แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เมื่อ 3-4 วันก่อน ได้พูดว่าชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง แล้วก็ได้ขยายความว่าเดินทาง หมายถึงการเดินด้วยเท้า ไม่ใช่เดินด้วยรถยนต์หรือเครื่องบิน และเมื่อเดินด้วยเท้า ก็หมายความว่าต้องอาศัยขาทั้งสองข้างที่พอดีกัน ที่ช่วยให้เราเดินได้อย่างสมดุล คือ ช่วยให้ความสมดุลเกิดขึ้นในการเดิน
ฉะนั้น ชีวิตก็หมายถึงการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างกายกับใจ และในกายนั้นเองก็ต้องมีความสมดุลระหว่างการกิน กับการออกกำลังกาย กินมากแต่ไม่ออกกำลังกาย มันก็ไม่สมดุล เจ็บไข้ได้ป่วย เสพรับพลังงานเข้าไปเยอะ แต่ไม่เอาไปใช้ มันก็ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ใจก็ต้องมีความสมดุลระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ ระหว่างความคิดกับความรู้สึก ระหว่างการคิดเก่ง คิดเป็น กับการรู้จักวางความคิด อันนี้ก็เป็นตัวอย่างความสมดุลของชีวิต ที่ช่วยทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น
การเดินทาง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือมันต้องมีจุดหมาย ถ้าไม่มีจุดหมายก็สะเปะสะปะ หรือไม่รู้ว่าจะเดินไปทำไม ฉะนั้น นอกจากความสมดุลของชีวิตหรือว่าการทำชีวิตให้มีความสมดุลแล้ว สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งก็คือ การมีจุดหมายปลายทางของชีวิต ทีนี้จุดหมายของชีวิตคืออะไร
จุดหมายของชีวิตมันไม่ได้หมายความว่า มันไม่ใช่ให้คำตอบว่าเราเกิดมาทำไม เพราะว่าจริงๆแล้ว คำถามว่าเกิดมาทำไม มันเป็นคำถามที่อาจจะยังไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนตั้งใจให้ตัวเองเกิดมาในโลกนี้ เราถูกทำให้เกิดมามากกว่า คนที่ทำให้เราเกิดมาก็คือพ่อแม่ ภาษาฝรั่งจะชัดเจน จะพูดชัดในเรื่องนี้ เวลาเขาพูดว่าฉันเกิด เขาจะใช้คำว่าฉันถูกทำให้เกิด “I was born” คือฉันไม่ได้ตั้งใจเกิดมาเองนะ ฉันถูกทำให้เกิด เพราะฉะนั้น ถามว่าเกิดมาทำไม ก็คงจะเป็นคำถามที่อาจจะยังไม่ถูกต้องนัก
คำถามที่ถูกต้องมากกว่าคือ ถามว่า อยู่ไปเพื่ออะไร หรืออยู่ไปทำไม ถึงแม้เราไม่ได้ตั้งใจให้ตัวเองเกิดมา แต่ว่าการมีชีวิตอยู่มาถึงป่านนี้ มันต้องเกิดมาจากความตั้งใจของเรา อยู่ไปเพื่ออะไร หรือว่าชีวิตที่ดี ที่ควรเป็น สิ่งที่ควรเป็นจุดหมายของชีวิตคืออะไร ก็พูดกันเยอะ แต่ละคนก็มีคำอธิบายต่างๆมากมาย แต่ที่คิดว่า คนที่พูดได้กระชับที่สุดท่านหนึ่งก็คือ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านบอกว่าชีวิตที่ดีคือ ชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ สองคำนี้ คลุมในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิต ก็คือว่าครอบคลุมทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน
