แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีเด็กนักเรียนคนหนึ่งอายุสิบขวบชื่อต้อง วันหนึ่งกลับบ้าน นั่งรถโรงเรียน ขณะที่ยืนอยู่ ข้างๆก็มีเด็กตัวเล็กๆเป็นผู้หญิง ถูกรุ่นพี่ที่นั่งติดกันรังแก เด็กรุ่นพี่ที่รังแกก็ประมาณสักสิบขวบ พอๆกับต้อง เด็กหญิงก็พยายามขอร้อง แต่ว่าเด็กรุ่นพี่ก็ยังก่อกวนรังควาน กระเซ้าเย้าแหย่หนักมาก เด็กผู้หญิงก็ทำท่าจะร้องไห้ รุ่นพี่ก็ยังไม่เลิก ต้องซึ่งยืนอยู่ข้างๆก็เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา สุดท้ายก็อดรนทนไม่ได้ก็เอามือตบหัวเด็กรุ่นพี่ ซึ่งก็อยู่ในวัยเดียวกับตัว ตบอย่างแรงเลย จนกระทั่งเด็กคนนั้นร้องไห้เลย
ต้องก็รู้สึกผิด พอกลับไปถึงบ้านก็ไม่ค่อยมีอารมณ์ กินข้าวก็ไม่พูดไม่คุยกับแม่ แม่ก็สังเกตว่าปกติต้องชอบคุย วันนี้ทำไมเงียบไป ก็เลยพยายามซักไซ้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซักไปซักมาสุดท้ายต้องก็ยอมพูดว่า “แม่ต้องไม่เชื่อเลยว่า มือข้างนี้มันจะไปตบเด็กจนร้องไห้ได้” อันนี้น่าสังเกต เด็กแทนที่จะพูดว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าผมจะไปตบเด็กได้ กลับบอกกว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่ามือข้างนี้มันจะตบเด็กจนร้องไห้ได้ ก็น่าคิดว่าทำไมต้องเขาใช้คำพูดแบบนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่อยากจะยอมรับตรงๆ ว่าตัวเองไปตบหัวเด็ก ก็เลยคล้ายๆ ว่าโยนความผิดไปให้ “ไอ้มือข้างนี้” พูดอย่างนี้เพื่อจะให้แม่เห็นใจ แม่จะได้ไม่ว่าต้อง การที่โยนความผิดไปให้มือ แทนที่จะยอมรับว่าตัวเองไปตบเด็ก มันอาจจะเป็นอุบายของเด็ก เด็กก็พยายามที่จะหาทางแก้ตัวให้พ้นผิด ก็โยนความผิดไปให้มือ แทนที่จะยอมรับผิดว่าตัวเองตบ
ดูดีๆ มันก็ซ่อนนัยยะที่สำคัญ เกี่ยวกับความจริงที่พระพุทธเจ้าได้สอน ความจริงอันนี้ก็คือเรื่องอนัตตาว่า ไม่มีตัว ไม่มีตน มันไม่มีตัวเรา ตัวเรานี้มันเป็นคำสมมติ ตัวฉันนี้เป็นคำสมมติ เช่นเดียวกับคำว่า “ของฉัน” นี้ก็เป็นการสมมติ “ของฉัน” เห็นได้ง่ายว่ามันเป็นเรื่องสมมติ เพราะว่าถ้าของนั้นหาย มันก็ตกไปเป็นของคนอื่น หรือว่าพอมีคนมายึดเอาไป มันก็ตกเป็นของธนาคาร ตกเป็นของหลวง ความเป็นเจ้าของนี้ มันก็หมดไป ไม่มีเงินก็เอารถไปขายเพื่อใช้หนี้ ความเป็นเจ้าของก็หมดไป
