่โกรธ ต้องขอบคุณเขา นี่เรียกว่าเป็นการทำงานกับใจตัวเอง ทำงานกับอัตตา แต่ส่วนใหญ่ก็ไปจดจ่อไปมุ่งแก้ไขข้างนอก เช่นถ้าเด็กพูดแบบนี้ก็ต้องสั่งสอนเด็กสักหน่อย สั่งสอนก็สั่งสอนด้วยความโกรธความเกลียด จริงๆก็แนะนำได้ สั่งสอนได้ แต่ว่าพูดด้วยอย่างมีสติ แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมาจัดการที่ใจเราก่อน สั่งสอนที่ใจอย่างที่หลวงพ่อพุธบอก เออ ถูกของมันเราไม่ใช่พระ เราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ เมื่อสั่งสอนตัวเองแล้วถึงค่อยแนะนำหรือสั่งสอนคนอื่น อันนี้ถูก เรียกว่าทำกิจ และก็ทำจิตด้วยพร้อมกัน แต่ส่วนใหญ่ก็ทำกิจไม่ทำจิตหรือบางทีก็ไม่ได้ทำกิจอะไร แค่ระบายหรือแก้แค้น มันก็เป็นปัญหาขึ้นไปใหญ่รู้เท่าทันอุบายของอัตตา มันมีกลไกวิธีการต่างๆ มากมายที่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่รู้ทัน เราก็หลงเชื่อมัน แล้วก็ถูกมันหลอก