ประโยชน์ท่านก็หมายถึงว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อันนี้เรามองข้ามไม่ได้ มันจำเป็น สำหรับชีวิตที่ดี แต่ว่ามีประโยชน์ให้กับผู้อื่นแล้ว ก็อย่าลืมประโยชน์ตน แล้วประโยชน์ตนที่ดีที่สุดก็คือ ความสงบเย็น พวกเราหลายคนก็เป็นพยาบาล หรือว่าเป็นบุคลากรด้านสุขภาพ โดยอาชีพการงาน แล้วก็โดยวิถีชีวิตด้วยซ้ำ ก็มุ่งทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น แต่ว่าการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น จะยั่งยืนได้ก็ต้องมีความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข แต่ว่าไม่มีความสุขมาหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจของตน มันก็ทำได้ไม่ยั่งยืน ทำไปนานๆก็ท้อ ทำไปนานๆก็ล้า ทำไปนานๆก็ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรงจะทำต่อ กำลังกายอาจจะมี แต่ว่ากำลังใจไม่มี
หลายคนเปรียบเหมือนกับพัดลม พัดลมมันให้ความสงบเย็นกับคนอื่น แต่ตัวมันกลับร้อน พัดลมที่เปิดนานๆ เราลองจับตัวเครื่องดู หรือว่าข้างหลังใบพัด มันจะร้อน หลายคนเป็นอย่างนั้น คือ ช่วยให้คนอื่นมีความสุข แต่ตัวเองกลับทุกข์ แต่คนเรานี่มันไม่ใช่พัดลม คนเราสามารถจะทำได้ดีกว่านั้นได้ ก็คือว่าในขณะที่ช่วยผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ตัวเองก็สามารถจะมีความสุขได้ และความสุขที่ดี ก็คือความสงบ ความสุขอย่างอื่น มันยังไม่ใช่เป็นความสุขที่ประเสริฐเท่าไหร่
หลายคนนึกถึงความสุขจากการเสพ ความสุขจากการมี ความสุขจากการครอบครองวัตถุ ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกรวมๆว่า กามสุข คือสุขจากการที่ได้เสพ ได้ครอบครองได้มีวัตถุที่น่าใคร่ ไม่ว่าจะเป็นเสพทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือพูดง่ายๆก็คือว่า การครอบครอง มันให้ความสุขก็จริง แต่มันก็เจือไปด้วยทุกข์ มันทุกข์ตั้งแต่มีความอยากแล้ว เห็นของที่วางขายตามห้าง หรือว่าที่เขาโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือว่าทางคอมพิวเตอร์ ทางมือถือ แค่มีความอยากนี่มันก็ทุกข์แล้ว แล้วสังเกตมันเป็นความทุกข์ที่ใจ คือ ความร้อน มันร้อน ซึ่งในแง่หนึ่ง สำหรับบางคนก็ดี มันทำให้เกิดความเร่าร้อน ความเร่าร้อนนี่ก็เป็นพลัง ที่ผลักดันทำให้ขยันหมั่นเพียร หรือว่าทำให้เกิดการดิ้นรนให้ได้สิ่งนั้นมา พอได้มาแล้วก็สงบ ความร้อนก็หายไป ได้ความสงบ คือ ความพึงพอใจแต่ว่าพออยู่ไปสักพัก มันก็จะมีความทุกข์ขึ้นมาใหม่ เพราะว่าเกิดความห่วง เกิดความหวงแหน เกิดความกังวล กังวลว่ามันจะหาย กังวลว่าจะมีคนเอาไป ได้โทรศัพท์ ได้ไอแพดเครื่องใหม่ราคาแพง ก็ต้องคอยห่วง เวลาจะวางก็ต้อง วางให้เป็นที่ เกิดเผลอวางไว้ที่ไหนสักแห่ง นึกขึ้นมาได้ กังวลเลย หรือแม้แต่ไม่ได้ลืมก็ตาม แต่เวลาถือก็ต้องคอยระมัดระวัง