ของกูนี้มันเห็นได้ง่ายว่ามันเป็นของชั่วครั้งชั่วคราว แต่ว่าตัวกู จะเห็นว่าเป็นสมมตินี่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะว่ามันเป็นความรู้สึกที่ติดยึดกันมาตั้งแต่เล็กเลย ตั้งแต่รู้ความเลยก็ว่าได้ แต่จริงๆ ถ้าเราดูดีๆ มันก็พอจะเห็นได้ไม่ยาก อย่างเช่น ถ้าเราจะลองชี้มาว่าตรงไหน ตัวกูอยู่ไหน ตัวฉันอยู่ไหน ไหนลองชี้ซิ ถ้าชี้ ไม่ว่าชี้ตรงไหน มันก็ไม่ใช่ตัวกูทั้งนั้น ถ้าชี้ไปที่หัว อันนั้นก็คือหัว ไม่ใช่กู ไม่ใช่เรา ถ้าชี้มาที่หน้าอก อันนั้นคือหน้าอก นั่นไม่ใช่เรา ถ้าชี้มาที่แขน ที่ขา อันนั้นก็เป็นแขนหรือขา ไม่ใช่เรา ตัวเรานี้ถ้าหากันจริงๆ หาไม่เจอชี้ตรงไหนมันก็ไม่ใช่กูทั้งนั้น มันไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่แขน ไม่ใช่ขา ไม่ใช่หู ไม่ใช่ลำตัวก็ เป็นหน้าอก หรือเป็นตา
แล้วตัวกูอยู่ไหน มันก็ไม่มี มันมีแต่ ตา หู จมูก แขน ขา ซึ่งเรียกรวมๆ ทั้งหมดว่า ตัวเรา แต่ที่จริงหัวนี่ ดูจริงๆ มันก็ไม่มีจริง ชี้ไปที่หัวซิ มันก็เป็นหน้าผาก ลองชี้ใหม่ซิ ว่าตรงไหนเป็นหัว อ้าวมันกลายเป็นหูไปเสียแล้ว ลองชี้อีกทีว่าตรงไหนเป็นหัว อ้าวนั่นจมูกต่างหาก เพราะนั้นจริงๆ แม้กระทั่งคำว่าหัว ก็ไม่มี มันก็เป็นคำเรียกรวมๆของอวัยวะ ส่วนเล็กๆน้อยๆ ตั้งแต่ผม หน้าผาก ตา จมูก ปาก ปากนี่ ตรงไหนเป็นปากลองชี้ดูซิ อ้าวไม่ใช่ อันนั้นผิวหนัง ลองชี้ไปเลยตรงไหนเป็นปาก เอาเข้าจริงๆ ก็หาไม่เจอเหมือนกัน เพราะว่ามันก็เป็นคำสมมติที่ใช้เรียกส่วนใดส่วนหนึ่งที่อยู่บริเวณด้านล่างของจมูก เพราฉะนั้นถ้าดูไปจริงๆ นี่ ไม่ว่าตัวกูก็ดี ไม่ว่าศีรษะหรือหัวก็ดี ไม่ว่าปาก ตา หู อันนี้มันก็เป็นแค่คำสมมติที่ใช้เรียก จะหาตัวตนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปาก ไม่ว่าจะเป็นหัว ไม่ว่าจะเป็นตัวเรามันไม่มีเลย
อันนี้คือความจริงที่เราอาจจะเข้าใจได้ด้วยการใช้เหตุผล ด้วยการใช้ความคิดไตร่ตรอง แต่ว่าใจมันยังไม่ยอมรับ ใจมันยังยึดว่ามีตัวกูอยู่ แม้ว่าจะได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่เล็ก ฟังเรื่องว่าขันธ์ห้าเป็นอนัตตา ใจมันก็ยังไม่ยอมรับ ฝรั่ง เขามาเรียนรู้อนัตตาตอนที่โตแล้ว พุทธศาสนาเข้าไปถึงประเทศอย่างยุโรป อเมริกา มันก็ไม่เกินร้อย สองร้อยปี ฝรั่งหลายคนก็เพิ่งรู้จักพระพุทธศาสนาก็ตอนที่โตแล้ว เรื่องสมาธิ เรื่องสติ เขายอมรับ เขาเห็นด้วย เขาเข้าใจง่ายและก็เห็นประโยชน์ แต่พอมาได้ยินเรื่องอนัตตานี้ ใจมันต่อต้าน มันต่อต้านตั้งแต่ตัวความคิดแล้ว เพราะว่าความคิดของฝรั่งนี้เขาถูกปลูกฝังมาว่ามีตัวกู เช่นคำสอนที่มีชื่อของนักปราชญ์ฝรั่ง ที่ถือว่าเป็นบิดาของปรัชญาสมัยใหม่ เดการ์ตนี่เขาพูดไว้เลยว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” คือมันมีตัว ตัวฉันมาโดยตลอด แม้กระทั่งปรัชญานี่ก็ยืนยันว่ามันมีตัวกู ตัวกูนั่นแหละเป็นผู้คิด
