แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
เรารู้มานานแล้วว่าโรคติดต่อกันได้ แต่ว่าที่จริงมีอย่างอื่นที่ยังติดต่อกันได้เหมือนกัน อย่างเช่นที่เร็ว ๆ นี้พบว่า ความอ้วนนี่ติดต่อกันได้ คนที่มีพี่มีน้องหรือพ่อแม่ที่อ้วนมีโอกาสจะอ้วน 35-50% เลย แต่ถ้ามีเพื่อนใกล้ชิดอ้วน โอกาสที่ตัวเองจะอ้วนก็เพิ่มขึ้นเป็น 70% เลย
อันนี้เขาเพิ่งค้นพบ น่าสนใจมาก อาจจะเป็นเพราะว่าพออยู่ใกล้ชิดกับคนอ้วนแล้วก็มีการชวนกันไปกิน คนที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องพ่อแม่ที่อ้วนก็ซึมซับรับเอาพฤติกรรมการบริโภคจากคนเหล่านั้น แต่ที่น่าสนใจว่าอิทธิพลของคนในครอบครัวก็ยังไม่มากเท่ากับอิทธิพลของคนใกล้ชิด คือ เพื่อนสนิท แล้วพบว่าแม้เพื่อนสนิทจะอยู่ห่างกันเป็นคนละจังหวัด เป็นร้อย ๆ กิโล ก็ยังมีผลกระทบอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของอีกคนหนึ่ง อันนี้เขาเชื่อเป็นเพราะว่าการพูดคุยกันก็ดีหรือว่าการมีทัศนคติที่ส่งผลต่อกัน เช่น มีทัศนคติต่อการบริโภค ต่อการกิน หรือว่าการมองว่า แค่นี้ยังไม่อ้วน ยังกินได้อีก เพราะฉะนั้น ก็เลยพูดได้ว่าความอ้วนหรือพฤติกรรมการบริโภคที่ทำให้อ้วนนี้ก็ติดต่อกันได้ ถ่ายเทกันได้ แล้วคนที่ในทางตรงกันข้าม คนที่อยู่ไกล หรือไม่ค่อยได้ใกล้ชิดกับคนที่อ้วน โอกาสที่จะอ้วนนี่ก็มีน้อยแต่ว่าไม่ใช่จะไม่มีเสียเลย
ไม่ใช่เฉพาะพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อารมณ์ที่ไม่ดี เช่น ความเหงา ก็เพราะว่าความเหงานี่ก็ถ่ายเทกันได้ ติดต่อกันได้ อย่างน้อยอีก 2 ช่วงคน เช่น ถ้านาย ก. นี่เป็นคนเหงามาก นาย ข. ซึ่งเป็นเพื่อนนาย ก. มีโอกาสจะเหงา 50% ส่วน ค. ซึ่งเป็นเพื่อน ข. ก็มีโอกาสที่จะเหงาได้ 25% ความเหงาของ ก. ถ่ายมาที่ ข. จาก ข. มาที่ ค. แต่ว่าค่อย ๆ ลดลง น่าสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ก็เชื่อว่าเป็นเพราะเหตุนี้ คนที่เขาเหงาเขาจะมีอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เขาจะมีปฏิสัมพันธ์คนอื่นไม่ค่อยดี นาย ข. ไปเจอนาย ก. ซึ่งกำลังเหงา นาย ข. ก็ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ค่อยดีจากนาย ก. แล้ว ข. นี่ก็เลยอารมณ์ไม่ดีไปด้วย พออารมณ์ไม่ดีไปแสดงออกกับคนอื่น คนอื่นก็ไม่อยากเข้าใกล้ อยากจะอยู่ห่าง ๆ ก็เลยเหงา เพราะว่าคนไม่ค่อยอยากใกล้ชิดเท่าไร อันนี้คือเหตุผลว่าทำไม ข. ถึงเหงา เพราะว่าได้รับอารมณ์มาจาก ก. ส่วน ค. พอมาอยู่ใกล้ชิด มาคบกับหรือว่ามาพูดคุยกับ ข. ก็เจออารมณ์ไม่ดีของ ข. เข้า ก็พลอยซึมซับรับเอาอารมณ์นั้นไปด้วย แล้วก็พอไปปฏิบัติกับคนอื่น คนอื่นก็ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ ค. ก็เลยพลอยเหงาไปด้วยแต่ว่าจะน้อยลง