โดยเฉพาะถ้าเป็นของที่มันขโมยง่ายหรือว่าดึงง่าย เช่น พวกสายสร้อยเพชร ทอง จะไปในที่ชุมชน คนพลุกพล่าน ก็ต้องคอยระแวดระวัง บางทีก็คอยมองคนนั้นคนนี้ว่าเขาจะมาเอาของเราไปหรือเปล่า นี่ก็เป็นความทุกข์ คือ ทุกข์ในการที่ต้องรักษา ทุกข์ตอนที่อยากจะมี อยากจะได้นี่ก็ขั้นหนึ่งแล้ว แล้วดิ้นรนเพื่อไปเอามันมา บางทีก็ต้องไปเข้าคิวต่อแถวกัน เป็นชั่วโมงๆ เป็นวันๆ นี่ก็ทุกข์แล้ว พอได้มาดีใจชั่วคราวก็ทุกข์อีก ต้องกังวลกับการรักษา แถมวันดีคืนดีมันเสียไป มันเสื่อมไป หรือว่ามันต้องมีอันเป็นไป ซึ่งเป็นธรรมดา ก็ทุกข์อีก
ที่เราสวดเมื่อสักครู่ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ และที่คู่กันก็คือ ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รัก เช่น คนมาตำหนิของที่เรามี หรือว่ามาแย่งชิงของเราไป อันนี้เรียกว่าเจอคนที่ไม่รัก ก็ทุกข์อีก คือ มันทุกข์ทุกขั้นตอนเลย ถ้าเรามีความปรารถนาในความสุข หรือเอาความสุขไปผูกติดกับสิ่งที่เรียกว่า กามสุข มันจะทำให้เราเจอทั้งโลภะแล้วก็โทสะ ไล่เลี่ยกัน อยากได้ คือโลภะ พอเสียไปก็เกิดโทสะ เพราะว่า เกิดโทสะที่มุ่งต่อคนที่เขาเอาไป หรือเขามุ่งร้ายต่อทรัพย์สมบัติของเรา หรือมุ่งร้ายต่อกามสุขของเรา มันจะคู่กันเลย โลภะกับโทสะ หรือความอยาก อยากได้อยากมี อยากครอบครอง กับความอยากผลักไสออกไป แต่ถ้าเกิดว่าเรามุ่งไปที่ความสงบ มันดีกว่า อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เองว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” กามสุข นี่มันเป็นลักษณะของการกระตุ้นเร้าให้เกิดความไม่สงบขึ้นมาในจิตใจ อยากได้ เสร็จแล้วก็กังวล ห่วง เสร็จแล้วก็เสียใจ เมื่อมันหายไป แล้วก็คับแค้นใจ เพราะมีคนมาเอาไป
ทีนี้ ความสงบ หลายคนไปคิดว่าจะสงบได้ ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงัด แต่เดี๋ยวนี้สิ่งแวดล้อม มันจะไม่ได้ครอบคลุมไปถึงวัตถุอย่างเดียว ต้องรวมถึงผู้คนด้วย วัตถุไม่มีเสียงดัง แต่คนแวดล้อมนี่ไม่น่ารัก เห็นแก่ตัว อันนี้ก็คงจะหาความสงบได้ยาก หรือถึงแม้วัตถุแวดล้อมดี ไม่มีเสียงดัง คนที่อยู่รอบตัวก็เรียบร้อย แต่ถ้าไม่มีสื่อที่อยู่ใกล้มือก็ทำให้ทุกข์ หรือทำให้ใจไม่สงบได้ เช่น โทรทัศน์หรือว่าโทรศัพท์มือถือ ข้อความที่ส่งมาอาจจะเย้ายวนให้เกิดความอยาก หรือว่ายั่วยุให้เกิดความโกรธ ก็สามารถจะเกิดโลภะและโทสะได้จากสื่อ หรือผ่านทางสื่อได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เวลานี้เราพูดถึงสิ่งแวดล้อมที่สงบ มันก็จะหมายถึงการอยู่ในป่าที่สงบสงัดไม่พอแล้ว มันต้องรวมถึงคนที่อยู่ในป่า หรือคนที่อยู่แวดล้อมเรา เขาทำตัวดีหรือเปล่า ทำตัวดีแล้ว ก็ต้องระมัดระวังในสื่อที่อยู่ในมือเราด้วย เพราะว่ามันสามารถกระตุ้นให้ใจไม่สงบ เกิดโลภะหรือโทสะได้