ที่จริงแล้วในพระพุทธศาสนา “มันมีแต่ความคิด มันไม่มีผู้คิด” แม้แต่จิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งความคิดมา มันก็ไม่ใช่เป็นเรา จะเรียกว่าเป็นผู้คิดก็ไม่ได้ อันนี้ก็เป็นคำสอนที่ฝรั่งเข้าใจยาก หรือแม้แต่คนไทยซึ่งเกิดมากับพระพุทธศาสนา แต่ว่าแรงต่อต้านมีน้อย เพราะได้ยินมาตั้งแต่เล็ก แต่ถามว่าเข้าใจไหม ก็อาจจะไม่เข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจผิดๆ การเข้าใจผิดนี่มันก็เกิดความเสียหายเหมือนกัน แล้วก็มีโอกาสที่จะเข้าใจผิดได้เยอะ อย่างเช่นมีสามี ภรรยาคู่หนึ่งก็เป็นผู้ที่ใฝ่บุญ ชอบเข้าวัดทำบุญ ศีลก็รักษา ตอนหลังนี่ก็ไปฟังคำสอนเรื่องอนัตตา เรื่องสุญญตา ความไม่มีตัวตน ความว่าง ก็ไม่รู้ว่าไปเรียนมาแบบไหน ตอนหลังก็เลิกให้ทาน เลิกรักษาศีล ด้วยเหตุผลว่า ทำดีไปมันก็ไม่มีผู้รับ มันไม่มีตัวฉันเป็นผู้รับ อานิสงส์แห่งความดีนั้น ก็เลยไม่ทำเสียเลย อันนี้เขาเรียกว่า แทนที่จะเข้าใจธรรมะกลับไถลไปสู่มิจฉาทิฐิ
ความเข้าใจเรื่องอนัตตา ถ้าเข้าใจผิดนี่มันก็คลาดเคลื่อนไปสู่มิจฉาทิฏฐิได้ ความดีก็ไม่ทำ เพราะว่าไม่มีผู้รับผล ถ้าเห็นว่าความดี ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีผู้รับผล ก็ไม่ควรจะกินอาหาร ไม่ควรจะกินข้าวด้วย เพราะว่ากินไปทำไม มันไม่มีผู้รับผล แต่เราก็รู้ใช่ไหมว่า การกินข้าวมันย่อมเกิดผล การกินอาหารย่อมเกิดผลกับร่างกายนี้ ถ้ากินอาหารที่ดี สุขภาพของกายก็ดีด้วย ถ้าไม่กินอาหาร หรือ กินอาหารที่เลว ร่างกายก็เกิดโรคเกิดภัยขึ้นมา แถมกินบางอย่างนี่มันไม่ได้เกิดปัญหากับร่างกาย แต่มันยังมีผลร้ายต่อจิตใจเช่น กินเหล้า หรือว่ากินยาเสพติด ยาหลอนประสาท ทำไมเรายังกินข้าวอยู่แม้ว่าความจริงก็คือมันไม่มีตัวกูเป็นผู้รับผล แต่เรากินข้าวก็เพราะว่าข้าวมันมีผลดีต่อร่างกาย ผลของข้าวมันไม่สูญหาย มันไม่สูญเปล่า มันไม่กลายเป็นความว่าง มันมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพียงแต่ว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ทำความดีก็เหมือนกัน ความดีก็มีผลดีต่อจิตใจ อันนี้ไม่มีทางเป็นอื่นได้ เพียงแต่ว่าใจนั้นมันไม่ใช่เรา ที่ครูบางท่านบอกว่าไม่มีผู้รับผลนี่ มันไม่ได้แปลว่าไม่เกิดผลเลย ผลมันเกิด แต่มันไม่ได้เกิดกับตัวกู มันเกิดกับกายกับใจ ซึ่งกายกับใจนั้นนี่มันไม่ใช่กู ไม่ใช่ของกู คนที่บอกว่าฉันไม่ทำบุญทำทาน ไม่รักษาศีลแล้วเพราะไม่มีตัวกูมารับผลนี่ ถ้าคิดอย่างนั้นจริงก็ควรที่จะเลิกกินข้าวไปด้วย เพราะว่ามันไม่มีกูผู้รับผลแห่งข้าวที่กิน อาหารที่รับเข้าไป แต่เราก็รู้ด้วยสามัญสำนึกว่า ข้าวที่กินนี่มันมีผลดีต่อร่างกาย เพียงแต่ว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่กู ไม่ใช่ตัวฉันแค่นั้นเอง