อย่างนี้แสดงว่าอารมณ์ถ่ายเทหรือว่าติดต่อกันได้ ที่จริงเราก็สังเกตได้ เวลาใครที่มีอารมณ์มาคุยหรือว่าอารมณ์ไม่ค่อยดีนี่เราก็พลอยจะรู้สึกเครียดไปด้วย และความเครียดก็สามารถทำให้ปรุงแต่งกลายเป็นอารมณ์ เช่น ความโกรธ ความไม่พอใจได้ง่ายขึ้นหรือความหงุดหงิด เวลาเราเจอคนเศร้าเราก็พลอยรู้สึกเศร้าไปกับเขาด้วย เพราะว่าสีหน้าของเขาเหมือนกับว่าจะโน้มน้าวให้เรารู้สึกเศร้าไปกับเขา อันนี้ก็มีเหตุผลอธิบายในทางประสาทวิทยา แต่ก็จะไม่อธิบายมากเพียงแต่บอกว่าอารมณ์ถ่ายเทกันได้ อยู่กับคนเศร้าก็พลอยได้รับความเศร้า ก็พลอยรู้สึกเศร้าไปกับเขา อยู่กับคนที่หงุดหงิด โกรธ เราก็พลอยจะมีอารมณ์ที่หงุดหงิดตามไปด้วย อาจจะเป็นเพราะว่ามีการปฏิบัติต่อกัน พูดกันทำให้เกิดความไม่พอใจกัน หรือแม้แต่ยังไม่พูดคุยกันเพียงแค่เห็นหน้าเห็นตา เห็นสีหน้าเห็นแววตา ก็พลอยรู้สึกเครียดไปกับคนที่เขามีอารมณ์หงุดหงิด มีอารมณ์โกรธอยู่แล้ว
แต่ว่าของดี ๆ ก็มีเหมือนกัน พฤติกรรมที่ดีก็มีเหมือนกัน อย่างเช่น เขาบอกว่าคนที่เลิกเหล้าได้ คนแวดล้อมที่อยู่ใกล้ก็พลอยจะเลิกได้เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าคนหนึ่งเลิกบุหรี่ได้ พี่น้องพ่อแม่ก็มีโอกาสที่จะเลิกบุหรี่ได้ เขาก็คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เหมือนกันว่า ประมาณ 30% 40% แล้วคนที่เลิกบุหรี่ได้เพราะอิทธิพลของพี่น้องก็จะส่งผลให้คนในเครือข่าย เพื่อนฝูงของเขาพลอยเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ความดีหรือพฤติกรรมที่ดีก็ถ่ายทอดหรือว่าติดต่อกันได้เหมือนกัน รวมทั้งอารมณ์ที่ดี ๆ ด้วย เวลาเราเจอคนที่อารมณ์ดี คนที่มีความสงบเย็น แม้เราจะว้าวุ่นมาจากไหน เจอเขาเราก็สงบได้เหมือนกัน อย่างคนที่รุ่มร้อนในจิตใจ หลายคนพอมาพบหลวงพ่อคำเขียนฯ จะรู้สึกเย็น เพราะว่าหลวงพ่อท่านเย็นอยู่แล้ว มีเมตตา เหมือนกับว่าความเย็น ความเมตตาของท่านก็แผ่ หรือว่าถ่ายทอดมาสู่คนที่อยู่รอบข้างได้ แม้จะไม่ได้ใกล้ชิดอะไรกับท่านมาก
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่บอกเราว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่ออารมณ์และพฤติกรรมของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าใครบางคนอารมณ์ไม่ดี เราช่วยเขาได้ด้วยการที่เรายิ้มแย้มแจ่มใสกับเขา มีเมตตากับเขา ความเมตตาหรือความสงบของเราก็จะพลอยแผ่ไปถึงเขาด้วย หรืออย่างที่เล่าเมื่อวานลูกที่กำลังโกรธ แต่ถ้าเจอแม่ที่ใจเย็น ความใจเย็นของแม่ก็ทำให้ลูกพลอยได้สติแล้วก็หายโกรธ หายรุ่มร้อนไปได้เหมือนกัน แต่อย่างนี้ก็ต้องระวังเพราะว่า ถ้าแม่ไม่มีสติดีพอแล้วเจอลูกโกรธ ความโกรธของลูกก็ถ่ายไปที่แม่เหมือนกันต้องระวัง
ซึ่งก็หมายความว่าถ้าเราเจอ ถ้าเราอยากจะรักษาใจของเราให้เป็นปกติ สงบเย็น ก็ต้องมีสติด้วย เพราะว่าบางครั้งเราเจอคนที่เขาหงุดหงิด เจอเขาอารมณ์เสีย เจอคนเหงา เจอคนซึมเศร้า ถ้าสติเราไม่มั่นคง อารมณ์ลบของเขาก็จะถ่ายเทมาที่เรา แต่ถ้าเรามีสติมันก็เข้ามาไม่ได้ ในทางตรงข้ามความมีสติของเรานั่นแหละที่จะช่วยทำให้เขาพลอยมีสติ หรือว่าพลอยสงบเย็นได้ด้วย สติของเราไม่เพียงแต่ช่วยรักษาใจของเราเท่านั้น ยังสามารถที่จะช่วยรักษาใจของคนที่อยู่รอบข้างได้ด้วย
เช่นเดียวกับความเมตตากรุณา ใครที่อารมณ์ร้อนโวยวายมา แต่เราพูดดี ๆ กับเขา เขาจะพลอยเย็นได้ง่าย อันนี้ถ้าเรารู้จักเอาไว้ก็จะทำให้เราคอยระมัดระวัง เวลาเจอคนที่อารมณ์ไม่ดี เจอคนเหงา เจอคนเศร้า เจอคนที่กำลังหงุดหงิด โกรธ เราอย่าเปิดใจของเราให้อารมณ์นั้นถ่ายเทมาเข้าสู่จิตใจของเรา มีสติไว้ ยิ้มแย้ม ใจเย็น และสิ่งที่เราทำนั่นแหละจะช่วยเขาได้เหมือนกัน