ที่นี้ถึงแม้ทั้งสามอย่าง สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ทางสังคมและทางเทคโนโลยี มันเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแล้ว แต่ถ้าวางใจไม่เป็นนี่ก็ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะจิตที่ปรุงแต่ง ฝันฟุ้ง สารพัด และส่วนใหญ่เวลาเราฝันฟุ้งปรุงแต่ง มันมักจะเกิดเพราะความเผลอ ความเผลอนี่ก็ถือเป็นความหลงอย่างหนึ่ง เป็นความหลง คือ ความไม่รู้ ความไม่รู้นั่นมันมีสองอย่าง ก็คือ ไม่รู้ตัว กับไม่รู้ความจริง ไม่รู้ตัวแก้ได้ด้วยการที่มีสติ หรือว่าสร้างความรู้สึกตัว เป็นเพราะความเผลอ มันทำให้จิตใจเรารุ่มร้อน เผลอไปนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต นึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวด นึกถึงแล้วนึกถึงไม่เป็น ถ้านึกถึงเป็นก็อาจจะเอามาเป็นบทเรียนได้
อย่างที่พูดเมื่อวาน จอห์น โรเจอร์ เขานึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว แต่แทนที่จะเกิดความเศร้าโศก โมโห คับแค้น เขากลับมอง เออ มันมาเตือนให้เขาไม่ประมาทกับชีวิต เพราะว่าอะไรๆก็จะเกิดขึ้นได้ จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาการคิดถึงอดีต ถ้าเราคิดไม่เป็น คิดด้วยความหลง มันก็ทำให้เกิดความเศร้า ความโศก ความคับแค้น นึกถึงคนที่เขาต่อว่าด่าทอเรา ก็ทำให้โกรธได้ แต่ถ้านึกถึงแล้ว เออ มาเป็นเครื่องเตือนใจว่า ให้เราระมัดระวังไม่ทำอะไรที่ผิดพลาด มันก็ทำให้เราได้ประโยชน์ ใจเราก็ไม่รุ่มร้อน ไม่คับแค้น เพราะคำพูดของคนเหล่านั้น ความเผลอก็อาจทำให้เราไปนึกถึงเหตุการณ์ในวันข้างหน้า ซึ่งอาจจะยังไม่เกิด แต่พอปรุงแต่งไปในทางลบ ในทางร้ายก็เกิดทุกข์ เกิดความห่วง เกิดความกังวลขึ้นมา ใจก็ไม่เป็นสุข ไม่สงบเย็น ให้เราสังเกตเวลาใจเราทุกข์ เวลาใจเราร้อน มันมักจะเกิดเพราะความคิดปรุงแต่ง มันมักจะเกิดขึ้นเพราะความเผลอ มันมักจะเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ตัว
นี่ถ้าเรามีสติมันทำให้เรากลับมารู้ตัว สติทำให้เรารู้ทันว่า ตอนนี้ใจเผลอไปแล้ว ไปคิดเรื่องที่ไม่สมควรคิด ไปมุ่งไปจดจ่ออยู่แต่ว่าสิ่งที่น่าจะเป็น สิ่งที่ควรจะเป็น เขาน่าจะทำอย่างนี้ เขาไม่ควรจะทำอย่างนั้น รถไม่น่าจะติด แดดก็ไม่น่าจะร้อน ฝนไม่น่าจะตก คิดแบบนี้ก็ทำให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ยาก มันไม่สามารถจะยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันได้ ไม่สามารถจะยอมรับงานที่เราทำ กำลังทำอยู่ได้เพราะว่า มันน่าจะเบากว่านี้ เขาไม่น่าจะโยนงานให้เราทำ