ที่ครูบาอาจารย์สอนไม่มีตัวกูผู้รับผลคืออันนี้ มันมีผลแต่ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นนี่ไม่ว่ากับกายกับใจอันนั้นไม่ใช่เรียกว่าตัวกู เพราะฉะนั้นจึงไม่มีผู้รับผล ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตาอย่างถูกต้อง ก็ยังทำความดี ทานก็ยังให้ ศีลก็ยังรักษา ถึงแม้ว่าจะไม่ทำเพื่อตนเอง แต่ก็ยังทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ให้ทานก็อาจจะไม่ได้ทำเพื่อหวังผลดีกับตัวอง แต่ว่าเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นเช่น เพื่อบำรุงศาสนา เพื่อช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก มีเหตุผลมากมายที่เราควรทำความดี แม้จะรู้ว่ามันไม่มีตัวกูผู้รับผล แต่ว่าความดีที่ทำไม่เคยสูญเปล่า แต่มีผลดีกับคนอื่น มีผลดีกับกายและใจ นี่ถ้าเข้าใจเรื่องอนัตตา จริงๆแล้วก็จะทำให้ มันไม่มีผู้ทุกข์เลยด้วยซ้ำ มันก็มีความทุกข์เกิดขึ้นตามประสาโลก เช่นยังต้องมีความเจ็บ ความป่วย ยังต้องมีความปวดความเมื่อยแต่ว่ามันไม่มีตัวกูเป็นผู้ปวด ผู้เมื่อย เป็นผู้แก่
ที่จริงถ้าย้อนกลับมาที่ คำพูดของต้องว่า “ไอ้มือนี่” ไม่น่าเชื่อเลยว่ามือนี่มันไปตบหัวเด็กจนร้องไห้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอุบายของเด็กที่จะโทษความผิดไปให้มือแทนที่จะยอมรับผิดว่า เออฉันตบ แต่ถ้าเกิดว่าเราพยายามมองหรือพยายามสอนใจตัวเราอยู่เสมอว่ามือนี่ไม่ใช่เรา มันก็มีประโยชน์ เวลาปวดหัว ปวดมือ ปวดเท้า นี่ลองนึกบ้างว่าเออมันปวดหัว ปวดท้อง ปวดมือ แต่ไม่ใช่เราปวด
ปกติคนเรานี้พอมันปวดตรงไหน ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันปวดตรงนั้น หรือว่ารู้สึกว่ามือปวด แขนปวดนั้น แต่มันมีความรู้สึกว่ากูปวด กูปวด แทนที่จะเห็นว่าความปวดเกิดขึ้นที่มือ ที่เท้า ที่ร่างกาย ก็ไปยึดว่าเป็นกูปวด ผลที่ตามมาก็คือว่าแทนที่จะปวดแต่กาย ใจก็ปวดด้วย เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่เวลาปวดกาย ไม่ได้ปวดกายล้วนๆ ใจก็ปวด เวลาปวด เวลาเมื่อย ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่กายปวด หรือกายทุกข์เท่านั้น แต่ใจก็ทุกข์ด้วย ไม่มีใคร น้อยคนมากที่จะปวดอย่างเดียวคือ ปวดแขน ปวดขา หรือปวดกายโดยที่ใจไม่ปวด แต่ถ้าเรามองเห็นความจริงว่า เออ มันไม่ใช่เรา มันไม่มีเรา ที่ปวดนี่มันเป็นแค่ กายปวด แขนปวด อันนี้มันก็จะช่วยบรรเทาความทุกข์ไปได้เยอะ