คนเรารุ่มร้อนในจิตใจ ส่วนหนึ่งก็เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ และที่ยอมรับความจริงไม่ได้ เพราะมันติดกับคำว่าน่าจะ ควรจะ หรือไม่น่าจะ ไม่ควรจะ รวมทั้งการไปคิดถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง ในสิ่งที่ในมุมมองที่มันไม่ทำให้เกิดสติปัญญา หรือทำให้เกิดประโยชน์ ทีนี้การมีสติ มันช่วยทำให้เรารู้ตัวได้ไวแล้วก็ไม่หลงเข้าไปในความทุกข์มืด หลงเข้าไปในอารมณ์ ฉะนั้น ความสงบเย็น สติ เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากการที่รู้จักพอ ไม่มีความอยากในสิ่งที่มันเกินเลยไป เพราะว่าถ้าเราไม่รู้จักพอ มันก็อยากไม่รู้จบก็ทุกข์ แต่ว่านอกจากความรู้จักพอ ก็ต้องมีสติให้ไว มีสติให้ทันที่สามารถทำให้เรากลับมารู้ตัวได้ไว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง
ความหลง ภาษาบาลี เรียกว่าโมหะ โลภะ โทสะ ก็ทำให้ทุกข์ก็ทำให้ร้อน โมหะก็เหมือนกัน แต่คราวนี้ความหลง ความไม่รู้ นอกจากไม่รู้ตัวแล้ว ที่สำคัญที่สุดเลย คือ การไม่รู้ความจริง เช่น ไม่รู้ว่า สิ่งทั้งปวงนั้นมันเป็นทุกข์ มันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตา มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่สามารถจะยึดว่าอะไรเป็นเรา หรือของเราได้ อย่าว่าแต่ของนอกตัวเลย แม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าตัวเรามันก็ไม่ใช่เป็นของจริง มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ทั้งเนื้อทั้งตัวมันมีแต่กายกับใจ กายก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ใจก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ซึ่งเมื่อวานนี้อาจารย์อ๊อดก็ได้พูดไปแล้ว เรื่องว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันมีความหมายว่าอย่างไร แต่ที่ง่ายๆคือว่า เราควบคุมให้เป็นไปตามใจหวังไม่ได้ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สั่งให้มันไม่แก่ก็ทำไม่ได้ สั่งให้มันไม่ปวดไม่เมื่อยก็ทำไม่ได้ ปวดท้องสั่งให้มันหยุดปวดสักทีก็ทำไม่ได้ มีแต่จะต้องหาทางไปบำบัดด้วยการเข้าห้องสุขา
ห้องสุขา เราตั้งชื่อกันเพราะว่ามันเป็นที่ปลดทุกข์ ปลดทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกาย เพราะกายมันก็เป็นก้อนทุกข์ ใจก็เหมือนกัน ใจก็สั่งไม่ได้ สั่งให้มันหยุดฟุ้งก็สั่งไม่ได้ มันรุ่มร้อนสั่งให้มันสงบเย็นก็สั่งไม่ได้ แต่ว่าฝึกได้ ฝึกได้ก็ต้องฝึกด้วยการสร้างเหตุสร้างปัจจัย เช่น เติมสติลงไป เติมความรู้สึกตัวลงไป และที่สำคัญ คือ เติมปัญญา ทำให้เห็นความจริง เมื่อใดก็ตามที่เรารู้ความจริง เห็นความจริงนั่นแหละ ถึงจะทำให้ความทุกข์มันหมดไป แม้ว่าสิ่งรอบตัวจะว้าวุ่นวุ่นวาย แม้จะมีคนที่ไม่น่ารักหรือแม้แต่จะประสบความพลัดพราก ถ้าเห็นความจริง ถ้าเข้าใจความจริงเมื่อไหร่ คือ หมดความหลง ความสงบเย็นก็เกิดขึ้นได้ เจ็บป่วยใจก็ยังสงบ ป่วยแต่กายใจสงบ เพราะรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะรู้ว่าร่างกายนี่มันเป็นก้อนทุกข์ ถึงแม้วันนี้ไม่ทุกข์ แต่ว่าวันหน้าก็จะทุกข์ เจอความพลัดพรากแม้กระทั่งสูญเสียคนรัก คนใกล้ชิดไปก็ไม่ทุกข์
ในสมัยพุทธกาลมีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนางมัลลิกา เป็นภรรยาของเสนาบดีคู่ใจของพระเจ้าปเสนทิโกศล เสนาบดีคนนี้ชื่อ พันธุละ ก็มีเชื้อเจ้า แล้วก็ที่สนิทสนมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เพราะว่าเคยไปเรียนสำนักเดียวกัน สำนักตักศิลา และทั้งสองคนก็มีความสามารถในวิชาการต่างๆ รวมทั้งการสู้รบ พันธุละมีปัญหาในบ้านเกิดเมืองนอนของตน ก็เลยมาอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ให้เป็นเสนาบดีคู่ใจ
แต่ต่อมา พันธุละสร้างศัตรู เพราะว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คนที่เสียประโยชน์ ก็เลยไปเป่าหูพระเจ้าปเสนทิโกศล พันธุละนี่จะมีแผนร้าย จะเป็นกบฏ จะยึดอำนาจ พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นคนหูเบา แล้วก็ระแวงเพราะพันธุละเป็นคนเก่ง มีความสามารถ แถมมีบริษัท บริวารเยอะ โดยเฉพาะลูก มีลูกถึง 32 คน เป็นแฝด 16 คู่ เก่งทั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ระแวง แล้วก็เลยลวงให้ไปตาย หลอกให้ไปทำงานแล้วก็มีคนซุ่มโจมตีฆ่า ทั้งพันธุละและก็ลูกทั้ง 12 คน
ข่าวร้ายก็มาถึงนางมัลลิกา ในเช้าวันหนึ่ง เช้าวันนั้นนางมัลลิกาก็กำลังเลี้ยงพระ ก็มีพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร และก็พระอีกหลายรูป ก็มีคนส่งจดหมายน้อยมาให้นางมัลลิกาตอนเช้า ขณะที่กำลังเลี้ยงพระ นางอ่านจดหมายเสร็จก็เก็บไว้ที่ชายพก แล้วก็ทำหน้าที่ต่อ คือ ประเคนของ ประเคนอาหารให้พระ โดยมีคนใช้หรือนางทาสีช่วยด้วย ชั่วขณะนั้นเองนางทาสีเกิดทำจานใส่เนยตกแตก พระสารีบุตรอยู่ตรงนั้นพอดี ก็เลยพูดกับนางมัลลิกาว่า ของที่มันแตกได้ มันก็แตกไปแล้วอย่าไปเสียใจเลย
นางมัลลิกาก็เลยบอกว่า ดิฉันไม่เสียใจหรอก เพราะว่าที่หนักกว่านี้สูญเสียไปก็ไม่เสียใจ เมื่อเช้านี้ได้ข่าวว่า สามีและลูกทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่าตาย ดิฉันก็ยังไม่เสียใจเลย นับประสาอะไรกับถ้วยใส่เนย นางมัลลิกาเจอความสูญเสียแบบเรียกว่าฉับพลันทันที ทั้งผัวทั้งลูกตาย แต่ใจก็สงบได้ ไม่ใช่เพราะไม่รัก ไม่ใช่เพราะไม่มีความผูกพัน หรือห่วงใย แต่เพราะว่ามีปัญญาเห็นความจริงว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ชีวิตไม่จีรัง เพราะฉะนั้นพอเจอเรื่องร้าย ใจก็สงบได้