อาจารย์พุทธทาสท่านเคยกล่าวว่า เวลามีดบาดมือ หรือมีดบาดนิ้ว คนที่คิดว่าหรือรู้สึกว่ามีดบาดนิ้ว หรือบาดมือ จะรู้สึกปวดน้อยกว่าคนที่รู้สึกว่า หรือคิดว่ามีดบาดกู มีดบาดกูนี่ปวดมากกว่า เพราะว่าไม่ใช่แค่ปวดที่นิ้ว ไม่ใช่แค่ปวดที่มือ ใจมันปวดด้วย มันไม่ใช่แค่ปวดกายอย่างเดียว อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการซ้ำเติมตัวเองอีกแบบหนึ่งก็ว่าได้คือ ทุกข์อย่างเดียวก็พอแรงแล้ว ทำไมต้องไปทุกข์สองอย่าง คือทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ
ถึงแม้ว่าคนเราจะยังเพิกถอนในความยึดมั่นสำคัญหมายในตัวกูไม่ได้ แต่ว่าอย่างน้อยก็พยายามใช้ตัวกูนี้ให้เป็นประโยชน์ อย่าเพิ่งไปปฏิเสธ อย่าเพิ่งไปละทิ้ง อย่าเพิ่งไปปฏิเสธว่ามันไม่มี การปฏิเสธว่าไม่มี บางทีมันอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดพลาด เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างตัวอย่างผัวเมียคู่นั้นก็ได้ เมื่อเรายังไม่มีปัญญาแลเห็นชัดด้วยความจริง เห็นชัดอย่างแจ่มแจ้งว่า ตัวกูไม่มีอยู่จริง ยังไม่เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนในเรื่องอนัตตา ยังมีความยึดติดในเรื่องตัวกู ก็พยายามใช้ตัวกูนั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น เวลาจะทำชั่วก็ลองนึกว่า เออ ถ้าเขาจับได้ ถ้าคนอื่นเขารู้นี่เราจะเสียหน้า ความกลัวเสียหน้าเลยไม่ทำความชั่ว หรือไม่ทำในสิ่งที่มันไม่เหมาะสม อันนี้มันก็เป็นประโยชน์
หรือว่าเวลาทำความเพียร มันท้อแท้ท้อถอย แต่เห็นคนแก่เขาทำความเพียรมากเหลือเกิน มันก็ทำให้มีความคิดเกิดขึ้นว่า เขาทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ ความคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดความเพียรพยายาม ไม่ท้อถอย เกิดการฮึดสู้ขึ้นมา คิดแบบนี้ก็ดี ถึงแม้ว่าเป็นความคิดที่ยังผูกพันกับตัวตนอยู่ มันเป็นมานะชนิดหนึ่ง การเปรียบเทียบว่าเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ เขาแก่เขายังปฏิบัติทั้งวัน เขายังทำความเพียรข้ามคืนได้ เรานี่หนุ่ม เรานี่สาว เรานี่เป็นพระ ทำไมจะทำไม่ได้ เราก็มีมือมีเท้าเหมือนกัน ตรงนี้นี่ก็เป็นการปรารภตน แต่ปรารภแล้วนี่ หรือว่าเอาตัวกูขึ้นมาเพื่อจะได้เกิดกำลังใจหรือเกิดเรี่ยวแรงในการทำความเพียร
บางคนเวลาทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรมก็จะหลับท่าเดียว พอเห็นโยมเขาตาสว่าง เขาตื่น เขาฟังธรรม เขาตั้งใจฟัง ก็เกิดความรู้สึกว่า เราเป็นพระ เราบวชมานาน ทำไมเราจะยอมแพ้ต่อนิวรณ์ ก็ต้องพยายามทำความเพียรทำใจให้มันตื่นขึ้นมา แบบนี้ก็เป็นการปรารภตน หรือว่าเป็นการเอาตัวกูขึ้นมา มาใช้ให้มันเป็นประโยชน์ ก็คือว่า เราจะต้องไม่แพ้คนอื่น อันนี้จะว่าไปแล้วมันก็เป็นกิเลส คือมานะ แต่ว่าเอามาใช้เพื่อการทำความดี เพื่อการพัฒนาตน นี่คือสิ่งที่เราควรทำ ตราบใดที่ยังเพิกถอนความสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูไม่ได้ ก็ใช้ตัวกูให้เป็นประโยชน์
ที่จริงคำสอนพระพุทธเจ้าหลายส่วน ก็เป็นการพูดถึงตัวตนเสียเยอะ เช่น อย่างที่เราคุ้นเคยกัน “ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน” “เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน” บางคนสงสัยว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา แต่ทำไมมีประโยคแบบนี้ออกมา อันนี้พระพุทธเจ้าพูดกับคนที่ยังมีความยึดในตัวตน หรือยังมีความเชื่อในตัวตนอยู่ คำสอนพระพุทธเจ้านี้มีหลายระดับ ระดับที่เป็นสามัญสำหรับคนทั่วไปที่ยังมีความเชื่อ มีตัวตน พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้ ให้รู้จักพึ่งตนเอง อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วก็สอนให้รู้จักฝึกตนเอาไว้ ถ้าฝึกตนจริงๆ ฝึกตนอย่างถูกต้อง มันก็จะเห็นเลยว่ามันไม่มีตัวตน
เอาแค่เจริญสติ ทำความรู้สึกตัวนี่ ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูจะหายไป แต่ทุกครั้งที่เราหลงตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็จะโผล่ อันนี้ดูประหลาด มีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็หายไป แต่ถ้าลืมตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็โผล่ ลืมตัว ตัวกูก็น่าจะหายไป แต่ไม่ใช่ ยิ่งลืมตัว ตัวกูก็โผล่ขึ้นมา เพราะตอนนั้นไม่มีสติ ตอนนั้นมีความหลง มันก็ปรุงตัวกูขึ้นมา “เพราะตัวกูมันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา เป็นมายา”
เพียงแค่เราเจริญสติ ทำความรู้สึกตัว มันก็ช่วยทำให้ใจคลายความยึดติดในตัวกูได้ทีละน้อย ๆ ทำความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ ตัวกูก็หาย เดินอย่างมีสติเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความคิดว่ากูเดิน มันก็จะหายไป มันก็จะมีแต่เห็นว่ากายหรือรูปนี่มันเดิน เวลาโกรธ เวลาหงุดหงิด เวลาฟุ้งซ่าน ถ้าไม่มีสติเมื่อไหร่ มันไม่ใช่แค่ไหลไปตามความคิดอย่างเดียว มันจะมีแต่ตัวกูเพ่นพ่านอยู่ในความคิดนั้นตลอดเลย ลองสังเกตดู เวลาเราฟุ้งซ่าน มันจะฟุ้งซ่านแต่เรื่องตัวกูของกูทั้งนั้น แต่พอมันมีสติปุ๊บนี่ความยึดว่ามีตัวกูนี่มันก็จะบรรเทาลง มันจะเห็นเลยว่า มันไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่เราคิดเพราะมันเห็นแต่ความคิดเกิดขึ้น มันเห็นแต่ความโกรธเกิดขึ้น มันไม่ใช่เราโกรธ ไม่ใช่ความโกรธเป็นของเรา ไม่ใช่เราคิด หรือความคิดเป็นของเรา การเห็นนี่ช่วยให้ไม่เข้าไปเป็น