การเห็นความจริง มันทำให้ไม่มีความยึดติด ถือมั่นมาก มีความรัก แต่ว่ารักแบบไม่ยึดติด เพราะว่ารู้ว่ามันไม่เที่ยง สักวันหนึ่งก็ต้องมีความพลัดพรากสูญเสีย ฉะนั้น ความสงบเย็นที่แท้จริง มันเกิดจากการที่มีปัญญา เห็นความจริง ไม่ใช่เห็นด้วยเหตุผล หรือด้วยสมองอย่างเดียว แต่ว่าใจมันก็ยอมรับด้วย อันนี้เรียกว่าเหตุผลกับหัวใจ เหตุผลกับอารมณ์มันไปด้วยกัน สมองกับหัวใจมันเป็นหนึ่งเดียวกัน คือเข้าถึงความจริง อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่เรา” คือ พอมีปัญญา เห็นความจริงในเรื่องไตรลักษณ์ และรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ว่าจะเป็นสุขยั่งยืน หรือว่าเป็นตัวเป็นตนก็ตาม จิตก็เป็นอิสระ ความสงบเย็นก็เกิดขึ้นได้
ถ้าเกิดว่าเราพยายามฝึกจิตฝึกใจของเราให้เข้าถึงความสงบเย็นอย่างนี้ เข้าใกล้ความสงบเย็นที่เกิดขึน เพราะไม่มีความโลภ ไม่มีความหลง เนื่องจากมีปัญญาเห็นความจริงจนพ้นโมหะได้ มันก็ช่วยทำให้เราเข้าถึงสุขอย่างแท้จริง และถึงแม้จะยังเข้าไม่ถึงสุขในระดับที่ว่า จนหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง แต่ว่ามันก็ทำให้จิตใจมีความสงบเย็น เป็นสุข แล้วความสงบเย็น เป็นสุข ก็จะหล่อเลี้ยงให้เราสามารถจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่นได้อย่างเต็มที่
การเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น มันเกิดขึ้นได้เพราะมีเมตตาหรือกรุณา พระพุทธเจ้า พระองค์มีกรุณาอย่างกว้างขวางไม่มีประมาณ เรียกว่าอัปมาโณ เพราะว่าอะไร เพราะท่านมีปัญญาเห็นความจริง จนกระทั่งหมดทุกข์ จิตเข้าถึงความสงบเย็น ความสงบเย็นอย่างแท้จริงเกิดขึ้นได้เพราะมีปัญญา และเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำให้เกิดกรุณา ก็คือมุ่งประโยชน์เกื้อกูลผู้อื่นอย่างกว้างขวาง ไม่มีเลือกที่รักมักที่ชัง ทรงเมตตาราหุล ซึ่งเป็นลูกเท่าๆกับที่ทรงเมตตาพระเทวทัต ที่มุ่งร้ายหมายเอาชีวิตของพระองค์ ไม่ได้แตกต่างกันเลย
อันนี้เพราะว่ามีกรุณาอย่างยิ่ง และกรุณาก็เกิดขึ้นจากปัญญา กรุณาและปัญญานี้เป็นองค์คุณของพระพุทธเจ้า จริงๆก็มีแค่สอง หลักๆ แต่บางทีท่านก็เพิ่มสาม ก็คือ วิสุทธิคุณ แล้วบางท่านก็ขยายเป็นร้อย เรียกว่า พุทธคุณร้อยบท แต่หลักๆคือปัญญา กรุณา ปัญญาทำให้เกิดประโยชน์ตน คือ ความสงบเย็น ส่วนกรุณาก็คือ สิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ท่าน
คนเราถ้าหากว่า พัฒนาจิตพัฒนาใจให้มีทั้งปัญญาและกรุณาเป็นลำดับไป ก็จะเรียกว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์มาก แม้ว่ายังต้องแก่ต้องเจ็บ ยังต้องพลัดพรากสูญเสีย ยังต้องตาย แต่ว่าก็ไม่มีความทุกข์เข้ามาครอบงำ แถมจะยังทำประโยชน์สุขให้กับผู้อื่นได้ด้วย