อันนี้ครูบาอาจารย์อย่างหลวงพ่อคำเขียนฯ ท่านก็สอน “เห็นเมื่อไหร่นี่มันก็ไม่เข้าไปเป็น” ก็หมายความว่า มันไม่มีตัวกูเป็นผู้โกรธ เป็นผู้คิด หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ปวด เป็นผู้เมื่อย มันจะเห็นแต่ความปวด ความเมื่อย ความโกรธเกิดขึ้น ว่ามันเป็นสภาวะหนึ่ง การเห็นแบบนี้แหละที่ช่วยทำให้ถอน ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเราหรือความยึดในตัวกูของกู
ฉะนั้นไม่ต้องวิตกว่า เรื่องอนัตตาเป็นเรื่องที่จะเข้าถึงยาก ปุถุชนอย่างเราจะเข้าไปเห็นมันได้อย่างไร ก็ทำได้ ด้วยการฝึกตนนี่แหละ แต่ว่าไม่ได้ฝึกตนด้วยการให้ทาน รักษาศีล แต่ฝึกตนด้วยการเจริญสติ บำเพ็ญภาวนา หมั่นทำความรู้สึกตัวอยู่เสมอ แล้วตัวกูก็จะหายไป แต่ถ้าลืมตัวเมื่อไหร่ ตัวกูมันก็จะโผล่ขึ้นมาเต็มที่เลย แล้วก็จะดึงเอาจิต เอาใจ เอากายนี้ ใจนี้ไปทำอะไรต่างๆ มากมาย อาจจะไปทำชั่วก็ได้ ไปเบียดเบียนคนอื่นก็ได้ หรือไม่ก็ไปแบกความทุกข์มาซ้ำเติมตัวเอง เพราะฉะนั้นพยายามเข้าใจเรื่องตัวกูของกู เรื่องอนัตตาให้ดี แล้วขณะเดียวกันก็อย่าไปหลงประมาทว่าฉันเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้ว เรื่องอนัตตาดีแล้ว เพราะบางทีคนที่เข้าใจว่าตัวเองเข้าใจเรื่องอนัตตา แท้จริงแล้วเกลับยึดติดถือมั่นหนักขึ้น คือไปยึดติดถือมั่นในความคิดเรื่องอนัตตา พอยึดติดถือมั่นในความคิดเรื่องอนัตตาแล้ว มันก็จะเป็นตัวตนอย่างหนึ่ง ยึดติดว่านี่เป็นความคิดของกู ไม่ได้เห็นความจริงอย่างแท้จริง แต่เป็นการยึดติด
บางคนเชื่อในเรื่องอนัตตามาก พยายามชี้ พยายามสอน พอเจอคนที่เขาไม่เห็นด้วย เจอคนที่เขาเห็นแย้ง ก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา ตอนแรกก็ถกเถียงกันก่อน จากถกเถียงก็เป็นการโต้เถียง จากโต้เถียงก็กลายเป็นทะเลาะกันเลย จริงๆถ้าเข้าใจเรื่องอนัตตานี่ มันทะเลาะกันไม่ได้ เพราะว่าไม่เห็นประโยชน์ในการที่จะทะเลาะกัน ที่ทะเลาะก็เพราะมีความยึดติดถือมั่นในความคิดของตัว แล้วถ้ายึดติดในความคิดของตัว จะเข้าใจเรื่องอนัตตาได้อย่างไร คนที่ยึดติดถือมั่นในเรื่องอนัตตา พอคนไม่เห็นด้วยก็โกรธ ก็ไม่พอใจ มันมีความรู้สึกว่ากูไม่พอใจเกิดขึ้น มีความรู้สึกว่ากูโกรธเกิดขึ้น อันนี้ก็แสดงว่ายังมีความยึดติดในตัวกูของกูอยู่มาก ถึงแม้ว่าที่พูดไปจะเป็นเรื่องอนัตตาล้วนๆ จะเป็นเรื่องสุญญตา แต่พอคนไม่เห็นด้วยนี่ก็โกรธ โมโห แสดงว่ามีความยึดติดถือมั่น
คล้ายๆ กับพ่อคนหนึ่ง แกได้ข่าวว่ามีครูมารายงานว่า ลูกไปต่อยเพื่อน ไปต่อยเพื่อนจนหน้าแตก ต้องเย็บหลายเข็ม พ่อก็เป็นห่วงลูกแล้วก็ไม่พอใจลูกด้วย ก็เรียกลูกมาตำหนิว่า ทำไมถึงทำอย่างนั้น ลูกก็บอกว่าเขาด่าผม เขาดูถูกผม ผมก็เลยต่อยเขา พ่อก็เลยบอกว่าเราต้องใช้สันติวิธี เราต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี แต่ลูกก็ไม่ยอมฟัง ลูกก็ไม่ยอมรับ ลูกก็บอกว่ามันด่าผม มันพูดจาหยาบคายนี่จะสันติวิธีได้อย่างไร พ่อก็บอกว่านั่นแหละอย่างไรก็ต้องสันติวิธีเอาไว้ เพราะใช้ความรุนแรงมันไม่แก้ปัญหา ก็เขาด่าผมว่าหน้าตัวเมียนี่ จะยอมให้เขาด่าได้อย่างไร เขาด่าก็ช่างเขา ลูกก็เลยย้อนว่า ถ้าเขาด่าพ่อว่าหน้าตัวเมีย หรือผมเรียกพ่อว่าคนขี้ขลาด พ่อจะว่าอย่างไร พ่อโกรธเลย พ่อเลยตบปากลูกเลย พ่อตบปากลูกเพราะลูกไม่เชื่อเรื่องสันติวิธี ความยึดมั่นในสันติวิธีก็ทำให้ไม่สันติได้ ทั้งที่สอนลูกว่าต้องแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี อย่าไปใช้ความรุนแรง แต่พอลูกไม่เชื่อเรื่องสันติวิธี ไม่เชื่อสิ่งที่พ่อสอนนี่ พ่อโกรธเลย พ่อก็เลยตบลูก ตบลูกเพราะลูกไม่เชื่อสันติวิธี
ก็เหมือนกับหลายคนทะเลาะ ไปด่าว่าคนอื่นเพราะเขาไม่เชื่อเรื่องอนัตตา กูบอกแล้วไงว่าอนัตตา อนัตตา มึงไม่เชื่อเดี๋ยวตบเลย เดี๋ยวด่าเลย อันนี้ก็เท่ากับฟ้องในตัวว่า จริงๆแล้วก็ไม่ได้เชื่อ ไม่ได้เข้าใจเรื่องอนัตตาจริงๆ เพราะมันยังมีความยึดติดถือมั่นว่านี่ ความคิดของกู พอใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของกู ก็จะโกรธ ถึงแม้ความคิดของกูมันจะเป็นความคิดที่สูงส่งก็ตาม แต่มันก็สามารถจะทำให้คนนี่ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อของตนได้ ยึดติดถือมั่นในสันติวิธีนี่แต่ก็สามารถจะใช้ความรุนแรงแม้กระทั่งกับลูกได้ เพราะเขาไม่เชื่อสันติวิธี
ยึดติดในเรื่องอนัตตา ยึดติดในธรรมะ ยึดติดในความดี ก็อาจจะนำไปสู่ความไม่ดีได้ การกระทำที่ไม่ดีได้ เมื่อเจอคนที่เขาขัดแย้ง เขาต่อต้าน เขาโต้เถียง เรื่องอนัตตา เรื่องความไม่ยึดติดถือมั่นในตัวกูของกูนี่มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มันไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ ตัวกิเลสหรือตัวอวิชชา ความหลงนี่มันฉลาดมาก มันสามารถจะหากินได้กับทุกอย่าง สามารถจะเอาธรรมะขั้นสูงมาใช้เพื่อตอบสนองตัวมัน หรือมาอำพรางตัวเองไว้ในคราบของธรรมะก็ได้
ทำชั่วในนามของบุญกุศล ทำชั่วในนามของศาสนา ทำชั่วในนามของอนัตตานี่ มันไม่ยากหรอก กิเลสมันทำได้ ตัวอวิชชานี่มันทำได้ง่ายมากเลย เพราะฉะนั้นอย่าประมาท อย่าประมาทในความสามารถ ในความฉลาดของกิเลส แต่ตราบใดที่มันยังอยู่ในจิตในใจเรา ยังเพิกถอนไม่ได้ เราต้องฉลาดกว่ามัน ก็คือเอามันมาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอากิเลสมาใช้ เอามา เอาตัวตัณหา ทิฐิมาใช้ในการพัฒนาตน จนกระทั่งที่จะสามารถละตัณหา มานะ ทิฐิได้อย่างที่มีภาษิตว่า ใช้ตัณหาละตัณหา อันนี้มันทำได้ถ้ามีสติพอ